Monday, November 1, 2010

บทเรียนที่ 5 ความรอบรู้เกี่ยวกับโลก

บทเรียนที่ 5 ความรอบรู้เกี่ยวกับโลก

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
แปลและเรียบเรียง จาก
Wikipedia

Updated: November 2, 2010

Keywords: cw154, การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม, ภูมิศาสตร์, globalization, Internationalization

ความนำ

ทำไมการจะเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับ Operation Analysis จึงมีความจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับโลก หรือประเทศอื่นๆ ในโลกจำนวนมากมาย ลองดูตัวอย่างจากคำถามต่อไปนี้

- หากท่านเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยสักแห่งหนึ่งที่ต้องการพัฒนาคณาจารย์ในวิทยาการด้านหนึ่งของมหาวิทยาลัย และพร้อมที่จะส่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไปอบรมในต่างประเทศด้วยเงินทุนของรัฐบาล ท่านจะเลือกไปสถานศึกษาใด และประเทศใด โปรดแสดงเหตุผล

- หากท่าน จะต้องส่งเสริมการศึกษาภาษาต่างประเทศในสถานศึกษาของท่าน เราพอมีความรู้ว่า ผู้เรียนสนใจเรียน ภาษาอังกฤษ สเปน เยอรมัน ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อาหรับ ฯลฯ ท่านไม่สามารถจะส่งเสริมได้ทั้งหมด แต่ต้องให้ความสำคัญสัก 3 รายการ ท่านจะต้องลงทุนกับการศึกษาในภาษาใด และเพราะเหตุใด

ความรู้ในสภาพแวดล้อมที่สำคัญนั้นเกี่ยวกับโลกที่เราอาศัยอยู่ ความรู้ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของสภาพแวดล้อมในโลกที่เป็นไป ทั้งในด้านภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยี และการศึกษา

ในบทความนี้จะได้อภิปรายในส่วนที่เป็นสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นหลักก่อน

การรู้จักโลกแล้วได้ประโยชน์

ภาพ รัชกาลที่ 5 (ด้านซ้าย)

รัชกาลที่ 5 ทรงได้เรียนรู้จากครูผู้สอนชาวต่างประเทศที่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้จ้างมาสอนแก่พระโอรสและธิดา ตลอดจนข้าราชสำนัก

นอกจากทรงได้รับการศึกษาจากในวังแล้ว เมื่อได้ครองราชย์ ได้เสด็จประพาสยุโรป และไปไกลถึงแดนที่เรียกว่าแดนอาทิตย์ตกยามเที่ยงคืน คือแถบสแกนดิเนเวีย ได้ทรงไปเห็นโลกมากมาย และสิ่งเหล่านั้นยังผลต่อการปฏิรูประบบราชการไทย การพัฒนาให้ประเทศทันสมัย (Modernization) และมีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นในการป้องกันการคุกคามจากการล่าอาณานิคมจากประเทศตะวันตก

ภาพ มหาตะมะ คานธี

มหาตะมะ คานธี (October 2, 1869January 30, 1948) มหาบุรุษผู้นำการต่อสู้ทางจิตและวิญญาณชาวอินเดีย ผู้นำการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศด้วยสันติวิธี แนวคิดของท่านไม่ได้เกิดขึ้นมาได้เอง แต่เป็นการสั่งสมประสบการณ์ทั้งจากในอินเดีย ประเทศอังกฤษ ประเทศอัฟริกาใต้ที่ได้เคยไปทำงานด้านกฎหมายอยู่ ณ ที่นั้น

ภาพ โฮเซ ริซาล วีรบุรุษของฟิลิปปินส์

ดร. โฮเซ ริซาล (Dr. José Protasio Rizal Mercado y Alonso Realonda (เกิดวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1861 – เสียชีวิตวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1896, Bagumbayan) ผู้นำการต่อสู้ชาวฟิลิปปินส์ในการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเป็นเอกราชของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งได้ร่ำเรียนเกี่ยวกับโลกตะวันตก ทั้งจากมหาวิทยาลัยในประเทศฟิลิปปินส์เอง และจากการได้ไปศึกษาในยุโรปจนในระดับปริญญาเอก

โฮจิมิน (Hom Chi Minh)

