Thursday, March 23, 2017

ปัญหา 15 ประการที่ผู้สูงวัยควรรับรู้

ปัญหา 15 ประการที่ผู้สูงวัยควรรับรู้

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Updated: March 22, 2017

Keywords: การมีอายุยืนยาว, longevity, ความสุข, Happiness, การสื่อสาร, communication
ศึกษาและเรียบเรียงจาก “The 15 Most Common Health Concerns for Seniors” โดย Madeline R. Vann, MPH และตรวจอ่านโดย Pat F. Bass, III, MD, MPH

ความนำ

คนในโลกยุคทารกสะพรั่ง (Baby boomers) หรือคนรุ่นที่เกิดมาเป็นจำนวนมากในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปัจจุบันจะเป็นคนในช่วงอายุ 60-72 ปี คนรุ่นนี้โดยสถิติจะมีอายุยืนยาวเพิ่มขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้านี้ถึงเกือบ 20 ปี แต่ประสบการณ์ของหน่วยงานอย่าง Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ของสหรัฐอเมริกา การใช้ชีวิตของผู้สูงวัยจะรวมถึงการต้องระมัดระวังที่จะอยู่กับโรคที่เป็นเรื้องรัง และยังดำรงอยู่ได้อย่างมีสุขภาพโดยรวมดี

ตามคำแนะนำขอ Jeanne Wei, MD, PhD การเลือกวิถีชีวิตที่เน้นสุขภาพ เลิกสูบบุหรี่และลดน้ำหนัก สามารถทำให้ท่านหลีกพ้นความเสี่ยงด้านสุขภาพได้ แต่ท่านจะต้องตื่นตัวกระตือรือร้น กินอาหารสุขภาพ
ในสหรัฐอเมริกา ไม่ใช้ทุกคนมีการดูแลสุขภาพดี แต่กระนั้นมีคนอย่างน้อยร้อยละ 41 ของกลุ่มคนอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่กล่าวได้ว่ามีสุขภาพดีมาก หรือเยี่ยมยอด จะเป็นผู้สูงวัยในกลุ่มนี้ ก็ต้องรู้จักดูแลตนเอง
จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกา มีโรคและประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับสุขภาพของผู้สูงวัย 15 ประการด้วยกัน สังคมไทยก็มีปัญหาในแบบเดียวกัน แม้จะไม่เหมือนกันทั้งหมด และวิธีการจะแก้ปัญหาก็อาจะไม่เหมือนกัน แต่การได้เรียนรู้ปัญหาของเขา จะเป็นประโยชน์ในการจัดการกับปัญหาด้านสุขภาพผู้สูงอายุในประเทศไทยเรา

1. โรคข้ออักเสบ

Arthritis

โรคข้ออักเสบ (Arthritis) เป็นโรคอันดับหนึ่งที่คนวัย 65 ปีขึ้นไปในสหรัฐอเมริกา Marie Bernard, MD แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการสูงวัยประมาณว่ามีประชากรร้อยละ 49.7 ของผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปที่มีอาการเจ็บในข้อต่างๆ และทำให้คุณภาพชีวิตลดลง โรคข้ออักเสบทำให้ไม่อยากออกกำลังกายหรือขยับเขยื้อนไปไหน แต่ก็จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อพัฒนาแผนกิจกรรมและการดูแลรักษา ซึ่งจะยังช่วยให้ผู้สูงวัยมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีสุขภาพดี

2. โรคหัวใจ

Heart Disease

ตามข้อมูลของ CDC โรคหัวใจ (Heart disease) ยังเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไปมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 2014 มีผู้เสียชีวิต 489,722 คน ด้วยโรคหัวใจ โรคหัวใจที่มีอาการเรื้อรังมีผลกระทบต่อผู้สูงวัย ชายร้อยละ 37 และหญิงร้อยละ 26 เมื่อคนมีอายุมากขึ้น ก็จะเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคนี้มากขึ้น ดังเช่น เป็นความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง (High cholesterol) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคหัวใจวาย หรือนำไปสู่การเป็นโรคหัวใจ

