Sunday, April 28, 2013

เจมส์ มอนโร (James Monroe) ประธานาธิบดีคนที่ 5 ของสหรัฐอเมริกา

เจมส์ มอนโร (James Monroe) ประธานาธิบดีคนที่ 5 ของสหรัฐอเมริกา

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat

E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia

Keywords: ประวัติศาสตร์, history, สหรัฐอเมริกา, USA, ประธานาธิบดี, president, presidency, ความเป็นผู้นำ, เจมส์ มอนโร, James Monroe, ภาวะผู้นำ, ความเป็นผู้นำ, leadership, ลัทธิมอนโร, หลักการมอนโร, Monroe doctrine, ธรรมาภิบาล, good governance, ประชาธิปไตย, democracy

ความนำ


ภาพ เจมส์ มอนโร (James Monroe)

วันนี้ในอดีต 28 เมษายน ค.ศ. 1818 ประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร (James Monroe) ของสหรัฐประกาศเขตปลอดอาวุธทางทะเลในทะเลสาป Great Lakes และ Lake Champlain อันเป็นพื้นที่ทางน้ำที่ใช้ร่วมกันระหว่างสหรัฐอเมริกา และแคนาดา ภายใต้การเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

If we look to the history of other nations, ancient or modern, we find no example of a growth so rapid, so gigantic, of a people so prosperous and happy.

เมื่อเรามองไปในประวัติศาสตร์ของชาติอื่นๆ ทั้งโบราณและสมัยใหม่ เราจะไม่พบตัวอย่างของการเติบโตอย่างรวดเร็ว ใหญ่โตมหาศาล แล้วประชาชนจะมั่งคั่งและมีความสุข

เจมส์ มอนโร, ประธานาธิบดีคนที่ 5 ของประเทศสหรัฐอเมริกา
James Monroe

เจมส์ มอนโร เป็นประธานาธิบดีที่ 5 ของสหรัฐอเมริกา แม้ในระดับประถมและมัธยมศึกษา เขาเป็นนักเรียนที่มีแววฉลาดกว่าเพื่อนๆ แต่เขาไม่ได้เรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยจนจบการศึกษา เพราะเขาเข้าร่วมเป็นทหารในสงครามประกาศอิสรภาพ (American Revolution War) ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ ได้ทำงานการเมืองร่วมกับเพื่อนที่เป็นนักคิดด้านประชาธิปไตย ฝึกอาชีพด้านกฎหมายกับโธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ได้ไปทำงานการฑูตในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศในประเทศอังกฤษในสมัยประธานาธิบดีแมดิสัน (Madison) ได้รับงานเป็นผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนีย เป็นวุฒิสมาชิกตัวแทนรัฐ และสิ่งเหล่านี้คือการศึกษาและประสบการณ์ที่เตรียมเขาสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี


ภาพ เสาหลักแสดงที่ตั้งบ้านของเจมส์ มอนโร ( James Monroe homesite marker)


ภาพ รูปแกะสลักเจมส์ มอนโร (James Monroe) ที่บริเวณสนามหญ้าที่ Ash Lawn-Highland, ในเขตอัลเบอร์มาล (Albemarle County) รัฐเวอร์จิเนีย (Virginia) บ้านของมอนโร ได้รับการดูแลโดยวิทยาลัยวิลเลียมและแมรี่ (College of William and Mary) ที่เขาเป็นศิษย์เก่า แต่ไม่ได้เรียนจบการศึกษา เนื่องจากได้ออกกลางครัน เพื่อไปเป็นทหารในสงครามประกาศอิสรภาพ

เจมส์ มอนโร (James Monroe) เกิดเมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1758 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1831 เป็นประธานาธิบดีคนที่ 5 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งสองสมัยในช่วงปี ค.ศ. 1817-1825 นับเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนสุดท้าย ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาผู้ก่อตั้งประเทศ (Founding Father of the United States) ได้เข้าร่วมในประกาศอิสรภาพยากประเทศจากอาณานิคมอังกฤษ เป็นคนที่สามของกลุ่มบิดาผู้ก่อตั้งประเทศที่เผอิญเสียชีวิตในวันที่ 4 กรกฎาคม อันเป็นวันประกาศอิสรภาพและเป็นวันชาติสหรัฐ (Independence Day) นับเป็นประธานาธิบดีคนสุดท้ายที่มีฐานจากรัฐเวอร์จิเนีย (Virginia dynasty) เป็นคนสุดท้ายที่ยึดในหลักความเป็นสาธารณรัฐ (Republican Generation) เขาเป็นคนเชื้อสายฝรั่งเศสและสก๊อต