โฮจิมิน (Hom Chi Minh) ผู้นำประเทศเวียตนามในการต่อสู้กับฝรั่งเศส และการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศ ได้รับการศึกษาจากประสบการณ์ในต่างประเทศ ทั้งจากประเทศฝรั่งเศส และจากในยุโรป

ภาพ ตนกู อับดุล ราห์มาน นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย

ตนกู อับดุล ราห์มาน (Tunku Abdul Rahman เกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1903 เสียชีวิตเมื่อ ธันวาคม ค.ศ. 1990) นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศมาเลเซีย ได้รับการศึกษาทั้งจากภายในประเทศ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย และจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศอังกฤษ ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศอังกฤษที่เขาได้ต่อสู้ และต่อรองเพื่อความเป็นเอกราชของชาติ

ความรอบรู้ของผู้นำในโลก ทำให้เขาไม่ต้องติดกรอบแคบของการคิด แต่สามารถมองเห็นความเชื่อมโยงโลกกับประเทศและสังคมของเขาได้มากขึ้น

ควรรู้เรื่องอะไรบ้าง

โลกในทางภูมิศาสตร์ เขาจัดแบ่งโลกออกเป็นทวีปกันอย่างไร ในแต่ละทวีปมีความเหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไร

โลกในทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ได้มีวิวัฒนาการ อารยธรรมการใช้ชีวิต จากสภาพความเป็นสังคมก่อนยุคประวัติศาสตร์ ยุคประวัติศาสตร์ที่เริ่มรู้จักใช้เครื่องมือในการล่าสัตว์และการเกษตร การใช้บรอนซ์ เหล็ก และอื่นๆ โลกที่ได้เปลี่ยนไปสู่ความเป็นสังคมอุตสาหกรรม การติดต่อค้าขาย การมีลัทธิการล่าอาณานิคม ตราบมาจนถึงยุคปัจจุบันที่ได้กลายเป็นโลกยุคขัอมูลข่าวสาร มีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีด้านต่างๆ อย่างก้าวหน้าและรวดเร็ว

ภูมิศาสตร์โลก

มารู้จักโลกในทางภูมิศาสตร์อย่างง่ายๆ คือมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับทวีปต่างๆ ในโลก ซึ่งเขาแบ่งออกเป็นทางภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา และการแบ่งตามลักษณะเปลือกผิวโลกที่แตกออกเป็นชิ้นใหญ่ๆ ซึ่งกลายเป็นทวีป

ทวีป (Continent) มาจากภาษาลาติน หมายถึงสิ่งที่รวมเข้าด้วยกัน ทวีปเป็นลักษณะผืนดินขนาดใหญ่ มีวิธีการคิดและแบ่งหลายวิธี แต่ที่สำคัญมี 3 ลักษณะ

- การแบ่งทางภูมิศาสตร์ (Geographic continents )

- การแบ่งทางธรณีวิทยา (Geologic continents )

- การแบ่งตามลักษณะเปลือกผิวโลก (Tectonic plates )

ในทางภูมิศาสตร์ (Geographic continents) เป็นการแบ่งทวีปที่ขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่นจะคิด และมีหลายแนวคิดในการมองความเป็นทวีปว่าอย่างไรจึงจะใหญ่พอและเป็นกลุ่มก้อนพอที่จะเรียกว่าทวีป คนในทวีปของตนก็มองเห็นความเป็นแผ่นดินที่ใหญ่โตมากกว่าที่คนในส่วนอื่นๆจะมองเห็น ในการแบ่งจึงไม่มีความตรงกันเสียทีเดียว การแบ่งมีตั้งแต่โลก มี 4 ทวีป จนสูงสุดเป็น 7 ทวีป ทวีปเอเชียมักจะมีกล่าวถึงในทุกลักษณะการแบ่ง ทวีปอเมริกา (America) อาจมีการแบ่งออกเป็นอเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ ยุโรปมีการแบ่งและบางทีก็รวมกันกับเอเชีย แล้วเรียกทวีปนั้นว่า Eurasia ในการแบ่งบางคนรวมเอเชียกับอัฟริกาเข้าด้วยกันแล้วเรียกทวีปนี้ว่า Afrasia เพราะมีผืนดินติดกัน

ส่วนทวีปแอนตากติกา (Antarctica) เป็นทวีปที่มีการตระหนักว่าเป็นทวีปล่าสุด เพิ่งมีคนค้นพบในความเป็นทวีปเมื่อปี ค.ศ. 1820 กลายเป็นทวีปที่ 7 ซึ่งสอดคล้องกับคำโบราณว่า 7 ทวีป 7 ทะเล และ 7 สวรรค์ ซึ่งสอดคล้องกับ 7 วันแห่งสัปดาห์

