Keywords: การพัฒนา, เศรษฐกิจ, สังคม, การอุดมศึกษา,
Higher education, ความเป็นนานาชาติ, Internationalization,
English program
ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia, the free
encyclopedia
ความนำ
มหาวิทยาลัยราชภัฏมีทั่วประเทศ 40 แห่ง บางแห่งอาจมีหลายวิทยาเขตและศูนย์บริการ
มหาวิทยาลัยราชภัฏมีลักษณะเฉพาะตัว แต่โดยทั่วไป คนมองว่าเป็นสถานศึกษาไม่จำกัดรับ
(Mass Higher Education) มีค่าเล่าเรียนไม่สูง
มีอัตราผู้สำเร็จการศึกษาสูงกว่ามหาวิทยาลัยไม่จำกัดรับอย่างมหาวิทยาลัยเปิด
ม.รามคำแหง ม.สุโขทัยธรรมาธิราช แต่กระนั้น ผู้เขียนก็มีความเห็นว่าปัจจุบัน
คงถึงเวลาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจะได้เริ่มพัฒนาการศึกษานานาชาติ (International
Education) ได้แล้ว
แม้แต่ละแห่งอาจต้องมียุทธศาสตร์การพัฒนาที่แตกต่างกันออกไป
การศึกษานานาชาติ (International
Education) มีความหมายที่แตกต่างกัน หากเน้นที่ตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ
ส่วนหนึ่งหมายถึงการศึกษาต่อในต่างประเทศ หรือเรียกว่า Study
abroad ในความหมายที่สองที่กว้างและลึกขึ้น คือ
คือการจัดการศึกษาที่หวังให้ตัวผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมกับโลกภายนอกที่มีส่วนเชื่อมโยงต่อกัน (Interconnected
world)
การศึกษานานาชาติเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ วัฒนธรรม
(cultures), ภาษา (languages), สภาวะแวดล้อม (environmental situations), รัฐบาล (governments), ความสัมพันธ์ทางการเมือง (political relations), ความสัมพันธ์ทางศาสนา ( religions), ทางภูมิศาสตร์ (geography), และประวัติศาสตร์โลก (history of the world) ซึ่งโดยรวม การศึกษานานาชาติจัดได้เป็นอย่างน้อย 5ประเด็นดังต่อไปนี้
1.
ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลก และวัฒนธรรม (Knowledge of other world regions & cultures)
2.
การสร้างความคุ้นเคยเกี่ยวกับความเป็นนานาชาติและโลก (Familiarity with international and global issues)
3.
การพัฒนาทักษะในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในโลก
ในสภาพแวดล้อมที่ข้ามวัฒนธรรม
และการใช้ข้อมูลข่าวสารที่มาจากแหล่งต่างๆที่มีอยู่ในโลก (Skills in working effectively in global or
cross-cultural environments, and using information from different sources
around the world)
4.
ความสามารถที่จะสื่อสารได้หลายภาษา (Ability to communicate in multiple languages) และ
5.
การพัฒนาบุคคลให้มีความเคารพและสำนึกถึงคนชาติและวัฒนธรรมอื่นๆ
นอกเหนือจากของตน (Dispositions towards respect and concern for other cultures and peoples)
ในที่นี้ ผู้เขียนขอจำกัดความ “การศึกษานานาชาติ”
หมายถึงการศึกษาในระดับปริญญา และจะเน้นการศึกษาระดับปริญญาตรี (Undergraduate
Education) เป็นเบื้องต้น ที่คิดว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ 40
แห่ง สามารถจัดให้มีขึ้นได้
แม้จะเป็นการสวนกระแสความเข้าใจของบุคคลและหน่วยงานบางฝ่าย
การศึกษานานาชาติ
อาจเป็นหลักสูตรที่เปิดสอนเป็นภาษาไทย (Thai language as the medium of
instruction) แต่มีผู้เรียนจำนวนหนึ่งที่มาจากต่างประเทศ
ประเทศเพื่อนบ้านที่มาร่วมเรียนด้วยได้ อาจใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในการสื่อสาร
ด้วยความที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้เป็นภาษาที่สื่อสารทางวิชาการ การค้า
และอื่นๆมากที่สุดในโลก หรืออาจเป็นภาษาจีน หรือภาษาอื่นๆ
ที่มีความต้องการในตลาดการศึกษาในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป
คนมักจะคิดว่าการศึกษานานาชาติเป็นของแพง มีค่าใช้จ่ายสูง
มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งหลาย ไม่ควรเข้าไปดำเนินการ
เพราะลูกค้าของมหาวิทยาลัยราชภัฏมักจะเป็นกลุ่มคนระดับล่างที่ไม่มีความสามารถในการจ่าย
แต่ผู้เขียนเห็นว่ายังมีความเข้าใจผิดอยู่มาก และควรต้องมีการสื่อสารกัน
และหาทางใช้ประโยชน์จากทิศทางใหม่ของการอุดมศึกษา
โดยจะเสนอแนวคิดและการร้อยเรียงเหตุผลเพื่อได้พิจารณาร่วมกันดังต่อไปนี้
มหาวิทยาลัยราชภัฏคืออะไร? จัดเป็นสถาบันอุดมศึกษาในลักษณะใด มีความแข็งแกร่ง และมีจุดอ่อนอย่างไร?
