Wednesday, January 19, 2011

ระยะเริ่มแรกของรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเมื่อทศวรรษ 1890s จนถึง 1900s

ระยะเริ่มแรกของรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเมื่อทศวรรษ 1890s จนถึง 1900s

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
pracob@sb4af.org

Keywords: transportation, vehicles, green technology, รถยนต์ไฟฟ้า, EV, battery, แบตเตอรี่

รถยนต์ไฟฟ้า (Electric cars) ไม่ใช่เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นของรถยนต์ ก่อนที่การพัฒนารถยนต์จะหันมาใช้พลังงานจากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง และจุดระเบิดในลูกสูบ (internal combustion engines) ในระยะเริ่มแรก รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งในขณะนั้นจะเรียกว่า electric automobiles ได้ครองสถิติด้านความเร็วและระยะทางเอาไว้อย่างน่าสนใจ ที่สำคัญที่สุด มันสามารถวิ่งได้เร็วกว่า 100 กม/ชั่วโมง ซึ่งทำโดย Camille Jenatzy ในวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1899 โดยยานพาหนะรูปคล้ายกับจรวด ชื่อ Jamais Contente ซึ่งสถิติสูงสุดทำได้ 105.88 กม./ชั่วโมง ก่อนหน้าทศวรรษ 1920s รถยนต์ไฟฟ้าได้แข่งกับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เผาไหม้เป็นยานพาหนะที่มีคุณภาพในเมือง

ภาพ Thomas Edison กับรถยนต์ไฟฟ้าในปี ค.ศ. 1913 ภาพโดยความอนุเคราะห์จาก National Museum of American History

ในปี ค.ศ. 1896 เพื่อทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานรองรับการชาร์ตไฟ (Recharging infrastructure) ได้มีการเสนอใช้บริการเปลี่ยนแบตเตอรี่ ซึ่งเสนอโดย Hartford Electric Light Company เพื่อใช้กับรถบรรทุกไฟฟ้า (Electric trucks)

ในแผนงานบริการ เจ้าของรถยนต์ซื้อรถจากบริษัทไฟฟ้า คือ General Electric Company (GVC) โดยไม่มีแบตเตอรี่ แต่แบตเตอรี่และบริการจะได้จากบริษัท Hartford Electric ที่จะทำหน้าที่สลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่ชาร์ตไฟแล้วให้เจ้าของจ่ายค่าบริการตามระยะทางที่วิ่งในแต่ละเดือน ซึ่งจะครอบคลุมค่าดูแลและเก็บรักษารถบรรทุก บริการนี้มีบริการกันในช่วงปี ค.ศ. 1910 – 1924 โดยกิจการในลักษณะนี้ได้มีเปิดบริการในเมืองชิคาโก (Chicago) ที่เจ้าของผู้ซื้อรถแบบไม่ต้องมีแบตเตอรี่จาก Milburn Light Electric

ในปี ค.ศ. 1897 ได้มีบริการรถแทกซี่ไฟฟ้าในสหรัฐเป็นบริการแทกซี่ด้วยรถยนต์เป็นครั้งแรกในเมืองนิวยอร์ค โดยรถสร้างจากบริษัท Electric Carriage and Wagon Company ที่อยู่ที่เมือง Philadelphia ในขณะนั้นในอเมริกามีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายบริษัท อันได้แก่ Anthony Electric, Baker, Columbia,Anderson, Edison [disambiguation needed], Fritchle, Studebaker, Riker, Milburn และอื่นๆอีกมาก ซึ่งมีจนกระทั่งช่วงแรกของศตวรรษที่ 20

