หลักความสัมพันธ์ลูกกับพ่อแม่ผู้สูงวัย
Updated: March 24, 2017
Keywords: การมีอายุยืนยาว, longevity, ความสุข, Happiness, การสื่อสาร, communication
ศึกษาและเรียบเรียงจาก “9 Simple Rules
of Communication With Elderly Parents.” และอื่นๆ
ความนำ
โลกกำลังเปลี่ยนไป
โลกและวิถีชีวิตแบบตะวันออกกำลังอ่อนล้า เปลี่ยนไปสู่ชีวิตแบบตะวันตก
ชีวิตแบบชนบทที่คนในหมู่บ้านเป็นพี่น้องกัน เปลี่ยนไปสู่วิถีชีวิตแบบเมือง
บ้านที่เป็นชั้นๆสูงขึ้นไปในรูปคอนโดมีเนียม หรืออาคารสูง ครอบครัวของเราเล็กลง
กลายเป็นมีเพียงพ่อแม่และลูก ส่วนชีวิตในแบบเดิมที่เหลืออยู่ตามหมู่บ้านก็ถดถอยลง
คนทำการเกษตรน้อยลง และผู้คนในภาคการเกษตรกลายเป็นผู้สูงวัย ส่วนคนหนุ่มสาว
เข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่
แล้วชีวิตผู้สูงวัย ซึ่งยิ่งมีอายุที่ยืนยาวขึ้น
แล้วผู้สูงวัยของเราจะอยู่ที่ไหน อยู่อย่างไร มีสังคมแวดล้อมอย่างไร
ผู้สูงวัยในที่นี้หมายถึงพ่อแม่ของเราท่าน (Our
elderly parents) เป็นหลัก
การจะดูแลผู้สูงวัยในสังคมไทย ก็ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจในค่านิยมและทัศนคติแบบไทยๆและตะวันออก
เรายังไม่พร้อม และไม่เหมาะสมที่จะคิดและรับวัฒนธรรมแบบตะวันตกเต็มรูปแบบ พื้นฐานทางสังคมของเราไม่ได้ถูกสร้างมาอย่างนั้น
เราไม่ได้ถูกเลี้ยงดูมาแบบตะวันตก แต่เราเกิดมาและผ่านการเลี้ยงดูในแบบตะวันออก
และโดยเฉพาะในแบบไทยๆ ไม่ใช่ในแบบจีน หรืออินเดีย แต่เป็นแบบไทยๆที่มีการประยุกต์และปรับเปลี่ยนไปบ้าง
ตามสภาพสังคมปัจจุบัน
เราไม่ได้มีสวัสดิการสังคม (Social
welfare) ในแบบที่ชาติสแกนดิเนเวีย หรือยุโรปตะวันตกมี สังคมไทยยังไม่ได้วางระบบดูแลสวัสดิการที่ครบถ้วนนัก
แต่เรามีระบบครอบครัว พ่อแม่ดูแลลูก และลูกๆดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า
และเรื่องนี้ถือเป็นค่านิยมของสังคมไทย คนที่ทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่
ก็ถือว่าเป็นคนดีมีความกตัญญู คนทำธุรกิจ คบค้าคนที่มีกตัญญูต่อพ่อแม่
ก็วางใจว่าเขาคบค้ากับคนดี
เราไม่ได้มีผืนดินกว้างใหญ่
อุดมสมบูรณ์เหมือนอย่างในทวีปอเมริกาเหนือ ดังสหรัฐอเมริกา หรือแคนาดา คนในทวีปอเมริกาเหนือมีโอกาสทางธุรกิจ
สร้างฐานะในตอนอายุน้อย เพื่อให้มีเงินและทรัพย์สินที่จะใช้เมื่อยามแก่เฒ่า อเมริกันจะพูดถึงการมีเงิน
400k หรือ 400,000 เหรียญก่อนเกษียณ
ในปัจจุบันที่ค่าของเงินเปลี่ยนไป เขามองไปที่บ้าน ทรัพย์สิน
และเงินทองที่เก็บสะสมได้ในระหว่างทำงาน มีอย่างน้อย 1 ล้านเหรียญ
หรือ 35 ล้านบาท นี่หมายถึงชนชั้นกลางทั่วไปของเขา
แต่ในประเทศไทยเราประชากรไม่ได้มีรายได้สูงขนาดนั้น แต่เรามีระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง
(Sufficiency economy) เรากินน้อย ใช้น้อย แต่ก็สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข
พ่อแม่ไม่ได้เป็นภาระอะไรมาก เรามีระบบรักษาพยาบาลที่ได้เริ่มขึ้นในระยะหลัง
ยังไม่สมบูรณ์ แต่อย่างน้อยทำให้อุ่นใจได้ว่า เมื่อเจ็บป่วย
ก็ยังมีระบบการรักษาพยาบาลที่มีให้แก่ทุกคน
อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ผู้สูงวัยก็ยังต้องการการดูแลนี้จากลูกๆ
หากมีพ่อแม่คนใดที่โชคร้าย ไม่มีลูกๆจะดูแล ซึ่งจะมีเหลือไม่มากนัก ซึ่งในส่วนต่างนี้ชุมชนและระบบรัฐสามารถดูแลเพิ่มเติมได้
แต่รัฐจะไม่มีความสามารถเข้าไปทำหน้าที่เหมือนในระบบรัฐสวัสดิการในแบบตะวันตกได้ทั้งหมดนั้น
ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายที่มากเกิน และอาจไม่ได้ดูแลเอาใจใส่ได้ดีเหมือนคนในครอบครัวมีต่อกัน
เมื่อผมจะเขียนบทความเรื่อง
“ความมีอายุยืนยาวอย่างมีความสุข” นี้ ได้ใช้เวลาหลายเดือน
มีหลายเรื่องที่ผมใช้ข้อมูลและองค์ความรู้ในแบบตะวันตก โดยใช้การแปลความ
และปรับความรู้แบบตะวันตกนั้นให้เข้ากับสภาพแวดล้อมแบบไทยๆ
แต่ก็มีหลายเรื่องที่เราต้องยึดวิธีการแบบตะวันออก
และแบบไทยๆของเรา ซึ่งมีค่านิยม ประเพณี และวัฒนธรรมหลายอย่างที่มีคุณค่า
แทนที่จะไปรับวัฒนธรรมแบบตะวันตก
แล้วละทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของเราแต่ดั่งเดิมไป
การบำรุงบิดามารดา
ในอดีต เราไม่เคยมีปัญหาเรื่องชีวิตผู้สูงวัย
ว่าจะอยู่กันอย่างไร
ชีวิตคนในยุคโบราณชีวิตไม่ยืนยาว
เจ็บป่วยและเสียชีวิตในวัย 50-60 ปีก็มาก ไม่มียาและวิธีการดูแลสุขภาพอย่างปัจจุบัน
โรคง่ายๆอย่างไข้ป่า หรือมาเลเรีย (Malaria) โรคอหิวาห์ ก็คร่าชีวิตคนไทยซึ่งอยู่ในชนบทไปมากแล้ว
ชีวิตครอบครัวและชุมชนแบบไทย มีผู้ใหญ่เป็นศูนย์กลาง
(Adult/Elderly Centered society) เราให้ความเคารพผู้สูงวัย ไม่เหมือนในสังคมตะวันตกในปัจจุบัน
ที่เขายึดสังคมที่เด็กเป็นศูนย์กลาง (Child centered society) เขาคิดและมองอนาคตซึ่งหมายถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลานเป็นหลัก กิจกรรมครอบครัวเป็นอันมากมุ่งไปสู่การได้อบรมเด็กๆให้เติบโตอย่างเป็นอิสระ
เพื่อให้พึ่งตนเองได้ ฝรั่งจึงมักเปรียบเทียบครอบครัวเป็นเหมือน “นก” คือเลี้ยงลูกเพื่อให้เติบโตขึ้นทุกวัน
จนสักวันหนึ่งปีกกล้าขาแข็ง นกนั้นก็บินจากรังไป
ชีวิตครอบครัวในแบบไทยๆ หรือเอเชีย น่าจะเปรียบเหมือนฝูงหมาป่า
(Wolf packs) หรือฝูงลิงสวัสดิการและสวัสดิภาพของสมาชิกในสังคมขึ้นอยู่กับการอยู่ร่วมกัน
และผู้นำของฝูงที่มีอาวุโสและต้องแข็งแรงและแข็งแกร่งด้วย ก็เป็นผู้ชี้ทิศทางของสังคม
หมาป่าอยู่กันเป็นฝูง ฝูงหมาป่า จึงแข็งแกร่ง
สามารถล่าสัตว์ใหญ่อย่างวัวควาย หรือสัตว์เล็กที่มีอยู่ทั่วไป เช่น แพะ แกะ กวาง
ฯลฯ ที่มีความเร็วคล่องตัวสูง เพราะหมาป่ามีการทำงานร่วมกันเป็นทีม
มีความสัมพันธ์ต่อกัน การนำฝูง นอกจากตัวนำแล้ว กลุ่มตามแรกๆคือหมาสูงวัย
จะเจ็บจะตายจะไปปะทะกับศัตรูก็ก็อาศัยผู้สูงวัยเหล่านี้
การบำรุงบิดามารดา
ผู้สูงวัยในสังคมไทยตามความเชื่อทางพุทธศาสนา
อยู่ในสถานะนำหน้าของสังคม เป็นทิศหน้า หรือมีความสำคัญสูงสุดในครอบครัว
ใน 6 ทิศของความสัมพันธ์รอบตัว
บิดามารดาจัดอยู่ในทิศเบื้องหน้า ครูอาจารย์จัดอยู่ในทิศเบื้องขวา ที่เป็นเช่นนี้
เพราะบิดามารดาคือให้กำเนิดบุตร เป็นผู้เลี้ยงดูบุตรธิดา
อุปการะบุตรธิดาก่อนด้วยความเมตตากรุณา โดยมิได้คำนึงถึงผลตอบแทนใดๆ
พระพุทธเจ้าเปรียบบิดามารดาเป็นบุพเทพ
หรือเทพองค์แรก เป็นบุรพาจารย์ หรือเป็นอาจารย์คนแรก และเป็นอาหุเนยบุคคล
หรือเป็นบุคคลที่ควรแก่การนอบน้อม
การดูแลผู้สูงวัย เขาใช้คำว่า “การบำรุง” แทนที่จะเป็นการเลี้ยงดู
การเลี้ยงดูใช้กับผู้ใหญ่ เช่น พ่อแม่ดูแลลูก หรือผู้ใหญ่เลี้ยงดูผู้น้อย
ในทางพุทธศาสนา
บุตรธิดามีหน้าที่ในการดูแลบิดามารดา ซึ่งเขาเรียกว่า “การบำรุงบิดามารดา” หมายถึง
การทำอุปการะต่อบิดามารดา
บุตรธิดานอกจากจะให้ความเคารพท่านแล้ว
บุตรธิดาพึงบำรุงบิดามารดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าดังนี้
1.
ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว
เราจักต้องเลี้ยงท่านตอบ
2.
ช่วยทำกิจการของท่าน
3.
ดำรงวงศ์สกุล
4.
ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
5.
เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว
ทำบุญอุทิศให้ท่าน
บุตรธิดาสามารถตอบแทนคุณบิดามารดา
ซึ่งสามารถกระทำได้ 2 ทาง คือ
การบำรุงทางกาย
การบำรุงทางกาย หมายถึง การมอบให้ซึ่งปัจจัย 4
ดูแลบำรุงเลี้ยงสุขภาพกายตามหลักวัตตบทข้อที่ 1 หมายความว่า พึงเลี้ยงมารดาบิดาตลอดชีวิต บำรุงเลี้ยงด้วยข้าว น้ำ ผ้า
ที่นอน การอบกลิ่น การให้อาบน้ำ และการล้างเท้า เพราะการปรนนิบัติบิดามารดานั้น
บัณฑิตจึงสรรเสริญในโลกนี้เอง
การดูแลทางกายนับเป็นการดูแลในขั้นเบื้องต้น
การบำรุงทางใจ
การดูแลทางใจ หมายถึง
การดูแลจิตใจให้มีความโสมมนัสอยู่เสมอ ไม่กระทำความหม่นหมองให้ปรากฏในจิตใจ
ทำบิดามารดาด้วยการให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ให้สมาทานศีลหรือให้บรรพชา
จัดว่าเป็นยอดของคนทั้งหมด
ผู้บำรุงมารดาบิดาในโลกนี้
นอกจากนี้ก็จะต้องบำรุงดูแลด้านจิตใจของท่านอีกด้วย
เช่น หมั่นพาไปทำบุญตักบาตร หรือทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาอยู่เสมอในวันสำคัญ
กล่าวคือ วันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา เป็นต้น
เพื่อเป็นการร่วมกิจกรรมระหว่างกันในครอบครัว
อีกทั้งยังช่วยให้ท่านดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้องประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ เช่น
ทำให้ท่านมีศรัทธา ทำให้เป็นคนมีศีล เป็นคนกล้าเสียสละ
หรือบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่อคนอื่นได้ เป็นคนมีสมาธิมีปัญญารู้แจ้งในพุทธธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
1.
การบำรุงบิดามารดา
ถือเป็นมงคลอันสูงสุด มงคลหมายถึงสิ่งดีงามในชีวิตของเรา
2.
ทำให้เกิดวัฒนธรรม
ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม การที่เราทำสิ่งดีงามไว้เป็นตัวอย่าง
คนอื่นที่เห็นก็ชื่นชม ลูกหลานได้เห็น
เขาก็จะยึดเป็นแนวปฏิบัติที่จะมีผลถึงเราที่จะเป็นผู้ใหญ่ ผู้สูงวัยในวันข้างหน้า
3.
ช่วยทำให้สถาบันครอบครัว
และสังคมมั่นคง สังคมแบบไทยเป็นสังคมมีระดับขั้น
ลูกให้ความเคารพและมีกตัญญูต่อพ่อแม่ พ่อแม่ก็มีความรักความเมตตาต่อลูก
คนที่ไม่กระทำการกที่แสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ผู้มีพระคุณ ก็จะได้รับการประณาม
คบกับใครก็จะไม่ได้รับความเชื่อถือไว้ใจ
การบำรุงบิดามารดาจัดเป็นเครื่องหมายของบุตรธิดาที่ดี
เป็นสัญลักษณ์ของคนดี เป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม เป็นคุณธรรมค้ำจุนครอบครัว สังคม
และโลก ให้เกิดความสุขสันติภาพ
กตเวทิตา กับการตอบสนองพระคุณบิดามารดา
การสนองคุณต่อบิดามารดา
กระทำได้ด้วย 2 วิธีหลัก คือเรื่อง ประกาศคุณ และตอบแทนคุณ
ประกาศคุณ
ประกาศคุณ ไม่ใช่เพียงเขียนคำประกาศในงานศพ การประกาศคุณความดีเมื่อตายแล้ว
ย่อมไม่มีคุณค่าเท่ากับกระทำในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
ประกาศคุณเมื่อท่านเกษียณจากการทำงานแล้ว
สิ่งที่ทำมาแล้ว ที่ดีๆก็มีมาก สิ่งที่ไม่ดี ไม่สำเร็จก็คงมี แต่ที่สำคัญที่สุด
คือประกาศในสังคมรับรู้ในความเป็นมนุษย์ผู้มีศักดิ์ศรี มีผลงาน
และมีความดีงามที่ควรภาคภูมิใจ
การบำรุงบิดามารดา ไม่ใช่เพียงให้ด้านอาหารการกิน
เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย หรือการดูแลรักษาสุขภาพ แต่ต้องรวมถึงการตอบสนองความต้องการของผู้สูงวัยในระดับสูงขึ้นไป
เช่น
การให้ ความรัก ความยอมรับ ศักดิ์ศรี
ไม่ใช่ดูแลพ่อแม่ เหมือนท่านกลับมาเป็นเด็ก เป็นลูกภายใต้การดูแลของเรา
การเป็นลูกที่ดี ต้องทำหน้าที่รักษาชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล
ทำชื่อให้กับสกุล ทำประโยชน์ต่อสังคมให้ท่านชื่นใจ
ตอบแทนคุณ
การตอบแทนคุณแก่พ่อแม่ผู้สูงวัย ก็คือ
การมอบสิ่งที่เป็นความต้องการพื้นฐานแก่พ่อแม่
การดูแลเลี้ยงดูพ่อแม่ผู้สูงวัยในขั้นพื้นฐาน เช่น
อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค หรือดูแลในเรื่องการรักษาสุขภาพ
การออกกำลังกาย แต่ทั้งนี้ต้องเป็นความต้องการของท่าน
พ่อแม่บางคนเริ่มเข้าสู่ยุคต้องการความอิสระ
พึ่งตัวเองอย่างมีศักดิ์ศรีให้มากที่สุด แต่กระนั้นควรสื่อสารกันให้รู้ว่า
เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็ต้องการความช่วยเหลือจากลูกๆ
การดูแลกิจการ ธุรกิจของครอบครัวที่พอจะทำได้
หากทำในธุรกิจเดิมไม่ได้ จะด้วยเหตุใด ก็ทำงานในแบบที่พ่อแม่จะภูมิใจ
แม้ไม่ใช่ในปัจจุบัน แต่ท่านจะภูมิใจในสิ่งดีๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ที่แน่ๆ
คือต้องไม่เป็นลูกที่ล้างผลาญสมบัติของพ่อแม่ กิน เที่ยวใช้จ่าย
โดยไม่รู้จักดูแลช่วยตนเอง อย่างนี้จะเป็นความทุกข์ของพ่อแม่เสียมากกว่า
การสื่อสารกับพ่อแม่ผู้สูงวัย
ลูกไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่เพียงใด
มีตำแหน่งหน้าที่สูงเพียงใด แต่สำหรับพ่อแม่ ลูกก็ยังเป็นลูก พ่อแม่ทั่วไปมักมีความรักให้กับลูกๆเสมอ
แม้ลูกๆจะแยกไปมีครอบครัว แต่สัมพันธ์ที่มีต่อกัน
ก็ทำให้ยังต้องมีการสื่อสารต่อกัน
ในโลกยุคใหม่จะทำให้มีการงานที่ทำให้ลูกๆอยู่ไกลพ่อแม่มากขึ้น
เช่น ลูกๆเมื่อเติบโตมีการงานทำ ก็มักจะเป็นงานในเมือง งานอุตสาหกรรม
งานธุรกิจบริการ ส่วนคนทั่วไปในยุคใหม่ มีแนวโน้มที่จะย้ายเข้ามาในเมืองมากขึ้น (Urbanization)
และทำให้พ่อแม่และลูกๆต้องอยู่ห่างไกลกัน
การสื่อสารยุคใหม่ อยู่ไกลกันก็เหมือนอยู่ใกล้
เพราะมีการสื่อสารด้วยโทรศัพท์ พูดคุยกันได้ สื่อได้ทั้งภาพและเสียง
ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลกันเพียงใด ก็สามารถสื่อสารกันได้
การเดินทางไปมาหาสู่กระทำได้ง่ายกว่าเดิม เร็วกว่าเดิม
ดังเช่น การเดินทางด้วยเครื่องบิน รถไฟ รถโดยสาร ดังที่เรียกว่า “โลกแคบลง
แต่ทางกว้างขึ้น” ค่าใช้จ่ายในการเดินทางลดลงกว่าเดิม คนอยู่ห่างไกลกันคนละซีกโลก
ก็สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ อย่างน้อยก็ปีละครั้ง
พ่อแม่กับลูกที่อยู่ห่างไกลกันคนละภาคของประเทศ ก็ยังเดินทางไปมาหาสู่กันได้
หลายครั้งในหนึ่งปี
พ่อแม่เดินทางไปพักอยู่กับลูกๆ
และลูกๆเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเป็นภาพที่ปรากฏให้เห็นทั่วไปในสังคมไทย
การเดินทางไปมาหาสู่กัน นับเป็นการสื่อสารกันอย่างใกล้ชิดที่สุด
ลูกหลานสื่อสารกับพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่
ผู้ใหญ่สื่อสารกันเอง สามีกับภรรยา
เพื่อนๆในวัยเดียวกัน
ผู้ใหญ่ พ่อแม่สื่อสารกับลูกหลาน
ความสัมพันธ์
ทางเลือกในด้านความสัมพันธ์ระหว่างลูกๆกับพ่อแม่สูงวัย
มีได้หลายแบบ และหลายทางเลือก
เติบโตมีครอบครัวแล้วยังอยู่กับพ่อแม่
ในสังคมไทย มีหลายครอบครัวเหมือนกัน
