Tuesday, March 14, 2017

การมีอายุยืนยาว อย่างมีความสุข

การมีอายุยืนยาว อย่างมีความสุข

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Updated: March 13, 2017
Keywords: การมีอายุยืนยาว, longevity, ความสุข, happiness

คำนำ

เขียนเพื่ออะไร

คนในโลกยุคปัจจุบันล้วนมีอายุยืนยาวขึ้น ด้วยวิทยาการด้านการแพทย์ และคนรู้เรื่องสุขภาพอนามัยดีขึ้น
คนในโลกมีอายุยืนยาวขึ้น ตามสถิติขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ในปี ค.ศ. 2015 ประชากรโลกมีอายุยืนเฉลี่ย (Life Expectancy) 73 ปี 6 เดือน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้

คนไทยก็มีอายุยืนขึ้น โดยในปี ค.ศ. 2015 คนไทยที่เป็นชายมีอายุยืน 71.9 ปี หญิง 78.0 ปี เฉลี่ย 74.9 ปี ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่มีอายุยืนเฉลี่ยเป็นอันดับที่ 68 ของโลก

แต่กระนั้นโลกมีแนวโน้มที่น่ากังวล คือประชากรในโลกก็เพิ่มขึ้น และไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง

World Population (2017 and historical)
Year
Population
Yearly % Change
2016
7,432,663,275
1.13 %
2015
7,349,472,099
1.18 %
2010
6,929,725,043
1.23 %
2005
6,519,635,850
1.25 %

ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่เราพึงรับทราบ คือโลกมีประชากรที่เพิ่มขึ้น แม้หลายประเทศในโลกจะมีการควบคุมประชากรที่ดีขึ้นมาก ในปี ค.ศ. 2016 โลกมีประชากร 7.4 พันล้านคน แต่ประชากรโลกจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในปี ค.ศ. 2100 คาดว่าจะมีประชากรในโลก 11.2 พันล้านคน

อัตราการเติบโตของประชากรโลก

World Population Growth
Year
Population
1850
1.2 billion
1900
1.6 billion
1927
2 billion
1950
2.55 billion

หากมองย้อนไปในอดีต โลกปี ค.ศ. 1850 คาดมีประชากร 1.2 พันล้านคน แต่ในค.ศ. 1950 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 2.55 พันล้านคน เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

ให้ใครอ่าน และจะได้ประโยชน์อย่างไร

อยากให้คนที่รักสุขภาพกาย ได้อ่านแล้วเข้าใจว่าชีวิตของคนเรานั้น มีมิติอื่นๆด้วย ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต และส่วนที่เป็นจิตวิญญาณ

คนอ่านที่เริ่มแต่เป็นผู้ใหญ่ทั่วไป เมื่อใดที่เข้าใจแล้วว่า ทุกคนสักวันก็ต้องกายเป็นผู้สูงวัย แล้วเราจะใช้ชีวิตอย่างไร จะออกแบบชีวิตคนสูงวัยที่เราจะเป็นอย่างไร

อยากให้อ่านบทความสั้นๆที่เผยแพร่ผ่านทาง Line และผมนำมาเผยแพร่ต่อใน Facebook

อยากเป็นคนแก่แบบไหน?

ขอนำบทความดีๆ ที่เขาส่งต่อกันมาลง ..

ตอนเด็ก ๆ เรามักจะถูกผู้ใหญ่ถามว่า "โตขึ้นอยากเป็นอะไร?"

ตอนนี้เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว คำถามต่อมาที่น่าสนใจ แต่ผมคิดว่าไม่ค่อยมีคนถามก็คือ "เราอยากเป็นคนแก่แบบไหน?"

คนแก่นั้นมีหลายแบบ หลายประเภท

แก่แบบขี้โรค แก่แบบแข็งแรง
แก่แบบขี้บ่น แก่แบบอารมณ์ดี
แก่แบบไม่มีเงินใช้ แก่แบบเงินเหลือใช้
แก่แบบเดียวดาย แก่แบบมีคนที่รักรายล้อม

เราอยากเป็นคนแก่แบบไหน?

สุขภาพกาย สุขภาพใจ เงินทอง คนที่รักเรา เคยคิดไหมว่าหน้าตาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นแบบไหน

เชื่อสิ คนส่วนใหญ่ไม่เคยคิด ไม่กล้าคิด ไม่อยากยอมรับความแก่ หรือแม้แต่ลืมคิดไปว่าวันหนึ่งเราก็ต้องแก่

ลืมคิดว่า คนแก่คนนั้น คนที่เราอยากเป็น และคนที่ต้องทำให้มันกลายเป็นความจริง ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คือเราในวันที่ยังหนุ่มยังสาวนั่นเอง

อยากเป็นคนแก่ขี้โรค ก็บริโภคเข้าไปสิ อาหารเลว ไม่ต้องออกกำลังกาย อยากเป็นคนแก่แข็งแรง ก็กินของดีมีประโยชน์ ออกกำลังกายสิ

อยากเป็นคนแก่ขี้บ่น วันนี้ก็ฝึกปากจัดสิ ติมันได้ทุกเรื่อง อยากเป็นคนแก่อารมณ์ดี วันนี้ก็ฝึกปล่อยวาง มองหาข้อดีของทุกเรื่อง

อยากเป็นคนแก่ไม่มีเงินใช้ ก็ใช้เงินเข้าไปสิ ชีวิตใช้ซะ อยากเป็นคนแก่แบบเงินเหลือใช้ วันนี้ก็ต้องเริ่มเก็บ เริ่มขยัน เริ่มลงทุน

อยากเป็นคนแก่แบบเดียวดาย ก็ไม่ต้องมีลูก ไม่ต้องมีเพื่อน อยู่คนเดียว อยากเป็นคนแก่แบบมีคนที่รักรายล้อม ก็สนิทกับลูกตั้งแต่ลูกยังเล็ก ก็คบหาสมาคมกับเพื่อน ๆ คอเดียวกันไว้

อยากเป็นคนแก่แบบไหน เราทำได้ทั้งนั้น ... แต่อย่ามาทำตอนแก่ เพราะมันอาจจะสายไป

ลองตั้งปณิธานให้ชีวิตอีกสักเรื่องว่า "ฉันอยากเป็นคนแก่แบบไหน?" จากนั้นก็ลงมือสร้างคนแก่คนนั้นตั้งแต่วันนี้เลยด้วยตัวของเราเอง