เจมส์ มอนโร เกิดที่เขตเวสต์มอร์แลนด์ ในรัฐเวอร์จิเนีย (Westmoreland County, Virginia) ครอบครัวมอนโรเป็นกลุ่มเจ้าของที่ดินเพื่อการเกษตรรายใหญ่ (Plantation) ได้เข้าร่วมรับในสงครามประกาศอิสรภาพ (American Revolutionary War) และบาดเจ็บจากการสู้รบที่สมรภูมิเทรนตัน (Battle of Trenton) โดยบาดเจ็บจากกระสุนปืนที่หัวไหล่ หลังจากการศึกษากฎหมายและเป็นสานุศิษย์ทางความคิดของโธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ในช่วงปี ค.ศ. 1780-1783 เขาได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐในการประชุมสภาภาคพื้นทวีป (Continental Congress) ในฐานะตัวแทนฝ่ายไม่เอาระบบรัฐบาลกลางที่ใหญ่และมีอำนาจมาก (Anti-federalist) จากรัฐเวอร์จิเนีย ในการประชุมเพื่อให้สัตยาบันต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา (United States Constitution) เขาเป็นพวกไม่เห็นด้วยต่อการให้สัตยาบัน โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญให้อำนาจแก่รัฐบาลกลางมากเกินไป

การแต่งงานและชีวิตครอบครัวMarriage and family

เจมส์ มอนโรแต่งงานกับอลิซาเบธ คอร์ทไรท์ มอนโร (Elizabeth Kortright Monroe) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1768–1830 เธอเป็นบุตรสาวของ Laurence Kortright และ Hannah Aspinwall Kortright ทั้งสองแต่งงานกันในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1786 ที่เมืองนิวยอร์ค ทั้งสองได้พบกันในช่วงการประชุมสภาแห่งภาคพื้นทวีป ซึ่งในขณะนั้น นิวยอร์คทำหน้าที่เป็นเมืองหลวงชั่วคราวของประเทศเกิดใหม่นี้ มอนโรได้กลับมาอาศัยอยู่กับบิดาของภรรยาในช่วงที่มีการเปิดประชุมสภา มอนโรและอลิซาเบธมีบุตรธิดาดังนี้

Eliza Monroe (1786–1835) – แต่งงานกับ George Hay ในปี ค.ศ. 1808 และทำหน้าที่แทนมารดาในช่วงที่เธอป่วย ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพแทนในงานพิธีต่างๆของประธานาธิบดีมอนโร

James Spence Monroe (1799–1801) – ที่หลุมศพของเขาเขียนว่า J.S. Monroe ซึ่งทำให้สับสนกับชื่อของ James Monroe ผู้พ่อ ซึ่งเป็นประธานาธิบดี

Maria Hester Monroe (1803–1850) – แต่งงานกับ Samuel L. Gouverneur ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1820 นับเป็นการแต่งงานครั้งแรกของบุตรหรือธิดาประธานาธิบดีในขณะดำรงตำแหน่ง

งานการเมือง

เจมส์ มอนโร เข้ามีส่วนร่วมกับการบริหารประเทศด้วยการอยู่ในกลุ่มของเจฟเฟอร์สันกับแมดิสัน  และในปี ค.ศ. 1790 เขาได้รับเลือกให้เป็นวุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์จิเนีย และเข้ากลุ่มการเมืองสนับสนุนแนวคิดของเจฟเฟอร์สัน (Jeffersonians) ซึ่งเป็นพวกไม่ต้องการระบบกษัตริย์ ต้องการพัฒนาประเทศเป็นระบอบสาธารณรัฐที่สมบูรณ์ การมีรัฐบาลกลางที่ไม่ใหญ่ และเคารพสิทธิของเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา ต่อมาเขาได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนีย (Governor of Virginia) และมีบทบาทระดับชาติเมื่อช่วยในคณะต่อรองซื้อรัฐลุยเซียน่า (Louisiana Purchase) จากฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1803 ในช่วงความขัดแย้งในสงครามปี ค.ศ. 1802 (War of 1812) มอนโรมีบทบาทสำคัญในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ (Secretary of State) และรัฐมนตรีกลาโหม (Secretary of War) ภายใต้รัฐบาลกลางในยุคเจมส์ แมดิสัน (James Madison) เป็นประธานาธิบดี

