Friday, March 15, 2013

คอร์สเซอรา: หลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์เพื่อปวงชน (Coursera: Massive Open Online Courses)

คอร์สเซอรา: หลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์เพื่อปวงชน
(Coursera: Massive Open Online Courses)

สุริยา เผือกพันธ์ 
ศึกษาและเรียบเรียง

Keywords: การศึกษาออนไลน์, การศึกษาทางไกล, การอุดมศึกษา, Stanford, MIT, UC at Berkeley, 

คำหลัก คอร์สเซอรา




ภาพ เมื่อปริญญายุคใหม่ มีค่าใช้จ่ายที่่สูงขึ้น ทางเลือกคือการพัฒนาระบบการศึกษาออนไลน์ ที่คนหมู่มากเรียนได้ด้วย โดยมีค่าใช้จ่ายที่น้อยที่สุด


ภาพ เมื่อสองอาจารย์มหาวิทยาลัย Stanford มาพัฒนาระบบเรียนออนไลน์ สำหรับคนหมู่มาก


ภาพ การเรียนที่ปลายทาง อาจเป็นที่ใดก็ได้ ที่สามารถต่อเชื่อมสู่ระบบเครือข่ายยุคใหม่

คอร์สเซอรา (Coursera) คือ บริษัทที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการศึกษา(Educational technology company) ก่อตั้งในเดือนเมษายน ปี 1012 โดย แอนดรู อึง (Andrew Ng) และ แดฟนี โคลเลอร์ (Daphane Koller) ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ในประเทศสหรัฐอเมริกา คอร์สเซอรา ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำต่าง ๆ ของโลกที่ใช้บทเรียนออนไลน์ในบางหลักสูตรเพื่อสอนในสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ ชีววิทยา สังคมวิทยา คณิตศาสตร์ ธุรกิจ คอมพิวเตอร์และสาขาวิชาอื่น ๆ

บทนำ : ความเป็นมา

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การใช้ศักยภาพของดิจิตอลเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ต (Digital technology and internet) ทำให้สามารถเข้าถึง (Accessible) แหล่งข้อมูลข่าวสารได้อย่างกว้างขวางซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ก็ไม่ได้เป็นที่น่าเชื่อถือและยอมรับเสมอไปว่า ข้อมูลข่าวสารทั้งหมดจะเป็นความรู้ที่ถูกต้องแท้จริง อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้โลกของเราเป็นโลกเปิด (The World is open) ประตูแห่งการเรียนรู้ได้เผยออกมา เพื่อให้โอกาสแก่ประชาชนนับพันล้านคนได้รับการเรียนรู้อย่างไม่มีขีดจำกัด (Cortis J. Book., 2009)

นิโคลัส คาร์ (Nicholas Carr, 2012) กล่าวว่า เมื่อร้อยปีที่ผ่านมา การศึกษาระดับอุดมศึกษา (Higher education) ดูเหมือนว่าจะมีข้อจำกัดในการพัฒนาทางเทคโนโลยี แต่การขยายตัวของพลังอำนาจของเครือข่ายการสื่อสารยุคใหม่ (New communication network) ของระบบไปรษณีย์ที่ทันสมัย (the modern postal system) ทำให้มหาวิทยาลัยได้กระจายการเรียนรู้ให้กว้างขวางออกไปนอกรั้วมหาวิทยาลัย ทุกคนจะใช้กล่องไปรษณีย์ (mailbox) เพื่อสมัครเข้าเรียนแบบทางไกล ที่เป็นเสมือนเครื่องจักรกลที่นำสายน้ำอันชุ่มเย็นไปสู่ดินแดนที่แห้งผาก การสร้างโอกาสที่เข้าถึงผู้เรียนและชุมชนแห่งการเรียนรู้แนวใหม่ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องเร่งจัดตั้งหน่วยงานเพื่อรองรับการเรียนรู้แนวใหม่นี้ ในปี 1920 หลักสูตรการเรียนทางไปรษณีย์ ได้กลายเป็นหลักสูตรที่ได้รับความนิยมอย่างมาก (mania) หลายคนได้สมัครเข้าเรียนถึงสี่ครั้งในทุก ๆ วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยรวมกัน

ความหวังในระยะเริ่มต้นของการเรียนรู้แบบทางไกลนี้ หวังว่าการเข้าถึงการเรียนรู้จะเป็นไปด้วยดี นักการศึกษาหลายคนเชื่อว่า หลักสูตรที่ให้บริการแก่ผู้เรียนจะดีกว่าการเรียนการสอนแบบประเพณีนิยม เพราะว่าสามารถที่จะให้ผู้เรียนแต่ละคนได้ทำแบบฝึกหัดและทำการประเมินผลการเรียนไปพร้อมกัน สำนักงานการเรียนที่บ้าน (Home-Study Department) ของมหาวิทยาลัยชิคาโก (The University of Chicago) ซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ   ได้กล่าวถึงมุมมองของนักศึกษาที่มีความเห็นว่า การเรียนรู้เช่นนี้ เป็นเรื่องของความสนใจเฉพาะบุคคล ทุกคนเลือกที่จะจัดตารางเรียน ในทุก ๆ ที่ที่การไปรษณีย์จะให้บริการถึง นักศึกษามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้สอน เลือกที่เรียนรู้ตามความแตกต่างของแต่ละคน ทำให้ระบบการศึกษาแบบนี้ได้พัฒนาขนาดห้องเรียนมาเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ ที่มีจำนวนผู้เรียนมากกว่าที่เคยมีมาในทุกมหาวิทยาลัยในประเทศ (สหรัฐอเมริกา)

ในทุกวันนี้ เราได้ยินถึงเรื่องในทำนองเดียวกันนี้ เกี่ยวกับพลังอำนาจของเครือข่ายการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นก็คือ อินเตอร์เน็ต (Internet) ที่มาเพิ่มความหวังในการพัฒนาระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่หลายประเทศได้นำมาใช้ในการพัฒนาระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัย เช่น MIT, Harvard, Stanford, และ Princeton ได้จัดการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายออนไลน์ (Net) โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งมีคนมากกว่าหนึ่งล้านคนทั่วโลกได้ลงทะเบียนเรียน นี่คือ หลักสูตรออนไลน์เพื่อปวงชน (Massive open online course) หรือเรียกโดยย่อว่า MOOCs  ที่ได้รับการสรรเสริญว่า ได้นำเอามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง มาจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนจำนวนมากซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีความหวังว่าจะได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้เช่นนี้มาก่อน เนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ห่างไกล หรือเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพแล้ว โดยทั่วไปห้องเรียนแบบออนไลน์เป็นวิธีหนึ่งที่ส่งเสริมคุณภาพและผลิตผลของการจัดการเรียนการสอนได้ดีเท่ากับการเรียนในห้องเรียน วิลเลี่ยม เบนเน็ต (William Bennett) ได้กล่าวว่า เขารู้สึกว่า เป็นการฟื้นฟูเหมือนในสมัยกรุงเอเธนส์ (An Athens – like renaissance) จอห์น เฮนเนสซี (John Hennessy) อธิการบดีมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า มันเป็นดั่งการมาของคลื่นยักษ์สึนามิ (A tsunami coming)

ที่น่าตื่นเต้นเหนือการก่อเกิดของ MOOCs ในเวลานี้คือ การเพิ่มขึ้นของผู้ที่ไม่พึงพอใจต่อการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย (ในระดับปริญญาตรี) ด้วยค่าเล่าเรียนที่แพง อันเป็นเหตุให้ผู้เรียนต้องออกกลางคัน พ่อแม่ผู้ปกครองมีภาระหนี้สินจำนวนมาก มันไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะเรื่องการเงินรายบุคคลแต่ยังเป็นปัญหาต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย หลายคนวิตกว่า แม้ในระดับอุดมศึกษาจะใช้ทุนเพิ่มมากขึ้น แต่คุณภาพกลับตกต่ำลง อัตราการออกกลางคันยังมีสูงโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยของรัฐ และผู้ที่จบการศึกษามีทักษะการคิด (critical thinking) น้อย เกือบร้อยละ 60 ของคนเมริกันเชื่อว่า วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยของประเทศล้มเหลวในเรื่องการทำให้ผู้เรียน เห็นคุณค่าของเงินและการใช้จ่ายของครอบครัว จากการสำรวจของ Pew Research Center  พบว่า ผู้สนับสนุน MOOCs กล่าวว่า การสอนผ่านออนไลน์ ที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ จะเป็นวิธีการเยียวยาการจัดการเรียนรู้ในเวลานี้
แต่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วย นักการศึกษาบางคนกลัวว่า ห้องเรียนออนไลน์จะดีที่สุดก็ต่อเมื่อได้รับความสนใจจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย ไม่เช่นนั้นมันอาจเป็นการทำลายคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย เหมือนดังที่นำเสนอมาตั้งแต่ต้น คือ ความคลั่งไคล้หลักสูตร (Correspondence-course mania) แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะเร่งรุดการขยายหลักสูตรแบบ home-study programs ในปี 1920 แต่จากการศึกษาพบว่า คุณภาพการสอนล้มเหลวเพราะผู้ที่ประสบความสำเร็จในการเรียนมีจำนวนน้อยกว่าที่สมัครเข้าเรียน จากการบรรยายที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด (Oxford) ในปี 1930 อับราฮัม เฟลกซ์เนอร์ (Abraham Flexner) นักการศึกษาชาวอเมริกันผู้มีชื่อเสียงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการจัดการศึกษาอย่างจริงจัง แต่ในปีเดียวกันนั้นเอง ผู้บริหารและภาควิชาในมหาวิทยาลัยกลับไม่สนใจที่จะสอนโดยใช้ระบบไปรษณีย์อีกต่อไป มันจึงเป็น “ความบ้าคลั่งที่ล้มเหลว” (The craze fizzled)