พอถึงวันที่เราเป็นคนแก่ขึ้นมาจริง ๆ เราจะได้ขอบคุณตัวเราที่อุตส่าห์สั่งสมทุกสิ่ง จนได้กลายมาเป็นคนแก่แบบที่เราต้องการ

มาแก่ไปด้วยกันอย่างมีคุณภาพ นะครับ

การมีอายุยืนยาว

ความหมายของ Longevity หรือการมีอายุยืนยาว

คำว่าการมีอายุยืนยาว (Longevity) บางครั้งมีความเหมือนกับคำว่า Life expectancy ในวิชาประชากรศาสตร์ ที่เน้นการคาดการว่ามนุษย์จะสามารถมีอายุยืนยาวกี่ปี

คนทั่วโลกมีอายุยืนยาวขึ้น

การแพทย์ที่ดีขึ้น มีวิทยาการที่ก้าวหน้า มียาที่คิดค้นใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้น คนเจ็บป่วยน้อยลง มีสุขภาพที่ดีขึ้น แม้เจ็บป่วยก็มีวิทยาการก้าวหน้าที่จะดูแล ป้องกัน และรักษาโรค

คนไทยก็มีอายุยืนยาวขึ้นเช่นกัน แม้ขณะเดียวกันคนเกิดใหม่น้อยลง ไทยกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ
ต้องมองว่าความสูงอายุเป็นผลพลอย เป็นโอกาส แม้ในด้านหนึ่งจะเป็นปัญหาของสังคมได้ หากไม่มีการเตรียมการ ที่มองว่าเป็นโอกาส คือต้องคิดว่า เมื่อมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้นนั้น ปีที่เพิ่มขึ้นนั้นเราจะทำอะไร จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร เพราะคนมีอายุยืนยาวมากขึ้น แต่ในโลกที่มีพื้นที่อย่างจำกัด ทรัพยากรจำกัด เราต้องเบียดเสียดใช้ทรัพยากรนั้นๆ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคน

คนจะมีอายุยืนยาวขึ้นนั้นจึงต้องเป็นเรื่องที่ต้องคิดในเชิงคุณภาพชีวิต (Quality of life) ด้วย

ความสุข

การมีชีวิตที่ยืนยาวนั้น ต้องมองควบคู่ไปกับการมีความสุขด้วย แต่ความสุขที่ว่านี้คืออะไร

อริสโตเติล (Aristotle) นักปราชย์ชาวกรีกได้ให้ความหมายของความสุข (Happiness) เอาไว้ว่า
·       ความสุข คือเป้าหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์
·       
      ความสุขไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องความสำราญ (Pleasure) แต่เป็นคุณธรรม ความถูกต้อง (Virtue) ด้วย
·       
      ความสุขจะไม่บรรลุผล จนกว่าจะจุดสุดท้ายของชีวิตเรา นั่นหมายความว่าเราต้องประเมินความสุขของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย
·        
      ความสุขคือความสมบูรณ์แบบในธรรมชาติของมนุษย์

การมีอายุยืนยาวอย่างมีความสุข

การมีอายุยืนยาวนั้นไม่ใช่เป็นเครื่องประกันว่าจะมีความสุข การมีอายุยืนยาวนั้น ส่วนหนึ่งเป็นธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของยุคสมัย ในยุคต่อไป ชีวิตคนเราจะยืนยาวยิ่งๆขึ้นไป แต่หากเราไม่คิดถึงวิธีที่จะอยู่อย่างมีความสุข ชีวิตที่ยืนยาวนั้นก็อาจจะไร้ความหมาย การมีชีวิตยืนยาวอาจกลายเป็นความทรมานของมนุษย์เสียด้วยซ้ำ

ความสุข (Happiness) คืออะไร

ความสุข คือสภาพทางจิตและอารมณ์ที่ดี (Well-being) ที่แสดงออกในทางบวก มีอารมณ์ที่รื่นเริง ที่มีระดับตั้งแต่พอใจ (Contentment) จนถึงปิติยินดี (Joy) ความสุขเป็นสถานะทางจิตที่แสดงถึงการตัดสินใจที่คนๆหนึ่งจะมีต่อสภาพตัวตนที่ดีทั่วไป ความสุขมีวิธีการมองความสุขทั้งทางด้านชีววิทยา (biological), จิตวิทยา (psychological),เศรษฐกิจ (economic), ศาสนา (religious) และ เชิงปรัชญา (philosophical) ซึ่งแต่ละมิติมีวิธีการให้คำจำกัดความของความสุขที่แตกต่างกัน

มีนักวิจัยและผู้ศึกษาเรื่องความสุข รวมทั้งจิตวิทยามองทางบวก (Positive psychology) และเศรษฐศาสตร์แห่งความสุข (Happiness economics) และมีการใช้วิธีการศึกษาความสุขอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และเพื่อจะรู้ว่าจะบรรลุซึ่งความสุขได้อย่างไร

ความสุขเป็นเรื่องใหญ่ ระดับองค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 10 มีนาคมเป็นวันความสุขนานาชาติ (International Day of Happiness) และยอมรับว่าความสุข และความกินดีอยู่ดีเป็นเป้าหมายของมนุษย์โดยสากล ซึ่งไม่ได้หมายถึงการมีหรือการบรรลุทางด้านฐานะทางเศรษฐกิจเสมอไป

ผู้เขียนศึกษาเรื่อง “การมีอายุยืนยาว” (Longevity) อย่างมีความสุข (And happiness) มีคนตั้งคำถามตลอดเวลาในช่วงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อจะเขียนในเรื่องนี้

การมีอายุยืนยาว และความสุข

การมีอายุยืนยาว (Longevity) ไม่ใช่การมีความสุขเสมอไป

คนมีความสุขไม่ได้มีอายุยืนยาวเสมอไป แต่ชีวิตในแต่ละปี แต่ละวันของเขา เขาอยู่อย่างมีความสุข

เราพอจะรู้ว่า การมีอายุยืนยาวนั้นวัดได้ด้วยอะไร แต่เมื่อเราจะวัดว่ามนุษย์มีความสุขอย่างไร นั้นเป็นเรื่องยากยิ่งกว่ามาก

