Thursday, December 9, 2010

การขึ้นค่าเล่าเรียนในประเทศอังกฤษ

การขึ้นค่าเล่าเรียนในประเทศอังกฤษ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก ข่าว BBC News, “Q&A: University funding” 9 December 2010Last updated at 19:58 GMT

Keywords: UK, England, higher education, finance, การอุดมศึกษา, เศรษฐกิจ

ในที่สุดรัฐสภาอังกฤษก็ออกคะแนนเสียงขึ้นค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นของรัฐบาล ซึ่งทำให้มีผลเก็บค่าเล่าเรียนเพิ่มได้สูงสุดถึง £9,000 ต่อปี ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ได้มีการตัดงบประมาณการอุดมศึกษาซึ่งจะทำให้มีผลต่อคุณภาพการเรียนการสอน หากไม่มีเงินจากส่วนอื่นๆมาสนับสนุน

ในการเปรียบเทียบค่าเงินปอนด์ของอังกฤษ 1 ปอนด์ = 47 บาทไทย

การที่ต้องขึ้นค่าเล่าเรียนนี้ เพราะได้มีการตัดงบประมาณการอุดมศึกษาไปถึงร้อยละ 40 เมื่อมีการทบทวนการตัดงบประมาณในวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 2010

การที่รัฐบาลกลางได้มีแผนขึ้นค่าเล่าเรียน ซึ่งอนุญาตให้ขึ้นได้สูงถึงปีละ £9,000 จากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่ £3,290 ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยจัดเก็บค่าเล่าเรียนได้ถึง £6,000 และหากมีการจัดการเรียนการสอนในช่วงฤดูร้อนหรือโปรแกรมการสอนอื่นๆ ก็จะสามารถเรียกเก็บค่าเล่าเรียนได้ถึงปีละ £9,000

รัฐบาลยังคงมีเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งทำให้ผู้เรียนไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนในทันที โดยจะสามารถใช้เงินกู้ยืมที่ก็เพิ่มกรอบจาก £15,000 ไปเป็น £21,000 และกรอบเก็บค่าเล่าเรียนนี้สามารถปรับเพิ่มได้ทุกปีตามค่าเงินเฟ้อ ไม่ใช่ปรับเพิ่มทุก 5 ปีอย่างที่เคยมีแผนงาน

ส่วนนักศึกษาเมื่อจบการศึกษาแล้ว จะต้องจ่ายเงินกู้ยืมคืนในอัตราร้อยละ 9 เมื่อเงินเดือนถึงระดับพร้อมที่จะจ่าย นักศึกษาที่พ่อแม่มีฐานะดี ก็จะจ่ายค่าเล่าเรียนทั้งหมด หรือกู้ยืมไม่มาก เพื่อเมื่อได้ทำงานแล้ว ภาษีการศึกษาที่เรียกว่า Graduate Tax ก็จะไม่มี

สำหรับคนที่ต้องกู้ยืมเพื่อการศึกษา ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เคยมีปีละ 1.5 ก็จะมีอัตราขึ้นในระดับก้าวหน้า จากที่มีรายได้ £21,000 ต่อปีขึ้นไป จนถึงรายได้ที่เกิน £41,000 ก็จะบวกขึ้นไปร้อยละ 3 พร้อมปรับค่าเงินเฟ้อ (RPI) ตามไปด้วย แต่หากในช่วง 30 ปี ภาษีบัณฑิต (Graduate Tax) นี้ หากผู้กู้ยืมยังจ่ายไม่หมด ด้วยเพราะรายได้ไม่มากพอแก่การจัดเก็บ ก็จะยกเลิกไปโดยปริยาย ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าในสหราชอาณาจักรและประเทศพัฒนาแล้ว การเก็บภาษีรายได้ส่วนบุคคลนั้น เขาเก็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและถ้วนทั่วกว่าในประเทศกำลังพัฒนาแบบไทย การจะหลบเลี่ยงภาษีรายได้ส่วนบุคคลเป็นไปได้ยาก

โครงสร้างการเก็บค่าเล่าเรียนใหม่นี้ จะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถจัดเก็บรายได้จากค่าเล่าเรียนคิดเป็นประมาณร้อยละ 35 ของงบประมาณมหาวิทยาลัยจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะเก็บได้ที่ร้อยละ 29 ส่วนอีกประมาณร้อยละ 30 มาจากงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล และส่วนที่เหลือจะมาจากเงินทุนวิจัย เงินกองทุน (Endowment) การมีรายได้จากทรัพย์สินทั่วไปและทรัพย์สินทางปัญญา

จากการศึกษา พบว่าค่าใช้จ่ายสำหรับจัดการศึกษาสำหรับนักศึกษาต่อคนต่อปีนั้นจะตกที่ประมาณ £7,000 การขึ้นค่าเล่าเรียนใหม่ที่ระดับตั้งแต่ £6,000 จนถึง £9,000 พรรคแรงงานอันเป็นพรรคฝ่ายค้านปัจจุบันเห็นว่าเป็นการผลักภาระไปสู่ครอบครัวของนักศึกษามากเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจประสบปัญหาวิกฤติดังที่เป็นในปัจจุบัน

ส่วนกรอบที่ให้จัดเก็บได้จนถึงระดับ £9,000 นี้ คาดว่าทุกมหาวิทยาลัยก็คงจะเพิ่มการจัดเก็บไปจนถึงกรอบสูงสุด เพราะความต้องการของผู้เรียนมีมากพออยู่แล้ว ในแต่ละปีมีความต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเกินขีดความสามารถจะรับได้ และนอกจากนี้ ประเทศอังกฤษยังมีนักศึกษาจากประเทศกลุ่ม EU และจากทั่วโลกเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษอีกเป็นจำนวนมาก หลายๆแห่งมีผู้เรียนจากต่างชาติเข้าศึกษากว่าร้อยละ 20 ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่สูงกว่าในสหรัฐอเมริกาทั่วไป

รัฐมนตรีกระทรวงมหาวิทยาลัย David Willetts กล่าวว่าการจะอนุญาตให้เก็บค่าเล่าเรียนได้จนถึงปีละ £9,000 นั้นเป็นกรณีพิเศษเท่านั้น เช่น มหาวิทยาลัยมีค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาที่สูงกว่าปกติ เช่นในสายการแพทย์ วิทยาศาสตร์ หรือการมีระบบเรียนเร่งรัด คือเรียนทั้งปี จบได้ภายใน 2 ปี ดังนี้ก็จะมีการจัดเก็บค่าเล่าเรียนเพิ่มไปได้จนถึง £9,000 ซึ่งปกติต้องมีการเรียน 3 ปี ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือประถมและมัธยมศึกษารวมกัน 13 ปี ก่อนการได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ในขณะที่ประเทศไทยเรียน 12 ปี (6+6 = 12)

อย่างไรก็ตามกฎหมายที่ออกนี้จะมีผลต่อนักศึกษาใหม่ที่จะเข้าเรียนในปี ค.ศ. 2012 ซึ่งจะทำให้ในปีการศึกษา 2011 นี้จะมีนักศึกษาใหม่และคนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจศึกษาต่อ ต้องรีบสมัครเรียน เพราะผลของค่าเล่าเรียนจะไม่กระทบไปตลอดช่วงการเรียนจนจบการศึกษา

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าเล่าเรียน (Tuitions & Fees)

- ข้อมูลด้านค่าเล่าเรียน England, Wales, และใน Northern Ireland: ปัจจุบันสูงสุดอยู่ที่ £3,290 ต่อคน/ปี

- ใน Scotland: ค่าเล่าเรียนสำหรับคนสก๊อตฟรี และสำหรับนักศึกษาจากกลุ่มประเทศ EU เสีย £1,820 ต่อปี หากเป็นนักศึกษาจากที่อื่นๆในสหราชอาณาจักรเสีย £2,895 หากเรียนในสายการแพทย์

- โดยทั่วไป นักศึกษาจากประเทศอื่นๆในกลุ่ม EU จะเสียเท่ากับนักศึกษาในท้องถิ่นของอังกฤษ

- นักศึกษานานาชาติจากที่อื่นๆนอกจากกลุ่มประเทศ EU มหาวิทยาลัยสามารถเรียกเก็บได้ในอัตราสูงโดยไม่มีกรอบบังคับ

- สำหรับนักศึกษาไทยที่ไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษและอื่นๆในสหราชอาณาจักร จะมีค่าเล่าเรียนปีละ 500,000 บาทไทย และเมื่อรวมค่าใช้จ่ายด้านที่พัก อาหาร การเดินทาง ฯลฯ จะตกที่ประมาณ 900,000-1,000,000 บาทเป็นรายเฉลี่ย แต่หากเรียนในเมืองใหญ่ หรือเมืองขนาดรองลงมา หรือระดับมหาวิทยาลัยที่เขาอนุญาตให้เก็บค่าเล่าเรียนนักศึกษาต่างชาติได้ไม่จำกัดกรอบนั้น ก็ทำให้ค่าเล่าเรียนอาจสูงขึ้นไปอีกตามสาขาวิชาและมหาวิทยาลัย

No comments:

Post a Comment