Wednesday, October 30, 2013

ยุคหลังระบอบทักษิณ ต้องเรียนรู้จากแผนฟื้นฟูจากมาร์แซล (Marshall Plan)


ยุคหลังระบอบทักษิณ ต้องเรียนรู้จากแผนฟื้นฟูจากมาร์แซล (Marshall Plan)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat E-mail: pracob.cooparat@gmail.com


ภาพ นายพลจอร์จ มาร์แชล (General George Marshall)



Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, governance, การเปลี่ยนแปลง,change, การวางแผนเพื่อการเปลี่ยนแปลง, planned change, สงครามโลกครั้งที่สอง, แผนพัฒนากำลังคน, นายพลจอร์จ มาร์แชล, General George Marshall


ภาพ สัญลักษณ์ภาพการช่วยเหลือของสหรัฐตามแผนมาร์แชล (The labeling used on Marshall Plan aid packages)

ความหวังที่ปลายอุโมงค์

เพื่อนของผมที่เป็นหนึ่งในแกนนำต่อต้านระบอบทักษิณคนหนึ่ง เขาบอกว่าเขาและพรรคพวกได้ต่อสู้กับระบอบทักษิณมารวมแล้วนานถึง 7 ปี ขณะนี้ก็ยังติดคดีความที่ต้องต่อสู้กันอีกนาน แต่การจะกำจัดระบอบทักษิณไปได้ สังคมไทยอาจต้องใช้เวลาต่อไปอีก 7 ปี

แต่ในบทความโดย “ลางแห่งความพินาศ” วสิษฐ เดชกุญชร ให้ความเห็นว่าระบอบทักษิณใกล้ถึงวันพินาศแล้ว เมื่อทักษิณหวังจะหักด่านออกกฏหมายนิรโทษกรรมคนผิดความอาญาและผิดฐานคอรัปชั่น พร้อมทั้งยกเงินเงิน 46,000 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยคืนให้กับเขา อย่างถือว่าไม่มีความผิดใดๆ และนี่แหละ จากนี้ต่อไปจะเปิดจุดเสื่อมลงของทักษิณและพรรคพวก

ระบอบทักษิณที่ล่มสลาย

ทักษิณและระบอบทักษิณยิ่งแข็งแรงขึ้น กระทำการอย่างย่ามใจยิ่งขึ้น แต่ให้สังเกตว่าระบบสังคมโดยรวมอ่อนแอลง ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

คนมีความทุกข์ไม่สุขสบายในการดำรงชีวิต หากไม่เอาความรู้สึกมาเปรียบเทียบ ก็ต้องเอาตัวเลขอย่างที่โดยสากลเขาใช้กันในการดูสถานะของสังคมประเทศว่าเสื่อมโทรมลงจริงหรือไม่

ดูตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ Gross Domestic Products (GDP) ที่ต้องประมาณการลดลงอย่างต่อเนื่องมาตลอด เหลือเพียงประมาณร้อยละ 2.5-2.7 ในปี 2556 นี้ โดยเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเติบโตโดยเฉลี่ยที่ปีละ 4.5

ตัวเลขการส่งออกลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเราไม่สามารถระบายข้าวออกขายต่างประเทศได้ ส่วนข้าวที่ต้องเก็บไว้นานเกินควร ก็จะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ กลไกการดูแลตลาดข้าวมีปัญหาด้วยระบบรับจำนำข้าวในราคาสูงพิเศษ ทำให้ขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท หากต่อเนื่องตลอดสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นั่นคือประมาณ 1 ล้านล้านบาท มีผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจของชาติแน่

ตัวเลข GDP ของไทยอยู่ที่ปีละ 4,898,000 ล้านบาท เงินใช้เพื่อจำนำราคาข้าวที่เสียไปกับคอรัปชั่นและการบริหารที่ผิดพลาดปีละ 200,000 ล้านบาท นับเป็นเพียง 1 ใน 25 ของรายได้ประชาชาติ แต่เมื่อประกอบกับการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพและคอรัปชั่นในเกือบจะทุกระบบ จะทำให้ภาพรวมผลกระทบหนักขึ้นเป็นลำดับ และจะทำให้เห็นได้จากการชะงักงันของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
อีกส่วนหนึ่งให้สังเกตไว้ คือดรรชนีตลาดหลักทรัพย์ (Set Index) ดูย้อนหลัง 5 ปี ดรรชนีหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นโดยตลอด รวมถึง 1 ปีแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หุ้นก็ยังขึ้นต่อเนื่องในปีแรก หุ้นขึ้นสูงสุดที่ 1653 แต่หลังจากนั้นหุ้นก็ตกลงอย่างต่อเนื่องในลักษณะทรงกับทรุด ปัจจุบันอยู่ที่ 1431 วิธีการอธิบายของผม คือในปีแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ (2555) หุ้นยังขึ้นได้ เพราะมันเป็นแรงเฉื่อยต่อเนื่องจากปีก่อนหน้านั้น ที่ภาพรวมเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ปี 2556 นี้เป็นผลมาจากสภาพการจัดการเศรษฐกิจในปี 2555 จนถึงในปัจจุบัน ซึ่งมิได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ และส่วนหนึ่งชัดเจนก็คือระบอบทักษิณ เมื่อไม่มีความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ได้มองประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นใหญ่ ผลพลอยก็จะส่งผลมาถึงตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเขาอธิบายเพียงว่า “ไม่มีข่าวดีในช่วงนี้”

ผมพอสรุปได้ว่าสักวันไม่ว่านานเพียงใด ระบอบทักษิณจะหมดไปจากแผ่นดินไทย ผมไม่ได้หมายเพียงทักษิณ ชินวัตรในฐานะบุคคลหรือครอบครัว แต่ระบอบทักษิณ อันได้แก่ ระบบการเมืองแบบประชานิยม การเมืองแบบคนต้องเลือกข้าง การไม่แสวงหาคนเก่งคนดีมาทำงาน แต่เลือกเพราะความเป็นพรรคพวก เลือกเพราะความสวามิภักดิ์ต่อบุคคลหรือนายใหญ่ การมีความเป็นสองมาตรฐาน ระบบที่รัฐบาลไม่สามารถยืนอยู่ตรงกลาง รักษากฎหมายของบ้านเมืองให้ยุติธรรมและคงความศักดิ์สิทธิ์ได้ เพราะคอรัปชั่นได้กัดกินไปถึงระบบบริหารราชการแผ่นดินทั้งมวลไปแล้ว

ก้าวใหม่ของสังคมไทย

บางคนกล่าวถึงยุคหลังทักษิณแล้วว่าประเทศไทยพึงต้องทำอะไรกันบ้าง อย่าคิดเพียงใช้ความโกรธ เกลียด และต่อต้านบุคคล แต่ต้องคิดและสร้างความสามารถในคนทั้งระดับคนนำ และประชาชนทั่วไป ให้มีความสามารถในการฟื้นฟูบ้านเมือง สร้างความแข็งแกร่งในประชากร ที่จะทำให้บ้านเมืองเข้มแข็งพอที่จะทนทานต่อความเปลี่ยนแปลงใดๆในอนาคตได้

