Tuesday, November 9, 2010

การศึกษาระบบบ้านเรียน (Homeschooling)

การศึกษาระบบบ้านเรียน
(
Homeschooling)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia, the free encyclopedia.

Keywords: cw202, การศึกษาทางเลือก

ผมได้นำเสนอบทความสั้นๆ โดยแปลและเรียบเรียงจาก Homeschooling ใน Wikipedia เมื่อ 07/11/2005 6:18 am ชื่อกระทู้: การศึกษาระบบบ้านเรียน (Homeschooling)

แล้วมีผู้สนใจเข้ามา จึงได้นำมาเสนอใหม่ และพร้อมใช้เป็นเวที http://pracob.blogspot.com นี้เพื่อแลกเปลี่ยน

การศึกษาระบบบ้านเรียน (Homeschooling) เป็นระบบการศึกษาที่เด็กๆ จะได้เรียนที่บ้านหรือในชุมชน ซึ่งมีความแตกต่างจากการศึกษาที่เน้นการเรียน ณ สถานศึกษา ทั้งที่เป็นของเอกชน ศาสนา หรือของรัฐบาล

ประกอบ คุปรัตน์
November 10, 2010

ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการเคลื่อนไหวจากทางฝ่ายผู้ปกครองกันอย่างกว้างขวางที่จะให้เด็กๆ ได้เรียนการศึกษาที่มีความสมบูรณ์ที่ไม่สามารถรับได้จากโรงเรียนในแบบปกติ มีครอบครัวนับหลายล้านที่ให้การศึกษาแก่บุตรหลานของตนเองที่บ้าน และมีหลายๆ สิบล้านที่ยังเลือกที่จะส่งบุตรหลานของตนไปเข้าเรียนในระบบการเรียนกระแสหลัก คือเรียนที่โรงเรียน

การศึกษาระบบบ้านเรียน เป็นทางเลือกการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีมานานแล้ว และในช่วงหลังยิ่งมีการตื่นตัวกันมากขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ขณะเดียวกันก็มีฝ่ายอื่นๆที่เป็นห่วงว่า อเมริกันกำลังกลับไปใช้วิธีการแบบเดิม โดยตามประวัติศาสตร์แล้ว การศึกษาเริ่มต้นที่บ้าน เมื่อประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่มีระบบโรงเรียน ตราบจนกระทั่งในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 ที่ได้เริ่มมีโรงเรียนรัฐบาลขึ้น ก่อนหน้านั้นคนหลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จในสังคมก็ไม่ได้เรียนในระบบโรงเรียนอย่างเป็นระบบ เช่น ประธานาธิบดี Thomas Jefferson ผู้ร่างรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา Jane Austen นักประพันธ์สตรีชาวอังกฤษ ประธานาธิบดี Abraham Lincoln ผู้นำชาวสหรัฐในการเลิกทาส ผู้นำชาวอินเดียนแดง อย่าง Geronimo และ Louisa May Alcott นักประพันธ์ชาวอเมริกัน ผู้เขียนนิยายเรื่อง Little Women (1868) อันมีชื่อเสียง บุคคลผู้ประสบความสำเร็จเหล่านี้ไม่ได้จบการศึกษาจากโรงเรียน ความจริงยังมีชื่อบุคคลอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นผู้ทำประโยชน์ให้กับสังคมโดยไมได้ผ่านระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานดังคนทั่วไป

ในประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเรียกระบบการศึกษาแบบบรรจุกล่อง (Curriculum in a box) หรือมีเรียกว่า All-in-one curriculum ดังในช่วงปี ค.ศ. 1906 คือได้เคยมีการจัดหนังสือและวัสดุการเรียนที่จำเป็นบรรจุในกล่อง มีรวมไปถึงสมุด กระดาษ ดินสอ แล้วมีคำแนะนำในการเรียน สำหรับพ่อแม่จะได้ใช้สอนลูกได้ด้วย แนวคิดนี้ ภายใน 5 ปีมีนักเรียน 300 คนที่ได้ใช้ระบบดังกล่าวเรียน และในไม่ถึง 1 ศตวรรษ มีเด็กกว่า 350,000 คนต่อปีทีได้เรียนในระบบดังกล่าวในกว่า 90 ประเทศทั่วโลก

ปัจจุบันการจัดการศึกษาระบบบ้านเรียน หรือ Homeschooling สามารถกระทำได้อย่างถูกกฎหมายในประเทศสหรัฐอเมริกา

จากการรายงานสถานภาพการศึกษา ชื่อ "The Condition of Education 2000-2009," จัดทำโดยสำนักงานสถิติการศึกษาของสหรัฐอเมริกา กระทรวงศึกษา ได้รายงานว่าปัจจุบันมีนักเรียนในระบบบ้านเรียน 1.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ. 1999 ซึ่งมีอยู่ 850,000 คน และในปี ค.ศ. 2003 มี 1.1 ล้านคน หรือเท่ากับประมาณร้อยละ 2.9 ของกลุ่มผู้เรียน โดยร้อยละ 84 เป็นการเรียนที่บ้านทั้งหมด แต่มีบางส่วนที่อาจไปเรียนในระบบโรงเรียนถึง 25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ในปัจจุบันที่โอกาสการศึกษาทางเลือกของประชาชนมีมากขึ้น มีวัสดุอุปกรณ์ช่วยในการเรียนมีมากขึ้น ทั้งคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ความคิดเรื่องการศึกษาแบบบ้านเรียนจึงยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้น ในบางรัฐของสหรัฐ เช่น Alaska, California, Pennsylvania, Utah และ Kansas ได้สนับสนุนให้เกิดระบบบ้านเรียน บางแห่งก็เป็นการจัดแบบโรงเรียนทางเลือกที่ผู้ปกครองมีสิทธิไปจัด หรือไปกำกับการเรียนในชั้นเรียน อย่าง Charter Schools ซึ่งแนวทางดังกล่าวได้รับความเห็นชอบในแนวทางจากรัฐแต่ละรัฐแล้ว

