Friday, May 13, 2011

มาเปลี่ยนแปลงการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย

มาเปลี่ยนแปลงการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย

CNN: ภาพสะท้อน เบงกอลตะวันตก ฐานที่มั่นคอมมิวนิสต์ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แหล่งสุดท้ายในอินเดียกำลังล่มสลายด้วยผลการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ศึกษาและเรียบเรียงจาก ภาพสะท้อนจากเบงกอลตะวันตก ที่ซึ่งคอมมิวนิสต์อินเดียกำลังล่มสลาย “ (Reflections on West Bengal, where communism is on verge of collapse) โดย Moni Basu, CNN, May 12, 2011 -- Updated 2351 GMT (0751 HKT)

ภาพ ในเบงกอลตะวันตก อันเป็นฐานของพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย ที่เป็นดุจดังราชวงศ์การเมือง

West Bengal's communists built up a political dynasty in India, says CNN's Moni Basu.

เบงกอลตะวันตก (West Bengal) เป็นรัฐหนึ่งในตะวันออกของอินเดีย มีประชากร 91,347,736 คน จัดเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสี่ของประเทศอินเดีย ซึ่งในปี ค.ศ. 2011 มีประชากรรวม 1,210,193,422 คน ซึ่งอินเดียจัดเป็นประเทศมีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลกรองลงมาจากประเทศจีน

หากจัดเทียบจำนวนประชากร เบงกอลตะวันตกเป็นประเทศ จะเป็นอันดับที่ 7 ในโลก ในทางเศรษฐกิจ เบงกัลมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 6 ของรายได้ (GDP) ของอินเดีย เบงกอลตะวันตกเมื่อรวมกับส่วนของบังคลาเทศที่อยู่ทางฝั่งตะวันออก ได้เคยเป็นส่วนหนึ่งที่เรียกว่า “เบงกอล” (Bengal) ในทางตะวันออกเฉียงหนือมีรัฐชื่อ “อัสสัม” (Assam) สิขิม (Sikkim) และประเทศภูฐาน (Bhutan) ในทางตะวันตกเฉียงใต้มีรัฐโอริสสา (Orissa) ทางตะวันตกมีรัฐจักขัน (Jharkhand) และรัฐพิหาร (Bihar) และในทางตะวันตกเฉียงเหนือมีประเทศเนปาล (Nepal)

ภูมิภาคเบงกอลจัดเป็นหนึ่งใน 7 ราชอาณาจักรและราชวงศ์ในประวัติศาสตร์ของอินเดีย ในยุคอาณานิคม บริษัท British East India Company ได้ผนึกรวมภูมิภาคทั้งหลายให้เป็นหนึ่งอินเดีย หลังจากสงคราม Battle of Plassey ในปีค.ศ. 1757 และเมืองกัลกัตตา ที่เคยเขียนว่า Calcutta และปัจจุบันสะกดว่า Kolkata ได้ทำหน้าที่เป็นเมืองหลวงของอันเดียในฐานะอาณานิคมของอังกฤษ (British India) ในช่วงของการต่อสู้เพื่อประกาศอิสรภาพ (Indian independence movement) ในช่วงศตวรรษที่ 20 เบงกอลทั้งสิ้นเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย แต่หลังจากนั้นเบงกัลได้ถูกแบ่งแยกในปี ค.ศ. 1947 เมื่ออินเดียได้ถูกแบ่งแยกตามความเชื่อทางศาสนา เบงกัลตะวันตก เป็นรัฐในปกครองของอินเดีย และเบงกัลตะวันออก (East Bengal) เป็นส่วนหนึ่งของชาติใหม่ที่เกิดขึ้น คือปากีสถาน (Pakistan) และต่อมาปากีสถานเองมีความขัดแย้งภายในประเทศ ก็มีการแบ่งแยกออกเป็นส่วนประเทศใหม่ คือ บังคลาเทศ (Bangladesh)

การเมืองการปกครองของอินเดียออกแบบโดยใช้ประสบการณ์จากอังกฤษ และปรับให้เป็นของของอินเดีย อินเดียยังเป็นส่วนหนึ่งของเครือจักรภพอังกฤษ รักษาระบบแบบอังกฤษที่ดีๆไว้ แต่ทำให้เป็นของอินเดียที่เป็นเสรีประเทศ

