Saturday, May 11, 2013

ทางเลือกของการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก


ทางเลือกของการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: บันทึกการศึกษา, education diary, การศึกษา, education, การปฏิรูปการศึกษา, education reform, การศึกษาทางเลือก, alternative education, โรงเรียนขนาดเล็ก, small schools, rural schools

ความนำ


ภาพ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

จากข่าว “พงศ์เทพ - จ่อยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่ไร้ความจำเป็นเดลินิวส์-การศึกษา, วันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2556 เวลา 11:56 น.

"พงศ์เทพ" จ่อยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่ไร้ความจำเป็นต้องคงอยู่ หากพบมีนักเรียนจำนวนน้อยไร้คุณภาพ และมีโรงเรียนดีใกล้เคียงรองรับ ถือว่าอยู่ในข่ายยุบได้ทันที

วันนี้ (8พ.ค.) นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ  เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศเพื่อรับฟังนโยบายเตรียมความพร้อมรับเปิดภาคเรียน 2556 ว่า  ตนได้มอบนโยบายเกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็กให้ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา นำไปดำเนินการ   โดยถ้าโรงเรียนขนาดเล็กแห่งใดอยู่ในข่ายไม่จำเป็นต้องคงอยู่ก็ให้ยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กแห่งนั้น   โดยโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในข่ายควรยุบรวมจะเป็นโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยมาก  เป็นโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพและมีโรงเรียนใกล้เคียงที่มีคุณภาพรองรับ

ก่อนที่พ่อแม่ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปจะโกรธนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ  ที่มีข่าวว่าจะปิดโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหลาย เราลองตัดเรื่องอารมณ์ทั้งหมดออกก่อน แล้วศึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษากันสักเล็กน้อย

ในโลกนี้และรวมถึงประเทศไทย ไม่มีอะไรเป็นของฟรี ที่เราได้เรียนฟรีในโรงเรียนของรัฐ หรือไปรักษาฟรีตามสถานอนามัยหรือโรงพยาบาลของรัฐนั้น แท้จริงคือเงินของเราที่ได้จ่ายเป็นภาษีอากรแก่รัฐ หรือเป็นเงินที่จ่ายโดยทางอ้อม กล่าวคือ รัฐบาลเก็บภาษีจากผู้ประกอบการ แล้วผู้ประกอบการก็มาเพิ่มเข้าไปในค่าบริการหรือราคาสินค้า ท้ายสุดจึงไม่มีอะไรเป็นของฟรี

ค่าใช้จ่ายทางการศึกษา

ก่อนที่จะใช้อารมณ์ ก็ลองใช้เวลาศึกษาข้อมูล และกลั่นกรองข่าวสารอย่างยังไม่ต้องตัดสินผิดถูก โรงเรียนขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ล้วนมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น และในค่าใช้จ่ายนั้นมาจากงบประมาณแผ่นดินเป็นส่วนใหญ่ เรายังไม่มีวัฒนธรรมและวิธีปฏิบัติที่ให้ท้องถิ่นเข้ามาเป็นเจ้าของจัดการศึกษาในท้องถิ่นของตน เหมือนดังที่เป็นในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ

รายการค่าใช้จ่ายของโรงเรียนขนาดเล็กที่จะต้องเกิดขึ้น โดยคิดเป็นมูลค่าแท้จริงต่อปี

โรงเรียนขนาดเล็ก หมายถึงโรงเรียนที่มีผู้เรียนในแต่ละปีน้อยกว่า 60 คน ตามเกณฑ์ที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอให้ปิด ทั้งนี้โดยคิดตามเกณฑ์จำนวนผู้เรียน ตามความหมายแท้จริง โรงเรียนขนาดเล็กแท้จริงคือมีผู้เรียน 120 คนหรือน้อยกว่า

No.
รายการ
หน่วยละ
จำนวน
บาท
ร้อยละ
1
อาคาร ค่าเช่า
50,000
12
600,000
23.7
2
ครู-ผู้บริหาร (5)
28,000
60
1,680,000
66.3
3
พนักงาน-ภารโรง (2)
6,000
24
144,000
5.7
4
ไฟฟ้า-น้ำ
4,000
12
48,000
1.9
5
วัสดุ-อุปกรณ์
50,000
1
50,000
2.0
6
อินเตอร์เน็ต
1,000
12
12,000
0.5
2,534,000
100.0