การเติบโตของหลักสูตรออนไลน์เพื่อปวงชน
(Massive open online course) หรือ MOOCs 

ยูแดกซิตี้ (Udacity) เป็นบริษัทที่เริ่มลงทุนอย่างจริงจังใน MOOCs โดย เซบาสเตียน ธรุน (Sebastian Thrun) ซึ่งเป็นผู้เสนอให้มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่ตนเองสอนอยู่ นำเอาสิ่งประดิษฐ์ทางปัญญา (Artificial Intelligence) มาเปิดหลักสูตรออนไลน์ ในขณะที่เพื่อน 2 คนในมหาวิทยาลัยเดียวกันคือ เดฟนี คอลเลอร์ และแอนดรูว์ อึง (Daphne Koller and Andrew Ng) ได้เริ่มทำในสิ่งคล้ายกันคือ ในเดือนสิงหาคม2012 ได้ก่อตั้งคอร์สเซอรา (Coursera) ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับผลกำไรย้อนกลับนับล้านดอลล่าร์จากการร่วมลงทุน (ไม่เหมือน ยูแดซิตี้) โดยร่วมงานกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง สำหรับ ธรุนต้องการพัฒนาทางเลือกของมหาวิทยาลัยแบบดั้งเดิม ในขณะที่คอลเลอร์และแนกสร้างระบบมหาวิทยาลัยที่สามารถนำเสนอห้องเรียนที่ผู้เรียนเป็นเจ้าของผ่านเครือข่ายออนไลน์ คอร์สเซอรา เริ่มต้นกับเพื่อนร่วมงานไม่เฉพาะแต่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยมหาวิทยาลัย Princeton, Penn, and the University of Michigan และต่อมายังได้เพิ่มสมาชิกเข้าร่วมอีกกว่า 29 แห่ง ประกอบด้วยหลักสูตรประมาณ 200 หลักสูตรในเดือนกุมภาพันธ์ 2013 มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมทั้งสิ้น 62 แห่ง

หลักสูตรการเรียนออนไลน์ของคอร์สเซอราเสนอผ่านเว็บไซด์ ในสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ การดูแลสุขภาพ แพทย์ศาสตร์ และชีววิทยา สังคม เครือข่ายและสารสนเทศ มนุษยศาสตร์ และสังคมวิทยา คณิตศาสตร์และสถิติและเศรษฐศาสตร์ การเงินและธุรกิจ

แต่ละหลักสูตรประกอบด้วย การบรรยายทางวีดิทัศน์สั้น ๆ ในหัวข้อและแบบฝึกต่าง ๆ ที่ต้องสมัครเข้าเรียน ปกติจะใช้เวลาเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ ในหลักสูตรมนุษย์ศาสตร์และสังคมวิทยาส่วนใหญ่และแบบฝึกอื่น ๆ ที่อาจไม่สามารถเรียนได้ตามมาตรฐาน จะมีระบบการเรียนรู้ด้วยการทบทวน

หลักสูตรกว่า 100 หลักสูตรเปิดสอนในปี 2012 มหาวิทยาลัยสวิส (Swiss University), EPFL, ผู้ร่วมดำเนินการจัดให้มีการสอนโดยใช้ภาษาฝรั่งเศสในเดือนพฤศจิกายน 2012 ซึ่งสมาคม American Council on Education (ACE) ได้รับรองผลการเรียนจากการประเมินผลตามหลักสูตรของ คอร์สเซอร์รา นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยจำนวน 16 แห่งจาก 29 แห่งที่เข้ามาร่วมใหม่ ยังจะจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาฝรั่งเศส สเปน จีน และอิตาเลียน เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ในอีกด้านหนึ่งของประเทศ มหาวิทยาลัย MIT และ Harvard ได้ร่วมมือกันก่อตั้งห้องเรียนออนไลน์ชื่อ อีดีเอ็กซ์ (edX)  ขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกัน โดยไม่หวังผลกำไร ผู้เรียนจึงไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ด้วยเงินทุน 30 ล้านดอลล่าร์จากแต่ละมหาวิทยาลัย edX ใช้แหล่งเรียนรู้แบบ Open-source ที่มหาวิทยาลัย MIT เป็นเครื่องมือในการสอน ประกอบด้วยบทเรียนวิดิทัศน์ (Video) และเวทีอภิปราย (Discussion forums) คล้าย ๆ กับหน่วยงานที่ต้องการการแข่งขันเพื่อแสวงหากำไร แต่ไม่สามารถเข้าร่วมปฏิบัติการกับห้องทดลองเสมือนจริงได้ ผู้เรียนไม่สามารถนำมาใช้เป็นสิ่งเร้าในการทดลอง ในฤดูร้อนที่แล้ว มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่เบอกเล่ย์ (University of California at Berkeley) ได้เข้าร่วมกับ edX และในเดือนกันยายนการเรียนได้เริ่มขึ้นครั้งแรก 7 ห้องเรียน ในสาขาวิชาหลักคือ คณิตศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ โดยมี อแนนท์ แอกกาวัล (Anant Agarwal) อดีตผู้อำนวยการห้องทดลองสิ่งประดิษฐ์ทางปัญญาและคอมพิวเตอร์แห่งมหาวิทยาลัย MIT  เป็นผู้ดูแล