นายแพทย์เบอร์นาร์ด แนะนำให้ผู้สูงวัยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจด้วย “การออกกำลังกาย กินดี และหลับนอนให้ดี” การกินดีกินอาหารสุขภาพ กินแต่พอเพียงจะทำให้ท่านควบคุมน้ำหนักตัวได้

3. โรคมะเร็ง

Cancer

มะเร็ง (Cancer) เป็นโรคอันดับสอง ที่คร่าชีวิตผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปในสหรัฐอเมริกา โดยในปี ค.ศ. 413,885 คนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง มีชายร้อยละ 28 และหญิงร้อยละ 21 ในกลุ่มวัยดังกล่าว กำลังใช้ชีวิตอยู่โดยที่มีโรคมะเร็ง โรคมะเร็งหากมีการตรวจพบ (Screenings) ตั้งแต่แรกๆ ด้วยวิธีการ mammograms, colonoscopies, และ skin checks มะเร็งหลายชนิดสามารถรักษาให้หายได้ แม้ท่านจะไม่สามารถป้องกันโรคมะเร็ง แต่ท่านสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นและเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคมะเร็งได้ และในระหว่างที่รับการรักษา ก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

4. โรคทางเดินหายใจ

Respiratory Diseases

โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ดังเช่นโรคปอดอุดกั้น (COPD) เป็นโรคที่ทำให้ผู้สูงวัย หรือผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 3 ในสหรัฐอเมริกา โดยในปี ค.ศ. 2014 มีผู้สูงวัย 124,693 คนเสียชีวิต ตามสถิติของ CDC คนอายุ 65 ปีและสูงกว่า มีประมาณร้อยละ 10 ในชาย และ 13 ในหญิงต้องมีชีวิตอยู่ด้วยการมีโรคหอบหืด (Asthma) ร้อยละ 10 ในชาย และ 11 ในหญิงที่ต้องมีชีวิตอยู่กับโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis) หรือ โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)

โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema) ถือเป็นส่วนหนึ่งของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง  สาเหตุหลักเกิดจากการสูบบุหรี่ การรักษาคือการหยุดสาเหตุ สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้แล้ว การรักษาก็คือการรักษาตามอาการ ให้เกิดปัญหาทางการหายใจให้น้อยที่สุด

โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและโรคถุงลมโป่งพอง เป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นปอดอักเสบ (Pneumonia) และทำให้ปอดติดเชื้อ ต้องมีการตรวจวินิจฉัยและใช้ยาให้ถูกต้อง หรือใช้การให้ออกซิเจนเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยให้ผู้สูงวัยยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

5. โรคอัลไซเมอร์

Alzheimer’s Disease

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease - AD) เป็นโรคระบบประสาทเสื่อมอย่างเรื้อรัง ช่วงเริ่มต้นจะเป็นไปอย่างช้าๆ และเลวขึ้นเป็นลำดับ เป็นสาเหตุร้อยละ 60-70 ของโลกสมองเสื่อม (Dementia) เริ่มต้นจะเกิดอาการหลงลืมอย่างสั้นๆ และเมื่อเป็นมากขึ้น จะมีปัญหาในเรื่องภาษาและการสื่อสาร จำอะไรไม่ได้ มีอารมณ์แกว่ง และสูญเสียแรงจูงใจ ไม่สามารถดูแลตนเองได้ และเมื่อมีอาการมากขึ้นก็จะยิ่งห่างเหินจากครอบครัวและสังคม การทำงานของร่างกายลดลง และนำไปสู่การเสียชีวิต ช่วงเวลาของการป่วยจนเสียชีวิตนี้ อาจใช้เวลาระหว่าง 3 ถึง 9 ปี

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ตามสถิติในสหรัฐอเมริกา มีผู้เสียชีวิต 92,604 คนในปี ค.ศ. 2014 จากโรคนี้ สมาคมอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Association) รายงานว่าในกลุ่มคนอายุ 65 ปีขึ้นไป มีร้อยละ 11 ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ซึ่งจริงๆนับเป็นการยากที่จะรู้แน่นอนว่ามีคนเท่าไรที่มีชีวิตอยู่ด้วยการป่วยเรื้อรังด้วยโรคนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญโรคให้ทัศนะว่าโรคนี้มีผลต่อเศรษฐกิจของครอบครัว ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยด้วยสมองเสื่อมในสภาพนี้ในประเทศไทย มีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 30,000-80,000 บาท/เดือน
ครอบครัวต้องมาปรึกษากันดูว่าจะดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมนี้อย่างไร จะให้ดูแลรักษาที่บ้าน หรือจะใช้บริการของสถานที่พิเศษ อย่างที่เรียกว่า Nursing home และจะใช้บริการเมื่อใด และอย่างไร