อินเดียมีระบบการปกครองที่มีรัฐบาล 2 สาย สายหนึ่งคือส่วนกลาง (Central Government) และอีกสายหนึ่งคือการบริหารในระดับรัฐ (States)

ในเบงกอลตะวันตกมีการปกครองในระบบรัฐสภา (Parliamentary system) เป็นประชาธิปไตยในระบบตัวแทน (Representative democracy) โดยประชาชนมีสิทธิและหน้าที่ในการเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่บริหารและนิติบัญญัติ ในฝ่ายนิติบัญญัติมีสภาแห่งรัฐ (West Bengal Legislative Assembly) ประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับการเลือกเข้ามา และเลือกกันเองที่จะได้ประธานรัฐสภา (House speaker) และรองประธานรัฐสภา (Deputy Speaker) การประชุมรัฐสภามีการควบคุมให้เป็นไปตามกฏระเบียบการประชุม โดยมีประธานรัฐสภาทำหน้าที่เป็นประธาน และเมื่อประธานไม่ว่าง รองประธานก็ทำหน้าที่แทน

ในด้านตุลาการ (Judiciary) ประกอบด้วยศาลสูงแห่งกัลกัตตา (Calcutta High Court) และมีระบบศาลชั้นต้น มีฝ่ายบริหาร (Executive authority) โดยมีสภารัฐมนตรี (Council of Ministers) บริหารโดย หัวหน้ารัฐมนตรี (Chief Minister) เป็นผู้บริหารสูงสุด แม้ตำแหน่งบริหารสูงสุดโดยสัญญลักษณ์ของรัฐบาลคือผู้ว่าราชการรัฐ (Governor)

ผู้ว่าการรัฐได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีของอินเดีย (President of India) ผู้นำของพรรคหรือรวมพรรคร่วมที่ได้เสียงข้างมากในรัฐสภาได้รับการแต่งตั้งเป็น Chief Minister โดยผู้ว่าการรัฐ โดยทำตามคำแนะนำของหัวหน้ารัฐมนตรี (Chief Minister) ส่วนสภารัฐมนตรีทำหน้าที่รายงานต่อรัฐสภา

ระบบรัฐสภาของรัฐเบงกอลตะวันตกเป็นแบบสภาเดียว (Unicameral) โดยมีสมาชิกรัฐสภา (Members of the Legislative Assembly - MLAs) จำนวน 295 คน ซึ่งมีอยู่หนึ่งคนที่ได้รับการเสนอชื่อจากชุมชนอังกฤษในอินเดีย (Anglo-Indian community) โดยสมาชิกสภาดำรงตำแหน่งสมัยละ 5 ปี หรือจนกว่าจะมีการประกาศยุบสภาก่อนหมดวาระ

ในการมีตัวแทนในรัฐสภาของอินเดีย (Indian Parliament) รัฐเบงกัลตะวันตกมีสัดส่วน 42 ที่นั่งจากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 552 ที่นั่งในโลกสภา (Lok Sabha) หรือเรียกว่าสภาล่าง และมี 16 ที่นั่งในรัชยสภา (Rajya Sabha) หรือเรียกว่าสภาสูงที่มีที่นั่งทั้งหมด 260 ที่นั่ง

ปัญจญัติ (Panchayat raj) เป็นระบบการเมืองในเอเชียใต้ ดังในอินเดีย ปากีสถาน และเนปาล ปัญจญัต เป็นการรวมตัวของผู้สูงอายุที่ทรงภูมิปัญญาที่ได้รับเลือกจากชุมชนหมู่บ้านทั้งหลาย ด้วยความที่เป็นประเทศขนาดใหญ่ มีประชากรมากเป็นที่สองของโลก อินเดียจึงมีการปกครองแบบกระจายอำนาจ ให้อำนาจในระดับหมู่บ้านที่จะจัดการบริหารและปกครองกันเองในกิจการหลายๆด้าน

การเมืองของเบงกอลตะวันตกเป็นแบบเอียงซ้าย มีหลายพรรครวมกันเป็นแนวหน้าฝ่ายซ้าย เรียกว่า Left Front นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินเดีย (Communist Party of India (Marxist) หรือ CPI(M) พรรค All India Trinamool Congress, พรรค Indian National Congress และพรรคขนาดเล็กและกลางอื่นๆ หลังการเลือกตั้งใหญ่ในเบงกอลตะวันตกในปี ค.ศ. 2006 (West Bengal State Assembly Election in 2006) กลุ่มรวมฝ่ายซ้ายยังได้ครองเสียงข้างมาก ภายใต้การนำของ Buddhadeb Bhattacharya แห่งพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย (CPI(M) ได้เข้ามามีอำนาจโดยได้ที่นั่งรวม 235 ที่นั่งในสภาของรัฐ

เบงกอลตะวันตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝ่ายซ้ายมาเป็นเวลากว่า 30 ปี ทำให้กลายเป็นรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่ปกครองด้วยระบบประชาธิปไตยมีการเลือกตั้ง ที่มีบทบาทยาวนานที่สุดในโลก

แต่กระนั้น การที่ช่วง 30 ปีที่ผ่านมารัฐนี้อยู่ภายใต้อิทธิพลของคอมมิวนิสต์ แต่ก็ด้วยวิถีทางรัฐสภา แต่ในระยะต่อไปนี้ ฝ่ายคอมมิวนิสต์กำลังจะสูญเสียอำนาจ ก็ด้วยจากการตัดสินใจของประชาชนโดยผ่านระบบเลือกตั้ง

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แม้ลัทธิคอมมิวนิสต์จะได้สูญเสียอำนาจและอิทธิพลไปทั่วโลก แต่เบงกอลตะวันตกกลับมีคอมมิวนิสต์ที่เป็นดุจดังราชอาณาจักรทางการเมือง ที่ชนะการเลือกตั้งติดต่อกัน 7 สมัยในประเทศที่จัดเป็นประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างอินเดีย

แต่คอมมิวนิสต์กำลังจะสูญสิ้นไปจากอินเดีย

หากผลการเลือกตั้งเป็นดังที่ได้มีการคาดการ เบงกอลตะวันตกจะเป็นฐานคอมมิวนิสต์สุดท้ายที่จะสูญหายไป โดยจะเสียการนำให้กับพรรครัฐสภาไตรนามูล (Trinamool Congress) ที่ได้รับคะแนนสนับสนุนจากประชาชนสูง อะไรได้เกิดขึ้นกับรัฐนี้

ในเมืองกัลกัตตา ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของรัฐเบงกอลตะวันตกได้ตกต่ำลงมาโดยตลอดภายใต้การนำของฝ่ายคอมมิวนิสต์ เมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ขึ้นสู่อำนาจนั้น ก็ด้วยการประกาศตัวว่าจะปฏิรูปที่ดินสำหรับคนยากจนส่วนใหญ่ของรัฐที่เป็นชนบท ซึ่งเป็นที่โดนใจคนอินเดียซึ่งส่วนใหญ่ยากจนที่อาศัยอยู่ในชนบท

ส่วนพรรคคองเกรสของรัฐบาลกลางปัจจุบันนั้น ในอดีตจัดเป็นพวกที่มีฐานคนในเมือง มีเสียงมาจากพวกมีที่ดินคนร่ำรวย พวกคุมเศรษฐกิจอุตสาหกรรม การบริการต่างๆของประเทศ แต่แนวคิดใหม่ของพรรคคองเกรสคือการหันมาให้ความสนใจให้สิทธิพิเศษ (Enfranchise) กับคนยากจนที่ได้เคยถูกละทิ้งมานาน ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ให้ความหวังสำหรับชีวิตใหม่ ทำดังนี้มาเป็นเวลา 30 ปีแล้ว แต่ไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้ และอุดมการณ์คอมมิวนิสต์โดยทั่วโลกและในอินเดีย ก็ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมอินเดียใหม่ที่เติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในระบบทุนนิยมเสรี

นอกจากนี้ยังมีคนวิจารณ์ว่าหัวหน้าของฝ่ายลัทธิมาร์กซิส ยังนำมาซึ่งการฉ้อราษฏร์บังหลวง ระบบเล่นพรรคเล่นพวก และไม่สามารถทำให้เกิดความเจริญแก่ประชาชนได้ดังที่เคยสัญญา Sumit Ganguly นักรัฐศาสตร์กล่าวว่า มีแต่สหภาพแรงงานที่ขยายตัว อุตสาหกรรมถอยหนี บ้านเมืองไร้ขื่อแป และสิ่งเหล่านี้มีผลต่อประชาชนและคุณภาพชีวิตของคนในทุกครอบครัว