ผมไม่ได้หมายความเพียงปฏิรูปหรือปรับปรุงระบบการศึกษาในระบบทั่วไป (Formal Education) นั่นไม่เพียงพอสำหรับการฟื้นฟูประเทศไทย แต่หมายถึงระบบสังคมไทยทั้งมวล ต้องมีกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาคน (Human Resource Development – HRD) ที่จะเป็นส่วนของการฟื้นฟูสังคมประเทศโดยรวม
ในการนี้ จำเป็นต้องมีนักคิด หรือกลุ่มนักคิดที่จะมีแผนฟื้นฟูประเทศอีกครั้ง เหมือนดังแผนที่เสนาธิการทหารของฝ่ายสัมพันธมิตร นายพลจอร์จ มาร์แชล (George Marshall) นายพล 5 ดาวหัวหน้าเสนาธิการร่วมเหล่าทัพของอเมริกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การรบไม่ได้หมายเพียงใช้กำลังรบ แต่มันต้องเกี่ยวข้องกับหลายๆด้าน และรวมถึงการพัฒนาคน

นายพลจอร์จ มาร์แชล เป็นเสนาธิการทหารที่ต้องคิดการขยายกำลังทัพอเมริกัน จาก 189,000 คน เป็น 8 ล้านคน จากเด็กหนุ่มที่ไม่มีประสบการณ์รบใดๆ เขาเหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการฝึกอบรม ที่ทำให้พร้อมที่จะต่อสู้กับกองทัพของเยอรมันนาซีและกองทัพญี่ปุ่นที่มีความพร้อมและบึกบึนในการสู้รบมากกว่า เขาต้องขยายกำลังพล 40 เท่า และภายในเวลา 4 ปี เพื่อเข้าร่วมและนำการสู้รบในสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วชนะสงครามอย่างราบคาบในเวลา 4 ปีต่อมา

แต่สิ่งสำคัญที่มาร์แชลได้รับการยกย่องมากยิ่งกว่านั้น จนระดับได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ คือ การเสนอแผนการฟื้นฟูยุโรป ที่คนเรียกอย่างให้ความเคารพว่า “แผนมาร์แชล”

แผนมาร์แชล (Marshall Plan) มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “แผนฟื้นฟูยุโรป” (European Recovery Program – ERP) เป็นความริเริ่มของอเมริกันที่จะช่วยยุโรป โดยการให้การสนับสนุนทางเศรษฐกิจ สร้างและฟื้นฟูเศรษฐกิจของยุโรปหลังความพินาศในสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแพร่ขยายของคอมมิวนิสต์โซเวียต


ภาพ จอร์จ มาร์แชล ขณะทำงานร่วมกับทีมงาน


ภาพ เมืื่อสงครามสงบในช่วงยุคประธานาธิบดีทรูแมน และจะเริ่มแผนฟื้นฟูยุโรป สิ่งสำคัญคือการวางทีมงานที่จะจัดการแผนนั้น จอร์จ มาร์แชล ในฐานะทีมงานคณะรัฐมนตรีของทรูแมน กับผู้รับผิดชอบบริหารแผนฟื้นฟูยุโรปต่อไป


สำหรับพี่น้องชาวไทย ผมว่าอย่ามองเพียงการโค่นล้มทักษิณชินวัตร แต่ต้องมองถึงแผนการฟื้นฟูประเทศหลังการล่มสลายของระบอบทักษิณด้วย ผมจึงขอนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์ที่อาจทำให้เราเกิดความคิดบางอย่างในสังคมไทยบ้าง

โตโยต้ายืนยันผลิตรถจักรยานยนต์สามล้อไฟฟ้ารุ่น i-Road


โตโยต้ายืนยันผลิตรถจักรยานยนต์สามล้อไฟฟ้ารุ่น i-Road

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การขนส่ง, transportation, การเดินทาง, commuting, รถยนต์ไฟฟ้า, ev, electric car, รถจักรยานสามล้อไฟฟ้า, e-trike, electric tricycle, Toyota

เรียบเรียงจาก “Toyota confirms i-Road electric trike for production.” โดย Jeffrey N. Ross Posted Oct 8th 2013 8:57AM


รภยนต์ไฟฟ้าสามล้อต้นแบบ Toyota i-Road นั่งได้ 2 คนรวมคนขับ

จะเรียก Toyota i-Road ว่ารถยนต์ก็ดูแปลก เพราะมันมีตัวถังที่แคบมาก และเวลาเลี้ยวเข้าโค้ง มันจะเอียงไปเพื่อให้ไม่เสียจุดโน้มถ่วง จะว่าเป็นมอเตอร์ไซค์ มันก็มีตัวถังหุ้มรอบ ปลอดภัยสำหรับคนขับขี่และผู้โดยสาร เหมือนกับรถยนต์ทั่วไป เพียงแต่มี 3 ล้อ

ตามการจำแนกประเภทรถยนต์ Toyota i-Road จัดเป็นยานพาหนะส่วนตัวไฟฟ้า หรือเรียกว่า All-electric personal mobility vehicles หรือจะเรียกว่า e-Trike หรือจักรยานสามล้อไฟฟ้า ก็ไม่ผิดนัก

โตโยต้าหวังจะใช้รถยนต์รุ่นนี้ในระยะเริ่มแรก เป็นรถยนต์ต้นแบบ ใช้ในกิจการแบ่งเช่าใช้ยานพาหนะ (Ha:Mo car-sharing system) และมีทดลองใช้ในประเทศญี่ปุ่น

รถยนต์สามล้อไฟฟ้า i-Road หนัก 300 กิโลกรัมสามารถวิ่งได้เร็ว 44.8 กิโลเมตร/ชั่วโมง มีที่นั่งได้ 2 คน ลักษณะรถเหมือนกับเป็น Scooter มากกว่าเป็นรถยนต์ สามารถวิ่งได้ระยะทาง 48 กิโลเมตรด้วยการชาร์จไฟเพียงครั้งเดียว มีระบบกันกระเทือนที่เตรียมไว้รองรับการวิ่งเข้าโค้งเหมือนจักรยานยนต์หรือ Scooter
Show full PR text
ความยาว
Length
2,350 มม.
ความกว้าง
Width
850 มม.
ความสูง
Height
1,445 มม.
ฐานล้อ
Wheel base
1,700 มม.
น้ำหนักรถ
Vehicle weight
(without occupants or cargo)
300 กิโลกรัม
ขนาดยาง
Tire size
ล้อหน้า - Front: 80/80R16
ล้อหลัง - Rear: 130/70R10
จุผู้โดยสาร
Capacity
2 คน
กลับรถได้ด้วยรัศมี
Minimum turning radius
3.0 เมตร
พลังขับเคลื่อน
Powertrain
มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว
Electric motors (2kw × 2)
ความเร็วสูงสุด
Maximum speed
45 กม./ชั่วโมง
ระยะวิ่งได้ด้วยการชาร์จไฟครั้งเดียว
Cruising range on a single charge
50 กิโลเมตร
แบตเตอรี่
Battery
Lithium-ion battery
*1European specifications; *2Target cruising range at a constant speed of 30 km/h


พิชัย รัตตกุล เป็นผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรม


พิชัย รัตตกุล เป็นผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรม

สักวันหนึ่ง กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง สุดซอย จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ วันนี้ ขอรวบรวมความคิดเห็นทั้งหลายเอาไว้ เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานสำหรับการศึกษาสำหรับคนรุ่นต่อๆไป