มหาวิทยาลัยราชภัฏ (Rajabhat Universities)
มีลักษณะดังต่อไปนี้
1. เป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่น (Local institutions) มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น
มีมหาวิทยาลัยอยู่ทั่วประเทศ 41 แห่ง
และบางแห่งมีหลายวิทยาเขต และหรือศูนย์บริการ (University extensions) รับเงินงบประมาณและการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางอย่างจำกัด
เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายรายหัวของผู้เรียน ซึ่งแตกต่างชัดเจนกับ มหาวิทยาลัยระดับชาติ
(National universities) และหรือมหาวิทยาลัยวิจัย (Research
universities) ยกตัวอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหิดล ธรรมศาสตร์
เกษตรศาสตร์ มีกิจกรรมวิจัย และมีการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาในสัดส่วนสูง
มีอัตราค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักศึกษาที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐสูง
2. เป็นมหาวิทยาลัยแบบครอบคลุมหลายสาขาวิชาการ (Comprehensive
universities) มหาวิทยาลัยราชภัฏแตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง
ดังเช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยพยาบาล
วิทยาลัยด้านการทหาร ฯลฯ ซึ่งมีการผลิตบัณฑิตเฉพาะทางมากกว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเคยเป็นสถาบันเฉพาะทางด้านการศึกษา
คือเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู วิทยาลัยครู แล้วปรับเปลี่ยนเป็นสถาบันราชภัฏ
ที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้หลายสาขาวิชา ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนสู่ความเป็น
“มหาวิทยาลัยราชภัฏ” ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแบบครอบคลุมหลายสาขาวิชาการ และตามพระราชบัญญัติ
สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ถึงระดับปริญญาโท และเอก เพียงแต่ยังไม่มีการเปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาการที่ต้องใช้การลงทุนสูง
ดังเช่น สายแพทยศาสตร์ ทันตแพทย์ หรือวิศวกรรมศาสตร์ ปัจจุบันมีการจัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตวิทยาลัย
แต่ยังกระทำได้อย่างมีข้อจำกัดด้านทรัพยากร
เพราะการจัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาต้องมีฐานกิจกรรมการวิจัยสนับสนุน
ซึ่งต้องมีทรัพยากร เครื่องมือวิจัย และอื่นๆ
สนับสนุนมากกว่าสถาบันเน้นการสอนโดยทั่วไป
3. ความเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ (Public/state
universities) มหาวิทยาลัยราชภัฏต่างจากมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยเอกชน
ที่เงินสนับสนุนด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏ
แม้ได้เงินสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจำกัด แต่ก็ยังได้รับทรัพยากรสนับสนุนจากภาครัฐ
มีที่ดิน อาคารสถานที่ และงบประมาณประจำปี อาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งได้รับเงินเดือนจากรัฐบาล
แต่มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยเอกชนต้องอาศัยเงินสนับสนุนจากค่าเล่าเรียนเป็นหลัก
บางแห่งมีมูลนิธิหรือองค์กรไม่แสวงกำไรสนับสนุน แต่ขณะเดียวกัน
มหาวิทยาลัยราชภัฏด้วยความเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐในกรอบราชการแบบเดิม (Governmental
bureaucracy)
จึงมีข้อติดยึดที่อาจเป็นอุปสรรคในการดำเนินการบางอย่าง
ด้วยการที่ต้องถูกตรวจสอบและควบคุมโดยหลายหน่วยงานของรัฐบาลกลาง
ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน ทรัพยากร ระเบียบกฎหมาย
ในขณะที่สถาบันการศึกษาของเอกชนมีความคล่องตัวที่จะดำเนินการต่างๆได้อย่างรวดเร็ว
คล่องตัวกว่า
4. ความเป็นมหาวิทยาลัยสอนคนจำนวนมาก (Mass Higher Education) ในทางปฏิบัติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยรับได้ในจำนวนไม่จำกัด
แม้ไม่ในทุกสายวิชา เพราะสามารถจัดรับอย่างจำกัดจำนวน
และเลือกรับตามคุณสมบัติที่ต้องการได้ แต่โดยรวม คือรับได้อย่างไม่จำกัด
เป็นคล้ายกับวิทยาลัยชุมชน (Community colleges) และหรือ
มหาวิทยาลัยของรัฐ (State universities) ในระบบอุดมศึกษาบางแห่งของสหรัฐอเมริกา
ที่ทางรัฐบาลรัฐอันเป็นผู้ให้การสนับสนุนรายใหญ่
ต้องการให้เปิดรับนักศึกษาในจำนวนมาก อย่างไม่จำกัด และแม้จะมีการเก็บค่าเล่าเรียน
ก็จะจัดเก็บในอัตราพิเศษ อย่างที่เขาเรียกว่า In-state หรือ Residential
status เพื่อให้คนในรัฐของเขาได้มีโอกาสได้รับการศึกษาขั้นอุดมศึกษาได้มากที่สุด
มหาวิทยาลัยราชภัฏโดยรวมทั่วประเทศ
จัดเป็นมหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยเอกชนถือเป็นคู่แข่งที่สร้างความกังวลมากที่สุด
มากกว่ามหาวิทยาลัยเปิดทั้งสองแห่ง เหตุเพราะสามารถจัดการศึกษา
โดยมีอัตราผู้จบการศึกษาในสัดส่วนสูง แต่มีค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายต่ำ
มีสถานศึกษากระจายทั่วประเทศ มหาวิทยาลัยเอกชนจะสามารถแข่งขันได้
ก็ด้วยต้องแสดงความสามารถในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพมากกว่า เพราะมหาวิทยาลัยเอกชน
ต้องจัดเก็บค่าเล่าเรียนในระดับที่สูงกว่า ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาค่าเล่าเรียนกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง
40 วิทยาเขตได้
5. ความเป็นนิติบุคคล (Legal entity) มหาวิทยาลัยราชภัฏมีความเป็นนิติบุคคล มีสภามหาวิทยาลัยของตนเอง
ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีความสามารถดำเนินการได้อย่างอิสระมากกว่ามหาวิทยาลัยและสถาบ้นอุดมศึกษาของรัฐอีกหลายแห่ง
และมีบางแห่งที่ได้แสดงให้เห็นว่า ได้ใช้ประโยชน์ในความมีอิสระ (Autonomy) ดำเนินการพัฒนามหาวิทยาลัยของตนให้เติบโตก้าวหน้าได้อย่างเห็นได้ชัด
ดังเช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มีมหาวิทยาลัยราชภัฏอย่างน้อย
2 ใน 3 ที่พัฒนาอย่างมีความแข็งแกร่งกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด
และในขณะเดียวกัน มีบางส่วนที่เป็นส่วนน้อย ที่ประสบปัญหาด้วยสภาพแวดล้อมต่างๆ
ดังเช่นสถานที่ตั้งที่เสียเปรียบ ไม่สามารถดึงดูดคณาจารย์ผู้สอน ผู้เรียน เสียเปรียบในการแข่งขันกับสถาบันอื่นๆ
และรวมถึงกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏด้วยกันเอง
ด้วยลักษณะความเป็นมหาวิทยาลัยดังได้กล่าวมาแล้ว
การจะปรับเปลี่ยนอย่างไร จำเป็นต้องเข้าใจสภาพพื้นฐานของมหาวิทยาลัยไว้เป็นพื้นฐาน
มหาวิทยาลัยราชภัฏ ควรมีนโยบายส่งเสริมการศึกษานานาชาติหรือไม่ และอย่างไร?