การมีอายุยืนยาว (Longevity) มีความเกี่ยวข้องกับการมีความสุข (Happiness) คนมีอายุยืนยาวมักมองโลกในแง่ดี ไม่เป็นคนอมทุกข์ แต่คนมีอายุยืนยาวอาจไม่ได้มีความสุขในชีวิตเสมอไป ไม่ได้หมายความว่า อายุยิ่งยาวยิ่งมีความสุข ยกตัวอย่าง ผู้สูงวัยที่ก้าวสู่วัย 90-100 ปี แต่หาก 10 ปีหลัง มีสภาพสมองเสื่อม จำอะไรไม่ได้ พูดไม่ได้ เดินเหินไม่ได้ ต้องนอนอยู่บนเตียง มีชีวิตแต่เพียงหัวใจที่ยังเต้น แต่อาหารที่จะรับ ก็ต้องใช้สายยางสอดใส่ หรือไม่ก็ด้วยฉีดยาและอาหารเข้าเส้นเลือด

การนอนรอความตายบนเตียง แต่ก็อยู่ในสภาพเป็นผัก หรือเกือบเป็นผักนี้ได้นานนับสิบปี ด้วยวิทยาการยุคใหม่ ช่วงชีวิตที่ยืดยาวเช่นนี้ ไม่ใช่ความสุข และไม่ได้เป็นผลดีต่อมนุษยชาติ บางครอบครัวต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายสิบล้านบาท กับชีวิตในสภาพเป็นผักนี้ เข้าข่ายอย่างที่เขาบอกว่า “คนตายขายคนเป็น” เพราะคนเป็นที่เป็นลูกหลานต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่มาดูแลชีวิตที่ก็ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างมีความสุขได้
จุดมุ่งหมายของมนุษยชาติไม่ใช่ความเป็นอมตะ (Immortality) การเกิด แก่ เจ็บ และตาย เป็นธรรมชาติของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งมวล

ผมขอให้คำจัดความอย่างที่จะใช้ในหนังสือเล่มนี้ว่า ความสุขคือสถานะทางร่างกายที่สมบูรณ์ จิตใจที่สดใส มองโลกในทางบวก มีจิตวิญญาณที่บรรลุในระดับที่ไม่สามารถอธิบายได้สำหรับความเข้าใจมนุษย์ทั่วไป

หลักความต้องการพื้นฐาน 8 ประการ

การมีอายุยืนยาว – อย่างมีความสุข กับความต้องการ 8 ขั้นตอน

ความสุข (Happiness) คือการตอบสนองความต้องการของมนุษย์

แม้สังคมตะวันตกและตะวันออกจะมองเรื่องความสุขและความต้องการของมนุษย์ไม่เหมือนกัน แต่เพื่อให้เกิดการศึกษาเรียนรู้ได้อย่างเป็นระบบ จึงได้นำแนวทางความต้องการของมนุษย์ 8 ประการโดยอับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow’s 8 hierarchy of needs) มานำเสนอ และใช้ในการอธิบายความต้องการของผู้สูงอายุ

มาสโลว์เคยเสนอขั้นของความต้องการมนุษย์มี 5 รายการ (Maslow’s 5 hierarchy of needs) แต่ในระยะหลังได้เพิ่มความต้องการเป็น 8 ระดับขั้น จากขั้นพื้นฐานไปสู่ขั้นสูงสุด

เริ่มจากความต้องการพื้นฐานทางร่างกาย หนึ่ง (Physiological needs); สอง ความต้องการความปลอดภัย (Safety needs); สาม ความต้องการเป็นที่ยอมรับ (Belonging needs); สี่ ความต้องการศักดิศรีแห่งตน (Self-esteem needs); ห้า ความต้องการด้านสมองและสติปัญญา (Cognitive needs); หก ความต้องการด้านความงาม (Aesthetic needs); เจ็ด ความต้องการสัจจะแห่งตน (Self actualization needs); และ แปด ความต้องการด้าน Transcendence ซึ่งแปลแล้วจะไม่ได้ความมากนัก และอาจสับสน มีเป็น 3 แนว คือ วิชชา, การอยู่เหนือ, และ การมีชัย

คงต้องใช้เวลาร่วมกันเรียนรู้ความต้องการที่เพิ่มขึ้นมาจาก 5 เป็น 8 ซึ่ง 3 ความต้องการนี้คือ ความต้องการด้านสติปัญญา (Cognitive) ความต้องการด้านความงาม (Aesthetic needs) แต่ที่ยาก และต้องร่วมกันเรียนรู้ระหว่างผู้ที่พอจะรู้ด้วยกัน คือ Self-transcendence needs ซึ่งเป็นความต้องการที่อยู่เหนือความต้องการทั่วไปที่พออธิบายได้ง่ายๆ คงต้องอาศัยสิ่งที่ผู้รู้ได้เรียนรู้มาแล้ว ซึ่งอาจเป็นนักศาสนวิทยา นักบวชผู้คงแก่เรียน และผู้เรียนจิตวิทยาขั้นสูง

ความหมายของ Transcendence

Transcendence มาจากภาษาลาติน คำนำหน้า หรือ Prefix ที่ว่า trans มีความหมายว่า สิ่งหรือการนอกเหนือ (Beyond) ส่วนที่ตามมา scandare หมายถึง การไต่ (Climb) หากเราต้องการบรรลุถึง Transcendence เราต้องไปไกลกว่าข้อจำกัดธรรมดา คำนี้จึงมักจะใช้อธิบายเรื่องของจิตวิญญาณ หรือความเชื่อในทางศาสนา หรือสภาพการเคลื่อนไปไกลกว่าความต้องการทางร่างกายและความเป็นจริง

ระดับความต้องการ 8 ระดับของ Maslow

เราท่านคงพอจะคุ้นเคยกับระดับความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s hierarchy of needs) และเราคิดว่ามันมีเพียง 5 ระดับ

เมื่อเริ่มต้นมาสโลว์ได้กล่าวถึงความต้องการของมนุษย์ขั้นพื้นฐานที่มีอยู่ 5 ระดับ แต่ในระยะต่อมาได้มีการเพิ่มอีก 3 เป็น 8 ระดับ ผู้สูงวัยก็มีความต้องการเหล่านี้ และมันมีส่วนสัมพันธ์กับความสุขในชีวิตของเรา ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ในความต้องการ 4 ข้อแรก เป็นส่วนที่เกี่ยวกับความต้องการเติบโต (Growth need) ซึ่งเรามักจะไม่ได้รับเพียงพอในสิ่งเหล่านี้ ความต้องการเหล่านี้จึงยังเป็นเรื่องที่สำคัญอยู่ และมันเกี่ยวข้องกับความเติบโตและพัฒนาการของเรา

