Monday, November 1, 2010

ปัญหาในการวิจัย FUTON bias

ปัญหาในการวิจัย FUTON bias

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
แปลและเรียบเรียงจาก
Wikipedia, the free encyclopedia,

Updated: Friday, August 08, 2008
Keywords: cw154 การวิจัย, การวิเคราะห์, สภาพแวดล้อม

ความหมาย

ความเอนเอียงแบบฟูตัน (FUTON bias) คำว่า FUTON มาจากคำว่า “'Full Text On the Net' หรือเอกสารที่หาอ่านได้จากอินเตอร์เน็ต หรือระบบออนไลน์อื่นๆ ด้วยความที่นักวิจัยในปัจจุบันเริ่มจะใช้ระบบค้นคว้าอะไรก็ตามที่สามารถหาอ่านได้ในระบบออนไลน์ และเริ่มไม่ให้ความสำคัญกับอะไรก็ตามที่ไม่สามารถค้นหาได้ผ่านระบบออนไลน์ ดังเช่นวารสารที่เป็นสิ่งพิมพ์ หรือสิ่งที่เป็น microfilm หรือ microfiche format อ้นเป็นรูปแบบนำเสนอดั่งเดิมที่มีเอกสารที่มีประโยชน์ เพียงแต่ว่ายังไมได้ทำให้ค้นคว้าในระบบออนไลน์ได้

FUTON bias เป็นผลอันตรายที่มีความเสียหายในทางวิจัยได้ เพราะงานที่เก่าและนำเสนอในประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า ดังในกรณีรวมถึงประเทศไทย ยังไม่มีโอกาสที่จะนำงานต่างๆ นำเสนอผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ผลกระทบต่อวงการศึกษา การวิจัย และผลต่อผู้มีอำนาจในการตัดสินใจที่จะได้รับรู้ก็น้อยลงไปด้วย

นึกอะไรไม่ออกให้ถาม Google

ในหมู่นักศึกษาอเมริกันยุคใหม่ เขามีหลักว่า นึกอะไรไม่ออกให้ไปเริ่มต้นที่ Google หรือระบบช่วยสืบค้น (Search Engine) ที่มีวิธีการได้ข้อมูลที่กว้างขวางในแบบหลายภาษา (Multiple-languages)v

ในปัจจุบันหากใครใช้อินเตอร์เน็ตแล้วไม่รู้จัก Google ก็คงเป็นเรื่องแปลกมาก เพราะในปี ค.ศ. 2008 นี้ ตลาดระบบค้นหาข้อมูลในโลก Google มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 53.6 ส่วน Yahoo ที่เคยเป็นผู้ครองตลาดมาก่อนปัจจุบันมีอยู่ร้อยละ 19.9

Google มี Server จำนวน 450,000 เครื่องช่วยจัดการกับระบบข้อมูลทั้งโลกที่ได้มีการนำเสนอผ่านออนไลน์ มีคนทำงานเต็มเวลาประมาณ 20,000 คน ที่จะพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ และรวมถึงดูแลบริหาระบบ Servers เพื่อการสืบค้นทั่วโลก โดยค่าใช้จ่ายนี้ไม่ได้เป็นของผู้ต้องการสืบค้น แต่เป็นฝ่ายผู้ที่ต้องการให้ข้อมูลไปปรากฎและสืบค้นได้เป็นผู้สนับสนุนระบบ

แต่ระบบสืบต้น Google นั้นสิ่งที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อผู้สืบค้นก็คือ ความรวดเร็วในการได้ข้อมูล

ในอดีตเมื่อผู้เขียนต้องทำวิจัยเพื่อปริญญานิพนธ์ขั้นสูงในราวๆปี ค.ศ. 1970 เพียงเพื่อจะหาหัวเรื่องและความเป็นไปได้ในการทำวิทยานิพนธ์ ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน โดยต้องไปค้นหาอ่านจาก Dissertation หรือ Thesis Abstracts ที่เป็นเอกสารรวบรวมบทคัดย่อ ต้องไปอ่านอย่างน้อยก็คือดูความจากบทคัดย่อเหล่านั้น แต่ปัจจุบันนี้ นักวิจัยจะสามารถตรวจหาข้อมูลต่างๆที่จะเขียนงานวิจัยเบื้องต้ได้ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง นับเป็นวิธีการเริ่มต้นที่ง่ายกว่าแต่ก่อนมาก

