ที่พักสำหรับผู้สูงวัย (Habitation for Elderly)
Updated: March 24, 2017
Keywords: การมีอายุยืนยาว, longevity, ความสุข, happiness, ที่พัก, บ้านพัก, habitat,
habitation
ความนำ
ความหมายของบ้าน ในภาษาอังกฤษมี 2 คำ
A house is made of brick and stone. A home is made of love
alone.
คำว่าบ้าน ภาษาไทยมีคำเดียว แต่ในภาษาอังกฤษ House
คือบ้านทั่วๆไป แต่ Home คือบ้านที่เราอยู่อาศัย
เป็นที่ๆต้องมีความรัก มีความสัมพันธ์กันในระหว่างสมาชิก
บ้านสำหรับผู้สูงอายุ จะสร้างด้วยไม้
เป็นกระต๊อบ จะกี่ชั้นก็ตาม แต่บ้านที่เราหมายถึงนี้
คือบ้านที่ผู้สูงวัยจะอยู่ได้อย่างมีความสุข ในบทความนี้จะพูดถึงบ้านลักษณะเฉพาะ
เพราะจะมุ่งเน้นที่บ้านสำหรับผู้สูงวัย ที่ๆผู้สูงวัยจะอยู่ได้อย่างมีความสุข
หากเป็นผู้สูงวัย หรือมีญาติผู้ใหญ่ ผู้ที่เราให้ความรักและเคารพ มีปัญหาด้านที่พักอาศัย
จะทำอย่างไร มีทางเลือกอะไรบ้างสำหรับผู้สูงวัย
ไม่อยากให้มองผู้สูงอายุในฐานะที่เป็นปัญหาหรือข้อจำกัด
แต่ให้มองในเชิงศักยภาพ เพราะเท่าที่เป็นอยู่ เรายังไม่เข้าใจ
และไม่ได้ใช้ผู้สูงอายุอย่างเต็มศักยภาพ
คนที่จะดูแลผู้สูงอายุต่อไปนี้ควรเข้าใจมิติทางประวัติศาสตร์
ความเป็นมาในสังคมไทย มีหลายอย่างที่เป็นสิ่งดีๆที่เราควรรักษาไว้ ดังเช่นเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวแบบภาคขยาย
(Extended family) ซึ่งสมาชิกมีการเกื้อกูลต่อกัน
ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่การเดินไปข้างหน้าแบบตะวันตกจะดีกว่าเสมอไป
ปัญหาที่พักผู้สูงวัย
ปัญหาที่พักอาศัยของผู้สูงวัยโดยรวมที่ประมวลได้มีดังนี้
ที่พักในเมืองมีราคาและค่าใช้จ่ายสูง จนเกินประโยชน์ที่จะใช้เป็นที่พัก
ที่ดินขนาด 100 ตารางวา หากมีมูลค่าตารางวาละ 200,000
บาท นั่นหมายถึงมูลค่า 20 ล้านบาท
หรือในบางกรณีมีมูลค่าสูงถึงตารางวาละ 1 ล้านบาท
ลองคิดเป็นมูลค่าดูซิ จำนวนเงินขนาด 100 ล้านบาทนี้เป็นโอกาส
แต่หากไม่มีการจัดการที่ดี โอกาสนี้ก็กลายเป็นปัญหาที่ยุ่งยาก
บ้าน 2 ชั้นขึ้นไปที่ไม่มีลิฟต์
จะยากลำบากสำหรับผู้ที่จะมีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ หรือบันไดเพียง 3 ขั้น ก็เป็นปัญหาสำหรับผู้สูงอายุ เมื่อท่านต้องใช้รถเข็นแล้ว
การอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ ต้องการพื้นที่ราบเป็นผืนเดียวกันให้มากที่สุด
แม้แต่ห้องน้ำที่ไม่มีระดับต่าง หรือมีให้น้อยก็จะดี
บ้านมีพื้นที่มาก มีห้องมาก
แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ กับคนจำนวนมาก ที่ไม่มีหลักประกันในชีวิตในบั้นปลาย บ้านเป็นสิทธิส่วนบุคคล
เจ้าบ้านจะให้ใครอยู่ หรือจะปล่อยร้าง ก็เป็นสิทธิของเจ้าของบ้าน
สภาพแวดล้อมของชุมชนเปลี่ยนไป
อยู่กับผู้คนที่ไม่คุ้นหน้า ดังเช่นการพักอาศัยในห้องชุดเช่า
ไม่มีวัฒนธรรมการมีเพื่อนบ้าน และเพื่อนบ้านเองก็จะเปลี่ยนหน้าบ่อยๆ
คนสูงวัยมักมีธรรมชาติของการเก็บสะสม
บ้านที่มีขนาดไม่เล็ก แต่อาจมีข้าวของมากมายที่วางเต็มไปหมด จนแทบจะไม่มีที่เดิน
บางเรื่องเกี่ยวข้องในทางกฎหมาย การยกสมบัติ
เช่นบ้านให้กับลูกๆ ต้องมีเงื่อนไข อาจมีลูกบางคนที่ใช้เงื่อนไขตามกฎหมาย
ขับไล่พ่อแม่ของตนเองออกจากบ้าน หรือได้ขายบ้าน หรือนำไปจำนองจำนำแล้วหลุด
ก็มีผลที่ทำให้พ่อแม่ผู้สูงวัยถูกขับออกจากบ้าน
ที่พักเป็นเรื่องของอนาคต
เมื่อจะเกษียณอายุการทำงาน ตั้งแต่ในวัย 50 ปีขึ้นไป
ต้องกลับมาคิดเรื่องที่พัก เพราะในโลกยุคใหม่ คนมีอายุยืนยาวขึ้นมาก
ท่านอาจจะได้ใช้ชีวิตต่อไปอีก 40 หรือ 50 ปี ท่านจะวางแผนเรื่องที่พักอาศัยอย่างไร
จึงจะทำให้ท่านใช้ชีวิตได้อย่างมีความมั่นคง มั่นใจ และมีความสุข
ปัญหาที่พักอาศัยผู้สูงวัยในประเทศพัฒนาแล้ว
ปัญหาที่พักของผู้สูงวัยเป็นปัญหาโดยสากล
ประเทศที่พัฒนาแล้วดังในสหรัฐอเมริกาก็มีปัญหา
ในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีประชากร 324 ล้านคน (2016) ในอีก 20 ปีข้างหน้าในประเทศนี้ประชากรที่มีอายุ
50 ปีขึ้นไปจะเพิ่มจาก 109 เป็น 132
ล้านคน
ในปี ค.ศ. 2030 หนึ่งในห้าของประชากรสูงอายุจะมีวัย
65 ปีขึ้นไป ในค.ศ. 2040 หนึ่งในแปดจะมีวัย
75 ปีขึ้นไป
ปัญหาด้านที่พักอาศัยของผู้สูงอายุในสหรัฐอเมริกา
ไม่ใช่ว่าบ้านที่พักขาดแคลน แต่เป็นเพราะไม่ได้มีการเกลี่ยกัน
ให้ที่พักอาศัยที่เกิน ได้เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ขาดแคลน และมีฐานะขัดสน โดยเฉพาะในยามสูงวัย
บางคนอยากแบ่งปันที่พัก แต่ก็ติดกับกฎหมาย หากมีการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุเกิดขึ้น
เจ้าบ้านต้องเป็นคนรับผิดชอบ แม้จะเป็นการรับคนมาอยู่ด้วยเมตตา
บ้านในสหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่ายที่สูง บ้านขนาดเล็กในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ
USD250,000 หรือประมาณ 8.75 ล้านบาท ผู้สูงวัยต้องการที่พักอาศัย
9 ปี หรือ 6.5 ปีในบ้านแบบที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ
(Assisted living)
ในปี ค.ศ. 2012 ผู้มีอายุ 50
ปีขึ้นไป หรือ 20 ล้านครัวเรือนต้องจ่ายค่าที่พักร้อยละกว่า 30 ของรายได้
มีถึง 9.6 ล้านครัวเรือนที่ต้องจ่ายค่าที่พักถึงกว่าร้อยละ 50
ของรายได้
ปัญหาค่าใช้จ่ายด้านที่พักอาศัยที่สูงจึงมีผลกระทบต่อเรื่องอาหารการกิน
ค่ารักษาพยาบาล และเงินออม เฉพาะเงินออมที่จะใช้ในยามชราจะถูกใช้ไปร้อยละ 70
ทางเลือกของที่พักผู้สูงวัย
ในกรณีทางเลือกของผู้สูงวัยนี้
อยากให้คนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปได้มีโอกาสคิดและไตร่ตรองเลือกที่พักอาศัยสักครั้ง
และกลับมาคิดและตรวจสอบใหม่ทุกๆ 5 ปี เพราะชีวิตรอบๆตัว
และรวมถึงตัวเราที่เปลี่ยนไป
ทางเลือกของผู้สูงวัยมีอะไรบ้าง
คิดและวางแผนเรื่องที่พักอาศัยแต่เนิ่นๆ ในด้านที่พักอาศัย
(Habitation, housing) หากมีปัญหาอะไร
ให้คิดเสียก่อนที่จะอายุสูงมากจนคิดทำอะไรได้ลำบาล เพราะการเป็นผู้สูงวัยนั้น
กำลังจะน้อยลง อะไรที่คิดว่าจะทำได้ มักจะทำได้ยากยิ่งขึ้น เช่น การเคลื่อนย้ายของ
การปรับปรุงบ้านใหม่ ก็มักจะเกี่ยวข้องกับการรื้อค้น และมีฝุ่นมาก
ต้องมองหลายๆมิติร่วมกัน
ผู้สูงอายุจะต้องพิจารณาในหลายๆมิติดังนี้
เศรษฐกิจ – ชีวิตเราจะยืนยาว
เรามีทรัพยากรที่ต้องใช้ในชีวิต เราจะได้ปัจจัยต่างๆมาอย่างไร จะมีเงินบำนาญสนับสนุนบ้างไหม
และสักเท่าใดในแต่ละเดือน จะมีรายได้อื่นๆจากค่าเช่า ดอกเบี้ยจากเงินในธนาคาร
เงินได้จากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรืออื่นๆ
หากรายได้คำนวณแล้วจะไม่พอใช้จ่าย
ผู้สูงอายุยังทำงานหารายได้เสริมเพิ่มขึ้นได้บ้างหรือไม่ หากขัดสน
จะมีช่องทางมีรายได้เกื้อหนุนได้อย่างไรอีกบ้าง เช่น เงินช่วยเหลือจากบุตร
หรือญาติผู้มีฐานะ
สังคม – จะอยู่กันต่อไปอย่างไร
สำหรับผู้สูงวัยจะอยู่อาศัยนั้น จะอยู่ร่วมกับใคร มีกิจกรรมอะไรที่จะทำ
ทำแล้วเป็นประโยชน์หรือไม่ ผู้สูงอายุไม่ควรต้องอยู่คนเดียวตามลำพัง
จำเป็นต้องมีการเข้าสังคม กลุ่มเพื่อน หรือเพื่อนบ้านบ้าง
ต้องมีกิจกรรมที่ช่วยเหลือและพึ่งพากันได้
เทคโนโลยี – เรากำลังอยู่ในโลกยุคที่มีเทคโนโลยีหลายประการที่ทำให้บริการทางการแพทย์ได้เปลี่ยนไป
บริการทางการแพทย์ที่คนอยากอยู่ส่วนกลางหรือที่ต้องมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่นั้น
จะเปลี่ยนไป ยุคใหม่นี้ เรามี Telemedicine แพทย์ที่รักษาคนไข้อาจเป็นอายุรแพทย์ทั่วไป
แต่มีทีมแพทย์ที่แม้จะอยู่ห่างไกล แต่สามารถเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ
วิเคราะห์ผลจากเลือด ปัสสาวะ และตัวอย่างอื่นๆ
แล้วส่งผลและให้ผลการวิเคราะห์มายังแพทย์ผู้รักษาที่อยู่ใกล้กับผู้ป่วย
ดังนั้นคนสูงอายุสามารถเลือกที่พักอาศัยได้มากขึ้น อาจอยู่ในชนบท
