การเลือกตายอย่างสงบ (Euthanasia)
ประกอบ คุปรัตน์
ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia, the free encyclopedia
Keywords: การแพทย์, medicine, สาธารณสุข, health, healthcare, สุขภาพ, Euthanasia,
assisted suicide, Groningen Protocol, ยูเจนิคส์, Eugenics,
Brain dead, Brazil, Virginia Helena Soares de Souza
ความนำ
เกิด แก่ เจ็บ และตาย เป็นธรรมชาติของชีวิต
ทุกคนที่เกิดมาจะต้องผ่านสิ่งเหล่านี้
เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าว “แพทย์ชาวบราซิลสังหารคนไข้
7 คนเพื่อให้เตียงว่าง” ทำให้ผมต้องหันมาอ่านเรื่อง
การเลือกตายอย่างสงบ (Euthanasia)
ศึกษาและเรียบเรียงจาก
“Brazilian doctor killed 7 patients to free up hospital beds, police say.”
โดย Marilia Brocchetto, CNN, March 29, 2013 -- Updated
1225 GMT (2025 HKT)
ภาพ แพทย์หญิงเวอร์จิเนีย เฮเลนา ซัวเรส เดอซัวซ่า (Virginia Helena Soares de Souza)
CNN --- แพทย์ชาวบราซิลปรากฏตัวที่ศาลในข้อหาฆ่าคนไข้
7 คน เพื่อให้เตียงในโรงพยาบาลว่างลง
เหตุเกิดที่เมืองคูริทิบา (Curitiba, Brazil) ทางตอนใต้ของประเทศบราซิล
แพทย์หญิงเวอร์จิเนีย
เฮเลนา ซัวเรส เดอซัวซ่า (Virginia Helena Soares de Souza) ได้เรียกแพทย์กลุ่มหนึ่ง
เพื่อช่วยเธอให้ยาสลบ (anesthetics), ยากล่อมประสาท (sedatives)
และยาระงับปวด (painkillers) แบบเกินขนาดแก่คนไข้จำนวนหนึ่ง
อันเป็นผลทำให้คนไข้ถึงแก่ความตาย
นอกจากนี้
ตามที่หมอเดอซัวซ่าสั่ง กลุ่มแพทย์และบุคลากรยังปรับลดออกซิเจนสำหรับคนไข้
ซึ่งนำไปสู่การขาดอากาศหายใจ (Asphyxiation) ตำรวจกล่าว นอกจากหมอเดอซัวซ่าแล้ว
ยัวมีบุคลากรวิชาชีพอีก 7 คนที่ถูกข้อหาร่วมสังหารคนไข้ดังกล่าว
อัยการกล่าวว่า
การที่หมอเดอซัวซ่าดึงสายยางช่วยชีวิตออกจากคนไข้
เป็นการฝืนความต้องการของคนไข้และญาติของเขา และทำเช่นนั้นเป็นการผิดกฎหมาย
ที่เธอทำเช่นนั้น เพื่อทำให้เตียงในห้องผู้ป่วยฉุกเฉินว่าง
ลดความวุ่นวายในการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นคำกล่าวของตำรวจ
หมอเดอซัวซ่าถูกจับตัวในเดือนกุมภาพันธ์
แล้วถูกปล่อยตัวออกมาจนกว่าจะมีการพิจารณาคดี และหมอเดอซัวซ่าจะต้องรายงานตัวเป็นรายเดือน
มิฉะนั้นจะมีความผิดฐานหลบหนีคดี และต้องกลับคืนสู่คุก
ฝ่ายกระทรวงสาธารณสุขเอง
เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ก็ต้องไปค้นประวัติคนไข้กว่า 1,700 คน
ต้องมีการสัมภาษณ์แพทย์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
ในประเทศบราซิล การฆ่าหรือทำให้ตายอย่างสงบ
(Euthanasia) ถือเป็นอาชญากรรม