มหาวิทยาลัยราชภัฏ
ควรมีนโยบายส่งเสริมการศึกษานานาชาติ ด้วยสภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ
สังคมและวัฒนธรรม เทคโนโลยี สภาวะแวดล้อม และทางกฏหมายในปัจจุบัน
ได้เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนได้มากแล้ว
แต่ทั้งนี้จะขอเสนอแนวทางการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม
เพื่อเป็นข้อมูลทำความเข้าใจร่วมกันก่อน
นอกจากการวิเคราะห์ทางด้านความแข็งแกร่ง (Strength)
และจุดอ่อน (Weakness) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏแล้ว
ก็ต้องศึกษาถึงสภาพแวดล้อมภายนอกที่อาจมีผลกระทบต่อแต่ละมหาวิทยาลัยด้วย
ซึ่งจะใช้หลักการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกโดยใช้หลัก PESTEL ซึ่งพึงพิจารณาทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตดังนี้
ทางการเมือง (P - Politics)
การเมืองทั้งในระดับประเทศ
และระดับท้องถิ่นมีผลกระทบต่อการศึกษาในทุกระดับ แต่มีลักษณะที่แตกต่างกัน
การเมืองในส่วนกลางของประเทศไทย ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์
เวียดนาม กัมพูชา หรือแม้แต่ประเทศอินโดนีเซีย ที่ลักษณะของทั้งประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันอื่นๆ
ยกเว้นพม่ากับไทย เขามีความนิ่งทางการเมือง (Political stability) มากกว่า แม้เขามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นระยะๆ
แต่ก็อยู่ภายใต้กลุ่มอำนาจเดิม หรือดังในประเทศอินโดนีเซีย
เมื่อเขาปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นประชาธิปไตยในช่วงหลังประธานาธิบดีซูฮาร์โต (Suharto)
แล้ว มาในปัจจุบัน เขาก็เริ่มมีความนิ่งทางการเมืองทั้งในส่วนกลาง
และส่วนท้องถิ่น แต่ประเทศไทยในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
มีความขัดแย้งทางการเมือง และนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร
การเปลี่ยนรัฐบาลด้วยความไม่มีเสถียรภาพ ดังมีการเปลี่ยนตัวและทีมงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาถึง
12 ชุดในช่วงเวลา 10 ปี จึงทำให้นโยบายภาครัฐในเกือบทุกเรื่องและรวมถึงนโยบายการศึกษาไม่มีความแน่นอน
ข้าราชการในระดับสูงก็ยิ่งต้องระวังตัว
เพราะไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นฝ่ายการเมืองดูแลการศึกษาในระยะต่อไป จึงไม่ทำอะไรที่จะเป็นผลเสียต่ออนาคตตนเอง
ดังภาษาที่เขาเรียกว่า “ใส่เกียร์ว่าง”
ในระดับท้องถิ่น
เมื่อการเมืองก้าวสู่ประชาธิปไตย มีการเมือง การเลือกตั้ง
และการก้าวสู่ประชาธิปไตยอย่างหลงทางในบางประเด็น ดังเช่น
การมีนักการเมืองในแบบพรรคและพวกเข้าครอบงำระบบการศึกษา
การสรรหาและเลือกผู้บริหารการศึกษาในระดับสูงดังระดับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา
ผู้อำนวยการโรงเรียน ฯลฯ
แต่อย่างไรก็ตาม ในสถาบันระดับอุดมศึกษาซึ่งรวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้น
การเมืองจากระบบพรรคค่อนข้างมีบทบาทน้อย เพราะมีสภามหาวิทยาลัยที่เป็นของแต่ละมหาวิทยาลัยกำกับดูแลสถาบัน
แต่ปัญหามักจะเป็น “การเมืองภายใน” การเลือกตั้งผู้บริหารสถานศึกษา
ที่ทำให้มีการขัดแย้งภายในสูง และลุกลามจนทำให้สถาบันฯขาดเสถียรภาพและประสิทธิผลทางการจัดการ
ดังเช่น พบว่ามีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมากกว่า 20 แห่งที่ยังไม่สามารถมีผู้บริหารระดับอธิการบดีได้
ทำให้มีแต่ผู้บริหารรักษาการ (Acting presidents) เพราะมีเรื่องฟ้องร้อง
สอบสวน ความไม่มีเสถียรภาพภายในเหล่านี้
น่าจะต้องพิจารณาในด้านระบบว่ายังอาจมีความไม่ลงตัวด้านรูปแบบการได้มาซึ่งผู้บริหารที่ไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความเป็นจริง
ประเด็นคือ แต่ละสถาบันอุดมศึกษา
หรือกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ต้องมีการสร้างโครงสร้างการปกครอง ความเป็นเจ้าของ (Governance)
และกระบวนการตัดสินใจทางการบริหาร การกำหนดทิศทางของสถาบันฯ
การต้องมองไปที่โอกาสของสถาบันฯ และอนาคตยาวไกล ที่ต้องเน้นประสิทธิภาพ ประสิทธิผล
และความต่อเนื่องทางการพัฒนาที่ดีกว่าปัจจุบัน
ทางเศรษฐกิจ (E - Economics)
มีคำกล่าวโดยจักรพรรดินโปเลียน (Napoleon)
ของฝรั่งเศสว่า “กองทัพเดินด้วยท้อง”
แปลเป็นสภาพปัจจุบันที่กินความหมายกว้าง คือจะทำอะไร ต้องคำนึงถึงเรื่องปากท้อง ต้องพิจารณาเรื่องของเศรษฐกิจร่วมไปด้วย
การพัฒนาทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมจะไม่ประสบความสำเร็จหากปล่อยให้มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ
มีคนตกงาน รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ไม่มีเงินเก็บ แต่มีหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้น
ดังนี้การพัฒนาก็จะไม่เป็นผล
ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศทางตะวันออกที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วโดยเปรียบเทียบ
ประเทศไทยอยู่ใกล้ประเทศจีนและอินเดีย (Chindia)
ที่เป็นสองประเทศใหญ่ที่จะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
ขึ้นแข่งกับประเทศทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และประเทศขนาดใหญ่อื่นๆ ที่มีทรัพยากร
และสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องดัง ประเทศรัสเซีย และบราซิล (ดูคำว่า BRIC = Brazil, Russia, India, และ China)
ประเทศจีนเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วยุคเต็ง เสี่ยวผิง
ที่พัฒนาประเทศสู่ความเป็นตลาดเสรีในหลักที่ว่า “แมวดำแมวขาวไม่สำคัญ