แล้วใช้เวลาเดินทางเพียง 10-20 นาทีเพื่อมาพบแพทย์ตามนัดหมาย
พบแพทย์ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด
ซึ่งก็มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะรักษาผู้ป่วยได้อย่างดีเพียงพอ
ความคิดเรื่องต้องอยู่ใกล้หมอนั้น
ได้เข้าสู่ยุคต้องมีหมออยู่ใกล้คน สามารถมีบริการให้ได้ในทุกชุมชน ดังนี้เป็นต้น
อนาคต – ความเป็นจริง ในอนาคต ความแข็งแรงจะลดลง
กำลังอย่างที่อยากจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ลดลง เราอาจทำไม่ได้ดังตั้งใจ
แล้วจะอยู่อย่างไร
จริงๆผู้สูงวัยไม่ได้ต้องการที่พักอาศัยที่ใหญ่โตมากนัก
ยิ่งหากต้องดูแลความสะอาดต่างๆด้วยตนเองแล้ว ยิ่งมีขนาดเล็กก็จะยิ่งดี
ทางเลือกของผู้สูงอายุเป็นอย่างไร
ผู้เขียนได้นำเสนอทางเลือกที่พักอาศัย ที่ต้องวิเคราะห์ร่วมกับปัจจัยสภาวะแวดล้อม
ทางเลือกของผู้สูงอายุด้านที่พักอาศัย
พักอยู่บ้านเดิม
ปรากฏการณ์นกหิมะ หรือ Snow birds
คนสูงวัยที่มีฐานะ ชนชั้นกลาง
อยากเปลี่ยนที่พักเป็นครั้งคราว หรือตามฤดูกาล เพื่อหลีกเลี่ยงอากาศที่หนาวจัด หรือร้อนจัด
เรียนรู้จากปรากฏการณ์ “นกหิมะ” (Snow
birds) จากการไปต่างประเทศบ่อยๆ ในยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือ ที่ผู้สูงวัยเองจะกลายเป็นนกหนีหิมะ
อยู่ที่หนึ่งทางตอนเหนือ อยู่ในที่อากาศหนาว
ก็ย้ายลงทางใต้ไปพักยังที่ๆมีอากาศอบอุ่นกว่า และเมื่ออากาศทางเหนือกลับมาอบอุ่นอีกครั้งในฤดูใบไม้ผลิ
ก็กลับมาอยู่บ้าน
คนสูงวัยแม้ในประเทศไทย จะเริ่มมีชีวิตแบบเดินทางไปมามากขึ้น
เพราะการเดินทางสะดวก ระหว่างที่หนึ่ง จังหวัดหนึ่ง ไปยังที่ต่างๆ และจากประเทศหนึ่ง
ไปยังอีกประเทศหนึ่ง เพื่อเยี่ยมลูกหลาน เพื่อนฝูง หรือไปช่วยงานเลี้ยงหลาน ดังนี้จะมีมากขึ้น
แต่ทั้งนี้ยังคงมีบ้านเดิมอยู่ คนสูงวัยอาจมีที่พักสลับไปมา
เช่นมีบ้านอยู่ในต่างจังหวัด อาจยังทำไร่ทำนาอยู่ แต่มีลูกๆมาทำงานในเมือง
หรือชานเมืองใหญ่ พ่อแม่ก็ตามาเยี่ยมลูก มาพักอยู่ด้วย มาเลี้ยงหลาน
ทำงานบ้านช่วยเป็นบางช่วง แล้วก็กลับไป บางทีรับหลานไปเลี้ยงที่บ้านในต่างจังหวัด
แล้วก็เดินทางรับส่งไปมาเมื่อปิดภาคการศึกษา ดังนี้มีให้เห็นเป็นอันมาก
การมีบ้านที่สอง
ผู้สูงวัยที่มีฐานะ หรือเป็นเศรษฐี
บางส่วนนิยมสร้างบ้านพักตากอากาศ หรืออาจซื้อที่ปลูกเสร็จแล้ว ทั้งที่เป็นบ้าน
หรือคอนโดมิเนียม
การมีบ้านพักหลังที่สอง (Second home,
summer home)ดังนี้เป็นเรื่องยาก ทำไม่ได้ทุกคนหรือครอบครัว
แต่คนก็อยากเปลี่ยนบรรยากาศ เปลี่ยนที่พักเป็นครั้งคราว
สำหรับอีกทางเลือกหนึ่งของผู้สูงวัยที่จะเปลี่ยนบรรยากาศที่อาจอุดอู้
น่าเบื่อหน่าย เพื่อไปเที่ยวต่างจังหวัดเป็นครั้งคราว ดังนี้ทางเลือกหนึ่ง คือใช้บริการโรงแรม
และสถานที่ตากอากาศ เพราะการไปพักในระยะไม่ยาว
และบางทีก็อยากเปลี่ยนไปเที่ยวในที่ต่างๆหลายทิศทาง การใช้บริการโรงแรม
และบริการท่องเที่ยวที่เข้าใจการดูแลผู้สูงอายุน่าจะเหมาะกว่า และไม่เป็นภาระจนเกินไป
ยังอยู่ร่วมกับลูกหลาน
คนไทยมีนิสัยติดบ้านกว่าชาติตะวันตก
เราคุ้นเคยกับการที่หลายครอบครัวที่เป็นญาติพี่น้อง อาศัยอยู่ร่วมกัน
การอยู่อาศัยกับครอบครัว
ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพสังคมไทยและสังคมโลก
ครอบครัวกับที่พักอาศัยเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กัน
จึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมของครอบครัว
ที่ไม่เหมือนกันระหว่างตะวันตกกับตะวันออก และในบางกรณี สังคมไทยเป็นสังคมตะวันออก
แต่ก็ไม่เหมือนกับทั้งจีนหรืออินเดียเสียทีเดียว ไทยมีลักษณะครอบครัวเฉพาะ
มีค่านิยมเฉพาะที่ควรได้ศึกษาทำความเข้าใจ
ครอบครัวแบบนิวเคลียร์
ครอบครัวแบบนิวเคลียร์ (Nuclear family) คือครอบครัวพื้นฐานแบบตะวันตกยุคใหม่ ครอบครัวประกอบด้วยพ่อแม่ 2 คน และลูกของเขาซึ่งอาจจะเป็น 1-2 หรือมากกว่า