ประกอบ คุปรัตน์
30-10-56

พิชัยร่อนจดหมายถึงเตือนสติส.ส.พท.คิดให้รอบคอบออกกม.นิรโทษเหมาเข่ง ระบุไม่อยากเห็นบ้านเมืองพังพินาศ


ภาพ นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 

จาก BlueSky Channel

นายพิชัย รัตตกุล รองประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้เสนอ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.... เรื่อง การดำเนินการของคณะกรรมาธิการวิสามัญ เสียงข้างมาก ที่พิจารณาแก้ไขร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ที่คลอบคลุมไปไกล จนเรียกว่า เหมาเข่ง

มีใจความตอนหนึ่งว่า  เชื่อว่าการดำเนินการแก้ไขดังกล่าวจะนำไปสู่ความสับสนหลายประเด็น ทั้งในมุมมองของหลักนิติรัฐ ที่กำลังถกเถียงกันอยู่ 3 แนวคิดด้วยกัน ดังนี้

1.ร่างดังกล่าวที่จะพิจารณาวาระ 2 ในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ขัดหลักการกับตอนที่ได้รับอนุมัติในวาระที่ 1 หรือไม่ และในที่สุด ก็จะต้องนำไปสู่การตีความในศาลรัฐธรรมนูญอีกยาว

2.เรื่องบางเรื่องและบางคดี ฝ่ายตุลาการได้ตัดสินความไปแล้ว หากยังไม่มีการรับโทษ จะเหมาะสมหรือไม่ ที่ฝ่ายนิติบัญญัติไปก้าวล่วงคำพิพากษา

3.ความเสียหายที่เกิดขึ้นผู้ที่ได้รับผลกระทบประกอบด้วย ญาติ พี่น้อง หากมีกฎหมายฉบับ เหมาเข่งนี้จะทำให้ผู้เสียหายเสียสิทธิการเรียกร้องทั้งทางแพ่งและอาญาด้วยหรือไม่

อีกทั้งหากมองในทางรัฐศาสตร์ ก็จะเกิดการถกเถียงอีกหลายประเด็น ได้แก่

1.เรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อผู้ถูกกล่าวหาในหลายกรณีที่ยังไม่บรรลุถึงแก่นแท้ความจริงได้ว่าใครทำอะไร อย่างไรในอดีต ก็อาจจะเป็นชนวนความขัดแย้ง และกล่าวโทษกันอย่างเลื่อนลอยต่อไปอีกไม่จบสิ้น

2.นักการเมืองที่จะได้อานิสงส์ ไปพร้อมกับการช่วยให้ประชาชน พ้นผิดพร้อมๆ กันนั้น เหมาะสมแล้วหรือไม่กับสถานการณ์

ถ้าคิดให้ดีก็น่าจะมีทางออกได้ไม่ยากลำบากนัก อยากให้ ส.ส.เก่งๆ รุ่นน้องในพรรคเพื่อไทย คิดให้รอบคอบถึงผลได้ผลเสียที่จะตกแก่ประเทศและประชาชนโดยส่วนรวม ดังเช่นการจะพิจารณาใช้แนวทางที่ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ เลขาฯนุการค

ณะกรรมาธิการนิรโทษฯ เสนอก็น่าสนใจ การต่อต้านหรือชุมนุมที่ไม่อยู่ในความสงบและสันติ เป็นเรื่องที่ผมไม่ขอยุ่งเกี่ยวและไม่ขอรับทราบว่าใครเป็นใคร เท่าที่พูดมาก็เพื่อไม่อยากเห็นการเผชิญหน้าขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จนบ้านเมืองพังพินาศไปต่อหน้าต่อตา

ผมอยากให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้หยุดพิจารณาคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจยกมือสนับสนุน หรือยกมือคัดค้าน หากทำได้เท่ากับว่าท่านได้เป็นผู้ที่สร้างบุญคุณต่อประเทศชาติและลูกหลานของเรา ให้สังคมทุเลาความขัดแย้งลงได้ และจะเป็นบุญคุณของประเทศและพี่น้องประชาชนอย่างใหญ่หลวงที่ประชาชนจะแซ่ซ้องสรรเสริญท่านอย่างจริงใจตลอดไปนายพิชัยระบุ

Tuesday, October 29, 2013

การคิดแบบติดกลุ่ม (Groupthink) เหตุของการตัดสินใจที่ผิดพลาด


การคิดแบบติดกลุ่ม (Groupthink) เหตุของการตัดสินใจที่ผิดพลาด

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, governance, การตัดสินใจ, decision making, การคิดแบบติดกลุ่ม, groupthink

ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ มีเรื่องการตัดสินใจที่ผิดพลาดหลายครั้งที่เขาต้องกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ว่าได้เกิดอะไรขึ้น ดังเช่น

·       ทำไม สหรัฐในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง จึงไม่เฉลียวใจเลยว่าญี่ปุ่นกำลังใช้กองทัพเรือพร้อมเรือบรรทุกเครื่องบินเพื่อบุกโจมตีอ่าวเพิร์ล (Pearl Harbor) ในหมู่เกาะฮาวาย

·       ทำไมสหรัฐในช่วงเมษายน ค.ศ. 1961 จึงหลงส่งทหาร เฉพาะกิจ 1500 นายเข้าไปรบเพื่อหวังโค่นล้มฟิเดล คัสโตร (Fidel Castro) และการปฏิวัติสังคมนิยมของเขาได้ ซึ่งท้ายสุด 5 กองพันที่ส่งเข้าไปต้องยอมแพ้ บางส่วนเสียชีวิต บางส่วนบาดเจ็บ และที่เหลือถูกจับตัวเป็นเชลยหมด


ภาพ ทหารเฉพาะกิจสหรัฐที่ส่งเข้าไปบุกคิวบาที่ Bay of Pig ในเดือนเมษายน 1961 แล้วต้องแพ้และถูกจับตัวหมดภายในเวลา 3 วัน

·       ทำไมคนเสื้อแดงผู้สนับสนุนทักษิณ ชินวัตรนับเป็นพันๆคน ที่อยู่ใกล้เหตุการณ์การเผาห้างสรรพสินค้า Central World ศาลากลางจังหวัดอีกหลายแห่ง จึงมองไม่เห็นคนเผา บางคนบอกว่าเป็นพวกทหารฝ่ายรัฐบาล ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าไม่มีใครรู้เรื่องเลย

ด้วยเหตุการณ์เช่นนี้ เราต้องกลับมาศึกษาว่าอะไรเป็นสาเหตุของความผิดพลาดครั้งใหญ่เหล่านี้ ก่อนที่มันจะเกิดขึ้นอีก ในปรากฏการณ์เช่นนี้ เราลองหันมาศึกษาเรื่อง “ความคิดแบบติดกลุ่ม” แล้วเราอาจได้ความกระจ่างบางประการ ทำไมกลุ่มคนจึงคิดและตัดสินใจอย่างผิดพลาด