ขอให้จับหนูได้” หรือจะเข้มด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์หรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับ
แล้วทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นหรือไม่ ประชาชนได้เงยหน้าอ้าปากกมาขึ้นหรือไม่
ในประเทศอินเดียเหมือนกันที่ปรับไปสู่ตลาดเสรี ควบคู่กับการรักษาการเมืองการปกครองในแบบประชาธิปไตย
มีการเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน เศรษฐกิจของอินเดียแม้ไม่เปิดเท่ากับในจีน
แต่ก็มากพอที่จะทำให้มีการปรับตัวและเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วง 20
ปีที่ผ่านมา
ประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม ASEAN ซึ่งมีประชากรรวมกว่า 601 ล้านคน
โดยรวมมีอัตราการเติบโตที่ระดับสูง แม้ไม่เท่ากับประเทศจีน กลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN)
มีรายได้มวลรวมที่ US$ 1.800 trillion หรือเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของประเทศจีน (จีน $7.298 trillion)
ASEAN มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว (Per Capita Income) ที่ US$ 2,995 หรือ 55%
ของคนจีน จุดอ่อนของ ASEAN คือยังมีความหลากหลายและแตกต่าง มีระดับการพัฒนาที่ไม่เท่ากัน
มีประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจไปอย่างมากแล้ว เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน แต่บางประเทศไม่ได้เปิดประเทศมาเป็นเวลานาน
ดังเช่นพม่า บางประเทศดังเช่น ไทย และฟิลิปปินส์ ยังมีความไม่มั่นคงทางการเมือง
บางประเทศเพิ่งเริ่มตั้งตัวติด เริ่มมีความมั่นคงทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
ดังในกรณีของประเทศอินโดนีเซีย แต่มองในแง่ดี ASEAN เริ่มจะมีการตั้งตัวติด
และอาศัยความเป็นประชาคมร่วมที่มีคนถึง 600 ล้านคน
อาศัยการพัฒนาประเทศอย่างร่วมมือกัน ในช่วง พ.ศ. 2558 หรืออีก
3 ปีข้างหน้า ASEAN จะต้องก้าวสู่ความร่วมมือที่สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
เพื่อทำให้ประชาคมประเทศมีเศรษฐกิจที่เป็นปึกแผ่นร่วมกัน ขจัดกำแพงภาษีและการปกป้องการค้า
ส่งเสริมการร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันเอง
เปิดโอกาสให้มีการใช้ทรัพยากรมนุษย์ร่วมกันได้ และส่งเสริมการสื่อสารที่ใช้ภาษากลางร่วมกัน
ดังเช่นภาษาอังกฤษที่ทำให้สื่อสารกันได้
ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตในช่วงหลังที่ชะลอลง
แม้ในช่วงแรกๆ ไทยจัดได้ว่ามีการเติบโตที่รวดเร็ว
จนกระทั่งประเทศอื่นๆที่เคยขัดแย้งทางการเมืองมาก่อนได้กลับมาสู่ยุคบูรณะประเทศแล้ว
ประเทศไทยพึงใช้ช่วงการพัฒนาประเทศต่างๆในภูมิภาค ทั้งจีน อินเดีย และ ASEAN
เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศร่วมไปกับภูมิภาค แต่โดยรวม
ประเทศไทยก็มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ทำให้การจัดการศึกษานานาชาติสามารถได้รับประโยชน์ร่วมได้มาก
ทางสังคมและวัฒนธรรม (S - Socio-cultural)
ประเทศไทยในอดีต เคยได้ชื่อว่าเป็นสังคมการเกษตร (Agrarian
society) มีประชากรไม่มาก อาศัยอยู่ในสภาพธรรมชาติ
ร่วมไปกับธรรมชาติ เรามีค่านิยมอยู่กับปัจจุบัน (Present-time Oriented) ยกตัวอย่างถามคนไทยรุ่นเก่า คำว่า ตะกี้ หรือสักครู่หนึ่ง
หรือเมื่อไม่นานมานี้นั้น มีความหมายต่างกันมากในแต่ละชุมชน แต่ในอีกด้านหนึ่ง
ในสังคมเมืองดังเช่นย่านธุรกิจในกรุงเทพฯ คนไทยจำนวนมากทีเดียวที่มีค่านิยมเปลี่ยนไปสู่ความเป็นสากล
ไม่ต่างไปจากคนเมืองใหญ่ที่สำคัญอื่นๆในโลก ที่เขาเรียกว่า Cosmopolitan เป็นค่านิยมแบบคนเมืองกรุง เวลาของทุกคนมีค่า การนัดหมาย การประชุม
ต้องมีการจัดการกับเวลา และเมื่อสังคมก้าวสู่ความเป็นสังคมอุตสาหกรรม
มีการท่องเที่ยวที่ต้องเรียกว่าเป็นอุตสาหกรรม คนมีรายได้ที่ต้องสูงขึ้น คนไทยต้องคุ้นเคยกับการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ
(Time Oriented) ต้องคิดถึงอนาคตมากขึ้น (Future-Time
Oriented)
สภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนไป สังคมไทยก้าวสู่ความเป็นสังคมแห่งความเท่าเทียม(Egalitarianism) ต้องตระหนักในการลดช่องว่างทางชนชั้นที่มีอยู่ การต้องให้โอกาสแก่คนในระดับล่างมากกว่าเดิม
สภาพประชากรที่เปลี่ยนไป มีคนเกิดลดลง
แต่อายุยืนยาวขึ้น ประชาชนลดลงด้วยผลจากวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิด พ่อแม่รุ่นใหม่จะอยากมีบุตรครอบครัวละไม่เกิน
2 คน และในขณะเดียวกัน ประชาชนมีอายุยืนขึ้น
ด้วยการเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย
และมีบริการด้านการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น และดูแลตนเองได้ดีขึ้น
ประเทศไทยมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ (Underweight) เหลือ 7%
(2006) จากที่เคยมีสูงถึง 25% ในเขตชนบทเมื่อ 30-35
ปีที่ผ่านมา (1982) เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ยังมีปัญหาเด็กขาดอาหาร
น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์สูงดังเช่น อินเดีย 43.5%, เยเมน 43.1%,
และบังคลาเทศ 41.3% และปัญหาการขาดสารอาหารบางส่วนในประเทศไทย
ไม่ใช่เพราะยากจน แต่เพราะไม่ได้กินอาหารอย่างถูกสัดส่วน เพราะความไม่เข้าใจ
สภาพแวดล้อมทางด้านวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป จากการที่มีเด็กเกิดน้อยตามผลการวางแผนครอบครัว
การมีโภชนาการโดยรวมที่ดีขึ้น มีการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ครอบคลุมทั่วถึง จากสังคมที่เน้นผู้ใหญ่
(Adult-oriented society) สู่ความเป็นสังคมเน้นเด็ก (Child-oriented
