เรียนรู้ศัพท์ที่เกี่ยวกับการจบการศึกษา (Graduation)
ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia, the
free encyclopedia
Keywords: การศึกษา, การอุดมศึกษา, ปริญญา,
ชุดครุย, บัณฑิต, graduate, การจบการศึกษา, graduation,
ผู้เตรียมตัวจบการศึกษา, graduan, ชุดครุย,
เสื้อครุย, gown, robe, regalia, hood, cap,
ภาพ ครุยปริญญาเอกของมหาวิทยาลัย Oxford University, สหราชอาณาจักร
ภาพ พิธีจบการศึกษา ของมหาวิทยาลัยแคนเทอเบอรี่
(Academic procession during
the University of Canterbury graduation ceremony)
ความนำ
ในกระบวนการของการศึกษาขั้นอุดมศึกษา
(Higher Education) นั้น
เริ่มตั้งแต่การรับเข้าศึกษา (Admission) การปฐมนิเทศการศึกษา
(Orientation) การเรียนการสอน (Education and
training) การออกกลางครัน การไม่สามารถจบการศึกษาตามเงื่อนไข (Retirement)
และการจบการศึกษา (Graduation)
ซึ่งก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข
การจบการศึกษา หรือ Graduation เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียน นิสิต หรือนักศึกษาได้รับการประสาทปริญญา (Academic
degree) ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่บางทีเกี่ยวกับการที่นักศึกษาจะกลายเป็น
“บัณฑิต” (Graduates) แต่ยังไม่ได้เข้าร่วมในพิธีประสาทปริญญา ฝรั่งเขาเรียก “Graduand” อ่านว่า “แกรดูแอนด์” ซึ่งไม่ค่อยมีการใช้กันทั่วไปนัก
ส่วนวันที่มีพิธีรับปริญญานั้น เขาเรียก Graduation day ซึ่งอาจมีการเรียกในชื่ออื่นๆ
เช่น commencement (อ่าน คอมเมนซเมนท์), ในสหรัฐอเมริกา จะพบการใช้คำนี้ค่อนข้างมาก
หรือ convocation (อ่าน คอนโวเคชั่น) หรือ invocation (อ่าน อินโวเคชั่น)
ซึ่งเป็นคำที่ไม่ค่อยคุ้นกันสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองทั่วไป
ในประเทศไทย เรามีพิธีรับปริญญาบัตร
และหากเป็นการรับจากพระเจ้าอยู่หัว ดังในสมัยก่อน ที่มหาวิทยาลัยมีน้อยแห่ง
และมีบัณฑิตจบการศึกษาแห่งละปีละไม่กี่คน จะเป็นการรับตรงจากพระหัตของพระมหากษัตริย์
หรือดังในปัจจุบัน เมื่อมีสถาบันการศึกษามากขึ้น
มีผู้จบการศึกษาในแต่ละแห่งมากขึ้น ก็ปรับเป็นการรับจากพระราชวงศ์
ผู้ทำหน้าที่แทนองค์พระมหากษัตริย์ เราจะเรียกพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
ในยุโรป เขามีมหาวิทยาลัยยุคใหม่มา 800-900
ปีแล้ว มีประวัติและประเพณีอันเกี่ยวกับการศึกษาขั้นสูงนี้ ตั้งแต่การใช้ชีวิตศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัย
การแต่งกาย ความสัมพันธ์กับครูอาจารย์ และส่งทอดมาจนถึงในพิธีการรับปริญญา
ภาพ ในงานพิธีจบการศึกษา Commencement Day ของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ที่เห็นจะเป็นผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาเอก
ภาพ ครุยดุษฎีบัณฑิต McGill University's scarlet, Ph.D. ประเทศแคนาดา เป็นแบบตามประเพณีมาแต่ศตวรรษที่ 19 (regalia dates back to the early 19th century.)