ถามตอบ

Wednesday, November 10, 2010

ถาม - จากคุณแม่ผู้ครอบครัวกำลังต้องไปทำงานที่ประเทศฟิลิปปินส์อย่างน้อย 1 ปี มีลูกกำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่สอง จะทำอย่างไร

ตอบ ทางเลือกของการศึกษาในประเทศฟิลิปปินส์สำหรับคนไทยที่ไปทำงานช่วงระยะเวลาหนึ่ง คือ จะเรียนรู้ภาษาใด จะเลือกเรียนในโรงเรียนท้องถิ่นของเขาที่สอนเป็นภาษาตากาลอค ก็ต้องคิดว่าเมื่อกลับมาประเทศไทย เด็กจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง

ถ้าต้องการให้ได้ประโยชน์ ที่ฟิลิปปินส์เขาใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง ก็ลองถามหาโรงเรียนนานาชาติ (International School) ทั้งนี้ให้เลือกโรงเรียนที่มีคุณภาพ ใกล้บ้าน และมีค่าใช้จ่ายที่รับได้ ซึ่งลองปรึกษากับเจ้าหน้าที่สถานทูตของไทยในประเทศเขาดู หรือจะศึกษาจากเพื่อนธุรกิจที่เราเกี่ยวข้องดู

ถาม - จะเรียนจะสอนกันอย่างไร

อีกทางหนึ่งที่ทำได้ และได้ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ไปแล้ว คือ เลือกระบบบ้านเรียน หรือ Homeschooling ทั้งนี้หากคุณแม่ไม่ได้เป็นคนไปทำงานในสำนักงาน หรือต้องออกนอกบ้านเป็นประจำ ก็เลือกให้คุณแม่เป็นผู้ให้หรือควบคุมการเรียนของลูกที่บ้าน สำหรับเด็กช่วงประถมศึกษาปีที่ 2-3 นี้อยู่ในวัย 7-8 ปี แม่และพ่อที่มีการศึกษาระดับปานกลาง จบมัธยมศึกษาบริบูรณ์ขึ้นไป สามารถช่วยให้การศึกษาได้

ถาม จะจัดที่เรียนกันที่ไหนและอย่างไร

ตอบ - หากจะมีกลุ่มพ่อแม่ที่จะรวมตัวกันให้การศึกษาแก่ลูกๆร่วมกันสักกลุ่มละ 4-5 คน ก็สามารถทำได้ โดยเลือกนำไปฝากรวมกัน ณ บ้านของใครสักคนหนึ่ง หรือสลับเวียนกัน โดยให้สถานที่เรียนนั้นๆมีวัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษา มีเครื่องคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตรองรับ

นอกจากนี้ สัปดาห์และครั้งสองครั้ง สถานที่เรียนก็อาจเปลี่ยนไป เช่นไปศูนย์การค้า ไปท่องเที่ยวชมสถานที่ต่างๆร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องสอนแบบเดี่ยวคนเดียวที่บ้านตลอด โดยพ่อแม่ไปไหน ก็ให้ลูกๆติดตามตัวไปด้วยได้

ถาม หนังสือเรียน และวัสดุทางการศึกษาจะหาและใช้อย่างไร

ตอบ ในปี ค.ศ. 2010 นี้ ตามสถิติ ฟิลิปปินส์มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในอัตราไม่น้อยกว่าประเทศไทย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ สามารถหาได้โดยผ่านอินเตอร์เน็ต รวมถึงเนื้อหาสำหรับเด็กที่อยู่ในวัย 7-8 ปี กำลังเริ่มอ่านหนังสือระดับเบื้องต้นได้ ก็มีอยู่มากแล้ว และที่สำคัญ ให้เตรียมหนังสือเรียนตามที่มีในหลักสูตรติดตัวไปด้วย ซึ่งหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายหนังสือเรียนทั่วไป

ลองหาซื้อ CD-ROM เพื่อการศึกษา ซึ่งมีทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ราคาไม่แพง หรือบางรายการอาจ Download จากอินเตอร์เน็ตเพื่อใช้เรียนใช้สอนกันได้ หลักของการเรียนการสอนแบบบ้านเรียนนี้ ให้เน้นที่สร้างแรงจูงใจ และให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองให้มากที่สุด ให้เขาเป็นฝ่ายนำเสนอมาเองว่าเขาได้เรียนรู้อะไร ฝึกให้เขามีความสามารถในการสื่อสาร

No comments:

Post a Comment