Tuesday, April 30, 2013

โครงการรถไฟความเร็วสูงวิ่งเหนือ-ใต้ของเวียดนาม


โครงการรถไฟความเร็วสูงวิ่งเหนือ-ใต้ของเวียดนาม

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia

Keywords: การคมนาคม, transportation, traveling, การขนส่ง, รถไฟ, trains, rail system, รถไฟความเร็วสูง, High-Speed Rail System – HSR, เวียดนาม, Vietnam, Ho Chi Minh City, Hanoi, North-South Express Railway, Japan, JICA, ชิงกันเซน, Shinkansen

สำหรับประเทศไทย ประเทศที่มีแผนการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (High-Speed Rail System) ที่ควรสนใจคือประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในภาคพื้นทวีป อันได้แก่ ประเทศเวียดนาม ลาว กัมพูชา และพม่า 3 ประเทศหลังมีพรมแดนติดกับไทย แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงกำลังพัฒนาที่ยังห่างจากความสามารถที่จะสนับสนุนโครงการที่ต้องใช้เงินมหาศาลดังรถไฟความเร็วสูง แต่ที่มีความจริงจังระดับแสวงหาแหล่งเงินทุนแล้วคล้ายๆกับไทย คือเวียดนาม

บริษัทรถไฟแห่งชาติของเวียดนาม เรียกว่า Vietnam Railways ได้เสนอแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูงระยะทาง 1,630 กิโลเมตร เป็นรถไฟที่ใช้ระบบรางรองรับความเร็วได้ระหว่าง 250-300 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยใช้เงินประมาณ 56,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,680,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 76 ของประเทศไทย ซึ่งไทยเสนอที่ประมาณ 2.0-2.2 ล้านล้านบาท ทางรถไฟนี้ เรียกว่า “North-South Express Railway” จะเชื่อมระหว่างเมืองฮานอย (Hanoi) เมืองหลวงทางตอนเหนือ กับเมืองโฮจิมิน (Ho Chi Minh City) เมืองหลักของเวียดนามทางตอนใต้

ประเทศที่เวียดนามหวังได้ความร่วมมือคือญี่ปุ่น ที่มีเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง “ชิงกันเซน” (Shinkansen) และความเป็นแหล่งเงินทุน

ในปัจจุบัน การเดินทางระหว่างสองเมืองหลัก ระหว่างเหนือกับใต้ดังกล่าวของเวียดนาม ทางรถไฟเป็นแบบรางเดี่ยว (Single track) และเป็นระบบทางแคบ (Narrow Gauge)  คล้ายๆกับในประเทศไทย ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทาง 30 ชั่วโมง หรือความเร็วประมาณชั่วโมงละ 54.3 กิโลเมตร แต่เมื่อเป็นรถไฟความเร็วสูง สาย North-South Express Railway จะใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง หรือ 1 ใน 6 ของเวลาในปัจจุบัน

นายกรัฐมนตรีเวียดนาม นายเหงียน ตันดุง (Nguyen Tan Dung) ได้กล่าวอย่างมุ่งมั่นที่จะทำให้โครงการรถไฟความเร็วสูง เสร็จเร็วกว่าแผนที่เคยเสนอ 3 ปี โดยเดิมเสนอว่าจะใช้เวลารวม 9 ปี ฝ่ายญี่ปุ่นผู้ได้รับการคาดหวังจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนให้ความเห็นว่าแผนนี้จะเสร็จได้ก็ในราวๆกลางทศวรรษที่ 2030s นั่นคือใช้เวลาประมาณ 15-20 ปี


ภาพ เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงชิงกันเซนของญี่ปุ่น อย่างที่ใช้ในประเทศไต้หวัน

นอกจากนี้ทางญี่ปุ่นให้ทัศนะว่า ในเชิงความช่วยเหลือจะผูกพันกับเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงชิงกันเซนของญี่ปุ่น แต่ในวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 2010 หลังจากอภิปรายศึกษาในรายละเอียดในสภานานเป็นเดือน สภาแห่งชาติเวียดนามก็ปฏิเสธโครงการรถไฟความเร็ว ด้วยเหตุที่ค่าใช้จ่ายแพงเกินไป สภาแห่งชาติได้เสนอให้กลับไปศึกษาหาวิธีการใหม่

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2011 รัฐมนตรีว่าการคมนาคมของเวียดนาม นายโฮ เงียดุง (Ho Nghia Dung) ได้เสนอว่าทางรถไฟสามารถทำให้เสร็จได้ในปี ค.ศ. 2030 โดยระยะทางลดลงเหลือ 1,555 กิโลเมตร และใช้ระบบรถไฟและรางที่วิ่งได้ด้วยความเร็ว 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง แผนงานยังได้รับคำท้วงติงให้ต้องกลับไปศึกษาใหม่อีกครั้ง

ซูจิ อีกูชิ (Shuji Eguchi) ผู้อำนวยการสำนักงานการรถไฟในกระทรวงการคมนาคมของญี่ปุ่น กล่าวว่า การสนับสนุนของญี่ปุ่นจะเน้นไปที่การส่งออกระบบเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานดังรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่น คือ ชิงกันเซน และการดำเนินการของเวียดนามน่าจะเป็นการดำเนินการในระยะยาว และดำเนินการอย่าง “ค่อยเป็นค่อยไป” และในช่วงแรกนี้เวียดนามคงต้องการการฝึกอบรมกำลังคนและการปรับปรุงระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลพื้นฐาน

ประเทศเวียดนาม (Vietnam) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Socialist Republic of Vietnam) เป็นประเทศที่อยู่ตะวันออกสุดของแหลมอินโดจีน (Indochina Peninsula) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (Southeast Asia)

ในปี ค.ศ. 2012 เวียดนามมีประชากร 90.3 ล้านคน นับเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 13 ของโลก เป็นอันดับที่ 8 ในเอเชีย เวียดนามใหม่ยุคหลังการเป็นอาณานิคม ได้ก่อตั้งเป็นประเทศเมื่อปี ค.ศ. 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในทางภูมิศาสตร์มีบริเวณทางตอนเหนือติดกับประเทศจีน โดยมีฮานอย (Hanoi) เป็นเมืองหลวงของประเทศ นับตั้งแต่การรวมประเทศของฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ในปี ค.ศ. 1976


