Tuesday, October 29, 2013

การคิดแบบติดกลุ่ม (Groupthink) เหตุของการตัดสินใจที่ผิดพลาด


การคิดแบบติดกลุ่ม (Groupthink) เหตุของการตัดสินใจที่ผิดพลาด

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, governance, การตัดสินใจ, decision making, การคิดแบบติดกลุ่ม, groupthink

ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ มีเรื่องการตัดสินใจที่ผิดพลาดหลายครั้งที่เขาต้องกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ว่าได้เกิดอะไรขึ้น ดังเช่น

·       ทำไม สหรัฐในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง จึงไม่เฉลียวใจเลยว่าญี่ปุ่นกำลังใช้กองทัพเรือพร้อมเรือบรรทุกเครื่องบินเพื่อบุกโจมตีอ่าวเพิร์ล (Pearl Harbor) ในหมู่เกาะฮาวาย

·       ทำไมสหรัฐในช่วงเมษายน ค.ศ. 1961 จึงหลงส่งทหาร เฉพาะกิจ 1500 นายเข้าไปรบเพื่อหวังโค่นล้มฟิเดล คัสโตร (Fidel Castro) และการปฏิวัติสังคมนิยมของเขาได้ ซึ่งท้ายสุด 5 กองพันที่ส่งเข้าไปต้องยอมแพ้ บางส่วนเสียชีวิต บางส่วนบาดเจ็บ และที่เหลือถูกจับตัวเป็นเชลยหมด


ภาพ ทหารเฉพาะกิจสหรัฐที่ส่งเข้าไปบุกคิวบาที่ Bay of Pig ในเดือนเมษายน 1961 แล้วต้องแพ้และถูกจับตัวหมดภายในเวลา 3 วัน

·       ทำไมคนเสื้อแดงผู้สนับสนุนทักษิณ ชินวัตรนับเป็นพันๆคน ที่อยู่ใกล้เหตุการณ์การเผาห้างสรรพสินค้า Central World ศาลากลางจังหวัดอีกหลายแห่ง จึงมองไม่เห็นคนเผา บางคนบอกว่าเป็นพวกทหารฝ่ายรัฐบาล ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าไม่มีใครรู้เรื่องเลย

ด้วยเหตุการณ์เช่นนี้ เราต้องกลับมาศึกษาว่าอะไรเป็นสาเหตุของความผิดพลาดครั้งใหญ่เหล่านี้ ก่อนที่มันจะเกิดขึ้นอีก ในปรากฏการณ์เช่นนี้ เราลองหันมาศึกษาเรื่อง “ความคิดแบบติดกลุ่ม” แล้วเราอาจได้ความกระจ่างบางประการ ทำไมกลุ่มคนจึงคิดและตัดสินใจอย่างผิดพลาด

ความคิดแบบติดกลุ่ม (Groupthink) เป็นลักษณะของการที่บุคคลในกลุ่มยอมจำนนต่อความคิดของผู้นำและสมาชิกในกลุ่มให้อยู่เหนือสิ่งต่างๆ จนกระทั่งไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ การคิดแบบติดกลุ่มนั้นมีธรรมชาติอันก่อให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้หลายประการ ซึ่งมีดังต่อไปนี้

- การหลงคิดว่าจะไม่ผิดพลาด (An Illusion of Invulnerability) เป็นความเชื่อว่าทำแล้วต้องไม่พลาด ดังเช่นคิดว่า มันไม่เกิดหรอก เป็นไปไม่ได้ ผู้ใหญ่กว่าเราเขาคงศึกษามาดีแล้ว หรือ

·       การคิดนโยบายพรรคเพื่อไทยในช่วงการหาเสียง “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ”

- การเชื่อว่าตนเองและพวกเป็น "ฝ่ายเทพ" (A belief in the inherent morality of the group) และกำลังยืนอยู่ในฝ่ายที่ถูกต้อง ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรานั้นเป็นพวกที่ไม่หวังดีต่อกลุ่ม ต่อองค์การ หรือต่อประเทศชาติ ในทางการเมือง ทั้งฝ่ายทักษิณและฝ่ายต่อต้าน ต่างก็มีความเชื่อว่าฝ่ายตนเป็นฝ่ายถูกต้อง เพียงแต่ฝ่ายคนเสื้อแดงทำเพื่อทักษิณ และฝ่ายตรงข้ามคือไม่เอาทักษิณ ซึ่งเป็นภัยต่อบ้านเมือง ความถูกผิดมักเป็นรองเรื่องของความเชื่อ (Beliefs)