society) เด็กๆเป็นศูนย์กลางของครอบครัว ครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง
ให้ความสำคัญในการเลี้ยงดูเด็ก ตลอดจนการเตรียมการเพื่อการศึกษาของเด็กได้มากขึ้น
สังเกตได้จากกิจกรรมการเรียนกวดวิชา การรับบริการสอนเสริมในวิชาการด้านต่างๆ
การศึกษาหลักสูตรพิเศษ การศึกษานานาชาติ ตลอดจนการส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อต่างประเทศ
ที่พ่อแม่คนชั้นกลางรุ่นใหม่ยอมจ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลานของเขา
สรุป เมื่อสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป มีเด็กเกิดน้อยลง
พ่อแม่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
ก็มีโอกาสในการใช้เงินและทรัพยากรส่งเสริมการศึกษาของบุตรหลานตัวเองได้มากขึ้น
ทางเทคโนโลยี (T - Technologies)
สังคมโลกยุคใหม่มีการแข่งขันสูง
ต้องมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสูง ประเทศไทยเองก็ต้องมีการแข่งขันกับโลกยุคใหม่
และกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเติบโตและพัฒนาไปอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน
การเรียนการสอนยุคใหม่
มีเครื่องมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
และนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาได้ เพิ่มประสิทธิภาพด้านการเรียนการสอน
ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย การให้ข้อมูลสะท้อนกลับแก่ผู้เรียนได้อย่างรวดเร็ว
เครือข่าย (Network) ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารใหม่
ทำให้เกิดเครือข่ายการสื่อสารใหม่ที่มีความเร็วที่สูงขึ้น
มีบริการสื่อที่มีคุณภาพมากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายเปรียบเทียบที่ลดลง
โดยรวมต้องกล่าวว่าประเทศไทยยังไม่ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสื่อสารยุคใหม่อย่างจริงจังเพียงพอ
ยังไม่ได้ปล่อยให้กลไกตลาดนำการพัฒนามาสู่ประเทศรวดเร็วและทันกาล
ดูได้จากการเปิดให้มีบริการเครือข่ายโทรศัพท์และการสื่อสาร 3G ซึ่งเมื่อเปรียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ไทยยังช้ามาก
ยังติดกับในระบบราชการ
เทคโนโลยีสารสนเทศในโลกยุคใหม่เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาเนื้อหาสาระ
(Content) เข้าสู่ระบบเครือข่ายได้มากขึ้น ข้อสำคัญคือแนวคิด
Sharing คือการแบ่งปันกันผลิต
และร่วมกันได้ประโยชน์จากการใช้สอย เนื้อหาสาระทั้งในส่วนที่เป็นตัวอักษร (Text),
ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว แผนที่ รวมถึงระบบ GPS เหล่านี้ทำให้มีเนื้อหาสาระนอกเหนือจากสิ่งพิมพ์ที่มีจำหน่ายกันอยู่โดยทั่วไป
มีซอฟต์แวร์และระบบใช้สอย (Software,
applications) ที่ให้ความสะดวกง่ายสำหรับผู้ใช้งาน
ทำให้มีผู้สามารถใช้สื่อได้ในจำนวนมากขึ้น Wikipedia คือตัวอย่างหนึ่งของแนวคิดการพัฒนาเนื้อหาสาระแบบร่วมกันพัฒนา
(Editing) แล้วร่วมกันใช้ประโยชน์
Wikipedia คือสารานุกรมเสรี ที่เติบโตในช่วงที่อินเตอร์เน็ตได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
Wikipedia เป็นเรื่องเกี่ยวกับเนื้อหาสาระ (Content) มีบทความทั้งสิ้นในปัจจุบันมี 21 ล้านบทความ
มีที่นำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ 3,937,954 บทความ
หรือเป็นประมาณ 54 เท่าของจำนวนบทความที่มีเป็นภาษาไทย วิกิพีเดียภาษาไทยมี
73,163 บทความ
หรือกล่าวได้ว่าไทยมีบทความที่เป็นภาษาไทยอยู่เพียงร้อยละ .003 ของโลกที่มีปรากฏใน Wikipedia และนอกจากนี้
บทความภาษาไทยที่ปรากฏในสารานุกรมออนไลน์นี้ ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเสียเป็นอันมาก
ยังต้องมีการพัฒนาต่อให้สมบูรณ์ในแต่ละบทความ
สถิติการใช้อินเตอร์เน็ตในโลก เดือนธันวาคม ค.ศ. 2011
WORLD INTERNET USAGE AND POPULATION STATISTICS
December 31, 2011
WORLD INTERNET USAGE AND POPULATION STATISTICS
December 31, 2011
เขตของโลก
World Regions |
ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตล่าสุด
Internet Users Latest Data |
สัดส่วนผู่ใช้อินเตอร์เน็ตต่อประชากรวมPenetration
(% Population) |
139,875,242
|
13.5 %
|
|
1,016,799,076
|
26.2 %
|
|
500,723,686
|
61.3 %
|
|
77,020,995
|
35.6 %
|
|
273,067,546
|
78.6 %
|
|
235,819,740
|
39.5 %
|
|
23,927,457
|
67.5 %
|
|
2,267,233,742
|
32.7 %
|
ในหลายๆสิ่งที่เป็นโอกาสประกอบกัน ทำให้ปัจจุบัน
โลกของการสื่อสารได้เปลี่ยนโฉมหน้าวิถีชีวิตของประชาคมโลก และของประเทศไทยไปอย่างมาก
ในปัจจุบัน มีประชากรโลกอยู่ 6,930 ล้านคน มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 2,267 ล้านคน
หรือคิดเป็นร้อยละ 32.7 ของประชากร
นับเป็นการเติบโตจากเมื่อปี ค.ศ. 2000 ถึง 528 เปอร์เซ็นต์
รูปแบบการสื่อสาร (Media) สื่อแบบ
Realtime, สื่อแบบ On demand มีความสะดวกในการใช้
มีบริการนำเสนอที่น่าสนใจ ทำให้มีคนเข้าไปใช้สื่อต่างๆอย่างกว้างขวาง
ดังตัวอย่าง Social media เป็นปรากฏการณ์ใหม่
ในโลกยุคอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ทำให้การมีปฏิสัมพันธ์กันในระหว่างประชาคมกลุ่มต่างๆเป็นไปได้อย่างกว้างขวาง
รวมทั้งประชาคมผู้เรียนและผู้สอน
ดูกรณี Facebook ที่การสื่อสารเป็นไปแบบสองทาง
ทำให้คนที่เข้ามาร่วมกลุ่ม เป็นเพื่อนกัน
สามารถสื่อสารไปพร้อมกันได้อย่างกว้างขวาง
ประเทศไทยมีประชากร 66,720,153 คน มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 18,310,000 คน คิดเป็น 27.4