ความคิดแบบติดกลุ่ม (Groupthink) เป็นลักษณะของการที่บุคคลในกลุ่มยอมจำนนต่อความคิดของผู้นำและสมาชิกในกลุ่มให้อยู่เหนือสิ่งต่างๆ จนกระทั่งไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ การคิดแบบติดกลุ่มนั้นมีธรรมชาติอันก่อให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้หลายประการ ซึ่งมีดังต่อไปนี้

- การหลงคิดว่าจะไม่ผิดพลาด (An Illusion of Invulnerability) เป็นความเชื่อว่าทำแล้วต้องไม่พลาด ดังเช่นคิดว่า มันไม่เกิดหรอก เป็นไปไม่ได้ ผู้ใหญ่กว่าเราเขาคงศึกษามาดีแล้ว หรือ

·       การคิดนโยบายพรรคเพื่อไทยในช่วงการหาเสียง “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ”

- การเชื่อว่าตนเองและพวกเป็น "ฝ่ายเทพ" (A belief in the inherent morality of the group) และกำลังยืนอยู่ในฝ่ายที่ถูกต้อง ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรานั้นเป็นพวกที่ไม่หวังดีต่อกลุ่ม ต่อองค์การ หรือต่อประเทศชาติ ในทางการเมือง ทั้งฝ่ายทักษิณและฝ่ายต่อต้าน ต่างก็มีความเชื่อว่าฝ่ายตนเป็นฝ่ายถูกต้อง เพียงแต่ฝ่ายคนเสื้อแดงทำเพื่อทักษิณ และฝ่ายตรงข้ามคือไม่เอาทักษิณ ซึ่งเป็นภัยต่อบ้านเมือง ความถูกผิดมักเป็นรองเรื่องของความเชื่อ (Beliefs)

- การคิดหาเหตุผลเข้าข้างพวกตนแบบกลุ่ม (Collective rationalizations) เมื่อคิดแบบติดยึดภายในกลุ่ม บางครั้งก็ตัดสินใจไปตามค่านิยมภายในของกลุ่ม และจึงค่อยหาเหตุผลชี้แจงแบบเข้าข้างตัวเอง หรือพวกพ้อง เช่น การเล่นพรรคเล่นพวก การใช้อภิสิทธิ์ในการฝากเด็กเข้าสถานศึกษา การพิจารณาขึ้นเงินเดือนหรือหาผลประโยชน์ให้ตนเอง และในที่ลับนั้น บางทีสามารถตัดสินใจแล้วค่อยหาเหตุผลในภายหลังได้

- การมองกลุ่มอื่นๆเป็นพวกแปลกประหลาด (Stereotypes of out-groups) มีการตั้งฉายาให้ต่างๆนานา มีการมองคนและให้ค่าแก่เขาตามลักษณะของเขา โดยที่ไม่ได้พิจารณาในเนื้อแท้ของเขาเป็นกรณีไปตามข้อเท็จจริง เช่น เขาเป็นพวกนายทุน เป็นทหาร เป็นพวกฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายขวาจัด แล้วแต่จะให้ฉายากันไป

- การปิดปากตนเอง (Self-censorship) การยอมสงบนิ่งทั้งๆที่อาจมีความคิดความอ่านเป็นของตนเอง ด้วยเกรงจะเป็นการกวนน้ำให้ขุ่น เป็นการชักใบให้เรือเสีย หรือไม่ก็เกรงใจกัน แม้จะมีความแคลงใจ แต่ก็ปล่อยให้ผ่านเลยไป เช่น คนที่มีความคิดต่างจากทักษิณ ชินวัตรนั้นมีอยู่มากในพรรคเพื่อไทย ในคนเสื้อแดง แต่เขาเหล่านี้ไม่กล้าพูดออกมาอย่างเปิดเผยแพร่

- ภาพลวงของการเห็นพ้องต้องกัน (Illusion of unanimity) ความเชื่อว่า ยิ่งคนเป็นอันมากในกลุ่มได้เห็นพ้องต้องกัน ก็แสดงว่ามันถูกต้อง แทนที่จะใช้เหตุผลในการพิจารณา ทั้งๆที่บางทีการได้ความเห็นชอบแบบเป็นเอกฉันท์นั้นแท้จริงเป็นผลมาจากการปล่อยให้มีการชี้นำจากคนเพียงบางคน ยังไม่ได้มองกันในแง่มุมที่ละเอียดพอ และเมื่อคนส่วนใหญ่เห็นเป็นเช่นนั้น คนกลุ่มน้อยก็ไม่กล้าไปขัด

- แรงกดดันต่อคนที่เห็นแปลกแยก (Direct pressure on dissenters) บรรยากาศภายในกลุ่มไม่เอื้อให้คนกล้าพูด การมองด้วยสายตาไม่ยอมรับ การตัดบท การทำให้เสียหน้า และอื่นๆอีกมาก ซึ่งท้ายสุดนำไปสู่การไม่มีใครกล้าพูด

- การปกป้องไม่รับความคิดเห็นอื่น (Self-appointed mind-guards) บางทีปล่อยให้พูด แต่ในจได้มีการตกลง หรือคิดทางออกอย่างตายตัวเอาไว้แล้ว การมาพูดหรือปรึกษาหารือกันในที่ประชุมนั้นจึงกลายเป็นพิธีการ มากว่าจะใช้ประโยชน์จากการประชุมอย่างแท้จริง

ศึกษาและเขียนใหม่ จาก Irving L. Janis Groupthink: Psychological studies of policy decisions and fiascoes. Boston: Houghton Mifflin, 1982, pp.174-175.


Monday, October 28, 2013

กบในหม้อต้ม – ทำไมประชาชนถึงทนต่อทรราชย์

กบในหม้อต้ม – ทำไมประชาชนถึงทนต่อทรราชย์

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, governance, การเปลี่ยนแปลง, change, planned change, กบในหม้อต้ม, The boiling frog, ซิมบาบเว, Zimbabwe, โรเบิร์ต เกเบรียล มูกาเบ้, Robert Gabriel Mugabe

มีเกร็ดเล่าเกี่ยวกับ “กบในหม้อต้ม” (The boiling frog) ที่จะอธิบายพฤติกรรมของคนต่อระบบเผด็จการที่เลวร้าย ทำไมคนจำนวนมากจึงยังทนอยู่กับระบบโดยไม่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง

อันกบนั้น หากเราต้มน้ำจนร้อน แล้วนำกบหยอดลงไปในหม้อ กบจะตกใจกระโดดหนีไป แต่หากเรานำกบใส่ลงไปในหม้อน้ำอุณหภูมิปกติ กบจะอยู่เฉยๆ แล้วค่อยๆต้มน้ำด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ที่ละน้อยๆ กบก็ปรับตัวได้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งน้ำร้อนจัดจนกบทนไม่ได้ ต้องตายไป


ในการทดลองต้มกบในหม้อน้ำ - โกลท์ซ (Goltz) ได้เพิ่มอุณหภูมิของน้ำจาก 17.5 C เป็น 56 C ภายในเวลา 10 นาที หรือเพิ่มอุณหภูมิ 3.8 C ต่อนาที ซึ่งการทดลองของเขาทำให้กบกระโดดออกจากหม้อที่ต้ม ในขณะที่ไฮซ์แมนน์ (Heinzmann) ได้ทดลองเพิ่มความร้อนของน้ำที่ต้มกบในช่วงเวลา 90 นาที จากอุณหภูมิ 21 °C ไปเป็น 37.5 C หรืออัตราเพิ่มอุณหภูมิ 0.2 C ทุกนาที ซึ่งในอุณหภูมิ 37-38 C นี้แม้จะสูงแต่ก็ยังไม่สูงพอที่จะฆ่ากบได้

