Tuesday, April 9, 2013

การยังมีทาส (Slavery) และการที่รัฐสภาต้องแบ่งแยก

การยังมีทาส (Slavery) และการที่รัฐสภาต้องแบ่งแยก

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การเมือง, การปกครอง, สหรัฐอเมริกา, การมีทาส, slavery, อับราฮัม ลินคอล์น, Abraham Lincoln, สงครามกลางเมือง, American Civil War

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia, the free encyclopedia

Slavery and a "House Divided"


ภาพ ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ผู้นำในการเลิกทาส

ประวัติอับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ช่วงก่อนเกิดสงครามกลางเมือง (American Civil War)
ในช่วงทศวรรษที่ 1850s การมีทาสและใช้แรงงานทาส (Slavery) ยังเป็นสิ่งถูกกฎหมายในรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา แต่ได้ถูกทำให้เป็นสิ่งผิดกฎหมายในรัฐทางตอนเหนือ ซึ่งรวมถึงรัฐอิลลินอยส์ (Illinois) อับราฮัม ลินคอล์นเองไม่ยอมรับการมีทาส และการใช้แรงงานทาสก็ยังจะแผ่ขยายไปทางรัฐตะวันตกของประเทศ ลินคอล์นหวนกลับสู่การเมืองด้วยประเด็นการต่อต้านการมีทาส เขาไม่เห็นด้วยกับนิติบัญญัติ “การมีทาสในรัฐแคนซัส-เนบราสกา ในปี ค.ศ. 1854” (Pro-slavery Kansas–Nebraska Act, 1854) กฎหมายนี้เป็นการล้มเลิกการจำกัดการมีทาสที่เรียกว่า Missouri Compromise (1820) วุฒิสมาชิกอาวุโส สตีเฟน เอ ดักลาส (Stephen A. Douglas) แห่งรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งลินคอล์นไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ ที่ได้รวมเอาวิธีการแบบเสียงข้างมาก เข้าไว้ในรัฐธรรมนูญ (Popular sovereignty) โดยในกฎหมาย ดักลาสได้มีข้อกำหนดว่า ให้ประชาชนผู้มาตั้งถิ่นฐานมีสิทธิที่จะตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้มีทาสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แทนที่จะเป็นอำนาจของรัฐสภาแห่งชาติ (National Congress)

อีริค โฟเนอร์ (Eric Foner, 2010) เปรียบเทียบว่าพวกต้องการเลิกทาส (Abolitionists) และพวกต่อต้านการมีทาสอย่างรุนแรงของพรรครีพับลิกันทางตะวันออกเฉียงเหนือ มองเห็นการมีทาสเป็น “บาป” แต่พวกพรรครีพับลิกันสายอนุรักษ์เห็นว่าการมีทาสเป็นเรื่องไม่ดี และเป็นการทำให้คนขาวเองก็เสียหาย เป็นการหยุดยั้งความเจริญของประเทศที่พึงมี กล่าวคือทั้งสองฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการมีทาส แต่ในระดับที่แตกต่างกัน

โฟเนอร์ให้ทัศนะว่า ลินคอล์นเองเป็นพวกนักการเมืองเดินสายกลาง ต่อต้านการมีทาส เพราะมันขัดกับหลักการของแนวคิดระบบสาธารณรัฐ (Republicanism principles) ตามแนวคิดบิดาผู้ก่อตั้งประเทศ (Founding Fathers) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็น “มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และมีสิทธิในการปกครองตนเอง” ซึ่งเป็นคำพูดที่มีอยู่ในคำประกาศอิสรภาพ (The Declaration of Independence)

ภาพ ภาพวาดของ Dred Scott ลินคอล์นปฏิเสธการตัดสินของศาลสูงสหรัฐ ในกรณี Dred Scott กับ Sandford ว่าเป็นช่องทางให้เกิดการขยายตัวของการมีทาส

ในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1854 ในคำประกาศที่เรียกว่า Peoria Speech ลินคอล์นประกาศจุดยืนของเขาที่ไม่เห็นด้วยกับการมีทาส และเขาได้พูดในแนวนี้ตลอดเส้นทางการหาเสียงสู่การเป็นประธานาธิบดี การพูดของเขาที่รัฐเคนตักกีเน้นชัด และใช้น้ำเสียงที่ทรงพลัง เขากล่าวว่า


ภาพ Dred Scott 

นิติบัญญัติแคนซัส (Kansas Act) เป็นการประกาศการไม่รู้ร้อนรู้หนาว ที่ทำให้ข้าฯ ต้องคิดว่า มันเป็นการซ่อนความกระหายที่จะขยายการมีทาสออกไปอีก ข้าฯไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องเกลียดมัน ข้าฯเกลียดมัน เพราะมันเป็นความอยุติธรรมของการมีทาสด้วยตัวมันเอง ข้าฯเกลียดมัน เพราะมันกีดกันโอกาสของสาธารณรัฐของเราที่จะแสดงตัวอย่างที่มีอิทธิพลต่อการสร้างความยุติธรรมในโลกนี้


ภาพ ในช่วงปี ค.ศ. 1776 เมื่อบุคคลระดับผู้นำจากเขตอาณานิคมทั้งหลายมารวมตัวกัน เพื่อประกาศอิสรภาพ และเกิดประเทศใหม่ ในคำประกาศตอนหนึ่ง "All men are equal. ...." ซึ่งคำกล่าวนี้ขัดแย้งกับการมีทาส เพราะต้องอธิบายว่า แล้วทาสมีความเป็นคน (Man, men) หรือไม่

ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1854 ลินคอล์นลงสมัครรับเลือกตั้งในฐานะตัวแทนจากพรรควิค (Whig) เพื่อชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิกจากรัฐอิลลินอยส์ ในขณะนั้น การเลือกตั้งวุฒิสมาชิกมิได้ใช้การเลือกทางตรงโดยประชาชน แต่เป็นการเลือกโดยฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐ (State legislature) หังจากที่เขานำอยู่ 6 รอบในรัฐสภาอิลลินอยส์ ฝ่ายสนับสนุนเขาก็เริ่มถดถอยลง ลินคอล์นจึงบอกให้ฝ่ายสนับสนุนเขาลงคะแนนให้ ลิแมน ทรัมบุล (Lyman Trumbull) ซึ่งในที่สุดชนะฝ่ายตรงข้าม คือ อัลดริช แมททิสัน (Aldrich Matteson)

ในช่วงนั้นพรรควิคได้แตกแยกอย่างยากที่จะประสานในประเด็นนิติบัญญัติแคนซัส-เนบราสก้า (Kansas–Nebraska Act) ซึ่งลินคอล์นเขียนว่า “ผมเป็นพรรควิค แต่คนอื่นๆบอกว่าไม่มีพรรควิคอีกต่อไป และนั่นผมก็เป็นพวกต่อต้านการมีทาส และผมก็ยิ่งไม่เห็นด้วยกับการขยายบริเวณการมีทาสต่อไป (Extension of slavery)

ลินคอล์นเป็นตัวแปรสำคัญที่ดึงสมาชิกที่แตกออกจากพรรควิค (Whig Party) และด้วยแนวนโยบายของเขาเรื่องเรื่อง “แผ่นดินเสรี และเสรีภาพ” (Free Soil, Liberty) ซึ่งดึงสมาชิกอีกส่วนหนึ่งจากพรรคดีโมแครต (Democratic Party) ลินคอล์นเป็นคนสำคัญที่หล่อหลอมทำให้เกิดพรรครีพับลิกันใหม่ (Republican Party) ในการประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกันแห่งชาติ (1856 Republican National Convention) ลินคอล์นมาเป็นอันดับสองที่จะเป็นตัวแทนแข่งในฐานะรองประธานาธิบดี

