Wednesday, October 23, 2013

ลางแห่งความพินาศ บทความโดย วสิษฐ เดชกุญชร


ลางแห่งความพินาศ บทความโดย วสิษฐ เดชกุญชร


ภาพ วสิษฐ เดชกุญชร

Matichon Online, วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 22:45:26 น.

คงจะเห็นและรู้กันโดยทั่วไปแล้วว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐสภาที่เสียงข้างมากเป็นของพรรคเพื่อไทย (ซึ่งทั้งรัฐบาลและรัฐสภาอยู่ภายใต้การบงการของ (พ.ต.ท.)ทักษิณ ชินวัตร) กำลังสมคบกันเดินหน้าอย่างเร่งรีบ เพื่อจะให้รัฐธรรมนูญได้รับการแก้ไข และเพื่อจะให้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกแก้ไขนี้ แม้จะมีผู้ร้องคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และศาลได้รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว แต่สภาก็รับร่างไว้พิจารณาและเห็นชอบด้วยเสียงส่วนใหญ่ และนายกรัฐมนตรีก็ได้นำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว หากทรงลงพระปรมาภิไธยก็จะมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญๆ หลายอย่าง

ประการแรกคือ สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันเมื่อสิ้นสมาชิกภาพแล้ว สามารถที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่ได้ทันทีโดยไม่มีการเว้นระยะ 5 ปี ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ประการที่สอง บุพการี คู่สมรส หรือบุตรของสมาชิกวุฒิสภาสามารถที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งได้ด้วย ซึ่งเป็นข้อห้ามในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนี้ จะทำให้ฐานกำลังของพรรคเพื่อ ไทยแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และพรรคจะสามารถคุมรัฐสภาเอาไว้ได้อย่างมั่นคง

ส่วนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนั้น เมื่อสภารับหลักการและรับร่างกฎหมายแล้ว คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีกรรมาธิการส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยก็รีบพิจารณาและเพิ่งจะรับหลักการไปแล้ว เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม กำหนดจะส่งให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเป็นวาระที่ 3 ในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้

เป็นที่คาดหมายว่าทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาก็คงจะลงมติด้วยเสียงข้างมากรับร่างพระราชบัญญัติฉบับที่กล่าว ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เมื่อนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และหากทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว จะมีผลทำให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชน ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้น ภายหลัง การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

หมายความว่าผู้ต้องหาทั้งหมดที่ถูกจับกุมคุมขังและต้องโทษในคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 (คือเมื่อมีรัฐประหารโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้า) รวมทั้งตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ และผู้ถูกใช้ จะพ้นจากความผิดและความรับผิด โดยสิ้นเชิงรวมทั้ง (พ.ต.ท.) ทักษิณด้วย ในกรณีของ (พ.ต.ท.)ทักษิณนั้น เมื่อพ้นผิดกลายเป็นผู้ บริสุทธิ์แล้ว รัฐก็จะต้องคืนทรัพย์สินที่ยึดไปจาก (พ.ต.ท.)ทักษิณจำนวน 43,000 ล้านบาท และดอกเบี้ยเป็นเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท ให้แก่ (พ.ต.ท.) ทักษิณด้วย ใช่แต่เท่านั้น (พ.ต.ท.) ทักษิณยังจะพ้นผิดในคดีอื่นๆ อีกหลายคดี อาทิ คดีโกงกล้ายาง 90 ล้านต้น คดีปล่อยเงินกู้ให้พม่าผ่านธนาคารเอ็กซิม (Exim) โดยเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของตนเอง คดีทุจริตในการซื้อรถดับเพลิง โดยร่วมกับนายประชา มาลีนนท์ ซึ่งกำลังหลบหนีอยู่ และคดีสั่งธนาคารกรุงไทยให้ปล่อยเงินกู้ให้บริษัท กฤษดามหานคร โดยให้ประโยชน์ตกอยู่ที่นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรของตน เป็นต้น

และเมื่อพ้นผิดในทุกกรณีเช่นนี้แล้ว (พ.ต.ท.) ทักษิณก็คงจะเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยได้อย่าง "เท่" ตามที่ตนต้องการ

เมื่อพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมกลายเป็นตะกร้าที่ใส่ (พ.ต.ท.) ทักษิณล้างน้ำ ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีผู้คัดค้านต่อต้านอย่างกว้างขวางและรุนแรง นอกจากกลุ่ม คปท.ที่กำลังชุมนุมอยู่ที่เชิงสะพานอุรุพงษ์ และกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ที่กำลังชุมนุมอยู่ที่สวนลุมพินี แล้ว กลุ่มสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งที่ประกาศจะระดมคนออกมาต่อต้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ก็คือสภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งมีคุณสุริยะใส กตะศิลา เป็นกรรมการและผู้ประสานงาน กับกลุ่มอื่นๆ

ปฏิกิริยาล่าสุดที่จะต้องจับตามองก็คือพรรคประชาธิปัตย์ ในการปราศรัยกับประชาชนที่สนามหลวง 2 เขตทวีวัฒนา เมื่อวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านไปนี้ ทั้งคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ประกาศอย่างเปิดเผยและแข็งกร้าวว่า หากสภาผู้แทนราษฎร ลงมติรับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในวาระที่ 3 ก็จะไม่คอยจนกระทั่งร่างพระราชบัญญัติไปถึงวุฒิสภา แต่จะระดมประชาชนให้ออกมาชุมนุมต่อต้านทั้งประเทศทันที และการชุมนุมจะกระทำ "อย่างสันติ อหิงสา ใช้อารยะขัดขืน ไม่มีการใช้อาวุธ ไม่มีการเผาบ้านเผาเมือง"

รัฐบาลคงจะคาดหมายไว้แล้วว่าจะต้องมีการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะฉะนั้น คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้ยืดเวลาการใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงออกไปอีกจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน เห็นได้ชัดว่าเพื่อควบคุมการชุมนุมเอาไว้ในวงจำกัด

ทั้งสิ้นนี้เป็นสัญญาณแสดงว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และประชาชนที่ต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม กำลังเดินหน้าเข้าเผชิญกัน และเมื่อไม่มีฝ่ายใดยอมลดท่าทีอันแข็งกร้าวลง ก็น่าวิตกว่าการปะทะกันจะเกิดขึ้น และถ้ารัฐบาลตัดสินใจใช้ไม้แข็ง สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม การปะทะกันก็อาจจะบานปลายออกไปเป็นการจลาจล

รัฐบาลอาจเป็นฝ่ายชนะในเบื้องต้น แต่ชัยชนะของรัฐบาลก็จะเป็นแต่เพียงการชะลอความพินาศที่จะเกิดขึ้นในที่สุดเท่านั้น

ที่มา:มติชนรายวัน 22 ต.ค.2556

No comments:

Post a Comment