Wednesday, April 17, 2013

Thatcherism สิ่งที่มาร์กาเร็ต แธทเชอร์ฝากไว้


Thatcherism สิ่งที่มาร์กาเร็ต แธทเชอร์ฝากไว้

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การเมือง, การปกครอง, เศรษฐกิจ, สหราชอาณาจักร, United Kingdom, มาร์กาเร็ต แธทเชอร์, Margaret Thatcher, พรรคอนุรักษ์นิยม, Conservative Party, Thatcherism, จอห์น เมเจอร์ (John Major), โทนี่ แบลร์ (Tony Blair), กอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) และเดวิด คาเมรอน (David Cameron)


ภาพ เตรียมงานศพอย่างเป็นทางการของมาร์กาเร็ต แธทเชอร์ ผู้เสียชีวิตไปด้วยวัย 87 ปี


ภาพ นางมาร์กาเร็ต แธทเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ผู้ทำให้เกิด Thatcherism


ภาพ พันธมิตรสำคัญของมาร์กาเร็ต แธทเชอร์ ที่มีความเชื่อและแนวทางการเมืองในแบบเดียวกับเธอ คือ ประธานาธิบดีโรนัล เรแกน ของสหรัฐอเมริกา และมีอำนาจทางการเมืองในช่วงเวลาเดียวกัน

Thatcherism หมายถึง เป็นคำอธิบายถึงความเชื่อทางการเมือง เศรษฐกิจ และนโยบายสังคม และสไตล์ทางการเมืองของผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ และผู้นำทางการเมือง มาร์กาเร็ต แธทเชอร์ (Margaret Thatcher) ผู้เป็นหัวหน้าพรรคในช่วงปี ค.ศ. 1975 ถึง ค.ศ. 1990 Thatcherism เป็นคำกล่าวถึงความเชื่อของรัฐบาลสหราชอาณาจักรในช่วงที่แธทเชอร์เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1979 ถึง ธันวาคม ค.ศ. 1990 และหลังจากนั้น ในยุคของนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรในระยะต่อมา อันได้แก่จอห์น เมเจอร์ (John Major), โทนี่ แบลร์ (Tony Blair), กอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) และเดวิด คาเมรอน (David Cameron) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แม้ในช่วงเวลาต่อมา จะมีผู้นำจากพรรคแรงงานดังนายโทนี่ แบลร์ และกอร์ดอน บราวน์ได้ดำรงตำแหน่งต่อมา แต่ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแนวทางนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมของอังกฤษไปมากนัก แนวทาง Thatcherism ยังคงมีความสำคัญอยู่
แนวทางหลักของ Thatcherism คือ

1.    การให้เสรีภาพแก่บุคคล (Individual liberty) โดยหลักให้คนเป็นใหญ่ แต่รัฐบาลให้เล็กที่สุด เสรีภาพของบุคคล คือเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น ที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เสรีภาพที่จะมีทรัพย์สิน และความมั่งคั่ง

2.    ความเชื่อในหลักทุนนิยม (Capitalism) การสร้างความเชื่อว่า คนแต่ละคนจะมีฐานะ มีความกินดีอยู่ดีได้ (Individual wealth) หากทำงานหนัก และมีความสามารถ รัฐบาลทำให้ทุกคนมีฐานะเท่าเทียมกันไม่ได้ แต่จะให้โอกาสแก่ทุกคนที่จะมีส่วนในความมั่งคั่งของประเทศได้

3.    การมีนโยบายเก็บภาษีในระดับต่ำ (Low tax) ต่างจากแนวทางสังคมนิยมและรัฐสวัสดิการในยุคก่อนหน้านั้น ที่เก็บภาษีหนัก แล้วให้บทบาทรัฐบาลในการจัดการความมั่งคั่ง เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวม ที่สำคัญคือการต้องมีรัฐสวัสดิการ

4.    การเปลี่ยนผ่านกิจการวิสาหกิจของรัฐไปให้เอกชนทำ (Privatization) แต่จะเน้นการกระจายความเป็นเจ้าของไปสู่คนชั้นกลางทั่วไป มากกว่าจะให้ตกอยู่แก่นายทุน หรือบริษัทขนาดใหญ่ และนี่คือความสำเร็จของนางแธทเชอร์และการเมืองอังกฤษ

5.    การลดบทบาทของสหภาพแรงงาน (Anti unionism) โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ ลดโอกาสในการนัดหยุดงาน แต่นี่ก็คือผลที่ทำให้กิจการสำคัญหลายอย่างของอังกฤษต้องสูญหายตายจากไป เช่น กิจการบิน การผลิตรถยนต์ เหมืองถ่านหิน ฯลฯ

แธทเชอร์สามารถทำได้ด้วยสไตล์การเป็นนักการเมืองที่ไม่เหมือนใครในยุคก่อนหน้านั้น ทั้งนี้ โดยมีลักษณะสำคัญ คือ