ภาพ เส้นทางรถไฟของเวียดนามในปัจจุบัน ที่วิ่งระหว่างเหนือ-ใต้

ประเทศเวียดนามมีพื้นที่ประมาณ 331,210 ตารางกิโลเมตร มีขนาดประเทศใกล้เคียงกับประเทศเยอรมนี (Germany) เป็นประเทศที่มีลักษณะยาว จากเหนือจดใต้ มีพื้นที่ติดทะเล 3,444 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขาและมีป่าหนาทึบ มีพื้นที่ราบไม่ถึงร้อยละ 20 เป็นภูเขาร้อยละ 40 เป็นป่าเขตร้อนร้อยละ 42 ทางตอนเหนือประกอบด้วยพื้นที่สูง และเป็นเขตปากแม่น้ำแดง (Red River Delta)

ทางตอนใต้ของเวียดนามแบ่งออกเป็นพื้นที่ราบต่ำชายฝั่ง (Coastal lowlands) ถัดไปเป็นเทือกเขาชื่อ “แอนนาไมท์” (Annamite Range) และมีป่าเขากว้างขวาง มีพื้นที่ราบ 5 แห่ง พื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่สูงประมาณร้อยละ 16 พื้นดินของเวียดนามตอนใต้มีคุณภาพไม่ดี ขาดแร่ธาตุและอาหารสำหรับพืช
ส่วนพื้นที่ทางตอนใต้ ไม่ใหญ่นัก แต่มีการพัฒนาและมีประชากรหนาแน่นในบริเวณที่เป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong River Delta) พื้นที่บริเวณนี้มีตะกอนสะสม เป็นพื้นที่ขนาดประมาณ 40,000 ตารางกิโลเมตร มีระดับความสูงเหนือน้ำทะเลไม่เกิน 3 เมตร มีแม่น้ำและคลองที่ตัดผ่าน บริเวณปากแม่น้ำโขงนี้มีตะกอนทับถมมาก จนในแต่ละปีมีพื้นที่ดินที่งอกออกไปในทะเลประมาณ 60-80 เมตร
เมื่อฝ่ายเวียดนามเหนือสามารถรวมประเทศเวียดนามเป็นหนึ่งได้หลังปี ค.ศ. 1975 แต่ช่วง 10 ปีหลังจากนั้น เวียดนามก็ยังเป็นประเทศที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก และยังยากจน จนในปี ค.ศ. 1986 รัฐบาลเวียดนามได้เริ่มการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมือง เริ่มการประสานเวียดนามสู่เศรษฐกิจโลก ในปี ค.ศ. 2000 เวียดนามได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกือบทุกประเทศในโลก และเศรษฐกิจเวียดนามได้เติบโตอย่างรวดเร็ว และจัดได้ว่ามีอัตราการเติบโตที่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในปี ค.ศ. 2011 เวียดนามจัดว่ามี  Global Growth Generators Index อยู่ในกลุ่ม 11 ประเทศของโลก

ความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นผลจากการได้เข้าร่วมในองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization) ในปี ค.ศ. 2007 อย่างไรก็ตาม ประเทศยังประสบปัญหาช่องว่างระหว่างรายได้ของคนในประเทศ การไม่สามารถให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนได้อย่างเท่าเทียมกัน และความที่ยังไม่มีความเท่าเทียมกันทางเพศ

ตามการคาดการณ์ของ Goldman Sachs เมื่อธันวาคม ค.ศ. 2005 เศรษฐกิจเวียดนามจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 17 ของโลกภายในปี ค.ศ. 2025 และมีรายได้ประชาชาติที่ $436,000 ล้าน มีรายได้ประชาชาติต่อหัวที่ $4,357

ในปี ค.ศ. 2008 PricewaterhouseCoopers ทำนายว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกในปี ค.ศ. 2025 โดยมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 10 ต่อปี ในปี ค.ศ. 2012 HSBC ทำนายว่ารายได้ประชาชาติของเวียดนามจะเลยหน้านอร์เวย์ (Norway), สิงคโปร์ (Singapore) และปอร์ตุเกส (Portugal) ในปี ค.ศ. 2050

สรุป

เวียดนามมีความหวังที่จะพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เชื่อมเมืองใหญ่ทางเหนือกับทางใต้ ด้วยเหตุผลทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ ซึ่งนับวัน เวียดนามก็มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน เวียดนามก็ต้องมองหลายมิติของประเทศไปด้วยกัน หากเร่งระดมใช้เงินงบประมาณของประเทศไปเพื่อการพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูงเพียงด้านเดียว ซึ่งมากเป็นถึงครึ่งหนึ่งของรายได้ประชาชาติของประเทศ แต่ผลที่จะได้จากระบบรถไฟความเร็วสูงนั้นยังจำกัดอยู่เฉพาะคนที่มีฐานะ
ท้ายที่สุด เวียดนามคงต้องใช้แนวทางพัฒนาระบบอย่างค่อยเป็นค่อยไป การที่เวียดนามหวังพึ่งญี่ปุ่น ก็ด้วยความที่ยังไม่ไว้ใจจีนดังในประวัติศาสตร์ของการเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีการรุกรานต่อกัน แต่ในขณะเดียวกัน ในอนาคต ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็จะมีแต่ลดลง ซึ่งต่างจากจีนที่จะมีแต่ความแข็งแกร่งที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และจีนเองมีผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจต่อภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นี้ และเส้นทางที่จะเชื่อมโยงต่อกัน อาจมิใช่ระหว่างเพียงเมืองภายในประเทศ แต่ระหว่างเมืองใหญ่ของในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน อย่างน้อยในประเทศ ASEAN ภาคพื้นทวีปใหญ่ด้วยกัน

แต่ก็ดังที่ญี่ปุ่นได้ให้คำแนะนำไว้ คือ “ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป มิใช่ก้าวกระโดด” และต้องคอยตรวจสอบความพร้อมของทั้งตนเองและประเทศเพื่อนบ้านที่มีผลประโยชน์ร่วมกันไปพร้อมๆก้นนี้ด้วย

Sunday, April 28, 2013

เจ้าของรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ได้หลักประกันว่าจะไม่มีแบตเตอรี่ที่ชำรุด


เจ้าของรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ได้หลักประกันว่าจะไม่มีแบตเตอรี่ที่ชำรุด

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

ศึกษาและเรียบเรียงจากข่าว “Tesla owners get 'no-fault' battery warranty.” EV News, FRIDAY, APRIL 26, 2013

