Friday, July 6, 2012

โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม (Satellite television) กับการใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา


โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม (Satellite television) กับการใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การศึกษา, โรงเรียนขนาดเล็ก, การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา,  ICT for Education, satellite TV, Digital TV,

ในโลกยุคใหม่ ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เทคโนโลยีสารสนเทศได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในโลกของการบันเทิง ข่าวสาร และการศึกษาได้อย่างมาก คือเรื่องของโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม

โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม (Satellite television) เป็นโปรแกรมโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดด้วยระบบดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร (Communications satellite) ฝ่ายผู้รับจะใช้ระบบจานรับสัญญาณ ซึ่งมักจะมีลักษณะเป็นจานสะท้อนสัญญาณโลหะ (Parabolic reflector) ซึ่งเราเรียกกันว่า “จานรับดาวเทียม” (Satellite dish) นอกจากนี้สัญญาณจากจานรับ จะส่งต่อไปยังกล่องรับสัญญาณ (set-top box) หรือเรียกว่า “ตัวปรับสัญญาณ” หรือ Satellite tuner ซึ่งต่อสัญญาณไปยังตัวเครื่องรับโทรทัศน์ (TV set) กล่องรับสัญญาณ (Satellite TV tuners) อาจมีการ์ด (Card) กำหนดสิทธิผู้รับสัญญาณ ในกรณีของการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับ หรือ สายต่อแบบ USB เชื่อมไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ ในหลายที่ในโลก โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมสามารถให้บริการได้อย่างกว้างขวางหลายช่องสัญญาณ นับเป็นร้อยๆช่อง (Channel) และลักษณะบริการ มีทั้งแบบบอกรับ และแบบไม่มีค่าใช้จ่ายรายเดือน แต่มีรายได้จากโฆษณา หรือการรับบริจาค ส่วนการให้บริการแบบบอกรับนั้น ก็จะมีผู้ให้บริการภาคพื้นดิน หรือผู้ให้บริการผ่านระบบเคเบิลทีวี (Terrestrial or cable providers) เป็นผู้ดำเนินการให้บริการ ดังในประเทศไทย บริษัท TRUE Vision เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับ

โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมมีทั้งสองแบบ คือแบบเก่า เป็นระบบอนาลอก (Analog) ที่ใช้กับโทรทัศน์ตั้งแต่ยุคแรกๆ และระบบใหม่ คือเป็นดิจิตอล (Digital) เป็นระบบแบบเดียวกับคอมพิวเตอร์ ระบบอนาลอกกำลังถูกทดแทนด้วยระบบดิจิตอล ซึ่งจะทำให้ได้ภาพที่คมชัด ใช้ได้ทั้งระบบจอโทรทัศน์และผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ สามารถให้รายละเอียดภาพได้สูง (High-Definition TelevisionHDTV)
  


ภาพ ดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร (Communication Satellite) เป็นตัวรับสัญญาณจากโลก และส่งสัญญาณกับมายังบริเวณที่กำหนด ที่เขาเรียกว่า Footprint ในอดีต การส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรรอบโลกมีค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ในอนาคต กิจการใช้จรวดนำดาวเทียมสู่วงโคจรรอบโลก จะมีราคาถูกลง เพราะเป็นการดำเนินการโดยเอกชนได้แล้ว

ภาพ จานสะท้อนสัญญาณโลหะ (Parabolic reflector) เป็นตัวรับสัญญาณจากดาวเทียม แล้วส่งต่อสัญญาณผ่านสายสัญญาณมายังกล่องรับสัญญาณ

ภาพ กล่องรับสัญญาณ (Set-top box) และ Remote Control กล่องรรับสัญญาณ เป็นตัวรับสัญญาณ แล้วถอดระหัสสัญญาณให้ออกมาเป็นตัวภาพเคลื่อนไหวและเสียง


ภาพ โทรทัศน์ในแบบเดิมเป็น Analog ที่ทุกประเทศกำลังเปลี่ยนไปสู่โทรทัศน์ในแบบใหม่ แต่จะเป็นการค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันโทรทัศน์ในแบบนี้ได้เลิกผลิตแล้วเป็นส่วนใหญ่

ภาพ โทรทัศน์รุ่นใหม่จะเป็นแบบจอแบน มีทั้งแบบ LCD และ LED รองรับระบบสัญญาณแบบ Digital สามารถให้สัญญาณภาพและเสียงที่ีคมชัด ส่วนราคาก็ลดลงมาอย่างมากตลอดเวลา

ภาพ คอมพิวเตอร์แบบกระเป๋าหิ้ว มีความสามารถในการรับสัญญาณโทรทัศน์แบบ Digital โดยให้บริการภาพที่คมชัด ในยุคต่อไป เราอาจเรียกบริการโทรทัศน์ว่า Digital TV

