Sunday, July 17, 2011

สิ่งดีๆมักมาเป็นสาม

สิ่งดีๆมักมาเป็นสาม

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
Pracob@sb4af.org

มีสุภาษิตเยอรมันหนึ่งกล่าวว่า “Aller guten Dinge sind drei.แปลตรงกับในภาษาอังกฤษว่า “All good things are three.” ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “สิ่งดีๆมักมาเป็นสาม” หลักนี้จะพบได้ทั้งในตะวันตกและตะวันออก

เริ่มด้วยหลักของพุทธศาสนา มีหลักพระรัตนตรัย ประกอบด้วย พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ คนนับถือพุทธศาสนาต้องเข้าใจในความสำคัญของแก้ว 3 ประการนี้

พระพุทธ หมายถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระบรมศาสดาของพระพุทธศาสนา พุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานนับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นศาสดาของตนเหมือนกันแต่รายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน

พระธรรม หมายถึงคำสั่งสอน ที่พุทธศาสนิกชนยึดถือและนำไปปฏิบัติ พระธรรม คือสิ่งซึ่งพระพุทธเจ้าทรงค้นพบและนำออกเผยแผ่ หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับความจริงตามธรรมชาติของทุกข์และวิธีการดับทุกข์ ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นแต่เริ่มสืบทอดกันด้วยวิธีท่องจำแบบปากต่อปาก เรียกว่า "มุขปาฐะ" สมัยต่อมาจึงได้มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร คัมภีร์ที่บันทึกพระธรรมของพระพุทธเจ้านั้น เรียกว่า พระไตรปิฎก สำหรับชาวบ้านทั่วไป ให้จำหลักศีล 5 ข้อ และธรรม 5 ข้อ รวมเป็น 10 หากยึดถือปฏิบัติได้ ก็จัดได้ว่าเป็นคนมีศีลธรรม นับว่าดีพอแล้ว

พระสงฆ์ หมายถึง ผู้ทำหน้าที่เป็นหลักในการสืบทอดศาสนา ทั้งพิธีกรรมและคำสอน พระสงฆ์ หมายถึง สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ซึ่งฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วเลื่อมใส สละเรือนออกบวช ถือวัตร ปฏิบัติ ตาม พระธรรมวินัย ที่พระบรมศาสดา สั่งสอนและกำหนดไว้

พระสงฆ์ ได้แก่ ภิกษุ ในพระพุทธศาสนา หมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ซึ่งสละเรือนออกบวชตามพระพุทธเจ้า หลังจากได้ฟังคำสั่งสอนแล้วเกิดความเลื่อมใส ต้องการจะได้บรรลุธรรมตามพระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้ ปฏิบัติตามธรรมและวินัยที่กำหนดไว้เฉพาะสำหรับภิกษุ จำนวน 227 ข้อ บางครั้งเรียกว่า เรียกว่า สงฆ์ ""พระสงฆ์ ในปัจจุบันในประเทศไทยมีพระสงฆ์อยู่ประมาณ 300,000 รูป อนาคตของพุทธศาสนาคือการต้องทำนุบำรุงให้มีพระสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถ เป็นผู้นำทางด้านศาสนาและความคิดด้านจริยธรรมของประชาชน

ในระบบประชาธิปไตยกับสามอำนาจอิสระ คืออำนาจบริหาร อันมีตำแหน่งประธานาธิบดีที่มาจากกาเลือกตั้งเป็นผู้นำ (Executive) อำนาจนิติบัญญัติ คือรัฐสภา (Congress) โดยมีวุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ด้านการออกกฏหมาย และอำนาจตุลาการ (Judiciary) ทั้งสามอำนาจนี้เป็นอิสระต่อกัน แนวคิดประชาธิปไตยอเมริกันเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1776 เมื่อประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ จนบัดนี้หลักใหญ่ๆของรัฐธรรมนูญอเมริกันก็ยังคงอยู่ ไม่ได้มีการฉีกทิ้ง แต่มีการปรับปรุงแก้ไขมาเป็นระยะให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป หลักสามอำนาจของประชาธิไตยนี้ ในประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดอย่างอินเดีย หรือในไทย ก็ยึดหลัก 3 อำนาจนี้ และเมื่อใดที่ 3 อำนาจนี้ไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างอิสระต่อกัน เช่นฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ มีการซื้อเสียงกัน และกับฝ่ายตุลาการ มีการสรรหาและแต่งตั้งอย่างไม่เป็นธรรม ปราศจากการบริหารในระบบคุณธรรม (Merit System) มีการเล่นพรรคเล่นพวกกัน ก็จะนำไปสู่ความเสื่อมของประชาธิปไตย และความเสื่อมของสังคมโดยรวม

หลักการทำงานร่วมกันเป็นคณะบุคคล หรือคณะกรรมการ ดังเช่น เราจัดตั้งบริษัทแล้วต้องการให้มีคณะบุคคลช่วยกันทำหน้าที่เป็นบริหารงานขององค์การ ก็ต้องให้มีบุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปที่จะเข้ามาร่วมทำหน้าที่บริหารและตัดสินใจ เขาให้เหตุผลดังนี้ หากมีเพียงหนึ่งคน ก็จะไม่มีคนช่วยคิด ช่วยทัดทานยามหลงทาง อันนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ ดังที่โบราณบอกว่า “หนึ่งคนหัวหาย” จะไปที่ไหน เกิดอะไรขึ้นก็ไม่มีคนคอยช่วย “สองคนเพื่อนตาย” ก็เป็นสิ่งที่ดี หากมีอะไรขึ้นจะได้มีคนคอยช่วยกัน แต่บางครั้งหากต่างคนต่างเห็นพ้องต้องกันไปในทางที่ผิด ก็เลยผิดไปทั้งคู่ หรือในอีกด้านหนึ่ง หากเห็นไม่ตรงกัน ก็เลยเดินหน้าไม่ได้ เพราะเสียงก้ำกึ่งกันอยู่ เขาจึงให้มีองค์คณะตั้งแต่ 3 เพราะถ้าสองคนเห็นต่างกัน ยังมีคนที่สามเป็นคนตัดสินได้ แต่ถ้ามี 4 คนก็ไม่เหมาะ เพราะอาจมีเสียงต่างเป็น 2 : 2 ก็ทำให้ตัดสินใจเดินหน้าไม่ได้ ซึ่งก็ต้องมีคณะบุคคลที่มีสมาชิกเป็น 5, 7, หรือ 9 คน เป็นต้น

การที่โบราณมักยึดหลักสิ่งดีๆที่มาเป็นสามนี้ ส่วนหนึ่งคือมันเป็นหลักที่ไม่มากเกินไป และพอจำได้ ไม่ต้องไปเสียเวลาท่องนาน หากเราพูดถึงกฎหมายที่มีข้อบัญญัติออกมาเป็นร้อยๆข้อ ชาวบ้านก็จะไม่เข้าใจ แต่หากมีหลักอะไรง่ายๆที่เพียงสัก 3 ข้อ คนก็พอจะจดจำได้ และนำไปปฏิบัติได้

1 comment:

  1. เป็นไอเดียที่ดีนะ
    เหมือนกับคำพูดที่ว่า ลองพยายามให้ได้สามครั้งในหนังเรื่อง สุดเขตฯ
    เลย

    ReplyDelete