Wednesday, October 31, 2012

ระบบการขนส่งมวลชนในมหานครนิวยอร์ค (Metropolitan Transportation Authority)


ระบบการขนส่งมวลชนในมหานครนิวยอร์ค (Metropolitan Transportation Authority)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การเมือง, การปกครอง, มหานคร, Global city, Mega city, New York, NYC, Borough, Mass transit system

มหานครนิวยอร์ค

ก่อนจะพูดถึงระบบการขนส่งมวลชนของเมืองใหญ่ ก็ต้องทำความเข้าใจสภาพความเป็นเมืองใหญ่ของมหานครนิวยอร์คเสียก่อน


อนุสาวรีย์เสรีภาพ (Liberty Statute), สัญญลักษณ์ของมหานครนิวยอร์ค

มหานครนิวยอร์ค (New York City – NYC) หรือเรียกอีกชื่อว่า The City of New York เป็นส่วนที่แตกต่างจากรัฐนิวยอร์ค (The State of New York) แต่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ จัดเป็นเมืองใหญ่และสำคัญระดับโลก (global power city) เมืองนิวยอร์คเป็นเมืองมีอิทธิพลทางด้านการค้า (Commerce), การเงิน (Finance), การสื่อสาร (Media), ศิลปะ (Art), แฟชั่น (Fashion), การวิจัย (Research), เทคโนโลยี (Technology), การศึกษา (Education), และบันเทิง (Entertainment) เป็นเมืองที่ตั้งขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Headquarters) นิวยอร์คเป็นศูนย์กลางของการทูตระหว่างประเทศ (International diplomacy) และได้รับการขนามนามว่าเป็นเมืองหลวงทางวัฒนธรรมของโลก (Cultural capital of the world)

เมืองนิวยอร์คมีที่ตั้งที่เป็นอ่าวตามธรรมชาติใหญ่ที่สุดของโลก มีเขตการปกครองแบ่งออกเป็น 5 เขตเรียกว่า boroughs แต่ละแห่งจัดเป็นเขต (County) ของรัฐ ซึ่ง 5 เขตที่เรียกว่า Boroughs นี้ ประกอบด้วย บรองซ์ (Bronx),บรูคลิน (Brooklyn),แมนฮัตตัน (Manhattan), ควีนส์ (Queens) , และเกาะสแตทตัน (Staten Island) ซึ่งทั้งหมดรวบรวมมาเป็นหนึ่งเมืองในปี ค.ศ. 1898 

ตามการสำรวจประชากรปี ค.ศ. 2011 นิวยอร์คมีประชากรอยู่ 8,244,910 คน กระจายอยู่ในพื้นที่ประมาณ 790 ตารางกิโลเมตร จัดเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในสหรัฐอเมริกา ในเมืองนี้มีคนพูดต่างภาษากัน 800 ภาษา ทำให้มีความแตกต่างหลากหลายทางภาษาที่สุดในโลก หากเราขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดิน แล้วลองฟังคนสองคนพูดกัน เป็นอันมาก เขาจะพูดกันด้วยภาษาที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ

บริเวณเมืองนิวยอร์คและปริมณฑล ซึ่งเรียกว่า New York City Metropolitan Area  มีคนประมาณ 18.9 ล้านคนกระจายตัวเองอยู่ในพื้นที่ 17,400 ตารางกิโลเมตร และจัดเป็นพื้นที่ๆมีประชากรหนาแน่นที่สุดในสหรัฐ (Combined statistical area) ล่สุดมีประชากรในปี ค.ศ. 2010 อยู่ที่ 22.1 ล้านคน

ย้อนหลังไปเมื่อปี ค.ศ. 1624 นิวยอร์คเป็นท่าค้าขายของอาณานิคมสาธารณรัฐดัช (Dutch Republic) ในระยะนั้นเรียกว่า New Amsterdam อันเป็นการตั้งชื่อตามเมืองหลวงของดัชหรือเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน ต่อมาเมืองนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา

ต่อมาพื้นที่อาณานิคมของดัชได้ถูกยืดครองโดยอังกฤษในสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่สอง (King Charles II of England) แห่งประเทศอังกฤษ ซึ่งได้ยกที่ดินนี้ให้แก่น้องชาย คือ Duke of York จึงได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น New York