มีครอบครัวที่เล็กกว่านี้ก็คือครอบครัวที่มีแม่หรือพ่อคนเดียว
จะด้วยการเสียชีวิตหรือการหย่าร้าง
ครอบครัวขยาย
ครอบครัวขยาย หรือครอบครัวแบบขยาย (Extended
family) เป็นครอบครัวในแบบตะวันออก เป็นครอบครัวที่แม้ขยายใหญ่ขึ้น
มีเขยมีสะใภ้ ก็ยังอยู่ร่วมกันในบ้านหลังเดียวกัน หรือมีบ้านสร้างขยาย
ก็สร้างขยายในบริเวณเดียวกันแบบในชนบท ที่มีที่กว้างพอที่จะขยายได้ ครอบครัวอาจประกอบด้วย
บุคคลในครอบครัวที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นประมุขของครอบครัว
และมีบุคคลในครอบครัวในระดับใกล้ชิด อันประกอบด้วยรุ่นลูก คือ ป้า น้า อา ลุง
แล้วก็มีรุ่นหลาน (Grand sons & grand daughters) ในต่างจังหวัด
ทั้งหมู่บ้านในชนบทเป็นคนในตระกูลเดียวกัน แต่ในยุคใหม่ ความจำเป็นในด้านการทำงานในแบบอุตสาหกรรม
และภาคธุรกิจ ทำให้คนต้องเน้นการมีงานทำ และต้องย้ายไปอยู่ตามแหล่งงานเป็นหลัก
สภาพครอบครัวแบบขยายนี้จึงลดลง
ในตะวันตกมีครอบครัวแบบขยายที่สวนทาง
คือเมื่อพ่อแม่มีอายุมากขึ้น ลูกๆก็เชิญพ่อแม่ให้ย้ายมาอยู่กับลูกๆ ซึ่งมีบรรดาหลานๆร่วมอยู่ด้วย
แทนที่พ่อแม่ที่จะช่วยตัวเองไม่ได้ จะต้องย้ายไปอยู่ในบ้านคนชราแบบ Nursing
home ที่มีบรรยากาศที่ไม่ดีต่อจิตใจของผู้สูงอายุ
ในสังคมตะวันตกบางส่วนยังมีวัฒนธรรม ครอบครัวเกี่ยวดอง
(Immediate family) ครอบครัวในลักษณะนี้หมายถึงคนรุ่นปู่ย่า
หรือตายาย แล้วมีลุงป้า น้าอา ลูกพี่ลูกน้อง ซึ่งอาจไม่ได้อยู่ในบ้านเดียวกัน
แต่เลือกอยู่ในละแวกเดียวกัน พึ่งพาและติดต่อกันได้สะดวก
ครอบครัวในแบบที่มีขยาย
มีสมาชิกในครอบครัวที่สืบทอดมาหลายทอด แต่อยู่ในบ้านเดียวกัน หรือละแวกเดียวกัน บางทีเรียกว่า
ครอบครัวตระกูลเดียวกัน (Consanguineous family) เวลาจะทำงานก็เลือกจากสมาชิกในครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลเดียวกัน
เมื่อครอบครัวน้ำตระกูลด้วยกิจการผิดกฎหมาย
สมาชิกในครอบครัวเป็นอันมากก็จะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มไปด้วย กลายเป็นพวกมาเฟีย (Mafia)
ดังในวัฒนธรรมบางส่วนของอิตาลี
ครอบครัวลำต้น
คำว่า Stem family ใน Google
เขาแปลว่า “ครอบครัวลำต้น”
ครอบครัวลำต้น (Stem family) เป็นครอบครัวขยายแบบหนึ่ง มีคนที่เรียกเป็นคนแรกๆ คือเฟรเดอริค เลอ เพลย์
(Frédéric Le Play) ครอบครัวแบบนี้
พ่อแม่จะอยู่กับลูกและคู่ครองของเขาคู่หนึ่ง และยังมีลูกๆที่เมื่อโตมีการงานแล้ว
ก็ยังไม่ได้แยกออกไปจากครอบครัว
ครอบครัวแบบนี้สัมพันธ์กับความไม่ยึดหลักเท่าเทียมกันในการรับมรดก
ซึ่งมีทั้งในประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี แต่ในบางการปฏิบัติ
มรดกก็ยังมีการแบ่งกันในบรรดาลูกๆอย่างเท่าเทียมกัน
ดังที่มีในประเทศโรเมเนีย
ทางตอนเหนือของประเทศไทย หรือเมโสอเมริกัน (Mesoamerican) ที่เป็นชนกลุ่มพื้นเมือง
ในกรณีเช่นนี้ลูกที่รับหน้าที่ดูแลพ่อแม่โดยทั่วไปจะได้รับมรดกที่เป็นบ้านพัก
ที่ดินที่บ้านตั้งอยู่ และทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ที่อยู่ในบ้าน
ในกรณีของครอบครัวแบบขยายนี้
พ่อแม่และลูกๆหลานๆจะอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน เป็นครอบครัวที่มีคนหลายรุ่น
ในวัฒนธรรมแม้จะเป็นตะวันออกเหมือนกัน
แต่คำนั้นมีความหมายที่แตกต่างกัน ดังเช่นในอินเดีย ครอบครัวจะเป็นสังคมปิตาธิปไตย
หรือฝ่ายชายเป็นใหญ่ (Patriarchal society) ครอบครัวส่วนขยายจะอยู่กับฝ่ายสามี
หรือฝ่ายชาย ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้อยู่ด้านหลัง แม้อยู่ในบ้านเดียวกัน
ครอบครัวแบบร่วม
Joint family = ครอบครัวแบบร่วม
หรือครอบครัวที่มากกว่า 1 มาอาศัยร่วมกัน มีบางกิจกรรม
บางสถานที่ อาศัยใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ในครอบครัวที่มาอยู่ร่วมกัน ภาระการทำงานจะมีการแบ่งกันทำ