ในยุคแรก สหรัฐอเมริกาจัดได้ว่าเป็นประเทศมีพรรคการเมืองเดียว คือพรรคที่ร่วมก่อตั้งประเทศภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนแรก คือจอร์จ วอชิงตัน (George Washington) หลังพรรคที่ครองอำนาจเมื่อเริ่มต้น คือ Federalist Party แตกแยกกันเอง จึงทำให้มอนโรได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอย่างง่ายดายในปี ค.ศ. 1816 โดยได้คะแนนเสียงตัวแทนเลือกตั้งกว่าร้อยละ 80 และนับเป็นคนสุดท้ายของการเมืองอเมริกาในยุคมีพรรคเดียว (First Party System)

ในฐานะประธานาธิบดี เขาได้ซื้อรัฐฟลอริด้า (Florida) จากสเปน (Spain) และเป็นการลดความขัดแย้งกับประเทศเจ้าอาณานิคมนี้  มอนโรได้เดินทางเยี่ยมทั่วภูมิภาคของสหรัฐ และได้รับการต้อนรับอย่างดี ในยุคของเขานับเป็นยุคที่คนมีความรู้สึกดี (Era of Good Feelings) ที่ประเทศไม่ต้องขัดแย้งกับประเทศใหญ่ๆในยุโรป ปลอดจากสงครามกับประเทศในยุโรป จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1819 ได้มีความตื่นตระหนกทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลจากภายในประเทศเอง และเมื่อมีการพิจารณารับมิสซูรี่ (Missouri) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐ ในยุคของเขา เริ่มมีการจะรับรัฐใหม่ๆที่มีการขยายตัวไปทางตะวันตก ได้มีการพูดถึงเรื่องประเด็นการมีทาส การค้าทาส และเริ่มมีความแตกต่างทางความคิดระหว่างรัฐฝ่ายเหนือกับรัฐฝ่ายใต้ที่เป็นรัฐเกษตรกรรมที่ใช้แรงงานทาส อย่างไรก็ตาม มอนโรได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สองด้วยคะแนนเสียเกือบเป็นเอกฉันท์ (Won near-unanimous reelection)

มอนโรสนับสนุนการจัดตั้งประเทศใหม่ในอัฟริกาสำหรับอเมริกันเชื้อสายอัฟริกันหรือพวกทาสในอเมริกาที่ได้รับเสรีภาพ ประเทศใหม่นี้ต่อมาก็คือประเทศไลบีเรีย (Liberia) ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อมอนโรเวีย (Monrovia) ซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ในปี ค.ศ. 1823 มอนโรประกาศว่าสหรัฐอเมริกาต่อต้านการแทรกแซงรัฐที่เกิดใหม่ในทวีปอเมริกา ซึ่งหมายถึงอเมริกากลางและอเมริกาใต้ คำประกาศของเขาจึงได้ชื่อว่า “ลัทธิมอนโร” (Monroe Doctrine) ซึ่งถือเป็นหลักเขตในประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ก่อนที่จะมาถึงยุค “ประชาธิปไตยแบบแจคสัน” (Jacksonian democracy) และเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยแบบมีสองพรรคหลัก (Second Party System)

การรับรัฐใหม่สู่สหรัฐ

ในช่วงการบริหารงานของประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร ได้มีการรับรัฐใหม่เข้าสู่สหภาพ (States admitted to the Union)

มิสซิสซิปปี (Mississippi) วันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1817

รัฐอิลลินอยส์ (Illinois) วันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1818

รัฐอลาบาม่า (Alabama) วันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1819

รัฐเมนส์ (Maine) 15 มีนาคม ค.ศ. 1820 และ

รัฐมิสซูรี่ (Missouri) วันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1821


ภาพ ที่ตั้งของฟาร์มแห่งแรกของเจมส์ มอนโร ซึ่งปัจจุบันเป็นบริเวณของมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย (The University of Virginia) ในปี ค.ศ. 1788 เจมส์ มอนโรได้ซื้อที่นาขนาด 800 เอเคอร์ที่นี่ เพื่อจะได้อยู่ใกล้กับเพื่อนโธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ผู้เป็นดังพี่เลี้ยง เพื่อตั้งสำนักงานกฎหมาย และเรียนรู้ในฐานะผู้ฝึกงานกฎหมาย ในปี ค.ศ. 1799 มอนโรย้ายไปที่ไร่ Highland plantation ที่ใกล้กับ Monticello และขายฟาร์มแห่งนี้ไป