ในช่วงของการก่อตั้งประเทศ ราวปี ค.ศ. 1785 ถึง 1790 เมืองนิวยอร์คได้เป็นเมืองหลวงของสหรัฐ และได้กลายเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันเมืองมีอนุสาวรีย์เสรีภาพ (Statue of Liberty) เป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์ประเทศอเมริกา มีผู้คนนับล้านๆคนที่อพยพมายังประเทศอเมริกาโดยผ่านทางท่ารับผู้เดินทางที่มาทางเรือในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20

หลายเขตของนิวยอร์คจัดเป็นสถานที่ๆคนรู้จักทั่วโลก ในทุกๆปีมีคนมาเยี่ยมนิวยอร์คปีละ 50 ล้านคน ดังเช่น Times Square จัดเป็นย่านจับจ่ายที่เป็นดัง “ทางแพร่งของโลก(Crossroads of the World) ย่าน Broadway theater district จัดเป็นย่านศิลปะการแสดงและมหรสพ เป็นย่านที่คนมาเดินเที่ยวมากที่สุด จัดเป็นย่านอุตสาหกรรมบันเทิง (Entertainment industry) นิวยอร์คมีสะพาน ตึกระฟ้า (skyscrapers) และสวนสาธารณะ (Parks) ที่มีชื่อเสียงมากมาย

นิวยอร์คจัดเป็นเมืองศูนย์กลางทางธุรกิจ (Financial capital of the world) เป็นที่ตั้งของตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เมืองนี้จัดเป็นที่ๆมีราคาแพงที่สุดของโลก ย่านชาวจีนของนิวยอร์ค หรือ Manhattan's Chinatown จัดว่าเป็นที่ๆมีชุมชนชาวจีนหนาแน่นที่สุดทางโลกตะวันตก มีกิจการดำเนินไปแบบ 24/7 หรือ 24 ชั่วโมงของแต่ละวัน และ 7 วันต่อสัปดาห์ เรียกว่าชีวิตของเมืองดำเนินไปโดยเหมือนไม่มีเวลาหยุดหรือหลับไหล

ที่เมืองนิวยอร์คมีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง Columbia UniversityNew York University,  และ Rockefeller University ที่ติดอันดับระดับดีที่สุด 50 แห่งมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

ระบบการขนส่ง

สำหรับเมืองที่มีขนาดใหญ่และทันสมัยเช่นที่นิวยอร์คนี้ ระบบการขนส่งมวลชน (Mass Transit System) ย่อมมีความสำคัญอย่างมาก คนในมหานครนี้ร้อยละ 75 เดินทางโดยไม่ต้องใช้รถส่วนตัว ต่างจากเมืองใหญ่อื่นๆของสหรัฐอเมริกา ดังเช่นที่ Los Angeles ทางฝั่งตะวันตก, Houston, Dallas ทางตอนใต้ ซึ่งเมืองทั่วไปของอเมริกามักต้องพึ่งพาการใช้รถยนต์ส่วนตัว

ระบบการขนส่งมวลชนในมหานครนิวยอร์ค (Metropolitan Transportation Authority) หรือเรียกย่อๆว่า MTA เป็นระบบที่จัดตั้งเป็นองค์การเพื่อให้บริการขนส่งมวลชนแก่คนในมหานครนิวยอร์ค โดยผ่านหน่วยงานหลายแห่งที่รัฐบาลเมืองให้การสนับสนุน


ภาพ รถไฟฟ้าใต้ดิน (Subway) ดำเนินการโดยองค์การ MTA ของเมืองนิวยอร์ค

MTA New York City Transit ให้บริการการขนส่งด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน (Subway) รถประจำทาง โดยให้บริการไปทั่วเขตบริหาร (Boroughs) ของมหานครนิวยอร์ค ระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน (Subway system) จัดเป็นระบบที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง มีรางยาว 1,160 กิโลเมตร มีสถานี 468 แห่ง มีระบบรถไฟที่เกาะ Staten Island Railway โดยวิ่งไปตามความยาวของเกาะ Staten


ระบบรถประจำทาง (MTA Regional Bus Operations) โดยมีบริการรถประจำทางที่มีชื่อเป็นสองยี่ห้อ ระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน ระบบรถประจำทาง และเรือข้ามฟาก เป็นระบบที่เชื่อมโยงต่อกัน ใช้ตั๋วการเดินทางร่วมกัน ระบบรถประจำทางของ MTA 2 ระบบ คือ

MTA New York City Bus เป็นบริการรถประจำทางเกือบทั้งหมดที่วิ่งในเมืองนิวยอร์คทั้ง 5 เขตบริหาร
MTA Bus Company เป็นบริการที่เคยดำเนินการโดยบริษัทเอกชนภายใต้สัญญากับหน่วยคมนาคมของมหานครนิวยอร์ค