แม้จะไม่เท่ากัน บทบาทของฝ่ายหญิงโดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับการทำอาหาร
ทำความสะอาดบ้าน ซักเสื้อผ้า และจัดการเกี่ยวกับเรื่องภายในครอบครัว
ฝ่ายพ่อ หรือปู่จะเป็นคนมีอำนาจในการตัดสินใจวางกฎเกณฑ์หรือเมื่อมีปัญหาความขัดแย้ง
ส่วนผู้สูงวัยอื่นๆจะมีหน้าที่สั่งสอนอบรมเด็กๆและลูกหลานทั้งหลาย
ทั้งในด้านภาษาบ้านเกิด กิริยามารยาทสังคม และหน้าที่ศีลธรรม
ปู่ย่ามักจะทำหน้าที่นำ เพราะมีประสบการณ์มากที่สุด
และมีความรับผิดชอบที่ทำให้บ้านมีความสงบเรียบร้อย
ครอบครัวแบบมีหลายวัย
เอมี โกเยอร์ (Amy Goyer) แห่ง
AARP ผู้เชี่ยวชาญด้านการอยู่ร่วมกันของคนหลายวัย
กล่าวว่าการที่บ้านมีคนหลายวัยอยู่ร่วมกันนั้น
เป็นผลจากการที่ทุกฝ่ายต้องมาร่วมกันใช้ประโยชน์จากทรัพยากรหรือเงินที่มีอย่างจำกัด
อีกประการหนึ่งคือการที่ปู่ย่าหรือตายายย้ายมาอยู่กับลูกๆที่เป็นผู้ใหญ่นี้
เป็นเพราะความจำเป็นที่ต้องมีการดูแล มีคนรุ่นปู่ย่ากว่า 2.5 ล้านคู่ที่มีความรับผิดชอบต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของบรรดาหลานๆที่มาอยู่ร่วมกัน
บ้านในแบบนี้จะมีบริเวณใช้สอยส่วนกลางใหญ่
มีครัวเป็นส่วนกลาง แต่ละครอบครัวมีห้องนอนของตนเอง สมาชิกของครอบครัวในแบบนี้จะดูแลซึ่งกันและกันเมื่อมีสมาชิกคนใดเจ็บป่วย
เมื่อบ้านกลายเป็น “รังที่ไร้นก”
ปรากฏการณ์ “รังที่ไร้นก” นี้เกิดขึ้นในตะวันตก
แล้วก็จะเกิดขึ้นในประเทศไทย
เมื่อคนต้องมีการโยกย้ายถิ่นกันด้วยเหตุความจำเป็นด้านงานและแหล่งงาน
เมื่อครอบครัวแบบเดี่ยว (Nuclear family) ในแบบตะวันตก
ที่มีพ่อแม่และลูกอยู่ร่วมกัน แต่เมื่อลูกๆโตขึ้น เรียนมหาวิทยาลัย ก็จะย้ายออกไป
และเมื่อทำงาน ก็ต้องย้ายไปตามแหล่งงาน และเมื่อแต่งงาน ก็ต้องย้ายไปเกือบจะหมด
เมื่อผู้สูงวัยต้องกลับมาอยู่แบบครอบครัวเดี่ยว (Nuclear
family) เพราะลูกๆได้ออกไปมีครอบครัวของตนเอง มีการงานทำในที่อื่นๆ
ที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ หรือบางทีลูกไปแต่งงานกับคนที่อยู่ในที่ห่างไกล
และต้องแยกไปมีชีวิตของตนเอง
ครอบครัวยุคใหม่ มีลูกไม่มาก
เมื่อลูกแยกออกไปมีครอบครัวของตนเอง พ่อแม่ก็กลับมาต้องใช้ชีวิตตามลำพัง
สองคนตายาย ในบ้านเดิม
และนี่ทำให้พ่อแม่ที่มีบ้านที่ใหญ่กว่าความจำเป็นต้องกลับมาคิดว่า
แล้วจะทำอย่างไรกับบ้าน หรือชีวิตของตนเอง ที่ปลอดจากภาระแล้วนี้ดี
เมื่อลูกยังต้องอยู่กับพ่อแม่
ในครั้งหนึ่งสังคมที่เปลี่ยนไปเป็นแบบตะวันตกรังเกียจหนุ่มสาวที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว
ยังต้องอยู่กับครอบครัวพ่อแม่ของตนเอง
นักวิชาการท่านหนึ่งของญี่ปุ่นถึงกับเรียกหนุ่มสาววัยเกิน 25 ปีแล้วยังไม่ย้ายออกไปจากบ้านพ่อแม่ของตนว่า
“พยาธิสังคม” (Social parasite) แต่เมื่อศึกษาลึกๆขึ้นไป
ไม่ใช่เพียงลูกๆไม่อยากย้ายออกไป แต่พ่อแม่ก็ต้องการให้ลูกๆยังอยู่กับพ่อแม่ด้วย
อาจเป็นด้วยการแบ่งรับผิดชอบด้านค่าใช้จ่าย หรือเพราะค่าที่พักในชุมชนเมือง
ดังในเมืองใหญ่ในญี่ปุ่นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก
การได้ลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ทำให้มีเงินเก็บ หรือน้ำไปใช้ประโยชน์ทางด้านอื่นๆได้
อีกประการหนึ่งคือความเหงาของพ่อแม่
ต่างครอบครัวอยู่อาศัยร่วมกัน
เมื่อมีลูกเป็นผู้ใหญ่ และเขามีครอบครัวแล้ว
ก็ยังอยู่ร่วมกันกับบิดามารดา อย่างนี้เรียกว่า Co-habitation
ซึ่งจะไม่ใช่วัฒนธรรมของตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา
แต่อย่างไรก็ตาม การที่คนต่างวัยได้มาอยู่ร่วมกันนี้มีมากขึ้น และมีทั้งในแบบย้อนกลับ
คือพ่อแม่ที่สูงวัย ย้ายมาอยู่กับลูกๆ ที่มีครอบครัว มีบ้านของตนเองแล้ว
การย้ายมาอยู่กับครอบครัวของลูก
ซึ่งมีทั้งอยู่กับฝ่ายสามี หรือกับฝ่ายภรรยา
