นโยบายช่วยคนยากจน ต้องช่วยด้วยความจริงใจ (2)
Keywords: Life diary, บันทึกชีวิต, การเมือง, การต่างประเทศ, นโยบายเศรษฐกิจ
Honesty is the first chapter in the
book of wisdom. ~ Thomas Jefferson
“ความซื่อสัตย์เป็นบทแรกในหนังสือแห่งปัญญา
~ โธมัส เจฟเฟอร์สัน
โธมัส เจฟเฟอร์สัน
ผู้ได้ชื่อว่าเป็นมันสมองในการร่างคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1776 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอเมริกา จากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
คำแนะนำที่ดีที่สุดของผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของประชาธิปไตยยุคใหม่ เขาเสนอให้นักการเมืองที่ต่อสู้โลดแล่นในเวทีการเมืองนั้น
ต้องซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต้องคิดอย่างที่ควร คิดแล้วต้องเขียน พูด และแสดงออกอย่างที่ตนเองคิดและเชื่อ
และท้ายที่สุด ต้องกระทำในสิ่งที่ตนเองเห็นว่าถูกต้อง
และหลักของประชาธิปไตยก็คือการให้เสรีภาพที่คนจะคิดเห็นต่างจากคนอื่นๆได้ และประชาธิปไตยต้องให้หลักประกันในการที่คนจะแสดงออก
วันนี้จะพูดถึงเรื่องการเมืองต่อครับ
เป็นการเมืองในโลก และในประเทศไทย
Paris (CNN) – ฟรังซัว โอลอง (Francois
Hollande) จากพรรคสังคมนิยมได้ชนะประธานาธิบดีนิโคลา ซาร์โคซี (Nicolas
Sarkozy) ในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในรอบตัดสินเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ส่งสัญญาณการเคลื่อนตัวสู่ทางซ้ายของประเทศ
และต่อเกือบทั้งทวีปยุโรปที่ต้องต่อสู้กับเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
ฟรังซัว โอลอง จากพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส
เสนอว่าการรัดเข้มขัด (Austerity) และเข้มงวดทางด้านเศรษฐกิจไม่ใช่ทางออกของฝรั่งเศส
และไม่ใช่ทางออกของยุโรป ซึ่งสิ่งนี้สวนทางกับแนวทางของ Merkel ผู้นำของเยอรมัน และ Sarkozy ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสในแนวทางที่คนเรียกทิศทางเศรษฐกิจของผู้นำทั้งสองว่า
Merkozy ซึ่งหมายถึงทุกชาติจะต้องเน้นการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง
ประเทศที่ประสบวิกฤติที่จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน ก็ต้องพยายามลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ
ซึ่งไม่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนในประเทศที่กำลังประสบวิกฤติเศรษฐกิจทั้งหลายในยุโรป
เพราะขณะนี้หลายประเทศมีอัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 20-25 แล้ว
และยิ่งสูงกว่านี้ในคนกลุ่มหนุ่มสาวที่จะเป็นพลังของประเทศ
ฟรังซัว โอลอง
เสนอให้ฝรั่งเศสต้องเน้นการสร้างงาน และการจ้างงาน
และรัฐบาลจะต้องเป็นผู้นำในการนี้ รัฐจะต้องมีรายได้เพื่อนำไปสร้างงาน
และนี่รวมถึงรายได้ภาครัฐที่ได้จากการเสนอเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าในกลุ่มรายได้สูงสุดถึงร้อยละ