ที่เมื่อลูกๆเติบโตแล้ว ก็ยังอยู่กับพ่อแม่ บางบ้านยังมีครัวกลาง ทำอาหารส่วนกลาง
ใครอยากมารับประทาน ก็มาร่วมได้ และบางวันก็มีการนัดมารับประทานอาหารร่วมกัน
แยกไปมีครอบครัว แล้วไปอยู่ที่อื่น
แต่ให้การรับผิดชอบในการบำรุงบิดามารดา หากพ่อแม่ขาดเหลือในด้านการเงิน
ลูกๆก็จะส่งเงินหรือความช่วยเหลือมาให้ และในอีกด้าน ลูกๆมีความจำเป็น
อยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะที่จะเลี้ยงดูลูก ก็นำลูกมาหลานมาฝากตายาย
หรือปูย่าให้เลี้ยงดู อาจส่งเงินมาช่วยตามความจำเป็น
และมาเยี่ยมบ้านพ่อแม่สูงวัยเป็นครั้งคราว เป็นระยะๆ
ลูกฝ่ายชายดูแลพ่อแม่ของตน – แบบจีน
บิดามารดาไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายชาย
ในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ บางทีก็คืออยู่ในบ้านของพ่อแม่ผู้สูงวัยนั้นแหละ
แต่มีลูกชาย ซึ่งมักจะเป็นลูกชายคนโตเป็นผู้บริหารกิจการ หรือบริหารบ้านใหญ่นั้น
อาจมีน้องๆ หรือมีคนอื่นๆอยู่ร่วมด้วย
หรือแยกไปมีครอบครัวที่อื่นๆ ซึ่งมีให้เห็น โดยเฉพาะในคนไทยเชื้อสายจีน
ลูกฝ่ายหญิงดูแลพ่อแม่ของตน – แบบไทย
สังคมในแบบไทย
มีที่ฝ่ายชายต้องไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง ผู้หญิงเป็นใหญ่ในบ้าน
บางทีฝ่ายชายมีงานที่มักอยู่ไม่เป็นที่เป็นทาง เช่น งานฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร
งานที่ต้องไปทำงานในต่างจังหวัด ต่างประเทศ
เมื่ออยู่บ้านฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงก็ดูแลผู้สูงวัย
และดูแลลูกๆของตนเองไปด้วย แต่ขณะเดียวกัน พ่อแม่สูงวัย หรือคุณตาคุณยาย
ก็ช่วยในการดูแลลูกหลานทั้งหลาย ทำให้หายเหงา
ลูกคนไหนดูแลพ่อแม่
ในสภาพความเป็นจริงในสังคมไทยมีความหลากหลาย ในกรณีที่พ่อแม่สูงวัยต้องมาอยู่กับลูกหลาน
หรือมีลูกหลานบางคนที่ยังจะอยู่กับบ้านพ่อแม่สูงวัย
มีลูกหลายคน ใครเป็นคนดูแลพ่อแม่ – ลูกชายคนโต ลูกที่มีฐานะ ลูกที่มีใจ แต่มีบางบ้านแบบไทยที่แย่งกันดูแลพ่อแม่
ทั้งนี้มีจุดมุ่งหมายในเรื่องสมบัติ ซึ่งถ้าเป็นชาวตะวันตกมักจะไม่มีเรื่องแบบนี้
เพราะเมื่อลูกๆโตแล้ว เขาจะแยกไปอยู่ที่อื่นๆ
แล้วไม่ได้ใส่ใจว่าพ่อแม่ตนเองจะมีฐานะร่ำรวยเพียงใด
พ่อแม่บางคนก็ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะยกสมบัติให้กับลูกๆ
เพราะต้องมีไว้กินไว้ใช้อย่างเพียงพอในช่วงเกษียณอายุการทำงานแล้ว
ลูกที่มีความพร้อมที่จะดูแล
ทั้งในด้านสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเห็นชอบในครอบครัว
เพราะในเรื่องการดูแลพ่อแม่สูงวัยนี้ มักมีทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง
สามีภรรยาก็ต้องปรึกษากันในเรื่องนี้ให้ดี บางครอบครัวเขาไม่เห็นเป็นปัญหา เช่น
เมื่อลูกได้ไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายอื่น ก็พอใจ ทำใจ
เพราะอย่างน้อยเขาก็มีความสามารถที่จะพึ่งตนเองได้
ไม่กลับมาเป็นภาระแก่พ่อแม่ในยามสูงวัย
ต่างคนต่างอยู่ ไปมาหาสู่เป็นครั้งคราว –
แบบฝรั่งตะวันตก แต่พ่อแม่ก็อยู่ไม่ไกลจากกัน อยู่ในละแวกเดียวกัน
เดินทางไปมาหาสู่กันได้อย่างไม่ยาก ฝ่ายพ่อแม่ผู้สูงวัยก็สร้างสังคมเพื่อนบ้าน
เพื่อนร่วมรุ่น และกลุ่มญาติพี่น้องที่จะพึ่งพากันได้
แต่มีความสัมพันธ์กับครอบครัวลูกๆของตน
ในลักษณะเช่นนี้จะคล้ายกับสังคมตะวันตกมากขึ้น แต่ก็ยังมีสัมพันธ์ต่อกันในแบบไทยๆ
บุตรที่ยังเป็นโสด
อาจจะเป็นทั้งลูกชายหรือลูกสาว ลูกที่ยังเป็นโสด