ในอดีต การติดต่อสื่อสารกันเป็นไปด้วยความยากลำบาก การเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งที่ห่างกันเพียง 100 กิโลเมตร อาจต้องใช้เวลาหลายๆวัน จึงเรียกว่า ยุคโลกกว้าง แต่ทางแคบ ในปัจจุบันเนื่องด้วยมีระบบคมนาคมที่สะดวก มีการติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว กล่าวได้ว่า เราได้ก้าวสู่ยุค โลกแคบ ทางกว้าง แต่กระนั้น ความเข้าใจในสภาพภูมิศาสตร์โลก จะทำให้เราเข้าใจอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของประชาคมโลก ที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้

7 ทวีปในโลก

การแบ่งออกเป็น 7 ทวีปในโลกนั้นอาจไม่ใช่เป็นการจัดแบ่งที่ตายตัว หลายฝ่ายยังมีการโต้แย้งกันอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม 7 ทวีปในโลกที่สำคัญ ได้แก่

1. ทวีปเอเซีย (Asia) มีพื้นที่ 49,700,000 ตารางกิโลเมตร

2. ทวีปอัฟริกา (Africa) 30,250,000 ตารางกิโลเมตร

3. ทวีปอเมริกาเหนือ (North America) 24,230,000 ตารางกิโลเมตร

4. ทวีปอเมริกาใต้ (South America) มีพื้นที่ 17,820,000 ตารางกิโลเมตร

5. ทวีปแอนตากติกา (Antarctica) มีพื้นที่ 13,200,000 ตารางกิโลเมตร

6. ทวีปยุโรป (Europe) มีพื้นที่ 10,600,000 ตารางกิโลเมตร และ

7. ทวีปออสเตรเลีย (Australia) มีพื้นที่ 8,500,000 ตารางกิโลเมตร รวมถึงนิวกีนี (New Guinea).

ชื่อเรียกที่อาจแตกต่างกัน

ชื่อเรียกทวีปต่างๆ ซึ่งมีการจัดแยก หรือรวมทวีปตามสภาพต่างๆ ซึ่งมีอยู่มีดังนี้

ทวีป (continent)

พื้นที่ - area (km²)

อธิบาย

Africa-Eurasia

90,500,000

นับอัฟริกา ยุโรป และเอเชียเข้าด้วยกัน

Laurasia

84,500,000

ทวีปเอเซีย และออสเตรเลีย

Eurasia

60,300,000

นับยุโรปและเอเชียเข้าด้วยกัน

America

42,050,000

ทวีปอเมริกา เหนือ และใต้

Asia

49,700,000

เอเซีย

Africa

30,250,000

อัฟริกา

North America

24,230,000

อเมริกาเหนือ

South America

17,820,000

อเมริกาใต้

Antarctica

13,200,000

ขั้วโลกใต้

Europe

10,600,000

ยุโรป

Australia

8,560,000

ออสเตรเลีย

ทวีปเอเซียมีพื้นที่ 49.7 ล้านตารางกิโลเมตร นับเป็นพื้นที่ๆมีขนาดใหญ่ที่สุด

หากรวมทวีปยุโรป ที่มีพื้นที่บางส่วนต่อเชื่อมโยงต่อกัน รวมเรียกว่า Eurasia จะมีพื้นที่กว่า 60.3 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งในประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว ที่เป็นศูนย์กลางอารยธรรมของโลก

หากทวีเอเซีย รวมทวีปออสเตรเลีย ซึ่งในทางภูมิศาสตร์ มีความใกล้กัน จะเรียกว่า Laurasia มีพื้นที่เท่ากับ 84.5 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งจัดเป็นพื้นที่ขนดใหญ่ของโลก ซึ่งในโลกปัจจุบันที่มีการเชื่อมโยงได้ด้วยการเดินทางโดยเครื่องบิน และการขนส่งทางเรือ เขตนี้จะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ของโลกได้