คำอธิบาย -

รายการที่ 1 ค่าอาคารสถานที่ โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่มีสถานที่พร้อมอยู่แล้ว และด้านอาคารนั้น ไม่ว่าจะมีผู้เรียนเท่าใด แต่ทุกโรงเรียนจะมีความเสื่อมโทรมเกิดขึ้นทุกปี คิดได้ปีละ 5-10% ของมูลค่าอาคาร ต้องมีงบประมาณซ่อมแซมเกิดขึ้นทุกปี ค่าเช่าสถานที่เหมารวมทั้งที่ดิน สนามหญ้า เดือนละ 50,000 บาท หรือปีละ 600,000 บาท ถือเป็นประมาณการราคากลางสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กมาตรฐานในชนบทของไทย

รายการที่ 2 ครูและผู้บริหารแบบราชการ มีการกำหนดอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทน รวมสวัสดิการอยู่แล้ว ปัจจุบันเงินเดือนขั้นต่ำได้เพิ่มขึ้นเป็น 15,000 บาท/เดือน แต่ต้องมีการปรับขั้นเพิ่มขึ้นทุกปี ครูและผู้บริหารให้คิดเป็นรายเฉลี่ยรวมเดือนละ 28,000 บาท จ่ายทุกเดือน จำนวน 5 คน ฝ่ายบริหารก็รวมอยู่ในกลุ่มนี้

รายการที่ 3 พนักงาน-ภารโรง ผู้ทำหน้าที่ดูแลความสะอาด ตัดหญ้า ดูแลระบบน้ำและไฟฟ้า ซ่อมแซมเล็กๆน้อยๆ จำนวน 2 คน คิดอย่างต่ำเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน หรือเดือนละ 6,000 บาท

รายการที่ 4 ไฟฟ้า-ประปา คิดเหมารวม เดือนละ 4000 บาท คิด 12 เดือน
วัสดุ-อุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ กระดาษ หนังสือ ซอฟต์แวร์ เหมารวมปีละ 50,000 บาท รายกการนี้อาจมีสูงกว่านี้ หากต้องจัดหาคอมพิวเตอร์ให้เพียงพอแก่ผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ, Laptops, Tablets เหล่านี้คำนวณอายุการใช้งานที่ไม่เกิน 4 ปี

รายการที่ 5 อินเตอร์เน็ต ใช้แบบ WiFi ระบบ ADSL เดือนละ 1,000 บาท หรือปีละ 12,000 บาท จะใช้บริการจากที่ไหน ก็ราคาใกล้เคียงกัน ข้อสำคัญต้องให้มีในทุกโรงเรียนขนาดเล็ก

ค่าใช้จ่ายโดยรวมประมาณ 2,534,000 บาท ซึ่งจะไม่แปรผันไปตามจำนวนผู้เรียน ลองดูที่ตัวเลขค่าใช้จ่ายประมาณการ อย่างที่เอกชน แบบที่ฝ่ายสินเชื่อธนาคารเขาใช้เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเวลาปล่อยเงินกู้ คือคิดความเป็นไปได้ในความคุ้มกับเงินลงทุนเป็นหลัก

ลองเอาจำนวนนักเรียนในโรงเรียนเป็นตัวตั้ง แล้วคิดค่าใช้จ่ายรายหัวประมาณการ

1.    หากมีผู้เรียน 60 คน คิดอัตราส่วนครู/อาจารย์ต่อผู้เรียน เท่ากับ 1:12 ค่าใช้จ่ายต่อหัวผู้เรียน 42,333 บาท/ปี

2.    ผู้เรียน 50 คน = คิดอัตราส่วนครู/อาจารย์ต่อผู้เรียน เท่ากับ 1:10 ค่าใช้จ่ายต่อหัวผู้เรียน 50,680 บาท/ปี

3.    ผู้เรียน 40 คน = คิดอัตราส่วนครู/อาจารย์ต่อผู้เรียน เท่ากับ 1:8 ค่าใช้จ่ายต่อหัวผู้เรียน 63,350 บาท/ปี เท่ากับส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนเอกชนชั้นดีในเมืองใหญ่ ซึ่งไม่ได้ใช้วัสดุอุปกรณ์ของรัฐเลย หรือเรียนในหลักสูตรนานาชาติ หรือ English Program – EP ในโรงเรียนมัธยมศึกษาของรัฐ

