Tuesday, September 18, 2012

มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น ต้องก้าวสู่ความเป็นนานาชาติมากขึ้น และอย่างรวดเร็ว


มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น ต้องก้าวสู่ความเป็นนานาชาติมากขึ้น และอย่างรวดเร็ว

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก  “Learning Curve: With a Push, Japan’s Universities Go Global.” เขียนโดย LUCY BIRMINGHAM / TOKYO | September 17, 2012 |

Keywords: brain drain, competitiveness, demographics, Education, education rankings, Globalization, Japan, Japanese schools, Japanese universities, Asia, Japan, World

เพื่อให้ประเทศญี่ปุ่นยังสามารถแข่งขันได้ในตลาดแรงงานโลก ญี่ปุ่นต้องเปิดรับนักศึกษา ครูอาจารย์จากต่างชาติ และส่งเสริมการเรียนการสอนแบบสองภาษา และส่งเสริมให้นักศึกษาญี่ปุ่นไปศึกษาต่อต่างประเทศ


ภาพ University students take part in a job expo in Tokyo on Jan. 8, 2011
นักศึกษามหาวิทยาลัยญี่ปุ่น กำลังเข้าร่วมในมหกรรมจัดหางานในกรุงโตเกียว วันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 2011

ญี่ปุ่นต้องเปิดรับนักศึกษาต่างชาติ เพราะประเทศกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจที่หดตัว ประชากรมีอายุมากขึ้น คนในวัยทำงานมีอย่างจำกัด ในขณะที่โลกภายนอกกำลังก้าวเดินไปอย่างรวดเร็ว ญี่ปุ่นเองจึงต้องก้าวสู่ความเป็นนานาชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนที่ต้องนำก่อนคือมหาวิทยาลัย โดยมีเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ต้องปรับมหาวิทยาลัยให้มีความเป็นสากล (Cosmopolitan) ต้อนรับนักศึกษาและครูอาจารย์นานาชาติ ส่งเสริมการเรียนการสอนสองภาษา (Bilingual programs) และสนับสนุนให้นักศึกษาญี่ปุ่นได้เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ คานิอากิ ซาโตะ (Kuniaki Sato) รองผู้อำนวยการสำนักอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า “โลกกำลังก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม”

แต่ทั้งๆที่รู้ แต่การเปลี่ยนแปลงในญี่ปุ่นก็เป็นไปอย่างช้าๆ และหนทางยังอีกยาวไกล แม้ว่าจะมีการจัดหาทุนการศึกษาให้เป็นหลายพันล้านเยน และส่งเสริมทุนการศึกษาให้นักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาในประเทศญี่ปุ่น แต่จากช่วงปี ค.ศ. 1950s จนถึงปี ค.ศ. 2009-2011 มีเพียงร้อยละ 4 ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น 750-760 แห่ง ที่มาจากประเทศอื่นๆ ส่วนอาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นเองที่อยากได้คณาจารย์ที่มีความหลากหลายจากนานาประเทศ ก็มีเพียงร้อยละ 5 ที่เป็นอาจารย์จากต่างประเทศ และส่วนใหญ่ของอาจารย์เหล่านี้คืออาจารย์ที่มาสอนภาษาอังกฤษ ส่วนโครงการที่ส่งเสริมให้นักศึกษาญี่ปุ่นไปศึกษาต่อต่างประเทศนั้น ร้อยละ 50 ต้องออกกลางครัน

บางคนโทษคนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นที่มีลักษณะมองเพียงภายในอย่างแคบๆ (Inward-looking) และปัญหาเช่นนี้เป็นผลจากสถาบันการศึกษา ญี่ปุ่นมีปีการศึกษาที่เริ่มในเดือนเมษายน แทนที่จะเป็นเดือนกันยายนเหมือนนานาชาติ นอกจากนี้ก็ยังมีความซับซ้อนในการเปรียบเทียบการโอนหน่วยกิต ความคลาดเคลื่อนต่างกันในเรื่องการจัดเวลาเรียนกับต่างประเทศ ทำให้นักศึกษาญี่ปุ่นเป็นกังวล เพราะมันทำให้เขาเสียโอกาสในการสมัครงานในประเทศญี่ปุ่น เพราะเริ่มตั้งแต่เรียนชั้นปีที่สามในมหาวิทยาลัย นักศึกษาญี่ปุ่นต้องเริ่มหางานกันแล้ว และหากเขาต้องไปศึกษาต่อต่างประเทศ เขาก็จะพลาดโอกาสงานนี้

เพื่อให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศ มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนแปลง ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแม้ชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นก็ไม่ได้ถูกจัดอันดับให้สูงนักเมื่อเทียบกับนานาชาติ มหาวิทยาลัย University of Tokyo ที่มีชื่อเสียงที่สุด อยู่ในอันดับที่ 30 เมื่อเทียบกับนานาชาติ Kyoto University มหาวิทยาลัยอันดับสองของญี่ปุ่น อยู่ในอันดับที่ 52 เมื่อเทียบกับนานาชาติ และมหาวิทยาลัยอันดับสามของญี่ปุ่นที่เป็นมหาวิทยาลัยเยี่ยมยอดทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ Tokyo Institute of Technology (TIT) ก็จัดอยู่ในอันดับที่ 108 เมื่อเทียบกับนานาชาติ

Yoshinao Mishima อธิการบดีคนใหม่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่เบื้องหลังการผลักดันเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่าง TIT ของญี่ปุ่นกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

