Tuesday, April 30, 2013

โครงการรถไฟความเร็วสูงวิ่งเหนือ-ใต้ของเวียดนาม


โครงการรถไฟความเร็วสูงวิ่งเหนือ-ใต้ของเวียดนาม

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia

Keywords: การคมนาคม, transportation, traveling, การขนส่ง, รถไฟ, trains, rail system, รถไฟความเร็วสูง, High-Speed Rail System – HSR, เวียดนาม, Vietnam, Ho Chi Minh City, Hanoi, North-South Express Railway, Japan, JICA, ชิงกันเซน, Shinkansen

สำหรับประเทศไทย ประเทศที่มีแผนการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (High-Speed Rail System) ที่ควรสนใจคือประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในภาคพื้นทวีป อันได้แก่ ประเทศเวียดนาม ลาว กัมพูชา และพม่า 3 ประเทศหลังมีพรมแดนติดกับไทย แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงกำลังพัฒนาที่ยังห่างจากความสามารถที่จะสนับสนุนโครงการที่ต้องใช้เงินมหาศาลดังรถไฟความเร็วสูง แต่ที่มีความจริงจังระดับแสวงหาแหล่งเงินทุนแล้วคล้ายๆกับไทย คือเวียดนาม

บริษัทรถไฟแห่งชาติของเวียดนาม เรียกว่า Vietnam Railways ได้เสนอแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูงระยะทาง 1,630 กิโลเมตร เป็นรถไฟที่ใช้ระบบรางรองรับความเร็วได้ระหว่าง 250-300 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยใช้เงินประมาณ 56,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,680,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 76 ของประเทศไทย ซึ่งไทยเสนอที่ประมาณ 2.0-2.2 ล้านล้านบาท ทางรถไฟนี้ เรียกว่า “North-South Express Railway” จะเชื่อมระหว่างเมืองฮานอย (Hanoi) เมืองหลวงทางตอนเหนือ กับเมืองโฮจิมิน (Ho Chi Minh City) เมืองหลักของเวียดนามทางตอนใต้

ประเทศที่เวียดนามหวังได้ความร่วมมือคือญี่ปุ่น ที่มีเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง “ชิงกันเซน” (Shinkansen) และความเป็นแหล่งเงินทุน

ในปัจจุบัน การเดินทางระหว่างสองเมืองหลัก ระหว่างเหนือกับใต้ดังกล่าวของเวียดนาม ทางรถไฟเป็นแบบรางเดี่ยว (Single track) และเป็นระบบทางแคบ (Narrow Gauge)  คล้ายๆกับในประเทศไทย ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทาง 30 ชั่วโมง หรือความเร็วประมาณชั่วโมงละ 54.3 กิโลเมตร แต่เมื่อเป็นรถไฟความเร็วสูง สาย North-South Express Railway จะใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง หรือ 1 ใน 6 ของเวลาในปัจจุบัน

นายกรัฐมนตรีเวียดนาม นายเหงียน ตันดุง (Nguyen Tan Dung) ได้กล่าวอย่างมุ่งมั่นที่จะทำให้โครงการรถไฟความเร็วสูง เสร็จเร็วกว่าแผนที่เคยเสนอ 3 ปี โดยเดิมเสนอว่าจะใช้เวลารวม 9 ปี ฝ่ายญี่ปุ่นผู้ได้รับการคาดหวังจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนให้ความเห็นว่าแผนนี้จะเสร็จได้ก็ในราวๆกลางทศวรรษที่ 2030s นั่นคือใช้เวลาประมาณ 15-20 ปี


ภาพ เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงชิงกันเซนของญี่ปุ่น อย่างที่ใช้ในประเทศไต้หวัน

นอกจากนี้ทางญี่ปุ่นให้ทัศนะว่า ในเชิงความช่วยเหลือจะผูกพันกับเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงชิงกันเซนของญี่ปุ่น แต่ในวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 2010 หลังจากอภิปรายศึกษาในรายละเอียดในสภานานเป็นเดือน สภาแห่งชาติเวียดนามก็ปฏิเสธโครงการรถไฟความเร็ว ด้วยเหตุที่ค่าใช้จ่ายแพงเกินไป สภาแห่งชาติได้เสนอให้กลับไปศึกษาหาวิธีการใหม่