ทวีปอเมริกาเหนือ หากรวมทวีปอเมริกาใต้ แล้วจะมีพื้นที่ 42 ล้านตารางกิโลเมตร

ในโลกนี้ยังมีเกาะ (Islands) มากมาย เกาะ คือผืนดินที่มีน้ำล้อมลอบ ในส่วนที่เป็นเกาะนั้น ถ้าเกาะใดอยู่ใกล้หรือติดกับทวีปใด ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของทวีปนั้น อย่างประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีเกาะนับเป็นหมื่นเกาะ แต่ความเป็นประเทศนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของเอเชีย หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประเทศสหราชอาณาจักร มีความเป็นเกาะนอกทวีปยุโรป ก็จัดเป็นส่วนหนึ่งของทวีปยุโรป เพราะอยู่ติดกับแผ่นดินใหญ่ของยุโรป

1. ทวีปเอเซีย (Asia)

ทวีปเอเชียมีพื้นที่ 49,700,000 ตารางกิโลเมตร

เอเชียเป็นส่วนกลางและตะวันออกของส่วนที่เขาเรียกว่า Eurasia หากตัดส่วนที่เป็นยุโรปออก ก็จะเรียกได้ว่าเป็น Asia และจัดเป็นทวีปตามการแบ่งทางภูมิศาสตร์

หากการจัดแบ่งตามพื้นที่แล้วก็ยากที่จะจำแนกได้ชัดระหว่างเอเชียและยุโรป เพราะพื้นที่ติดกัน และสำหรับเอเชียและอัฟริกา ก็ยากที่จะแบ่งแยก เพราะมีพื้นดินติดกัน แต่โดยเป็นที่เข้าใจจะแบ่งแยกที่ isthmus of Suez ในการแบ่งระหว่างเอเชียกับยุโรปนั้น แบ่งกันที่ Dardanelles, ช่องแคบและทะเลมาร์มาร่า (Sea of Marmara) , บริเวณบอสฟอรัส (Bosphorus) ทะเลดำ (Black Sea) the ridges of the Caucasus (according to others, through the Kuma-Manych Depression), ทะเลสาปแคสเปียน (Caspian Sea) แม่น้ำอูราล (Ural River ) หรือบางคนอาจแบ่งบริเวณ แม่น้ำเอมบ้า (Emba River) และใช้เทือกเขาอูราล (Ural Mountains) จนถึง นอวาย่า เซมเลีย (Novaya Zemlya) เป็นเขตแบ่ง

ประเทศที่อยู่ในบริเวณแบ่งแยกระหว่างเอเชียกับยุโรปจะเป็น ตุรกี และประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออก ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ทวีปเอเชียจัดว่าเป็นทวีปที่มีประชากรมากทีสุดในโลก ประชากรร้อยละ 60 ของโลกอาศัยอยู่ในเอเชีย

2. ทวีปอัฟริกา (Africa)

ทวีปอัฟริกามีพื้นที่ 30,250,000 ตารางกิโลเมตร

ทวีปอัฟริกาจัดเป็นทวีปที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากเอเชีย มีพื้นที่คลุมประมาณร้อยละ 20.3 ของโลก มีประชากรอาศัยอยู่ 800 ล้านคน และมีชาติใหญ่เล็กอยู่กว่า 54 ชาติ มีสัดส่วนประชากรเป็น 1 ใน 7 ของโลก จัดเป็นบริเวณที่มีคนยากจน มีปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ และมีความแห้งแล้งอดอยากเกิดขึ้นมากที่สุด

แต่ในข้อเท็จจริง ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่กว้างขวาง และเทคโนโลยีของโลกยุคใหม่ที่ก้าวหน้า ทวีปอัฟริกาเป็นบริเวณหนึ่งในโลกที่มีโอกาสพัฒนาได้อย่างมาก

3. ทวีปอเมริกาเหนือ (North America)

ทวีปอเมริกาเหนือมีพื้นที่ 24,230,000 ตารางกิโลเมตร

ทวีปอเมริกาเหนือจัดเป็นทวีปที่อยู่ในซีกโลกเหนือ ทางตอนบนติดกับมหาสมุทรอาร์คติก (Arctic Ocean) ในทางตะวันออกและเหนือมีมหาสมุทรแอตแลนติก (Atlantic Ocean) และในตอนใต้มีทะเลคาริเบียน (Caribbean Sea) ในทางตะวันตกมีมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Ocean) กั้นอยู่ มีประชากรอยู่อาศัยประมาณ 454,225,000 คน จัดเป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 รองจากเอเชียและอัฟริกา และมีประชากรเป็นอันดับที่ 4 รองจากเอเชีย อัฟริกา และยุโรป