“ในการส่งนักศึกษาญี่ปุ่นไปศึกษาต่างประเทศเป็นการแลกเปลี่ยน เราต้องการให้คณาจารย์ของเรา ได้รับการฝึกอบรมในสหรัฐอเมริกา และให้มีการจ้างคณาจารย์จากต่างประเทศเข้ามาทำงานสอนในมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง”

ในความพยายามก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ มหาวิทยาลัย Doshisha University ที่อยู่ในเมืองเกียวโต (Kyoto) เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยไม่กี่แห่งที่มีคณาจารย์เต็มเวลาที่เป็นชาวต่างชาติ ดังเช่น ศาสตราจารย์เกรกอรี่ พูล (Gregory Poole) ซึ่งถูกดึงตัวจ้างมาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น เพื่อมาสอนในสถาบันศิลปศาสตร์ที่ Doshisha ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2011 วิชาที่เปิดสอนที่นี่สอนเป็นภาษาอังกฤษ โดยมีการรับนักศึกษาต่างชาติปีละ 50 คน และนักศึกษาชาวญี่ปุ่นจากภาควิชาอื่นๆก็สามารถเข้าร่วมเรียนได้ “เราพยายามนำสิ่งใหม่เข้ามาล้างความอนุรักษ์เดิม” ศาสตราจารย์พูลกล่าว “แต่เราก็กำลังทำให้มันเป็นผลสำเร็จ”

มหาวิทยาลัย Tokyo University ได้ผลักดันโครงการชื่อโทดาอิ (Todai) ซึ่งผลักดันให้มีโปรแกรมการเรียนเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้นใน 2 โปรแกรมระดับปริญญาตรี โดยจะเริ่มในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2012 นี้ โดยมีนักศึกษา 38 คนจาก 14 ประเทศเข้าร่วม นักศึกษาชาวญี่ปุ่นเองสามารถเข้าร่วมเรียนได้ในชั้นปีที่ 3 และ 4 แต่การเลือกเปิดสอนในระดับปริญญาตรีเป็นภาษาอังกฤษในประเทศญี่ปุ่นก็เป็นเรื่องใหม่ ต้องใช้เวลาในการพัฒนา

โปรแกรม Todai นั้น ขณะที่มีนักศึกษาต่างชาติมาเรียนร้อยละ 18 ในระดับบัณฑิตศึกษา แต่ระดับปริญญาตรีแล้วมีเพียงร้อยละ 5 ที่เป็นนักศึกษาต่างชาติ และก็ยังไม่มีโปรแกรมแลกเปลี่ยนนักศึกษาอย่างเป็นทางการในขณะนี้

ความจริงการผลักดันให้ก้าวสู่ความเป็นนานาชาตินั้นเริ่มจากบนสู่ล่าง คือเริ่มจากกระทรวงศึกษาธิการ ดังโครงการ Global 30 initiative เริ่มในปี ค.ศ. 2008 เป้าหมายคือการให้มีนักศึกษาต่างชาติ 300,000 คน เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เลือกสรรแล้ว 30 แห่ง ภายในปี ค.ศ. 2020 แต่เพราะสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย จาก 30 จึงถูกตัดทอนเหลือ 11 สถาบันที่ได้เข้าร่วมโครงการ และมันก็เป็นการยากที่จะหาเงินสนับสนุนโครงการที่เพิ่งจะเริ่มการก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ

ในอีกด้านหนึ่ง นโยบายของรัฐบาลกลางก็เปลี่ยนไป คือแทนที่จะดึงเอานักศึกษาต่างชาติมาศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น โครงการใหม่ คือ Global 30 Plus จะเป็นการส่งนักศึกษาระดับปริญญาตรีของญี่ปุ่นไปศึกษาต่อต่างประเทศในมหาวิทยาลัยที่มีความร่วมมือกัน แทนที่จะเป็นการดึงนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนในประเทศญี่ปุ่น เป้าหมายคือเพื่อปรับปรุงเศรษฐกิจญี่ปุ่น คือให้นักศึกษาญี่ปุ่นได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ และขณะเดียวกัน ก็ได้ไปทำงานในบริษัทญี่ปุ่นที่จะทำการค้าไปทั่วโลกอยู่แล้ว ในแนวทางนี้ น่าจะเป็นผลดีมากกว่า

แต่ความสำเร็จของนักศึกษา ก็อาจทำให้เป้าหมายไม่ได้เป็นไปอย่างที่รัฐบาลต้องการ ตัวอย่าง Keisuke Kido ผู้จบการศึกษาจาก APU ในปี ค.ศ. 2007 เขาได้จัดตั้งบริษัทธุรกิจจัดการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศมาเลเซีย เพื่อช่วยให้คนญี่ปุ่นได้ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษใกล้กับสิงค์โปร์

“จริงๆแล้วใฝ่ฝันอยากกลับไปญี่ปุ่น และเริ่มธุรกิจใหม่ที่นั่น แต่เพราะสถานะทางการเมืองในประเทศญี่ปุ่นปัจจุบันยังไม่ดีนัก เงินเยนก็แข็งค่าเกินไปที่จะทำธุรกิจจากญี่ปุ่น เมื่อที่นี่ธุรกิจกำลังไปได้ดี จึงคิดว่าจะอยู่ที่นี่ต่อไปเรื่อยๆ”

No comments:

Post a Comment