75 แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องรอดูผลการเจรจาระหว่างผู้นำฝรั่งเศสใหม่
คือโอลองกับ Merkel ผู้นำของเยอรมัน
ชาติที่เป็นมหาอำนาจสำคัญของยุโรป
การเมืองของแต่ละประเทศ และในโลกนั้นมีผลกระทบส่งถึงกันได้
และนักการเมือง
ผู้นำการเมืองไม่สามารถหลีกหนีผลกระทบของเศรษฐกิจทั่วโลกที่จะมีผลต่อการเมืองภายในประเทศของตน
ในสมัยวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกจากผลของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในช่วงปี ค.ศ. 1914–1918 เมื่อเกิดวันศุกร์สีดำ (Black Friday) ตลาดหุ้นพังทลายในช่วงเดือนตุลาคม
ค.ศ. 1929 ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก และส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
(Great Depression)
ในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกนานนับ 10 ปี การเมืองในโลกในยุคนั้นก็เปลี่ยนขั้ว
ทำให้มีการลดทอนอำนาจและล่มสลายของระบอบกษัตริย์เดิมลงในหลายประเทศ
เกิดลัทธิคอมมิวนิสต์ การงอกงามของระบอบสังคมนิยม หลายประเทศปฏิรูปประเทศไปสู่ระบบรัฐสวัสดิการ
และนำไปสู่สังคมนิยมประชาธิปไตย ในยุคนั้นส่วนหนึ่งมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทย
อันเป็นช่วงมีปัญหาข้าวยากหมากแพง มีการปฏิวัติโดยคณะราษฎร์ในปี พ.ศ. 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงจากระบบกษัตริย์ในระบอบสมบูรณายาสิทธิราช
ไปสู่กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ในการเมืองประเทศไทยปัจจุบัน
พรรคเพื่อไทยดูเหมือนว่าจะได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาฯ
เมื่อใดที่ต้องมีการออกคะแนนเสียงเพื่อตัดสินนโยบายของชาติ
รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็สามารถชนะการออกเสียงทุกครั้ง
แต่นั่นไม่ใช่ความมั่นคงทางการเมืองของรัฐบาลเสียทีเดียว การฉุดกระชากลากถู
เผด็จการด้วยเสียงหมู่มากไม่ใช่ทางเลือกประชาธิปไตยที่ดี เพราะท้ายที่สุด
เสียงตัดสินคือประชาชน
ซึ่ง
ประชาชนจะตัดสินด้วยผลกระทบของการเมืองที่มีต่อเรื่องปากท้องของเขา
หากบ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้ ทำให้ทุกคนมีงานทำ มีกินมีใช้ มีความสุขสบาย
รัฐบาลก็จะยังแข็งแรงอยู่ไปได้เรื่อยๆ จนกว่าจะมีเลือกตั้งใหม่ ประเด็นเศรษฐกิจเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการตัดสินทางการเมือง
แต่การดำเนินกิจการทางการเมืองในช่วงต่อไปนี้
ไม่มีใครมีเสถียรภาพได้อย่างยืนยาวแท้จริง ทุกฝ่ายไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างชะล่าใจ
ลองดูประเทศอื่นๆ นอกเหนือไปจากกลุ่มประเทศยุโรป ประเทศฝรั่งเศส
คือตัวอย่างของการที่ประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหาร เขาจึงเลือกฟรังซัว
โอลอง จากพรรคสังคมนิยม ไม่ใช่เพราะเขาชอบโอลอง หรือระบบสังคมนิยม
แต่เพราะเขาเบื่อและไม่พอใจประธานาธิบดีนิโคลา ซาร์โคซี
ที่ไม่สามารถจัดการบ้านเมืองและระบบเศรษฐกิจให้เข้มแข็งได้เหมือนอย่างที่เขาคาดหวัง
