Sunday, November 21, 2010

เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy)

เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: cw152, sufficiency economy, เศรษฐกิจพอเพียง

ผมได้ศึกษาเศรษฐกิจประเทศกรีก เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติสำหรับคนไทยเรา สามารถหาอ่านได้ที่ http://pracob.blogspot.com/2010/11/greece.html

ประเทศกรีกมีประชากรประมาณ 10 ล้านคน เป็นสมาชิกหนึ่งของสหภาพยุโรป ประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว ประชากรมีมาตรฐานการครองชีพที่สูงในแบบยุโรป แต่ส่วนหนึ่งเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ด้วยเงินกู้ยืมจากประเทศอื่นๆ และไม่ว่าประเทศใด คนใด เมื่อเรามีนิสัยใช้เงินเกินกว่าที่ตัวเองมีความสามารถในการหา นั่นคือปัญหาอันยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้น เป็นความไร้วินัยทางการเงิน

ซึ่งในท้ายที่สุด ทุกฝ่ายรวมถึงประชาชนแต่ละคน ก็ต้องกลับมายึดวินัยทางการเงิน ต้องประหยัด พึ่งตนเอง หางานทำ ทำงานทุกอย่างๆตั้งใจ

ย้อนกลับมาถึงประเทศไทย เรายึดหลักเศรษฐกิจตลาดเสรี หรือ Free Market คือเราปล่อยให้กลไกตลาดเป็นเครื่องตัดสิน หากเศรษฐกิจเรามีความแข็งแกร่ง ค่าเงินบาทก็จะแข็งแกร่งตาม ทำให้เกิดแนวโน้มที่จะใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย มีการนำข้าสินค้าจำนวนมาก ซึ่งประชาชนอาจไม่รู้ว่า เงินที่ไหลเข้าประเทศนั้น อาจเป็นเงินที่ไหลเข้าและออกอย่างง่ายๆ จะไปหวังพึ่งอะไรในระยะยาวไม่ได้

ทางที่ดีประชาชนแต่ละครอบครัว ต้องรู้จักวินัยทางการเงิน และเรียนรู้เศรษฐกิจ อย่างน้อยจากส่วนที่ใกล้ตัวเองให้ถ่องแท้ พร้อมกันนี้ก็ยึดหลักเศรษฐกิจพื้นฐานอย่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงให้คำแนะนำไว้ คือ เศรษฐกิจพอเพียง หรือ Sufficiency Economy ขอเราท่านลองสำรวจหลักง่ายๆต่อไปนี้

1. หากแต่งงานมีครอบครัว ต้องช่วยกันหารายได้ทั้งสองคน (Working couple) คือทั้งสามีภรรยามาสร้างอนาคตร่วมกัน ในโลกยุคปัจจุบัน จะเป็นการยากที่จะอาศัยรายได้จากเพียงหนึ่งคนในครอบครัว หากภรรยาทำงานนอกบ้านได้ ก็เป็นการดี ไม่เสียหาย หากต้องอยู่บ้าน ก็ยังเลือกที่จะทำงานแบบอยู่กับบ้านได้ ลองศึกษาเรื่อง Telecommuting ดู

2. การกินอยู่ ใช้จ่ายอย่างประหยัด (Saving habits) นั้น กระทำได้ในเกือบจะทุกเรื่อง ลองบันทึกรายรับจ่ายจ่ายอย่างละเอียดดูสัก 1-2 เดือน แล้วลองวิเคราะห์ดูว่ามีอะไรที่จะประหยัดลงได้อีกบ้าง เราจะพบว่ามีอีกมากที่จะประหยัดได้

3. ยึดหลักอย่าใช้จ่ายเกินกว่าที่หาได้ (Financial discipline) หากทำได้เก็บเงินส่วนได้สักร้อยละ 15 เพื่อหลักประกันในอนาคต ยึดหลัก ทำเมื่อดีไว้กินเมื่อไข้ ทำเมื่อหนุ่มไว้กินเมื่อแก่