จากการวิจัยหนึ่งในปี ค.ศ. 1897 ได้ใช้การเพิ่มอุณหภูมิอย่างช้ามาก คือ 0.002°C ต่อวินาที แล้วจึงพบว่ากบตายไปในที่สุดในเวลา 2 ½ ชั่วโมง โดยไม่ทันได้รู้ตัวและเคลื่อนไหว


ภาพ ประธานาธิบดีโรเบิร์ต เกเบรียล มูกาเบ้ (Robert Gabriel Mugabe) ในปัจจุบัน

ในอีกด้านหนึ่ง ดูตัวอย่างการปกครองประเทศซิมบาบเว (Zimbabwe) ภายใต้ประธานาธิบดีโรเบิร์ต เกเบรียล มูกาเบ้ (Robert Gabriel Mugabe) เขาขึ้นครองอำนาจในประเทศ เขาเป็นวีรบุรุษในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากโดยคนผิวขาว อันเป็นชนกลุ่มน้อยปกครองประเทศที่คนเกือบทั้งประเทศเป็นคนผิวดำ เขาขึ้นครองประเทศยุคหลังประกาศอิสรภาพ เขาเริ่มด้วยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เขาเอาใจคนส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยการยึดสมบัติและกิจการที่ถือครองโดยคนผิวขาว แล้วแบ่งปันให้กับคนผิวดำที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ คนส่วนใหญ่พอใจ คนส่วนน้อย คนผิวขาว ผู้ประกอบการ และนักลงทุนที่อยู่ในประเทศไม่ได้ ก็อพยพไปอยู่ที่อื่น แต่เมื่อครองอำนาจนานขึ้นๆ เขาก็เพิ่มความเป็นเผด็จการ นอกจากขจัดคนผิวขาวแล้ว ก็ยังจำกัดสิทธิฝ่ายตรงกันข้าม เขาใช้นโยบายประชานิยม (Populism policy) รักษาฐานเสียงอย่างมั่นคง แม้มีการเลือกตั้งคราวได้ เขาก็ยังได้รับเสียงข้างมาก แม้บ้านเมืองจะมีการคอรัปชั่นหนักข้อขึ้นทุกวัน เศรษฐกิจตกต่ำ ไม่มีการลงทุนเพิ่มในประเทศ คนตกงาน และอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลก แต่เขาก็โทษว่า เพราะคนผิวขาวและตะวันตกกีดกันการค้ากับประเทศซิมบาบเว คนฝ่ายตรงกันข้ามเขาก็ถือว่าเป็นพวกทรยศต่อชาติ

ปัจจุบันมูกาเบ้อายุ 89 ปีแล้ว และครองอำนาจมา 33 ปี และเขาก็ยังชนะขาดการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย เขายังคุมระบบราชการ ทหาร ตำรวจ และฐานเสียงประชานิยมของเขาได้อย่างเหนียวแน่น ประชาชนซิมบาบเวในขณะนี้เป็นเหมือนกบที่ถูกต้มด้วยน้ำร้อนจนจะตายหมด และอยู่ท่ามกลางความยากจน ฝ่ายตรงข้ามหมดเรี่ยวแรง แต่ประชาชนก็หมดแรง อยู่กันไปเหมือนคนตายซากไปแล้ว

ในประเทศของเขา ผมขอเพียงยกเป็นตัวอย่าง แต่สำหรับประเทศไทยของเรา เราจะอยู่อย่างไร จะเลือกเป็นกบที่รีบโดดหนีน้ำร้อน หรือจะค่อยๆตายไปกับน้ำที่ร้อนขึ้นทุกวัน ลองมาคิด ดูสภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมรอบๆตัวเอง และร่วมอภิปรายดู


Sunday, October 27, 2013

28 ตุลาคม 1965 ประตูโค้งสู่ตะวันตก ณ เมืองเซนหลุยส์ สหรัฐอเมริกาสร้างเสร็จ


28 ตุลาคม 1965 ประตูโค้งสู่ตะวันตก ณ เมืองเซนหลุยส์ สหรัฐอเมริกาสร้างเสร็จ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: สหรัฐอเมริกา, ประวัติศาสตร์, Gateway Arch, เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี, St. Loius, Missouri, แม่น้ำมิสซิสซิปปี (Mississippi River), แผ่นดินหลุยส์เซียน่า (The Loiusiana Purchase)

ประตูโค้งสู่ตะวันตก (Gateway Arch)

Oct 28, 1965: Gateway Arch completed

28 ตุลาคม พ.ศ. 2556


ภาพ Gateway Arch สัญญลักษณ์ ประตูสู่ตะวันตกของสหรัฐอเมริกา

วันนี้ในอดีต 28 ตุลาคม ค.ศ. 1965 นับเป็นวันที่การก่อสร้างประตูโค้ง (Gateway Arch) สู่ฝั่งตะวันตกของอเมริกาได้สร้างเสร็จ ประตูโค้งนี้มีความสูง 630 ฟุต เป็นรูปวงโค้งแบบพาลาโบล่า ทำด้วยเหล็กไร้สนิม ตั้งอยู่ ณ บริเวณเจฟเฟอร์สันอนุสรณ์สถานแห่งชาติ (Jefferson National Expansion Memorial) บริเวณริมแม่น้ำเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี (St. Loius, Missouri) ประเทศสหรัฐอเมริกา

ประตูโค้งนี้ออกแบบโดยสถาปนิกอเมริกันที่เกิดในฟินแลนด์ ชื่อ เอโร ซาริเนน (Eero Saarinen) ประตูโค้งนี้สร้างเพื่อระลึกถึงประธานาธิบดีโธมัส เจฟเฟอรสัน (Thomas Jefferson) ที่ได้ตัดสินใจซื้อรัฐหลุยเซียนาจากฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1803 ซึ่งในระยะนั้นหมายความว่าอเมริกาจะสามารถบุกเบิกเข้าไปในแผ่นดินโลกใหม่ทางฝั่งตะวันตกอย่างไรข้อจำกัด

คำว่ารัฐหลุยเซียนาในขณะนั้นหมายถึงดินแดนทางตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี (Mississippi River) ที่ฝรั่งเศสอ้างสิทธิ กินความกว้างขวางกว่ารัฐหลุยเซียน่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ความต้องการบุกเบิกไปในฝั่งตะวันตกในระยะนั้น เป็นผลมาจากความต้องการค้าขายหนังสัตว์และความต้องการรู้จักแผ่นดินใหม่ที่ชาวอเมริกันผู้อพยพมาใหม่ไม่รู้จัก ซึ่งความพยายามในสมัยประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สันนั้น รวมถึงการสนับสนุนให้นักสำรวจอย่าง Meriwether Lewis และ William Clark ได้เริ่มบุกเบิกเข้าไปในดินแดนตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี (Mississippi River) และจัดทำแผนที่ขึ้นเป็นเบื้องแรก