ในประเทศสหรัฐอเมริกา หากประธานาธิบดีโอบาม่า (Barack Obama) จะไม่ได้รับเลือก ไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนไม่ดี ไม่มีความสามารถ
แต่เพราะโอบาม่ายังไม่สามารถจัดการเศรษฐกิจประเทศให้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ซดังที่ประชาชนคาดหวัง
สัญญาณเศรษฐกิจทุกตัว การมีงานทำ การสร้างงาน ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
เหล่านี้จะเป็นตัวบ่งชี้อนาคตของโอบามาในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
การเมืองมีหลักอยู่ว่า
“ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน” ไม่มีใครสามารถดำรงอยู่ได้อย่างถาวร
แต่หลักการที่สำคัญของการดำเนินการทางการเมืองคือต้องยึดหลัก “Honesty is
the best policy.” หรือ “ความซื่อสัตย์คือนโยบายที่ดีที่สุด”
ผู้นำที่ดีจะต้องสื่อสารกับประชาชนได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด
ซึ่งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยปัจจุบันต้องคำนึงถึงมากที่สุด และต้องกลับไปตรวจสอบนโยบายที่เคยหาเสียงเอาไว้
ดังเช่น
สินค้าแพง – จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ร้อยละ
90 บอกราคาสินค้าแพงขึ้น แต่มีรัฐมนตรีหลากกระทรวงที่นายกรัฐมนตรีได้ไปร่วมกันสำรวจตลาดในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
แล้วกลับมารายงาน ผลคือรัฐมนตรีทั้งหลายได้ข้อมูลร่วมกันบอกว่า สินค้าในตลาดนั้นไม่แพงไปกว่าระดับเดียวกันของปีก่อนหน้านี้
แล้วจะให้ประชาชนทั่วไปเชื่อใคร เชื่อตัวเองที่กำลังเดือดร้อน
หรือเชื่อรัฐมนตรีที่ต้องเอาใจนายกรัฐมนตรี
ความจริงพรรคเพื่อไทย
ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพรรคได้คะแนนประชานิยม
มีประชาชนระดับล่างเลือกเข้ามาด้วยเสียงที่เหนือกว่าพรรคตรงข้ามอย่างมาก
เพื่อให้มาเป็นรัฐบาล การทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อคนยากจนระดับล่างได้อย่างยั่งยืน
ย่อมจะเป็นประโยชน์ทางการเมืองแก่พรรคอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องทำนโยบายให้ดี
ทำอย่างจริงจัง และมีผลทางบวกต่อประชาชนทั้งในระยะทั้งสั้นและระยะยาว และเป็นนโยบายที่ดำเนินได้อย่างยั่งยืน
นั่นยอมจะดีที่สุด
ช่วยคนจน - สินค้าราคาแพง เป็นเรื่องที่แล้วแต่จะมอง
หากถามประชาชนคนอยากซื้อ ก็ต้องอยากซื้อของราคาถูก อยากได้รายได้สูงๆ
หากถามฝ่ายรัฐบาล ก็จะได้คำตอบว่าทุกอย่างดีอยู่แล้ว หรือไม่เลวร้ายจนเกินไป
ทางออกที่เป็นรูปธรรม เรามีการสำรวจและติดตามสภาพเงินเฟ้อ (Inflation) กันเป็นระยะอยู่แล้วด้วยหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องตรวจสอบว่า ค่าเงินเฟ้อต่อปี
ถ้าอยู่ที่ 3% ก็แสดงว่าสินค้าและบริการไม่น่าจะแพงไปกว่าปกติ
แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องยอมรับก็คือ
มีนโยบายของรัฐบาลเองที่เป็นตัวไปกระชากราคาสินค้าทุกอย่างให้สูงขึ้น เช่น (1)
การกำหนดอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำให้เป็น 300 บาท/วัน
หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 อย่างทันทีทันใด (2) การปรับเงินเดือนปริญญาตรีเป็นขั้นต่ำที่ 15,000 บาท
(3) การรับจำนำข้าวธรรมดาที่ตันละ 15,000 บาท และ (4) เมื่อประกอบกับผลจากน้ำท่วมใหญ่
ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นความบกพร่องของรัฐบาลที่สำคัญในช่วงปลายปี พ.ศ. 2554 คนเกือบทั้งหมดต้องเหนื่อยกับการซ่อมบ้าน การหยุดงาน เปลี่ยนงาน ปิดโรงงานแล้วต้องเปลี่ยนย้ายที่ทำงาน
ที่อยู่อาศัย สินค้าด้านวัสดุก่อสร้างแพงขึ้นทุกรายการ
ช่วยคนจน -
ราคาพืชผลการเกษตรแท้จริง ต้องช่วยแบบยกแผง ด้วยประกันราคาสินค้าเกษตรหลัก
ไม่ใช่ช่วย "รับจำนำ" แบบราคาสูงเกินจริง แล้วกระทำได้เพียงส่วนน้อย
ปัจจุบัน เกษตรกรกำลังชั่งใจอยู่ว่า
นโยบายการรับจำนำข้าว หรือพืชผลการเกษตรของรัฐบาลเพื่อไทยนั้น
เมื่อเปรียบกับแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ใช้นโยบายประกันราคาพืชผลการเกษตร อย่างไหนจะเป็นประโยชน์ต่อเขามากกว่ากัน
นโยบายรับจำนำข้าวนั้น ความจริงน่าจะต้องเรียกว่า “การรับซื้อข้าวในราคาสูง”
คือสูงถึงตันละ 15,000 บาท เกินราคาตลาดโลก แต่รับจำนำหรือรับซื้อได้เพียงส่วนน้อย
จน ณ เวลาปัจจุบัน ไม่สามารถบริหารจัดการราคาข้าวได้อย่างที่หาเสียง
เพราะพืชผลการเกษตรในโลกปีนี้ค่อนข้างดี ผลิตผลมากเกินกว่าปกติ ราคาสินค้าเกษตรก็ลดลง
รัฐบาลไทยไม่มีขีดความสามารถใดๆในการกำหนดราคาข้าวในตลาดโลก
จากการศึกษาเปรียบเทียบของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ปัญหาจากการรับจำนำข้าวโดยสรุป – (1) จากอดีตที่ผ่านมามีการคอรัปชันสูงทำให้รัฐต้องขาดทุนปีละหลายหมื่นล้านบาท
(2) รัฐอาจต้องสร้างโกดังไว้เก็บข้าวเองจำนวนมาก (3) เป็นการ บิดเบือนกลไกตลาดทำให้ รัฐต้องใช้เงินจำนวนมากไปซื้อข้าวซึ่ง
รัฐไม่น่าจะมีเงินมากมาซื้อข้าวชาวนาได้ทั้งหมดในกรณีที่พ่อค้าไม่รับซื้อข้าวแข่ง (4)
รัฐต้องเสียเงินจำนวนไม่น้อยในการสต๊อกข้าวและรักษาคุณภาพข้าวจำนวนมากถ้าขายข้าวไม่ได้
และ (5) อาจมีข้าวจากต่างประเทศเข้ามาสวมสิทธิ์
จากการนำเสนอเปรียบเทียบของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ทำให้ดูเหมือนการประกันราคาข้าว กับการรับจำนำข้าวมีผลดีผลเสียแบบพอๆกัน
แต่ในส่วนของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เป็นอันมากเห็นว่าการรับจำนำข้าว
เป็นสิ่งที่ไม่สามารถดำเนินไปได้ในระยะยาว เพราะขัดกับหลักอุปสงค์และอุปทาน (Demand
& Supplies) แต่อย่างไรก็ตาม
ปีนี้นับเป็นปีแรกที่จะพิสูจน์ว่านโยบายของรัฐบาลเพื่อไทยนั้น
จะดำเนินไปได้จริงมากน้อยเพียงใด ในทุกเดือนที่ผ่านไป
ผลจะเป็นเครื่องพิสูจน์ในนโยบายที่ต่างกันนี้
ช่วยคนจน - หากเร่งค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ผลที่ตามมาคือโรงงานที่อ่อนแอจะเลิกผลิต
หรือเปลี่ยนวิธีการจ้างคน ตลาดงานจะลดลง
โดยทั่วไปของการปรับอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำ
เขาจะมีระบบไตรภาคี คือตัวแทนรัฐบาล ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง และตัวแทนฝ่ายแรงงาน
