Wednesday, May 25, 2011

งานวิชาชีพที่มีรายได้สูงที่สุดและต่ำสุด 20 รายการ

งานวิชาชีพที่มีรายได้สูงที่สุดและต่ำสุด 20 รายการ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การอาชีพ, การอุดมศึกษา, higher education

ผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ได้รับค่าตอบแทนสูงที่สุดและต่ำที่สุด 20 อันดับในสหรัฐอเมริกา ในบทความชื่อ “The 20 Best- and Worst-Paid College Major” โดย Kayla Webley, Time, Tuesday May 24, 2011

รายงานนี้ได้จากการศึกษารายได้จากผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี โดยอาศัยข้อมูลจาก U.S. Census ที่จัดทำโดยศูนย์ของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ Georgetown University) ที่ศึกษาเกี่ยวกับการศึกษาและแรงงาน รายงานนี้ได้ออกในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 2011 โดยศึกษาทั้งหมดจาก 171 วิชาเอก ซึ่งพบว่าสาขาวิชาที่ได้รับรายได้สูงสุดอาจมากกว่าสาขาวิชาที่มีรายได้ต่ำสุดถึง 300 เปอร์เซ็นต์ หนังสือพิมพ์ Time ได้เลือกนำเสนอเฉพาะส่วนที่สูงที่สุด 10 รายการ และต่ำสุด 10 รายการ

สาขาวิชาที่ให้ค่าตอบแทนสูงสุด (Highest-Earning Majors)

สาขาวิชาเอกในระดับปริญญาตรีที่เมื่อจบไปแล้วมีค่าตอบแทนสูงที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา 10 รายการ จากอันดับ 10 ไปสู่อันดับ 1

10. วิศวกรรมเหมืองแร่ (Mining and Mineral Engineering)

รายได้เฉลี่ยปีละ USD80,000 หรือปีละประมาณ 2,400,000 บาท

เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเหมืองแร่ การทำเหมือง เช่น ถ่านหิน เพชร และหาวิธีการที่จะนำแร่เหล่านี้ออกจากดินให้ได้ดีที่สุด เป็นการศึกษาเพื่อแสวงหาว่าแหล่งแร่นั้นอยู่ที่ไหน และออกแบบและพัฒนาให้เป็นเหมืองแร่

9. วิศวกรรมโลหการ (Metallurgical Engineering)

รายได้เฉลี่ยปีละ USD80,000 หรือปีละประมาณ 2,400,000 บาท

คนทั่วไปไม่ค่อยคุ้นเคยกับวิทยาการวิศวกรรมโลหการนี้ โดยแนวคิดคือ วิศวกรโลหะการมีหน้าที่เรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบชิ้นส่วนโลหะ ศึกษาคุณสมบัติของโลหะ และแก้ปัญหาในกระบวนการผลิต บางส่วนของอาชีพนี้ต้องทำงานร่วมกับพวกวิศวกรเหมืองแร่ เพื่อประสานงานวิธีการสกัดแร่ การจัดการทำให้แร่ดิบนี้เปลี่ยนสู่แร่ที่ต้องการใช้ประโยชน์

8. วิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering)

รายได้เฉลี่ยปีละ USD80,000 หรือปีละประมาณ 2,400,000 บาท

วิศวกรรมเครื่องกลเป็นอาชีพเก่าแก่และเป็นงานวิศวกรรมที่กว้างที่สุด สาขาวิชาเป็นที่ต้องการสูงตั้งแต่การคิดค้นเครื่องจักรไอน้ำในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา

7. สถาปัตยกรรมออกแบบเรือและวิศกรรมนาวี (Naval Architecture and Marine Engineering)

รายได้เฉลี่ยปีละ USD82,000 หรือปีละประมาณ 2,460,000 บาท

เป็นงานออกแบบเกี่ยวกับเรือและวิศวกรเกี่ยวกับเครื่องยนต์เรือขนาดใหญ่ งานออกแบบเรือในปัจจุบันจะเกี่ยวกับงานกองทัพเรือ หน่วยยานฝั่ง และในพาณิชย์นาวี เป็นงานออกแบบเรือที่ใช้ในต่างประเทศ แม้งานต่อเรือในเชิงพาณิชย์ในประเทศสหรัฐอเมริการจะเหลือน้อยลงมาก

6. วิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering)