แต่นั่นก็เป็นข้อจำกัด เพราะความเร็วที่เป็นจุดแข็งของระบบสืบค้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นข้ออ่อนหรือหลุมพราง เพราะมันไปจำกัดฐานข้อมูลทั้งหมดที่เราต้องการ เพราะระบบลำดับความสำคัญของเอกสารนั้นจำกัดด้วย หลายสาเหตุ กล่าวคือ (1) ข้อมูลในโลกมีมากมายเหลือเกิน จึงทำให้ระบบสืบค้นต้องวางตรรกะในการสืบค้นว่าจะให้นำเสนออะไรก่อน และอย่างไร ซึ่งเป็นการต้องเดาใจว่า น่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วใส่ตรรกะไปนโปรแกรมระบบสืบค้น (2) เพราะข้อมูลในโลกมีอยู่มากมาย จึงทำให้ข้อมูลส่วนแรกของยอดปิรามิด ซึ่งคิดว่าเป็นข้อมูลส่วนสำคัญ ซึ่งจริงๆยังไม่ใช่ทั้งหมด (3) หน่วยงานที่มีข้อมูลสำคัญเป็นอันมาก ยังไม่ได้ให้ข้อมูลของเขานำสู่ระบบเครือข่าย (4) เพราะบริษัทเจ้าของระบบสืบค้นเอง ก็มีผลประโยชน์จากระบบโฆษณา คนที่เขาต้องการให้ข้อมูลที่เขาต้องการนำเสนอ ก็ได้เข้าสู่ลำดับความสำคัญ เพราะเขาได้จ่ายค่าโฆษณาให้ แต่อาจไม่ได้หมายความว่าข้อมูลของเขามีประโยชน์

เริ่มต้นที่ Wikipedia

นอกจาก Google ปัจจุบันต้องพูดถึงระบบ Wikipedia ระบบสารานุกรมเสรีที่เป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่น่าสนใจ เพราะเป็นการดำเนินการโดยมีนักวิชาการและแหล่งข้อมูลทั่วโลกเข้าเป็นเป็นอาสาสมัคร

Wikipedia เป็นระบบสะสมงานข้อมูลข่าวสารในรูปของสารานุกรม (Encyclopedia) ที่เผยแพร่งานผ่านระบบเครือข่าย และดำเนินการโดยมูลนิธิ Wikimedia Foundation ที่ได้เริ่มงานในปี ค.ศ. 2001 โดย Jimmy Wales และ Larry Sanger ที่ได้รวบรวมและย่นย่อความรู้ของมวลมนุษย์ในทุกภาษาหลักของโลก

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2008 Wikipedia มีงานวิชาการกว่า 10 ล้านรายการใน 253 ภาษา ประมาณร้อยละ 25 เป็นภาษาอังกฤษ งานเขียนที่ปรากฎนี้เป็นผลงานของอาสาสมัครที่มีมาจากทั่วโลก และรวมถึงในประเทศไทย ปัจจุบันนับเป็นสารานุกรมเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีเอกสารที่เป็นภาษาไทยแล้ว 37882 รายการ (สิงหาคม ค.ศ. 2008)

แต่อย่างไรก็ตาม แม้งานที่นำเสนอผ่านเครือข่ายจะมีอย่างมหาศาล แต่นักวิชาการ และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยยังไม่ยอมรับการอ้างอิงจากใน Wikipedia เพราะงานที่นำเสนอนั้นมาจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ ซึ่งเขามีการอ้างอิงบอกแหล่งที่มา ซึ่งเป็นเรื่องของนักวิชาการ นักวิจัยต้องไปตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่มีความเป็นแรกเริ่มมากกว่า (Originality) นอกจากนี้คือ แหล่งข้อมูลที่มีความพยายามนำเสนอสู่ระบบเครือข่าย มักจะได้แก่คนที่มีวัตถุประสงค์โดยเฉพาะของฝ่ายตน เช่นต้องการประชาสัมพันธ์หน่วยงาน และผลงานของตน บางส่วนต้องการประชาสัมพันธ์เพื่อตอบโต้ต่อข้อมูลด้านลบที่ได้ถูกกระทำแล้วจากระบบสื่อสารอื่นๆ และบางส่วนเป็นข้อมูลโจมตีที่ไม่ได้รับผิดชอบ เพราะงานที่เข้าสู่ระบบเครือข่ายจากจุดหนึ่งของประเทศในโลก ณ ที่ใดๆ ก็ได้ แต่บางลักษณะไม่มีหน่วยงานใดในโลกที่จะตามไปดำเนินการเอาผิดกับผู้ให้ข้อมูลเหล่านั้นได้