มีเวลาและไม่มีเงื่อนไขในครอบครัว สามารถให้เวลาในการดูแลพ่อแม่ได้มากกว่าคนอื่นๆ
สังคมไทยมีคนที่เลือกจะอยู่อย่างเป็นโสดมากขึ้น ไม่อยากมีภาระเลี้ยงลูก
มีจำนวนมากให้เห็นเหมือนกันที่ลูกๆที่เป็นโสดนี้รับหน้าที่ดูแลพ่อแม่ของตน
การสื่อสาร
การสื่อสารในที่นี้มากที่สุด
คือลูกหลานสื่อสารกับพ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่
มีคำสุภาษิตจีนบทหนึ่งกล่าวว่า “รู้เขา รู้เรา
รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” คำกล่าวนี้ใช้ในการรบ ในการทำธุรกิจ
และในการมีความสัมพันธ์กับใครก็ตาม ซึ่งรวมถึงกับญาติผู้ใหญ่ของเราด้วย
จะสื่อสารกับผู้ใหญ่
ก็ให้รู้จักธรรมชาติของผู้ใหญ่ หรือผู้สูงวัย ยกตัวอย่างในทางการแพทย์
เขาสนใจแต่ในเรื่องให้กินหรือไม่กินอะไร ให้เป็นไปตามหลักโภชนาการ
ออกกำลังกายอย่างไร นอนอย่างไร แต่ทั้งหมดนี้ ไม่ได้คำนึงถึงจิตใจ
การสื่อสารกับผู้ใหญ่
คงใช้หลักจิตวิทยาแบบตะวันตก ประสมประสานกับสภาพความเป็นจริงแบบไทย
และต้องเข้าใจจิตวิทยาของผู้สูงวัยด้วย ดังเช่นเรื่องอาหารการกิน ต้องลองเข้าไปสรวมบทบาทของผู้ใหญ่
กินอย่างที่เราทำให้ผู้ใหญ่กิน แล้วการปรับเปลี่ยนก็จะเริ่มอย่างที่เข้าใจจิตใจของผู้ใหญ่ทั้งหลายมากขึ้น
แต่อีกด้านหนึ่ง รู้จักเพื่อนผู้ใหญ่ของพ่อแม่
เรียนรู้เข้าใจธรรมชาติ ความกตัญญู รู้คุณแบบไทยๆ รู้สภาพความสัมพันธ์ของพ่อแม่ที่มีต่อคนรุ่นก่อนนี้
คือรุ่นปู่ย่า ตายาย ทำให้เรามีความอดทนมากขึ้น
การสื่อสารกับพ่อแม่ผู้สูงวัยควรยึดหลักที่ประยุกต์ใช้ระหว่างบุคคลในครอบครัวได้ดังต่อไปนี้
ปล่อยให้ท่านเป็น
Let Them Be
ไม่ใช้ผู้ใหญ่ทุกคนเป็นผู้ใหญ่ใจดี บางคนก็มีลักษณะนิสัยดุร้ายได้
ดูไม่น่ารักเอาเสียเลยก็มีได้ เป็นไปได้ที่มีพ่อหรือแม่บางคน
มีสายเลือดความเป็นผู้ให้กำเนิดมาก็จริง แต่ไม่เคยเลี้ยงหรือรับผิดชอบต่อลูกๆ
บางทีการเข้าไปดูแลพ่อแม่ในลักษณะนี้ ก็ต้องทำใจ เราก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
กว่าจะมาเป็นผู้สูงวัยในวันนี้
ได้มีการก่อนิสัยและท้ศนคติมายาวนาน การจะเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยาก
หากผู้สูงวัยไม่ได้เปลี่ยนไปด้วยตนเอง ยิ่งอยากจะไปเปลี่ยนแล้วพูดไม่เข้าหูกัน
บางทีก็ยิ่งห่างเหินออกไป การที่จะไปสอนผู้ใหญ่ เพราะเรามีหน้าที่
หรือมีความหวังดี แต่ก็จะเป็นเรื่องยาก เพราะท่านเป็นพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ของเรา
เคยเลี้ยงดูเรามา ส่วนใหญ่การพูดที่จะได้ผลคือพูดด้วยความมีเมตตา ด้วยอารมณ์ดี
พูดและสื่อสารอย่างเข้าใจในความรู้สึกของท่าน
อย่ารอโดยหวังว่าทุกอย่างจะง่ายขึ้น
Don't Wait For It To Get Easier
โดยธรรมชาติ ผู้ใหญ่ที่สูงวัยมักมีเรื่องข้อจำกัดด้านร่างกาย
ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม มีการเจ็บป่วยมากบ้างน้อยบ้าง ผู้ใหญ่อาจขี้บ่น พูดว่า
กระแนะกระแหน
ไม่ว่าท่านจะมีลักษณะเป็นอย่างไร อย่าให้ผู้ใหญ่ทำให้เราเกิดความขุ่นเคืองใจ
ท่านอาจกล่าวสิ่งที่ทำให้เราเจ็บปวด หากเราไม่พอใจ ก็ต้องเรียนรู้ ฝึกที่จะอดทน หัวใจสำคัญคืออย่าให้อำนาจนั้นแก่ท่านที่จะทำให้เราโกรธหรือรู้สึกขัดเคืองใจ
นั่นคือเราต้องมีความอดทน และไม่ปล่อยให้เรื่องขัดเคืองใจค้างอยู่ในสมอง
3. ให้เข้าใจว่าไม่ใช่ความผิดของเรา
Understand That You Are Not At Fault
อย่าเข้าใจว่าเป็นเรื่องของความถูกความผิด ของเราหรือของใคร