MTA Long Island Rail Road เป็นบริการขนส่งมวลชนที่ให้บริการเกือบทั้งหมดของ Long Island โดยมีจุดหมายปลายทางไปที่ Queens, Nassau และ เขตปกครอง Suffolk (Counties) โดยมีสายการเดินรถหลัก 2 สาย และสายสนับสนุนอีก 6สาย

สำหรับการเดินทางไปยังเกาะสแตทตัน (Straton Island)


ภาพ เรือข้ามฟากระหว่างเกาะสแตทตัน กับแมนฮัตตัน บริการฟรี เส้นทางผ่านอนุสาวรีย์เสรีภาพ นั่งเรือรับอากาศเย็นๆจากทะเลมีความสุข

สำหรับเรือข้ามฟาก (Ferry) จากส่วนอื่นๆไปยังเกาะสแตทตัน (Staten Island) และกลับ ส่วนหลักเป็นของกรมการขนส่ง (Department of Transportation - DOT) ของเมืองนิวยอร์ค (ไม่ใช่ของรัฐบาลกลางหรือของรัฐ) หากใครจะสังเกต การใช้บริการเรือข้ามฟากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่การจะไปถึงที่ท่าเรือข้ามฟากของทั้งสองฝั่ง ก็มักจะต้องใช้บริการรถประจำทางหรือรถไฟฟ้าใต้ดินมาก่อน

MTA Metro-North Railroad หรือระบบทางรถไฟวิ่งไปทางเหนือ เป็นระบบขนส่งมวลชนที่การเดินทางแบบไปเช้าเย็นกลับ ยัง The Bronx, Westchester County, Putnam County, Dutchess County และ ทางตอนใต้ของรัฐ Connecticut ไปยังสถานีรถไฟกลาง (Grand Central Terminal) ที่อยู่ในเกาะแมนฮัตตัน อันเป็นเขตชุมชนกลางที่สุดของมหานครนิวยอร์ค ระบบนี้มีความร่วมมือกับระบบของรัฐใกล้เคียง คือ New Jersey Transit โดยระบบ Metro-North Railroad ให้บริการเดินทางแบบไปเช้าเย็นกลับไปยัง Hoboken, New Jersey จาก Port Jervis และ Spring Valley ซึ่งเป็นเขตชุมชนหนาแน่นที่อยู่โดยรอบของมหานครนิวยอร์ค


ภาพ หากใครจะไปเที่ยวเมืองนิวยอร์ค ให้ศึกษาการใช้บริการระบบขนส่งมวลชน ทั้งระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน และระบบรถประจำทาง ตามสุภาษิตที่ว่า "If you live in Rome, behave like a Roman." แปลงเป็นนิวยอร์ค หากจะใช้ชีวิตในนิวยอร์ค ต้องเรียนรู้ระบบการขนส่งของเขาด้วย เริ่มแรกด้วยการศึกษาแผนที่ ซึ่งมีแจกทีสถานีรถไฟฟ้า


ภาพ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (MTA Subway Station) มีกระจายอยู่ทั่วเมืองนิวยอร์ค

เฉพาะรถไฟฟ้าใต้ดิน รถประจำทางภายในเมืองนิวยอร์คที่ดำเนินการโดย MTA จะมีค่าบริการแบบสนับสนุนโดยเมือง ซึ่งจะใช้เงินจากภาษีที่เมืองจัดเก็บ โดยนโยบายเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ค เขาไม่อยากให้คนใช้รถส่วนตัวกันมาก เพราะจะมีปัญหาด้านที่จอดรถ และจะไม่มีถนนพอให้รถวิ่ง แต่ค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชน จะเป็นแบบเก็บไม่แพง เก็บแบบเหมาจ่าย ส่งเสริมให้คนใช้บริการ หากจะท่องเที่ยวเมืองนิวยอร์ค จะเป็นหลายวัน ก็เลือกซื้อบริการแบบเหมารายสัปดาห์ หากเป็นคนที่ทำงานในเมืองนิวยอร์ค แล้วต้องเดินทางไปและกลับจากที่ทำงาน (Daily commuters) ทุกวัน ก็เลือกซื้อตั๋วเหมารายเดือน จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก

ส่วนคนที่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว แล้วเดินทางภายในเมืองนิวยอร์ค ก็ต้องคุ้นกับวัฒนธรรมหาที่จอดรถยาก หรือมีที่จอดรถ แต่ก็ด้วยราคาแพงมากๆ ตกวันละเป็นพันบาทไทย เพื่อต้องการจอดรถเพียงไม่กี่ชั่วโมง คนจากต่างเมืองต้องการไปเที่ยวหรือทำธุระในเมืองนิวยอร์ค ก็สามารถไปจอดรถบริเวณชานเมืองในที่ๆเขามีบริการ “จอดแล้วใช้ระบบขนส่งสาธารณะ” (Park & Ride) เพื่อเดินทางเข้ามาในส่วนในของเมือง เพราะระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้าใต้ดิน MTA จะสะดวกกว่ามาก โดยเฉพาะในช่วงการเดินทางชั่วโมงเร่งด่วนตอนเช้า หรือตอนคนเลิกงานกลับบ้าน


ภาพ สถานีรถไฟฟ้าที่เมื่ออกมานอกเมือง ก็จะเป็นแบบรางยกระดับเหนือพื้นดิน คล้าย BTS ของกรุงเทพมหานคร สถานีแบบอยู่บนดินหรือเหนือดิน มักจะเป็นช่วงออกมาชานเมืองแล้ว
 

ภาพ ทางเข้าและออกของสถานีรถไฟฟ้า MTA ระบบตั๋วเป็นแบบไม่ได้คิดเป็นระยะทาง จะเข้าที่ไหนและจะออกที่ไหน คิดเป็น 1 ครั้ง สามารถขึ้นมาแล้วมาต่อรถประจำทางได้ 1 ครั้งภายในไม่เกิน 2 ชั่วโมง


ภาพ รางรถไฟใต้ดิน บางแห่งอยู่ลึกลงไปใต้ดินมาก หากมีคนต้องใช้บริการมาก เขาจะจัดระบบบันไดเลื่อน ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารระดับหนึ่ง แต่หากเป็นสถานีที่ไม่มีคนใช้บริการมากนัก ก็ต้องเดินเอา


ภาพ ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน MTA มีเป็นจำนวนมากต่อวัน ระบบของเขาจึงไม่หยุมหยิม


ภาพ ทางขึ้นและลงสถานีรถไฟฟ้า MTA จะมีลักษณะคล้ายดังในภาพ มีอยู่ทั่วเมืองนิวยอร์ค


ภาพ บรรยากาศภายในรถไฟฟ้า ดูคล้ายๆกับรถไฟฟ้า BTS ของกรุงเทพมหานคร คนใช้บริการมาจากหลากหลายเผ่าพันธุ์ หลากหลายสถานะทางเศรษษฐกิจและการอาชีพ

แนวคิดของระบบขนส่งมวลชน

ใช้ระบบขนส่งโดยระบบราง (Rail system) ให้มากที่สุด มีระบบสายการเดินรถและสถานีให้ครอบคลุมให้ได้มากที่สุด ถ้าเข้าสู่พื้นที่ชุมชนเมือง ย่านศูนย์การค้ากลางเมือง ก็จะเป็นระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน เรียกว่า Subway หากเป็นการวิ่งออกไปแถบชานเมืองแล้ว ก็เป็นระบบยกรางเหนือถนน คล้ายกับรถไฟลอยฟ้าในกรุงเทพฯ

ใช้รถประจำทาง (Bus system) เป็นระบบที่ต้องประสานและเชื่อมต่อกับระบบราง ใช้ตั๋วหรือค่าโดยสารร่วมกัน ไม่มีคนเก็บตั๋ว คนจะเดินทางต้องรู้ว่าจะซื้อตั๋วที่ไหน แล้วเรียนรู้ระบบการใช้ให้ดี

ระบบขนส่งมวลชน จะเชื่อมต่อไปจนถึง ระบบรถไฟ สนามบิน ท่าเรือ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของคน ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง

ระบบค่าโดยสารจะเป็นแบบสนับสนุนให้มีราคาต่ำ อำนวยความสะดวกให้แก่คนทำงานในเมือง และคนที่ต้องเดินทางระหว่างเมือง ทำให้เมืองมีความดึงดูดเป็นศูนย์กลางของหลายๆอย่าง และเมื่อมีธุรกรรมในเมืองมากๆ สามารถสร้างงานที่มีรายได้ ฐานภาษีรายได้ที่จะนำมาพัฒนาเมืองก็มีมากขึ้น

No comments:

Post a Comment