4.    ผู้เรียน 30 คน = คิดอัตราส่วนครู/อาจารย์ต่อผู้เรียน เท่ากับ 1:6 ค่าใช้จ่ายต่อหัวผู้เรียน 84,467 บาท/ปี เท่ากับส่งลูกไปเรียนในหลักสูตรนานาชาติ (International program)

สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่ 120 คนขึ้นไป คำนวณต้นทุนแท้จริงที่ 24,000-25,000 บาท/ปี ถือเป็นมาตรฐานที่รับได้ สำหรับค่าใช้จ่ายที่เมื่อผู้เรียนลดลง แล้วจำนวนบุคลากรไม่ได้ลดลงนั้น เกิดขึ้นเพราะ โรงเรียนในประเทศไทยมีการแบ่งเป็นชั้นปี (Graded schools) จะมีให้สมบูรณ์และคุ้มกับการมีปีละ 1 ชั้นเรียน

สูตรการคิด ที่ชั้นเรียนละ 25 คน X  ห้อง ก็ต้องมีนักเรียน 150 คน แต่หากมีจำนวนผู้เรียนน้อยกว่านี้ ก็ต้องยุบชั้นเรียนมารวมกัน เช่น ป 1 และ ป 2 รวมกัน; 3 และ ป 4 รวมกัน ส่วนชั้นประถมปลาย ป 5 และ ป 6 ครูต้องมีทักษะวิชาการ และความเชี่ยวชาญในเนื้อหาเพิ่มขึ้นในรายวิชา เช่นวิชา คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, ภาษาอังกฤษ, คอมพิวเตอร์และทักษะ ICT เป็นต้น

แต่หากระบบโรงเรียนเลือกใช้แนวทางโรงเรียนไม่มีระบบชั้นเรียน (Non-graded school system) แล้วลดจำนวนครูประจำชั้นลง ก็สามารถกระทำได้ แต่ต้องมีการฝึกอบรมครู ตลอดจนการพัฒนาทักษะการสอนในอีกแบบหนึ่ง

ข้อมูลที่แน่ชัด

จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทย

ตัวเลขโรงเรียนขนาดเล็กที่ต่ำกว่า 120 คน และต่ำกว่า 60 คนยังไม่ได้มีการสำรวจล่าสุด หรือมีแล้วแต่ไม่ได้แจ้งในประชาชนทราบ ข้อมูลที่กระทรวงศึกษาแสดงไว้นั้นล่าสุดเป็นปีพ.ศ. 2546 ซึ่งล้าหลังไปสัก 10 ปี

แต่จากข้อมูลคนในวงใน โรงเรียนขนาดเล็กที่มีผู้เรียน 120 คนหรือต่ำกว่า น่าจะอยู่ที่ประมาณ 17,000-18,000 โรงเรียน และโรงเรียนที่มีผู้เรียน 60 คนหรือต่ำกว่า จะมีอยู่ประมาณ 7,000 – 8,000 โรงเรียน จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กที่มีคนเรียน 60 คนหรือต่ำกว่า จะยิ่งเพิ่มขึ้นด้วย

ประชาชนย้ายไปอยู่ในเมือง (Urbanization) ชุมชนคนชนบทลดลง ปัจจุบันตามสถิติ ประเทศไทยมีคนในภาคชนบทร้อยละ 65 แต่ในข้อเท็จจริง มีคนที่ย้ายไปทำงานในเมืองเพิ่มมากขึ้น หรือไปอยู่ในชุมชนที่มีแหล่งงานมากขึ้น ในอีกไม่นานเกิน 20 ปี สัดส่วนจะเปลี่ยนเป็นคนอยู่ในเมืองร้อยละ 65-70 ส่วนคนในภาคชนบทจะลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 35

อัตราการเกิดของประชากรลดลง (Lower population growth rate) ปัจจุบันลดลงเหลือ 0.6 ต่อปี จากที่เคยสูงที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประมาณ 3.4 - 4.1 ต่อปี หรือเทียบเท่ากับ 1 ใน 3 ของประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นสมาชิกชาติอาเซียนด้วยกัน เมื่อประชากรลดลง จำนวนเด็กที่มีในโรงเรียนประถมศึกษาก็จะลดลงตามไปด้วย