ในช่วงปี ค.ศ. 1947-48 เอโร ซาริเนนชนะการประกวดออกแบบอนุสาวรีย์เพื่อเป็นเกียรติแก่สปิริตนักบุกเบิกตะวันตก แต่เป็นเรื่องเศร้า สถาปนิกผู้ออกได้ป่วยเป็นมะเร็งในสมองและเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1961 ก่อนที่งานของเขาจะได้เริ่มต้น ซึ่งกว่างานสร้างประตูโค้งจะได้เริ่มต้นก็เป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1963 และสำเร็จในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1965 ประตูโค้ง หรือ Gateway Arch ใช้เงินก่อสร้างไม่ถึง 15 ล้านเหรียญสหรัฐ มีฐานลึกลงไปในดิน 60 ฟุต ตัวโครงสร้างเน้นที่เหล็กไร้สนิม (Stainless) ที่ออกแบบให้มีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่น มีความทนต่อแผ่นดินไหวและลมแรง

ภายในโพรงของประตูโค้งมีระบบรถราง (Tram system) ที่จะพานักท่องเที่ยวขึ้นไปจนถึงยอดสูง ในวันที่อากาศแจ่มใส จะมองเห็นข้ามแม่น้ำแม่น้ำมิสซิสซิปปีไปไกลถึง 30 ไมล์ มองเห็นที่ราบผืนใหญ่ทางฝั่งตะวันตก นอกจาก Jefferson Expansion Memorial จะรวมไปถึงพิพิธภัณฑ์การขยายดินแดนไปยังฝั่งตะวันตก และศาลเก่าของเมืองเซนหลุยส์ ที่ซี่งใช้เป็นที่พิจารณากรณีทาส Dred Scott slavery ในช่วงทศวรรษที่ 1860s

ในปัจจุบัน ทุกปีจะมีประชาชนประมาณ 4 ล้านคนมาเที่ยวที่สวนสาธารณะแห่งนี้ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 100 เอเคอร์อันเป็นที่ตั้งของประตูโค้งสู่ตะวันตกที่มีชื่อเสียงแห่งนี้

การซื้อแผ่นดินหลุยส์เซียน่า

การซื้อรัฐหลุยส์เซียน่า หรือแผ่นดินหลุยส์เซียน่า (The Loiusiana Purchase) ซึ่งในประเทศฝรั่งเศสเรียกว่า “การขายแผ่นดินหลุยส์เซียน่า” (French: Vente de la Louisiane "Sale of Louisiana") เป็นการได้แผ่นดินของประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยการซื้อจากฝรั่งเศส ในช่วงปี ค.ศ. 1803 เป็นพื้นที่ 828,000 ตารางไมล์ หรือ 2,140,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นแผ่นดินที่ฝรั่งเศสอ้างสิทธิในแผ่นดินหรือเขตหลุยเซียนา
สหรัฐจ่ายเงิน 50 ล้านฟรั่งค์ ($11,250,000) และแทงหนี้สูญให้กับฝรั่งเศสอีก 18 ล้านฟรังค์ ($3,750,000) รวมเป็นเงิน 15 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินต่ำกว่าเอเคอร์ละ 3 เซนต์ของพื้นที่เขตหลุยเซียนา (The Loiusiana territory) คิดเป็นมูลค่าเงินในปัจจุบัน (2012) ที่น้อยกว่า 42 เซนต์ต่อเอเคอร์


ภาพ เขตหลุยเซียนา (The Loiusiana territory) คือส่วนที่เป็นสีเขียว กินพื้นที่เหนือสุดจรดใต้ที่เมือง New Orleans 

เขตหลุยเซียนา (The Loiusiana territory) กินพื้นที่ร้อยละ 15 ของประเทศสหรัฐอเมริกา และอีก 2 จังหวัดของแคนาดา การซื้อที่ดินนี้คือพื้นที่ปัจจุบันของ รัฐอาร์แคนซอว์ (Arkansas), มิสซูรี (Missouri), ไอโอวา (Iowa), โอคลาโฮมา (Oklahoma), แคนซัส (Kansas), และเนบราสกา (Nebraska) บางส่วนของรัฐมินเนโซตา (Minnesota) อันเป็นดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี; เกือบทั้งหมดของรัฐดาโกตาเหนือ (North Dakota) เกือบทั้งหมดของรัฐดาโกตาใต้ (South Dagota) นิวเมกซิโก (New Mexico) ตอนเหนือของเทกซัส (Nothern Texas) บางส่วนของรัฐมอนทานา (Montana) ไวโอมิง (Wyoming) โคโลราโด้ตะวันออก (East Colarado) เขตหลุยส์เซียนาอันเป็นฝั่งตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี รวมถึงเมืองนิวออร์ลีนส์ (New Orleans) มีบางส่วนที่ในปัจจุบันเป็นที่ดินของประเทศแคนาดา ของจังหวัดอัลเบอร์ตา (Alberta) และซาสแคตเชวัน (Saskatchewan)

Saturday, October 26, 2013

มารู้จักแซนด์วิช (Sandwiches) อาหารทำง่ายยอดนิยม


มารู้จักแซนด์วิช (Sandwiches) อาหารทำง่ายยอดนิยม

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords:  อาหาร, Food, เนื้อ, Meat, อาหารพวกเนื้อทำสำเร็จ, cold cut, แซนด์วิช, sandwich, sandwiches, ขนมปัง, bread, เครื่องปรุง, condiments,

ความนำ

แซนด์วิช 300 ชนิด -- รักต้องเหนื่อย - ฝ่ายชายเสนอให้แฟนสาวทำแซนด์วิชให้เขา 300 อัน ก่อนที่จะเสนอขอแต่งงาน ฝ่ายสาวตอบตกลง และมิได้เพียงทำแซนด์วิช 300 อัน แต่ว่าทำแซนด์วิชถึง 300 แบบ
TIME Newsfeed -- หลังจากที่แฟนสาวทำแซนด์วิช (Sandwiches) อย่างง่ายๆที่มีเนื้อไก่งวงและเนยแข็งให้เขากินในวันหนึ่ง ฝ่ายชายบอกว่า "เรายังอยู่ห่างจากวันที่ผมจะขอแต่งงานสวมแหวนอีก ด้วยแซนด์วิช 300 อัน" ฝ่ายสาวเจ้าตอบตกลง ไม่รู้ทำแซนด์วิชให้กินวันละ 3 มื้อหรือไม่ ถ้าเช่นนั้นก็อีก 100 วัน

ทั้งสองคนเป็นคนชอบอาหาร เมื่อตอบตกลง สาวเจ้าจึงโพสต์ขึ้น Blog ชื่อ “300 Sandwiches” แซนด์วิชแต่ละอันที่มีชื่อต่างกัน สร้างสรรค์แตกต่างกันไป แถมมีอธิบายสูตรการทำ (Recipe)  ในภาพที่เห็นเป็นอันที่ 176 หากใครอยากทำแซนด์วิชที่อร่อยและมีความหลากหลาย ก็ลองดูที่ Website ของเขา ดูสูตรทำอาหารของเขา แล้วลองทำตามดู