6. โรคกระดูกพรุน

Osteoporosis

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) มีผลทำให้ผู้สูงวัยเคลื่อนไหวได้น้อยลง และอันตรายหากมีการหกล้ม และทำให้กระดูกแตกหัก โดยเฉพาะกระดูกเชิงกรานแตกหัก (Broken pelvis) มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ประมาณว่าคนอเมริกัน 54 ล้านคนที่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไปมีสภาพที่กระดูกบางลง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกแตกหัก เป็นเหตุที่ผู้สูงวัยมีสุขภาพเลวลง คุณภาพชีวิตลดลง ในปี ค.ศ. 2020 ผู้เสี่ยงในกลุ่มนี้จะมีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 64.4 ล้านคน

เพื่อป้องกันการเป็นโรคกระดูกพรุน หรือกระดูกบางตัวลง การดูแลในเชิงกินอาหารที่เหมาะสม และการออกกำลังกายที่ใช้น้ำหนักพอประมาณ นับเป็นการเสริมสภาพร่างกายให้ดี เมื่อยังแข็งแรงเป็นปกติ ดีกว่าปล่อยให้เกิดสภาพกระดูกแตกหักในส่วนสำคัญ

อาหารทีดีต่อการป้องกันโรคกระดูกพรุน คือ นมไขมันต่ำ โยเกิร์ต เนยแข็ง ซึ่งมีแคลเซียม ผลิตภัณฑ์นมบางอย่างมีการเสริมด้วยไวตามินดี

ปลากระป๋อง หรือปลาตัวเล็ก เช่น ซาร์ดีน แซลมอนที่กินก้างที่เป็นกระดูกอ่อนได้ ปลาพวกแซลมอน แมคเคอเรล ทูนา เหล่านี้ มีวิตามินดี

ในบรรดาผลไม้และผักที่ดีต่อการเสริมสร้างกระดูก เช่น กะหล่ำปลี ทูนิปเขียว ผักคะน้า กระเจี๊ยบ บรอคโคลี ดังนี้เป็นต้น การกินอาหารให้เหมาะแก่สุขภาพ และการออกกำลังกาย นับเป็นการป้องกัน และลดความเสี่ยงจากโรคกระดูกพรุนที่ดี เพราะหากปล่อยให้เป็น และเสี่ยงต่อกระดูกพรุนที่มีผลต่อส่วนสำคัญของร่างกาย เช่น กระดูกเชิงกราน กระดูกสันหลัง ดังนี้ ก็ยากที่จะรักษาให้คืนดีเหมือนเดิม

7. โรคเบาหวาน

Diabetes

CDC ประมาณการว่าร้อยละ 25 ของชาวอเมริกัน ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปที่ป่วยเป็นเบาหวาน  (Diabetes) และมีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ ตามสถิติโรคเบาหวานทำให้คนเสียชีวิต 54,161 คนในปี ค.ศ. 2014 โรคเบาหวานสามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจตัวอย่างเลือด แต่โรคนี้รักษาไม่หายขาด แต่หากได้พบว่าเป็นหรือมีอาการน้ำตาลในเลือดสูงเสียแต่เนิ่นๆ ก็จะได้เริ่มการควบคุมโรค ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในระยะยาว

ในประเทศไทย เรามีผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น ด้วยเหตุของการกินดีอยู่ดี กินมาก แต่ออกกำลังกายน้อย แต่การตรวจร่างกายเพื่อการคัดกรองผู้ป่วยเป็นเรื่องที่ไม่ยาก ไม่ได้ใช้เงินทองมากมาย เช่น การมีเครื่องชั่งน้ำหนัก ที่ตรวจวัดร่างกาย แล้วเปรียบเทียบกับส่วนสูงของร่างกายและคำนวณหาดรรชนีมวลกาย (Body Mass Index – BMI) หากมี BMI เกินมาตรฐาน ก็ให้ส่งเสริมเรื่องการควบคุมน้ำหนัก การปรับการกินอาหารเพื่อสุขภาพ กินให้น้อยลง ลดน้ำหนัก

การมีเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด ราคาเพียงเครื่องละ 1800-2000 บาท และใช้แถบที่ต้องเปลี่ยนทุกครั้งเมื่อตรวจน้ำตาลในเลือด ราคาแผ่นละ 18-20 บาท เราสามารถฝึกให้คนในครอบครัว หรือคนในชุมชนสามารถทำงานอาสาสมัครตรวจสุขภาพได้อย่างง่ายๆ

ส่วนการจะควบคุมน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยนั้น ต้องกระทำแบบเป็นกิจกรรมกลุ่ม ต่างช่วยกันดูแล แทนที่จะต้องให้เป็นภาระของแพทย์เสมอไป

8. ไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวม

Influenza and Pneumonia

ไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวม (Influenza and Pneumonia) ไม่ใช่โรคติดต่อเรื้อรัง แต่ก็เป็นโรคสำคัญ 1 ใน 8 ที่ทำให้ผู้มีวัยตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปเสียชีวิต ตามข้อมูลของ CDC ผู้สูงวัยมีความเสี่ยงเมื่อป่วยเป็นโรคดังกล่าวมากกว่าคนหนุ่มสาว เพราะผู้สูงวัยไม่มีกำลังที่จะต้านทานโรค ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงวัยให้คำแนะนำว่า ผู้สูงวัยควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี และควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการทำให้อวัยวะสำคัญอย่างปอดเสี่ยงต่อติดเชื้อและการอักเสบ

9. การหกล้ม

Falls

ความเสี่ยงในการหกล้ม (Falls) ที่ทำให้ผู้สูงวัยต้องเข้าห้องฉุกเฉินมากขึ้นไปตามวัย ในแต่ละปี มีผู้สูงวัย 2.5 ล้านคนในสหรัฐอเมริกาต้องเข้ารับการรักษาจากการล้ม ตามข้อมูลของ CDC นับเป็นตัวเลขที่มากกว่ากลุ่มใดๆ และในบรรดาผู้ป่วยเพราะล้มเหล่านี้ หนึ่งในสามมักจะล้มอีก และกลับมาเข้าห้องฉุกเฉินอีกในช่วงเวลา 1 ปี การล้มเป็นอันมากเกิดขึ้นที่บ้าน เหตุของการหกล้ม จะพบมากที่สุด เพราะไปเตะของ เช่นพรม หรือหกล้มบนพื้นในห้องน้ำ หรือในตอนกลางคืน เดินเข้าห้องน้ำในเวลามืด และร่างกายไม่ได้ปรับตัวด้านความดันโลหิต เพราะงัวเงียลุกจากเตียงนอนไปเข้าห้องน้ำ

10. การติดสิ่งเสพติด

Substance Abuse

จากการวิเคราะห์ของ National Epidemiologic Survey on Alcohol and Related Conditions 1 ใน 5 ของผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปที่มีปัญหาจากการดื่มแอลกอฮอล อย่างน้อยในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต
อัลกอฮอลและบุหรี่ เป็นสิ่งเสพติดที่สำคัญที่สุด สองสิ่งนี้มีผลต่อผู้สูงวัยเพราะไปรบกวนกับการให้ยาต่างๆของแพทย์ มีผลต่อสุขภาพโดยรวม เพิ่มความเสียงด้านสุขภาพในผู้สูงวัย เช่น ทำให้ล้มได้ง่ายขึ้น

11. โรคอ้วน

Obesity 

โรคอ้วน (Obesity) เป็นปัญหาที่สำคัญที่มีผลต่อสุขภาพ ทำให้เกิดโรคหัวใจ เบาหวาน และมะเร็ง เป็นผลเรื้อรังต่อคุณภาพชีวิต น้ำหนักยิ่งมาก ความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยก็ยิ่งมาก สำหรับผู้ใหญ่ในวัย 65 ถึง 74 ปีในสหรัฐอเมริกา ชายร้อยละ 36.2 และหญิง 40.7 ที่มีดรรนีมวลกาย (Body Mass Index – BMI) ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำหนักเกิน ซึ่งแสดงว่าในสังคมที่มีเศรษฐกิจที่ดีอย่างสหรัฐอเมริกานั้น โอกาสคนมีสุขภาพไม่ดีก็ยิ่งสูง