Keywords: การขนส่ง, transportation, การเดินทาง,commuting, รถยนต์, sport cars, sedan, รถยนต์ไฟฟ้า, electric car, EVs, ยานพหานะไฟฟ้า, Tesla, Toyota, Daimler, Nissan, General Motors


รถยนต์ไฟฟ้าแบบนั่งได้ 5 คน Tesla Model S

บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ Tesla Motors กล่าวว่า หากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า Tesla Model S คันใดมีแบตเตอรี่ที่เสียหายในช่วงเวลาใช้งาน 8 ปี จะได้รับการเปลี่ยนให้ใหม่ ยกเว้นเจตนาทำให้พัง
การประกันอายุการใช้งานแบตเตอรี่เป็นไปตามบริษัทผู้ผลิตรถยนต์กระแสหลัก แต่ว่า Tesla มีขอเสนอที่ไปไกลกว่านั้น

Tesla Model S ใช้แบตเตอรี่ชุดใหญ่ ขนาด 85 kwh รับประกันระยะเวลาการใช้งาน 8 ปี ไม่จำกัดระยะทาง ส่วนขนาดแบตเตอรี่ที่เล็กลงมา คือ 60 kwh ให้หลักประกัน 8 ปี หรือระยะทาง 125,000 ไมล์
อีลอน มัสค์ (Elon Musk) ผู้บริหารสูงสุดของ Tesla กล่าวว่า “เราให้ระยะเวลาและระยะทางสำหรับแบตเตอรี่ขนาด 85 kwh เอาไว้สูงมาก ไม่ว่าจะมีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้น เพราะในห้องทดลอง เราได้ใช้วิ่งในระยะทางครึ่งล้านไมล็มาแล้ว และสำหรับผู้ใช้รถที่มีแบตเตอรี่ขนาด 60 kwh ก็เชื่อได้ว่าจะสามารถวิ่งได้กว่า 200,000 ไมล์”

บริษัท Tesla ระมัดระวังในการเปิดตัวมาก เพราะเป็นบริษัทขนาดเล็ก ผลิตแต่รถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น และต้องสู้กับบริษัทขนาดใหญ่ที่ผลิตรถยนต์ทั่วไป แต่มาเปิดสายการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเป็นทางเลือก หากขายรถไฟฟ้าไม่ออก อนาคตของบริษัทก็คงจะลำบาก

และด้วยการให้หลักประกันในสินค้า ด้วยประกันในส่วนที่อาจเปราะบางที่สุดและแพงที่สุด คือแบตเตอรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีราคาถึงครึ่งหนึ่งของรถยนต์ ด้วยยุทธศาสตร์การให้ประกันแบตเตอรี่อย่างสุดๆ เหตุดังกล่าว ในช่วงไตรมาสแรกของปี ค.ศ. 2013 Tesla Model S จึงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในอเมริกา โดยขายได้ 4,750 คันในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา สวนรถยนต์ไฟฟ้าลูกประสมแบบติดเครื่องยนต์ขนาดเล็กปั่นไฟเสริมเพื่อให้วิ่งระยะยาวขึ้น (Range extender) ขายได้ 4,421 คัน ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า Nissan Leaf ขายได้ 3,695 คัน ในช่วงเวลาเดียวกัน

บริษัทรถยนต์ Tesla Motors, Inc เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่มีฐานอยู่ที่เขต Silicon Valley ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ทำการออกแบบ ผลิต และจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า (electric cars) ยานพาหนะไฟฟ้า (electric vehicle) และชิ้นส่วนสำคัญของเครื่อง (powertrain) Tesla Motors เป็นบริษัทมหาชน (public company) เปิดซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ โดยใช้ชื่อย่อว่า TSLA

Tesla Motors เริ่มได้รับความสนใจเมื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสปอร์ตหรู (electric sports car) ชื่อ Tesla Roadster ส่วนรถรุ่นที่สองที่เปิดตัวสู่ตลาด เป็นรถรุ่น Tesla Model S เป็นรถยนต์นั่งหรู ซึ่งยังมีราคาแพงอยู่ แต่ก็ถูกกว่า Tesla Roadster อยู่มาก

Tesla ผลิตตัวเครื่องและชิ้นส่วน (Electric powertrain) รวมถึงแบตเตอรี่ลิเธียม ให้กับบริษัทรถยนต์อื่นๆ รวมถึง Daimler และ Toyota โดยวิสัยทัศน์ของ Elon Musk ผู้บริหารของ Tesla ทิศทางของบริษัทคือการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมาก ที่ขายได้ในราคาที่ผู้คนซื้อหาได้ในราคาทั่วไป


ภาพ รถยนต์ไฟฟ้าสปอร์ตหรู Tesla Roadster คันสีแดง



เจมส์ มอนโร (James Monroe) ประธานาธิบดีคนที่ 5 ของสหรัฐอเมริกา

เจมส์ มอนโร (James Monroe) ประธานาธิบดีคนที่ 5 ของสหรัฐอเมริกา

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat

E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia

Keywords: ประวัติศาสตร์, history, สหรัฐอเมริกา, USA, ประธานาธิบดี, president, presidency, ความเป็นผู้นำ, เจมส์ มอนโร, James Monroe, ภาวะผู้นำ, ความเป็นผู้นำ, leadership, ลัทธิมอนโร, หลักการมอนโร, Monroe doctrine, ธรรมาภิบาล, good governance, ประชาธิปไตย, democracy

ความนำ


ภาพ เจมส์ มอนโร (James Monroe)

วันนี้ในอดีต 28 เมษายน ค.ศ. 1818 ประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร (James Monroe) ของสหรัฐประกาศเขตปลอดอาวุธทางทะเลในทะเลสาป Great Lakes และ Lake Champlain อันเป็นพื้นที่ทางน้ำที่ใช้ร่วมกันระหว่างสหรัฐอเมริกา และแคนาดา ภายใต้การเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

If we look to the history of other nations, ancient or modern, we find no example of a growth so rapid, so gigantic, of a people so prosperous and happy.