% ของประชากร และในจำนวนนี้มีผู้ที่ใช้สื่อสังคม Facebook ถึง 14,235,700 คน หรือกล่าวได้ว่า
ใครที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นก็มักจะไม่พลาดที่จะใช้สื่อสังคมอย่าง Facebook
ผู้ลงทะเบียนใช้งาน Facebook ล่าสุด
FACEBOOK SUBSCRIBER ล่าสุด
FACEBOOK SUBSCRIBER ล่าสุด
Geographic Regions
in order by size |
FB Users
31-Mar-2012 |
232,835,740
|
|
195,034,380
|
|
173,284,940
|
|
112,531,100
|
|
41,332,940
|
|
40,205,580
|
|
20,247,900
|
|
13,597,380
|
|
6,355,320
|
|
835,525,280
|
การจะก้าวสู่ความเป็นประชาคมโลก
โดยไม่ใช้ภาษาอื่นๆในโลกนี้ จะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
สรุป การจะพัฒนาการเรียนการสอนและหลักสูตรสู่ความเป็นนานาชาตินั้น
จะสามารถกระทำได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพอย่างที่ในอดีตยังคิดไม่ออก
แต่ในปัจจุบัน มันกลายเป็นโอกาสที่กระทำได้ โดยไม่มีความเสียเปรียบทางด้านระยะทาง
ทรัพยากร ครูผู้สอน และอื่นๆดังที่เกิดขึ้นในอดีตอีกต่อไป
ทั้งนี้หากมีการคิดใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารยุคใหม่เข้าสนับสนุน (ICT
for Education)
และโดยที่เราต้องใช้สื่อกลางที่เป็นภาษาที่สื่อสารกับชาวโลกได้
ดังเช่นภาษาหลักอย่างภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีน
ทางสภาพแวดล้อม (E - Environment, Ecology)
ประเทศไทยอยู่ในช่วงเติบโตและมีการพัฒนาที่ทำให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การศึกษาในทุกระดับในอนาคตต้องคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน
การพัฒนาที่ต้องรู้จักดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
ในช่วงน้ำท่วมปลายปี ค.ศ. 2011 ทำให้มีผลเสียหายทางเศรษฐกิจถึงประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท
สร้างความชะงักงันทางเศรษฐกิจต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 1 ปี เมื่อพิจารณาเรื่องการจัดการน้ำ
จึงไม่ใช่เพียงมองโอกาสที่จะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากน้ำ
แต่ต้องมองถึงการคุกคามจากน้ำ (Threat) หากไม่มีการจัดการน้ำที่ดี
ปล่อยให้มีการรุกล้ำการใช้ประโยชน์ที่ดินขวางทางน้ำ การใช้ที่ดินในที่ลุ่มเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่น
แทนที่จะอนุรักษ์ไว้เป็นพื้นที่การเกษตรและทางน้ำผ่านดังที่มันเคยเป็นในธรรมชาติ
ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นระบบโดยรัฐบาลกลางมาตลอด
เริ่มตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในช่วงหลายสิบปีหลัง
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและส้งคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (Seventh Economic and Social
development plan - 1992-1996) หลังจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีแผนงานมา
35 ปี
ประเทศไทยได้หันมาให้ความสนใจการพัฒนาและดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในความสำคัญระดับสูง
แผนพัฒนาฯฉบับที่ 7 นี้
ยังคงให้ความสำคัญการเติบโตทางเศรษฐกิจ
แต่ด้วยการดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable growth and
stability) การใส่ใจในเรื่องปิโตรเคมี, วิศวกรรม, อิเลคโทรนิกส์
และอุตสาหกรรมพื้นฐานอื่นๆ
ในช่วงการพัฒนาหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ไทยได้เติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง แต่ก็ด้วยต้องมีค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม
ทำให้มีปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ ทางน้ำ การลดลงของประชากรสัตว์ป่า การแผ้วถางป่า (Deforestation) การเสื่อมโทรมของดิน (Soil erosion) การขาดแคลนแหล่งน้ำ
(Water scarcity) ปัญหาขยะเป็นพิษ(Hazardous waste)
ตามดรรชนีตัวบ่งชี้ (Indicator) ที่ศึกษาในปี ค.ศ. 2004 ค่าใช้จ่ายด้านมลพิษทางอากาศ
ทางน้ำของประเทศ ทำให้มีผลเทียบเท่ากับเศรษฐกิจติดลบที่ 1.6-2.6% ที่ต้องหักออกจากรายได้มวลรวมของประชาชาติที่เติบโตขึ้น
ตัวอย่างในปลายปี ค.ศ. 2011 มีน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย
ซึ่งเป็นผลสะสมจากการไม่จัดการด้านน้ำอย่างเป็นระบบ
ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางทั้งตอนบนและล่าง
แต่ที่หนักคือช่วงปลายแม่น้ำเจ้าพระยา กทม. จังหวัดปริมณฑล อยุธยา ปทุมธานี
นนทบุรี นครปฐม ซึ่งกระทบต่อพื้นที่อุตสาหกรรม การเกษตร การคมนาคม การขนส่ง ฯลฯ
มีมูลค่าเสียหายเท่ากับ 1.4 ล้านล้านบาท
และเป็นผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศในการจัดการน้ำ (Water
Management)
สรุป
การศึกษานานาชาติ
ควรต้องมองปัญหาและโอกาสที่จะใช้ความร่วมมือข้ามประเทศเพื่อพัฒนาตอบสนองต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหามลพิษทางน้ำ ทางอากาศ การพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่
การวางผังเมือง การจัดการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างเหมาะสม มหาวิทยาลัยราชภัฏ
ซึ่งมีถึง 40 แห่ง ควรมีส่วนร่วมในการใช้ความร่วมมือข้ามชาติ
เพื่อทำให้การแก้ปัญหาของชาติหลายอย่างกระจายสู่ชุมชนและพื้นที่
ไม่ไปกระจุกตัวในเมืองหลวง หรือส่วนกลาง
ทางกฎหมาย (L - Legal, Legislative)
มีปัญหาที่เกิดขึ้นหลายประการที่เกี่ยวกับกฎหมาย มีสถาบ้นอุดมศึกษาหลายแห่งที่เป็นของรัฐบาล
ได้เปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (State autonomous
