สหรัฐอเมริกาแก้ปัญหาหนี้สินของประเทศ
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
ศึกษาและเรียบเรียงจากข่าว BBC News, วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2010
Keywords: cw105, สหรัฐอเมริกา, เศรษฐกิจ
BBC News: ประธานาธิบดีสหรัฐตั้งคณะศึกษา เพื่อตัดงบประมาณเกินดุล และลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ข้อเสนอที่ปรึกษาสหรัฐ ให้ตัดงบประมาณที่เกินดุล USD4.1tn ไปจนปี ค.ศ. 2020
คณะที่ปรึกษาไม่ได้ทำแผนการเมือง แต่จะนำเสนอ แล้วให้ฝ่ายการเมือง คือประธานาธิบดีและรัฐสภาไปหาทางออกกันเอง แต่ข้อเสนอแนะของคณะทีปรึกษานี้ได้เปิดเผยเพื่อให้คนอเมริกันได้ทราบ และได้ตระหนักว่าในการกำหนดนโยบายของประเทศในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยต่อไป และการเลือกนักการเมือง วุฒิสมาชิกและนักการเมืองรวมในระดับแต่ละรัฐนั้น ประชาชนควรจะเลือกใครเข้ามา และเพื่อผลักดันนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจกันอย่างไร
คณะที่ปรึกษาประธานาธิบดีท่านหนึ่งได้กล่าวว่า "การตัดงบประมาณที่เกินดุลนั้นเจ็บปวด แต่ไม่มีทางเลือกอื่น"
สหรัฐอเมริกาปัจจุบันมีปัญหาการใช้เงินเกินดุลอยู่ USD1.3tn จนถึงช่วงเดือนกันยายน และมีผู้วิจารณ์ว่ารัฐบาลจะต้องทำอะไรมากกว่านี้ เพื่อลดช่องว่างปัญหาการใช้เงินเกินที่ได้เกิดขึ้น
คำว่า 1 Trillion หมายถึง 1,000,000,000,000 (one million million หรือ 1 ล้านล้าน) และ USD1 = 30 บาทไทยในปัจจุบัน (ธันวาคม ค.ศ. 2010)
ข้อเสนอของคณะที่ปรึกษาที่ประธานาธิบดีแต่งตั้งนั้น เสนอให้ตัดงบประมาณกลาโหม งบประกันสวัสดิการสังคม และการใช้จ่ายโดยรัฐบาลกลางอื่นๆลง USD4.1tn ของงบประมาณไปจนปีค.ศ. 2020 หรือเป็นเวลา 10 ปี
คณะที่ปรึกษาทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าความมั่งคั่งและสถานะของสหรัฐในโลก จะได้รับผลกระทบอย่างมากจากสภาวะหนี้สินของประเทศ ปัญหานี้ทำให้นักการเมืองในเมืองหลวง Washington D.C ได้รับคำเตือนอย่างแรงๆ จากฝ่ายการเมืองส่วนหนึ่งด้วยกันเอง
แม้ในบรรดาที่ปรึกษาที่ประธานาธิบดีสหรัฐได้ตั้งขึ้น ก็ยังมีปัญหาความแตกแยกกันว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไร ฝ่ายพรรครีพับลิกันไม่เห็นชอบด้วยเรื่องการเพิ่มภาษี ฝ่ายพรรคดีโมแครตเห็นว่าการตัดสวัสดิการสังคมและสิทธิประโยชน์อื่นๆนั้นกระทบต่อคนระดับรากหญ้ามากเกินไป
เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเร่งด่วนด้านเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าได้เสนอให้แช่แข็งเงินเดือนเจ้าหน้าที่และข้าราชการส่วนกลางไปเป็นเวลา 2 ปี อันเป็นความพยายามที่จะลดปัญหางบประมาณเกินดุล
โดยทั่วไปแล้ว มีผู้วิจารณ์ว่านโยบายเศรษฐกิจของโอบาม่ามีส่วนทำให้ตัวแทนพรรคดีโมแครตพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งกลางสมัยที่ผ่านมา และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้โอบาม่าเองต้องกระทำการบางอย่างจริงจังมากขึ้น หากต้องการได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในสมัยที่สอง
คณะที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐที่ตั้งขึ้นนั้นมาจากทั้งสองพรรคหลัก บางส่วนเป็นสมาชิกวุฒิสภา ฝ่ายแรงงาน และผู้นำธุรกิจ โดยมีข้อเสนอแนะประกอบด้วย
- การลดเงินจ่ายผลประโยชน์เกษียณอายุสำหรับคนอเมริกันกลุ่มมีฐานะ และในขณะเดียวกันเพิ่มอายุการเกษียณอายุ และเพิ่มภาษีที่จะเก็บเพื่อจ่ายสวัสดิการสังคม
- ตัดทอนงบประมาณเจ้าหน้าที่ในทำเนียบขาว (White House) สำนักทำงานของประธานาธิบดีลงร้อยละ 15 ส่วนนี้ไม่ได้เป็นเงินมากมายโดยเปรียบเทียบ แต่เป็นการแสดงถึงความจริงจังในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งดังในสหราชอาณาจักร ก็หมายถึงการตัดงบประมาณค่าใช้จ่ายในราชสำนักด้วย
- เพิ่มภาษีน้ำมันร้อยละ 15 และใช้ภาษีนี้เพื่อปรับปรุงระบบการขนส่งโดยรวม แนวทางนี้ หลายประเทศในยุโรปได้ทำมาก่อนหน้านี้นานแล้ว แต่ในสหรัฐยังมองราคาน้ำมันเป็นเพียงเรื่องกลไกราคาตลาดปกติ ไม่ได้มีการเน้นการเก็บภาษีพิเศษ เพื่อประหยัดพลังงานมาก่อน
- จำกัดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการรักษาพยาบาลให้อยู่ในกรอบไม่เกินร้อยละ 1 ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อปัญหาค่ารักษาพยาบาลที่สูงทั้งด้านค่ารักษาพยาบาลเอง ค่าประกันสุขภาพกับบริษัทเอกชน ค่ายารักษาโรค แต่ประชาชนกลับไม่ได้รับบริการรักษาพยาบาลที่ดีพอและทั่วถึง
- จำกัดงบประมาณภาครัฐ โดยลดการจ้างคนที่จะทดแทนคนที่ต้องออกไป แนวทางนี้คือต้องลดขนาดของระบบการจ้างงานโดยรัฐบาลกลางลง และที่จะต้องกระทบมากและก่อนอื่น คืองบกลาโหม
- ขจัดการจ่ายเงินสนับสนุนให้กับบริษัทจากระบบภาษีของสหรัฐ ส่วนนี้รัฐบาลกลางมีแนวนโยบายที่จะรักษางานเอาไว้ในประเทศ แต่กระทำในระยะแรกด้วยการให้เงินสนับสนุนกิจการนั้นๆ ดังเช่นการผลิตรถยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า การธนาคาร สายการบิน ฯลฯ
- จำกัดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นเป้าหมายของฝ่ายพรรครีพับลิกัน เพราะปัญหาการฟ้องร้องนี้ ทำให้แพทย์ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านทนายความ และเสียเวลาไปกับเรื่องของการไปศาล
ปัญหาการใช้เงินงบประมาณเกินตัวของสหรัฐส่วนใหญ่เกิดจากการใช้เงินมหาศาลไปกับสงครามในอีรัคและอัฟกานิสถาน ค่าใช้จ่ายงบประมาณด้านรักษาพยาบาล และการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจด้วยการลดภาษีถึงสองครั้งในช่วงประธานาธิบดี George W Bush ในช่วงปี ค.ศ. 2001 และ 2003 แต่ผลของนโยบายการทหาร และการจัดเก็บภาษีในช่วงนับสิบปี ที่ทำให้สหรัฐสูญเสียความสามารถในการแข่งขันลง งานที่เคยจ้างภายในประเทศ กลายเป็นเปิดรับสินค้าราคาถูกจากจีนและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ
การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐ คงจะต้องเป็นการดำเนินการที่ต้องเจ็บปวด มีผลกระทบต่อทุกคนทุกฝ่าย และต้องใช้เวลาเยียวยานับเป็นทศวรรษ
No comments:
Post a Comment