เมื่อเรามองไปในประวัติศาสตร์ของชาติอื่นๆ ทั้งโบราณและสมัยใหม่ เราจะไม่พบตัวอย่างของการเติบโตอย่างรวดเร็ว ใหญ่โตมหาศาล แล้วประชาชนจะมั่งคั่งและมีความสุข

เจมส์ มอนโร, ประธานาธิบดีคนที่ 5 ของประเทศสหรัฐอเมริกา
James Monroe

เจมส์ มอนโร เป็นประธานาธิบดีที่ 5 ของสหรัฐอเมริกา แม้ในระดับประถมและมัธยมศึกษา เขาเป็นนักเรียนที่มีแววฉลาดกว่าเพื่อนๆ แต่เขาไม่ได้เรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยจนจบการศึกษา เพราะเขาเข้าร่วมเป็นทหารในสงครามประกาศอิสรภาพ (American Revolution War) ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ ได้ทำงานการเมืองร่วมกับเพื่อนที่เป็นนักคิดด้านประชาธิปไตย ฝึกอาชีพด้านกฎหมายกับโธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ได้ไปทำงานการฑูตในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศในประเทศอังกฤษในสมัยประธานาธิบดีแมดิสัน (Madison) ได้รับงานเป็นผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนีย เป็นวุฒิสมาชิกตัวแทนรัฐ และสิ่งเหล่านี้คือการศึกษาและประสบการณ์ที่เตรียมเขาสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี


ภาพ เสาหลักแสดงที่ตั้งบ้านของเจมส์ มอนโร ( James Monroe homesite marker)


ภาพ รูปแกะสลักเจมส์ มอนโร (James Monroe) ที่บริเวณสนามหญ้าที่ Ash Lawn-Highland, ในเขตอัลเบอร์มาล (Albemarle County) รัฐเวอร์จิเนีย (Virginia) บ้านของมอนโร ได้รับการดูแลโดยวิทยาลัยวิลเลียมและแมรี่ (College of William and Mary) ที่เขาเป็นศิษย์เก่า แต่ไม่ได้เรียนจบการศึกษา เนื่องจากได้ออกกลางครัน เพื่อไปเป็นทหารในสงครามประกาศอิสรภาพ

เจมส์ มอนโร (James Monroe) เกิดเมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1758 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1831 เป็นประธานาธิบดีคนที่ 5 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งสองสมัยในช่วงปี ค.ศ. 1817-1825 นับเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนสุดท้าย ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาผู้ก่อตั้งประเทศ (Founding Father of the United States) ได้เข้าร่วมในประกาศอิสรภาพยากประเทศจากอาณานิคมอังกฤษ เป็นคนที่สามของกลุ่มบิดาผู้ก่อตั้งประเทศที่เผอิญเสียชีวิตในวันที่ 4 กรกฎาคม อันเป็นวันประกาศอิสรภาพและเป็นวันชาติสหรัฐ (Independence Day) นับเป็นประธานาธิบดีคนสุดท้ายที่มีฐานจากรัฐเวอร์จิเนีย (Virginia dynasty) เป็นคนสุดท้ายที่ยึดในหลักความเป็นสาธารณรัฐ (Republican Generation) เขาเป็นคนเชื้อสายฝรั่งเศสและสก๊อต

เจมส์ มอนโร เกิดที่เขตเวสต์มอร์แลนด์ ในรัฐเวอร์จิเนีย (Westmoreland County, Virginia) ครอบครัวมอนโรเป็นกลุ่มเจ้าของที่ดินเพื่อการเกษตรรายใหญ่ (Plantation) ได้เข้าร่วมรับในสงครามประกาศอิสรภาพ (American Revolutionary War) และบาดเจ็บจากการสู้รบที่สมรภูมิเทรนตัน (Battle of Trenton) โดยบาดเจ็บจากกระสุนปืนที่หัวไหล่ หลังจากการศึกษากฎหมายและเป็นสานุศิษย์ทางความคิดของโธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ในช่วงปี ค.ศ. 1780-1783 เขาได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐในการประชุมสภาภาคพื้นทวีป (Continental Congress) ในฐานะตัวแทนฝ่ายไม่เอาระบบรัฐบาลกลางที่ใหญ่และมีอำนาจมาก (Anti-federalist) จากรัฐเวอร์จิเนีย ในการประชุมเพื่อให้สัตยาบันต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา (United States Constitution) เขาเป็นพวกไม่เห็นด้วยต่อการให้สัตยาบัน โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญให้อำนาจแก่รัฐบาลกลางมากเกินไป

การแต่งงานและชีวิตครอบครัวMarriage and family

เจมส์ มอนโรแต่งงานกับอลิซาเบธ คอร์ทไรท์ มอนโร (Elizabeth Kortright Monroe) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1768–1830 เธอเป็นบุตรสาวของ Laurence Kortright และ Hannah Aspinwall Kortright ทั้งสองแต่งงานกันในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1786 ที่เมืองนิวยอร์ค ทั้งสองได้พบกันในช่วงการประชุมสภาแห่งภาคพื้นทวีป ซึ่งในขณะนั้น นิวยอร์คทำหน้าที่เป็นเมืองหลวงชั่วคราวของประเทศเกิดใหม่นี้ มอนโรได้กลับมาอาศัยอยู่กับบิดาของภรรยาในช่วงที่มีการเปิดประชุมสภา มอนโรและอลิซาเบธมีบุตรธิดาดังนี้

Eliza Monroe (1786–1835) – แต่งงานกับ George Hay ในปี ค.ศ. 1808 และทำหน้าที่แทนมารดาในช่วงที่เธอป่วย ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพแทนในงานพิธีต่างๆของประธานาธิบดีมอนโร

James Spence Monroe (1799–1801) – ที่หลุมศพของเขาเขียนว่า J.S. Monroe ซึ่งทำให้สับสนกับชื่อของ James Monroe ผู้พ่อ ซึ่งเป็นประธานาธิบดี

Maria Hester Monroe (1803–1850) – แต่งงานกับ Samuel L. Gouverneur ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1820 นับเป็นการแต่งงานครั้งแรกของบุตรหรือธิดาประธานาธิบดีในขณะดำรงตำแหน่ง

งานการเมือง

เจมส์ มอนโร เข้ามีส่วนร่วมกับการบริหารประเทศด้วยการอยู่ในกลุ่มของเจฟเฟอร์สันกับแมดิสัน  และในปี ค.ศ. 1790 เขาได้รับเลือกให้เป็นวุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์จิเนีย และเข้ากลุ่มการเมืองสนับสนุนแนวคิดของเจฟเฟอร์สัน (Jeffersonians) ซึ่งเป็นพวกไม่ต้องการระบบกษัตริย์ ต้องการพัฒนาประเทศเป็นระบอบสาธารณรัฐที่สมบูรณ์ การมีรัฐบาลกลางที่ไม่ใหญ่ และเคารพสิทธิของเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา ต่อมาเขาได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนีย (Governor of Virginia) และมีบทบาทระดับชาติเมื่อช่วยในคณะต่อรองซื้อรัฐลุยเซียน่า (Louisiana Purchase) จากฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1803 ในช่วงความขัดแย้งในสงครามปี ค.ศ. 1802 (War of 1812) มอนโรมีบทบาทสำคัญในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ (Secretary of State) และรัฐมนตรีกลาโหม (Secretary of War) ภายใต้รัฐบาลกลางในยุคเจมส์ แมดิสัน (James Madison) เป็นประธานาธิบดี