บางที่ไม่ใช่เพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจ แต่เป็นเพราะความต้องการทางสังคม ปู่ย่า
หรือตาและยาย อาจมีคู่ที่ต้องเสียชีวิตไปด้วยวัยหรือการเจ็บป่วย
คนรุ่นปู่ย่า/ตายาย ก็ขายบ้าน แล้วย้ายมาอยู่กับลูกๆ บ้านที่ขายได้
ก็เปลี่ยนเป็นเงินหรืออื่นๆเพื่อเป็นมรดกแก่ลูกหรือหลานต่อไป
มีคนอื่นอยู่ร่วมด้วย แบ่งค่าใช้จ่าย
มีกรณีที่คนสูงวัยที่ไม่ได้พึ่งพาลูก
ก็อาจจะต้องดูแลชีวิตของตนเองไปอย่างอิสระ
ยังคงมีบ้านเดิมที่ใหญ่สักหน่อย
แบ่งให้คนอื่นมาร่วมอยู่ แบ่งค่าใช้จ่าย และขณะเดียวกันแลกกับการดูแลบ้าน
ทำความสะอาดบ้าน ซักและรีดเสื้อผ้า หรือบริการอื่นๆที่จำเป็นสำหรับผู้สูงวัย
สร้างที่พักเพิ่มเติม หารายได้
ผู้สูงวัยมีบ้าน มีพื้นที่ มีรายได้จากเงินบำนาญ
แต่อาจไม่เพียงพอ เพราะเงินบำนาญก็อาจเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของเมื่อมีงานประจำ
บางคนที่มีบ้านมีพื้นที่ มีโอกาสทางเศรษฐกิจในย่านนั้นๆ ก็สร้างที่พักเพิ่มเป็นหอพัก
ห้องพัก หรืออพาร์ทเมนท์ เพื่อใช้หารายได้
และอีกส่วนหนึ่งปรับเป็นที่พักสำหรับตนเองยามสูงวัย
ห้องเช่าที่มีห้องน้ำในตัวในบริเวณที่เป็นที่ต้องการราคา
2,500-3,500 บาท/เดือน หากมีสัก 20 ห้อง
จะมีรายได้เดือนละ 50,000-70,000 บาท ค่าก่อสร้างราว 200,000
ต่อหน่วย ต้นทุนรวมประมาณ 4-5 ล้านบาท
หากมีเงินสะสมอยู่แล้วสักครึ่งหนึ่ง ก็จะผ่อนหมดในเวลา 4-5 ปี
ที่เหลือจะเป็นรายได้ในช่วงยาวของชีวิต ดังนั้นคนที่เกษียณอายุและยังแข็งแรง
ก็สามารถแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ทำให้มีความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตระยะยาวได้
หากไม่คิดจะปรับขยายเพื่อหารายได้จำนวนมาก
ปรับเพื่อให้สามารถอยู่อาศัยได้สะดวกขี้น ส่วนใหญ่คือปรับให้พักอาศัยบ้านชั้นล่างได้
ปรับห้องน้ำให้เป็นส้วมมาตรฐานสากล นั่งได้โดยไม่ปวดเข่า หรือทางขึ้นบ้าน
แม้เป็นชั้นล่าง ต้องทำเป็นทางลาดความชันต่ำ ใช้รถเข็นขึ้นได้
ดังนี้ก็เสียเงินค่าปรับปรุงไม่มาก ใช้เงินเพียงระดับไม่เกิน 1 แสนบาท
ในกรณีที่อยู่บ้านในเมือง แต่ต้องอยู่ตามลำพัง
ก็สามารถเปิดรับให้มีคนมาอยู่ร่วมได้ หากเป็นคนวัยกลางคน ยังแข็งแรง ก็สามารถช่วยดูแลในงานบ้าน
และสนับสนุนผู้สูงวัย
หรือในบางกรณีรับลูกหลานของญาติ ที่เขาต้องการเข้ามาเรียนในเมือง
และให้เด็กทำงานบางส่วน เป็นการแลกเปลี่ยนกับงานบ้าน หรืองานที่ผู้สูงวัยต้องการ
เช่น ดูแลด้านอาหาร ยา การออกกำลังกาย บริการพาไปคลินิก หรือโรงพยาบาล หรืออื่นๆ
ขายบ้าน แล้วย้าย
ขายบ้านเดิมที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะดูแล
หรือต้องการเงินเก็บก้อนใหญ่สำหรับที่จะสำรองใช้ในอนาคต ในประเทศไทย
มีคนที่ขายบ้านเดิมในที่ๆมีค่าทางเศรษฐกิจ อาจจะมีค่าตารางวาละ 50,000-200,000
บาท ที่ขนาด 100 ตารางวา จึงมีมูลค่า 5-10
ล้านบาท
ส่วนการจะไปหาที่อยู่ใหม่
ก็มักจะต้องเลือกไปในที่ๆมีญาติ หรือมีเพื่อนที่มักคุ้นกัน เงินที่ขายบ้าน จะทำให้มีเงินซื้อ
หรือเช่าระยะยาวตลอดชีวิต ในที่ใหม่ ได้อยู่ใกล้ลูกหลานในที่ใหม่ แต่ทั้งนี้ต้องให้มีหลักประกันในชีวิต
ปรึกษาทนายเพื่อให้มีสัญญา พินัยกรรม และหลักประกันในชีวิตชัดเจน
มีพยานลงนามรับทราบไว้ด้วย
บ้านพักคนชรา
ที่พักคนชรา (Nursing home) ในปัจจุบันมีทั้งที่เป็นของเอกชน มีบริการเช่าพักเป็นครั้งคราว
เป็นระยะสั้น หรือระยะยาว ตามความจำเป็น เช่น พักหลังเข้าโรงพยาบาลหลังการผ่าตัด
หากต้องนอนโรงพยาบาลจะมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่า แต่หากอยู่บ้านไม่มีพยาบาลที่มีประสบการณ์ดูแล
ก็เลือกนอนพักที่บ้านพักที่เรียกว่า Nursing home นี้
การพักที่บ้านพักแบบนี้ถูกกว่าพักบ้านตนเอง
และจ้างพยาบาลมาเฝ้า
บ้านพักหรือศูนย์แบบ Nursing home นี้ มีวัตถุประสงค์ที่กว้างขวางดังนี้ (1) ผู้สูงอายุทั้งช่วยเหลือตนเองได้