ภาพ สภาพรถยนต์เมื่อต้องวิ่งออกนอกเมืองในสมัยก่อน

แต่เพราะขีดความสามารถที่จะวิ่งได้ระยะทางจำกัด จึงไม่มีบริการรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งระหว่างเมือง แต่รถยนต์ไฟฟ้าแม้จะวิ่งได้ไม่เร็วนัก แต่ก็มีข้อดีหลายประการ เช่น การไม่มีอาการสั่นไหวมาก ไม่มีเสียง กลิ่นควัน ที่จะพบในรถยนต์ใช้เครื่องยนต์เผาไหม้ รถยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นรถยนต์ที่ได้รับความนิยมจากคนชั้นสูงที่จะใช้เป็นบริการวิ่งในเมือง ซึ่งระยะทางที่วิ่งไม่เป็นปัญหามากนัก นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้ายังสตาร์ทออกตัวได้ง่ายกว่ารถยนต์ใช้เครื่องยนต์ที่ต้องมีการไปหมุนเครื่องยนต์ในแต่ละครั้งที่ต้องเดินทาง รถยนต์ไฟฟ้าจึงเหมาะสำหรับคนขับที่เป็นสตรี เพราะไม่ยุ่งยากในการใช้งาน

ภาพ รถยนต์ไฟฟ้า ชื่อ Henney Kilowatt ผลิตในปี ค.ศ. 1961 โดยอาศัยพื้นฐานจาก Renault Dauphine

ในปี ค.ศ. 1911 หนังสือพิมพ์ New York Times ได้กล่าวถึงรถยนต์ไฟฟ้าในฐานะที่เป็นรถยนต์ที่เหมาะสม ด้วยความสะอาดกว่า เงียบกว่า และประหยัดกว่ารถยนต์ใช้เครื่องยนต์เผาไหม้ รายงานโดย Washington Post ได้กล่าวถึงความเชื่อไม่ได้ของแบตเตอรี่รถยนต์ในขณะนั้น

ในระยะหลัง เมื่อมีการค้นพบปิโตรเลียมในดินกว้างขวางทั่วไป ทำให้มีน้ำมันถูก บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จึงหันไปพัฒนาเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันปิโตรเลียมแทน และเมื่อมีน้ำมันที่สามารถจัดเก็บในถังได้ ทำให้วิ่งระยะทางไกลๆได้ วิ่งข้ามเมืองได้ ทำให้รถยนต์ใช้เครื่องยนต์เผาไหม้ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และในที่สุดก็เป็นจุดจบของรถยนต์ไฟฟ้าในระยะต่อๆมา

สรุปรวมความ รถยนต์ไฟฟ้าได้มีการพัฒนากันมานานแล้ว และดำเนินไปได้ดี จนกระทั้งเมื่อมีน้ำมันปิโตรเลียมในราคาถูก ประกอบกับขีดความสามารถของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในขณะนั้น ยังทำให้ระยะทางวิ่งจากการชาร์ตไปแต่ละครั้งไปได้ไม่ไกล จึงในที่สุดได้เสียการแข่งขันไปให้กับรถยนต์ใช้ระบบเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น การจะพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าให้ก้าวหน้าต่อไป พึงต้องศึกษาจากความล้มเหลวของระบบที่ได้เคยมีมา และหาทางแก้ไขจุดอ่อนที่เคยมี

แต่ที่แน่ๆ น้ำมันเชื้อเพลิงราคาถูกจากปิโตรเลียมกำลังจะหมดไป เรามีน้ำมัน แต่จะมีราคาแพงขึ้นอย่างมากจนไม่สามารถใช้พลังงานจากปิโตรเลียมได้ในไม่ช้า ส่วนบริการไฟฟ้านั้น ระบบเครือข่ายไฟฟ้าในปัจจุบันมีลักษณะครอบคลุมกว้างขวางไปทั่วประเทศ ทั้งในประเทศที่เจริญแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ประกอบกับเมืองในยุคใหม่มีขนาดใหญ่โตกว้างขวาง และมีปัญหามลพิษสูงอยู่แล้วตามธรรมชาติ และปัญหาโลกร้อน (Global warming) ที่เพราะเรามีการใช้พลังงานจากฐานคาร์บอนมากเกินกว่าที่ธรรมชาติจะแบกรับได้

โลกยุคต่อไปจึงเป็นโอกาสใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้า

No comments:

Post a Comment