4. หากมีเงินเหลือ (Savings) อย่าเพียงคิดเก็บหรือฝากเงินกับธนาคาร เพราะยามเศรษฐกิจอืด ดอกเบี้ยก็ต่ำ ยามเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยสูง แต่ค่าของเงินก็ลดลง เศรษฐกิจก็ผันผวน จึงควรลองเลือกลงทุนทำธุรกิจขนาดเล็ก หนึ่งในสองคนสามีภรรยาลองไปทำก่อน ทำในสิ่งที่เรารักและมีทักษะพิเศษ หากสำเร็จก็ค่อยขยายใหญ่

5. หากมีเงินเหลือ เลือกลงทุนเพื่ออนาคตของชีวิต (Investments) ทำกิจการเองได้ ก็ให้เรียนรู้ที่จะทำ อย่าหวังเป็นเพียงมนุษย์เงินเดือน (Salary Man) กันทั้งสองคน เพราะหากเศรษฐกิจไม่ดี ตกงาน ก็ตกงานกันทั้งสองคน

6. หากจะมีรถยนต์ (Cars) รถยนต์มีเอาไว้เพื่อการเดินทาง ก็ต้องถามว่าเรามีเพื่ออะไร หากเพียงเพื่อหน้าตา ก็คิดใหม่ เพราะรถจะทำให้มีค่าใช้จ่ายตามมาอีกมาก รถยนต์นั่ง อย่างถูกๆ ก็ราคาครึ่งล้านบาท คิดค่าเสื่อมค่าใช้จ่าย ปีหนึ่งๆ ก็จะมีมูลค่าลดลงร้อยละ 10-12 ก็คิดเป็นมูลค่าปีละ 5-6 หมื่นบาท ไม่นับค่าน้ำมันรถ

7. หากจะมีบ้านหรือที่พัก (Home & residence) หากจะต้องมีเป็นของตนเอง หรือต้องเช่านั้นไม่แปลก สำคัญที่โดยรวมแล้วมีผลทางเศรษฐกิจอย่างไร หากมีบ้านแล้วต้องใช้เวลาเดินทางไปทำงานกันวันละ 2-3 ชั่วโมง หรือ ใช้เช่าหรือมีบ้านเล็กๆใกล้ที่ทำงานได้หรือไม่ ต้องคิดถึงภาพรวมของที่พักอาศัยไปพร้อมกันด้วย

8. ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน (the age of uncertainty) โลกธุรกิจปัจจุบัน ยุค "ผีเสื้อกระพือปีก" วิกฤติในที่หนึ่งกระทบไปไกลทั่วโลก เราทุกคนต้องเตรียมพร้อมต่อความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น ต้องมองอย่างเลวร้ายที่สุดว่า เราจะปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอย่างไร อย่าไปเชื่อมั่นในอะไรว่าจะมีความแน่นอนไปได้ตลอดไป

9. เรียนรู้ เปิดตาเปิดใจเพื่อรับสิ่งใหม่อยู่เสมอ (Lifelong learning) อายุเราอาจเพิ่มขึ้น แต่เราจะผจญกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ งานอาจมีความมั่นคงลดลง คนอยากจ้างคนรุ่นใหม่ที่เงินเดือนถูกกว่า แต่ขณะเดียวกัน งานและประสบการณ์ที่เราทำอาจเป็นสิ่งดีๆที่มีคุณค่า หากเรารู้จักพัฒนาตนเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ

สุดท้ายนี้ หากท่านใดมีข้อแนะนำที่พร้อมจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ก็ช่วยกันส่งความคิดเห็นมา หรือแจ้งให้ทราบว่าได้นำเสนอที่ไหนและอย่างไรนะครับ เรามาแบ่งปันกัน

ขอบคุณครับ

No comments:

Post a Comment