รายได้เฉลี่ยปีละ USD85,000 หรือปีละประมาณ 2,550,000 บาท

ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 2008 มีวิศวกรไฟฟ้าและอิเลคโทรนิกส์ทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา 301,500 คน จำนวนมากทำงานในบริษัทผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ การสื่อสาร หรืออิเลคโทรนิกส์ อุตสาหกรรมทางด้านนี้กำลังเติบโต ทำให้เกิดความต้องการวิศวกรที่มีคุณสมบัติมาก

5. วิศวกรรมเคมี (Chemical Engineering)

รายได้เฉลี่ยปีละ USD86,000 หรือปีละประมาณ 2,580,000 บาท

วิศวกรเคมีตามการศึกษาของ Georgetown รายงานว่ารายได้สำหรับผู้จบการศึกษาโดยทั่วไปยุติธรรมโดยไม่จำกัดเพศ แต่รายงานกล่าวว่าผู้จบการศึกษาที่เป็นสตรีจะได้รับรายได้ต่อปีเฉลี่ยต่ำกว่าชายประมาณ USD20,000 ต่อปี แม้ได้รับการศึกษามาในคุณภาพที่ดีเท่าๆกัน

4. วิศวกรรมยานบินและอวกาศ (Aerospace Engineering)

รายได้เฉลี่ยปีละ USD87,000 หรือปีละประมาณ 2,610,000 บาท

วิศวกรการบินและอวกาศนับเป็นมันสมองในงานสร้างและวิทยาศาสตร์ของเครื่องบินและยานอวกาศ ในขณะที่วิศวกรยานอวกาศอาจสดุดเมื่อสหรัฐได้ปรับรื้อกิจการด้านอวกาศ ซึ่งอาจทำให้ไม่ได้ขยายงานด้านอวกาศ แต่ในด้านงานสร้างเครื่องบินไม่ว่าในสหรัฐหรือยุโรป ต้องถือว่าการแข่งขันกันเป็นไปอย่างสูง และต้องการคนทำงานที่มีศักยภาพสูง

3. คณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Mathematics and Computer Sciences)

รายได้เฉลี่ยปีละ USD98,000 หรือปีละประมาณ 2,940,000 บาท

งานด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จะยังคงนำเป็นอันดับสูงทางด้านรายได้

2. เภสัชกรรมและวิทยาศาสตร์ยาและการบริหารเภสัชกรรม (Pharmacy and Pharmaceutical Sciences and Administration)

รายได้เฉลี่ยปีละ USD105,000 หรือปีละประมาณ 3,150,000 บาท

ในแต่ละปีทั่วโลกมีการใช้จ่ายด้านค่ายาหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ และสิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจที่ผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับยาจนถึงการกระจายยาไปยังผู้บริโภคได้รับผลด้านค่าตอบแทนที่ดีตามไปด้วย นอกจากนี้ งานเภสัชกร (Pharmacists) ได้เข้ามาทำหน้าที่แนะนำคนไข้และแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยา การเลือกยา ขนาดของยาที่ควรใช้ (Dosage) ผลกระทบจากการใช้ยา

1. วิศวกรรมปิโตรเลียม (Petroleum Engineering)

รายได้เฉลี่ยปีละ USD120,000 หรือปีละประมาณ 3,600,000 บาท

ไม่เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่อาชีพเกี่ยวกับธุรกิจน้ำมันจะเป็นอันดับหนึ่งของงานทั้งหมด งานนี้มีทั้งส่วนที่เป็นบวกและลบ วิศวกรปิโตรเลียมหรือจะเรียกว่าวิศวกรน้ำมันก็ได้ เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงหากต้องเป็นการทำงานนอกชายฝั่ง ทำงานบนแท่นขุดเจาะ และอาชีพนี้จะมีขึ้นมีลงไปขึ้นกับราคาน้ำมันในตลาด เมื่อราคาน้ำมันตกลง ก็จะมีการเสี่ยงถูกให้ออกจากงาน แต่ในสภาวะที่น้ำมันกำลังจะหมดโลก และมีการขลาดแคลนน้ำมันเกิดขึ้นหนักขึ้นเรื่อยๆ อาชีพสำรวจขุดเจาะก็ต้องไกลชายฝั่งไปเรื่อยๆ มีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ หากต้องไปอยู่ในส่วนของการสำรวจขุดเจาะ