ในประเทศไทย การจะแก้โรคอ้วน ควรเริ่มแก้กันตั้งแต่เด็ก และต้องมีการรณรงค์กันในกลุ่มคนทุกวัย ไปจนถึงกลุ่มผู้สูงวัย การรณรงค์ควรเน้นไปที่ การส่งเสริมอาหารเพื่อสุขภาพ การกินอาหารแต่พอเพียง การกินผักและผลไม้มากขึ้น การออกกำลังกาย การหากีฬาที่เหมาะสมสำหรับเยาวชน และคนในวัยต่างๆ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้คนต้องออกกำลังกาย เช่น การเดินไปทำงาน ขี่จักรยาน เดินขึ้นบันได้แทนการขึ้นด้วยลิฟต์ เป็นต้น

12. โรคภาวะซึมเศร้า

Depression

โรคภาวะซึมเศร้า (Depression) ตามสถิติสมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 15-20 ของคนในวัย 65 ปีขึ้นไป มีปัญหาจากภาวะซึมเศร้า ซึ่งมีผลต่อสุขภาพผู้สูงวัย ภาวะซึมเศร้ามีผลลดภูมิต้านทาน ลดความสามารถร่างกายในการต้านการอักเสบหรือการติดเชื้อ การจะปรับปรุงการดำรงชีวิตของผู้สูงวัยคือการต้องเพิ่มกิจกรรมออกกำลังกาย แต่ร้อยละ 59.4 ของผู้มีวัย 65 ปีขึ้นไปมีการออกกำลังกายต่ำกว่าที่ CDC แนะนำ ผู้สูงวัยต้องมีเพิ่มกิจกรรมทางสังคม แต่มีเพียงร้อยละ 8 ถึง 11 ที่ได้ใช้เวลาว่างกับครอบครัวและเพื่อนๆ

13. สุขภาพช่องปาก

Oral Health

สุขภาพช่องปาก (Oral Health) ไม่ใช่หมายความเพียงเพื่อการยิ้มที่สวยงามและกินอาหารได้ง่ายขึ้น ตามการศึกษาของ CDC มีร้อยละ 25 ของผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่ไม่มีฟันแท้เหลืออยู่ในปาก เมื่อท่านอายุมากขึ้น ท่านจะมีอาการปากแห้ง และยากที่จะป้องกันอาการผุกร่อนของฟัน ดังนั้นผู้สูงวัยควรได้ไปรับการดูแลช่องปาก ตรวจดูปากและฟัน ทำความสะอาดขูดหินปูน การดูแลปากและฟันนับเป็นความจำเป็นสำหรับผู้สูงวัย

14. ความยากจน

Poverty

ความยากจน (Poverty) ในปี ค.ศ. 2013 ร้อยละ 45 ของผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ความยากจน ตามการศึกษาของ 2015 Kaiser Family Foundation report จากการศึกษานี้ได้รวมแหล่งเงิน เงินที่ต้องเสียภาษี ค่าของผลประโยชน์ในการรับแสตมป์อาหาร การจ่ายค่ารักษาพยาบาล ความแตกต่างในด้านค่าใช้จ่ายด้านบ้านพัก และอื่นๆ

สตรีสูงวัยมีปัญหาด้านความยากจน และปัญหาความยากจนจะเพิ่มขึ้นตามวัยเมื่อมีอายุเกิน 80 ปี คนสูงวัยที่เป็นโสดมักจะต้องอยู่อาศัยด้วยมีทรัพยากรที่น้อยลง ความยากจนมีผลต่อสุขภาพของผู้สูงวัย เพราะในสหรัฐอเมริกาไม่สามารถมีบริการให้แพทย์มาเยี่ยมที่บ้านผู้สูงวัยได้ ไม่มีค่าใช้จ่ายด้านยาสำหรับโรคเรื้อรัง และความจำเป็นด้านสุขภาพอื่นๆ