ปัญหาที่โรงเรียนมีผู้เรียนลดลงเหลือ 20-30 คนนั้นมีจริง และโรงเรียนเหล่านี้มีผู้บริหารระดับ “ผู้อำนวยการ” (Director) รับเงินเดือน 35,000 บาท และครูเริ่มต้นที่เงินเดือน 15,000 บาท ก็มีให้เป็นจริงๆ และโรงเรียนขนาดเล็กนี้มีบุคลากรทางการศึกษา 6-7 คน ก็มีอยู่จริง

การศึกษาของชาติมีปัญหาจริงๆ และต้องมีการศึกษาเพื่อหาทางแก้ไข

ใครมีอำนาจสั่งปิด


ดร. ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.)

หากจะต้องปิดโรงเรียนขนาดเล็ก ใครมีอำนาจสั่งปิด

โดยตามกฎหมายการศึกษาของไทย อำนาจสั่งปิดโรงเรียนเป็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยการได้รับความเห็นที่เสนอมาตามลำดับ เริ่มตั้งแต่ท้องที่ ผู้อำนวยการโรงเรียนนั้นๆ และเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งมีอยู่ประมาณ 180 แห่งทั่วประเทศ การที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการออกมาให้ข่าวว่าเห็นด้วยกับการปิดโรงเรียนขนาดเล็กส่วนหนึ่งนั้น เขาก็มีอำนาจหน้าที่ๆจะกระทำได้ และการส่งสัญญาณว่ามีนโยบายให้ปิด ก็มีเหตุผลในเชิงตัวเลข แต่ในทางปฏิบัติ ผอ. เขตพื้นที่การศึกษา ก็ต้องนำนโยบายนี้ไปตั้งคณะทำงานร่วมกับคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากประชาชนทั่วไป

ในทางปฏิบัติจริง ฝ่ายบริหารการศึกษาท้องถิ่น ต้องทำประชาพิจารณ์ (Public hearing) กับผู้นำและประชาชนในท้องที่นั้นๆ และต้องมีการศึกษาถึงทางเลือก (Alternatives) ให้แน่ชัดเป็นแต่ละเขต และแต่ละโรงเรียนไป เพราะการปิดโรงเรียน ก็ยังไม่ใช่การลดค่าใช้จ่ายแท้จริง โดยครูในส่วนที่เป็นข้าราชการนั้น จะไปปลดเขาออกไม่ได้ทันที ต้องรอให้เกษียณอายุ แล้วไม่มีการบรรจุกำลังคนเข้าทดแทน ส่วนจะกระทำได้ทันที คือเพียงการย้ายครูและบุคลากรในโรงเรียนที่มีคำสั่งปิด ให้ไปทำงานในโรงเรียนอื่นๆ

ในต่างประเทศดังในสหรัฐอเมริกา การจะเปิดโรงเรียนเพิ่มขึ้น เกี่ยวข้องกับการผูกพันงบประมาณค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายระยะยาวอื่นๆ ก็ต้องไปทำประชามติ (Referendum) เพราะท้ายสุดมันจะต้องไปบวกในภาระค่าใช้จ่ายด้านภาษีบำรุงท้องที่ๆจะต้องเก็บเพิ่มขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง การจะสั่งปิดโรงเรียนนั้นเป็นเรื่องในท้องที่นั้นๆ เพราะเมื่อมีประชาชนย้ายออก ฐานภาษีรายได้ลดลง เขาก็ต้องหาทางตัดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง การจะปิดโรงเรียนจึงเป็นเรื่องที่ต้องปรึกษาหารือกับท้องที่อยู่แล้ว

ทางเลือกในการตัดสินใจ

ทางเลือกในการจะปิดหรือจะเปิดโรงเรียนนั้นเป็นส่วนการผูกพันด้านบริการการศึกษา จะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผล ทำให้เด็กๆและเยาวชนได้รับการศึกษามีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมกันอย่างไร โดยทั่วไป โรงเรียนขนาดเล็กจะมีต้นทุนทางการศึกษาสูงกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่กว่า แต่จะไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป กล่าวคือ เมื่อมีการยุบโรงเรียน สิ่งที่จะตามมาคือการต้องมีระบบขนส่งนักเรียน หรือ School busing มารองรับ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากๆ

การจะตัดสินใจในทิศทางใดๆ ก็ต้องมีการศึกษาทางเลือก และผลกระทบให้ชัดเจน

     การมีระบบขนส่งรองรับ

หากมีการขนส่งนักเรียน (Busing system) ขึ้นมาเมื่อใด ก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง คิดง่ายๆ คือกิโลเมตรละ 2 บาท/คน สมมุติว่าเด็กโดยเฉลี่ย 1 คนอยู่ห่างโรงเรียน 5 กิโลเมตร เดินทางไปกลับวันละ 2 ครั้ง/วัน ปีการศึกษาละ 220 วัน คิดเป็นระยะทางรวม 2200 กิโลเมตร คิดเป็นเงินค่าเดินทาง 4,400 บาท ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กจะไม่มีค่าใช่จ่ายด้านนี้ นอกจากนี้ เมื่อเด็กจำนวนหนึ่งได้สิทธิในการรับค่าเดินทางไปโรงเรียน ความจริงจะพบว่ามีเด็กอื่นๆที่ยังไม่ได้รับสิทธิ แต่อยู่ห่างจากโรงเรียนในระดับเดียวกันหรือมากกว่าอีกหลายๆคน ซึ่งรัฐบาลก็ต้องพิจารณาให้เกิดความเป็นธรรม และจะกลายเป็นการเรียกร้องสิทธิที่จะตามมาอีกมากมาย เป็นผลกระทบแบบลูกโซ่

     การจัดระบบการศึกษาใหม่

การจัดระบบการศึกษาใหม่ ปรับปรุงให้โรงเรียนขนาดเล็กมีกิจกรรมการศึกษาที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น (Quality Improvement) นักเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองได้รับบริการการศึกษาที่ดี ไม่ต่างจากโรงเรียนขนาดใหญ่ ทั้งนี้อาจใช้นวตกรรมที่หลากหลาย ตามแต่ความเหมาะสม เช่น
·      
การสลับครูอาจารย์ที่มีคุณภาพ ให้เดินทางไปสอนเสริมให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก (Teacher commuting) ซึ่งทางระบบการศึกษาก็ต้องไปพิจารณาการมีงบประมาณด้านการเดินทางของครูที่ต้องขับรถ หรือขี่จักรยานไปสอนในที่อื่นๆ
·       
การขนส่งให้นักเรียนได้ไปเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่กว่า ในบางสายวิชา เป็นครั้งคราวไป (Student commuting) ซึ่งเป็นกิจกรรมในบางห้อง บางวิชา ไม่ใช้ทุกวัน
·      
การใช้ระบบการศึกษาออนไลน์เข้าช่วย (ICT for Education) ซึ่งต้องไปเน้นที่มีเครื่องมือใช้สอยด้าน ICT อาจเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ การส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมีคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว (Notebooks, laptops) คอมพิวเตอร์แบบแทบเล็ต (Tablet PCs)
·       
การลดตำแหน่งผู้บริหารของโรงเรียนขนาดเล็ก (Cluster schools) และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบโรงเรียนร่วม เหมือนธนาคารที่เขามีสาขาที่ต้องมีขนาดใหญ่ระดับหนึ่ง แต่ Kiosks เป็นแผงบริการแลกเปลี่ยนและบริการเงินตรา หรือการเปิดตู้บริการเงินอัตโนมัติ (Automatic Telling Machines- ATM) นั้นสามารถกระทำได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่สามารถให้บริการที่ดีขึ้นรองรับได้

     การส่งเสริม “โรงเรียนชุมชน”

การปรับโรงเรียนของรัฐบาลกลาง (Central government) ไปสู่การเป็นโรงเรียนของท้องถิ่นและชุมชน
วิธีการที่จะทำได้มีอีกแบบหนึ่ง คือการปรึกษากับชุมชน เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล วัด หมู่บ้าน หรือชุมชน ให้เข้ามาดูแลการศึกษา โดยทางรัฐบาลผ่านกระทรวงศึกษาธิการ และเขตพื้นที่การศึกษาจัดเงินให้ในรูปค่าใช้จ่ายสนับสนุนการศึกษาในแบบเหมาจ่ายเงินสนับสนุนการศึกษาแบบรายหัว (Cost Per Head) ส่วนท้องที่รับโอนไปดำเนินการเอง ซึ่งเขาอาจหารายได้ส่วนอื่นๆมาเสริมเพิ่มขึ้นได้