แซนด์วิช (Sandwich) เป็นอาหารชนิดหนึ่ง ที่ประกอบด้วยขนมปังสองแผ่น ประกบไส้ใน (Fillings) ซึ่งมักจะเป็นอาหารพวกเนื้อ แซนด์วิชเป็นอาหารที่นิยมบริโภคกันเป็นอาหารกลางวัน (Lunch food) ที่ทำได้ง่าย กินได้ง่าย ไม่ต้องมีช้อน ส้อม หรือมีด เพียงใช้มือสะอาด จับขึ้นมากินได้ สามารถจัดเป็นอาหารกลางวันที่นำติดตัวไปกิน ณ ทำงาน สำหรับนักเรียนเมื่อไปโรงเรียน หรือไปปิกนิก กินเป็นส่วนหนึ่งของอาหารกลางวัน ขนมปังอาจกินอย่างที่มันเป็นโดยไม่ใส่อะไร หรือจะใช้เครื่องปรุง (Condiments) เพื่อทำให้รสชาติดีขึ้น แซนด์วิชเป็นอาหารที่มีขายทั่วไปในร้านอาหาร และร้านกาแฟ สามารถกินได้ทั้งที่เป็นอาหารจานร้อน หรือจานเย็น












Friday, October 25, 2013

8 รัฐในอเมริการวมแคลิฟอร์เนีย ร่วมลงนามผลักดันการขายรถยนต์ไฟฟ้า


8 รัฐในอเมริการวมแคลิฟอร์เนีย ร่วมลงนามผลักดันการขายรถยนต์ไฟฟ้า

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การขนส่ง, transportation, การเดินทาง, commuting, traveling, พลังงานทางเลือก, alternative energy, รถยนต์ไม่ใช้พลังงานเผาไหม้, ZEVs, รถยนต์ไฟฟ้า, EVs, PEVs, PHEVs, fuel cells, สหรัฐอเมริกา, USA, California, Connecticut, Maryland, Massachusetts, New York, Rhode Island, Oregon, Vermont

ศึกษาและเรียบเรียงจากข่าว “California, 7 other states sign pact to spur EV sales.” Automotive News, โดย Gabe Nelson, October 24, 2013 - 3:45 pm ET

มี 7 รัฐในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับกฎเดียวกับรัฐแคลิฟอร์เนีย (California) ที่กำหนดให้ร้อยละ 15 ของรถยนต์ออกใหม่ ต้องเป็นรถที่มีการเผาไหม้เท่ากับศูนย์ (Zero-Emission Vehicles – ZEV) ดังเช่นรถยนต์ไฟฟ้า Fiat 500e ทั้งนี้ภายในปี ค.ศ. 2005

ผู้ว่าการรัฐทั้ง 8 รวมแคลิฟอร์เนีย ได้กล่าวในวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมานี้ว่า เขาตั้งเป้าหมายที่จะให้มีรถยนต์ไม่ใช้การเผาไหม้ (ZEV) มีวิ่งอยู่บนถนน 3.3 ล้านคันภายในปี ค.ศ. 2025 นับเป็นความตั้งใจที่จะให้เกิดขึ้น ไม่ว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะพอใจหรือไม่ก็ตาม

รัฐทั้ง 7 นอกเหนือจากแคลิฟอร์เนีย คือ คอนเนคติกัต (Connecticut), แมรีแลนด์ (Maryland), แมสซาชูเสตส์ (Massachusetts), นิวยอร์ค (New York), โรด ไอแลนด์ (Rhode Island), โอเรกอน (Oregon) และเวอร์มอนท์ (Vermont) รัฐเหล่านี้ได้รับหลักการที่จะออกกฎให้ร้อยละ 15 ของรถยนต์ออกใหม่ในปี ค.ศ. 2025 ต้องเป็นรถยนต์ที่ไม่ใช้พลังงานเผาไหม้ (ZEVs) คำจำกัดความของ ZEVs รวมถึง รถยนต์ไฟฟ้าใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ (Battery-Electric Vehicles – BEVs) รถยนต์ลูกประสมแบบเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrids – PHEVs) และรถใช้พลังงานไฮโดรเจน (Fuel cell electric vehicles)

จากการประชุมกันที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมสภาวะอากาศแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Air Resources Board) ที่เมืองซาคราเมนโต (Sacramento) ผู้ว่าการรัฐทั้ง 8 ได้ประกาศเห็นด้วยที่จะผลักดันการขายของรถยนต์ที่ไม่ใช้พลังงานเผาไหม้ (ZEVs) ภายในรัฐของตน

จากชายฝั่งตะวันตะวันตกถึงชายฝั่งทะเลตะวันออก เราจะนำหน้าโลก ด้วยการผลักดันให้รถที่วิ่งอยู่บนถนน ต้องเป็นรถยนต์ที่สะอาดที่สุดในโลก” ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เอ็ดมันด์ บราวน์ (Edmund Brown) กล่าวคำในข้อตกลงของกลุ่ม
จากข้อตกลงแบบไม่มีข้อผูกมัดนี้ รัฐทั้งหลายสัญญาว่าจะเดินหน้าในขั้นตอนต่อไปนี้

·       การออกกฎของอาคารที่จะทำให้การติดตั้งสถานีชาร์จไฟ (Charging stations) กระทำได้ง่ายขึ้น
·       การสนับสนุนให้รถยนต์ที่ใช้ในราชการของรัฐ หันไปใช้รถยนต์ไม่ใช้การเผาไหม้ (ZEVs) มากขึ้น
·       การพิจารณากระตุ้นด้วยเงินสนับสนุน หรือลดอัตราไฟฟ้าสำหรับบ้านที่ติดตั้งเครื่องชาร์จไฟรถยนต์
·       การพัฒนาระบบมาตรฐานกลางสำหรับเครือข่ายชาร์จไฟ และสัญญาณจราจรที่เกี่ยวกับรถไม่ใช้การเผาไหม้

สำหรับการกำหนดเป็นคำสั่งที่จะผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า ร้อยละ 15 ของรถยนต์ ของรัฐทั้ง 8 จะหมายถึงประมาณอย่างน้อยร้อยละ 3 ของตลาดรถยนต์ทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนรัฐทั้ง 8 นี้ มีสัดส่วนการใช้รถยนต์เป็นร้อยละ 23 ของประเทศ

ผู้ผลิตรถยนต์บางบริษัทไม่พอใจในกฎเกณฑ์นี้นัก เพราะเป็นการบังคับให้บริษัทต้องขายหรือซื้อเครดิตจากบริษัทคู่แข่งขันที่ผลิตรถยนต์ ZEVs มากกว่าที่กำหนดไว้ตามกฎ

มีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายบริษัท ดังเช่น Chrysler Group, General Motors และ Honda ได้เริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกสู่ตลาด ดังเช่น Fiat 500e, Chevrolet Spark EV และ Honda Fit EV – ทั้งนี้ด้วยกรอบคิด ZEVs ที่ได้มีการนำหน้าไปแล้วโดยรัฐแคลิฟอร์เนีย

บางบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ดังเช่น Nissan ได้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังจากแบตเตอรี่ ที่เป็นเครดิตเพียงพอสำหรับบริษัทของตน แต่บางบริษัท ดังเช่น Chrysler และ Honda ยังขายZEVs ได้ไม่เพียงพอต่อเป้าหมาย ซึ่งจะต้องมีการซื้อเครดิตจากบริษัทอื่นๆ เพื่อไม่ให้ผิดกฎเครดิตดังกล่าว