ในยุคแรก สหรัฐอเมริกาจัดได้ว่าเป็นประเทศมีพรรคการเมืองเดียว คือพรรคที่ร่วมก่อตั้งประเทศภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนแรก คือจอร์จ วอชิงตัน (George Washington) หลังพรรคที่ครองอำนาจเมื่อเริ่มต้น คือ Federalist Party แตกแยกกันเอง จึงทำให้มอนโรได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอย่างง่ายดายในปี ค.ศ. 1816 โดยได้คะแนนเสียงตัวแทนเลือกตั้งกว่าร้อยละ 80 และนับเป็นคนสุดท้ายของการเมืองอเมริกาในยุคมีพรรคเดียว (First Party System)

ในฐานะประธานาธิบดี เขาได้ซื้อรัฐฟลอริด้า (Florida) จากสเปน (Spain) และเป็นการลดความขัดแย้งกับประเทศเจ้าอาณานิคมนี้  มอนโรได้เดินทางเยี่ยมทั่วภูมิภาคของสหรัฐ และได้รับการต้อนรับอย่างดี ในยุคของเขานับเป็นยุคที่คนมีความรู้สึกดี (Era of Good Feelings) ที่ประเทศไม่ต้องขัดแย้งกับประเทศใหญ่ๆในยุโรป ปลอดจากสงครามกับประเทศในยุโรป จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1819 ได้มีความตื่นตระหนกทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลจากภายในประเทศเอง และเมื่อมีการพิจารณารับมิสซูรี่ (Missouri) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐ ในยุคของเขา เริ่มมีการจะรับรัฐใหม่ๆที่มีการขยายตัวไปทางตะวันตก ได้มีการพูดถึงเรื่องประเด็นการมีทาส การค้าทาส และเริ่มมีความแตกต่างทางความคิดระหว่างรัฐฝ่ายเหนือกับรัฐฝ่ายใต้ที่เป็นรัฐเกษตรกรรมที่ใช้แรงงานทาส อย่างไรก็ตาม มอนโรได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สองด้วยคะแนนเสียเกือบเป็นเอกฉันท์ (Won near-unanimous reelection)

มอนโรสนับสนุนการจัดตั้งประเทศใหม่ในอัฟริกาสำหรับอเมริกันเชื้อสายอัฟริกันหรือพวกทาสในอเมริกาที่ได้รับเสรีภาพ ประเทศใหม่นี้ต่อมาก็คือประเทศไลบีเรีย (Liberia) ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อมอนโรเวีย (Monrovia) ซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ในปี ค.ศ. 1823 มอนโรประกาศว่าสหรัฐอเมริกาต่อต้านการแทรกแซงรัฐที่เกิดใหม่ในทวีปอเมริกา ซึ่งหมายถึงอเมริกากลางและอเมริกาใต้ คำประกาศของเขาจึงได้ชื่อว่า “ลัทธิมอนโร” (Monroe Doctrine) ซึ่งถือเป็นหลักเขตในประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ก่อนที่จะมาถึงยุค “ประชาธิปไตยแบบแจคสัน” (Jacksonian democracy) และเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยแบบมีสองพรรคหลัก (Second Party System)

การรับรัฐใหม่สู่สหรัฐ

ในช่วงการบริหารงานของประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร ได้มีการรับรัฐใหม่เข้าสู่สหภาพ (States admitted to the Union)

มิสซิสซิปปี (Mississippi) วันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1817

รัฐอิลลินอยส์ (Illinois) วันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1818

รัฐอลาบาม่า (Alabama) วันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1819

รัฐเมนส์ (Maine) 15 มีนาคม ค.ศ. 1820 และ

รัฐมิสซูรี่ (Missouri) วันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1821


ภาพ ที่ตั้งของฟาร์มแห่งแรกของเจมส์ มอนโร ซึ่งปัจจุบันเป็นบริเวณของมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย (The University of Virginia) ในปี ค.ศ. 1788 เจมส์ มอนโรได้ซื้อที่นาขนาด 800 เอเคอร์ที่นี่ เพื่อจะได้อยู่ใกล้กับเพื่อนโธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ผู้เป็นดังพี่เลี้ยง เพื่อตั้งสำนักงานกฎหมาย และเรียนรู้ในฐานะผู้ฝึกงานกฎหมาย ในปี ค.ศ. 1799 มอนโรย้ายไปที่ไร่ Highland plantation ที่ใกล้กับ Monticello และขายฟาร์มแห่งนี้ไป

ลัทธิมอนโร
Monroe Doctrine

หลังสงครามนโปเลียน (Napoleonic wars) ซึ่งจบลงในปี ค.ศ. 1815 เกือบทั้งหมดของอาณานิคมภายใต้สเปนและปอร์ตุเกส (Spain’s and Portugal colonies) ในอเมริกาใต้ ได้ประกาศตัวเป็นอิสระ อเมริกันตอบรับพัฒนาการนี้ด้วยสปิริตของความเป็นสาธารณรัฐ (Republicanism) ไม่อยากได้รัฐใหม่ที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ หรือยังเป็นอาณานิคมของประเทศที่มีกษัตริย์ปกครอง รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น ควินซี อาดัมส์ (John Quincy Adams) เสนอแนะให้มีการชะลอการประกาศทัศนะจนให้มีการซื้อรัฐฟลอริด้าจากสเปนเรียบร้อยแล้ว ปัญหาในขณะนั้นคือจักรวรรดิรัสเซียได้เร่งขยายผล โดยกล่าวอ้างสิทธิในประเทศที่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกในช่วงล่าง ซึ่งทำให้ประเทศยุโรปชาติอื่นๆต่างอ้างสิทธิความเป็นเจ้าเมืองขึ้นเช่นเดียวกัน