ในช่วงปี ค.ศ. 1857–1858 ดักลาสได้แตกออกจากประธานาธิบดีเจมส์ บูคาแนน (James Buchanan) ทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อควบคุมเสียงข้างมากภายในพรรคดีโมแครต ฝ่ายสมาชิกพรรครีพับลิกันบางคนในทางตะวันออกถึงกับสนับสนุนให้ดักลาสได้รับเลือกกลับเข้ามาในวุฒิสภาในปี ค.ศ. 1858 แต่เนื่องด้วยเขาไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญลีคอมพ์ตัน (Lecompton Constitution) ซึ่งเท่ากับยอมรับใหรัฐแคนซัสกลายเป็นรัฐที่มีทาสได้ (Slave state) ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1857 ศาลสูงของสหรัฐ (Supreme court) ได้ตัดสินกรณี Dred Scott v. Sandford โดยโรเจอร์ บี แทนนีย์ (Roger B. Taney) หัวหน้าศาลสูง ได้ให้ความเห็นว่า คนดำไม่ได้เป็นประชาชน ดังนั้นจึงไม่ได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ลินคอล์นประกาศไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินนี้ โดยให้เหตุผลว่ามันเป็นผลมาจากการสมรู้ร่วมคิดของฝ่ายดีโมแครตที่จะสนับสนุนฝ่ายต้องการมีทาส (Slave Power) เขาให้เหตุผลว่า

“ผู้เขียนคำประกาศอิสรภาพไม่เคยพูดว่าคนต้องเท่ากันด้วยสีผิว ขนาด สติปัญญา การพัฒนาทางด้านจริยธรรม หรือความสามารถทางสังคม แต่เขาเห็นว่ามนุษย์ทุกคนถูกสร้างมาให้มีความเท่าเทียมกัน เท่ากันในสิทธิที่จะปฏิเสธมิได้ เท่ากันในความมีชีวิต มีเสรีภาพ และในการแสวงหาความสุข”

หลังการประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกัน ที่ประชุมได้เลือกเขาเข้าสู่การเป็นวุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกา ลินคอล์นได้กล่าวสุนทรพจน์ “รัฐสภาที่แตกแยก” (House Divided Speech)

สภาที่แตกแยกย่อมไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ข้าฯเชื่อว่ารัฐบาลก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างถาวร หากประเทศยังแบ่งเป็นครึ่งหนึ่งมีทาส และอีกครึ่งหนึ่งเป็นระบบเสรี ข้าฯไม่หวังให้การรวมเป็นสหภาพต้องสิ้นสุดลง ข้าฯไม่หวังให้รัฐสภาต้องล่มสลาย แต่ข้าฯก็ไม่หวังให้เราอยู่อย่างแตกแยกเช่นนี้ เราต้องดำรงอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง

คำสุนทรพจน์ทำให้เกิดภาพว่าอันตรายในการอยู่อย่างแตกแยกกัน อันเป็นประเด็นเกี่ยวกับการยอมรับการมีทาส ประเด็นนี้กลายเป็นสิ่งที่ใช้หาเสียงในรัฐอิลลินอยส์ว่าจะเลือกลินคอล์น หรือดักลาส (Douglas) เป็นวุฒิสมาชิกจากรัฐอิลลินอยส์

พรรควิค (Whig Party)

พรรควิค (Whig Party) เป็นพรรคการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในช่วงศตวรรษที่ 19 ในสหรัฐอเมริกา มีประธานาธิบดีถึง 4 คนที่มาจากพรรควิค และพรรควิคนับเป็นตัวแปรสำคัญในการเกิด “ระบบพรรคที่สอง” (Second Party System) ดำเนินการตั้งแต่เริ่มทศวรรษที่ 1830s จนถึงกลางทศวรรษที่ 1850s พรรคได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นฝ่ายไม่เห็นด้วยกับนโยบายประธานาธิบดีแอนดรู แจคสัน (Andrew Jackson) และพรรคดีโมแครต (Democratic Party)

แต่ในช่วงประเด็นขัดแย้งการมีทาสในสหรัฐอเมริกา ก็ทำให้เกิดความแตกแยกภายในพรรควิค จนพรรคไม่สามารถดำรงอยู่ได้จากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นต้นมา


No comments:

Post a Comment