โดยรวมจะเห็นได้ว่าอาชีพที่เมื่อจบปริญญาตรีออกไปแล้วทำงานมีรายได้สูงที่สุดนั้น จะเป็นพวกวิศวกรและวิทยาศาสตร์ รายได้ที่มากขึ้นอีกประการหนึ่ง คือ งานที่มีความยากลำบากด้วยต้องไปทำในที่ทุรกันดาล หรือในท้องทะเลที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ดังเช่นวิศวกรเหมืองแร่ หรือวิศวกรปิโตรเลียม เป็นต้น

วิชาเอกที่มีรายได้น้อยที่สุด (Lowest-Earning Majors)

อาชีพที่ผู้จบระดับปริญญาตรีไปแล้วได้ค่าตอบแทนน้อยที่สุด 10 รายการ จากวิชาเอกที่ได้มีการศึกษา 171 รายการ เรียงจากอันดับที่ 10 ไปจนถึงอันดับ 1

10. เตรียมสุขภาพและการแพทย์ (Health and Medical Preparatory Programs)

รายได้เฉลี่ยปีละ USD40,000 หรือปีละประมาณ 1,200,000 บาท

โปรแกรมนี้มักจะมีการเปิดสอนในระดับวิทยาลัยชุมชน (Community colleges) และโรงเรียนอาชีวศึกษา โปรแกรมเหล่านี้ทำให้ได้ไปทำงานทางด้านการแพทย์หรือสุขภาพ โดยที่ไม่ต้องไปใช้เวลาเรียนหลายๆปีเพื่อเป็นแพทย์ เป็นโปรแกรมที่ใช้เงินเรียนไม่มาก และแน่นอนว่ารายได้ก็ไม่มากด้วยเช่นกัน
งานในลักษณะนี้ได้แก่ ผู้ช่วยแพทย์ ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ เหล่านี้เป็นต้น แต่หากใครคิดอยากเป็นแพทย์ หรือทันตแพทย์ ก็ต้องไปคิดเรียนในอีกแบบหนึ่ง

9. ทัศนศิลป์และศิลปการแสดง (Visual and Performing Arts)

รายได้เฉลี่ยปีละ USD40,000 หรือปีละประมาณ 1,200,000 บาท

ลักษณะของงานด้านศิลปะทั้งสามรายการที่ปรากฏใน 20 รายการนี้ มีลักษณะเหมือนกับสาย “ศิลปินไส้แห้ง” ซึ่งก็เป็นความจริง ยกเว้นพวกที่สามารถก้าวไปได้ด้วยโชคและความสามารถจนไปถึงในระดับที่เป็นดารา หรือศิลปินที่อยู่ในแนวหน้า

8. วิทยาศาสตร์และบริการผู้มีปัญหาด้านการสื่อสาร (Communication-Disorders Sciences and Services)

รายได้เฉลี่ยปีละ USD40,000 หรือปีละประมาณ 1,200,000 บาท

นักศึกษาที่อยู่ในสายอาชีพวิทยาการดูแลผู้มีปัญหาด้านการสื่อสาร (Communication-disorders sciences and services) ซึ่งจะไปจบลงด้วยการทำงานกับผู้ที่มีปัญหาทางด้านการฟัง การพูด และปัญหาการรับรู้ ปัญหาทางร่างกาย ซึ่งทำให้เขาไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาได้ คนที่ทำงานในด้านนี้มักจะพบกับคนไข้ที่มีปัญหาด้าน Tourette's and Asperger's syndromes

7. ศิลปะในสตูดิโอ (Studio Arts)

รายได้เฉลี่ยปีละ USD40,000 หรือปีละประมาณ 1,200,000 บาท

งานในลักษณะที่ผู้จบด้าน Studio arts นี้ Georgetown รายงานว่า แม้จะเป็นการเรียนในระดับบัณฑิตศึกษาขึ้นไป รายได้ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ซึ่งพบว่าผู้ได้รับปริญญาโทขึ้นไป รายได้ที่เพิ่มขึ้นก็เพียงร้อยละ 3 งานด้านศิลปะนั้น คนเขาไม่ได้จ้างกันด้วยปริญญา แต่เขาเลือกกันตามฝีมือที่มักจะเป็นที่รับรู้กันในวงการของเขา

6. ละครและศิลปะการแสดง (Drama and Theater Arts)

รายได้เฉลี่ยปีละ USD40,000 หรือปีละประมาณ 1,200,000 บาท

ในขณะที่นักแสดงที่ประสบความสำเร็จในระดับแสดงนำในภาพยนต์ชั้นนำสามารถทำเงินได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แสดงภาพยนตร์หนึ่งเรื่องอาจมีค่าตัวเรื่องละ USD20 ล้าน หรือเป็นเงินไทยเท่ากับ 600 ล้านบาท แต่คนที่ศึกษาทางด้านศิลปะการแสดงและการละครทำเงินได้ไม่มากนัก สิ่งที่ทำให้ผู้มีงานทำทางด้านนี้มีรายได้น้อย เพราะมีคนจำนวนไม่มากนักที่จะประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่ได้แต่เป็นพวกไขว่คว้าหาดวงดาว และอีกเช่นกัน งานการแสดงนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับใบปริญญา แต่เป็นเรื่องของฝีมือ พรสวรรค์ และโชคช่วย

5. สังคมสงเคราะห์ (Social Work)

รายได้เฉลี่ยปีละ USD39,000 หรือปีละประมาณ 1,170,000 บาท

อาชีพด้านสังคมสงเคราะห์จัดเป็นพวกมีรายได้เกือบจะต่ำสุด แต่ Georgetown พบว่า การศึกษาต่อในระดับปริญญาขึ้นสูงขึ้นไปทางด้านสังคมศาสตร์ รวมถึงสังคมสงเคราะห์ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 134 เปอร์เซนต์

4. บริการมนุษย์และชุมชน (Human Services and Community Organizations)

รายได้เฉลี่ยปีละ USD40,000 หรือปีละประมาณ 1,200,000 บาท

รายได้จากการทำงานในสายบริการมนุษย์และองค์กรพัฒนาชุมชนมีรายได้ต่ำและไม่ดึงดูด แต่ก็มีผู้เข้าเรียนในสายวิชานี้มากขึ้น อาจจะด้วยเหตุที่โครงการเงินยืมเพื่อการศึกษามีโปรแกรมให้สิทธิพิเศษสำหรับงานที่ไม่ได้รับผลตอบแทนสูง แต่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ทั้งนี้รวมถึงตัวอย่างประธานาธิบดีอย่างบารัค โอบามา (Barack Obama) เอง ก็เคยทำงานรับใช้ชุมชนด้วยตนเองมาก่อน

3. อาชีพด้านเทววิทยาและศาสนา (Theology and Religious Vocations)

รายได้เฉลี่ยปีละ USD38,000 หรือปีละประมาณ 1,140,000 บาท

มีคนที่เลือกทำงานในสายศาสนา ที่มองหาสิ่งที่ความหมายมากกว่าการตอบแทนทางด้านวัตถุ คนทำงานในสายนี้จะศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติของพระเจ้า ความสัมพันธ์กับมนุษย์ การศึกษาพระคัมภีร์ การให้คำปรึกษาในฐานะเป็นพระ การศึกษาเพื่อรับใช้ศาสนา และดนตรีด้านศาสนา งานเหล่านี้ไม่ได้วัดด้วยค่าตอบแทนอยู่แล้ว เงินรายได้เป็นเพียงเพื่อยังชีพ

2. การศึกษาก่อนวัยเรียน (Early-Childhood Education)

รายได้เฉลี่ยปีละ USD36,000 หรือปีละประมาณ 1,080,000 บาท ต่อปี

การศึกษาของ Georgetown แสดงให้เห็นว่างานทางด้านนี้มีลักษณะแบ่งแยกชัดเจนทางด้านเชื้อชาติและเพศ งานสายการศึกษาก่อนวัยเรียนจะพบว่าผู้เรียนเป็นสตรีเป็นส่วนใหญ่

1. การแนะแนวและจิตวิทยา (Counseling and Psychology)

รายได้เฉลี่ยปีละ USD29,000 หรือปีละประมาณ 870,000 บาท ต่อปี

งานด้านจิตวิทยาและการแนะแนวมีรายได้ต่ำกว่าสายวิชาชีพใดๆใน 171 วิชาหลัก (Majors) ของการเรียนระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัย ตามการศึกษา ผู้จบการศึกษาทางจิตวิทยาจะไปทำงานทางด้านการให้คำแนะแนวในโรงเรียน ซึ่งพบว่าเป็นอาชีพที่ไม่มีการตกงาน แต่ก็พบสิ่งที่น่ากังวลคือ คนที่สนใจเรียนทางด้านนี้เป็นกลุ่มคนที่มีปัญหาการว่างงานมากที่สุด คือถึงร้อยละ 16

No comments:

Post a Comment