ความหมายของคำ
คราวนี้มาลองทำความเข้าใจเกี่ยวกับ
ยูธาเนเซีย (Euthanasia) ซึ่งในที่นี้ขอเลือกใช้ความหมายว่า “การเลือกตายอย่างสงบ”
ไปก่อน
ยูธาเนเซีย (Euthanasia)
มาจากภาษากรีก มีความหมายว่า “การตายที่ดี” Eu = ดี, θάνατος, thanatos
(Death) = ความตาย ยูธาเนเซีย หรือ Euthanasia หมายถึงการปฏิบัติโดยหวังจบชีวิตเพื่อให้พ้นจากความเจ็บปวดและทุกข์ยาก
ในแต่ละประเทศมีกฎหมายที่เกี่ยวกับ Euthanasia ที่แตกต่างกัน ในสหราชอาณาจักร (United Kingdom – UK) ในสภาขุนนาง มีคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง ชื่อว่า “คณะกรรมการจริยธรรมทางการแพทย์”
(British House of Lords Select Committee on Medical Ethics)
ได้ให้คำจำกัดความของ euthanasia ว่า เป็นความตั้งใจที่จะแสดงออกด้วยการจบชีวิตจากการเจ็บปวดที่ไม่สามารถรักษาได้
ในประเทศเนเธอร์แลนด์
Euthanasia เป็นที่เข้าใจว่า หมายถึง
การจบชีวิตโดยแพทย์ตามคำขอของผู้ป่วย
ยูธาเนเซีย (Euthanasia) การจบชีวิตมีได้หลายวิธี ซึ่งรวมถึง สมัครใจ (Voluntary), ไม่อยู่ในสถานะสมัครใจ (Non-voluntary) หรือ การทำให้ตายโดยผู้ตายไม่เต็มใจ
ไม่ได้ตั้งใจ ไม่รู้ตัว (Involuntary)
ซึ่งผู้เขียนจะขยายความดังต่อไปนี้
การตายโดยสมัครใจ
Voluntary euthanasia
การเลือกตายโดยสมัครใจ (Voluntary
euthanasia)
เป็นการเลือกตายโดยความยินยอมของผู้ป่วย
การเลือกตายอย่างตั้งใจ (Active voluntary euthanasia) เป็นเรื่องถูกกฎหมายในประเทศเบลเยี่ยม
(Belgium), ลักเซมเบอร์ก (Luxembourg) และเนเธอร์แลนด์
(Netherlands) ในสหรัฐอเมริกา การปล่อยให้ตายอย่างเฉื่อย (Passive
voluntary euthanasia) เป็นสิ่งถูกกฎหมายในสหรัฐอเมริกา ดังกรณี “ครูซานกับผู้อำนวยการกรมสาธารณสุของรัฐมิสซูรี
(Cruzan v. Director, Missouri Department of Health) ที่ผู้ป่วยเลือกตายโดยการช่วยเหลือของแพทย์ คำว่า “การฆ่าตัวตายโดยความช่วยเหลือ”
(Assisted suicide)
เป็นสิ่งถูกกฎหมายในสวิสเซอร์แลนด์ ในรัฐโอเรกอน (Oregon), วอชิงตัน (Washington) และมอนทาน่า (Montana)
ของประเทศสหรัฐอเมริกา
การฆ่าตัวตายโดยรับความช่วยเหลือ
(assisted suicide) ซึ่งในที่นี้หมายถึงการรับความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์
การตายโดยมิได้สมัครใจ
Non-voluntary euthanasia
การตายโดยที่การสมัครใจตายโดยผู้ป่วยไม่สามารถกระทำได้
(Non-voluntary euthanasia)
กรณีตัวอย่าง - การปล่อยให้เด็กทารกตายหรือทำให้เด็กทารกตาย
(Child euthanasia) โดยเด็กนั้นไม่อยู่ในสถานะที่จะตัดสินใจได้เองเกี่ยวกับชีวิตของตน แต่พ่อแม่สามารถร่วมคิดในการตัดสินใจได้