มอนโรแจ้งต่อรัฐสภาสหรัฐในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1822 ว่าได้มีการจัดตั้งรัฐบาลถาวรที่มีความมั่นคงแล้วในเขตที่เรียกว่า United Provinces of the Río de la Plata ซึ่งในปัจจุบัน คือประเทศอาเจนติน่า (Argentina),ชิลี (Chile), เปรู (Peru), โคลอมเบีย (Colombia) และเม็กซิโก (Mexico) อาดัมส์ภายใต้การชี้แนะของมอนโร เขียนคำสั่งถึงทูตของสหรัฐประจำประเทศใหม่เหล่านี้ ซึ่งในขณะนั้นเรียก Ministers หรือเทียบเท่ากับ Ambassadors โดยประกาศว่า นโยบายของสหรัฐอเมริกา คือการยึดมั่นในสถาบัน “สาธารณรัฐ” คือการปกครองที่ไม่อยู่ภายใต้ระบบกษัตริย์ ซึ่งแตกต่างจากชาติในยุโรปขณะนั้น และแนวคิดนี้เป็นความแตกต่างของระบบอเมริกัน (American system) ที่แตกต่างจากยุโรป และนี่คือคำประกาศต่อประเทศทวีปอเมริกาใต้ (Latin America) มอนโรยึดความภูมิใจที่สหรัฐอเมริกาเป็นชาติแรกที่ยื่นมือให้การยอมรับประเทศเกิดใหม่เหล่านี้ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประเทศอื่นๆในโลก เพื่อเป็นการยืนยันหลัก “เสรีภาพและมนุษยชาติ” (Cause of liberty and humanity)

คำประกาศต่อรัฐสภาของเขาในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1823 ซึ่งต่อมาเรียกว่า “ลัทธิมอนโร” (Monroe Doctrine) เขายืนยันว่าประเทศในทวีปอเมริกาควรจะเป็นอิสระจากอาณานิคมในยุโรป และแต่ละประเทศต้องมีเอกราชเป็นของตนเองโดยไม่ขึ้นอยู่กับการเป็นอาณานิคมของยุโรป และขณะเดียวกัน ในขณะที่ประเทศในยุโรปกำลังขัดแย้งกันในระดับสงครามระหว่างประเทศ อเมริกาจะยืนยันในความเป็นกลาง ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ขณะเดียวกัน อเมริกาจะถือเป็นความก้าวร้าว หากมีชาติในยุโรปพยายามขยายอาณานิคมในทวีปอเมริกาอีก

แม้คำประกาศของมอนโรจะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่สุนทรพจน์นี้เขียนโดยอาดัมส์ ซึ่งได้ออกแบบคำประกาศนี้ด้วยความร่วมมือกับอังกฤษ

มอนโรและอาดัมส์ตระหนักว่า การยอมรับอิสรภาพของประเทศในลาตินอเมริกานี้ จะไม่เป็นการไปปกป้องประเทศใหม่จากการเข้าแทรกแซงการเข้ามามีอำนาจของสเปน ดังนั้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1823 ริชาร์ด รัช (Richard Rush) ทูตสหรัฐประจำลอนดอน ได้ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ เพื่อประกาศการไม่เข้าแทรกแซงของชาติยุโรปร่วมกัน ระหว่างสหรัฐและอังกฤษ ซึ่งอังกฤษมีแสนยานุภาพทางกองทัพเรือ เป็นหลักประกันว่าอังกฤษไม่เห็นด้วยกับการเข้าครอบครองอเมริกาใต้อีกครั้งของชาติยุโรป ส่วนอเมริกาเองก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของประเทศในซีกโลกใต้นี้ ด้วยคำแนะนำของอดีตประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สันและแมดิสัน อเมริกายอมรับเงื่อนไขว่า อเมริกาเองก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงประเทศเหล่านี้

การประกาศของมอนโรตามคำแนะนำของอาดัมส์ ไม่เพียงปล่อยให้อเมริกาใต้ได้คงอยู่อย่างอิสระ แต่เป็นการปรามรัสเซียที่จะเข้ามามีบทบาทในดินแดนริมมหาสมุทรฝั่งแปซิฟิก แต่ก็ไม่มีผลต่อการที่ชาติในยุโรปจะเข้าไปมีบทบาทในการขยายอาณานิคมในอนาคตในส่วนอื่นๆของโลก

ลัทธิมอนโร จึงเป็นช่วงเวลาที่ป้องกันการเข้ามีบทบาทของรัสเซียในอเมริกาใต้ มากกว่าจะเป็นการกีดกันอาณานิคมของสเปน

ในอีกด้านหนึ่ง สหรัฐอเมริกาสัญญาว่าจะไม่เข้าไปยุ่งในกิจการภายในของยุโรป และขณะเดียวกัน ก็เรียกร้องชาติในยุโรปให้ต้องไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการใดๆในสหรัฐอเมริกา และด้วยลัทธิหรือคำประกาศของมอนโร ซึ่งมีผลต่อมาอีกยาวนาน จึงมีเรื่องขัดแย้งกันในประเด็นดังกล่าวน้อยมาก

เสียชีวิต

เมื่อภรรยาของมอนโรเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1830 มอนโรได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองนิวยอร์คและอาศัยกับบุตรสาว คือ Maria Hester Monroe Gouverneur ผู้แต่งงานกับ Samuel L. Gouverneur

ในช่วงท้ายของชีวิต มอนโรประสบปัญหาทางการเงิน และสุขภาพก็ทรุดโทรมลงอย่างช้าๆ เมื่อจอห์น ควินซี อาดัมส์ (John Quincy Adams) ได้ไปเยี่ยมเขาในเดือนเมษายน ค.ศ. 1831 อาดัมส์พบว่ามอนโรยังตื่นตัวและอยากที่จะสนทนาเกี่ยวกับเรื่องยุโรป แต่ด้วยสุขภาพที่ไม่ดี อาดัมส์จึงตัดการเยี่ยมให้สั้นลง ด้วยเกรงว่าจะทำให้มอนโรเหนื่อยเกินไป