ความจริงผู้สูงวัยในประเทศไทยนั้นยิ่งยากจนกว่าในสหรัฐอเมริกามากนัก แต่ผู้สูงวัยแบบไทยๆก็มีวิถีชีวิตที่จะมีความเป็นอยู่ที่พอเพียง มีกิจกรรมทางสังคม มีระบบดูแลสุขภาพแบบต่างคนต่างช่วยเหลือกันในครอบครัวและชุมชน

ความยากจนจึงจะไม่เป็นปัญหามากเหมือนในสังคมตะวันตก แต่นั่นเราก็ต้องเสริมค่านิยมเรื่องการดูแลผู้สูงวัยให้เข้มแข็งและชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าในปัจจุบัน

15. โรคงูสวัด

Shingles อ่านว่า ชิงเกิลส์ หรือโรคงูสวัด

ในสมัยเด็กๆ เคยป่วยเป็นอีสุกอีใส (Chicken pox) แต่เมื่อโตขึ้นมันอาจกลับมาในรูปของงูสวัด (Shingles) ตามการศึกษาของสถาบันสุขภาพของสหรัฐอเมริกา คน 1 ใน 3 ของผู้มีวัยตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่ป่วยเป็นงูสวัด และร้อยละ 50 ของคนอเมริกันทั้งหมดจะกลับมาป่วยเมื่อมีวัย 80 ปีขึ้นไป

โรคงูสวัดเป็นผลจากการอักเสบจากไวรัสที่ทำให้เกิดผื่นที่เจ็บป่วย งูสวัดอาจเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย แต่มักจะเกิดขึ้นด้านลำตัว โดยเกิดขึ้นเป็นแถบเดี่ยว เป็นแผลพุพองพันเป็นรอบไปทางซ้ายหรือทางขวาของลำตัว

ไวรัสที่เป็นต้นเหตุของโรคนี้เป็น Varicella-zoster virus เป็นชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส หลังจากเกิดโรคอีสุกอีใส เชื้อโรคนี้จะฝังตัวในระบบประสาทใกล้กับกระดูกสันหลังและสมอง แต่ไม่แสดงออก จนหลายปีต่อมา ไวรัสก็จะได้รับการกระตุ้นอาจด้วยความอ่อนแอของร่างกายที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด

งูสวัดจะมีผลทำให้เสียวปราบทางด้านข้างด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย และเจ็บปวดมากขึ้น และแล้วจะมีอาการคันและมีผิวหนังแตก

งูสวัดไม่ใช่โรคที่คุกคามในระดับทำให้เสียชีวิต แต่ทำให้เกิดความเจ็บป่วย โรคนี้มีวัคซีนที่จะลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรค ทำให้การรักษาโรคลดเวลาลง และลดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน

สรุป

การรู้ไว้ เพื่อป้องกัน การป้องกันดีกว่าการเป็นแล้วมาแก้ไข ยกตัวอย่าง โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไต เหล่านี้การใช้มาตรการป้องกัน คือการกินแต่พอเพียง กินน้อยลง ออกกำลังกายมากขึ้น ควบคุมน้ำหนักตัวให้ลดลงให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ดังนี้เป็นการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ก่อนที่จะเกิดปัญหาแล้วค่อยไปรักษาพยาบาล

โรคบางอย่างแก้ไขได้อย่างไม่ยาก หากทุกฝ่าย สมาชิกในครอบครัว และชุมชนใส่ใจ ดังเช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า เหล่านี้กิจกรรมในชุมชนจะมีส่วนทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้มาก

โรคบางอย่างรักษาให้หายไม่ได้ เป็นแล้วก็จะมีอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ และใช้เวลายาวนาน มีผลสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว แต่การได้รับรู้ไว้ด้วยตัวผู้สูงวัยเอง และให้ความเห็นไว้ตั้งแต่ยังมี

สติสัมปชัญญะ ว่าต้องการให้ดูแลตนเองอย่างไร และไปจนถึงระดับไหน ทั้งนี้เพื่อให้ลูกหลานได้ทราบว่า เขาประสงค์หรือไม่ประสงค์จะรับการรักษาพยาบาลต่อไป และไม่ต้องการให้การดูแลรักษาเขานั้นไปทำร้ายบุคคลที่เขารักต่อไป


---------------------

1 comment: