Monday, December 20, 2010

สังคมนิยมยังไม่สูญหายไปไหน

สังคมนิยมยังไม่สูญหายไปไหน

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: society, สังคม, การเมือง, เศรษฐกิจ

ลิโอ ตอยสตอย (Leo Tolstoy) นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ของรัสเซีย ได้กล่าวเกี่ยวกับความสุขว่า “Joy can be real only if people look upon their life as a service, and have a definite object in life outside themselves and their personal happiness.”

แปลเป็นไทยได้ว่า ความรื่นเริงจะเป็นจริงได้ เมื่อประชาชนได้มองชีวิตของตนเพื่อการรับใช้ และมีวัตถุประสงค์ชีวิตที่นอกเหนือจากตนและความสุขส่วนตน

การให้ความสุขในยุคของลิโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) ในช่วง 1-2 ศตวรรษที่ผ่านมา มีลักษณะเฉพาะที่คนยุคปัจจุบันยากที่จะเข้าใจ เพราะเป็นช่วงที่รัสเซียประสบความยากลำบากทั้งจากสงคราม การต่อสู้ทางการเมือง และภัยธรรมชาติ ตอลสตอยเป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ ที่มีงานเขียนอมตะเรื่อง สงครามและสันติภาพ (War and Peace) เขาเกิดในปีค.ศ. 1828 และมีชีวิตจนถึงช่วงปีค.ศ. 1910 นับเป็นช่วงที่รัสเซียภายใต้กษัตริย์ใกล้ล่มสลายแล้ว และก้าวสู่ความเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ในระยะต่อมา

ส่วนอีกท่านหนึ่งเป็นสตรีในวงศ์สกุลสูง และเป็นภริยาของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คือ อิลิเนอร์ รูสเวลท์ (Eleanor Roosevelt)ได้กล่าวว่า “Since you get more joy out of giving joy to others, you should put a good deal of thought into the happiness that you are able to give.”

แปลเป็นไทยว่า เมื่อท่านมีความรื่นเริงจากการได้ให้ความสุขแก่คนอื่นๆ ท่านก็จะต้องคิดอย่างดีว่า แล้วความสุขแบบไหนที่เราจะสามารถให้แก่คนอื่นๆได้

หลักของการให้ความสุขแก่คนนั้น คือให้ในสิ่งที่เขาอยาก (Desire) นั้นส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งคือให้ในสิ่งที่เขาต้องการ (Needs) ในช่วงแห่งความอดอยาก การให้อาหารย่อมเป็นความจำเป็น ยามคนหนาว เครื่องนุ่งห่มและบ้านอันอบอุ่นย่อมเป็นความจำเป็น ยามเขาเจ็บป่วย การให้ที่สำคัญคือการให้ได้ทีการดูแลรักษาอันควร ไม่ว่าเขาจะยากดีมีจน แต่เมื่อเจ็บป่วย สังคมอารยะต้องมีที่พึ่งให้แก่ผู้คน แต่ที่เหนือกว่าสิ่งเหล่านี้ สำหรับนักการเมืองที่จะเป็นรัฐบุรุษ คือ การให้ศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์แก่เขา ให้เขามีงานที่จะหาเงินอย่างสุจริตเพื่อเลี้ยงครอบครัวของเขาได้เองนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

อิลิเนอร์ รูสเวลท์ (Eleanor Roosevelt) ภริยาของประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดิลาโน รูสเวลท์ (Franklin Delano Roosevelt) ผู้รับตำแหน่งในช่วงปี ค.ศ. 1933 หลัววิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเป็นต้นมา ซึ่งผู้คนในระดับรากหญ้าต้องประสบปัญหาเศรษฐกิจ หากเป็นคนงานในเมืองก็ตกงาน หากเป็นชาวนาก็ไม่สามารถขายพืชผลได้

ในยุคสองศตวรรษที่ผ่านมา โลกตะวันตกได้เคลื่อนไปสู่ความเป็นสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ คนเมื่อมีฐานะ ก็ต้องรู้จักที่จะให้แก่คนอื่นๆ มิฉะนั้นสังคมก็อยู่ไม่ได้ ในศตวรรษที่ 20 ตะวันตกต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจหลังวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1929 โดยเริ่มต้นที่ในสหรัฐ และอีกครั้งหนึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ในปี ค.ศ. 1985, Mikhail Gorbachev ได้เป็นผู้นำของสหภาพโซเวียตรัสเซีย และได้เริ่มคลายอำนาจแบบเผด็จการของประเทศ เปลี่ยนสู่นโยบายเปิด glasnost (openness) และการปรับโครงสร้างสังคมใหม่ หรือ perestroika (restructuring) ในช่วงดังกล่าวโซเวียตไม่ได้แทรกแซงเมื่อ Poland, East Germany, Czechoslovakia, Bulgaria, Romania, และ Hungary ได้ละเลิกระบบคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ. 1990 และในปี ค.ศ. 1992 ประเทศสหภาพโซเวียตเองก็ต้องล่มสลายตามไปด้วย

ในช่วงหมดยุคสงครามเย็น สหภาพโซเวียตรัสเซียล่มสลายเริ่มตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1989 เป็นการพิสูจน์ว่าแนวทางเผด็จการคอมมิวนิสต์ในแบบที่ชนชั้นกรรมกรและชาวนายึดครองอำนาจ และเปลี่ยนสังคมเป็นเผด็จการแห่งชนชั้นนั้น ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในช่วงเวลายาวนาน ท้ายที่สุดก็ต้องล่มสลาย ในเยอรมันตะวันออกได้มีการลุกฮือทำลายกำแพงเบอร์ลินที่ขวางกั้นคนสองประเทศได้ถูกทำลายลง ไม่ใช่เพราะความอดอยาก แต่เพราะคนเยอรมันตะวันออกต้องการเสรีภาพ ต้องการสิทธิในการปกครองตนเอง และหลุดพ้นจากระบอบคอมมิวนิสต์และเผด็จการทางชนชั้น

คอมมิวนิสต์ล่มสลาย แต่ความเป็นสังคมนิยมล่มสลายไปด้วยหรือ

ประเทศจีนในสมัยเติ้ง เสี่ยวผิงได้มีการปฏิรูปสังคมจีนใหม่ สู่ยุค แมวดำหรือแมวขาวไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้ นั่นคือ การไม่ติดยึดกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ผู้นำเติ้งไม่ต้องการใช้แนวคิดสุดขั้ว แต่ใช้การเปิดรับทุนนิยมและตลาดเสรีมากขึ้น ยอมรับในความแตกต่างของคนได้มากขึ้น แม้จะยังไม่ได้ปล่อยหรือผ่อนปรนในด้านการเมือง ในปัจจุบันประเทศจีนได้พัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างก้าวหน้ารวดเร็ว จีนในปัจจุบันมีคนชั้นกลางที่มั่งคั่งไม่น้อยกว่า 300 ล้านคน แม้ว่าคนทั้งประเทศยังอยู่ในสถานะยากจน แต่ก็กินดีอยู่ดีกว่าในสมัยก่อนอย่างมาก

จีนแม้ได้ชื่อว่าเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ แต่ในทางปฏิบัติจริงไม่ได้เหลือแนวทางของ Karl Marx เจ้าทฤษฎีไว้ให้เห็นมากนัก แม้จะเรียกว่าเป็นประเทศทุนนิยมก็คงไม่สนิทปากนัก

จึงอาจกล่าวได้ว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบอุดมการณ์ได้เสื่อมถอยไปในเกือบจะทุกจุดของโลก ในอเมริกาใต้ลัทธิคอมมิวนิสต์ก็เสื่อมถอยไปเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นชิลี โคลัมเบีย และอื่นๆในอเมริกาใต้

คอมมิวนิสต์เสื่อมถอย แต่ยังคงมีประเทศอย่างเกาหลีเหนือ และคิวบา ที่ยังคงความเป็นคอมมิวนิสต์อยู่ แต่จากแนวโน้มแล้ว สภาพความโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจ คงจะทำให้คงระบบเดิมเอาไว้ไม่ได้นานนัก

เผด็จการคอมมิวนิสต์กำลังตายจากไป แต่ไม่ใช่สังคมนิยม (Socialism) จะเสื่อมถอยไปเสียทั้งหมด ดังจะเห็นได้ว่าในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา หลายประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มสแกนดิเนเวียและยุโรปตะวันตก มีลักษณะการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยในทางการเมือง แต่ในทางเศรษฐกิจก็มีส่วนของความเป็นสังคมนิยม หรือจะเรียกว่าระบบรัฐสวัสดิการ (Social Welfare States) คือนอกจากจะให้สิทธิเสรีภาพทางการแสดงออกแก่ประชาชนแล้ว ยังยึดหลักประชาธิปไตยสังคมนิยม ที่ให้หลักประกันแก่คนทางด้านการศึกษา สาธารณสุข และการมีงานทำ

แม้ในระยะหลังจะเกิดปัญหาค่าใช้จ่ายด้านรัฐสวัสดิการจะหนักหนา จนกระทั่งต้องมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างเพื่อให้สังคมประเทศสามารถยืนอยู่ได้อย่างมีวินัยทางการเงินการคลังมากขึ้น แต่โดยรวมแล้วหลักของสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐานนั้นยังคงอยุ่

ความเป็นสังคมนิยมมิได้หมดไป จิตวิญญาณของความเป็นสังคมนิยมนั้นเป็นสิ่งที่ดี ความเอื้อเฟื้อแก่กันจะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ล้าสมัย แท้ที่จริง หากสังคมใดให้การศึกษาแก่คนให้กระทำตนประพฤติปฏิบัติอย่างไม่เห็นแก่ตน มีแรงงานมีความคิดก็ทำประโยชน์ให้แก่สังคมเป็นหลัก กินอยู่ใช้จ่ายเองอย่างประหยัด ดังนี้ย่อมเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และจริงๆแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นในตะวันตกปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เพราะเป็นสังคมนิยม แต่เป็นเพราะคนหรือประชาชนของเขา เริ่มที่จะคิดต้องการประโยชน์จากสังคมและสวัสดิการ มากกว่าที่จะอุทิศตนให้กับสวัสดิการของสังคมส่วนใหญ่ คืออยากทำน้อย แต่อยากได้ประโยชน์เพื่อส่วนตนมากๆ และนั่นคือจุดอ่อนของการศึกษาและค่านิยมในระยะหลังด้วย และอันที่จริง หากสังคมใดที่มีแต่คน อยากได้มากกว่าอยากให้ เห็นแก่ตัว มากกว่าที่จะเอื้อเฟื้อให้กับคนอื่นๆ ที่นั้นๆก็จะเป็นสังคมที่ล่มสลายได้ทั้งสิ้น แต่ในทางตรงกันข้าม สังคมใดที่มีคนมีความเสียสละ มองเห็นประโยชน์ของส่วนรวมเป็นใหญ่ พร้อมเสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อทำให้สังคมประเทศส่วนใหญ่ได้มีความมั่งคั่ง มั่นคง ดังนี้ ประเทศนั้นย่อมมีความแข็งแกร่งไม่ล่มสลาย

คนเรามีสิทธิรักตนเอง และควรจะรักตนเองเสียก่อน ก่อนที่จะไปทำประโยชน์ให้กับคนอื่นๆ ความรักตนเอง รักครอบครัว ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่จะทำให้เราไม่รักในสังคม เพราะความรักในลักษณะดังกล่าวสามารถดำเนินควบคู่กันไปได้

ในศตวรรษที่ 21 นี้ ระบบเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป โลกมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีค่านิยมใหม่ที่จะต้องเคารพสิทธิส่วนบุคคล และรวมไปถึงการมีทรัพย์สินส่วนบุคคล ให้ความสำคัญแก่สิทธิในการคิดและการแสดงออกของคน การอดทนที่จะรับฟังและยอมรับความคิดที่แตกต่าง แต่ในอีกด้านหนึ่ง สังคมยุคใหม่ก็ต้องการพลังความคิดและแรงงานจากแต่ละคน ที่จะสร้างสังคมใหญ่ ให้มีความกินดีอยู่ดี มีสวัสดิการด้านต่างๆอันควร ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ การมีบริการสาธารณสุข การมีที่พักอาศัยในราคาไม่แพง และการมีงานทำ และสิ่งเหล่านี้ต้องการคนที่รู้จักให้ นอกเหนือไปจากสิ่งที่ได้รับจากสังคม

มองในอีกด้านหนึ่ง การสั่งสอนให้คนรุ่นใหม่มีจิตบริการ คิดอย่างเห็นอกเขาอกเรา รับผิดชอบในงานและหน้าที่อย่างทุมเท และมีจิตใจเพื่อการเสียสละแก่สังคมบ้างนั้น จะเป็นการดีต่อสังคมโดยรวม ไม่ว่าสังคมนั้นจะได้ชื่อว่าปกครองด้วยระบอบอะไร

No comments:

Post a Comment