ผู้นำของยูแดกซิตี้ คอร์สเซอราและ อีดีเอ็กซ์ มีแรงบันดาลใจที่ไม่มีขีดจำกัดในการสนับสนุนการเรียนรู้ทางไกล พวกเขาเชื่อว่า การสอนผ่านระบบออนไลน์จะกลายเป็นการวางพื้นฐานที่เป็นประสบการณ์ของมหาวิทยาลัยและผู้เรียนไปพร้อมกัน การเกิดขึ้นของห้องเรียนเสมือนจริงด้วยห้องเรียนจริง จะทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการยิ่งขึ้น

สถาบันการศึกษาอีเล็คทรอนิค (E-institutions)

นิโคลัส คาร์(Nicholas Carr, 2012) ได้กล่าวถึง สถาบันการศึกษาอิเล็คทรอนิคส์ที่เปิดสอนในระบบออนไลน์ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้

ชื่อ
ปีที่ก่อตั้ง
จำนวนผู้เรียน
รูปแบบ
รายละเอียด
Coursera
2012
1.5 million
For profit
เงินสนับสนุน 22 ล้านดอลล่าร์จาก VCs และวิทยาลัย หลักสูตรเกือบ 200 หลักสูตรหลายสาขาวิชา
edX
2012
155,000
Nonprofit
เงินสนับสนุนจาก MIT และ Harvard 30 ล้านดอลล่าร์ มี 7 หลักสูตรจะให้ประกาศนียบัตรกับผู้เรียนจบหลักสูตร
Udacity
2012
739,000
For profit
ทุนก่อตั้ง 5 ล้านดอลล่าร์ มี14 หลักสูตรเน้นเฉพาะวิชาคอมพิวเตอร์ระดับเริ่มต้นไปถึงขั้นสูง
Open Learning
Initiative
2002
61,000
Nonprofit
มี 15 หลักสูตร ประกอบด้วยวิทยาศาสตร์และภาษาฝรั่งเศส
University of Phoenix
1976
346,000
For profit
มีห้องเรียนปกติและออนไลน์สำหรับระดับปริญญาตรีและต่ำกว่า
The Open University
1969
264,000
nonprofit
ใช้ Web ผสมผสานห้องเรียนปกติมีหลักสูตรออนไลน์หนึ่งร้อยหลักสูตรหลายสาขาไม่เก็บค่าใช้จ่าย

E-Learning and Digital Cultures (EDCMOOC):กรณีศึกษาหนึ่งในหลักสูตรคอร์สเซอรา

เมื่อผู้เรียนมีความประสงค์จะเข้าเรียนในหลักสูตรคอร์สเซอรา ในรายวิชาหนึ่งรายวิชาใด จะต้องคลิกไปที่ www.Coursera.org  และคลิกต่อไปที่ courses เพื่อเลือกรายวิชาที่มีความประสงค์จะเรียน เมื่อตกลงที่จะเรียนในรายวิชานั้น ๆ แล้ว จะต้องคลิก Sign Up เพื่อสมัครเข้าเรียนในรายวิชานั้น ๆ จากนั้นรอจนกว่า Coursera จะเปิดทำการสอน ซึ่งแต่ละรายวิชาจะใช้เวลาเรียนต่างกัน เมื่อใกล้ถึงเวลาเปิดเรียน ทีมผู้สอนจะแจ้งเตือนไปยังผู้เรียนทาง e-mail ของผู้เรียน สำหรับรายวิชา E-Learning and Digital Cultures มีผู้ดำเนินการสอนดังนี้

ผู้ก่อตั้งและทีมผู้สอน

Description: Description: C:\Documents and Settings\sp\Desktop\Koller.jpgDescription: Description: C:\Documents and Settings\sp\Desktop\edcmooc team.jpg 
ผู้ก่อตั้ง Coursera  Daphne  Koller  และทีมผู้สอนจาก University of Edinburgh จากซ้ายไปขวา ประกอบด้วย Dr Jen Ross, Dr Christine Sinclair,  Dr Hamish Macleod, Dr Sian Bayne, Jeremy Knox