บริษัทที่จะได้เครดิตเกิน เพราะผลิตแต่รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเดียวได้แก่ Tesla Motors ซึ่งได้รับรายงานว่าจะได้เครดิตมูลค่า USD119 ล้าน จากการขายรถยนต์ในช่วงครึ่งแรกของปี ค.ศ. 2013 บริษัท Tesla ขายรถยนต์ ZEVs มากเป็น  32 เท่าของแต่ละบริษัทอื่นๆ เมื่อนับถึง 30 กันยายน ทั้งนี้ตามรายงานของสำนัก ARB ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้

ฝ่ายผู้วิจารณ์นโยบายผลักดันรถยนต์ประเภท ZEVs หรือ EVs ให้ความเห็นว่า เป็นการที่บังคับให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ผลิตรถยนต์ที่ผู้บริโภคไม่ต้องการ หรือทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องไปจ่ายเงินมหาศาลให้กับคู่แข่งขัน ส่วนรัฐที่เข้าร่วมในการส่งเสริมรถยนต์ ZEVs เห็นว่านโยบายนี้จะเป็นการลดการเผาไหม้คาร์บอนและลดการปล่อยมลพิษสู่อากาศ แต่ก็กล่าวว่าจะไม่เร่งผลักดันนโยบายนี้ไปไกลเกินไปนัก

 “เราไม่สามารถบังคับให้คนซื้อรถ ไม่มีข้อได้เปรียบใดๆสำหรับการทำอย่างนั้น” แมรี นิโคลส์ (Mary Nichols) ประธานของ ARB กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว “เป้าหมายของเราคือทำงานร่วมกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์”
ฝ่ายบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ได้แสดงการต้อนรับข้อตกลงนี้ และกล่าวว่า หากรัฐอื่นๆตามอย่างรัฐแคลิฟอร์เนียนี้ ก็นับเป็นก้าวที่จะส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า มันจะทำให้ขายรถประเภท EVs ได้ง่ายขึ้น


ภาพ รถยนต์ไฟฟ้า Tesla Model S รุ่น 2013 ได้ชื่อว่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าระดับ Premium ที่ดีที่สุด


ภาพ รถยนต์ไฟฟ้า LEAF EV ของบริษัท Nissan ซึ่งจัดเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในโลกปัจจุบัน


ภาพ รถยนต์ไฟฟ้า Chevy Spark EV รุ่น 2014 ของบริษัท General Motors ซึ่งนับเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาไม่แพง เมื่อเทียบสมรรถนะกับรถในรุ่นใกล้เคียงกัน


ภาพ รถยนต์ไฟฟ้า Honda Fit 2014 นับเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถแข่งขันได้ทั้งด้านราคาและคุณภาพกับรถในระดับเดียวกัน

 “Honda สนับสนุนนโยบายของรัฐแคลิฟอร์เนียนี้ ที่จะส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาให้การสนับสนุนยานพาหนะที่ใช้คาร์บอนต่ำ และทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานและระบบแรงจูงใจเพื่อรองรับรถยนต์ประเภทใหม่ๆนี้” โรเบิร์ต ไบเนนเฟลด์ (Robert Bienenfeld) ผู้บริหารระดับสูงดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและยุทธศาสตร์พลังงานของ Honda กล่าว “การประกาศข้อตกลงนี้ จะเป็นการกระตุ้นให้รัฐอื่นๆได้หันมาใช้ความพยายามในลักษณะเดียวกัน”

You can reach Gabe Nelson at gnelson@crain.com.

Thursday, October 24, 2013

ผู้นำต้องยอมเสีย ดีกว่าจะปล่อยให้เรื่องยืดเยื้อเสียหายหนักในระยะยาว


ผู้นำต้องยอมเสีย ดีกว่าจะปล่อยให้เรื่องยืดเยื้อเสียหายหนักในระยะยาว

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com



Keywords: ความเป็นผู้นำ, leadership, การเงิน, finance, การธนาคาร, banking, สหรัฐอเมริกา, United States, USA, เจมี ไดมอน, Jamie Dimon, JPMorgan Chase

ศึกษาและเรียบเรียงจาก TIME, Oct. 21, 2013

ในภาษาไทยมีสุภาษิตว่า “รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ” หากมีอะไรเสียหายที่ต้องได้รับการแก้ไข ก็ต้องตัดสินใจดำเนินการเสียแต่เนิ่นๆ ดีกว่าปล่อยให้เรื่องคลุมเครือ และสร้างบรรยากาศความไม่แน่นอนในระยะยาว


ภาพ เจมี ไดมอน (Jamie Dimon) ขณะให้ปากคำต่อคณะกรรมการธิการวุฒิสภาสหรัฐ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2012 ที่อาคารรัฐสภา กรุงวอชิงตันดีซี (Capitol Hill in Washington, DC.)

เจมี ไดมอนในฐานะประธานและผู้บริหารสูงสุดของสถาบันการเงินใหญ่ JPMorgan Chase ซึ่ง เจมี ไดมอนได้รับคำยกย่องว่าเป็นผู้นำพาธนาคารผ่านวิกฤติการเงินและหลีกหนีการปล่อยเงินให้กับกิจการอสังหาริมทรัพย์ในช่วง subprime mortgage market ที่ล้มเหลว

แต่ปี ค.ศ. 2013 นับเป็นกระแสหวนกลับ อันด้วยมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการบริหารการเงิน botched London Whale trade ซึ่งทำให้บริษัทต้องสูญเสียไปหลายพันล้านเหรียญ ไดมอนอยู่ในช่วงการเจรจาต่อรองกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐและหน่วยงานกำกับกิจการธนาคาร ซึ่งท้ายสุดคาดว่า JPMorgan Chase จะต้องจ่ายค่าปรับ 13,000 ล้านเหรียญ หรือ 390,000 ล้านาทไทย ซึ่งนับเป็นครึ่งหนึ่งของเงินกำไรของธนาคารในปีนี้ ไดมอนหวังว่าการรีบเคลียร์ค่าปรับจะทำให้เรื่องวิกฤติการเงินของธนาคารได้จบลง เพื่อที่จะได้เริ่มอนาคตใหม่ขององค์การต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติม

เจมส์ หรือ เจมี ไดมอน เกิดวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1956 เป็นนักบริหารธุรกิจชาวอเมริกัน ปัจจุบันเขาเป็นประธานบริษัทและผู้บริหารสูงสุด (CEO) ของ JPMorgan Chase หนึ่งในสี่ธนาคารใหญ่สุดของสหรัฐอเมริกา ก่อนหน้านี้เขาเคยทำงานเป็นผู้อำนวยการฝ่าย Class A ของคณะอำนวยการของ New York Federal Reserve ไดมอนได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Time ให้เป็นหนึ่งใน 100 ผู้ทรงอิทธิพลสุดของโลกในปี ค.ศ. 2006, 2008, 2009 และ 2011 เขาได้รับการยกย่องให้เป็น CEO ที่ดีที่สุดจากการสำรวจทีมผู้บริหารที่ดีที่สุดของอเมริกา จากช่วงปี ค.ศ. 2008 จนถึง 2011