Tuesday, May 22, 2012

ผมเป็น Supercommuter มากว่า 5 ปีแล้ว

ผมเป็น Supercommuter มากว่า ปีแล้ว

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: life diary, บันทึกชีวิต, IT, ICT, commuting, supercommuting



ภาพ Supercommuter อาจเดินทางไปทำงานด้วยเครื่องบินบ่อยๆ


ภาพ Supercommuter อาจเดินทางไปทำงานและกลับด้วยรถโดยสาร ใช้เวลาหลายชั่วโมง และเดินทางไปเป็นประจำ เช่นทุกสัปดาห์ หรือเดือนละ 2-3 ครั้ง


ภาพ Supercommuter อาจเดินทางไปทำงานด้วยรถไฟ

ผมเพิ่งจะรู้ว่าคนในลักษณะแบบผมในโลกนี้ เขาเรียกว่า Supercommuter

Commuting is regular travel between one's place of residence and place of work or full time study. It sometimes refers to any regular or often repeated traveling between locations when not work related.

Commuting คือการเดินทางระหว่างที่พักอาศัยไปยังที่ทำงานหรือที่เรียนในแบบเต็มวัน นับเป็นการเดินทางอย่างเป็นประจำ หรือซ้ำๆระหว่างสถานที่พักและที่ทำงานหรือสถานศึกษา คนทั่วไปที่มีที่ทำงานในส่วนกลางของเมืองดังกรุงเทพมหานคร แล้วมีบ้านอยู่ชานเมือง (Suburb) และต้องเดินทางระหว่างที่บ้านพักกับที่ทำงาน ดังนี้เรียกว่า Commuter

Super = อาจแปลได้ว่า ซุปเปอร์, ดีวิเศษ, ชั้นพิเศษ, เกรดเอ, เกินปกติ

คำว่า Supercommuter เป็นคำใหม่ ไม่มีความหมายเฉพาะที่จะค้นได้ใน Wikipedia แต่ศึกษาโดยรวมแล้ว น่าจะแปลได้ว่า ผู้ต้องเดินทางระหว่างบ้านพัก ไปทำงาน หรือไปศึกษาเล่าเรียนที่ต้องเดินทางไกลกว่าปกติ เกินปกติ แต่มิได้หมายความว่าเขาเป็นคนต้องเดินทางด้วยระบบโดยสารอย่างดีวิเศษ, ชั้นพิเศษ, หรือ เกรดเอ

ใน Time Magazine ฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม 2012 เขากล่าวถึงคำว่า

Supercommuter (n.) one who travels long distances to and from work by car, rail, bus, plane, bicycle, foot or any combination of such means.

Supercommuter (คำนาม) คือคนที่ต้องเดินทางระยะไกลเพื่อไปทำงานและกลับที่พักจะด้วยรถยนต์, รถไฟ, เครื่องบิน, รถจักรยาน, เดินเท้า, หรือประสมกัน

คำนี้เป็นคำใหม่ เขายกตัวอย่างคนที่ต้องเดินทางไปทำงานระหว่างบ้านและที่ทำงานที่อยู่ห่างกัน 367 กิโลเมตรอย่างเมืองดัลลัส (Dallas) และเมืองฮูสตัน (Houston) ในรัฐเทกซัส คนที่เป็นพวก Supercommuter มักจะเป็นคนชั้นกลาง อายุต่ำกว่า 30 ปี และมีเป็นอันมาก ที่มีงานประจำที่จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานเพียงสัปดาห์ละ 1 หรือ 2 วัน

เดี๋ยวนี้การทำงานของคนรุ่นใหม่ ทำให้เขามีวิถีชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม การทำงานเป็นอันมาก เขามีสิทธิเลือกการติดต่อสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ โทรศัพท์, โทรศัพท์ทางไกล, การติดต่อผ่านอินเตอร์เน็ตแบบประชุมทางไกล หรือ Teleconferencing ส่วนโต๊ะทำงานและห้องสมุดเพื่อการหาข้อมูลนั้น มันถูกจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งแบบตั้งโต๊ะ (Desktop PC) แบบกระเป๋าหิ้ว (Laptop PC) Tablet PC ดังการใช้ iPad, หรือ SmartPhone ดังกรณีของ iPhone เมื่อเป็นเช่นนี้ การทำงานของเขาจะมีความยืดหยุ่น อาจทำงานที่บ้าน ตามร้านกาแฟ สถานที่พักตากอากาศ หรือที่ใดๆก็ได้ โดยมีเครื่องมือ และเครือข่ายสื่อสาร ที่นับวันจะเร็วขึ้น

การทำงานของคนรุ่นใหม่ เขาเน้นที่ผลของงานที่ต้องมีคุณภาพ เสร็จงานได้ตามเวลา มากกว่าต้องมาทำงานตามเวลาแล้วตอกบัตร แต่แล้วอาจไม่ได้งาน นอกจากนี้ งานบางองค์การ การที่ต้องมีที่ทำงานในเมืองใหญ่ ทำให้มีปัญหาด้านสถานที่ทำงาน เพราะแต่ละตารางเมตรที่ต้องจัดให้เป็นห้องทำงานนั้นมีราคาเป็นรายเดือน รวมทั้งค่าไฟ ที่จอดรถ และอื่นๆ