ลักษณะของผู้ลงทะเบียนเรียน

จำนวนผู้ลงทะเบียนวิชา EDCMOOC มีทั้งสิ้น 42,874 คน มีผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมการเรียน (Active user) ถึงสัปดาห์สุดท้าย จำนวน 7,392 คน คิดเป็นร้อยละ 17 กิจกรรมที่เข้าร่วมมากที่สุดคือ โพสท์ลงในฟอรัม (Posting in forums) จำนวน 2,409 คน คิดเป็นร้อยละ 5.6 และร่วมแสดงความคิดเห็นในฟอรัม (commenting in forums) จำนวน 1,299 คน คิดเป็นร้อยละ 3.0 และผู้ลงทะเบียนเรียนมีคุณสมบัติดังนี้

อายุ - มีจำนวนเรียงจากมากไปหาน้อยดังนี้ อันดับหนึ่ง มีอายุ 35 – 44 ปี อันดับสอง มีอายุ 45 – 54 ปีและอันดับสามมีอายุ 25 – 34 ปี

ระดับการศึกษา - มีจำนวนเรียงจากมากไปหาน้อยดังนี้ อันดับหนึ่ง ระดับปริญญาโท อันดับสอง ระดับปริญญาตรีและอันดับสาม ระดับปริญญาเอก

ประเภทของอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา - มีจำนวนเรียงจากมากไปหาน้อยดังนี้ อันดับหนึ่ง เป็นนักศึกษาและทำงานเกี่ยวกับ E-learning อันดับสอง งานบริหารมหาวิทยาลัยและอันดับสาม งานห้องสมุด

ประเภทของอาชีพ - มีจำนวนเรียงจากมากไปหาน้อยดังนี้ อันดับหนึ่ง เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ/การออกแบบ อันดับสอง งานธุรกิจ/การบัญชีและอันดับสามผู้เกษียณอายุและว่างงาน

มูลเหตุจูงใจให้สมัครเข้าเรียน - มีจำนวนเรียงจากมากไปหาน้อยดังนี้ อันดับหนึ่ง ทักษะการสอนของครูช่วยในด้านการงานและอาชีพ อันดับสอง วิชาที่เรียนตรงกับสาขาที่ศึกษาและอันดับสามมีความอยากรู้อยากเรียนทางออนไลน์

จำนวนเวลาที่ใช้ในการเรียน - มีจำนวนเรียงจากมากไปหาน้อยดังนี้ อันดับหนึ่ง 3 – 7 ชั่วโมง อันดับสอง 8 – 12 ชั่วโมงและอันดับสาม น้อยกว่า 3 ชั่วโมง

ประสบการณ์ในการเรียนของผู้เรียน - ส่วนใหญ่เป็นประสบการณ์ครั้งแรกในการเรียนตามหลักสูตรนี้

ตารางเรียนวิชา EDCMOOC

EDCMOOC Week
Start date
Resources, events and deadlines
Block 1:Utopias and Dystopias


1.Looking to the past
28 January 2013
Resource for Week 1
Live video chat with the course team-Friday 1 February, 5pm GMT. Visit the chat recording.
2.Looking to the Future
4 February 2013
Resource for Week 2
EDCMOOC Teaching Assistance’ digital artefacts will be published on Friday 8 February.
3.Reasserting the Human
11 February 2013
Resource for Week 3
Image creation activity and competition
Live video chat (Google+ Hangout) with the course team-Friday 15 February, 5 pm GMT. Visit the chat recording
4. Redefining the Human
18 February 2013
Resource for Week 3
Begin work on your digital artifact assignment.
Assignment


5. Assignment submission and evaluation
25 February 2
The assignment submission page is open, from now until Wednesday 27 February.
The deadline for the submission of your digital artifact is midnight GMT on Wednesday 27th February.
The deadline for evaluating the work of your peers is midnight GMT on Sunday 3rd March.

ลักษณะของรายวิชา EDCMOOC

การเรียนในแต่ละช่วงเวลา (Block) ซึ่งอยู่ระหว่าง 2 สัปดาห์ หลักสูตรจะประกอบด้วยหัวเรื่องหลักที่มาจากเรื่องที่ได้รับความนิยมและเป็นวัฒนธรรมของ digital ในเบื้องต้นเป็นการศึกษาเกี่ยวกับ Utopias และ Dystopias อันดับต่อมาเป็นการศึกษาเกี่ยวกับ มนุษย์ในยุคดิจิตอล (Being human in a digital age) ตลอดหัวข้อเหล่านี้ ผู้เรียนจะต้องร่วมอภิปรายเรื่องที่มีความหมายในขอบเขตกว้างนี้ให้สัมพันธ์กับวิธีการศึกษาในระบบออนไลน์ (Online education) โดยเนื้อหาในหลักสูตรมีรูปแบบเหมือนกันทุกสัปดาห์ ดังนี้

