Friday, March 22, 2013

iPolitics ไทยกับการเมืองยุคใหม่ ยุค 3 Is

iPolitics ไทยกับการเมืองยุคใหม่ ยุค 3 Is


ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: iPolitics, i-Politics, information, intelligence, imagination, idea, การพัฒนาการเมือง, การเมืองภาคประชาชน, การเมืองยุคข้อมูลข่าวสาร, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์,

ความนำ

ผมไม่เห็นด้วยกับการเมืองแบบ “ประชานิยม” (Populism) ของทักษิณ ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย เพราะมันจะถึงทางตัน เป็นวิกฤติที่หากปล่อยทิ้งไว้นาน ก็จะทำให้ชาติบ้านเมืองล่มจม ดังที่ได้เกิดขึ้นในอาร์เจนติน่า (Argentina) เวเนซูเอลล่า (Venezuela) หรือทั้งกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union – EU) ซึ่งขาดวินัยการเงินการคลัง แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการทางการเมืองอย่างไม่มียุทธศาสตร์ ดังที่พรรคประชาธิปัตย์ประสบมาตลอด

ผมไม่ใช่นักการเมือง และไม่ใช่คนเรียนมาทางรัฐศาสตร์ แต่ข้อดีคือผมไม่ต้องไปแก้ตัวให้ใคร หรือเชียร์พรรคใด สามารถคิดใหม่อย่างอิสระได้ แล้วการเมืองอย่างที่ผมอยากเห็นคืออะไร

การเมืองยุค 3Is หรือ iPolitics

การเมืองไทยต้องก้าวข้ามยุคทักษิณ เศรษฐกิจไทยต้องเลยยุค Thaksinomics จะทำเช่นนั้นได้ การเมืองไทยต้องก้าวสู่การเมืองยุคใหม่ การเมืองแบบ iPolitics หรือการเมืองที่ประกอบด้วย 3 I ที่สำคัญ

I – Information การเมืองที่ต้องใช้และพัฒนาข้อมูลเพื่อการเมืองยุคใหม่ แม่นยำ เที่ยงตรง และรวดเร็ว การเมืองอย่างที่ปล่อยให้ สำนักโพล สื่อสิ่งพิมพ์หลัก สื่อโทรทัศน์กระแสหลักหลอก ประโคมข่าว สร้างกระแสครั้งแล้วครั้งเล่า ดังนี้ เรียกว่าสังคม Mis-information เป็นตัวอย่างการใช้ข้อมูลในทางผิดและเลวร้ายที่สุดต่อสังคม


ภาพ George Gallup ผู้เริ่มการสำรวจทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา ที่ใช้หลักวิชา แม้ใช้กลุ่มตัวอย่างน้อยกว่า แต่แสดงว่าได้ใช้การเลือกอย่างฉลาด ทำให้สามารถทำนายผลทางการเมืองได้อย่างแม่นยำกว่าสำนักสำรวจที่ใช้กลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่กว่า

I – Intelligence การเมืองที่ต้องดำเนินการอย่างชาญฉลาด นักการเมืองต้องมีความสามารถในการใช้สติปัญญา วิเคราะห์สถานการณ์อย่างฉลาด และประชาชนก็ต้องใช้สติและปัญญาในการกลั่นกรองข้อมูลทางการเมืองอย่างฉลาดด้วยเช่นกัน

ตัวอย่าง การมีระบบคณะรัฐมนตรีที่ไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระ การประชุมแบบมีผู้นำตัวจริง Skype ออนไลน์เข้ามากำกับการประชุม ในขณะที่ผู้นำอย่างเป็นทางการ ไม่มีความสามารถในการทำงานอย่างแท้จริง บริหารเหมือน “ปกครองแบบหลังม่านไม้ไผ่” ในสมัยพระนางซูสี ไทเฮา ของจีน สั่งการจักรพรรดิองค์น้อยที่นั่งบัลลังก์อยู่หน้าม่าน