ลัทธิมอนโร
Monroe Doctrine

หลังสงครามนโปเลียน (Napoleonic wars) ซึ่งจบลงในปี ค.ศ. 1815 เกือบทั้งหมดของอาณานิคมภายใต้สเปนและปอร์ตุเกส (Spain’s and Portugal colonies) ในอเมริกาใต้ ได้ประกาศตัวเป็นอิสระ อเมริกันตอบรับพัฒนาการนี้ด้วยสปิริตของความเป็นสาธารณรัฐ (Republicanism) ไม่อยากได้รัฐใหม่ที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ หรือยังเป็นอาณานิคมของประเทศที่มีกษัตริย์ปกครอง รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น ควินซี อาดัมส์ (John Quincy Adams) เสนอแนะให้มีการชะลอการประกาศทัศนะจนให้มีการซื้อรัฐฟลอริด้าจากสเปนเรียบร้อยแล้ว ปัญหาในขณะนั้นคือจักรวรรดิรัสเซียได้เร่งขยายผล โดยกล่าวอ้างสิทธิในประเทศที่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกในช่วงล่าง ซึ่งทำให้ประเทศยุโรปชาติอื่นๆต่างอ้างสิทธิความเป็นเจ้าเมืองขึ้นเช่นเดียวกัน

มอนโรแจ้งต่อรัฐสภาสหรัฐในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1822 ว่าได้มีการจัดตั้งรัฐบาลถาวรที่มีความมั่นคงแล้วในเขตที่เรียกว่า United Provinces of the Río de la Plata ซึ่งในปัจจุบัน คือประเทศอาเจนติน่า (Argentina),ชิลี (Chile), เปรู (Peru), โคลอมเบีย (Colombia) และเม็กซิโก (Mexico) อาดัมส์ภายใต้การชี้แนะของมอนโร เขียนคำสั่งถึงทูตของสหรัฐประจำประเทศใหม่เหล่านี้ ซึ่งในขณะนั้นเรียก Ministers หรือเทียบเท่ากับ Ambassadors โดยประกาศว่า นโยบายของสหรัฐอเมริกา คือการยึดมั่นในสถาบัน “สาธารณรัฐ” คือการปกครองที่ไม่อยู่ภายใต้ระบบกษัตริย์ ซึ่งแตกต่างจากชาติในยุโรปขณะนั้น และแนวคิดนี้เป็นความแตกต่างของระบบอเมริกัน (American system) ที่แตกต่างจากยุโรป และนี่คือคำประกาศต่อประเทศทวีปอเมริกาใต้ (Latin America) มอนโรยึดความภูมิใจที่สหรัฐอเมริกาเป็นชาติแรกที่ยื่นมือให้การยอมรับประเทศเกิดใหม่เหล่านี้ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประเทศอื่นๆในโลก เพื่อเป็นการยืนยันหลัก “เสรีภาพและมนุษยชาติ” (Cause of liberty and humanity)

คำประกาศต่อรัฐสภาของเขาในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1823 ซึ่งต่อมาเรียกว่า “ลัทธิมอนโร” (Monroe Doctrine) เขายืนยันว่าประเทศในทวีปอเมริกาควรจะเป็นอิสระจากอาณานิคมในยุโรป และแต่ละประเทศต้องมีเอกราชเป็นของตนเองโดยไม่ขึ้นอยู่กับการเป็นอาณานิคมของยุโรป และขณะเดียวกัน ในขณะที่ประเทศในยุโรปกำลังขัดแย้งกันในระดับสงครามระหว่างประเทศ อเมริกาจะยืนยันในความเป็นกลาง ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ขณะเดียวกัน อเมริกาจะถือเป็นความก้าวร้าว หากมีชาติในยุโรปพยายามขยายอาณานิคมในทวีปอเมริกาอีก

แม้คำประกาศของมอนโรจะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่สุนทรพจน์นี้เขียนโดยอาดัมส์ ซึ่งได้ออกแบบคำประกาศนี้ด้วยความร่วมมือกับอังกฤษ