วัฒนธรรมที่ได้รับความนิยม (Popular cultures)  ด้วยการดูภาพยนตร์ประจำสัปดาห์ (Film  festival) ผู้เรียนจะดูและอภิปราย โดยมีภาพยนตร์หลายเรื่องที่กำหนดตามหัวเรื่องประจำสัปดาห์ ภายใต้เนื้อหาที่ได้รับความนิยมและเป็นวัฒนธรรมในยุคดิจิตอล

แนวคิดและการตีความหมาย (Ideas and Interpretations) การศึกษาทฤษฎีที่เกี่ยวข้องขยายขอบเขตเรื่องที่ศึกษาออกไป เกือบทุกสัปดาห์ผู้เรียนจะศึกษาแนวคิดที่เป็นแกนกลางและแนวคิดที่ก้าวหน้า หากผู้เรียนต้องการศึกษาเนื้อหาให้กว้างยิ่งขึ้น หลักสูตรจะแนะนำให้ไปศึกษาเพิ่มเติมแต่ไม่เป็นการบังคับ
มุมมองทางการศึกษา (Perspectives on education) หลักสูตรจะพิจารณาจุดเน้นตามหัวเรื่องประจำสัปดาห์ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิคส์และการศึกษา (Discussions of education and e-learning)

สิ่งที่ควรทำในแต่ละสัปดาห์

วิธีการเรียนรู้ในแต่ละสัปดาห์ขึ้นอยู่กับผู้เรียนว่าจะทำอย่างไร เพราะหลักสูตรไม่ได้มีคำถามหรือการทดสอบในระหว่างเรียน อย่างไรก็ตามผู้เรียนควรมีจุดมุ่งหมายที่จะต้องทำตามคำแนะนำนี้ อย่างน้อย  2 ประการ เพื่อรับประกันความสำเร็จ ตามเกณฑ์การประเมินผลในสัปดาห์ที่ 5

เข้าร่วมการอภิปรายกลุ่ม (Discussion forums)
เข่าร่วมกิจกรรมใน Blog ตามหัวข้อ โดยใส่สัญลักษณ์ #edcmooc. ที่หัวเรื่อง
เข้าร่วมอภิปรายกับเพื่อนเกี่ยวกับภาพยนตร์สั้นใน Synchtube ในเวลาที่เป็นปัจจุบัน
สร้างภาพ (image) หรือ ภาพเสมือนจริงตามหัวข้อในบทเรียนแล้ววางลงในพื้นที่ใน social
media พร้อมกับสัญลักษณ์ #edcmooc.
แบ่งปันความคิดเห็นลงใน Tweeter, โดยใช้ hashtag #edcmooc.

การประเมินผลการเรียนรู้

ในหลักสูตร MOOC ไม่มีคำถามหรือการทดสอบ การประเมินผลอย่างเป็นทางการ เป็นเพียงการประเมินจากผลการสร้างสรรค์งานที่เรียกว่า “Digital artifact” เมื่อเรียนจบหลักสูตร ถ้าส่งงานตามกำหนดเวลา คือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013 จะได้รับการประเมินผลจากเพื่อนในชั้นเรียนจำนวน 3 คน

ในขณะที่ผู้เรียนแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบในการประเมินผลงานของเพื่อนร่วมชั้นเรียนจำนวนคนละ 3 ชิ้นงาน

เกณฑ์การประเมินผลการเรียนรู้

สิ่งประดิษฐ์ (Artifact) ที่สร้างขึ้นตรงกับหัวเรื่องในบทเรียนหนึ่งหรือสองหัวข้อ
สิ่งประดิษฐ์ (Artifact) ที่สร้างขึ้นสามารถทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจในแนวคิดหลักที่กำหนดใน
หลักสูตร
สิ่งประดิษฐ์ (Artifact) ที่สร้างขึ้นกล่าวถึงเรื่องที่เกี่ยวกับ digital education
การเลือกเครื่องมือสื่อสาร (media) มีความเหมาะสมกับการส่งข่าวสาร (message)
สิ่งประดิษฐ์ (Artifact) ที่สร้างขึ้นสามารถกระตุ้นให้ผู้อื่นมีความรู้สึกร่วมในการตอบสนอง เช่น
 การตอบสนองทางอารมณ์ ความคิดและการกระทำเป็นต้น

คะแนนผลการประเมิน แบ่งออกได้ดังนี้

0 คะแนน หมายถึง ผลงานไม่ประสบความสำเร็จหรือประสบความสำเร็จต่ำที่สุด
1 คะแนน หมายถึง ผลงานประสบความสำเร็จในบางส่วน
2 คะแนน หมายถึง ผลงานประสบความสำเร็จสูงสุดหรือเกือบสมบูรณ์เต็มที่
การประกาศรับรองความสำเร็จ(Statements of accomplishment) ผู้เรียนต้องได้ระดับคะแนนเฉลี่ย 1.5 คะแนนหรือมากกว่า