ภาพ การชุมนุมทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ และเป็นสิทธิของประชาชนที่จะแสดงออก แต่ที่สำคัญ รัฐบาลและฝ่ายการเมืองจะต้องรู้ว่า ประชาชนกำลังประสบปัญหาอะไร มีความต้องการอย่างไร

การเมืองไทย ต้องมีหนทางในการบริหารอย่างใช้สติปัญญา เป็นอิสระ และทำงานได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าที่เป็นในปัจจุบัน

อีกด้านหนึ่ง Intelligence คือเรื่องของการสืบข้อมูลลึก แม้ไม่ใช่ข้อมูลลับที่ผิดกฎหมาย ในต่างประเทศ Intelligence หมายถึงงานที่เกี่ยวกับหน่วยสืบราชการลับ ดัง CIA หรือ Central Intelligence Agency ของสหรัฐอเมริกา ก็คือหน่วยสืบราชการลับ

I – Imagination การเมืองที่ต้องมี “จินตนาการ” การเมืองใหม่ ต้องก้าวสู่การแสวงหาแนวคิดใหม่ทางการเมือง การเมืองยุคประชานิยมถึงทางตัน แต่ขณะเดียวกัน การเมืองที่คอยแต่มีปฏิกิริยา (Reactionary) ดังที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้มาตลอด คอยแต่ปฏิเสธความคิดใหม่ตลอดเวลา แต่ก็ไม่มีความคิดอะไรใหม่เอง ดังนี้ย่อมจะไม่ใช่ทางเลือกสำหรับอนาคต

จินตนาการ หรือ ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เปรียบเหมือนคิดจะทำอะไร ก็ต้องมีนักออกแบบ คิดหาวิธีการไปก่อน และคิดไปในหลายๆแนว มองในหลายๆแง่มุม คิดอย่างไม่ยอมจำนนต่อทางตัน นักบริหารและคนเป็นผู้นำที่ดี ต้องพร้อมที่จะนำเสนอสิ่งใหม่ต่อสังคมตลอดเวลา แม้เมื่อถึงจุดตัดสินใจนั้น ก็ต้องเลือกทางออกที่มีหลายด้านนั้น แต่เพียงทางเลือกที่ดีที่สุด แล้วจึงดำเนินการอย่างตั้งใจและเต็มความสามารถไปตามเส้นทางนั้นๆ


ภาพ ข้าว (Rice) เป็นสินค้าที่มีความสำคัญต่อคนไทยในฐานะผู้บริโภค ตลอดจนการเป็นสินค้าออกที่สำคัญ แต่นโยบายข้าว เช่นเดียวกับ นโยบายการเกษตรอื่นๆ ต้องดำเนินการอย่างชาญฉลาด และมองเห็นทางออกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว


ภาพ ความขัดแย้งทางการเมืองในระดับเผาบ้านเมือง ดังการจราจลในกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2553 การเผาอาคารศูนย์การค้า Central World ราชประสงค์ กทม.


ภาพ ความขัดแย้งทางการเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การจะมีทางออก ต้องไม่ใช่ปล่อยให้เป็นการดำเนินการโดยฝ่ายราชการ ทหาร และพลเรือน มันต้องการการนำจากฝ่ายการเมือง การเจรจา และทางออกที่สร้างสรรค์


ภาพ อีกภาพหนึ่งของการเผาทำลาย ในความขัดแย้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

แนวคิด iPolitics ดูจะเป็นเรื่องกว้างๆ แต่ผมจะเสนอแนวคิดนี้ไปเรื่อยๆ โดยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองพร้อมตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่ได้เกิดขึ้นและเห็นชัดเจน ผมยินดีรับฟังท่านผู้รู้ ที่จะเห็นด้วยและเห็นต่าง เพราะเราคงจะได้เรียนรู้จากความเห็นเหล่านี้ แล้วร่วมกันเรียนรู้

No comments:

Post a Comment