ความต้องการของมนุษย์จะเริ่มเคลื่อนสูงขึ้นไป เมื่อความต้องการในขั้นเบื้องต้นได้บรรลุ เราจึงจะไปสนใจในความต้องการระดับสูงขึ้นไป ดังในเรื่องที่เกี่ยวกับความต้องการเรียนรู้และปัญหา (Cognitive needs) หรือความต้องการบรรลุสัจการแห่งตน (Self actualization needs) ก่อนที่เราจะบรรลุความต้องการในระดับสูงนี้ เราจึงต้องไปดูแลความต้องการในระดับเบื้องต้นก่อน เช่นเรื่องความต้องการทางร่างกาย ความปลอดภัย ความเป็นที่ยอมรับ และศักดิ์ศรีแห่งตน

ความต้องการของมนุษย์ 8 ระดับ จากเบื้องต้นไปสู่ระดับสูงสุด มีดังนี้

1. ความต้องการทางกายภาพ
Physiological needs:

ความต้องการทางกายภาพ หรือร่างกายนี้เป็นความต้องการที่สัตว์สิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็ต้องการ เช่น ความต้องการอาหาร ความอบอุ่น ที่พัก การมีเพศสัมพันธ์ น้ำ และความต้องการทางร่างกายอื่นๆ หากยังขาดในสิ่งเหล่านี้  พลังของมนุษย์ก็จะมุ่งสู่การแก้ปัญหาความขาดแคลนนี้ ส่วนความต้องการในระดับสูงขึ้นไป ก็ยังไม่มีผล หากคนยังไม่บรรลุเรื่องความต้องการทางร่างกาย คนก็ยังไม่ไว้ใจในสภาพแวดล้อม และจะมีความกังวลใจตลอดเวลา

มิติผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุต้องการสิ่งพื้นฐานเหมือนกับคนในวัยอื่นๆ

ผู้สูงอายุที่ยากจน ขาดปัจจัยขั้นพื้นฐาน เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัย ยารักษาโรค เหล่านี้ ยิ่งมีความไม่แน่นอนเท่าใด ก็ยิ่งเป็นความทุกข์ของผู้สูงอายุเท่านั้น เพราะคนในวัยนี้ ด้วยตัวเองแล้ว ความสามารถในการหางานทำให้มีรายได้ดูแลตนเองนั้น ได้ลดลง สิ่งที่จะมีกินมีใช้นั้น เป็นผลมาจากการเก็บสะสมเอาไว้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามคนเราจะพบว่า เมื่อย่างเข้าสู่การเป็นคนสูงวัยแล้วนั้น ความต้องการขั้นพื้นฐานก็จะลดลงไปตามธรรมชาติ จะกินน้อยลง การอยู่อาศัยก็ไม่ต้องการบ้านเรือนใหญ่โต พักร่วมกับคนอื่นๆก็ได้ หากมีการปรับตัว

2. ความต้องการความปลอดภัย
Safety needs:

เมื่อความต้องการระดับร่างกายได้รับการบรรลุแล้ว ความต้องการความปลอดภัย (Safety needs) ก็จะเป็นความต้องการระดับต่อไป มนุษย์ต้องการความแน่นอนทำนายได้ มีความเป็นระบบ ความไม่ยุติธรรมและความไม่อยู่กับร่องกับรอยได้รับการควบคุม ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่มนุษย์คุ้นเคย และเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดเกิดขึ้นน้อยมาก ความต้องการสิ่งที่มั่นคงแน่นอน หากไม่ได้รับการตอบสนอง ก็จะเกิดความสงสัยและความอับอาย แทนที่จะรู้สึกเป็นอิสระ หรือการได้รับการควบคุม

ความต้องการในระดับนี้น้ำไปสู่สำนึกหรือความต้องการอยู่อย่างมีระเบียบวินัย ไม่แย่งชิงกัน ดังเช่นเมื่อเจ็บป่วย หากประเทศหรือสังคมมีระบบประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้า (Universal healthcare) ผู้คนมีความมั่นใจว่าเมื่อเขาแก่ตัวหรือเจ็บป่วย อย่างน้อยก็มีระบบที่คอยดูแลเขา ไม่ทอดทิ้งให้อยู่อย่างไร้การดูแลรักษา ดังนี้ความหวาดระแวงในเรื่องความไม่มั่นคงก็จะลดลงไป

มิติผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุต้องการความปลอดภัย เพราะความสามารถในการดูแลป้องกันตนเอง จากโจรผู้ร้าย คนที่เจตนามาหลอกเอาทรัพย์สินลดลง ความหวาดระแวงในสภาพแวดล้อมเพิ่มขึ้น ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเพราะผู้สูงอายุมีการรับรู้น้อยลง นั้นมีจุดอ่อนให้หลอกลวงได้ง่าย

3. ความต้องการเป็นที่ยอมรับ
Belonging needs:

ความต้องการเป็นที่ยอมรับเป็นอีกระดับหนึ่งที่เหนือขึ้นไปจากการต้องการความปลอดภัย

ความต้องการเป็นที่ยอมรับนี้เป็นความต้องการทางอารมณ์และความสัมพันธ์ของมนุษย์ เช่นความเป็นเพื่อน ความรักความชอบพอทางเพศ การได้รับการสนับสนุนดูแล และการสื่อสารจากครอบครัว หากคนๆหนึ่งไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องสัมพันธภาพที่ดีและใกล้ชิดในระดับนี้ คนก็จะมีอารมณ์ที่ออกมาเป็นทางลบ กลายเป็นความรู้สึกผิด หรือแสดงออกมาในแบบที่รุนแรง ก้าวร้าว คนที่ชอบดื่มสุรา หรือยาเสพติด หรือมีเส้นทางชีวิตที่หลงทางอยู่แล้ว ก็จะยิ่งถลำลึกเสพมากยิ่งขึ้นอย่างยากที่จะหยุดยั้ง หากความต้องการยอมรับไม่ได้รับการตอบสนอง

มิติผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุจะอยู่อย่างไร จะตอบสนองต่อการมีหรือไม่ได้รับการตอบสนองในความต้องการด้านนี้
ความต้องการความรัก และการเป็นที่ยอมรับของครอบครัว ชุมชน มีความสำคัญ ผู้ใหญ่ที่ได้รับการปฏิเสธจากลูกหลานที่เขาเคยเลี้ยงดูมา นับเป็นความเศร้ายิ่งนัก

การทำตัวอย่างไรจึงจะได้ความรักและการยอมรับจากลูกหลาน?

