Wednesday, January 26, 2011

มารู้จักประธานาธิบดี ฮอสนี่ มูบารัค แห่งอียิปต์

มารู้จักประธานาธิบดี ฮอสนี่ มูบารัค แห่งอียิปต์

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia, the free encyclopedia

Keywords: การเมืองระหว่างประเทศ, ตะวันออกกลาง, Egypt, อียิปต์,

ภาพ ประธานาธิบดี Muhammad Hosni Sayyid Mubarak แห่งอียิปต์

Muhammad Hosni Sayyid Mubarak มีชื่อเรียกสั้นๆว่า ฮอสนี่ มูบารัค (Hosni Mubarak) เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1928 เป็นประธานาธิบดีคนที่สี่ของสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (Arab Republic of Egypt) เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรองประธานาธิบดีเมื่อปี ค.ศ. 1975 และเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1981 เมื่อประธานาธิบดี Anwar El-Sadat ถูกลอบสังหาร อันเป็นผลมาจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยที่ซาดัตไปทำสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล มูบารัคเป็นผู้ปกครองประเทศอียิปต์ที่ครองอำนาจยาวนานที่สุด นับแต่ Muhammad Ali Pasha ก่อนที่จะเข้าสู่วงการเมือง มูบารัคเป็นนายทหารอากาศในกองทัพอากาศของอียิปต์ และทำหน้าที่เป็นแม่ทัพอากาศในช่วงปี ค.ศ. 1972 ถึงปี ค.ศ. 1975

ประธานาธิบดีมูบารัคได้รับการเลือกด้วยระบบประชามติ (Referendum) ซาวเสียงในรัฐสภา และให้มีการออกคะแนนเสียงโดยประชาชน เขาได้รับเลือกด้วยวิธีการดังกล่าวส่วนใหญ่ติดต่อกัน 4 ครั้ง โดยมีการเลือกตั้งใน ปี ค.ศ. 1987, 1993, 1999 แต่ก็มีผู้สงสัยในความน่าเชื่อถือของระบบการเลือกตั้งในแบบอียิปต์

ในครั้งสุดท้าย ในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 2005 มูบารัคได้ประกาศลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 2005 แต่ตามการรายงานการเลือกตั้งได้แสดงให้เห็นว่าพรรคของมูบารัคได้ใช้ยานพาหนะของราชการในการขนคนไปลงคะแนนเสียงให้ตนเอง มีการซื้อเสียงในเขตคนยากจนในชนบท มีการปล่อยให้คนที่ไม่ได้มีการลงทะเบียนมีสิทธิออกเสียง ได้ลงคะแนน จนในที่สุด ดร.อัยมาน นัวร์ (Dr. Ayman Nour) ผู้นำฝ่ายค้าน และเป็นตัวแทนของพรรคแห่งวันข้างหน้า (Al-Ghad party) ได้ร้องขอให้มีการเลือกตั้งใหม่

ในการกดดันฝ่ายต่อต้าน ดร. นัวร์ ถูกจับกุมและนำขึ้นศาล และลงโทษฐานการปลอมแปลง ต้องโทษใช้แรงงานหนักเป็นเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 2005 ในวันที่ได้รู้ผลการตัดสินคดี ฝ่ายเลขาด้านสื่อมวลชนได้ออกแถลงการณ์ แสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลอียิปต์

การเมืองในอียิปต์เป็นการต่อสู้ที่มีความรุนแรงมาตลอด นับตั้งแต่มีสงครามระหว่างอียิปต์ภายใต้การนำของประธานาธิบดีนัสเซอร์กับอิสราเอล ถึงสองครั้ง และช่วงของการเจรจาเพื่อสันติภาพในตะวันออกกลาง ที่ผลักดันโดยสหรัฐ จนถึงการลงนามในสัญญาโดยประธานาธิบดีอันวา ซาดัต

ประธานาธิบดีอันวา ซาดัต ผู้ดำรงตำแหน่งก่อนหน้าเขา ก็ถูกลอบสังหารอันเป็นผลจากการเมืองในเขตตะวันออกกลาง ประธานาธิบดีมูบารัคเอง เคยถูกลอบสังหารแล้ว 6 ครั้ง มีทั้งด้วยแก๊สพิษ อาวุธอื่นๆ รวมทั้งมีด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

มูบารัคเป็นฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการที่อเมริกันบุกอิรัค เขาให้ความเห็นว่า เพราะจะทำให้เกิดความเกลียดชังต่อต้านตะวันตก จะมี "บิน ลาเดน" อีก 100 คน

อีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลอียิปต์ภายใต้มูบารัคได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ คือการประกาศกฏอัยการศึกอย่างต่อเนื่อง นับแต่เมื่อประธานาธิบดีซาดัตถูกลอบสังหาร ซึ่งกฎหมายดังกล่าวทำให้รัฐบาลสามารถจับกุมคุมขังคนได้นานไม่จำกัด และไม่ต้องมีเหตุผล รัฐบาลเองอ้างเหตุผลของการที่มีฝ่ายต่อต้านหัวรุนแรงอย่าง Muslim Brotherhood ที่อาจเข้ามามีอำนาจและใช้ความรุนแรง อียิปต์จึงเป็นประเทศที่ไม่มีสิทธิเสรีภาพ อันมีผู้วิจารณ์ว่าขาดหลักการแห่งประชาธิปไตย ประชาชนไม่มีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม และไม่มีสิทธิในการออกเสียงเพื่อหาผู้เหมาะสมในการปกครองประเทศ

ประธานาธิบดีมูบารัคในบทบาทผู้นำของอียิปต์ เปรียบไปก็เหมือนการขึ่หลังเสือ เขาเองได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายทหาร ข้าราชการ และฝ่ายธุรกิจที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน แต่ขณะเดียวกัน การได้อยู่ในตำแหน่งมานาน ก็มีโอกาสทำผิดเอาไว้มาก สร้างศัตรูเอาไว้ไม่น้อย จะดำรองตำแหน่งต่อไปก็ด้วยความยากลำบาก และแรงต่อต้านก็จะมากขึ้น แต่จะลงจากตำแหน่ง ก็จะเป็นเรื่องยากด้วยเช่นกัน

ในวันนี้อียิปต์กำลังต้องผจญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ได้เกิดขึ้นในตูนีเซีย อันเรียกว่า ปฏิวัติดอกมะลิ (Jasmine Revolution) ในวันนี้ คลื่นเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นได้เข้าสู่อียิปต์อย่างรวดเร็ว อนาคตของประธานาธิบดีผู้นี้จะเป็นอย่างไร ก็ต้องติดตามกันต่อไป

No comments:

Post a Comment