ทฤษฎีการเรียนรู้กับการเรียนรู้ออนไลน์

ในการเรียนรู้ออนไลน์ นักวิจัยชื่อ Rita Kop (2011cited to Juliana Marques, 2013) ได้อธิบายถึงกระบวนการหลักของการสรรค์สร้างและพัฒนาของระบบการเชื่อมโยงออนไลน์ (process of the construction and development of Connectivism online) โดยกล่าวว่า ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือ
การรวบรวมความรู้ (Aggregation) การเข้าถึงและรวบรวมแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่ออ่าน ดูและเล่น

การสร้างความสัมพันธ์ (Relation) หลังจากการอ่าน ดูหรือฟัง บางเนื้อหาผู้เรียนอาจสะท้อนและสร้างสัมพันธ์ว่า อะไรที่ผู้เรียนรู้แล้วหรืออะไรคือประสบการณ์เดิม

การสร้างสรรค์ (Creation) หลังกระบวนการสะท้อนและสร้างความรู้สึก ผู้เรียนอาจสร้างสรรค์บางสิ่งเป็นของตนเอง (ตัวอย่างเช่น บล็อก วีดีทัศน์ การนำเสนอ เป็นต้น)

การแบ่งปัน (Sharing) ผู้เรียนอาจแบ่งปันผลงานกับคนอื่น ๆ บนเครือข่าย

โดยวิธีการดังกล่าว อซัด จามอล มาริค (Asad Jamal Malik, 2013) กล่าวว่า การเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ ผู้เรียนมีอิสระมากขึ้นกว่าการเรียนในห้องเรียนแบบเดิม ซึ่งผู้สอนใช้การบรรยายและนำเนื้อหาเหล่านั้นมาจากหนังสือ ผู้เรียนต้องตั้งใจฟังโดยไม่สำคัญว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ผู้สอนอาจสอนซ้ำได้ในบางเรื่อง ซึ่งระบบดิจิตอลก็ทำได้เหมือนกัน ผู้เรียนมีอิสระที่จะหยุดหรือทบทวนใหม่เมื่อไหร่ก็ได้ขึ้นอยู่กับผู้เรียน เช่นเดียวกับการให้ความสนใจและการมีสมาธิที่จะฟังหรือดู ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวผู้เรียนเช่นกัน สอดคล้องกับอรี อแรงควิซ (Ary Aranguiz, 2013) ที่กล่าวว่า เมื่อไหร่ที่ผู้เรียนพร้อม ผู้สอนก็จะปรากฏตัว

ประสิทธิผลการเรียนรู้แบบออนไลน์

จากการศึกษาวิจัย แดฟนี คูลเลอร์ (Daphne Koller, 2012) กล่าวว่า กระบวนการเรียนรู้แบบเชื่อมโยงกัน (Connectivism) ที่ผู้เรียนเรียนรู้โดยผ่านประสบการณ์จริง (Real course experience) มีข้อแตกต่างจากการเรียนรู้ในหลักสูตรอื่น ๆ ตรงที่มีความสะดวกในการใช้เวลาดูวิดีทัศน์ ทำการบ้านที่เป็นแบบ “การบ้านในโลกจริง” (Real world assignment) และเรียนรู้ด้วยตนเอง (Personalized learning) สิ่งที่สำคัญคือ ผู้เรียนสามารถเรียนซ้ำไปมาจนกว่าผลการเรียนจะดีขึ้น ดังแผนภูมิแสดงผลการเรียน ใน

แผนภูมิที่ 1 และแผนภูมิที่ 2
Final Exam Score

                      Study                  Repeated study            Retrieval Practice
  แผนภูมิที่ 1 แสดงผลการพัฒนาการเรียนรู้โดยทำกิจกรรมซ้ำ (Practice Improves Learning)
Retrieval Practice Produces More Learning than Elaborate Studying with Concept Mapping” J.Karpick, J.Blunt. Science. (2011)

จากแผนภูมิที่ 1 แสดงให้เห็นถึงผลของการพัฒนาการเรียนที่ผู้เรียนสามารถทำกิจกรรมซ้ำ ๆ (Redoing) และตรวจสอบความก้าวหน้าได้เท่าที่ผู้เรียนต้องการ ซึ่งผลการศึกษายืนยันว่ามีพัฒนาการที่ก้าวหน้ากว่าการเรียนรู้แบบ “การทำแผนที่ความคิด” (Concept Mapping)

Igniting Minds

 
               Attendance           Engagement        Learning         Lecture              Active Learning
Improved Learning in a Large-Enrollment Physics, L.Deslauriers, E. Schelew and C. Wiemen, Sciences.