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2011 รัฐมนตรีว่าการคมนาคมของเวียดนาม นายโฮ เงียดุง (Ho Nghia Dung) ได้เสนอว่าทางรถไฟสามารถทำให้เสร็จได้ในปี ค.ศ. 2030 โดยระยะทางลดลงเหลือ 1,555 กิโลเมตร และใช้ระบบรถไฟและรางที่วิ่งได้ด้วยความเร็ว 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง แผนงานยังได้รับคำท้วงติงให้ต้องกลับไปศึกษาใหม่อีกครั้ง

ซูจิ อีกูชิ (Shuji Eguchi) ผู้อำนวยการสำนักงานการรถไฟในกระทรวงการคมนาคมของญี่ปุ่น กล่าวว่า การสนับสนุนของญี่ปุ่นจะเน้นไปที่การส่งออกระบบเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานดังรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่น คือ ชิงกันเซน และการดำเนินการของเวียดนามน่าจะเป็นการดำเนินการในระยะยาว และดำเนินการอย่าง “ค่อยเป็นค่อยไป” และในช่วงแรกนี้เวียดนามคงต้องการการฝึกอบรมกำลังคนและการปรับปรุงระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลพื้นฐาน

ประเทศเวียดนาม (Vietnam) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Socialist Republic of Vietnam) เป็นประเทศที่อยู่ตะวันออกสุดของแหลมอินโดจีน (Indochina Peninsula) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (Southeast Asia)

ในปี ค.ศ. 2012 เวียดนามมีประชากร 90.3 ล้านคน นับเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 13 ของโลก เป็นอันดับที่ 8 ในเอเชีย เวียดนามใหม่ยุคหลังการเป็นอาณานิคม ได้ก่อตั้งเป็นประเทศเมื่อปี ค.ศ. 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในทางภูมิศาสตร์มีบริเวณทางตอนเหนือติดกับประเทศจีน โดยมีฮานอย (Hanoi) เป็นเมืองหลวงของประเทศ นับตั้งแต่การรวมประเทศของฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ในปี ค.ศ. 1976


ภาพ เส้นทางรถไฟของเวียดนามในปัจจุบัน ที่วิ่งระหว่างเหนือ-ใต้

ประเทศเวียดนามมีพื้นที่ประมาณ 331,210 ตารางกิโลเมตร มีขนาดประเทศใกล้เคียงกับประเทศเยอรมนี (Germany) เป็นประเทศที่มีลักษณะยาว จากเหนือจดใต้ มีพื้นที่ติดทะเล 3,444 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขาและมีป่าหนาทึบ มีพื้นที่ราบไม่ถึงร้อยละ 20 เป็นภูเขาร้อยละ 40 เป็นป่าเขตร้อนร้อยละ 42 ทางตอนเหนือประกอบด้วยพื้นที่สูง และเป็นเขตปากแม่น้ำแดง (Red River Delta)

ทางตอนใต้ของเวียดนามแบ่งออกเป็นพื้นที่ราบต่ำชายฝั่ง (Coastal lowlands) ถัดไปเป็นเทือกเขาชื่อ “แอนนาไมท์” (Annamite Range) และมีป่าเขากว้างขวาง มีพื้นที่ราบ 5 แห่ง พื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่สูงประมาณร้อยละ 16 พื้นดินของเวียดนามตอนใต้มีคุณภาพไม่ดี ขาดแร่ธาตุและอาหารสำหรับพืช
ส่วนพื้นที่ทางตอนใต้ ไม่ใหญ่นัก แต่มีการพัฒนาและมีประชากรหนาแน่นในบริเวณที่เป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong River Delta) พื้นที่บริเวณนี้มีตะกอนสะสม เป็นพื้นที่ขนาดประมาณ 40,000 ตารางกิโลเมตร มีระดับความสูงเหนือน้ำทะเลไม่เกิน 3 เมตร มีแม่น้ำและคลองที่ตัดผ่าน บริเวณปากแม่น้ำโขงนี้มีตะกอนทับถมมาก จนในแต่ละปีมีพื้นที่ดินที่งอกออกไปในทะเลประมาณ 60-80 เมตร
เมื่อฝ่ายเวียดนามเหนือสามารถรวมประเทศเวียดนามเป็นหนึ่งได้หลังปี ค.ศ. 1975 แต่ช่วง 10 ปีหลังจากนั้น เวียดนามก็ยังเป็นประเทศที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก และยังยากจน จนในปี ค.ศ. 1986 รัฐบาลเวียดนามได้เริ่มการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมือง เริ่มการประสานเวียดนามสู่เศรษฐกิจโลก ในปี ค.ศ. 2000 เวียดนามได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกือบทุกประเทศในโลก และเศรษฐกิจเวียดนามได้เติบโตอย่างรวดเร็ว และจัดได้ว่ามีอัตราการเติบโตที่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในปี ค.ศ. 2011 เวียดนามจัดว่ามี  Global Growth Generators Index อยู่ในกลุ่ม 11 ประเทศของโลก

ความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นผลจากการได้เข้าร่วมในองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization) ในปี ค.ศ. 2007 อย่างไรก็ตาม ประเทศยังประสบปัญหาช่องว่างระหว่างรายได้ของคนในประเทศ การไม่สามารถให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนได้อย่างเท่าเทียมกัน และความที่ยังไม่มีความเท่าเทียมกันทางเพศ

ตามการคาดการณ์ของ Goldman Sachs เมื่อธันวาคม ค.ศ. 2005 เศรษฐกิจเวียดนามจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 17 ของโลกภายในปี ค.ศ. 2025 และมีรายได้ประชาชาติที่ $436,000 ล้าน มีรายได้ประชาชาติต่อหัวที่ $4,357

ในปี ค.ศ. 2008 PricewaterhouseCoopers ทำนายว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกในปี ค.ศ. 2025 โดยมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 10 ต่อปี ในปี ค.ศ. 2012 HSBC ทำนายว่ารายได้ประชาชาติของเวียดนามจะเลยหน้านอร์เวย์ (Norway), สิงคโปร์ (Singapore) และปอร์ตุเกส (Portugal) ในปี ค.ศ. 2050

สรุป

เวียดนามมีความหวังที่จะพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เชื่อมเมืองใหญ่ทางเหนือกับทางใต้ ด้วยเหตุผลทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ ซึ่งนับวัน เวียดนามก็มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน เวียดนามก็ต้องมองหลายมิติของประเทศไปด้วยกัน หากเร่งระดมใช้เงินงบประมาณของประเทศไปเพื่อการพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูงเพียงด้านเดียว ซึ่งมากเป็นถึงครึ่งหนึ่งของรายได้ประชาชาติของประเทศ แต่ผลที่จะได้จากระบบรถไฟความเร็วสูงนั้นยังจำกัดอยู่เฉพาะคนที่มีฐานะ
ท้ายที่สุด เวียดนามคงต้องใช้แนวทางพัฒนาระบบอย่างค่อยเป็นค่อยไป การที่เวียดนามหวังพึ่งญี่ปุ่น ก็ด้วยความที่ยังไม่ไว้ใจจีนดังในประวัติศาสตร์ของการเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีการรุกรานต่อกัน แต่ในขณะเดียวกัน ในอนาคต ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็จะมีแต่ลดลง ซึ่งต่างจากจีนที่จะมีแต่ความแข็งแกร่งที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และจีนเองมีผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจต่อภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นี้ และเส้นทางที่จะเชื่อมโยงต่อกัน อาจมิใช่ระหว่างเพียงเมืองภายในประเทศ แต่ระหว่างเมืองใหญ่ของในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน อย่างน้อยในประเทศ ASEAN ภาคพื้นทวีปใหญ่ด้วยกัน

แต่ก็ดังที่ญี่ปุ่นได้ให้คำแนะนำไว้ คือ “ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป มิใช่ก้าวกระโดด” และต้องคอยตรวจสอบความพร้อมของทั้งตนเองและประเทศเพื่อนบ้านที่มีผลประโยชน์ร่วมกันไปพร้อมๆก้นนี้ด้วย

No comments:

Post a Comment