คำตอบในขั้นเบื้องต้น เมื่อเป็นพ่อแม่ ทำหน้าที่ของพ่อแม่ให้ดีที่สุด โดยไม่หวังการตอบแทน และในทางความเป็นจริง การให้ความรักในลูกหลานที่เป็นสายโลหิตของเรานั้น ควรจะเป็นความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข เราทำดีควรจะได้รับสิ่งดีๆตอบสนอง แต่มันก็อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป ดังนั้น จึงต้องทำใจว่าความรักที่มีต่อลูกหลานนั้น เป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข

วิธีการหนึ่งในแบบที่ตะวันตกใช้กัน คือการดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นอิสระ แต่ไม่ถึงกับตัดขาดต่อกัน เพราะเขาจะสอนให้ลูกได้พึ่งตนเอง ตั้งแต่จบมัธยมศึกษาแล้ว เยาวชนเหล่านั้นก็จะถูกสอนให้อยู่อย่างอิสระ ไปเรียนมหาวิทยาลัยกว่าครึ่งหนึ่งต้องย้ายไปเรียนใกล้ๆกับมหาวิทยาลัย ต้องหาเงินเพื่อศึกษาเล่าเรียนเองส่วนหนึ่ง

สำหรับผู้สูงวัย เมื่อลูกเติบโตมีครอบครัวแล้ว ตัวเองก็เข้าสู่วัยเกษียณจากการทำงาน รายได้หลักก็จะลดลง ทรัพย์สินเงินทองที่มีอยู่และสะสมไว้ ก็ควรใช้เป็นสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุเอง การยกทุกอย่างให้กับบุตรหลานหมดในขณะยังมีชีวิตอยู่ ไม่เป็นการช่วยให้เกิดหลักประกันในชีวิตของตนเอง

4. ความต้องการศักดิ์ศรีแห่งตน
Self-esteem needs:

ศักดิ์ศรีแห่งตน (Self-esteem) เป็นระดับที่สูงกว่าความรักและการยอมรับ

มนุษย์ทุกคนต้องการความยอมรับ ความเคารพในความเป็นมนุษย์ และความเป็นตัวตนของตน มนุษย์จะมีศักดิ์ศรีแห่งตน จะมีความเคารพตนเอง และจะมีความเคารพในความเป็นมนุษย์ของคนอื่นๆ

คนที่ทำงานในวิชาชีพใด เขาอยากทำงานนั้นๆตามหลักวิชาชีพ เช่น เป็นครูอาจารย์ ก็เคารพหลักผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แต่หากมีนักเรียนหรือพ่อแม่นักเรียน/นักศึกษา มาขอให้ช่วยเรื่องให้คะแนนที่สูงขึ้น หรือฝากลูกหลานเข้าเรียน ใช้อภิสิทธิ์เหนือคนอื่น ดังนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องไม่เคารพในศักดิ์ศรีของคน ของนักวิชาชีพ เป็นต้น

มนุษย์จะต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องกับคนอื่นๆ เพื่อให้ได้รับความยอมรับ มีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น รู้สึกได้รับความยอมรับ และเห็นคุณค่าของตนเอง จะในด้านวิชาชีพ อาชีพ หรืองานอดิเรกของตน หากความต้องการในระดับนี้ไม่ได้รับการตอบสนอง จะรู้สึกเป็นปมด้อยและห่างเหินจากวงการของตน ความรู้สึกต่ำต้อยนี้จะนำไปสู่ความไม่เห็นด้วยกับแวดวงนั้นๆ อาจหาวงการใหม่ที่ตนจะได้รับการยอมรับ หรือไม่ก็จะเกิดความรู้สึกต่ำต้อยในการยอมรับทางวิชาชีพของตน และมักไม่เห็นด้วยกับกระแสหลักที่ตนเกี่ยวข้อง

มิติผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุมีอะไรหลายอย่างที่เป็นศักยภาพที่ซ่อนไว้ ที่ยังสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ และสังคมก็ต้องการศักยภาพและความสามารถเหล่านี้ แทนที่จะมองว่าผู้สูงอายุเป็นค่าใช้จ่ายแก่สังคม ยิ่งอยู่นานไปก็ยิ่งเป็นภาระแก่สังคม

ผู้สูงอายุไม่ได้ต้องการเพียงให้มีคนดูแลให้มีอาหารการกิน มีบ้านพัก มีความปลอดภัย หรือมีลูกหลานคอยดูแลใกล้ชิด แต่ผู้สูงอายุต้องการการดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ได้ใช้ศักยภาพของตน แม้จะสูงวัยแล้ว แต่ก็จะยังทำอะไรได้อีกมาก

5. ความต้องการด้านปัญญา
Cognitive needs:

ความต้องการด้านปัญญา (Cognitive needs) นี้พูดกันมากในระยะหลังที่เราใส่ใจในเรื่องการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong learning)

มนุษย์ต้องการการเรียนรู้ ต้องการเพิ่มปัญญาและแสวงหาความรู้ ความต้องการทางปัญญา (Cognitive needs) แสดงออกโดยความอยากเรียน อยากแสวงหา อยากค้นพบ และอยากทำความเข้าใจในโลกรอบๆตนเองมากขึ้น

ความต้องการระดับปัญญานี้ นำไปสู่ความตระหนักรู้ในความเป็นตัวตนของตนและการเรียนรู้ หากไม่ได้รับการตอบสนอง จะนำไปสู่ความสับสนและเกิดวิกฤติในความเป็นตัวตนของตนเอง ความต้องการด้านการเรียนรู้นี้ จะนำไปสู่การเปิดกว้างและการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆของตนเอง

มิติผู้สูงอายุ

อย่าไปถามผู้สูงอายุว่าแก่แล้วเรียนไปทำไม เกษียณแล้ว เรียนไปก็ไม่สามารถนำไปใช้งานได้ ให้หมองดังนี้ครับ ความรู้เป็นเหมือนอาหารอย่างหนึ่ง แต่เป็นอาหารทางสมองและปัญญา ผู้สูงอายุที่จะมีชีวิตยืนยาวอย่างมีความสุขมักจะต้องเป็นคนหิวกระหายในการรับรู้ อะไรไม่เคยเรียนก็อยากจะเรียน อะไรไม่เคยรู้ก็อยากจะรู้ การท่องเที่ยว ได้ไปเห็นสิ่งใหม่ๆ แม้เมื่อสูงวัยอาจมีข้อจำกัดเรื่องร่างกายบ้าง แต่เมื่อทำได้ ก็ให้ทำ คือได้ไปเที่ยวเปิดหูเปิดตา เมื่อได้ไปเห็นมาแล้ว ก็มาเล่าสู่กันฟัง

6. ความต้องการด้านความงาม
Aesthetic needs:

ความต้องการด้านความงาม (Aesthetic needs) เป็นสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาในระยะหลัง

ตามความเชื่อของมาสโลว์ มนุษย์มีความต้องการรักสวยรักงาม ภาพอะไรที่สวยงาม หรือบางสิ่งบางอย่างที่มีคุณค่าทางความงาม และความต้องการนี้เมื่อบรรลุแล้ว ก็จะนำไปสู่ความต้องการขั้นสัจการแห่งตน (Self actualization needs) ต่อไป มนุษย์ต้องการเรื่องความงาม เช่น จะสร้างบ้านจึงต้องมีสถาปนิกและมัณฑนากร เพื่อสอดใส่ความสวยงามในมิติของการอยู่อาศัย แม้จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมากมายจากบ้านเปล่าๆ หรือในประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น คนรวยก็มักจะจับจ่ายหางานศิลปะ ภาพวาด ศิลปะแกะสลัก เฟอร์นิเจอร์เก่าที่มีรูปแบบที่สวยงาม

มนุษย์ต้องการสิ่งที่มองแล้วสดชื่นและสวยงามตามธรรมชาติ และมนุษย์จะซึมซับและสังเกตสภาพแวดล้อมรอบๆตน และเก็บรับความงามตามธรรมชาติที่โลกมีให้ ความต้องการนี้เป็นระดับความต้องการที่เกี่ยวกับความงามตามสภาพแวดล้อม และนำไปสู่ความรู้สึกที่งดงามและใกล้ชิดกับธรรมชาติและทุกสิ่งที่เป็นความสวยงาม

มิติผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุต้องการความงาม แม้เมื่อถึงวัยที่ต้องสละ ลดละ ดังเช่น เมื่อสูงวัยเกษียณจากการทำงานแล้ว ลูกๆโตหมดแล้วแยกครอบครัวไปแล้ว เขาต้องขายทรัพย์สินที่มีอยู่ บางอย่างเป็นงานศิลปะ เขาก็จะต้องเลือกทยอยขาย ขายให้ได้ราคา เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่ตนรักนั้นได้รับการสืบทอดต่อไปยังคนที่เห็นคุณค่าในสิ่งเหล่านั้น

ในด้านความงามที่ใกล้ตัว ติดกับตัว จะไม่เป็นเรื่องแปลกใจเลยที่คนสูงวัยยังต้องแต่งตัว ใช้น้ำหอม เครื่องแต่งหน้าที่บางครั้งก็มีราคา ผู้สูงอายุก็ยังต้องดูแลร่างกายให้ดูดี ต้องออกกำลังกาย ไปพบหมอฟัน ไม่ใช้เพียงทำให้ใช้ในการขบเคี้ยวอาหารได้ดี แต่ต้องดูดีด้วย

สำหรับแพทย์ศัลยกรรมตกแต่ง (Plastic surgery) ลูกค้าส่วนหนึ่งเป็นคนหนุ่มสาว แต่มีเป็นอันมาก และมีเงินจ่าย คือลูกค้าสูงวัย ที่ต้องการใช้ศัลยกรรมตกแต่งเพื่อทำให้รูปลักษณ์ที่ปรากฏดูดี

7. ความต้องการสัจการแห่งตน
Self-actualization needs:

ความต้องการสัจการแห่งตน (Self actualization needs) เป็นสัญชาติญาณของมนุษย์ที่อยากจะใช้ความสามารถของตนให้ได้เต็มที่ๆสุด และจะพยายามทำในสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาจะทำได้ แม้สิ่งที่เขามองเห็นว่าเป็นความจำเป็น และเป็นความสามารถเฉพาะตัวของเขานั้น โลกยังอาจจะมองไม่เห็น หรือแม้แต่จะต่อต้าน แต่เขาก็จะยังมุ่งมั่นทำเพื่อให้บรรลุสิ่งนั้น และเมื่อบรรลุแล้ว สิ่งนั้นก็อาจกลายเป็นความธรรมดาไป (Generativity)

ผู้บรรลุสัจการแห่งตน
Self-actualizing person

ไม่ใช้ทุกคนจะบรรลุสัจการแห่งตน บางคนร่ำรวยเป็นอภิมหาเศรษฐี แต่ก็ยังหมกมุ่นกับการทำให้ตนเองและครอบครัวร่ำรวยยิ่งขึ้นไปอีก คนบางคนติดยึดกับความมั่นคงปลอดภัย สร้างบ้านก็สร้างกำแพงบ้านเอาไว้สูงทำให้บ้านมีสภาพเหมือนเป็นคุก

คนบรรลุสัจการแห่งตน คือคนที่มีความเพียงพอแล้วในความต้องการขั้นเบื้องต้นทั้งหลาย และเมื่อเขามุ่งสู่ระดับบรรลุความต้องการขั้นสูงนี้ เขาอาจจะต้องสูญเสียหลายอย่างที่เขาเคยมี เช่น กลายเป็นคนที่มีคนไม่ชอบ มีคนไม่เห็นด้วย แต่นั่นก็ยังทำให้เขาอยากจะทำในสิ่งที่เขาเห็นว่าเขาควรทำ

คนที่บรรลุสัจการแห่งตน (Self-actualizing person) ตามคำพรรณนาของมาสโลว์ยึดถือคุณค่าที่คล้ายๆกัน ดังต่อไปนี้