universities) ด้วยเหตุของความที่โครงสร้างองค์การแบบราชการไม่สามารถตอบสนองต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยในยุคใหม่
ที่ต้องเน้นประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการจัดการ
และต้องสามารถแข่งขันด้านการพัฒนากำลังคน การวิจัย
และบริหารวิชาการที่แข่งขันกับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำอื่นๆของโลก
สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาล หรือที่เรียกว่า
"มหาวิทยาลัยนอกระบบ" คือ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ที่มีการบริหารการจัดการอิสระแยกจากระบบราชการ
(Autonomous university) แต่ยังได้รับเงินอุดหนุนทั่วไป (Block
grant) ที่รัฐจัดสรรให้เป็นรายปีโดยตรง
เพื่อใช้จ่ายตามความจำเป็นในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย
และเพื่อประกันคุณภาพการศึกษา
ในประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษา ในกำกับ 14 แห่ง ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบราชการหรือไม่อยู่ในสายการบังคับบัญชาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
โดยในจำนวนนี้มี 4
แห่งที่เป็นสถาบันในกำกับของรัฐบาลตั้งแต่ก่อตั้ง
ส่วนที่เหลือนั้นเป็นสถาบันในกำกับของรัฐบาลโดยการแปรสภาพด้วยผลของกฎหมาย
สถาบันอุดมศึกษาในกำกับรัฐบาล
(Autonomous universities) ปัจจุบันประกอบด้วย (1) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, (2) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย,
(3) มหาวิทยาลัยทักษิณ, (4) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
(5) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
(ออกนอกระบบตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย), (6) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง,
(7) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, (8) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, (9) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
(ออกนอกระบบตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย)
เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งแรก, (10) มหาวิทยาลัยมหิดล,
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, (11) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
(ออกนอกระบบตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย), (12) มหาวิทยาลัยบูรพา,
(13) มหาวิทยาลัยพะเยา
(ออกนอกระบบตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย), และ (14)
มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร (ออกนอกระบบตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย)
มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกวิทยาเขต
ยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ ยกเว้นมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏอื่นๆ
แม้จะยังอยู่ในกรอบมหาวิทยาลัยแบบราชการ
ไม่มีข้อได้เปรียบดังมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล 14-15 แห่งที่ออกจากระบบราชการแล้ว
ดังเช่น
1. ไม่มีความคล่องตัวในการบริหารมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏยังต้องผ่านการตรวจสอบจากหลายหน่วยงานของส่วนกลาง
เช่น ด้านการเงิน การจัดซื้อจัดจ้าง ศาลปกครอง ปปง. ปปช.
ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ เหล่านี้มีผลทำให้มีมหาวิทยาลัยในระบบราชการรวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏ
ถึง 20 แห่งที่ยังไม่มีผู้บริหารตัวจริง ยังต้องเป็น
“ผู้บริหารรักษาการ” (Acting presidents) ไม่กล้าตัดสินใจในกิจการสำคัญ
เกรงจะถูกสอบสวนย้อนหลัง ดังนี้เป็นต้น
2. มหาวิทยาลัยสามารถเปิดหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้ แต่ก็มีข้อจำกัดด้านการเปิดในหลักสูตรบางหลักสูตร
ดังยกตัวอย่างในหลักสูตรที่ต้องเริ่มใหม่ แต่ช่วงการเริ่มต้นนั้น
อาจต้องได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย ซึ่งก็จะทำได้ยากในทางปฏิบัติ ยกเว้นกิจกรรมนั้นสามารถพึ่งตนเองได้ทั้งหมด
3. ยังไม่สามารถจัดสวัสดิการของบุคลากรในมหาวิทยาลัยเทียบเท่าเอกชน
เพราะอัตราเงินเดือนต้องเป็นไปตามระเบียบข้าราชการพลเรือน แต่สิ่งที่ทำได้คือ
การให้รายได้อื่นๆชดเชย (Top-up) ดังเช่น
การมีรายได้จากการสอนในหลักสูตรพิเศษ การฝึกอบรม การวิจัย ฯลฯ
4. การได้มาซึ่งผู้บริหาร ยังมีข้อจำกัดในแบบมหาวิทยาลัยของรัฐบาล
แต่ที่มากกว่านั้น คือความเป็นการเมืองภายในมหาวิทยาลัยยุคใหม่
ที่เป็นปัญหาในการบริหารงานแบบราชการบวกกับการเมือง (Political +
Bureaucratic) ทำให้เกิดความขัดแย้งภายใน
แต่ไม่สามารถจัดกระบวนองค์การ เพื่อไปแข่งขันกับภายนอกได้
สรุป มหาวิทยาลัยราชภัฏหากจะต้องมีการบริหารเพื่อให้เกิดศักยภาพใหม่
ดังเช่นการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรนานาชาติ ก็ต้องคิดถึงโครงสร้างของมหาวิทยาลัย
ระบบการปกครองสถาบัน (Governance) การบริหารงานหลายอย่างที่ต้องอาศัยความร่วมมือมากกว่าการอาศัยงบประมาณจากส่วนกลาง
ทั้งนี้โดยต้องเข้าใจข้อจำกัด และวิธีการดำเนินการภายใต้ข้อจำกัดเหล่านั้น
หรือไม่ก็ต้องหาทางปรับโครงสร้าง (Re-structuring) องค์การมหาวิทยาลัย
ให้สามารถเอื้อต่อการพัฒนาด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ใหม่ได้
การศึกษานานาชาติเป็นสินค้าและบริการที่มีราคาค่าใช้จ่ายสูง ไม่เหมาะแก่คนต่างจังหวัด ใช่หรือไม่ และอย่างไร?
การศึกษานานาชาติเป็นเรื่องของคนมีฐานะ จริงหรือ?