เพื่อมาปรึกษาหารือ และกำหนดอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำที่เหมาะสมกับความเป็นจริงร่วมกัน
กลไกค่าแรงงานขั้นต่ำนั้นไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือผลักดันรายได้ของคนงานได้ทั้งหมด
ในทุกประเทศ แม้ในออสเตรเลียที่พรรคแรงงานเป็นใหญ่
เขาก็จะกำหนดค่าแรงงานที่มีผลต่อคนทำงานระดับล่างประมาณร้อยละ 20-25 เพื่อเป็นการช่วยคนงานกรรมกรที่ไม่มีอำนาจต่อรอง เพราะแรงงานก็เหมือนสินค้าและบริการทั้งหลายที่เป็นไปตามกลไกในตลาดเสรี
การใช้การปรับอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำหากใช้แรงและเร็วเกินไป
จะทำให้นายจ้างเองต้องไปหาทางออก เช่น การเลิกกิจการในกรณีที่เห็นว่าไปไม่ไหว
ย้ายกิจการไปลงทุนในต่างประเทศ ดังในกรณีของอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก
ก็ย้ายไปประเทศเพื่อนบ้าน หรือเปลี่ยนสัญญาเลิกจ้างคนงาน
แล้วไปทำสัญญาจ้างแบบจ้างเหมา คือจ่ายตามรายชิ้น หรือในรายที่จ่ายได้ และเคยจ่ายโดยมีสวัสดิการ
ก็เลิกสวัสดิการเพื่อมาจ่ายเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำแทน
นอกจากนี้ก็คือ
การมีคนงานต่างชาติหลายล้านคนในประเทศ
ผู้จ้างก็ต้องจ่ายตามอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำนี้ด้วย หากเป็นการจ้างรายวัน
เพราะโดยหลักมนุษยธรรมและข้อตกลงระหว่างประเทศ เราเลือกปฏิบัติไม่ได้
ช่วยคนจน -
เมื่อรัฐบาลไปเร่งให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อเสียเองจากนโยบายหลายๆประการของรัฐบาล
ค่าบาทลดอำนาจการซื้อในประเทศ แล้วจะให้สินค้าราคาถูกได้อย่างไร การจะช่วยคนจน ต้องสร้างบนรากฐานที่เข้มแข็ง
ต้องเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน ปรับปรุงการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต้องพัฒนาระบบราชการ
สร้างความโปร่งใส ขจัดคอรัปชั่นซึ่งทำให้เงินรั่วไหลไม่เกิดประโยชน์ กระจายอำนาจการจัดการไปยังท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารประเทศ
จัดการการขนส่ง ดูแลการศึกษา สาธารณสุข ที่พักอาศัย ฯลฯ ทั้งนี้
เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสลดต้นทุนชีวิต เหล่านี้เป็นการช่วยคนจนอย่างทั้งระบบ
ช่วยคนจน - ระยะยาว นโยบายดีที่สุดคือจริงใจกับประชาชน
ทำอะไรให้ได้ก็ทำอย่างมุ่งมั่น และอะไรที่ทำไม่ได้ ก็ต้องบอกตรงๆ
อย่าขายผ้าเอาหน้ารอด รัฐบาลบริหารประเทศมายังไม่ถึงปี
มีสัญญาณไม่ดีหลายประการที่ต้องใส่ใจ และแก้ปัญหาหลักๆของประเทศ
หลักคือความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ทุจริตคอรัปชั่น แสดงให้เห็นว่าทำเพื่อประชาชน
ไม่ใช่พวกพ้อง หรือให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง บริหารกิจการแผ่นดินที่ทำให้คนรู้สึกว่าทำได้ดีมีฝีมือกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา
รัฐบาลก็จะอยู่ไปได้จนครบวาระ ประชาชนไม่ว่าเสื้อสีอะไรคงเบื่อที่จะไปเดินขบวนตามท้องถนน
เบื่อที่จะขัดแย้ง
No comments:
Post a Comment