การช่วยให้เด็กตายนี้ เป็นสิ่งผิดกฎหมาย (Illegal) แต่ไม่ถือเป็นอาชญากรรม
(Decriminalized) ไม่ถูกดำเนินการตามความผิดฐานเจตนาฆ่าคนตาย
ในบางสถานะ ดังในประเทศเนเธอร์แลนด์ ดังกรณี เมื่อเด็กทารก
ไม่อยู่ในฐานะที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตว่าจะอยู่ หรือจะขอตายได้
แล้วจะทำอย่างไร จึงได้เกิด Groningen Protocol
Protocol = พิธีสาร,
แบบพิธี, พิธีกรรมในทางการทูต
ในที่นี้ Gronigen Protocol จะใช้คำในภาษาไทยว่า “แบบพิธีโกรนิงเกน”
แบบพิธีโกรนิงเกน (Gronigen Protocol) เป็นเอกสารที่สร้างขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. 2004 โดย
อีดูอาด เวอร์ฮาเกน (Eduard Verhagen) ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์
(Medical director) ของแผนกกุมารแพทย์ (pediatrics)
ที่ศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยโกรนิงเกน (University
Medical Center Groningen - UMCG) เมืองโกรนิงเกน (Groningen) ประเทศเนเธอร์แลนด์ (Netherlands) เอกสารนี้บรรจุข้อชี้แนะและเกณฑ์
(Criteria) ที่แพทย์จะสามารถปฏิบัติได้ “เพื่อจบชีวิตทารก” (child euthanasia) โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
คาดว่า ในประเทศไทย
แพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขก็ได้ใช้มาตรการในทำนองเดียวกับ แบบพิธีโกรนิงเกน (Gronigen
Protocol) เพื่อลดความยุ่งยากของแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับเด็กป่วยในกรณีพิเศษ
การให้ผู้ป่วยตายโดยไม่สมัครใจ
Involuntary euthanasia
ศัพท์ทางเทคนิค 3 รายการที่เกี่ยวกับการทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
Voluntary euthanasia คือ การทำให้ตายโดยความประสงค์ของบุคคลนั้นๆ
Non-voluntary euthanasia คือ การทำให้ตาย
โดยบุคคลนั้นๆ ไม่อยู่ในฐานะที่จะตัดสินใจได้ เช่น เขาอยู่ในอาการโคม่า
หรือเป็นเด็กทารก ไม่มีความสามารถรับรู้เกี่ยวกับความเป็นความตายของตนเอง
ส่วน Involuntary euthanasia คือการทำให้คนตายโดยที่เขาไม่ได้สมัครใจ หรือไม่ได้รับรู้ ต่างจาก 2
ประเภทของการทำให้ตาย คือเป็นการทำให้ตายโดยฝืนความต้องการของผู้ตาย
หรือทำโดยเขาไม่ได้รับรู้ วิธีการทำให้ตายในลักษณะนี้
ได้รับการสนับสนุนจากพวกศึกษาการคัดเลือกพันธุกรรม หรือพวกยูเจนิคส์ (Eugenics)
ยูเจนิคส์ (Eugenics) คือ วิชาเกี่ยวกับการทำให้ลักษณะทางพันธุ์ดีขึ้น นั่นหมายถึงคนที่มีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นมาแล้วต้องประสบปัญหาทางพันธุกรรม
ทำให้เขา หรือครอบครัวของเขาเองต้องทุกข์ยากจากการมีชีวิตอยู่