เป็นเรื่องจริงที่การส่งคนไปศึกษาต่อต่างประเทศเป็นเรื่องที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง
การไปศึกษาต่อต่างประเทศ
การส่งนักศึกษาไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา หรือประเทศอังกฤษ ต้องมีค่าใช้จ่ายถึงคนละ
1 – 2.5 ล้านบาท/ปี หากต้องศึกษาในหลักสูตรนั้นๆ 4 ปี ก็เป็นเงินสูงสุดได้ถึง 10 ล้านบาท
แต่การจัดการศึกษานานาชาติอย่างคิดถึงประสิทธิผลและประสิทธิภาพเป็นหลักแล้ว
เราสามารถจัดการศึกษาที่มีค่าใช้จ่ายได้ประหยัดกว่าที่ได้แสดงให้ดูได้มาก
การศึกษานานาชาติเป็นสิ่งที่กระทำได้
โดยมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่อยู่ในวิสัยที่รับได้
และมีประโยชน์คุ้มค่าในการจัดให้มีขึ้น
หลักสูตรการศึกษานานาชาติที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูง
พ่อแม่ผู้ปกครองรับได้
ผู้เขียนมองกว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏในต่างจังหวัด
ที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะที่จะดำเนินการ สามารถจัดการศึกษานานาชาติได้อย่างมีประสิทธิผล
ทั้งนี้โดยเริ่มต้นในสาขาวิชาที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน มีกลุ่มผู้เรียนเริ่มต้นพอเหมาะ
(Optimum) ระดับ 25-50 คนต่อชั้นเรียน
หลักสูตร 4 ปี มีผู้เรียนที่ 250 คน
สามารถบริหารหลักสูตรได้ โดยเก็บค่าใช้จ่ายที่ภาคการศึกษาละ 50,000-60,000 บาท หรือปีละ 100,000-120,000 บาท หรือ 4 ปี ประมาณ 480,000 บาท
หลักสูตรการศึกษานานาชาติเป็นเรื่องที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงนั้น
ไม่เป็นเรื่องจริงเสมอไป หากมหาวิทยาลัยจัดการศึกษาโดยมีวัตถุประสงค์
เพื่อให้มีค่าใช้จ่ายไม่สูงจนเกินไป และพ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ให้การสนับสนุนรับได้
นักศึกษา พ่อแม่ ผู้ปกครอง
หรือผู้ให้การสนับสนุนสามารถจ่ายได้หรือยอมรับได้ในระดับใด? คำตอบ
ลองพิจารณาจากต่อไปนี้
·
ใน English Program ต่ำสุดที่ได้มีการสำรวจมา (ประภาพร บุญปลอด, 2012) คือ
30,000 บาทต่อภาคการศึกษา หรือปีละ 60,000 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ได้มีการสำรวจกัน
และได้มีการทำกันจริงแล้วในหลายๆแห่ง
ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เทียบเท่ากับค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนทั่วไป
ซึ่งก็สูงกว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วไปเพียงประมาณปีละ 30,000 บาท
·
หลักสูตรที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดในกลุ่มของมหาวิทยาลัยราชภัฏ
คือ 75,000 บาท ในหลักสูตรธุรกิจการบิน หรือปีละ 150,000
บาท แต่หากหลักสูตรเหล่านี้ทำให้ผู้เรียนได้มีงานทำ
และเป็นงานที่มีรายได้ที่ดี ก็ต้องถือว่าไม่แพง ปัญหาใหญ่ทางการศึกษาปัจจุบัน
คือเรียนจบมหาวิทยาลัยมาแล้ว แต่ไม่ได้มีงานทำตามความรู้ความสามารถที่เรียน
ต้องไปทำงานที่ไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถอะไร เพื่อเป็นการยังชีพ
·
โปรแกรมการเรียนนานาชาติ ระดับกลางๆ
ของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ก็คือ 105,000-140,000 บาท/ปี
ทั้งนี้เป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐาน คือค่าเล่าเรียน แต่เมื่อต้องไปศึกษาต่อ
หรือไปฝึกอบรมในต่างประเทศ ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
·
ในหลักสูตรอื่นๆ
ดังเช่นในมหาวิทยาลัยเอกชน หรือหลักสูตรนานาชาติพิเศษ ในมหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่ง
ที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่านี้ คือ 300,000 บาทต่อ 1
ภาคการศึกษา หรือปีละ 600,000 บาท
ดังเช่นในหลักสูตด้านวิศวกรรมปิโตรเคมี สายวิทยาศาสตร์
คำตอบคือ
การจัดการศึกษานานาชาติสำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้น สามารถกระทำได้
และสามารถทำได้อย่างมีคุณภาพ หากเป็นการจัดอย่างเป็นระบบ มีการลงทุนเบื้องต้น (Initial
investment) ดังเช่น อาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ในการเรียน หอพัก ฯลฯ
หากเป็นการลงทุนในภาคเอกชน อะไรที่สามารถทำให้คุ้มแก่การลงทุนได้นั้น
เขามองเอาไว้ที่ 8-10 ปี
ที่สามารถมีรายได้มาจ่ายการลงทุนเบื้องต้น ทั้งนี้ยังไม่คิดเรื่องที่ดิน (Land) ซึ่งที่ดินไม่มีการสึกหรอ มีแต่จะมีคุณค่า และมีราคาที่สูงขึ้นไปตามเวลา
การจัดการศึกษานานาชาติที่กระจายตัวเองลงไปใกล้กับชุมชน
จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านที่พัก การเดินทาง ตลอดจนความสามารถของผู้เรียนที่จะยังช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองทำงานที่บ้าน
หรือในกิจการของครอบครัวได้ หรือเป็นการจัดการศึกษานานาชาติ
สำหรับคนที่กำลังทำงานอยู่แล้ว ก็สามารถกระทำได้ หากต้องรับบริการการศึกษานานาชาติ
แบบต้องส่งลูกหลานมาเรียนในส่วนกลาง นอกจากจะเป็นการเสียดุลทางเศรษฐกิจ
เงินไหลออกจากท้องถิ่นแล้ว ยังจะเสียโอกาสในการพัฒนาท้องถิ่น
ไม่เกิดการสะสมกำลังคนมีคุณภาพไว้รองรับแผนพัฒนาต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สรุป
จากการนำเสนอมาทั้งหมด สรุปได้ว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏ
ในสภาวะแวดล้อมปัจจุบันถึงเวลาแล้วที่จะหันมาสนใจกับกิจกรรมการศึกษานานาชาติ
แต่ทั้งนี้ จะต้องให้แต่ละสถาบันที่มีความพร้อมและสภาพแวดล้อมไม่เหมือนกัน
ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินการ และทั้งนี้
โดยต้องมีการทำความเข้าใจในลักษณะจุดแข็ง (Strength) และจุดอ่อนของแต่ละแห่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ
มหาวิทยาลัยราชภัฏจำเป็นต้องอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน
(Transitional period)
จากการพยายามจัดการศึกษาที่เน้นไปที่ปริมาณ (Quantity) ให้การศึกษาในค่าใช้จ่ายต่ำ
แต่มาเสียผลด้านคุณภาพ ให้ปรับเปลี่ยนไปสู่ การจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ (Quality)
ผลิตบัณฑิตในจำนวนที่พอเหมาะสม มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นบ้าง
แต่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ให้การสนับสนุนเข้าใจ และรับได้ (Affordability)
การจัดการศึกษานานาชาตินับเป็นนวตกรรม (Innovation)
ที่ต้องกระทำอย่างมีแผนงาน (Planned Change) มียุทธศาสตร์
(Strategies) เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ มิใช่กระทำเหมือนทำตามตำรากับข้าว
(Cookbooks) กลุ่มคนที่จะนำการเปลี่ยนแปลงจะต้องมีการศึกษาสภาพการณ์อย่างถี่ถ้วน
มีการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของแต่ละสถาบัน สภาพแวดล้อมภายนอก ก่อนที่จะมียุทธศาสตร์สำคัญออกมาก
No comments:
Post a Comment