ผมเองก็ทำงานในลักษณะ Supercommuter

เมื่อผมทำงานเป็นอาจารย์นักวิชาการในมหาวิทยาลัย ผมเองเลือกเกษียณอายุก่อนเวลาราชการ ด้วยต้องไปรับงานองค์กรระหว่างประเทศเป็นเวลา 3 ปี แล้วเบื่อที่จะต้องทำรายงานลาพักเป็นปีๆต่อกัน 3 ปี จึงได้ลาออกจากราชการ ผมรับบำเหน็จเมื่ออายุได้ 55 ปี หลังจากทำงานองค์กรระหว่างประเทศ ก็เลือกที่จะทำงานหลากหลายบทบาท ทั้งเอกชน เป็นที่ปรึกษา รับเป็นงานๆไป ส่วนใหญ่เขาจะใช้เราทำในเรื่องที่มักจะไม่ค่อยมีใครทำ ผมก็จะมีหน้าที่ศึกษาโครงการ เขียนแผน ทำแผนธุรกิจให้เขา

เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา ผมรับงานเป็นประธานในหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตทางความเป็นผู้นำและบริหารการศึกษา (Doctoral Program in Educational Leadership and Administration) ให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ โดยทำตั้งแต่เริ่มออกแบบหลักสูตร จนกระทั่งสอน

ในการทำงานที่สุรินทร์ ต้องเดินทางมาทำงานทุกๆ 2 สัปดาห์ เดินทางไปกลับระหว่างมหาวิทยาลัยฯ กับที่บ้านในกรุงเทพฯ ที่อยู่ห่างกัน 450 กิโลเมตร ไปกลับแต่ละครั้งนับได้ 1,000 กิโลเมตร นับเป็นร้อยๆครั้งแล้ว ได้เดินทางในหลายๆรูปแบบ ตั้งแต่รถไฟ รถประจำทางทั้งปรับอากาศชั้นหนึ่ง และชั้นสอง เครื่องบิน ขับรถส่วนตัวมาและกลับเอง อาศัยรถคนอื่นที่ต้องเดินทางไปในทิศทางหรือที่เดียวกัน

ในระยะหลังแทนที่จะเดินทางไปเดือนละ 2 ครั้ง ผมขอเดินทางไปทำงานเดือนละครั้ง แต่อาจอยู่ครั้งละนานหน่อย ส่วนระหว่างที่ไม่ได้เดินทางไปนั้น ให้ผู้เรียนที่เป็นนิสิตปริญญาเอก สามารถติดต่อด้วยโทรศัพท์ ใช้คอมพิวเตอร์ออนไลน์สื่อสารกัน หรือเดินทางมาพบที่กรุงเทพฯได้ ตามวันเวลาที่นัดหมาย การเดินทางที่ท้ายสุดผมเลือกใช้มากที่สุด คือการนั่งรถโดยสารปรับอากาศ เสียเวลาเที่ยวละ 6.5-7.0 ชั่วโมง ส่วนสถานที่พักที่สุรินทร์ก็เลือกพักโรงแรม ที่เขามีบริการอาหารเช้าเสร็จ ส่วนมื้อเย็นไม่ค่อยรับเลี้ยง มักหาอะไรกินง่ายๆ เพื่อควบคุมน้ำหนัก และเพราะอยากพักผ่อน และออกกำลังกาย ในระยะหลังมีจักรยานสองล้อสำรองฝากไว้ที่สุรินทร์ ตกเย็นก็ขี่ไปรอบๆเมือง คลายความเครียดและการล้าสมองด้วยการออกกำลังกาย

ชีวิตของผมนี้แหละที่เขาเรียกว่า Supercommuter คือเป็นคนเดินทางเป็นประจำระหว่างบ้าน และที่ทำงานที่อยู่ห่างกัน แต่ไม่ได้ต้องเดินทางไปบ่อยนัก ณ เวลานี้คิดว่ากำลังพอเหมาะ ส่วนเวลาที่เหลือ ทำงานวิชาการ ทั้งให้กับมหาวิทยาลัย และที่ทำมาก คือเขียนหนังสือ เลือกเขียนอย่างที่อยากเขียน และมีความยืดหยุ่นในการทำงาน ได้ออกกำลังกายทุกเช้า ไปดูของตามศูนย์การค้า เรียกว่า Windo Shopping ยามที่คนเขาทำงาน

เมื่อใดมีเวลาที่จะเดินทางท่องเที่ยว แล้วก็นำสิ่งน่าสนใจจากการท่องเที่ยวนั้นๆมานำบอกเล่า นำเสนอในสื่อสังคม อย่าง Twitter, Facebook, และเขียนเป็นเรื่องเป็นราว แล้วฝากไว้ที่ Blogspot.com (http://pracob.blogspot.com )

ผมไม่ทราบว่ามีใครใช้ชีวิตและมีการทำงานคล้ายๆกับผมหรือไม่ หากมีก็ช่วยเล่าแลกเปลี่ยนสู่กันฟังบ้าง

No comments:

Post a Comment