Sunday, April 21, 2013

นั่งรถประจำทาง 10 ชั่วโมง ต่อเนื่อง


นั่งรถประจำทาง 10 ชั่วโมง ต่อเนื่อง

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: บันทึกชีวิต, Life diary, การเดินทาง, transportation, traveling, รถโดยสาร, bus, สุรินทร์, Surin Province, High speed rail, High speed train

ความนำ

 การไปทำงานต่างจังหวัด ได้เห็นทิวทัศน์ที่แปลกตา ก็นับว่าเป็นเรื่องสนุก แต่หากต้องเดินทางหลายๆครั้ง และครั้งละนานๆ นั่นก็เป็นการบั่นทอนสุขภาพ และกำลังใจได้ โดยเฉพาะในเหตุการณ์ดังที่ได้เกิดขึ้นต่อไปนี้

เฉพาะในวันอาทิตย์ 21 เมษายน 2556 ผมเดินทางด้วยรถกิจการทัวร์จากเมืองสุรินทร์กลับบ้านที่กรุงเทพฯ เหมือนเช่นเคยที่กระทำเป็นหลายร้อยครั้ง

การเดินทาง


ภาพ การเดินทางโดยรถโดยสารปรับอากาศ สุรินทร์-กรุงเทพฯ ระยะทาง 450 กม. ใช้เวลาปกติ 7 ชั่วโมง


รถโดยสารแบบ 30 ที่นั่ง สะบายพอสำหรับคนตัวโตอย่างนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก

ออกเดินทางจากสุรินทร์เวลา 16:30 น. เลือกเวลาดังกล่าวเพราะเป็นเที่ยวที่เมื่อเลิกสอนเวลาสัก 15:30 น. จากที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ (Surindra Rajabhat University – SRRU) ก็มาขึ้นรถที่ในตัวเมือง นับว่าไม่เสียเวลา อีกประการหนึ่งมันเป็นเที่ยวรถ 30 ที่นั่ง นั่งได้สบาย ไม่ต้องอึดอัด มีหยุดกลางทาง 20 นาที เพื่อพักรับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ และโดยทั่วไปจะถึงสถานีรถโดยสารหมอชิตที่กรุงเทพฯเวลา 23:30 น. ได้เข้านอนสักเที่ยงคืน ทำให้ไม่ต้องอ่อนเพลียมากนัก วันรุ่งขึ้นมีอะไรทำก็ไม่เสียเวลา
แต่เข้าใจว่าในช่วงวันดังกล่าว รถอาจมีปัญหาเบรกหม้อลม แม้คนขับรถโดยสารแวะอู่ซ่อมระหว่างทางมาแล้ว แต่ก็คงจะซ่อมไม่ได้สมบูรณ์ คนขับรถโดยสารก็เลยต้องขับอย่างช้าๆอย่างเรียกว่า “คลาน” มาเกือบตลอดทาง ทำให้มาถึงสถานีหมอชิตเอาเวลา 2:30 น.ของวันใหม่ คือที่ 22 เมษายน รวมเวลาเดินทาง 10 ชั่วโมง ซึ่งเกินจากปกติไปอีก 3 ชั่วโมง ปกติใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง ต้องใช้เวลาอยู่บนรถโดยสารอย่างต่อเนื่อง 7 ชั่วโมง




ภาพ สภาพร้านอาหาร (Food center) ที่พักรถกลางทาง ถ่ายที่ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. หนองบุญมาก นครราชสีมา ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 4 ชั่วโมง 30 นาทีการเดินทาง


ภาพ ข้าวมันไก่ อาหารจานเดียวอย่างง่ายๆที่มีบริการกลางทาง เป็นส่วนหนึ่งของบริการค่าโดยสาร


สิ่งที่จะตามมาอีกคือ เมื่อกลับเข้าบ้านแล้วจะหลับไม่ได้เร็วๆ จะนอนหลับช้าลงไปอีก เพราะมันเลยเวลา และได้หลับๆตื่นๆในรถมาแล้ว ที่สำคัญเวลาที่ยืดยาวออกไปนั้น คือได้เข้าห้องน้ำปัสสาวะครั้งสุดท้าย เมื่อรถหยุดกลางทางรับประทานอาหารเย็นแถวอำเภอหนองบุญมาก นครราชสีมา เวลา 19:30 น. แต่จากเมื่อออกรถในเวลา 19:50 น. ไปจน 2:30 น.ของวันใหม่ รวมยาว 7 ชั่วโมงโดยไม่ได้เข้าห้องน้ำ เขามีห้องน้ำบนรถโดยสารให้ แต่มันจะไม่สะดวก

เผอิญผมเตรียมตัวพร้อม คือไม่ได้ดื่มน้ำมากในช่วงเวลาดังกล่าว แต่การนั่งอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 7 ชั่วโมง มันเป็นผลไม่ดีต่อร่างกาย โดยเฉพาะระบบขับถ่ายทั้งหลาย การผจญภัยด้วยการทนร้อนบ้าง หนาวบ้าง หรือต้องออกกำลังเดินขึ้นเขาลงห้วยบ้าง ได้เหนื่อยบ้าง ดังนี้ไม่เป็นปัญหาสำหรับผม แต่การที่ต้องนั่งนิ่งๆนานๆ ในรถโดยสาร ที่เมื่อยที่สุดก็คือเมื่อยก้น ต้องยันตัวเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะๆ มันเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีจริงๆเลย

ความหวัง


ภาพ รถไฟความเร็วสูงที่มีใช้ในประเทศรัสเซีย (Russia High Speed Rail)

ด้วยเหตุดังกล่าว และด้วยข้อจำกัดของการเดินทางของคนในจังหวัดอย่างสุรินทร์ และรวมถึงบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ฯลฯ ที่ห่างจากกรุงเทพฯ บ้านของผม 450-550 กิโลเมตร ในระยะกลางๆ เช่นนี้ ไม่สะดวกที่จะใช้เครื่องบิน และรถไฟปกติก็ใช้เวลานาน ผมจึงเห็นประโยชน์ของรถไฟความเร็วสูง (High-speed trains/rail system) มากกว่าคนทั่วไป เพราะต้องเดินทางในลักษณะดังกล่าวมากว่า 150 x 2 = 300 เที่ยวในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ถ้ารัฐบาลพัฒนารถไฟความเร็วสูงได้แล้วให้บริการระยะทาง 400-550 กิโลเมตรได้ในราคาไม่เกินกิโลเมตรละ 2.5 บาท ผมคงจะเสียค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงนี้ไปสุรินทร์ เที่ยวละประมาณ 1,125 บาท ถือว่าเป็นราคาที่รับได้สำหรับคนที่ต้องทำงาน


ภาพ ร้านกาแฟ Coffee ยุคใหม่ที่เปิดให้บริการในจังหวัดสุรินทร์
(A coffeeshop, Surin City, Surin Province)

No comments:

Post a Comment