Sunday, July 3, 2011

4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 อเมริกาประกาศอิสรภาพ

4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 อเมริกาประกาศอิสรภาพ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Jul 4, 1776: U.S. declares independence

วันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 เป็นวันที่สหรัฐอเมริกาประกาศอิสรภาพจากอาณานิคมอังกฤษที่เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย และได้รับหลัก “ประกาศความเป็นอิสระ” (Declaration of Independence) ยืนยันความเป็นอิสระของสหรัฐอเมริกา ต่อประเทศอังกฤษในขณะนั้น (Great Britain) และปฏิเสธการอยู่ใต้ระบบกษัตริย์ของอังกฤษ ประกาศอิสรภาพนี้ได้มาหลังจากที่ได้มีการปะทะกันในสงครามปฏิวัติอเมริกัน (American Revolution) ที่ได้เกิดขึ้นที่บริเวณ Lexington และ Concord ในรัฐแมสสาชูเสต (Massachusetts) เป็นเวลา 442 วัน ความขัดแย้งระหว่างชาวอาณานิคมอเมริกากับประเทศแม่อย่างอังกฤษ ท้ายสุดกระตุ้นให้ฝรั่งเศสได้เข้ามาร่วมกับอเมริกาในฐานะผู้รักชาติ (Patriots)

การเริ่มขัดแย้งระหว่างอเมริกากับนโยบายของอังกฤษเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1765 หลังรัฐสภาอังกฤษประกาศขึ้นภาษีอากรแสตมป์ เพื่อจัดเก็บรายได้ไปใช้ในการพัฒนากองทัพอังกฤษในอเมริกา แต่ฝ่ายชาวอาณานิคมอเมริกาไม่เห็นด้วย โดยหลักที่ว่า “ไม่มีการจ่ายภาษีหากไม่มีตัวแทนของชาวอาณานิคมที่จะเป็นตัวแทนในรัฐสภา” (No taxation without representation) ชาวอาณานิคมได้จัดให้มีการประชุมสมัชชาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติอากรแสตมป์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1765 เพื่อประท้วงนโยบายดังกล่าวในเดือนพฤศจิกายน ชาวอาณานิคมได้บอยคอตสินค้าจากอังกฤษ มีการจัดกลุ่มโจมตีคลังสินค้าและบ้านเรือนของพนักงานจัดเก็บภาษีของอังกฤษ หลังจากการประท้วงอยู่หลายเดือน รัฐสภาอังกฤษได้ออกเสียงเห็นชอบพระราชบัญญัติยกเลิกการจัดเก็บภาษีอากรแสตมป์ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1766

ชาวอาณานิคมส่วนใหญ่ยังคงยอมรับการปกครองของอังกฤษอย่างเงียบๆ จนกระทั่งรัฐสภาอังกฤษได้ออกพระราชบัญญัติจัดเก็บภาษีใบชา (Tea Act, 1773) กฏหมายที่กำหนดขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยกิจการของบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) ของอังกฤษ โดยลดภาษีอากรใบชาสินค้านำเข้าสู่อังกฤษอย่างมาก แต่ไปเพิ่มภาษีที่จะให้มีการผูกขาดการค้าใบชาในอเมริกา การลดภาษีใบชาก็เพื่อลดการลักลอบนำเข้าชาที่ไม่เสียภาษีโดยพ่อค้าชาวดัช แต่ชาวอาณานิคมมองการขึ้นภาษีและการผูกขาดการค้าใบชาในอเมริกาว่าเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของเผด็จการทางภาษี เพื่อเป็นการตอบโต้ ผู้รักชาติหัวรุนแรงในรัฐแมสสาชูเสทได้รวมตัวกัน บุกเข้าทำลายสินค้าใบชาของอังกฤษที่เรียกว่า Boston Tea Party โดยการนำใบช้าที่ปล้นได้มาโยนลงน้ำที่อ่าวเมืองบอสตัน (Boston Harbor)

รัฐสภาอังกฤษโกรธในการกระทำของชาวอาณานิคมที่เข้าทำลายทรัพย์สินของอังกฤษใน Boston Tea party จึงได้ออกกฎหมายบังคับ (Coercive Acts) บางคนเรียกว่า “กฏหมายไม่อดทน” (Intolerable Acts) ในปี ค.ศ. 1774 กฎหมายนี้ทำให้มีการปิดเมืองบอสตันให้ไม่มีการค้าทางเรือ มีการจัดกำลังทัพอังกฤษเพื่อปกครองในรัฐแมสสาชูเสท ทำให้เจ้าหน้าที่ของอังกฤษสามารถปฏิบัติการใดๆได้ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้การศาลของชาวอาณานิคม และทำให้ชาวอาณานิคมต้องจัดหาที่พักให้กับกองทหารของอังกฤษ ผลคือฝ่ายชาวอาณานิคมได้รวมตัวกันประชุมใหญ่ที่เรียกว่า “สภาแห่งภาคพื้นทวีป” (Continental Congress) และเป็นการรวมตัวของชาวอเมริกันเพื่อต่อต้านอังกฤษ

ในขณะที่ชาวอาณานิคมในที่อื่นๆกำลังเฝ้ามอง ชาวแมสสาชูเสทได้นำการต่อสู้กับอังกฤษ โดยมีการจัดตั้งรัฐบาลปฏิวัติ มีการจัดทัพเพื่อต่อสู้กับกองทัพของอังกฤษ ในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1775 นับเป็นวันเสียงปืนแตก เมื่ออังกฤษสั่งกองทหารเคลื่อนเข้าสู่บริเวณ Concord, MA เพื่อเข้ายึดปืนใหญ่ของฝ่ายกบถ แต่ก็ต้องพบกับการต่อต้านจากกองกำลังของอเมริกันที่เมือง Lexington

