Thursday, March 28, 2013

เมื่ออเมริกัน ย้ายบ้านพักมาอยู่ชานเมือง (Suburbanization)


เมื่ออเมริกัน ย้ายบ้านพักมาอยู่ชานเมือง (Suburbanization)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia, the free encyclopedia

Keywords: รถไฟความเร็วสูง, high speed train, High Speed Rail Association - USHSR, สหรัฐอเมริกา, USA, China, รถไฟ, การขนส่ง, transportation, คมนาคม, พลังงาน, energy, alternative energy, ที่พักอาศัย, วัฒนธรรมรถยนต์, car culture, suburb, urban,

ความนำ


ภาพ หัวรถจักร ของขบวนรถไฟความเร็วสูง (High Speed Trains) ซึ่งหมายถึงรถไฟความเร็วระดับ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป

เมื่อเราพูดถึงการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง (High speed train/rail) จะมีคนจำนวนหนึ่งไม่เห็นความจำเป็น เพราะเรามีถนนมากมาย ประกอบกับรถยนต์ในประเทศไทยก็มีราคาไม่แพงนัก เพราะเราเองก็เป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์เองอันดับที่ 12-14 ของโลก แม้เทคโนโลยีการผลิตรถไม่ใช่ของเรา แต่เราก็ได้อานิสงจากอุตสาหกรรมรถยนต์นี้ แม้ในปัจจุบัน ราคาน้ำมันได้สูงขึ้น แต่คนก็คิดว่า ก็ใช้อย่างประหยัด หรือใช้รถขนาดไม่โต เราก็จะพออยู่กันไปได้

ความจำเป็นในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีรถไฟฟ้าความเร็วสูง จึงเหมือนมันเป็นประโยชน์เฉพาะคนชั้นกลาง คนยากจนไม่ได้ประโยชน์อะไรจากกิจการนี้

บทเรียนจากอเมริกา

อเมริกาเอง แม้ประธานาธิบดีและผู้นำอย่างบารัค โอบาม่า (Barack Obama) จะผลักดันให้เกิดการพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูง แต่ดูจะมีอุปสรรคมากมาย ไม่เหมือนเมื่อประธานาธิบดีไอเซนเฮาว์ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผลักดันให้เกิดทางหลวงขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Interstates ที่ขยายไปอย่างกว้างขวาง ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา



ภาพ อเมริกาลงทุนไปอย่างมากกับระบบทางหลวง Interstates และทางหลวงของแต่ละรัฐ

วัฒนธรรมรถยนต์และบ้านชานเมือง

ในช่วงทศวรรษ 1950s หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาได้ลงทุนอย่างมากในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ดังเช่นทางหลวงและสะพาน และประกอบกับการเพิ่มขึ้นของรถยนต์ราคาไม่แพง วิ่งได้เร็ว คันใหญ่ กินน้ำมัน แต่มันเป็นยุคน้ำมันราคาไม่แพง จึงทำให้ผู้คนย้ายบ้านจากที่เคยอยู่ในเมืองใหญ่ (Urban areas) แล้วหันมาซื้อบ้านจัดสรรที่สร้างอยู่ตามชานเมือง (Suburban) แล้วก็ใช้วิธีการขับรถยนต์ไปทำงานที่สำนักงานอยู่ในเมือง หรือขับไปทำงานอุตสาหกรรมที่อยู่ห่างออกไปได้


ภาพ หมู่บ้าน Levittown ในปี ค.ศ. 1959

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง นักพัฒนาที่ดินได้เริ่มซื้อที่ดินนอกเมือง พ้นเขตเมืองที่มีภาษีท้องที่สูง แล้วหันไปสร้างหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมากบนที่ดินที่ราคาไม่แพง พัฒนาบ้านแบบอุตสาหกรรมราคาไม่แพง มีขนาดพื้นที่ใช้สอยมาก มีถนนเข้าถึงทุกบ้าน มีโรงจอดรถ หรือทางจอดรถเป็นส่วนตัว 

ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นคือที่ Levittown นับเป็นการออกแบบหมู่บ้านชานเมือง (Suburbanization) ในรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) ชุมชนจัดสรรนี้พัฒนาโดย William Levitt ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ซื้อได้เป็นเจ้าของที่ดิน เป็นบ้านเดี่ยว (single-family home) การมีบ้านและที่ดินในแต่ละรัฐประกอบกับการได้รับการศึกษาในรัฐนั้นๆฟรี ได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เหมาะสำหรับทหารผ่านศึกที่กลับจากสงครามโลกครั้งที่สองที่ได้รับประโยชน์จากนิติบัญญัติสนับสนุนทหารผ่านศึก (G.I. Bill) ทำให้ความต้องการบ้านพักในแบบดังกล่าวขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ประกอบกับในช่วงหลังสงครามได้เกิดปรากฏการณ์ “ทารกสะพรั่ง” (Babyboom) มีเด็กเกิดใหม่ปีละ 4 ล้านคนในช่วงทศวรรษ 1950s เป็นต้นมา ยิ่งทำให้ความต้องการบ้านชานเมืองยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงสิ้นยุค 1950s ปรากฏว่ามีคนพักอาศัยอยู่ในบ้านชานเมือง 1 ใน 3 ของประชากร

ในเมืองใหญ่ 12 เมืองของอเมริกาประสบปัญหาประชากรลดลง รายได้ที่จะบำรุงและพัฒนาเมืองก็ลดลง เมื่อเมือง (Urban areas) เสื่อมลง ก็ยิ่งผลักดันให้คนย้ายออกจากกลางเมืองไปอยู่ชานเมืองมากขึ้น และในยุคนี้ที่นักเศรษฐศาสตร์ Richard Porter ได้อธิบายว่า “วัฒนธรรมรถยนต์” (Car culture) ไดเข้าครอบครองอเมริกา รถยนต์ทำให้การอาศัยอยู่ชานเมืองเป็นไปได้อย่างสะดวกสบาย ย่านชานเมือง (Suburbs) กับรถยนต์จึงเป็นของคู่กัน ขาดกันเสียไม่ได้


ภาพ รถยนต์อเมริกัน พัฒนาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เน้นพลัง เครื่องแรง วิ่งได้เร็ว ขนาดใหญ่ น้ำหนักตัวรถมาก กินน้ำมัน


ภาพ ทางหลวงระหว่างรัฐ หรือ Interstates ในประเทศสหรัฐอเมริกา พัฒนาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นแนวคิดจาก Autobahn ของเยอรมัน ย่ิงสนับสนุนการใช้รถยนต์ในสหรัฐ ส่วนรถไฟก็ลดความสำคัญลงเป็นลำดับ


ภาพ วัฒนธรรมที่คนใช้รถยนต์กันจนเป็นปกติ แม้โรงภาพยนต์ ก็ยังเปิดทางสำหรับที่ฉายภาพยนตร์กลางแจ้ง คนดูภาพยนตร์ขับรถเข้าไปจอดในลานกว้าง เรียกว่า Drive-in theater แล้วก็ชมภาพยนตร์กันจากภายในรถของแต่ละคน



No comments:

Post a Comment