ความโน้มเอียงแบบเอ็นเอเอ ( NAA bias)

อีกลักษณะหนึ่งที่งาน บทคัดย่อ (abstract) ที่มีผลต่อวงการวิจัยและการศึกษาขั้นสูง

NAA มาจากคำว่า 'No Abstract Available' หรือไม่ปรากฏในบทคัดย่อ โดยเฉพาะบทคัดย่อที่ได้เข้าสู่ระบบออนไลน์แล้ว แต่ในโลกนี้ยังมีวงวิชาการอีกมากที่ได้พัฒนางานค้นคว้าดีๆ แต่ไม่มีบทคัดย่อที่เข้าสู่ระบบเผยแพร่ผ่านเครือข่าย อาจจะด้วยเหตุที่ความจำกัดด้านภาษา หัวเรื่องไม่ชัดเจน ไม่มีทีมงานสนับสนุนในสถาบันการศึกษา หรือสถาบันวิจัยที่นำเสนองานเข้าสู่ระบบออนไลน์ยังทำงานอย่างไม่เป็นระบบ อาจมีความจำกัดด้านเทคโนโลยี ที่คนทำงานของสถาบันฯนั้นๆ ยังไม่คุ้นเคยกับการนำงานเสนอผ่านเครือข่าย และเมื่อเป็นเช่นนี้ นักวิจัยในยุคออนไลน์นี้ก็จะได้รับข้อจำกัดตามไปด้วย

ดังนั้นในสถาบันวิจัยหลายแห่งจึงยังส่งเสริมให้นักวิจัยและนักวิชาการได้ไปทำงานในภาคสนาม ได้เก็บข้อมูลในแบบข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Sources) ได้สัมผัสและใกล้ชิดกับข้อมูลและแหล่งข้อมูลต้นตอ และได้สามารถใช้ภาษาของท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงให้มากที่สุด

โดยหลักการแล้ว การวิจัยที่ดีนั้น นักวิจัยและนักพัฒนาทั้งหลาย จะต้องเข้าใจว่ามีวิธีการให้ได้ข้อมูลหลากหลายวิธี และต้องระวังข้อจำกัดในยุคใหม่ที่เราอาจต้องพึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ มาก เพราะมีประสิทธิภาพ ช่วยนักวิจัย และการแสวงหาข้อมูลได้มาก แต่ก็ต้องพึงระวัง และต้องเรียนรู้วิทยาการวิจัยให้รอบด้าน และเตรียมทำความเข้าใจในข้อจำกัดของวิทยาการใหม่ๆ พร้อมกันไปด้วย

บทสรุป

การใช้ระบบสืบค้นอย่างเข้าใจข้อดีและข้อจำกัด

การเลือกใช้ข้อมูลที่มีในระบบออนไลน์ ทั้งที่สมบูรณ์หรือเป็นบทคัดย่อ อย่างมีวิจารณญาณ ต้องศึกษาและหาอ่าน Primary Sources ให้ครบถ้วน

เทคนิควิทยาการวิจัยมีได้หลายวิธี และเราควรใช้วิธีการให้ได้ข้อมูล และองค์ความรู้ด้วยวิธีการที่เหมาะสม อาจจะประสมประสานหลายวิธีการ ที่ทำให้ได้ข้อมูครบถ้วน รอบด้าน และสามารถตรวจสอบความถูกต้อง และมีความรอบคอบอย่างเพียงพอ

----------------------------------

No comments:

Post a Comment