4. ทวีปอเมริกาใต้ (South America)

ทวีปอเมริกาใต้มีพื้นที่ 17,820,000 ตารางกิโลเมตร

ทวีปอเมริกาใต้เป็นส่วนหนึ่งของทวีปอเมริกา แต่มีเส้นแบ่งที่เส้นศูนย์สูตร (Equator) บริเวณเกือบทั้งหมดอยู่ในซีกโลกใต้ และมีมหาสมุทรอยู่ 2 ด้าน คือ ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Ocean)ทางฝั่งตะวันตก และ มหาสมุทรแอตแลนติก (Atlantic Ocean) ทางฝั่งตะวันออก

ทวีปอเมริกาเหนือ และใต้ (North America, South America) มีชื่อเป็นการตั้งเพื่อให้เกียรติแก่ Amerigo Vespucci, ผู้ค้นพบ ซึ่งในระยะแรกเข้าใจว่าเป็นอินเดียตะวันออก (East Indies) โดยไม่ได้คิดว่าจะเป็นทวีปใหม่อีกทวีปหนึ่ง หรือที่เรียกอีกอย่างว่า New World

ทวีปอเมริกาใต้มีพื้นที่ 17,818,508 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 355,070,540 คนจัดว่าเป็นทวีปใหญ่เป็นอันดับที่ 4 รองลงมาจาก Eurasia, Africa, และ North America

ทวีปอเมริกาใต้หากมองเปรียบเทียบกับส่วนอื่นๆของโลก ดูเหมือนจะถูกตัดขาด แต่ในทางภูมิศาสตร์แล้วอยู่ติดและเชื่อมโยงกับอเมริกาเหนือที่มีประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างมาก ดังประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเมกซิโกที่ได้พัฒนาไปมากแล้วเช่นกัน โอกาสในการพัฒนาสร้างเขตเศรษฐกิจของสองทวีปนี้ จึงขึ้นอยู่กับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ดังเช่น ระบบรถไฟ หรือรถไฟความเร็วสูงร่วมกัน นอกเหนือไปจากเรือเดินทะเล เครื่องบิน ถนน ฯลฯ

5. ทวีปแอนตากติกา (Antarctica)

ทวีปแอนตากติกา มีพื้นที่ 13,200,000 ตารางกิโลเมตร

คำว่า Antarctica มาจากคำว่า Anti แปลว่าตรงกันข้าม และคำว่า Arctic คือขั้วโลกเหนือ คำว่า Antarcitica จึงมีความหมายตรงกันข้ามกับขั้วโลกเหนือ คือขั้วโลกใต้นั่นเอง ขั้วโลกใต้จัดเป็นบริเวณที่หนาวเย็นที่สุดในโลก พื้นที่เกือบทั้งหมดปกคลุมด้วยน้ำแข็ง

การค้นพบขั้วโลกใต้ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ ค.ศ. 1820 และได้มีการประกาศการค้นพบในปี ค.ศ. 1821 โดยนักสำรวจชาวรัสเซียชื่อ Mikhail Lazarev และ Fabian Gottlieb von Bellingshausen

ชั่วโลกใต้มีพื้นที่ 13,200,000 ตารางกิโลเมตรจัดเป็นทวีปใหญ่เป็นอันดับที่ 5 หลังจาก Asia, Africa, North America, และ South America แต่นับเป็นทวีปที่มีประชากรอยู่น้อยที่สุด และในข้อเท็จจริงไม่มีคนอยู่อย่างถาวรเลย ยกเว้นพวกนักสำรวจและนักวิจัย จัดเป็นทวีปที่มีระดับพื้นดิน (Altitude) เฉลี่ยที่สูงที่สุด และมีระดับความชื้น (Humidity) ที่ต่ำที่สุดในโลก

6. ทวีปยุโรป (Europe)

มีพื้นที่ 10,600,000 ตารางกิโลเมตร และในทางภูมิศาสตร์ จัดเป็น อนุทวีป เป็นด้านตะวันตกของ Eurasia เพราะยุโรปและเอเชียมีพื้นดินติดกัน ทางเหนือของยุโรปติดกับมหาสมุทรอาร์คติก (Arctic Ocean) ทางด้านตะวันตกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก (Atlantic Ocean) และทางใต้ติดกับทะเลเมดิเตอเรเนียน (Mediterranean Sea) ส่วนพรมแดนทางด้านตะวันออก ในทางวัฒนธรรม ไม่ชัดเจนว่าจบ ณ ที่ใด แต่ในทางภูมิศาสตร์มีเทือกเขา อูราล (Ural mountains) เป็นส่วนแบ่งแยกที่ชัดเจนที่สุดระหว่างยุโรปและเอเซีย

