Saturday, January 15, 2011

ความสำเร็จนำไปสู่ความล้มเหลว

ความสำเร็จนำไปสู่ความล้มเหลว

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

จาก บทที่ 7 ผิดให้เป็นครู และการล้มแล้วรู้จักลุก

Keywords: cw059, ความเป็นผู้นำ, ความเปลี่ยนแปลง

ในสุภาษิตภาษาอังกฤษมีว่า “Nothing fails like success.”

As soon as the stream changes, the challenge, the one successful response, no longer works. It fails. Nothing fails like success. It's intriguing, and it's true.

แปล เป็นไทยได้ว่า "ไม่มีอะไรจะทำให้ล้มเหลวได้มากเท่ากับความสำเร็จ" เพราะคนเรานั้นยิ่งประสบความสำเร็จมากเท่าใด ก็จะยิ่งมีความเชื่อมั่น และใช้ประสบการณ์เดิมในการที่จะสร้างความสำเร็จต่อไป แต่แล้ว ก็อาจพบว่าประสบการณ์เดิมนั้นไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับสถานการณ์ใหม่ในทุกเรื่องไป เช่นดาราภาพยนตร์หรือนักแสดง ถ้าได้แสดงในบทบาทหนึ่งแล้วประสบความสำเร็จ ก็จะเลือกบทบาทแบบนั้นๆเป็นต้นแบบ ในการแสดงต่อไป จนในที่สุดกลายเป็นความคับแคบ ไม่เกิดการริเริ่มในสิ่งใหม่แสดงบทที่หลากหลายออกไป คนดูก็จะเริ่มเบื่อ เพราะงาน ศิลปะนั้นต้องการความแปลกใหม่

ดังนั้น คนเราเมื่อทำงานใดๆประสบความสำเร็จมาสักระยะหนึ่งแล้ว ต้องถามตัวเองว่า โครงการต่อไปคืออะไร มีอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง แล้วเราจะยังมีไฟที่จะทำในสิ่งใหม่หรือไม่ อย่าไปติดยึดกับสิ่งที่ได้เคยทำมาและประสบความสำเร็จดังที่ผ่านมา ควรจะลองเปลี่ยนแปลงบ้าง ไปเที่ยว ไปมองหาสิ่งใหม่ๆ วิทยาการใหม่ๆที่จะเสริมให้กับสิ่งที่ทำมาเดิม หรือไม่ก็ลองหาทางทำในสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่อาศัยประสบการณ์บางอย่างเดิมเป็นตัวเสริม แต่อย่าให้ติดยึดกับความสำเร็จเดิม และจะทำซ้ำแบบเดิมๆตลอดไป

บริษัทผู้ผลิตรถยนต์นั้น เขาถือเป็นหลักว่า ในทุก 5-10 ปี เขาจะต้องเปลี่ยนรูปแบบรถยนต์ใหม่สักครั้ง และหากเป็น 10 ปี ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งจากภายในระบบเครื่องยนต์ และตลอดจนรูปโฉม อย่าได้ไปคิดว่า รูปแบบเดิมนั้นประสบความสำเร็จ คนชอบมากอยู่แล้ว ต้นทุนเดิมก็ถูก เพราะไม่ต้องทำอะไรใหม่ แล้วคงใช้แม่พิมพ์และกระบวนการผลิตเดิม ผู้ใช้รถยนต์เขาไม่ได้คิดอย่างนั้น เขาต้องการสิ่งใหม่ที่ก้าวหน้ากว่าเดิม แม้เขาจะเป็นคนที่ติดยึดและเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของบริษัท แต่กระนั้น เขาก็จะมองหาสิ่งใหม่ๆที่ต้องดีไปกว่าเดิม ดังนั้นบริษัทรถยนต์ทั้งหลายจึงต้องมีแผนกวิจัยและพัฒนาในผลิตภัณฑ์ใหม่ มีทั้งส่วนที่จะต้องออกแบบให้มีความสวยงามถูกใจตลาด และให้มีประสิทธิภาพในการใช้งาน

ในกิจการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology – ICT) การแข่งขันจะยิ่งรุนแรงไปกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทด้านผลิตฮาร์ดแวร์ หรือซอฟต์แวร์ หรือระบบเครือข่าย (Network) ล้วนไม่มีใครสามารถหยุดนิ่งได้ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และใครพลาดช้าไป ไม่ใส่ใจในความเปลี่ยนแปลง บริษัทนั้นก็จะดำรงอยู่ได้อย่างยากยิ่ง

No comments:

Post a Comment