ในระยะนี้ทั้งชาวอเมริกันและอังกฤษมองว่าความขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งระดับสงครามกลางเมือง (Civil war) ภายในจักรวรรดิอังกฤษ สำหรับกษัตริย์อังกฤษ King George III เรียกฝ่ายต่อต้านว่าเป็น “พวกกบถอาณานิคม” (Colonial rebellion) ฝ่ายอเมริกันมองการต่อสู้ว่า เพื่อให้ได้สิทธิอนชอบธรรมในฐานะพลเมืองของอังกฤษ ฝ่ายรัฐสภาอังกฤษก็ยังแข็งขืน ไม่เปิดให้มีการเจรจากับกบถอเมริกัน แต่กลับมีการจ้างทหารรับจ้างเยอรมัน (German mercenaries) เพื่อช่วยกองทัพของอังกฤษบดขยี้ฝ่ายกบถ เพื่อตอบโต้การต่อต้านการปฏิรูปของอังกฤษ สภาแห่งภาคพื้นทวีปก็ได้ออกมาตรการเพื่อเลิกยอมรับอำนาจของอังกฤษที่มีต่ออาณานิคมทั้งหลาย

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1776 Thomas Paine ได้ตีพิมพ์ข้อเขียนเรื่อง Common Sense ซึ่งเป็นแผ่นปลิวที่มีอิทธิพลทางการเมือง อธิบายว่าทำไมอเมริกันจึงต้องประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ แผ่นปลิวนี้ขายได้ 500,000 แผ่นในเวลาไม่กี่เดือน ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 1776 กระแสสนับสนุนการประกาศอิสรภาพของอาณานิคมก็ได้แผ่ขยายไปทั่วทุกอาณานิคม สภาแห่งภาคพื้นทวีปจึงได้เรียกประชุมและจัดตั้งรัฐบาลของตนเองขึ้น โดยมีคณะบุคคล 5 คนทำหน้าที่ร่างประกาศอิสรภาพ

ภาพ ธงชาติสหรัฐในยุคสงคามประกาศอิสรภาพ

คำประกาศอิสรภาพ (The Declaration of Independence)

ในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 สภาแห่งภาคพื้นทวีปได้ลงมติเห็นชอบข้อเสนอจากเวอจิเนีย (Virginia) ที่ให้แยกตัวออกจากอังกฤษ คำประกาศได้รับการลงมตินี้ ได้แนบประกาศอิสรภาพไปด้วย ใน 2 วันต่อมา คือวันที่ 4 กรกฎาคม คำประกาศอิสรภาพได้รับการเห็นชอบโดย 12 อาณานิคมโดยมีข้อแก้ไขเพียงเล็กน้อย อาณานิคมนิวยอร์ค (New York) ได้เห็นชอบในวันที่ 19 กรกฎคม และได้ร่วมลงนามตามหลังมาในวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1776

สงครามกับอังกฤษอันเป็นผลจากการประกาศอิสรภาพได้ใช้เวลายาวนานถึง 5 ปี และยุติลงเมื่อฝ่ายผู้รักชาติ (Patriots) ได้ชนะการรบที่ Saratoga ท่ามกลางอากาศหนาว ในช่วงฤดูร้อนที่ Valley forge และด้วยกำลังสนับสนุนโดยฝ่ายฝรั่งเศส ที่ทำให้ได้รับชัยชนะครั้งสุดท้ายที่เมือง Yorktown ในปี ค.ศ. 1781 และในปี ค.ศ. 1783 ได้มีการลงนามในสนธิสัญญปารีสกับฝ่ายอังกฤษ สหรัฐอเมริกา (The United States) สหรัฐอเมริกาจึงได้เป็นประเทศเสรีและอิสระนับแต่นั้นมา

ภาพ นายพล George Washington กำลังขี่ม้าตรวจกำลังรบ

ในช่วงสูงสุด กองกำลังของฝ่ายภาคพื้นทวีป หรืออเมริกัน ประกอบด้วย

ทหาร (Continentals) 35,000 นาย เป็นทหารพราน (Militia) 44,500 นาย, ทหารเรือ (Sailors) 55,000 นาย, ทหารฝรั่งเศสที่อยู่ในอเมริกา 10,000 นาย, ทหารฝรั่งเศสและสเปนจากภาคพื้นยุโรปอีก 60,000 คน

ในช่วงมีกำลังรบสูงสุด ฝ่ายอังกฤษมีทหาร 56,000 นาย, ทหารเรือ (Sailor) 171,000 นาย, ทหารรับจ้างจากเยอรมัน (Germans) 30,000 นาย, พวกภักดีต่อกษัตริย์ (Loyalists) 50,000 นาย, เป็นพวกชาวพื้นเมือง อินเดียนแดง (Natives) 13,000 คน

ฝ่ายอเมริกันทั้งทหารและพลเรือนเสียชีวิตประมาณ 50,000 คน

ฝ่ายอังกฤษเสียชีวิตและบาดเจ็บ 20,000 คน ทหารเรือเสียชีวิต 19,740 คน มีทหารเรือหนีทัพ 42,000 คน และเยอรมันเสียชีวิต 7,554 คน

No comments:

Post a Comment