และไม่ได้ (2) ผู้ป่วยพักฟื้น เจาะคอ ให้อาหารทางสาย ซึ่งญาติผู้ป่วยไม่สามารถดูแลเองได้
หากไม่ได้เป็นพยาบาลที่ได้รับการฝึกมาแล้ว
โดยทั่วไป บ้านหรือศูนย์สำหรับผู้สูงวัยนี้มีอาหารหลัก
3 มื้อ อาหารว่าง 2 มื้อ มักมีพยาบาลวิชาชีพควบคุมดูแล
บริการสำหรับผู้สูงอายุทั่วไปที่ช่วยตัวเองได้น้อยลง ซึ่งมีรวมถึงสิ่งต่อไปนี้
• ดูแลอนามัยส่วนบุคคล • ตรวจวัดความดันโลหิต
ชีพจร การหายใจ วัดไข้ เช้า – เย็น • ดูแลเรื่องการขับถ่าย
พลิกตัวทุก 2 ชั่วโมง • กายภาพบำบัดพื้นฐาน
เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน ซึ่งพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ
• การทำกิจกรรมและการออกกำลังกาย
เพื่อความแข็งแรงของแขนขา และการทรงตัว • ดูแลด้านอารมณ์และจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ
ไม่ให้เหงา ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว • จัดกิจกรรมที่ช่วยฟื้นฟูความจำ
เช่น อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ เปิดเพลง
กรณีผู้ป่วยที่ต้องการการกระตุ้นการ
ทำงานของระบบประสาท ก็จะมีการสังเกตการเปลี่ยนแปลง อาการของโรคที่เป็น ถ้าผิดปกติ
รายงานให้ญาติทราบ มีการทำความสะอาดบริเวณ-ห้องนอน-อุปกรณ์ของผู้ป่วย-ผู้สูงอายุและซักรีดเสื้อผ้า
บ้านพักแบบนี้ ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุที่จะอยู่ระยะยาว
ไม่ดีต่อขวัญกำลังใจ เพราะจะอยู่ท่ามกลางผู้สูงวัยที่มีอายุมาก
อาจป่วยจนสมองเสื่อม หรือป่วยมาก อาการจะเริ่มหนักขึ้นทุกที
ผู้ดูแลแม้จะเป็นผู้ทำหน้าที่ดีที่สุดในวิชาชีพของเขา แต่ก็ไม่ใช่ญาติ
บางครอบครัวที่พ่อแม่เขาสูงวัย และป่วยแบบเรื้อรังแบบติดเตียง
ต้องยอมตัดใจเลิกทำงานประจำ และให้เวลาในการดูแลพ่อหรือแม่ตนเองที่บ้าน
โดยฝึกเรียนรู้ที่จะดูแลโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาลให้มากที่สุด
สร้างบ้าน/ปรับปรุงบ้านให้คนชรา
การสร้างบ้าน
หรือต่อเติมบ้านให้เหมาะสมกับผู้สูงวัยนั้นมีหลายระดับ ใช้เงินและทรัพยากรต่างกัน
ที่เหมาะเป็นบ้านผู้สูงวัย ควรเป็นบ้านชั้นเดียว หรือหากเป็นบ้านสองชั้นขึ้นไป
ก็ให้ผู้สูงวัยพักอาศัยในชั้นล่าง การปรับปรุงบ้าน
ก็คือทำให้บ้านสะดวกและปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้สูงวัย เริ่มตั้งแต่ห้องน้ำ
ส้วมที่ต้องเป็นแบบนั่งเรียกว่า “ส้วมชักโครก” หรือ Flush toilet มีที่นั่งสูงในระดับเก้าอี้ ไม่ใช่ส้วมแบบนั่งยองๆ ที่เรียกว่า squat
toilet
ซึ่งไม่เหมาะกับผู้สูงวัยที่มักจะมีหรือเริ่มมีปัญหาเรื่องข้อเข่า
ห้องส้วมควรแยกจากส่วนอาบน้ำ ไม่ให้น้ำที่อาบกระเซ็นเปียกไปทั่วห้องน้ำ
ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการลื่นหกล้ม ส่วนที่อาบน้ำนั้น
หากมีความต้องการก็สามารถหาซื้อเก้าอี้ในห้องน้ำที่เป็นพลาสติกมีโครงเป็นอลูมิเนียม
ราคาไม่แพง
การปรับปรุงบ้าน ควรมีสถาปนิก
หรือนักตกแต่งภายในที่รู้เรื่องความต้องการของผู้สูงวัยให้คำปรึกษา
หรือไม่เช่นนั้น เจ้าของบ้านก็ต้องดูแลในรายละเอียดอย่างจริงจัง จะใช้ช่างพื้นบ้าน
อย่างที่เรียกว่า Handy man ก็ต้องเลือกที่มีประสบการณ์ปรับปรุงบ้านในลักษณะใกล้เคียงมาแล้ว
ชุมชนผู้สูงอายุ องค์กรไม่แสวงกำไร
ในปัจจุบันเมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ
ก็มีองค์การทั้งที่แสวงกำไร และไม่แสวงกำไร มีทั้งที่เป็นมูลนิธิ องค์การศาสนา
เข้ามาจัดตั้งชุมชนที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ ซึ่งนับเป็นแนวโน้มที่ดี
โดยหลัก
ส่วนใหญ่ผู้เข้าร่วมต้องมีทรัพยากรหรือเงินขั้นต้นในระดับหนึ่ง อาจเป็นค่าก่อสร้าง
แต่สร้างที่พักเสร็จแล้ว ก็เข้าอยู่ได้จนตลอดชีวิต มีค่าดูแลบริการส่วนกลาง (Amenity)
แต่เมื่อจากไปแล้ว บ้านก็ตกเป็นของส่วนกลาง บ้านในลักษณะนี้ ผู้สูงวัยที่จะเข้าร่วมควรมีความคุ้นเคยกับสมาชิกและกิจกรรมของชุมชนมาในระดับหนึ่ง
