Tuesday, July 31, 2012

เราไปดูเด็กนักเรียนบ้านนอก เข้าป่าเก็บเห็ดกันดีกว่านะคะ



ภาพ กลุ่มเด็กๆ ที่นำผู้เขียนเข้าไปเก็บเห็ดในป่าของโรงเรียน
ศิริมนต์ ละมุล

วันนี้เห็นเด็ก ๆเขาเข้าป่าแหล่งเรียนรู้ตามธรรมชาติ โรงเรียนบ้านบุ ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์เขต 3 สภาพแวดล้อมทางระบบนิเวศน์ถือว่าสมบูรณ์มาก มากเลยค่ะ

เด็ก ๆพูดภาษาท้องถิ่นอีสาน 50 % ภาษาเขมร 40% และมีภาษาไทยนางรอง 10% โรงเรียนมีเขตบริการสามหมู่บ้าน หมู่ 9 บ้านหัวสนาม หมู่ 3 บ้านบุ และหมู่ 19 บ้านไทยพัฒนา ผู้ปกครองส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ทำนา ทำไร ทำสวนยางพารา และรับจ้างทั่วไป

โรงเรียนบ้านบุ ในปีการศึกษา 2555 มีนักเรียนทั้งสิ้น 185 คน เด็ก ๆเข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านบุ 100 % ปีการศึกษา 2554 จบการศึกษาจากโรงเรียนบ้านบุ จำนวน 25 คน สามารถสอบเข้าเรียนต่อในระดับอำเภอได้ 90 % อีก 10 % เรียนต่อในโรงเรียนระดับตำบล ศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษา 100 %

โรงเรียนเปิดทำการสอน จำนวน 8 เรียน ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีบุคลากรครูประจำการ จำนวน 10 คน จัดครูเข้าสอนตรงตามเอกครบทุกชั้นทุกสาระกลุ่มวิชา เป็นโรงเรียนวิถีพุทธ 100% ตามนโยบายเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์เขต 3

ท่านผู้บริหารชื่อ นายวินัย สอนกระโทก บริหารสถานศึกษาแบบธรรมมาภิบาล เน้นการมีส่วนร่วม โดยนำผู้นำชุมชนทั้งสามหมู่บ้าน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ผู้ปกครอง พระสงฆ์ และคณะกรรมการสถานศึกษา ร่วมมือกันจัดการเรียนรู้ให้กับลูกหลานของชุมชนเอง

อนึ่งอยากจะชี้ให้เห็นความสุขเล็ก ๆของเด็กบ้านนอกหลังเลิกเรียน แล้วชวนกันเข้าไปเก็บเห็ดเพื่อนำไปให้ผู้ปกครองประกอบอาหารเย็น บางคนนำไปขายเกิดรายได้อีก ทางดิฉันเห็นเลยถือกล้องถ่ายรูปเดินตามเด็ก ๆเข้าไปดูเขานอบน้อมเคารพต่อธรรมชาติมาก ๆเขาบอกว่า " คุณครูเบิ่งเถิ่งฟ้าถ้าก้อนขี่ฝ่าเป็นลาย ลาย มื่ออื่นนี้เห็ดกะออกคะคุณครู" เด็กพูดสำเนียงภาษาท้องถิ่นอีสาน แปลเป็นภาษาไทยว่า "คุณครูให้มองขึ้นไปบนท้องฟ้า ถ้าก้อนเมฆบนท้องฟ้าเป็นลาย ลาย คือเป็นก้อนเล็กก้อนน้อยเยอะแยะลายเต็มท้องฟ้าไม่มีก้อนใหญ่ ๆ แสดงว่าพรุ่งนี้ในป่าเห็ดจะออก” พวกเขาก็จำได้เข้าไปเก็บเห็ดในป่าของโรงเรียน

ตัวดิฉันเองเป็นครูพึ่งมาบรรจุใหม่ภูมิลำเนาจังหวัดบุรีรัมย์ แต่ในชุมชนบริบทบ้านดิฉันไม่มีป่าแบบเด็ก ๆที่บ้านบุ ดิฉันก็มาเรียนรู้วิถีชีวิต การเข้าป่าหาเห็ดกับเด็ก ๆ ปีนี้เป็นปีที่สองแล้วค่ะ มีเห็ดมากมาย เด็ก ๆจะใช้ไม้เขี่ยใบไม้เบา ๆเมื่อเจอเห็นก็จะใช้มือน้อย ๆของแกบรรจงดึงเห็นทั้งโคน ประคับประคองอย่างดีไม่ให้หักหยิบใส่ชายเสื้อกีฬาโรงเรียนที่แกสวมมาวันนี้ บางคนก็ใส่ถุงหูหิ้วที่เตรียมมา แต่ส่วนมากเห็นในภาพไหมค่ะ เขาใช้ชายเสื้อด้วยภูมิปัญญาจริง ๆ เด็กบางคนได้เห็ดดอกใหญ่ เรียกดิฉัน “คุณครูดู ดู” พร้อมชูเห็ดผึ้งสีเหลืองให้ดู ดิฉันเห็นดวงตาคู่น้อย ๆรอยยิ้มกว้างของเด็ก ๆแล้วชื่นใจ แอบอิจฉาแทนเด็กในเมืองไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะมาเรียนรู้การอยู่รวมกันกับธรรมชาติ แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกั

ดิฉันได้รู้จักชื่อเห็ดแต่ละชนิดจากเด็ก ๆพวกเขาบอกดิฉันอย่างคล่องแคล้วว่าในป่าโรงเรียนของเรามีเห็ดที่กินได้ และกินไม่ได้ อ้าว ! “ทำไงลูกถึงรู้ว่าอันไหนกินได้ อันไหนกินไม่ได้” เขาสังเกตแบบนี้ค่ะ เขาจะเลือกเก็บเฉพาะเห็ดที่ผู้ปกครองเคยพาเข้ามาเก็บ และถ้าเห็ดชนิดไหนผู้ปกครองบอกเก็บไม่ได้แบบนี้เห็ดเมาพวกเขาจะจำไว้ แต่เคล็ดลับอยู่ที่เห็ดที่กินได้มันจะเกิดตรงที่เดิมที่เคยเกิด เช่น โคนต้นยางต้นนี้เห็ดปลวกเกิด ก็จะเกิดซ้ำอีก หรือตรงนี้วันนี้หนูเก็บได้เห็ดผึ้ง ปีหน้าเข้ามาก็เกิดอีก หรือวันนี้เกิดถ้าพรุ่งนี้ฝนตกอีก วันมะรืนให้คุณครูมองท้องฟ้าอีกถ้าฟ้าเป็นลาย ลายวันรุ่งขึ้นคุณครูก็เข้ามาเก็บเห็ดได้ ต้องจำไว้ด้วยนะคะว่าเห็ดที่กินได้อยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นเด็ก ๆเข้ามาจะไม่แย้งกันจะช่วยกันหาแล้วเอามาแบ่งปันกัน บางคนก็แลกเปลี่ยนกัน แล้วไม่ลืมที่จะลาคุณครูก่อนแยกย้ายกันกลับบ้านเพราะตะวันเริ่มจะต่ำลงทุกทีแล้ว เด็ก ๆบอกคุณครูเอาเห็ดไปแกงไหมค่ะหนูให้คุณครู

ขอบใจมากลูกเอากลับไปให้คุณแม่ทำอาหารเถอะครูขอบใจลูก ๆทุกคนที่สอนให้ครูได้เรียนรู้วิชีวิตการอยู่รวมกันกับธรรมชาติอย่างมีความสุข ขอให้ลูกรับประทานอาหารจากสวรรค์ที่มอบให้ไว้แก่เด็ก ๆและชาวชุมชนทั้งสามหมู่บ้านได้อาศัยเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตราบนานเท่านาน

อ้อ !เกือบจะลืมก่อนเข้า - ออกป่าเห็ด ดิฉันแอบเห็นพวกเขายกมือไหว้ขออนุญาตต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และก็ขอบคุณหลังจากเก็บเสร็จแล้ว นี้ก็แสดงออกได้ว่าเด็ก ๆลูก ๆนักเรียนมีจิตใจ สะอาด บริสุทธิ์ จริง ๆ

ผู้เขียนชื่อ นางศิริมนต์ ละมุล ครูผู้ช่วย โรงเรียนบ้านบุ สพป.บร.เขต 3 เกิดความรักและภาคภูมิใจในความเคารพต่อธรรมชาติ "ขอคาราวะ เด็ก ๆที่เป็นครูสอนให้ครูได้เรียนรู้ในวันนี้จ๊ะ"

ภาพ เด็กๆจะใช้ไม้เขี่ยเพื่อหาดูเห็ดที่อาจซ่อนอยู่ใต้ใบไม้

ภาพ เมื่อพบเห็ดที่พอจะใช้ประโยชน์ได้ ก็เก็บโดยถอนจากบริเวณโคน

ภาพ เมื่อจะเก็บเห็ด ไม่มีภาชนะใส่ เด็กๆ ก็จะใช้ชายเสื้อทำเป็นถุงสำหรับเก็บเห็ด

ภาพ บางคนเตรียมนำถุงพลาสติกไปด้วย ก็จะใช้รวบรวมเห็ดที่เก็บได้

2 comments:

  1. น่ารักที่สุด อยากมีโอกาสไปเก็บเห็ดกับเด็กๆบ้าง จัง... ครูรินรดา

    ReplyDelete
  2. ผมนำข้อเขียนของ ศิริมนต์ ละมุล ครูผู้ช่วย โรงเรียนบ้านบุ สพป.บร.เขต 3 มานำเสนอครับ ผมขอขอบคุณแทนเขาด้วย

    ReplyDelete