แผนภูมิที่ 2 แสดงการเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ระหว่างการเรียนโดยวิธี Lecture กับ วิธี Active learning ในวิชาฟิสิกส์

จากแผนภูมิที่ 2 แสดงให้เห็นว่า การเรียนรู้โดยวิธี Active learning โดยผู้เรียนเป็นผู้ลงมือทำกิจกรรมด้วยตนเอง (personalized) ให้ผลสัมฤทธิ์สูงกว่า การเรียนรู้ด้วยการฟังการบรรยาย ดังที่ มาร์ก ทเวน (Mark Twain) กล่าวว่า “College is a place where a professor’s lecture notes go straight to students lecture notes, without passing through the brains of either.” และ พลูแทร์ช (Putarch) กล่าวว่า The mind is not a vessel that needs filling, but wood that needs igniting.

สรุป: MOOCs กับการศึกษาเพื่อปวงชน

แม้การจัดการศึกษาที่ใช้ศักยภาพความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมืออย่างมีประสิทธิผล เช่น ที่ Coursera ดำเนินการอยู่นี้จะเปิดโอกาสให้กับคนทั้งโลก (Education for all)  แต่ข้อจำกัดของความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม อันเป็นเป้าหมายของการพัฒนาได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในวิธีการนี้ด้วยเช่นกัน แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นประเทศแคนนาดา ห้องเรียนร้อยละ 42 ยังเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต (The Agenda with Steve Paikin, 2013) ดังนั้น ในประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย ยังมีผู้ด้อยโอกาสจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล (Rural area) ยังไม่สามารถเข้าถึง (Access) การจัดการศึกษาที่ดีได้ เนื่องจากขาดเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย  เช่น ในประเทศจีน อินเดีย ปากีสถาน และที่อื่น ๆ ทั่วทุกมุมโลก เป็นต้น นอกจากนี้แม้ในกลุ่มคนที่เข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าวแล้ว แต่ไม่อาจเข้าไม่ถึงการจัดการศึกษาที่ดีได้ เพราะไม่มีทักษะทางภาษาและการใช้เทคโนโลยีที่ดีพอ (lack of skills in English language and tech tools)

ด้วยเหตุนี้ การจัดการศึกษาในปัจจุบันจึงเป็นการจัดการศึกษาที่การตอบสนองคนเฉพาะกลุ่มที่มีฐานะทางสังคมดี มีโอกาสดีและมีอำนาจ ซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนน้อยในสังคม บทสรุปที่น่าสรรเสริญที่ Daphne Koller กล่าวไว้ก่อนจบบนเวที TED TALK (2012) ที่ควรได้รับการขานรับอย่างจริงจังจากนักการศึกษาที่ก้าวหน้าทั่วโลก โดยเธอกล่าวไว้ว่า

การที่ Coursera ได้นำเสนอมหาวิทยาลัยชั้นนำจากทั่วโลกมาให้ผู้เรียน โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายก็เพื่อเหตุผลดังนี้ ประการแรก ผู้ร่วมงานจัดการศึกษามีความคิดพื้นฐานในเรื่องสิทธิมนุษยชนว่า ทุกคนควรมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา เพื่อสร้างชีวิตที่ดีที่สุดให้กับตนเอง ครอบครัวและสังคม ประการที่สอง จัดการศึกษาตลอดชีวิตให้กับผู้ที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือวิทยาลัยแล้วหยุดเรียน ให้เรียนเนื้อหาอันน่าทึ่งและเลือกเรียนตามความสนใจของตนเอง เพื่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตที่ดีกว่า ประการสุดท้าย เราอาจพบกับอัจฉริยะที่น่าทึ่ง ที่อาจเป็นไอสไตน์หรือสตีฟ จ็อปส์คนต่อไปในดินแดนอัฟริกาใต้ ที่จะนำแนวคิดใหม่ ๆ มาดัดแปลงโลกให้ดีที่สุดเพื่อเราทุกคน

เอกสารอ้างอิง

Anka Mulure. Time to embrance an online revolution. Bangkok Post, Wednesday, January, 9, 2013. Ary Aranguiz. When the student is ready, the teacher will appear. mymoocadventure.com, 2013.

Asad Jamal Malik. EDCMOOC-Digital Artefact: The Future of Education Institutes. Asad.Jamalmalik.net, 2013.

Cortis J. Book. The World id\s Open. How Web Technology Is Revolutionizing Education. Jessey Bass A  Wiley Imprint, 2009.

Daphne Koller. What we’re learning from online education.TED ideas worth spreading, TED.com, 2012.

E-learning and Digital Cultures. www.coursera.org, 2013.

Juliana Marques. Being social in a MOOC. Themoocexperience.wordpress.com, 2013.
Nicholas Carr. The Crisis in Higher Education. MIT Technology Review. 2012.
Tamar Lewin. Learning on the web proves popular, if not yet lucrative. Bangkok Post, Wednesday, 9, 2013.

The Agenda with Steve Paikin. Teaching Towards the Future. http://ww3.tvo.org/video/188858/teaching-towards-future, 2013.

http://en.wikipedia.org/wiki/Coursera

No comments:

Post a Comment