เรากำลังต้องสื่อสารเพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันได้ ดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข ทำงานได้
ลดความตึงเครียดในครอบครัว ท่านอาจมีความขัดแย้งกัน
ด้วยเรื่องที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับผู้ใหญ่ แต่เมื่อจะต้องตัดสินใจ
ก็อย่าให้รู้สึกว่าผิด หากในทิศทางมันต้องเป็นอย่างนั้น
หากคิดว่าเป็นความผิดความบกพร่องของท่าน หรือของตัวพ่อแม่ผู้สูงวัยของท่านเอง
ไม่ว่าอย่างใดก็ไม่ช่วยให้ผู้สูงวัยหรือท่านเองมีอะไรดีขึ้น
ยกตัวอย่าง เมื่อพ่อแม่ผู้สูงวัยมีอาการเจ็บป่วย
บางอย่างรักษาได้ บางอย่างถึงรักษาก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เป็นการป่วยในขั้นสุดท้าย
ในฐานะลูกผู้มีความกตัญญูต่อพ่อแม่ผู้สูงวัย
เราต้องตัดสินใจดำเนินการไปตามความเหมาะสม พร้อมสื่อสารให้ผู้ใหญ่ทราบ และเมื่อมีอะไรเกิดขึ้น
ก็ไม่ต้องไปรู้สึกเสียใจ และไม่มีใครผิด
4. หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง
Avoid Conflict
คนสูงวัยอาจหงุดหงิดได้ง่าย
แล้วแสดงออกมาอย่างไม่ควบคุม สำหรับเราคนรุ่นลูกหลาน การยิ้ม การทำให้อารมณ์เย็นลง
แทนที่จะเข้าไปขยายความขัดแย้งนั้นให้มากขึ้น
เป็นเรื่องปกติที่ผู้สูงวัยจะไม่พอใจในเรื่องอะไรบางเรื่อง
และแสดงออกอย่างรุนแรง หากท่านจะตอบโต้ต่อสิ่งเหล่านี้
ความรุนแรงขัดแย้งก็จะยิ่งมากขึ้น หากถูกด่าว่าก็ให้สงบและอดทนไว้
ใช้การยิ้มเข้าไว้นับว่าได้ผลดี และสถานการณ์จะค่อยๆสงบลง
ความโกรธก็เหมือนกับน้ำกับโคลน ยิ่งโกรธ
ยิ่งเหมือนไปกวนน้ำ โคลนก็จะปนกับน้ำ มองไม่เห็นอะไร ให้เวลาสักระยะ
ส่วนที่เป็นโคลนก็ตกตะกอน ส่วนที่เป็นน้ำก็จะใสขึ้น
ทำให้มองเห็นสิ่งต่างได้ชัดเจนขึ้น
5. หลีกเลี่ยงการโต้เถียง
Avoid Arguments
มีหลายสถานการณ์ที่เราอยากตอบโต้
ผู้ใหญ่พูดแรงมา เราอยากพูดแรงกลับไป แต่เมื่อผู้สูงวัยยิ่งอายุมากขึ้น
ทางที่ดีคือไม่โกรธ ไม่ตอบโต้ได้เป็นดีที่สุด
ตัวอย่างเรื่องที่มักจะมีความขัดแย้งกันได้ เช่น
การเมืองการปกครอง ขอบหรือไม่ชอบพรรคการเมืองใด
เรื่องของความคิดเชิงอนุรักษ์กับความคิดในโลกที่ก้าวหน้าเร็ว
และค่านิยมที่เปลี่ยนไป ยิ่งคุยกันก็ยิ่งเสียงดัง
ในโลกยังมีเรื่องที่เห็นเหมือนกัน ชอบเหมือนกัน
ก็หาเรื่องคุยให้สนุกสนาน สร้างความสบายใจ การถกเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตาย
ไม่เหมาะสำหรับลูกๆกับพ่อแม่ผู้สูงวัย
6. อย่าไปร่วมเสียใจกับท่าน
Don't Feel Sorry For Them
มีเมตตาได้ แต่อย่าไปร่วมเสียใจ เมื่อผู้สูงวัยเรียกร้องความสนใจหรือเห็นใจ
บ่นเจ็บนั่นปวดนี่ อย่าไปร่วมแสดงความเห็นใจ สงสาร การรับฟังเป็นเรื่องดี
ฟังให้เข้าใจว่าผู้สูงวัยต้องการสื่อสารว่าอะไร แต่อย่าเข้าไปร่วมแสดงความสงสาร
แต่การแสดงความมีเมตตานั้นทำได้ หาเรื่องพูดในสิ่งที่สดใส สนุกสนาน
หรือหลีกเลี่ยงเรื่องที่จะพูดแล้วทำให้หดหู่ได้เป็นดี
7. ให้ตัวเราเป็นคนแข็งแกร่งอย่างที่ท่านอยากให้เป็น
Be The Rock They Have Always Wanted You To Be
เมื่อเราเป็นเด็ก พ่อแม่มักอยากให้เราเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็ง
บัดนี้เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ทำตัวให้เป็นเช่นนั้น
อย่าไปบ่นอะไรเกี่ยวกับปัญหาของตนเองให้ผู้ใหญ่ฟัง
หากมีปัญหาส่วนตัวหรือครอบครัวของเรา ก็หาทางแก้ปัญหาเอาเอง
อย่านำเรื่องไม่สบายใจไปเพิ่มเติมให้กับผู้สูงวัย การรับรู้ว่าลูกๆมีปัญหา