หากดูตามแผนที่ ยุโรปจัดเป็นทวีปที่มีขนาดเล็กที่สุดเป็นอันดับสองในด้านพื้นที่ โดยมีพื้นที่ 10,600,000 ตารางกิโลเมตร ทำให้มีขนาดใหญ่กว่าเพียงทวีปออสเตรเลีย ในทางประชากรจัดเป็นทวีปที่มีประชากรมากเป็นอันดับสาม รอลงมาจากเอเชียและอัฟริกา ประชากรของยุโรปมีรวมประมาณ 700 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 11 ของประชากรโลก

7. ทวีปออสเตรเลีย (Australia)

มีพื้นที่ 8,500,000 ตารางกิโลเมตร รวมถึงนิวกีนี (New Guinea).

ทวีปออสเตรเลียในทางภูมิศาสตร์มีความเป็นทวีปชัดเจนที่สุด เพราะมีแผ่นน้ำล้อมรอบ ออสเตรเลียมาจากคำลาตินว่า australis แปลว่าทางใต้ หรือแผ่นดินทางใต้ที่ไม่มีใครรู้จัก เรียกว่า terra australis incognita ที่มีการบันทึกกันในสมัยโรมัน และเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในยุโรปสมัยกลาง แต่ก็ยังไม่มีความรู้ใดๆ มากนักเกี่ยวกับทวีปใหม่นี้

ในทางความเป็นทวีป มี 2 ประเทศที่จัดว่ามีระดับเป็นประเทศพัฒนาแล้ว คือประเทศออสเตรเลีย มีประชากร 22.5 ล้านคน และประเทศนิวซีแลนด์ มีประชากร 4.4 ล้านคน นอกนั้นเป็นประเทศและชุมชนขนาดเล็กที่เป็นชาวเกาะต่างๆ

สรุป

การเล่นหมากรุกเขามีหลักอยู่ว่าต้องมองหมากให้ออกทั้งกระดาน เหมือนกับการทำงาน ก่อนจะทำอะไรให้มีโอกาสมองภาพกว้างๆ ของสรรพสิ่งเหล่านั้น และในความกว้างที่มากที่สุด คือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโลกทั้งใบ

คนบางคนเล่นเกมส์ก็จะหาทางที่จะบุกเข้าไปเอาชนะคู่แข่ง โดยลืมมองไปว่า ขณะที่บุกไปนั้นอาจกลายเป็นเดินเข้าสู่ตาจน การเล่นเกมส์จึงต้องมองทั้งทางรุกและทางถอย

ความเข้าใจในโลกทั้งใบ ในสภาพทางภูมิศาสตร์กายภาพนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้

กิจกรรม

1. หากจะต้องส่งคนไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อกลับมาเป็นครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัยสักแห่งหนึ่งที่ท่านรับหน้าที่เป็นผู้บริหารระดับสูง ท่านลองลำดับประเทศสัก 5 ประเทศที่ควรส่งคนไปศึกษา ดูงาน หรือมีความสัมพันธ์ทางวิชาการต่อกัน โดยจัดเรียงตามลำดับพร้อมอธิบายเหตุผล

2. มีคนเรียกคำว่า Chindia หรือ ประเทศจีน+อินเดีย ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่า เป็นประเทศที่มีขนาดประชากรใหญ่ รวมสองประเทศมีคนกว่า 2400 ล้านคน มีอารยธรรมเก่าแก่ แต่ที่สำคัญคือในช่วงทศวรรษนี้และต่อๆไป จะยิ่งมีบทบาทความสำคัญมากขึ้นด้วยมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว สำหรับประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากพัฒนาการของทั้งสองประเทศนี้ อะไรคือโอกาส และอะไรคือการคุกคามทั้งต่อประเทศไทย และการศึกษาไทย เราควรมองการปรับตัวและใช้ประโยชน์จากปรากฏการณ์นี้อย่างไร

------------------------------------------

No comments:

Post a Comment