ทางแพทย์ก็กระทำการให้ตาย เพื่อบุคคลและครอบครัวนั้น
ไม่ต้องเสี่ยงต่อความทุกข์ยากที่จะเกิดขึ้น ถึงแม้เขาจะยอมหรือไม่ยอมเลือกความตาย
มีนักวิทยาศาสตร์ในแนวนี้บางคนเสนอให้มีการทำหมันคนที่เกิดมาปัญญาอ่อน
หรือมีความบกพร่องทางพันธุกรรม เพื่อจะได้ไม่ต้องสืบพันธุกรรมที่ไม่สมบูรณ์ต่อไปอีก
บางคนเสนอให้ทำหมันพวกนักโทษคดีอาชญากรรม
เพื่อเขาจะได้ไม่ก่อกรรมทำเข็ญกับคนอื่นๆต่อไป
ภาพ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)
ตัวอย่างที่รุนแรง
คือในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายนาซี (Nazis) ภายใต้การนำของอดอล์ฟ
ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ได้กระทำการสังหารให้คนตายโดยที่เขาเหล่านั้นทั้งผู้ใหญ่และเด็กไม่ได้เต็มใจที่จะเลือกตาย
จำนวนนับหลายล้านคน
ภาพ เตาเผาศพชาวยิวที่ถูกสังหารในค่ายกักกัน ที่ใช้วิธีการเผา ชาวยิวเสียชีวิตด้วยการเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นับหลายล้านคนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ในกรณีของหมอเวอร์จิเนียเฮเลนา ซัวเรส เดอซัวซ่า
(Virginia Helena Soares de Souza) ในประเทศบราซิล (2013)
ในการตัดสินใจโดยพละการที่จะหยุดชีวิตของผู้ป่วย โดยมิได้รับความเห็นชอบของผู้ป่วยหรือญาติ
ก็เข้าอยู่ในข่ายนี้
การทำให้ตายแบบเฉื่อย หรือแบบกระตือรือร้น
Passive and active euthanasia
การตายแบบเฉื่อย (Passive euthanasia) คือการถอนในสิ่งที่ยังทำให้เขามีชีวิต เช่นถอดสายยางช่วยชีวิต
หรือหยุดให้ยา ส่วนการทำให้ตายอย่างกระตือรือร้น (Active euthanasia) คือการทำให้คนตาย โดยใส่สาร ยา หรือใช้กำลังที่ทำให้เขาตาย เช่น ฉีดยาพิษให้ตาย
นักศึกษาด้านนี้หลายคนไม่เห็นเหตุผลที่จะศึกษาเรื่องนี้ลึกๆลงไป ทำให้เป็นเรื่องหลงประเด็น
ไม่ได้ข่วยอะไร เพราะอย่างไรเสีย ก็เป็นความตายในที่สุด
ภาพ นายแพทย์จาคอบ เควอร์เคียน (Jacob "Jack" Kevorkian)
นายแพทย์จาคอบ เควอร์เคียน (Jacob "Jack" Kevorkian) เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1928 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 2011 รู้จักกันในชื่อ "หมอแห่งความตาย" (Dr. Death) เป็นแพทย์ผู้ชำนาญพยาธิวิทยา นักรณรงค์สิทธิการตาย นักวาดภาพ นักประพันธ์ ผู้ประพันธ์ดนตรี และเล่นดนตรี เขารู้จักกันในฐานะเป็นแพทย์ที่รณรงค์ให้ผู้ป่วยที่เป็นวาระสุดท้าย ได้มีสิทธิเลือกตาย โดยการช่วยเหลือของแพทย์ (Physician-assisted suicide) เขาอ้างว่าได้ช่วยให้คนฆ่าตัวตายแล้วอย่างน้อย 130 คน คำกล่าวที่มีชื่อเสียงของเขาคือ "การตายไม่ใช่เป็นอาชญากรรม" (Dying is not a crime.)