ก็ยิ่งทำให้ผู้สูงวัยไม่พอใจในชีวิตที่เขาเป็นอยู่
เมื่อก่อนพ่อแม่เลี้ยงเรามาด้วยความแข็งแกร่งแบกรับทุกเรื่องได้อย่างไร บัดนี้ตัวเราเองก็ต้องบินเดี่ยว
อย่านำเรื่องร้อนใจกลับไปหาพ่อแม่ให้ดูแล
8. ลืมเสีย และให้อภัย
Forgive And Forget
หากท่านมีเรื่องไม่พอใจ มีความโกรธ
หรืออารมณ์เสีย ต้องเรียนรู้ที่จะลืมเสีย และให้อภัยในสิ่งที่พ่อแม่
หรือปู่ย่าตายายได้ทำกับท่านมา ต้องเป็นคนที่โตแล้ว
และปล่อยให้สิ่งต่างๆที่เคยทำให้เราเจ็บใจหรือเสียใจได้ผ่านไป หากยังเก็บฝังใจอยู่
วันพรุ่งนี้ก็สายไป หัดไปเดินฝึกสมาธิ นั่งนับหนึ่งถึงสิบ
ทำอะไรก็ตามที่ทำให้ท่านสงบสติอารมณ์ และเรียนรู้บทเรียนใหม่แห่งการให้อภัย
9. ทำให้ท่านหัวเราะ
Make Them Laugh
A day without laughter is a day wasted. - Charlie Chaplin
แต่ละวันที่ผ่านไปโดยไม่ได้หัวเราะ คือวันที่สูญเปล่า – ชาร์ลี แชปลิน
แต่ละวันที่ผ่านไปโดยไม่ได้หัวเราะ คือวันที่สูญเปล่า – ชาร์ลี แชปลิน
อารมณ์ขันและการหัวเราะทำให้เรื่องต่างๆง่ายขึ้นในการสื่อสารกับผู้สูงวัย
โดยเฉพาะพ่อแม่ของตนเอง เวลาพูดคุยกับผู้สูงวัย หากมีมุกตลก มีเรื่องเล่าขำขัน
ทำในสิ่งที่ผู้สูงวัยเคยชอบให้ทำ ทางเลือกที่ดีอย่างหนึ่ง คือ
ให้ท่านได้อยู่ใกล้ๆกับเด็ก หลานๆ หรือกับสัตว์เลี้ยง ให้สังเกตว่าผู้ใหญ่เคยเลี้ยงเรามาดุว่าเรา
แต่กับเด็กๆ กับหลานๆ กลับเป็นผู้ใหญ่ใจดี
สรุป
ในความสัมพันธ์ระหว่างลูกๆกับพ่อแม่ผู้สูงวัย ให้ยืดหลักสัมพันธภาพกับผู้ใหญ่ในแบบไทยๆ
แบบพุทธ ซึ่งเป็นสังคมที่ใส่ใจและให้ความสำคัญกับผู้ใหญ่
อย่าคิดปรับเปลี่ยนสังคมเป็นแบบตะวันตก
แต่ประยุกต์สังคมที่แม้เปลี่ยนไป แต่ก็ยังรักษาค่านิยมบางอย่างเอาไว้ เช่นเรื่องความกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ที่ได้เลี้ยงดูเรามา
มีคำกล่าวเตือนสติ “นาคให้น้ำหลายตัว ฝนจะแล้ง” พ่อแม่มีลูกหลายคน
แต่บางทีกลับไม่ได้รับการดูแลจากลูกสักคน ต่างเกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมา ลูกแต่ละคนมีการงานที่ดี
ดูลูกๆน่าจะดูแลพ่อแม่ได้ดี แต่แล้วกลับไม่มีใครเป็นคนดูแล
หลักคือต้องสื่อสารกันเองระหว่างพี่ๆน้องๆ หลักสำคัญประการหนึ่งคือให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
ต้องได้พูดคุยปรึกษาหารือกันให้ชัดว่าเมื่อถึงเวลาต้องดูแลพ่อแม่ที่สูงวัย
จะทำอย่างไร เช่น เรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแลพ่อแม่ พ่อแม่จะอยู่กับใคร ลูกคนไหน
ใครจะมีเวลาที่จะให้กับการดูแลพ่อแม่ ท่านจะต้องไปโรงพยาบาล ไปธุระในกิจการบางอย่าง
จะมีใครให้บริการเหล่านี้ได้ เหล่านี้ต้องมีการปรึกษาหารือกันระหว่างลูกๆ
สื่อสารระหว่างกัน และต้องให้เริ่มจากการมีผู้อาสาทำหน้าที่หรือมีความรับผิดชอบ
อย่าเริ่มแบบเกี่ยงกัน ปัดความรับผิดชอบ การได้ทำบุญทำกุศลดูแลพ่อแม่
ถือเป็นสิ่งดีงามอันยิ่งใหญ่ ใครได้ทำหน้าที่ก็ถือว่าได้บุญไปมากๆ
บางทีลูกคนที่ดูว่าไม่เอาไหนที่สุด
แต่กลับทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่ได้ดี เหตุเพราะมีเวลา มีความตั้งใจสนองคุณ และมีเมตตา
การดูแลเรื่องอาหารการกิน ที่พักอาศัย
การออกกำลังกาย การพักผ่อน ต้องยึดหลักความเข้าใจในองค์รวม ยืดหยุ่นได้
แต่ให้มีหลักวิชา
การดูแลผู้สูงวัย ไม่มีหลักว่าอะไรจะดีที่สุด
มันขึ้นอยู่กับความต้องการ และการตอบสนองที่ลงตัวต่อกัน
---------------------
No comments:
Post a Comment