ในระยะต่อมา มอนโรได้เสียชีวิตด้วยหัวใจล้มเหลวและโรควัณโรค (Tuberculosis) ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1831 และกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่สามที่เสียชีวิตในวันประกาศอิสรภาพ (Independence Day) คือในวันที่ 4 กรกฎาคม นับเป็น 55 ปีพอดีหลังการประกาศอิสรภาพของประเทศสหรัฐ (U.S. Declaration of Independence) และเป็นเวลา 5 ปีพอดี หลังจากที่ 2 คนในกลุ่ม “บิดาผู้ก่อตั้งประเทศ” (Founding Fathers) ผู้ได้กลายเป็นประธานาธิบดี คือ จอห์น อาดัมส์ (John Adams) และ โธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ได้เสียชีวิต ศพของมอนโรถูกฝังที่สุสานฮอลลิวูด (Hollywood Cemetery) ที่เมืองริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย (Richmond, Virginia) อีก 27 ปีต่อมา ศพของเขาได้ถูกย้ายไปฝัง ณสุสานเจมส์ มอนโร (James Monroe Tomb) ซึ่งเป็นเขตหลักประวัติศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐ (U.S. National Historic Landmark)


Saturday, April 27, 2013

ห้องสมุดประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา (Presidential Library)


ห้องสมุดประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา (Presidential Library)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia

Keywords: ประวัติศาสตร์, history, สหรัฐอเมริกา, USA, ประธานาธิบดี, president, presidency, ความเป็นผู้นำ, leadership, ห้องสมุด, หอสมุด, Presidential library

ความนำ

อย่าปล่อยให้ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งเงียบหายไป

The dogmas of the quiet past are inadequate to the stormy present. The occasion is piled high with difficulty, and we must rise with the occasion. As our case is new, so we must think anew and act anew.

ลัทธิที่เชื่อว่าปล่อยให้ประวัติศาสตร์เงียบหายไป จะไม่เพียงพอที่จะเตรียมเราสำหรับคลื่นพายุใหญ่ในอนาคต บางครั้งความยากลำบากถาโถมเข้ามา และเราต้องลุกขึ้นดำเนินการ เพราะเรื่องมันเข้ามาใหม่ เราจึงต้องมีวิธีการใหม่ๆที่จะดูแลสิ่งเหล่านั้น

ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น
Abraham Lincoln

ประวัติศาสตร์อาจเป็นความเจ็บปวด เป็นความน่าอับอายของชาติและประชาชน และการอยากที่จะลืม แต่เพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งและมั่นคง เราต้องเรียนรู้จากอดีต ไม่ว่ามันจะถูกหรือผิด จะเจ็บปวด หรือฮึกเหิม อดีตเป็นครูที่ทำให้เราอยู่กับปัจจุบันอย่างเข้าใจ และความหยั่งรู้เช่นนี้ จึงจะทำให้เราก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

ห้องสมุดประธานาธิบดี

ห้องสมุดประธานาธิบดี (Presidential library) มิใช่เป็นห้องสมุดที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีคนใดคนหนึ่ง หรือเป็นห้องสมุดที่ประธานาธิบดีแต่ละคนใช้เพื่อการศึกษาเป็นส่วนตัว อย่างที่เข้าใจกัน
ในประเทศสหรัฐอเมริกา (United States) ระบบห้องสมุดประธานาธิบดี (presidential library system) เป็นเครือข่ายห้องสมุดระดับชาติ มีห้องสมุด 13 แห่งที่บริหารโดยสำนักงานห้องสมุดประธานาธิบดี (Office of Presidential Libraries) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ หน่วยงานจัดเก็บข้อมูลด้านการบริหารแห่งชาติ (National Archives and Records Administration) ที่เรียกชื่อย่อๆว่า NARA ห้องสมุดเหล่านี้ทำหน้าที่เก็บรักษาและทำให้ข้อมูลด้านเอกสาร บันทึก งานสะสม และเอกสารประวัติศาสตร์ของทุกประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ประธานาธิบดีฮูเวอร์ (Herbert Hoover) เป็นต้นมา แม้ห้องสมุดในระบบทั้งหมด แม้จะมีประธานาธิบดีหลายคนที่มีข้อมูลที่ไม่ได้บริหารงานโดย NARA แต่ก็ถือว่าหน่วยงานนี้ทำหน้าที่ดูแลงานด้านประวัติศาสตร์ที่พร้อมจะให้ศึกษาเกี่ยวกับการบริหารงานแผ่นดินของประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยลักษณะการทำงานของประธานาธิบดีต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ทำหน้าที่ให้กับประเทศ ไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องราชการที่จะถือว่าเป็นความลับส่วนตัวที่ไม่เปิดเผย ประชาชนเจ้าของประเทศมีสิทธิรับรู้ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในช่วงของการบริหาร ดังนั้นข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารงานแผ่นดินในฐานะประธานาธิบดีนั้น เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งแล้ว เอกสารส่วนที่ถือเป็นความลับก็จะได้รับการพิจารณาเปิดเผย หากข้อมูลนั้นไม่มีผลกระทบต่อการบริหารประเทศในปัจจุบัน และข้อมูลที่เปิดเผยนั้น จะเป็นการทำให้สังคม และสถาบันต่างๆได้เรียนรู้จากบทเรียนประวัติศาสตร์ที่ได้เกิดขึ้น

มีห้องสมุดประธานาธิบดีบางแห่ง บริหารงานโดยตรงจาก NARA มีบางแห่งที่เป็นเจ้าภาพร่วมกันกับหน่วยงานภายในแต่ละรัฐ ซึ่งอาจเป็นมูลนิธิที่ไม่แสวงกำไร หรือมหาวิทยาลัยหลักที่มีอยู่ในรัฐเหล่านั้น


ภาพ บ้านเก่า” (Old House) ที่ควินซี่ รัฐแมสซาชูเสทส์ (Quincy Massachusetts) เป็นที่พักของตระกูลจอห์น อาดัมส์ (John Adams) ประธานาธิบดีคนที่สองของสหรัฐอเมริกา และครอบครัวของเขาถึง 4 ชั่วคน มันเป็นบ้านของจอห์น อาดัมส์กับอบิเกล อาดัมส์ (Abigail Adams) ภรรยาของเขา ลูกชาย จอห์น ควินซี่ อาดัมส์ (John Quincy Adams) ซึ่งได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 เขาได้เป็นประธานาธิบดีช่นเดียวกับบิดา และภรรยา คือลุยซ่า แคเธอรีน อาดัมส์ (Louisa Catherine Adams) และบุตรชาย ชาร์ลส ฟรานซิส อาดัมส์ (Charles Francis Adams) ซึ่งได้เป็นเอกอัครทูตประจำประเทศสหราชอาณาจักรในช่วงของสงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา และนักประวัติศาสตร์เฮนรี่ อาดัมส์ (Henry Adams) และบรูคส์ อาดัมส์ (Brooks Adams) ก็เคยอาศัยอยู่ที่นี่ บ้านเก่าอันเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์หลังนี้ ในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติอาดัมส์ (Adams National Historical Park) ดำเนินการโดยสำนักงานอุทยานแห่งชาติ (National Park Service) และเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้