ข้อสรุปของแต่ละบุคคล
คนเราแต่ละคน เมื่อถึงเวลาจะจากโลกไป
กลับมีสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป
คนเราทั่วไป และรวมถึงตัวผมเอง
ไม่อยากพูดถึงความตายบ่อยนัก แต่ตามคำพระ เราต้องไม่ตั้งตนอยู่ในความประมาท
การเกิด แก่ เจ็บ และตาย เป็นเรื่องธรรมชาติ ทุกคนล้วนต้องผ่านสิ่งเหล่านี้ และเมื่อจะต้องเกิดกับเรา
เราควรช่วยทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาแก่คนที่จะตามมาให้น้อยที่สุด
นั่นคือเราควรเลือกอนาคตการตายของเราให้บุตร ธิดา สามีหรือภรรยา
หรือคนที่ดูแลเราให้ทราบความตั้งใจของเราเสียแต่เนิ่นๆ เพราะบางครั้ง
เมื่อไม่ได้สั่งเสีย
ก็ทำให้คนที่เขาต้องรับภาระในชีวิตเราในบั้นท้ายนั้นต้องยากลำบากในการตัดสินใจ
มีกรณีของญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง
เป็นที่รักของบุคคลในครอบครัวอย่างมาก แต่มาวันหนึ่ง ด้วยวัยที่สูงแล้ว
และสุขภาพไม่ดี เกิดเส้นโลหิตในสมองแตก หมดสติต้องนำส่งโรงพยาบาล
แพทย์ผู้ดูแลบอกว่า หากจะรักษาก็คงจะมีโอกาสมีชีวิตรอดร้อยละ 50 แต่จะไม่เหมือนเดิม เพราะบางส่วนของสมองได้ตายไปแล้ว บรรดาญาติๆ
ก็ได้ปรึกษาหารือกันในค่ำคืนนั้นว่าจะทำอย่างไร ในที่สุด
ก็ตัดสินใจไม่รับการผ่าตัด แล้วในเวลาอีกไม่ถึงครึ่งวัน
ญาติผู้ใหญ่ของผมท่านนั้นก็จากไปอย่างสงบ
คนบางคนยังแข็งแรง แต่แล้วเมื่อเจ็บป่วย
ต้องผ่าตัดใหญ่ แล้วก็ไม่หาย มีค่ารักษาพยาบาลมากมาย
เกินกว่าที่ครอบครัวจะแบกรับได้ แต่สมาชิกครอบครัวของเขาก็ต้องทำ ต้องดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่
กลายเป็นเรื่อง “คนป่วย หรือคนตาย ขายคนเป็น”
กลายเป็นคนที่ตามมาต้องประสบปัญหาชีวิตกันอีกมากมาย เพราะเงินทองมากมาย
ตลอดจนทรัพย์สินต้องขายมาเพื่อใช้ในการรักษาพยาบาล
คนบางคน เจ็บป่วย ผ่าตัดสมอง แล้วไม่หาย
แต่ไม่ตาย ในแง่หัวใจยังเต้นอยู่ ทุกอย่างในร่างกายยังทำหน้าที่ได้ ยกเว้นสมอง
ซึ่งเรียกว่า Brain dead แล้วในกรณีนี้
ผู้ป่วยอาจมีชีวิตต่อไปอีกนับเป็นสิบปี ด้วยวิทยาการแพทย์ยุคใหม่ แต่กลับเป็นการสร้างความทุกข์ยากให้กับบุคคลรอบข้างมากมาย
ในกรณีของผม หากเมื่อใดที่ผมต้องมีสถานะเป็น “สมองตาย”
(Brain dead) จะด้วยการป่วย หรืออุบัติเหตุ ก็ให้ถือว่าผมตายไปแล้ว
ไม่ต้องดูแลรักษาร่างกายผมให้มีชีวิตต่อไป
แต่ในกรณีที่สมองยังไม่ตาย
ยังมีความรู้สึกนึกคิดได้ดี แต่ทางร่างกายได้เสื่อมลงไปมากแล้ว ผมควรจะเป็นคนตัดสินใจเองว่า
จะดำเนินการกับชีวิตของตนเองอย่างไรต่อไป แต่ที่แน่ๆ
ไม่อยากให้เป็นภาระกับคนอื่นๆมากนัก
No comments:
Post a Comment