ในเขตเบงกอลตะวันตก หากเราขับรถไปตามถนน จะพบถนนตั้งชื่อว่า Karl Marx และมีอนุสาวรีย์เลนิน (Vladimir Lenin's statue) ยกย่องว่า Fidel Castro เป็นวีรบุรุษ และขณะเดียวกันก็มีความเกลียดชังต่ออเมริกัน แม้ถนนหน้ากงสุลสหรัฐก็ยังมีชื่อถนน Ho Chi Minh โดยตั้งชื่อตามผู้นำของเวียตนามเหนือ

การเมืองของอินเดียเป็นภาพสะท้อนความเชื่อเรื่องประชาธิปไตย

เมื่อมหาตมะ คานธี (Mohandas Gandhi) นำการต่อสู้เพื่อประกาศอิสรภาพนั้น เป็นการเริ่มด้วยอุดมคติ เป็นการต่อสู้ด้วยความหวังและศรัทธา เชื่อในสันติวิธี เสรีภาพ และสิทธิในการปกครองตนเอง แม้จะเป็นในดินแดนในประเทศที่ไม่มีความหวัง มีแต่ความยากจน อดอยาก แบ่งแยกชนชั้น มีการต่อสู้และขัดแย้งด้วยความเชื่อทางศาสนาที่หลากหลาย และมุ่งร้ายต่อกัน แต่อินเดียก็ยังปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

เมื่อประเทศต้องแบ่งแยก ลัทธิคอมมิวนิสต์คืบครองไปทั่วโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศจีนกลายเป็นประเทศปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่อินเดียยังคงมั่นคงกับระบอบประชาธิปไตย

แม้ประเทศอินเดียเคยเป็นประเทศที่การเป็นผู้นำเป็นงานที่เสี่ยง และผู้นำประเทศหลายคนที่จบชีวิตด้วยการถูกลอบสังหาร แต่ประเทศนี้ก็ยังคงมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีปฏิวัติรัฐประหาร เพราะทำไม่ได้ในประเทศที่ใหญ่ขนาดนี้ แม้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างปากีสถาน บังคลาเทศ ยังคลุกคลานกับรัฐประหาร การเมืองแบบเอาเป็นเอาตาย และการต้องเผชิญกับลัทธิก่อการร้าย แต่อินเดียยังคงเดินหน้าไปตามครรลองประชาธิปไตย

แต่วันนี้ อินเดียได้พิสูจน์ว่า ประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน มีรัฐบาลทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นที่มาจากประชาชน และต้องบริหารประเทศและชุมชนของตนไป เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ แม้จะต้องใช้เวลา แต่ในที่สุด คนที่ว่าโง่ก็กลับมาฉลาดได้ คนที่เคยยากจน แต่หากมีโอกาส เขาก็จะกลับมาเงยหน้าอ้าปากได้

ภาพ Mamata Banerjee หัวหน้าพรรคสภาไตรนามูล (Trinamul Congress)

ในวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 2011 อาจเป็นวันโชคร้ายของตะวันตก แต่อาจเป็นวันฟ้าใหม่ของเบงกอลตะวันตก

พรรคสภาไตรนามูล (Trinamul Congress) ได้ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในรัฐเบงกอลตะวันตก นับเป็นการยุติการครองอำนาจในรัฐนี้ของฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 34 ปี เพราะประชาชนเบื่อการบริหารงานที่ย่ำแย่ เศรษฐกิจของรัฐที่ตกต่ำ และสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์ที่ขาดความคิดริเริ่มใหม่ๆที่จะแก้ปัญหาของรัฐที่ประสบอยู่ ในขณะที่สตรีเหล็กหัวหน้าพรรคสภาไตรนามูล ชื่อ Mamata Banerjee ผู้มีสไตล์การบริหารที่แข็งกร้าวถึงลูกถึงคน และมีผลงานจากการบริหารงานกิจการรถไฟของอินเดีย ในฐานะรัฐมนตรีกิจการรถไฟ โดยพรรคสภาไตรนามูล และพรรคร่วมที่เธอเป็นหัวหน้าได้คะแนนเสียงตามที่ได้คาดไว้ คือกวาดไป 220 เสียงในสภาของรัฐ เหลือที่ให้พรรคฝ่ายซ้ายเพียง 65 ที่นั่ง

No comments:

Post a Comment