การมีความเชื่อมั่นในทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจที่ตนนำเสนอ (Commitment) แธทเชอร์เป็นนักการเมืองโดยอาชีพ เคยมีงานด้านธุรกิจ แต่เมื่อเข้ามาทำงานการเมือง ก็ฝึกสร้างทักษะทางการเมือง ศึกษาแนวคิดทางเศรษฐกิจ จนมั่นใจได้ว่า สิ่งที่เธอนำเสนอนั้น จะเป็นที่ยอมรับได้โดยคนส่วนใหญ่ของอังกฤษ

การมุ่งมั่นที่จะทำไปตามยุทธศาสตร์และสไตล์การบริหารของตน (Determination) เพราะระหว่างที่เข้ามารับตำแหน่งนั้น คนอังกฤษทั่วไปได้สูญเสียความเชื่อมั่นในตนเองและประเทศอังกฤษไปมาก อังกฤษในยุคก่อนหน้านี้ คนอังกฤษเขาเรียกตัวเองอย่างเยาะหยันว่า “คนป่วยแห่งยุโรป”  (The sick man of Europe)

ความเชื่อมั่นในชาตินิยม (Nationalism) ดังจะเห็นได้จากในช่วงอาร์เจนติน่าบุกเกาะฟอล์คแลนด์ (Falkland invasion) นางมาร์กาเร็ต แธทเชอร์ ไม่ยอมเจรจา และสั่งกองทัพเรืออังกฤษเข้าตอบโต้ และยึดเกาะคืนทันที และด้วยความเชื่อมั่นแม้แบบชาตินิยม แต่เมื่อชนะสงคราม ก็ทำให้ได้รับคะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถครองอำนาจทางการเมืองอย่างต่อเนื่องอีกยาวนาน และแม้เมื่อตนเองคะแนนนิยมตกลง ต้องลาออกจากผู้นำพรรค แต่พรรคอนุรักษ์นิยมก็ยังครองอำนาจ เป็นรัฐบาลได้ต่อไป


ภาพ ทหารอาร์เจนติน่าถูกจับเป็นเชลย หลังแพ้สงครามอย่างราบคาบ


ภาพ อาวุธของฝ่ายอาร์เจนติน่าที่แพ้สงครามบนเกาะฟอล์คแลนด์

สงครามเกาะฟอล์คแลนด์ (Falklands Invasion) ระหว่างสหราชอาณาจักรกับอาร์เจนติน่า เริ่มต้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1982 และจบลงในวันที่ 14 มิถุนายนในปีเดียวกันด้วยชัยชนะของอังกฤษ กินเวลานาน 2 เดือน 1 สัปดาห์ กับอีก 5 วัน

ให้ความสำคัญต่อความเชื่อมั่นในตนเองและนโยบายของตน (Care for respect not love) มากกว่าการเป็นที่ชื่นชอบของผู้คน นอกจากจะเน้นนโยบายที่แข็งกร้าวต่ออาร์เจนติน่าแล้ว ในกรณีของการแก้ปัญหาความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือ แธทเชอร์ไม่เคยยอมเจรจาเพื่อหาทางยุติความรุนแรง การเจรจาแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้เกิดขึ้น จนกระทั่งในสมัยของนายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ (Tony Blair) จากพรรคแรงงาน

การครองอำนาจของแธทเชอร์ไม่ใช่จะสมบูรณ์แบบ เพราะในยุคที่เธอรับผิดชอบ อังกฤษมีความแตกแยก (Polarization) กว้างขวางอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อังกฤษมีปัญหาด้านการว่างงานสูง (Unemployment) หลายอุตสาหกรรมต้องล้มไป แล้วงานก็ไปตกอยู่กับนอกประเทศ นางและพรรคอนุรักษ์นิยมมีฝ่ายต่อต้านไม่เห็นด้วย นอกเหนือจากฝ่ายพรรคแรงงาน สหภาพแรงงาน ข้าราชการ นักวิชาการในมหาวิทยาลัย คนระดับรากหญ้า และในสังคมโลก นางแธทเชอร์เป็นฝ่ายที่ไม่ยอมรับค่าเงินยูโร (Euro) แต่ยังคงใช้ค่าเงินปอนด์ ที่ยังใช้อยู่จนในปัจจุบัน

แต่กระนั้น แม้ฝ่ายตรงข้ามของเธอ ก็ต้องยอมรับว่ามาร์กาเร็ต แธทเชอร์ ไม่ใช่นักการเมืองธรรมดา สมแล้วกับที่สื่อมวลชนของรัสเซียให้ฉายาเธอว่า “หญิงเหล็ก” หรือ The Iron Lady

No comments:

Post a Comment