การให้ท้องถิ่นดูแล หมายความว่า ให้เขามีความเป็นอิสระที่จะจัดการศึกษาให้ได้อย่างมีคุณภาพ ตามมาตรฐานที่กำหนด แต่ในการบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป ให้เขาไปดำเนินการเอง เขาอาจจ้างครูและบุคลากรทางการศึกษาในอีกแบบหนึ่ง อาจหาอาสาสมัครในชุมชนมาช่วยกันจัดการเรียนการสอนได้ หากการใช้สถานที่ไม่คุ้มกับโอกาสและค่าใช้จ่าย ชุมชนอาจขยายบริการการศึกษาไปสู่เรื่องอื่นๆ เช่นการศึกษาผู้ใหญ่ การพัฒนาอาชีพ การดูแลสุขภาพประชาชน หรือพัฒนาเป็นแหล่งสร้างรายได้ เพื่อนำมาสนับสนุนการศึกษาอื่นๆ

บทสรุป

การจะปิดหรือจะเปิดโรงเรียน ต้องไม่พิจารณาค่าใช้จ่ายเพียงในด้านของโรงเรียน แต่ต้องไปพิจารณาโอกาสและค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ ชุมชน เพราะมันมีเรื่องของค่ารับส่งนักเรียน ค่าเดินทางของครูอาจารย์ ตลอดจนค่าเสียเวลาของพ่อแม่เข้ามาเกี่ยวข้อง และขณะเดียวกัน อย่ามองว่าเป็นปัญหา เพรามันเป็นโอกาสของท้องถิ่นที่จะได้มีวิธีการคิดและสร้างทางเลือกในการพัฒนาตนเองด้วย

จุดหมายของการปรับปรุงระบบการศึกษา ที่สำคัญที่สุด คือการจัดการศึกษาสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก ทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ให้ได้มีคุณภาพที่ทัดเทียมกัน ทั้งนี้ให้คิดถึงโอกาสที่จะใช้นวตกรรมใหม่ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา การมีอาคารสถานที่อยู่ในชุมชน หรือใกล้ชุมชนที่เป็นของสาธารณะนั้นก็เป็นโอกาสที่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่จะไปคิดสร้างสรรค์อย่างไรที่จะใช้ประโยชน์ให้ได้เต็มที่

ข้อชวนคิด หากมองในแง่ดี การที่เสนอว่าจะปิดโรงเรียนขนาดเล็ก แล้วประชาชนแบบไม่เลือกสี กลับหันมาถล่มรัฐบาลนั้น ต้องถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ประชาชนเริ่มหันมาคิดด้านค่าใช้จ่าย

บางคนไปเปรียบเทียบกับงบประมาณ 7 ล้านบาทที่จ่ายให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบ; ค่าใช้จ่ายดูแลหมีแพนด้า 1 ตัวในหนึ่งปีเท่ากับ 30 ล้านบาท; ค่าจ่ายเงินสนับสนุนซื้อรถยนต์คันแรกถึงคันละ 100,000 บาท กับจำนวนรถนับแสนๆคัน; งบประมาณสนับสนุนรับจำนำข้าวที่ไม่มีคนมารับถ่ายคืนอีก 350,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งอาจมีการสูญเสียไปเกือบร้อยละ 50; หรืองบประมาณการพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูง (High Speed Rail System – HSR) ถึง 2,000,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับการลงทุนเพื่อการศึกษา ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่สำคัญที่สุด และใช้เงินน้อยกว่า แต่รัฐบาลกลับไม่เห็นความสำคัญ

ภาพ นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กมีความหลากหลาย ดังในภาพ เป็นนักเรียนลูกหลานชาวเขา มีข้อจำกัดด้านการเดินทางในที่กันดาร


ภาพ ระบบขนส่งนักเรียนในเขตชนบท ก็มีความแตกต่างจากรถรับส่งนักเรียนของโรงเรียนเอกชนในเขตเมิองใหญ่


ภาพ ในโรงเรียนในเขตเมือง จะมีจำนวนผู้เรียนมาก สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า


ภาพ การจัดการศึกษาในโรงเรียนชนบท มักจะมีข้อจำกัดในหลายๆด้าน





No comments:

Post a Comment