ภาพ ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ประธานาธิบดีรูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt Presidential Library and Museum) ตั้งอยู่ที่ไฮด์ ปาร์ค รัฐนิวยอร์ค (Hyde Park, New York) ดำเนินการโดย NARA

หากใครต้องการจะเรียนรู้เกี่ยวกับผู้นำที่ต้องบริหารในช่วงความยากลำบากทางเศรษฐกิจ (Great Depression) และการต้องเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่สอง (World War II) ก็ต้องศึกษาการทำงานของประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ ผู้อยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีถึง 4 สมัย

ลำดับที่
รายละเอียด
1.    
ประธานาธิบดีคนที่ 1 George Washington ห้องสมุดชื่อ Fred W. Smith National Library for the Study of George Washington  at Mount Vernon(under construction)[7] ตั้งอยู่ที่ Mount Vernon, Virginia ดำเนินการโดย Mount Vernon Ladies' Association
2.    
ประธานาธิบดีคนที่ 6. John Quincy Adams ห้องสมุดชื่อ Stone Library at Adams National Historical Park Quincy, Massachusetts ตั้งอยู่ที่ National Park Service ดำเนินการโดย -
3.    
ประธานาธิบดีคนที่ 16 Abraham Lincoln ห้องสมุดชื่อ Abraham Lincoln Presidential Library and Museum ตั้งอยู่ที่ Springfield, Illinois, State of Illinois ดำเนินการโดย -
4.    
ประธานาธิบดีคนที่ 18 Ulysses S. Grant ห้องสมุดชื่อ Ulysses S. Grant Presidential Library ตั้งอยู่ที่ Starkville, Mississippi ดำเนินการโดย Mississippi State University และ Ulysses S. Grant Association
5.    
ประธานาธิบดีคนที่ 19 Rutherford Hayes ห้องสมุดชื่อ Rutherford B. Hayes Presidential Center ตั้งอยู่ที่ Fremont, Ohio ดำเนินการโดย Ohio Historical Society และ Hayes Presidential Center, Inc.
6.    
ประธานาธิบดีคนที่ 25 William McKinley ห้องสมุดชื่อ William McKinley Presidential Library and Museum ตั้งอยู่ที่ Canton, Ohio ดำเนินการโดย Stark County Historical Society
7.    
ประธานาธิบดีคนที่ 28 Woodrow Wilson ห้องสมุดชื่อ Woodrow Wilson Presidential Library ตั้งอยู่ที่ Staunton, Virginia ดำเนินการโดย Woodrow Wilson Presidential Library Foundation
8.    
ประธานาธิบดีคนที่ 30 Calvin Coolidge ห้องสมุดชื่อ Calvin Coolidge Presidential Library and Museum ตั้งอยู่ที่ Northampton, Massachusetts ดำเนินการโดย Commonwealth of Massachusetts
9.    
ประธานาธิบดีคนที่ 31 Herbert Hoover ห้องสมุดชื่อ Herbert Hoover Presidential Library and Museum ตั้งอยู่ที่ West Branch, Iowa ดำเนินการโดย National Archives and Records Administration (NARA)
10.        
ประธานาธิบดีคนที่ 32 Franklin D. Roosevelt ห้องสมุดชื่อ Franklin D. Roosevelt Presidential Library and Museum ตั้งอยู่ที่ Hyde Park, New York ดำเนินการโดย NARA
11.        
ประธานาธิบดีคนที่ 33 Harry S. Truman ห้องสมุดชื่อ Harry S. Truman Presidential Museum and Library ตั้งอยู่ที่ Independence, Missouri ดำเนินการโดย NARA
12.        
ประธานาธิบดีคนที่ 34 Dwight D. Eisenhower ห้องสมุดชื่อ Dwight D. Eisenhower Presidential Library ตั้งอยู่ที่ Abilene, Kansas ดำเนินการโดย NARA
13.        
ประธานาธิบดีคนที่ 35 John F. Kennedy ห้องสมุดชื่อ John F. Kennedy Presidential Library & Museum ตั้งอยู่ที่ Boston, Massachusetts ดำเนินการโดย NARA
14.        
ประธานาธิบดีคนที่ 36 Lyndon B. Johnson ห้องสมุดชื่อ Lyndon Baines Johnson Library and Museum ตั้งอยู่ที่ Austin, Texas ดำเนินการโดย NARA และ The University of Texas at Austin
15.        
ประธานาธิบดีคนที่ 37 Richard Nixon ห้องสมุดชื่อ Richard Nixon Presidential Library and Museum ตั้งอยู่ที่ Yorba Linda, California ดำเนินการโดย NARA
16.        
ประธานาธิบดีคนที่ 38 Gerald R. Ford ห้องสมุดชื่อ Gerald R. Ford Museum, Gerald R. Ford Presidential Library ตั้งอยู่ที่ Grand Rapids, Michigan Ann Arbor, Michigan ดำเนินการโดย NARA
17.        
ประธานาธิบดีคนที่ 39 Jimmy Carter ห้องสมุดชื่อ Jimmy Carter Library and Museum ตั้งอยู่ที่ Atlanta, Georgia ดำเนินการโดย NARA
18.        
ประธานาธิบดีคนที่ 40 Ronald Reagan ห้องสมุดชื่อ Ronald Reagan Presidential Library ตั้งอยู่ที่ Simi Valley, California ดำเนินการโดย NARA
19.        
ประธานาธิบดีคนที่ 41 George H. W. Bush ห้องสมุดชื่อ George Bush Presidential Library & Museum ตั้งอยู่ที่ College Station, Texas ดำเนินการโดย NARA
20.        
ประธานาธิบดีคนที่ 42 Bill Clinton ห้องสมุดชื่อ William J. Clinton Presidential Center and Park ตั้งอยู่ที่ Little Rock, Arkansas ดำเนินการโดย NARA
21.        
ประธานาธิบดีคนที่ 43 George W. Bush ห้องสมุดชื่อ George W. Bush Presidential Center ตั้งอยู่ที่ Dallas, Texas ดำเนินการโดย George W. Bush Presidential Library Foundation (construction) และ NARA (operation)