Wednesday, March 27, 2013

คำจำกัดความและวิสัยทัศน์รถไฟความเร็วสูงในสหรัฐอเมริกา


คำจำกัดความและวิสัยทัศน์รถไฟความเร็วสูงในสหรัฐอเมริกา

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia, the free encyclopedia

Keywords: รถไฟความเร็วสูง, high speed train, High Speed Rail Association - USHSR, สหรัฐอเมริกา, USA, China, รถไฟ, การขนส่ง, transportation, คมนาคม, พลังงาน, energy, alternative energy,

ประเทศไทยมีพัฒนาการด้านรถไฟ คล้ายกับในสหรัฐอเมริกา คือลงทุนพัฒนาทางรถยนต์ก้าวหน้าไปมาก ในขณะที่รถไฟประสบความถดถอย จนเกือบอยู่ในระดับเลิกให้บริการได้ แต่ด้วยเหตุของค่าน้ำมันที่สูงขึ้น จำเป็นต้องหาแนวทางประหยัดพลังงาน และใช้พลังงานทางเลือก นอกเหนือจากน้ำมันปิโตรเลียมและถ่านหิน จึงได้หันมาให้ความสนใจด้านการขนส่งโดยรถไฟ แต่เมื่อเป็นในปัจจุบันที่เทคโนโลยีด้านการขนส่งและการเดินทางโดยรถไฟ ได้เข้าสู่ยุค “รถไฟความเร็วสูง” ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า High Speed Rail, High Speed Train

เมื่อการขนส่งโดยทางถนนมีความจำกัดด้านความเร็ว และต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ตลอดจนแม้การเดินทางโดยเครื่องบินในเส้นทางหลักๆ ก็มีความจำกัดด้านความแออัดของเส้นทางบินและสนามบิน รถไฟความเร็วสูงจึงเป็นทางเลือกใหม่อีกทางหนึ่งสำหรับการเดินทางในยุคต่อไปนี้
ในต่างประเทศ เมื่อเขาพูดถึงรถไฟความเร็วสูง เขามักจะเน้นไปที่ “ราง” (Rail) หรือระบบราง (Rail system) มากกว่าตัวรถไฟ (Trains) เพราะในด้านการใช้ความเร็วสูงมากๆนี้ ความสำคัญจะขึ้นอยู่ที่รางที่ต้องออกแบบมาอย่างมีความเฉพาะ ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้า และต้องลงทุนกันมหาศาลก็ด้วยระบบรางนี้

ความหมายรถไฟความเร็วสูงในสหรัฐอเมริกาDefinition in American context

ในยุโรป รถไฟความเร็วสูง (high-speed railways) คือรถไฟที่ใช้ความเร็วอย่างน้อย 250 กม./ชั่วโมง หรือ 155 ไมล์/ชั่วโมง และระบบรางเดิมที่ปรับปรุงใหม่ที่สามารถให้ความเร็วได้สูง 200 กม./ชั่วโมง หรือ 124 ไมล์/ชั่วโมง

เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการขนส่ง (Transportation planning) เพื่อพัฒนาระบบรางสำหรับรถไฟความเร็วสูง กระทรวงการขนส่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Transportation - USDOT) จึงจำแนกประเภทของการขนส่งระหว่างเมืองด้วยรถไฟ (Intercity passenger rail corridors) เป็น 4 ประเภท

1. รถไฟความเร็วสูง – มาก (High-Speed Rail – Express) หมายถึงบริการรถไฟที่ต้องการความรวดเร็วมาก ระหว่างศูนย์กลางประชากรหลัก (Major population centers) ระยะทางห่างกันระหว่าง 200–600 ไมล์ (320–965 กม.) โดยมีจุดแวะระหว่างทางไม่มาก ใช้ความเร็วสูงสุดได้อย่างน้อยกว่า 150 ไมล์/ชั่วโมง (240 กม./ชั่วโมง) โดยมีการจำแนกประเภทราง ไม่ปะปนกับรถไฟอื่นๆ (Grade-separated, dedicated rights-of-way) ยกเว้นช่วงการเข้าสถานี (Terminal areas) รถไฟในลักษณะนี้ เจตนาเพื่อลดความแออัดของการเดินทางโดยอากาศและทางหลวง (Highway capacity constraints)