สรุปและเปิดประเด็น

โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมนั้นมีศักยภาพในการให้บริการอย่างมาก

ในโลกของประชาธิปไตยยุคใหม่ ฝ่ายการเมืองฐานเศรษฐกิจอาจพยายามเข้ายึดอำนาจรัฐ และเมื่อมีอำนาจรัฐแล้ว ก็สามารถเข้าครอบครองสื่อโทรทัศน์เสรีต่างๆทั้งของรัฐ และสื่อที่ต้องอาศัยสัมปทานจากรัฐ ดังเห็นตัวอย่างในประเทศไทย และประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งท้ายสุดมีการประท้วงเรื่องเสรีภาพ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศ

ทางการเมือง (Politics) เพื่อไม่ให้สื่อโทรทัศน์ถูกยึดครองโดยอำนาจผูกขาดไม่ว่าจะเป็นทางการเมืองหรือธุรกิจ จึงต้องมีสื่อที่เปิดกว้างและยากที่จะควบคุมโดยอำนาจใดอำนาจหนึ่ง สื่อโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมมีต้นทุนไม่สูง ฝ่ายการเมืองตรงข้ามรัฐบาลสามารถซื้อบริการได้โดยไม่ยาก ทำให้เป็นการสร้างดุลย์กับสื่อที่รัฐบาลกำกับได้

ในทางการศึกษา สื่อโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่เป็น Digital และให้ความละเอียดของภาพ และคุณภาพสัญญาณที่ดี สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาได้แน่ แต่จำเป็นต้องมีการศึกษายุทธศาสตร์การดำเนินการ (Strategic plan) ซึ่งต้องคิดในประเด็นต่างๆต่อไปนี้

ในด้านนโยบายรวม (Central policies) รัฐต้องมีนโยบายส่งเสริมโทรทัศน์ดาวเทียมเพื่อการศึกษา ต้องมีการกำหนดแผนแม่บทที่จะสร้างความมั่นใจแก่ผู้ที่จะมามีส่วนร่วม เพราะฝ่ายมาร่วมนั้น ต้องมีการมาลงทุนและลงแรงร่วมด้วย ซึ่งมีความเสี่ยงที่ต้องการหลักประกัน

ด้านเทคโนโลยี (Technology) จะใช้ดาวเทียมดวงไหน และอย่างไร จึงจะทำให้มีเอกภาพในการให้บริการ ฝ่ายประชาชน โรงเรียน ระบบการศึกษา มีจานรับเพียงจากเดียว กล่องรับสัญญาณเพียงกล่องเดียว แต่ใช้บริการได้อย่างกว้างขวาง

ด้านรูปแบบการนำเสนอ (Platforms) ตามหลักการแล้ว สามารถทำให้เป็นการสื่อสารสองทาง (Two-way communication) โดยใช้ระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงร่วมด้วยได้ แต่กระนั้นก็จำเป็นที่จะต้องใช้ ดังเช่น ฝ่ายรับฟังหรือชมการบรรยายสามารถส่งคำถามมายังผู้บรรยายได้ หรืออาจทำเป็นบริการแบบ On demand ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตประกอบด้วย คือจัดเป็น VDO Clips เพื่อผู้เรียนสามารถเรียกไปใช้เพื่อการศึกษาได้ตามต้องการในเวลาที่เขามีความเหมาะสม ไม่ต้องรอฟังหรือชมรายการในเวลาเดียวกัน

ด้านค่าใช้จ่าย (Financial Resources) และการสนับสนุนบริการ จะใช้หลักอย่างไร เพราะจริงๆแล้วไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ทำอย่างไรระบบจึงจะมีทรัพยากรเอาไว้ใช้ และมีเงินสนับสนุนที่จะพัฒนาเนื้อหาสาระและโปรแกรมได้อย่างต่อเนื่อง

ด้านทรัพยากรคน (Human Resources) เราจะใช้ใครเป็นผู้พัฒนา และใครอยู่ในสถานะที่จะพัฒนาระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และระบบนั้นไม่นำไปสู่การผูกขาด แล้วท้ายสุดระบบนั้นก็ไม่มีความสามารถในการแข่งขันกันพัฒนา ทำอย่างไรจะส่งเสริมให้มีคนมีความสามารถจำนวนมาก เข้ามาร่วมกันพัฒนาระบบ บางอย่างเปิดเสรีให้มีการแข่งขัน แต่บางอย่างต้องทำให้สามารถร่วมกันพัฒนา และร่วมกันใช้ระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากท่านผู้ใดมีแนวคิดที่จะเสนอเพื่อการพัฒนาระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเพื่อการศึกษา ก็ขอให้นำเสนอได้ โดยผ่านทาง Facebook, Blogspot, หรืออื่นๆ เพื่อจะได้มีการเรียนรู้ร่วมกัน

ขอบคุณครับ


No comments:

Post a Comment