ยอมรับในหลักศาสนาหรือนิกายนั้นๆ เพราะเขาจะมีหลักปฏิบัติที่ท่านต้องทำตาม
เช่นเรื่องอาหาร จะเป็นแบบมังสะวิรัติหรือไม่ มีการต้องสวดมนต์ร่วมหรือไม่
โครงการในแคนาดา Community partners
ในสังคมที่พัฒนาแล้ว ดังในประเทศแคนาดา
ที่พักอาศัยมักมีเกินความต้องการ จึงเป็นเพียงเรื่องที่ผู้ที่ต้องการเช่าพักอาศัย
ได้สื่อสารอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าต้องการย้ายไปอยู่ ณ ที่ใด ในแคนาด องค์การ OMHM ได้มีโครงการริเริ่มในระดับชุมชนและสังคมด้านที่พักอาศัย
มีองค์กรที่รักษาผลประโยชน์ของผู้เช่า (Tenant associations) กว่า 125 แห่ง
และมีองค์กรท้องถิ่นและสถาบันต่างๆเข้าร่วมด้วย
ความริเริ่มนี้ส่งเสริมให้ผู้เช่าได้มีความรับผิดชอบในสภาพแวดล้อมของตน
ความพยายามจะมีโครงการและกิจกรรม และได้รับการสนับสนุนในที่พักและอาคารที่อาจมีปัญหา
กิจกรรมไม่ได้จำกัดอยู่ที่ชุมชนที่เป็นบ้านในโครงการของรัฐ
แต่รวมถึงที่พักอื่นๆด้วย และในทุกกรณีนี้
จะมีการออกแบบและจากการความเป็นหุ้นส่วนกับองค์การและสถาบันในชุมชน
ในประเทศไทย ผู้เช่าที่ย้ายถิ่น
ไม่ได้มีส่วนในการดูแลชุมชนที่ตนจะไปพักอาศัยอยู่ด้วย เช่น ชุมชนผู้สูงวัย
ต้องการความสะอาดเรียบร้อย ความปลอดภัย
มีถนนหรือทางเดินเท้าที่เหมาะสำหรับผู้สูงวัยจะใช้ประโยชน์
มีตลาดร้านค้าที่จะไปซื้อของของได้สะดวก มีคลินิก โรงพยาบาลที่ดูแลผู้สูงวัย
องค์การสร้างบ้านอย่างเดียว
Habitat for Humanity with Jimmy Carter
มูลนิธิ Habitat for Humanity โดยมีอดีตประธานาธิบดี Jimmy Carter และภรรยา
เป็นอาสาสมัคร เคยมาสร้างบ้านในประเทศไทย
คนไทยที่มีฐานะและมีกำลังคิด
ก็สามารถมาร่วมกันสร้างที่พักให้กับคนชรา โดยสร้างเสริม
หรือปรับปรุงอาคารบ้านพักที่มีอยู่แล้ว ให้สะดวกต่อการใช้งานของผู้สูงอายุในชนบท
หรือในชุมชนแออัดในเมือง บ้านในชนบทของประเทศไทยมีอยู่เป็นอันมาก
แต่ไม่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ มีที่เป็นบ้านไม้พื้นยกสูง ไม่มีห้องน้ำ
แต่ใต้ถุนที่สูงนี้ สามารถปรับให้สูงพอ
และทำส่วนล่างให้เป็นที่พักที่มีห้องน้ำที่เหมาะแก่ผู้อายุได้ใช้ประโยชน์ได้
ใช้เงินไม่มาก และดีสำหรับผู้สูงอายุก็ได้อยู่ในบ้านเดิม
สรุป
บ้านหรือที่พักอาศัยเป็นเรื่องสำคัญ เป็นปัจจัย 4
ที่เราต้องการขั้นพื้นฐาน คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย
และยารักษาโรค จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ เพราะบางคนทำงานมาตลอดชีวิต
มีที่อยู่ที่องค์การที่ทำงานจัดให้ แต่เมื่อเกษียณการทำงาน
สิทธิที่จะพักต่อไปก็ไม่มี
ต้องได้คิดอย่างเตรียมการ ให้เวลาคิดล่วงหน้าที่จะต้องจัดการเกี่ยวกับบ้านที่พักอาศัย
บางคนชะล่าใจ คิดแบบผลัดไปก่อน
แต่แล้วเมื่อถึงเวลาที่ต้องดำเนินการเรื่องบ้านหรือที่พักอาศัย ก็ไม่มีแรงที่จะดำเนินการแล้ว
การคิดเรื่องบ้าน อาจต้องมีจินตนาการสักหน่อย ต้องได้เห็นตัวอย่างของผู้สูงอายุ
ตั้งแต่วัย 60, 70, 80 หรือสูงกว่านั้น
จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในร่างกาย อ่อนแอลง เราก็เป็นเช่นนั้น เมื่อเราตระหนักแล้ว
ก็จะได้เตรียมการเรื่องที่พักอาศัยแต่เนิ่นๆ เพราะการคิดเรื่องบ้าน
ดังเช่นการสร้างบ้านใหม่ ก็ใช้เวลาก่อสร้างนานนับปีแล้ว
ยังมีเรื่องการขนย้ายข้าวของอีก มันเป็นเรื่องที่เหนื่อย
และยิ่งหากไม่มีคนช่วยจัดการ ก็เป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก
คิดถึงบ้านตามความจำเป็นแท้จริง
บางทีบ้านที่มีขนาดใหญ่เกิน ก็เป็นภาระ ยากแก่การดูแล เพราะบ้านใหญ่
ก็จะมีเรื่องจุกจิกเช่นการซ่อมแซมทั้งเล็กและใหญ่ตามมา
ถ้าคิดที่พักให้มีขนาดไม่ใหญ่ ก็จะได้จัดการส่วนที่เกินความต้องการ
ซึ่งอาจเปลี่ยนให้เป็นทรัพยากรที่จะต้องกินต้องใช้ในระยะต่อไป
No comments:
Post a Comment