ภาพ ในงานพิธีทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
(Oxford University) ผู้เตรียมตัวรับปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิต
(DPhil) ใส่ชุดสีน้ำเงิน ส่วนหมวก (Cap) เขาเรียกอย่างล้อเลียนว่า “Mortar-board” หรือที่ป้ายปูนของช่างปูนในงานก่อสร้าง
ส่วนเสื้อครุย เขาเรียก Robe หรือ Gown
ในภาษาไทย เราเรียกเสื้อครุย
อีกส่วนหนึ่งที่มักจะเป็นส่วนประกอบของชุดปริญญา
คือ Hood อันเป็นเหมือนถุงผ้าคลุมศีรษะ
ในประเทศต่างๆในยุโรป อากาศหนาว เขาจะมีชุดแต่งกายที่เป็นเหมือนถุงผ้า
เอาไว้คลุมศีรษะในชุดครุยวิชาการปัจจุบัน เขาก็ยังคงมีส่วน Hood นี้อยู่ แต่เขาไม่ได้ใส่ แต่แขวนแบบให้ถุงนั้นห้อยไปทางด้านหลัง โดย Hood
นี้มีลักษณะสีและทรงที่เป็นไปตามระเบียบของทางมหาวิทยาลัย
ในประเทศไทย มีอากาศร้อน
การแต่งกายทางวิชาการของไทย จึงมีการประยุกต์ ใช้ผ้าบางเบา โปร่ง
เพื่อไม่ให้ร้อนเกินไป ดังดูได้จากครุยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และมีแห่งอื่นๆบางส่วนใช้เครื่องแบบครุยในแนวนี้
ภาพ
การฉลองพระองค์เป็นครุยต้นแบบของรัชกาลที่ 6 อันเป็นครุยต้นแบบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพ ครุยปริญญาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แต่อย่างไรก็ตาม
มีมหาวิทยาลัยอื่นๆ เริ่มที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้ครุยที่จำลองมาจากต่างประเทศ
เช่นเดียวกับชุดของผู้พิพากษา ทนายความ
ที่ต้องว่าความในศาลก็ใช้ครุยในลักษณะดังกล่าวนี้
ภาพ ในพิธีจบการศึกษา บรรดาอาจารย์ที่จบการศึกษาจากต่างสถาบันกันมา
ก็จะแต่งตัวตามสถาบันที่จบการศึกษานั้นๆมา ชุดที่แต่งเขาเรียกอีกแบบได้ว่า Doctoral
regalia หรือ เครื่องกกุธภัณฑ์ระดับปริญญาเอก ภาพที่ถ่ายจาก Worcester
Polytechnic Institute ในรัฐแมสซาชูเสทส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (Massachusetts,
USA)
ภาพ ชุดครุยดุษฎีบัณฑิต Doctor of Philosophy มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ (Surindra Rajabhat University - SRRU) สุรินทร์
ภาพ ในประเทศฟิลิปปินส์ (Philippines)
อากาศจะร้อนและอบอ้าวคล้ายประเทศไทย
มหาวิทยาลัยของเขาเป็นในแบบของสเปน ยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา
แต่ในด้านเครื่องแต่งกายชุดรับปริญญา เขาไม่มีเสื้อครุย
แต่ใส่แถบแสดงสัญญลักษณ์แทน
ภาพ พิธีรับปริญญาบัตร (Commencement Day) ของมหาวิทยาลัยในประเทศฟิลิปปินส์ คล้ายๆในสหรัฐอเมริกา คือใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัย แต่ใช้กลางแจ้ง ส่วนการแต่งชุดปริญญา จะเป็นแบบใส่แถบ
ชุดครุยทางวิชาการ
ภาพ การแต่งกายของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ชาวยุโรป ผู้ค้นพบทวีปอเมริกา ก็แต่งกายในลักษณะใกล้เคียงกับครุยปริญญาในปัจจุบัน
ภาพ การแต่งกายของมาร์โค โปโล นักเดินทางจากยุโรป มายังดินแดนในเอเซีย ก็มีเครื่องแต่งกายไม่ต่างจากชุดปริญญา (Academic Regalia) ในปัจจุบันของตะวันตกมากนัก
ยุคของการมี และไม่มีเครื่องแบบ
ในสมัยใหม่ การไปศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยในหลายประเทศและหลายๆมหาวิทยาลัย
เขาไม่ได้มีการแต่งเครื่องแบบไปเรียนกันมากขึ้น เพียงแต่แต่งกายตามสมัยนิยม
แต่งให้สุภาพ ซึ่งก็ตีความได้หลากหลาย เช่น ผู้ชายใส่เสื้อมีคอปก
แม้เป็นเสื้อยืดก็ถือว่าสุภาพ ส่วนรองเท้า ใส่รองเท้ามีส้น แม้เป็นรองเท้าผ้าใบ (Sneakers) ก็ถือว่าสุภาพ ในฤดูร้อน ใส่กางเกงขาสั้น ใส่รองเท้าแตะไปเรียน
ผู้หญิงใส่ชุดแบบ 2 ชิ้น หรือ Two Pieces ก็ถือว่ายอมรับได้
แต่อย่างน้อย มี 1 วันที่นักศึกษาต้องแต่งกายให้ถูกต้อง
คือพิธีรับปริญญาบัตร (Commencement Day, Graduation Day) เขาถือเป็นพิธีปฏิบัติ
หากจะไม่เข้าร่วมก็ไม่เป็นไร แต่หากเข้าร่วมในพิธีดังกล่าว ก็ต้องปฏิบัติตนรวมทั้งการแต่งกายให้ถูกต้อง
ชุดครุยวิชาการ หรือ Academic regalia
อาจแปลว่า “กกุธภัณฑ์ทางวิชาการ”
ซึ่งมักเป็นคำสูงที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์
ชุดครุยนี้มีระเบียบของมหาวิทยาลัยกำกับ และมีกฎหมายของบ้านเมืองรองรับ ผู้ที่จะใส่ได้ต้องเป็นผู้จบการศึกษาจากสถาบันการศึกษานั้นๆ