- การคิดหาเหตุผลเข้าข้างพวกตนแบบกลุ่ม (Collective rationalizations) เมื่อคิดแบบติดยึดภายในกลุ่ม บางครั้งก็ตัดสินใจไปตามค่านิยมภายในของกลุ่ม และจึงค่อยหาเหตุผลชี้แจงแบบเข้าข้างตัวเอง หรือพวกพ้อง เช่น การเล่นพรรคเล่นพวก การใช้อภิสิทธิ์ในการฝากเด็กเข้าสถานศึกษา การพิจารณาขึ้นเงินเดือนหรือหาผลประโยชน์ให้ตนเอง และในที่ลับนั้น บางทีสามารถตัดสินใจแล้วค่อยหาเหตุผลในภายหลังได้

- การมองกลุ่มอื่นๆเป็นพวกแปลกประหลาด (Stereotypes of out-groups) มีการตั้งฉายาให้ต่างๆนานา มีการมองคนและให้ค่าแก่เขาตามลักษณะของเขา โดยที่ไม่ได้พิจารณาในเนื้อแท้ของเขาเป็นกรณีไปตามข้อเท็จจริง เช่น เขาเป็นพวกนายทุน เป็นทหาร เป็นพวกฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายขวาจัด แล้วแต่จะให้ฉายากันไป

- การปิดปากตนเอง (Self-censorship) การยอมสงบนิ่งทั้งๆที่อาจมีความคิดความอ่านเป็นของตนเอง ด้วยเกรงจะเป็นการกวนน้ำให้ขุ่น เป็นการชักใบให้เรือเสีย หรือไม่ก็เกรงใจกัน แม้จะมีความแคลงใจ แต่ก็ปล่อยให้ผ่านเลยไป เช่น คนที่มีความคิดต่างจากทักษิณ ชินวัตรนั้นมีอยู่มากในพรรคเพื่อไทย ในคนเสื้อแดง แต่เขาเหล่านี้ไม่กล้าพูดออกมาอย่างเปิดเผยแพร่

- ภาพลวงของการเห็นพ้องต้องกัน (Illusion of unanimity) ความเชื่อว่า ยิ่งคนเป็นอันมากในกลุ่มได้เห็นพ้องต้องกัน ก็แสดงว่ามันถูกต้อง แทนที่จะใช้เหตุผลในการพิจารณา ทั้งๆที่บางทีการได้ความเห็นชอบแบบเป็นเอกฉันท์นั้นแท้จริงเป็นผลมาจากการปล่อยให้มีการชี้นำจากคนเพียงบางคน ยังไม่ได้มองกันในแง่มุมที่ละเอียดพอ และเมื่อคนส่วนใหญ่เห็นเป็นเช่นนั้น คนกลุ่มน้อยก็ไม่กล้าไปขัด

- แรงกดดันต่อคนที่เห็นแปลกแยก (Direct pressure on dissenters) บรรยากาศภายในกลุ่มไม่เอื้อให้คนกล้าพูด การมองด้วยสายตาไม่ยอมรับ การตัดบท การทำให้เสียหน้า และอื่นๆอีกมาก ซึ่งท้ายสุดนำไปสู่การไม่มีใครกล้าพูด

- การปกป้องไม่รับความคิดเห็นอื่น (Self-appointed mind-guards) บางทีปล่อยให้พูด แต่ในจได้มีการตกลง หรือคิดทางออกอย่างตายตัวเอาไว้แล้ว การมาพูดหรือปรึกษาหารือกันในที่ประชุมนั้นจึงกลายเป็นพิธีการ มากว่าจะใช้ประโยชน์จากการประชุมอย่างแท้จริง

ศึกษาและเขียนใหม่ จาก Irving L. Janis Groupthink: Psychological studies of policy decisions and fiascoes. Boston: Houghton Mifflin, 1982, pp.174-175.


No comments:

Post a Comment