ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com
Keywords: Thailand, politics, การเมือง,
ประชานิยม, populism, อนุรักษนิยม, conservatism, ประชาธิปไตย, democracy, Thaksin, Yingluck Shinawatra,
truth, สมานฉันท์, reconciliation
ได้อ่านบทความเรื่อง “After year of
peace, trickier times ahead for Thai PM” ที่ลงตีพิมพ์ใน Chicago
Tribune ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 2012
เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับการบริหารประเทศ
เขียนโดยผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ Martin Petty
ภาพ นายกรัฐมนตรีหญิงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในสายตาของสื่่อตะวันตกที่ห่างไกล
ดูเขาจะเขียนชมนายกรัฐมนตรีหญิงของไทยที่เป็นคนถ่ายรูปขึ้น
คือสวย มีความอดทน เดินตามแผนที่พี่ชาย คือคุณทักษิณ ชินวัตรกำหนด
และเขาเห็นว่าเธอทำหน้าที่ได้ดีกว่าที่หลายคนคาด
แม้จะต้องผ่านปัญหาน้ำท่วมใหญ่ปลายปี พ.ศ. 2554 และฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในโลกที่กระทบถึงประเทศไทย
และเขาไม่ได้วิจารณ์นโยบายประชานิยม (Populism policies) ของรัฐบาล
ทั้งในเรื่องขึ้นค่าแรง การผลักดันราคาพืชผลการเกษตร
ซึ่งเป็นนโยบายที่ประชาชนพึงพอใจ
แต่ขณะเดียวกันเมื่อเขาเขียนเกี่ยวกับฝ่ายต่อต้านทักษิณ
และนายกฯยิ่งลักษณ์ว่าเป็นพวกสวามิภักดิ์ต่อสถาบันกษัตริย์ พวกอนุรักษ์นิยม
เมื่อพูดถึงกลุ่มคนเสื้อเหลือง (Yellow Shirts)
เขาโยงถึงพวกที่ยึดทำเนียบและปิดสนามบิน แต่เขาไม่ได้เอ่ยถึงสภาพแวดล้อมของการเมือง
การทุจรติคอรัปชั่นที่ได้เกิดขึ้น ไม่ได้กล่าวถึงฝ่ายเสื้อแดง (Red Shirts)
ที่ก่อความรุนแรงและรวมถึงการใช้อาวุธสงครามทำร้ายฝ่ายตรงข้าม และการเผาบ้านเผาเมือง
ซึ่งยังเป็นคดีความกันอยู่ในปัจจุบัน
เขาไม่ได้เอ่ยถึงหรือแสดงความเข้าใจต่อปัญหาซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบผูกขาด
การคอรัปชั่นทางนโยบาย การเล่นพวกเล่นพ้อง การไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกกลุ่มและภูมิภาคอย่างเท่าเทียมกันในสังคมที่ต้องเปิดและแข่งขันกันอย่างเสรี
ไม่แปลกใจที่สื่อตะวันตกเขาจะเขียนในทำนองนี้
โดยเฉพาะสื่อในอเมริกา เพราะแนวโน้มที่ชัดเจน คือ เขาเขียนบทความหรือข่าวอย่างไม่ลึกซึ้ง
เขียนจากพื้นฐานของเขาและคนอเมริกันของเขามีความโน้มเอียงอยู่แล้ว เช่น
ความเสมอภาคย่อมก้าวหน้ากว่าระบบกษัตริย์ เขียนด้วยแนวคิดการเมืองแบบซ้ายและขวา
ฝ่ายประชาธิปไตยที่ต้องการเปลี่ยนแปลง กับพวกที่ล้าหลังกว่า
และไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง เขียนแล้วก็เข้าใจว่าทหารคือพวกเผด็จการที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตย
ในอีกด้านหนึ่ง ในประเทศพม่า นางอองซาน ซูจีนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
คือขวัญใจของสื่อตะวันตก รวมถึงในยุโรปอเมริกา ทั้งนี้ประการหนึ่ง เพราะมันเป็นการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการทหารอย่างชัดแจ้งและยาวนาน
ในอดีต มหาตมะ คานธีมหาบุรุษของอินเดีย นางคอราซอน อาคีโนแห่งฟิลิปปินส์ ก็เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ที่สื่อตะวันตกกลุ่มเสรีนิยมเคยเชียร์อย่างมากมาแล้วเช่นกัน
แต่สังคมและการเมืองไทยมีความซับซ้อนมากกว่าการเมืองในประเทศพม่า
มันไม่เป็นเรื่องระหว่างขาวกับดำ แต่มันมีสีเทาๆอยู่มาก
และความซับซ้อนนี้ยากเกินกว่าที่สื่อต่างประเทศ ที่จะเขียนบทความภายใน 1-2 หน้ากระดาษจะทำให้คนระดับประชาชนสามัญในประเทศเขาเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง
ทางออกของสังคมไทย คือ เราฟังว่าเขาคิดอย่างไร
แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเราต้องร่วมกันทำความเข้าใจด้วยตัวเราเองให้ได้จริงๆเสียก่อนว่า
มันเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยของเรา สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือความจริงอย่างรอบด้าน
ช่วยกันมองอย่างไม่มองว่าฝ่ายใดเป็นพระเอกะฝ่ายใดเป็นผู้ร้าย
ทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นหลักวิชาการสักหน่อย
ลดระดับอารมณ์ความรักความชอบลง เพื่อทำให้เปิดใจสื่อสารกันได้มากขึ้น
หากจะปรองดองกันจริง
ก็ต้องทำให้ความจริงปรากฏ (Truth)
ทำให้ชัดเจนโดยผ่านกระบวนการของศาลพิจารณาความ
ผ่านการมีคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง และจากศึกษาของนักวิชาการในหลายสาขาวิชา
ที่ต้องศึกษาเรื่องที่มีความซับซ้อนนี้ ให้ปรากฏออกมาอย่างมีการวิเคราะห์และสังเคราะห์
การปรองดอง (Reconciliation) ไม่ใช่เรื่องยาก หากเราทนและเปิดใจที่จะรับทราบความจริง
เราได้ทนกับสิ่งต่างๆมากว่า 6 ปีแล้ว และคงไม่ยากที่จะต้องทนต่อไป
อดทนที่จะให้กาลเวลาเป็นเครื่องสมานแผล
No comments:
Post a Comment