เป็นคณาจารย์ ผู้บริหารทางวิชาการ หรือเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย
และเมื่อจะใส่ครุยทางวิชาการนี้ ก็ต้องประพฤติปฏิบัติอย่างมีประเพณีที่ปฏิบัติกัน
ต้องไม่ไปดัดแปลงให้เป็นอื่นๆ เช่นเดียวกับชุดของทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน
และการเมือง สามารถใส่ได้ตามศักดิ์และสิทธิเท่านั้น
ภาพ ชุดครุยปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งเป็นในแบบตะวันตก
เสื้อครุย (Gown) หรือเสื้อคลุม; ผ้าคลุมศีรษะ (Hood); และ หมวก (Cap, bonnet)
งานพิธีรับปริญญาบัตร
การจะสำเร็จการศึกษา เป็นเรื่องของการลงทุน การใช้เวลา
ความวิริยะ อุตสาหะ ทั้งของประเทศชาติ พ่อแม่ผู้ปกครอง และตัวผู้เรียนเอง
ในด้านเวลา คนหนึ่งจะจบมัธยมศึกษาบริบูรณ์ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย
12 ปี จะจบปริญญาตรี ใช้เวลาเพิ่มขึ้นไปอีก 4 ปี รวมเป็นอย่างน้อย 16 ปี จบปริญญาโทและเอก
รวมต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 4-5 ปี เป็นอย่างน้อย
และมีเป็นอันมากไม่ได้ศึกษาต่อเนื่อง อาจใช้เวลามากกว่านั้น มีบางคนเกษียณอายุแล้ว
เพิ่งจะมาจบการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต
แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าทำให้การศึกษานั้นด้อยค่าลง
เพราะการศึกษาเป็นเรื่องมีคุณค่าตลอดชีวิต
ในด้านการใช้ทรัพยากร การศึกษาในทุกขั้นตอนเป็นเรื่องใช้ทรัพยากร
การศึกษาระดับปริญญาเอก หากต้องไปศึกษาต่อต่างประเทศ จะมีค่าเล่าเรียนอาจถึง 23,000
เหรียญสหรัฐ หากรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ อันได้แก่ค่าที่พัก อาหาร
ค่าเดินทาง หนังสือ ฯลฯ ก็คงประมาณ 50,000 เหรียญสหรัฐ/ปี
หรือ 1.5 ล้านบาท/ปี รวม 4 ปีก็เป็นเงินประมาณ
6 ล้านบาท แต่กระนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองก็กัดฟันหาเงินสนับสนุนการศึกษาของบุตรหลาน
ผู้เรียนเองก็ต้องหางานทำ พร้อมเรียนควบคู่ไปด้วย
การศึกษาต่อในประเทศ
หากเป็นในสถาบันการศึกษาเอกชน หรือเป็นปริญญาขั้นสูง ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
เฉพาะค่าเล่าเรียน โดยประมาณ 100,000-200,000 บาท/ปี
หากเป็นการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอก ร่วมกัน ก็จะประมาณ 4-5 ปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเล่าเรียนประมาณ 500,000-1,000,000 บาท หรือประมาณ 1 ใน 3 หรือ 1
ใน 5 ของการไปศึกษาต่อต่างประเทศ
แต่ก็นับว่ายังสูงอยู่ และทางครอบครัวหรือผู้เรียนต้องเป็นฝ่ายจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นหลัก
แต่ข้อดีก็คือ ผู้เรียนสามารถเรียนในประเทศ ลดค่าใช้จ่ายด้านที่พัก อาหาร
การครองชีพต่างๆ ไม่เหมือนกับไปศึกษาต่อต่างประเทศ
ซึ่งจะต้องจ่ายเองเกือบจะทุกอย่าง
บางคนเมื่อศึกษาปริญญาขั้นสูงนั้น
ได้มีครอบครัวไปแล้ว ต้องเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย
พร้อมกับครอบครัวก็ต้องมารับความเหนื่อยยากร่วมไปด้วย ต้องปลีกตัว ใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการศึกษาเล่าเรียน
การดูหนังสือ การไปชั้นเรียน การทำการบ้าน ตลอดจนกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเรียน
ก็ต้องไปร่วมด้วย
จะในต่างประเทศหรือในประเทศไทยก็ตาม
การศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทรัพยากร ความพยายาม และมีหลายฝ่ายมาเกี่ยวข้อง มีคนเป็นอันมาก
ที่เรียนจนจบรายวิชาต่างๆแล้ว แต่ไม่ได้จบการศึกษา เพราะไม่ได้ทำผลงานวิทยานิพนธ์
ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของการจบการศึกษา ซึ่งเขาเรียกว่าพวก ABD คือ All But Dissertation หรือผ่านทุกอย่างแล้ว
เหลือแต่ไม่ได้ทำวิทยานิพนธ์
การจะจบการศึกษาในระดับปริญญาขั้นสูง
เป็นเรื่องที่เหนื่อยยากแบบสายตัวแทบจะขาด
ดังนั้นเมื่อวันจะจบการศึกษา
ไม่ว่าจะเป็นปริญญาอะไร จะเห็นพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และคนรัก มาร่วมกันแสดงความยินดีกับผู้เรียน
และในอีกด้านหนึ่ง
คือเป็นเวลาที่ผู้เรียนจะได้แสดงความขอบคุณต่อทุกคนที่ได้สนับสนุนตนให้ได้จนจบการศึกษา
No comments:
Post a Comment