·       ความเป็นจริง Truth: อันเกี่ยวข้องกับความซื่อสัตย์ ความเป็นจริง ความงาม ความบริสุทธิ์ ความสะอาด และความสมบูรณ์แบบโดยไม่ต้องปรุงแต่ง
·       ความดี Goodness: อันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความต้องประสงค์ การยืนหยัดเพื่อความถูกต้อง ความดี และความซื่อสัตย์
·       ความงาม Beauty: ความถูกต้อง รูปแบบ ความมีชีวิตชีวา ความเรียบง่าย ความอุดมสมบูรณ์ ความเป็นองค์รวม ความสมบูรณ์แบบ ความเสร็จสมบูรณ์
·       ความเป็นองค์รวม Wholeness: ความเข้าใจในเอกภาพ ความประสมประสาน แนวโน้มที่จะรวมเป็นหนึ่ง ความเชื่อมต่อกัน ความเรียบง่าย ความเป็นองค์การ การมีโครงสร้าง ความมีระเบียบ การไม่แบ่งแยกจากกัน การร่วมกันแล้วเกิดพลังที่มากกว่าดังที่เรียกว่า Synergy
·       ความต่างขั้ว Dichotomy: ความอยู่เหนือที่จะอธิบายได้ หรือเหนือธรรมชาติ ความยอมรับ การมีข้อยุติ การประสมประสาน การแยกออกเป็นขั้ว ความตรงกันข้ามกัน ความขัดแย้งกันในเชิงเหตุและผล
·       ความมีชีวิตชีวา Aliveness: ความมีกระบวนการ การไม่ตาย การมีความตอบสนอง การมีกฎเกณฑ์ด้วยตัวเอง การทำงานได้อย่างเต็มที่
·       ความมีเอกลักษณ์ Unique: การมีอัตลักษณ์ที่แปลก ความเป็นเอกัตภาพ ความไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้ ความใหม่
·       ความสมบูรณ์แบบ Perfection: ความไม่มีอะไรหรูหรา การไม่ขาดแคลนอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในที่ในทาง มีความเหมาะเจาะ เหมาะสม ยุติธรรม
·       ความจำเป็น Necessity: ความจำเป็นหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันต้องเป็นไปเช่นนั้น ไม่เปลี่ยนไปแม้แต่เล็กน้อย
·       ความสำเร็จสมบูรณ์ Completion: ความเสร็จสิ้น ความยุติธรรม การได้บรรลุ
·       ความยุติธรรม Justice: ความยุติธรรม ความเหมาะสม ความไม่วอกแวกด้วยผลประโยชน์หรือความพอใจเฉพาะตน ความยุติธรรมอย่างไม่เลือกข้าง
·       ความมีระเบียบ Order: การยืดกฎหมาย หรือกฎระเบียบ ความถูกต้อง และการเตรียมการอย่างสมบูรณ์
·       ความเรียบง่าย Simplicity: ความว่างเปล่า ความเปลือย ย่นย่อ มีตามความจำเป็นอย่างน้อยที่สุด ความเปิดเผย
·       ความอุดม Richness: ความแตกต่าง การแตกตัว ความซับซ้อน ความเป็นองค์ทั้งหมด ความอุดมที่ไม่ใช่ความฟุ่มเฟือย
·       ความไม่ต้องลงแรง Effortlessness: ความง่าย การไม่ต้องเหนื่อยยาก ไม่ต้องแสวงหา ไม่ต้องเหนื่อยยากที่จะทำให้สำเร็จ บางทีไม่ได้หนักไปที่เงินลงทุน หรือเวลา แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีการคิด
·       
      การเล่นสนุกสนาน Playfulness: ความเป็นอิสระ และการกำหนดได้ด้วยตัวเอง

·       ความเพียงพอในตนเอง Self-sufficiency: ความเป็นอิสระ เช่นไม่ติดยึดกับระเบียบราชการหรือประเพณีปฏิบัติเดิม ความสามารถกำหนดหรือตัดสินใจได้เองในกลุ่มเล็กหรือส่วนย่อยนั้น

คนทั่วไป นักวิชาการที่ประสบความสำเร็จจะมีค่านิยมดังที่ได้กล่าวมานี้ แต่การนำเสนอของมาสโลว์ก็ยังมีข้อจำกัดตรงที่ยังไม่สามารถอธิบายสิ่งที่นอกเหนือสิ่งที่เหนือกว่าปกติ

ทำไม่พระ หรือนักบวชอย่างน้อยจำนวนหนึ่งดูเหมือนจะไม่เข้ากฎเกณฑ์ดังกล่าว เพราะมีความต้องการในขั้นพื้นฐานน้อยมาก และในบางครั้ง ไม่ต้องการในสิ่งเหล่านี้เลย เพื่อการบรรลุในสิ่งที่เป็นเหนือจะอธิบายได้โดยความต้องการทั่วไป

มิติผู้สูงอายุ

ผู้บรรลุสัจการแห่งตน คือผู้ที่ได้บรรลุความต้องการในขั้นพื้นฐานมาแล้ว หรือไม่ก็ด้วยวิธีการฝึก ทำให้ไม่มีความต้องการในขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน ที่พักอาศัย และการดูแลรักษา ก็ไม่เป็นภาระแก่ทั้งตนเองและสังคมมากนัก

ผู้สูงอายุเป็นผู้มีสติปัญญา มีการหยั่งรู้ความต้องการของตนที่ได้ก้าวเลยความต้องการขั้นพื้นฐานต่างๆมาแล้ว ย่อมอยู่ภาวะที่จะต้องการบรรลุสัจการแห่งตน

ผู้สูงอายุเข้าสู่วัยใกล้อำลาโลก ตระหนักในเรื่องเกิด แก่ เจ็บ และตาย ซึ่งเป็นสัจจะแห่งชีวิต ค่านิยมหลายๆอย่างที่เราติดยึดเมื่ออายุน้อยกว่านี้ แต่มาถึงวัยนี้ ก็ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “สัจจะแห่งชีวิต” อะไรคือความจริงแท้?

8. ความต้องการบรรลุสิ่งเหนือธรรมชาติ
Self-transcendence needs:

ความต้องการบรรลุสิ่งเหนือธรรมชาติ (Self-transcendence needs) เป็นความต้องการระดับสูงสุด ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากสำหรับมนุษย์ทั่วๆไป

ศาสตร์มืด หรือการทำ "คุณไสย" ในพจนานุกรมไทยให้คำจำกัดความ คุณไสย ว่า "เป็นพิธีกรรมเพื่อทำร้ายอมิตร" เป็นศาสตร์ที่ทางวิทยาศาสตร์ไม่อาจจะพิสูจน์ได้ แต่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป และมีคนเชื่อและผู้ปฏิบัติทั่วโลก

Self-transcendence needs คือความต้องการที่นอกเหนือปกติและสิ่งที่ปรากฏทางกายภาพ แต่ในโลกปัจจุบันที่เราเองก็ตระหนักว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่วิทยาศาสตร์แม้ที่ก้าวหน้าที่สุด ก็ไม่สามารถหาคำอธิบายได้

ความต้องการเชิงจิตวิญญาณ (Spiritual needs) คือ สิ่งที่เยี่ยมยอด สิ่งที่สูงสุด ไม่สามารถหาสิ่งที่เปรียบเทียบได้

มาสโลว์เติมความต้องการ Self-transcendence needs นี้ ซึ่งบางครั้งเรียกว่า ความต้องการทางจิตวิญญาณ (Spiritual needs) ความต้องการในระดับนี้แตกต่างจากระดับเบื้องต้นที่ผ่านมา เมื่อความต้องการในระดับจิตวิญญาณได้รับการบรรลุแล้ว จะมีความรู้สึกบรรลุโดยสมบูรณ์ และอยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง

ความต้องการระดับนี้นับเป็นความซับซ้อนสำหรับคนทั่วไป เหมือนกับความเชื่อในทางพุทธศาสนาในเรื่องนิพพาน (Nirvanas) เป็นระดับที่จะไม่มีความเจ็บปวด ไม่มีความต้องการ หรือไม่มีความเป็นตัวตนของเราอีกต่อไป เป็นระดับของการหลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง หลุดพ้นจากผลแห่งกรรมและวงจรของการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งจัดเป็นจุดหมายสูงสุดของพุทธศาสนา

ความต้องการทางจิตวิญญาณ (Spiritual needs) เป็นความต้องการทางจิตใจ ส่งเสริมให้เกิดความดีงามต่างๆ ด้วยวิธีการสวดมนต์และการทำสมาธิ มันเกี่ยวกับกิจกรรมที่จะให้เกิดสุขภาพจิต การมองและรู้สึกสรรพสิ่งเป็นบวก

มิติผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้บรรลุความต้องการเบื้องต้นทั้งหลายมาแล้ว เป็นคนที่แม้จะสวดมนต์ ขอพรอย่างไร ก็ไม่สามารถขออะไรให้ได้มากกว่าที่มีที่เป็น หากเราอายุ 70-75 ปี เรามีชีวิตที่เหลืออยู่ แต่ก็รู้ว่าโอกาสที่จะมีอายุยืน 80-85 ปีนั้นมีสักร้อยละ 50 จะมีอายุยืนยาวไปถึง 100 ปีนั้นมีอยู่ไม่ถึงร้อยละ 1-2 และนั่นไม่ใช่หมายความว่าจะมีชีวิตที่มีความสุข

แต่การบรรลุถึงสิ่งที่นอกเหนือธรรมชาติ หรือระดับจิตวิญญาณ (Spiritual needs) นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่ทุกคนจะทำได้ หรือบรรลุได้

ไฝ่หาแต่อย่าให้ถึงกับระดับฟุ้งซ่าน ผู้สูงวัยควรแสวงหาความจริงอย่างมีสติและปัญญา

อย่าให้การแสวงหาเป็นเรื่องไสยศาสตร์ หรือศาสตร์มนต์ดำ ไสยศาสตร์ เป็นวิชาเกี่ยวกับเวทมนตร์ คาถา และ เลขยันต์ ประกอบกับการใช้อำนาจสมาธิจิต การสาธยายเวทมนตร์คาถา การภาวนา และการปลุกเสก ซึ่งเป็นอันมากเป็นเรื่องหลอกให้เชื่อและงมงาย พุทธศาสนาเองก็ไม่ได้มีหลักธรรมอันใดที่สอนในเรื่องเหล่านี้

หากเป็นชาวพุทธ สอนให้บรรลุนิพพานต์ ก็ใช้หลักทำความเข้าใจอย่างง่ายๆตามแนวทางของท่านพุทธทาสภิกขุ

นิพพาน  หมายถึง เย็นหรือดับลง  เย็นเหมือนไฟที่เย็นลง  หรือของร้อนๆอะไรก็ตามมันเย็นลง  นั่นแหละคืออาการที่นิพพานล่ะ......เพราะฉะนั้นคําว่านิพพานนั้นที่เป็นภาษาชาวบ้านแท้ๆ  มันหมายถึงของที่ร้อนให้เย็นลงเท่านั้น  แต่แล้วเราจะหมายความเพียงเท่านั้นไม่ได้ นั่นมันเป็นเรื่องของวัตถุ ส่วนนิพพานในเรื่องของธรรมะหรือทางศาสนามันหมายถึง เย็นลงแห่งไฟกิเลส ไฟกิเลสคือ ราคะ โทสะ โมหะ จนเย็นสนิท จึงจะเรียกว่านิพพาน."

สรุป

การมีอายุยืนยาว เป็นเป้าหมายของสังคม และบุคคล ไม่มีใครอยากมีอายุสั้น โดยเฉพาะการมีโรครุมเร้า คนอยากมีสุขภาพกายและจิตที่ดี  และนี่จะนำไปสู่การมีอายุยืนยาว

โอกาสการมีอายุยืนยาวของคนไทยในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ผลที่จะตามมาคือ การเป็นสังคมผู้สูงอายุ กำลังทำงานมีจำกัด แต่คนที่จะต้องใช้ทรัพยากรมีมากจำเป็นต้องปรับวิถีชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุต้องทำงานที่มีประสิทธิผลต่อสังคม และงานนั้นต้องเหมาะแก่ผู้สูงอายุ

เป้าหมาย ไม่ใช่เพียงให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น ไม่ใช่จำนวนปีที่มีความสำคัญ แต่ในแต่ละปี คุณภาพในการใช้ชีวิตจะเป็นความสำคัญด้วย

ความสูงอายุอย่างมีความสุขเกี่ยวข้องกับระดับของการตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ (Hierarchy of needs) ซึ่งมี 8 ประการ ตามการอธิบายของมาสโลว์ ซึ่งรวมถึงความต้องการความงาม การตอบสนองต่อสัจการแห่งตน

การตอบสนองในสิ่งที่เหนือการอธิบายได้โดยทั่วไป (Transcendence needs) หรือความต้องการในระดับจิตวิญญาณ (Spiritual needs) ยิ่งเรามีอายุมากขึ้นเท่าใด เราจะมีคำถามว่าแล้วเราเกิดและมีอายุยืนยาวไปเพื่ออะไร คำตอบในเรื่องความต้องการของมนุษย์ในระดับสูงนี้ จะเป็นสิ่งที่มนุษย์จะแสวงหา และต้องฝึกฝนในการดำรงชีวิตในช่วงสูงวัยนี้ – ทำไมคนสูงอายุจึงต้องเข้าวัด หรือแสวงหาการบรรลุในระดับจิตวิญญาณ

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เจตนาจะเขียนลึกซึ้งไปในด้านจิตวิญญาณ เพียงแต่ว่าให้ตระหนักว่าในบรรดาความต้องการของมนุษย์เท่าที่คนธรรมดาเข้าใจนั้น ในด้านหนึ่งที่ลึกขึ้นไป มีเรื่องของจิตวิญญาณ ที่แม้เราไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง แต่สักวัน บางคนอาจจะได้ศึกษาและฝึกปฏิบัติไปสู่จุดนั้น ซึ่งก็ต้องขออนุโมทนาด้วย

No comments:

Post a Comment