2. รถไฟความเร็วสูง – ภูมิภาค (High-Speed Rail – Regional) มีความต้องการใช้บริการถี่ เป็นบริการระหว่างศูนย์กลางประชากรขนาดกลางที่อยู่ห่างกัน 100–500 ไมล์ (160–800 กม.) มีจุดต้องหยุดระหว่างทางบ้าง ในระดับปานกลาง (Some intermediate stops) ใช้ความเร็วสูงสุดได้ในระดับ 110–150 ไมล์/ชั่วโมง (177–240 กม./ชั่วโมง) มีการแบ่งแยกราง แต่มีการใช้รางร่วมกันกับรถไฟอื่นบ้าง โดยใช้เทคโนโลยีควบคุมรถไฟแบบบวก (Positive train control technology) มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความแออัดของการใช้ทางหลวง และในบางกรณีเพื่อลดความแออัดของการขนส่งทางอากาศ

3. รถไฟความเร็วสูงเกิดใหม่ (Emerging High-Speed Rail) เป็นเส้นทางที่มีระยะทางระหว่าง 100–500 ไมล์ (160–800 กม.) และมีอนาคตที่จะพัฒนาเป็น รถไฟความเร็วสูง – มาก (High-Speed Rail – Express) ใช้ความเร็วสูงสุดระหว่าง 90–110 ไมล์/ชั่วโมง (145–177 กม./ชั่วโมง) โดยสามารถใช้รางรถไฟร่วมกับระบบอื่นๆ โดยในที่สุดจะใช้เทคโนโลยีควบคุมรถไฟแบบบวก (Positive train control technology) มีระบบป้องกันและแยกรางแบบก้าวหน้า มีวัตถุประสงค์จะพัฒนาตลาดรถไฟโดยสาร (Passenger rail market) ลดความหนาแน่นของการเดินทางโดยระบบอื่น เช่น เครื่องบิน และการใช้รถโดยสารและรถยนต์ส่วนตัวบนทางหลวง

4. ระบบรางธรรมดา (Conventional Rail) เป็นการใช้รถไฟเพื่อการขนส่งผู้โดยสารที่มีระยะทางกว่า 100 ไมล์ โดยมีความถี่ในการใช้ไม่เกิน 7-12 เที่ยวต่อวัน อาจมีหรือไม่มีโอกาสพัฒนาเป็นรถไฟความเร็วสูง ใช้ความเร็วสูง 79 ไมล์ หรือสูงถึง 90 ไมล์ และใช้รางร่วมกับรถไฟอื่นได้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการขนส่งทางเลือกสำหรับการเดินทางโดยรถไฟและเพื่อการพัฒนาต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การใช้ความหมายของรถไฟความเร็วสูง มักจะเป็นความเร็วที่สูงเกินกว่า 125 ไมล์/ชั่วโมง (200 กม./ชั่วโมง) นอกจากนี้ ส่วนบริการวิจัยรัฐสภา (Congressional Research Service) ได้ใช้คำจำกัดความ “รถไฟความเร็วสูง” (Higher speed rail) ที่ระดับ 150 ไมล์/ชั่วโมง (240 กิโลเมตร/ชั่วโมง) และมีรางที่สามารถรองรับความเร็วที่สูงกว่า 150 ไมล์/ชั่วโมง (240 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ซึ่งใกล้เคียงกับความหมายโดยสากล

ที่ได้ศึกษาและเรียบเรียงมาทั้งหมดนี้ เพื่อให้เห็นว่า เมื่อจะพัฒนารถไฟความเร็วสูงนั้น เขาต้องมียุทธศาสตร์ ต้องวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในปัจจุบัน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ใช่จะใช้วิธีการพัฒนาทางรถไฟที่มีอยู่ทั้งหมดให้กลายเป็นรถไฟความเร็วสูง และแม้แต่รถไฟความเร็วสูงนั้น ก็ไม่ใช่จะจำเป็นในทุกเส้นทาง และระยะทาง เพราะในระดับระยะทางที่ไม่ยาวไกล และการจราจรไม่หนาแน่น รถไฟความเร็วสูงอาจไม่จำเป็น เพียงมีถนน หรือรถไฟความเร็วธรรมดาก็เพียงพอแล้ว


ภาพ เส้นทางรถไฟความเร็วสูงในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับยุโรปและประเทศจีนแล้ว การพัฒนารถไฟความเร็วสูง (High Speed Rail System) ของอเมริกาเองยังอยู่ในขั้นเพิ่งเริ่มต้น

 

ภาพ รถไฟความเร็วสูงในอเมริกา การจะพัฒนาได้ ต้องเน้นวิสัยทัศน์ การนำจากฝ่ายการเมือง ความสอดคล้องกับเศรษฐกิจใหม่ ปัญหาและทางเลือกด้านพลังงาน และการเปลี่ยนวัฒนธรรมการใช้รถยนต์ส่วนตัว ซึ่งเป็นไปอย่างกว้างขวางทั่วทั้งประเทศ

No comments:

Post a Comment