มอนโรและอาดัมส์ตระหนักว่า การยอมรับอิสรภาพของประเทศในลาตินอเมริกานี้ จะไม่เป็นการไปปกป้องประเทศใหม่จากการเข้าแทรกแซงการเข้ามามีอำนาจของสเปน ดังนั้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1823 ริชาร์ด รัช (Richard Rush) ทูตสหรัฐประจำลอนดอน ได้ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ เพื่อประกาศการไม่เข้าแทรกแซงของชาติยุโรปร่วมกัน ระหว่างสหรัฐและอังกฤษ ซึ่งอังกฤษมีแสนยานุภาพทางกองทัพเรือ เป็นหลักประกันว่าอังกฤษไม่เห็นด้วยกับการเข้าครอบครองอเมริกาใต้อีกครั้งของชาติยุโรป ส่วนอเมริกาเองก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของประเทศในซีกโลกใต้นี้ ด้วยคำแนะนำของอดีตประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สันและแมดิสัน อเมริกายอมรับเงื่อนไขว่า อเมริกาเองก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงประเทศเหล่านี้

การประกาศของมอนโรตามคำแนะนำของอาดัมส์ ไม่เพียงปล่อยให้อเมริกาใต้ได้คงอยู่อย่างอิสระ แต่เป็นการปรามรัสเซียที่จะเข้ามามีบทบาทในดินแดนริมมหาสมุทรฝั่งแปซิฟิก แต่ก็ไม่มีผลต่อการที่ชาติในยุโรปจะเข้าไปมีบทบาทในการขยายอาณานิคมในอนาคตในส่วนอื่นๆของโลก

ลัทธิมอนโร จึงเป็นช่วงเวลาที่ป้องกันการเข้ามีบทบาทของรัสเซียในอเมริกาใต้ มากกว่าจะเป็นการกีดกันอาณานิคมของสเปน

ในอีกด้านหนึ่ง สหรัฐอเมริกาสัญญาว่าจะไม่เข้าไปยุ่งในกิจการภายในของยุโรป และขณะเดียวกัน ก็เรียกร้องชาติในยุโรปให้ต้องไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการใดๆในสหรัฐอเมริกา และด้วยลัทธิหรือคำประกาศของมอนโร ซึ่งมีผลต่อมาอีกยาวนาน จึงมีเรื่องขัดแย้งกันในประเด็นดังกล่าวน้อยมาก

เสียชีวิต

เมื่อภรรยาของมอนโรเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1830 มอนโรได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองนิวยอร์คและอาศัยกับบุตรสาว คือ Maria Hester Monroe Gouverneur ผู้แต่งงานกับ Samuel L. Gouverneur

ในช่วงท้ายของชีวิต มอนโรประสบปัญหาทางการเงิน และสุขภาพก็ทรุดโทรมลงอย่างช้าๆ เมื่อจอห์น ควินซี อาดัมส์ (John Quincy Adams) ได้ไปเยี่ยมเขาในเดือนเมษายน ค.ศ. 1831 อาดัมส์พบว่ามอนโรยังตื่นตัวและอยากที่จะสนทนาเกี่ยวกับเรื่องยุโรป แต่ด้วยสุขภาพที่ไม่ดี อาดัมส์จึงตัดการเยี่ยมให้สั้นลง ด้วยเกรงว่าจะทำให้มอนโรเหนื่อยเกินไป

ในระยะต่อมา มอนโรได้เสียชีวิตด้วยหัวใจล้มเหลวและโรควัณโรค (Tuberculosis) ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1831 และกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่สามที่เสียชีวิตในวันประกาศอิสรภาพ (Independence Day) คือในวันที่ 4 กรกฎาคม นับเป็น 55 ปีพอดีหลังการประกาศอิสรภาพของประเทศสหรัฐ (U.S. Declaration of Independence) และเป็นเวลา 5 ปีพอดี หลังจากที่ 2 คนในกลุ่ม “บิดาผู้ก่อตั้งประเทศ” (Founding Fathers) ผู้ได้กลายเป็นประธานาธิบดี คือ จอห์น อาดัมส์ (John Adams) และ โธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ได้เสียชีวิต ศพของมอนโรถูกฝังที่สุสานฮอลลิวูด (Hollywood Cemetery) ที่เมืองริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย (Richmond, Virginia) อีก 27 ปีต่อมา ศพของเขาได้ถูกย้ายไปฝัง ณสุสานเจมส์ มอนโร (James Monroe Tomb) ซึ่งเป็นเขตหลักประวัติศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐ (U.S. National Historic Landmark)


No comments:

Post a Comment