Wednesday, May 2, 2012

สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยที่ปิด หรือปรับเปลี่ยนตัวเองไป


สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยที่ปิด หรือปรับเปลี่ยนตัวเองไป

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Higher education, universities, สถาบันอุดมศึกษา, การแข่งขัน, การร่วมมือ

สถาบันอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย วิทยาลัย สถาบัน หรืออื่นๆ ล้วนเกิดมาและดำรงอยู่อย่างมีวัตถุประสงค์ และเมื่อใดที่ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ไม่สามารถทำการได้ดังกำหนดไว้ในวัตถุประสงค์ ก็ต้องปิดตัวเองลง หรือปรับเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น

มีสถาบันอุดมศึกษาที่ได้ก่อตั้งขึ้นมาในประเทศไทย ทั้งของรัฐบาลและเอกชนที่ต้องปิดตัวเองลงด้วยสาเหตุต่างๆดังต่อไปนี้

1.    วิทยาลัยพัฒนา (ไม่มีรายละเอียด) ปิดเมื่อปี พ.ศ. 2520
2.    สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2514 และปิดเมื่อปี พ.ศ. 2529 เหตุด้วยมีการปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อแยกเป็น 3 สถาบันที่อิสระต่อกัน ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในปัจจุบัน
3.    วิทยาลัยศรีอีสาน ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2522 และปิดตัวเองลงในปี พ.ศ. 2533 ด้วยเหตุไม่สามารถจัดการศึกษาให้มีมาตรฐานได้
4.    วิทยาลัยบัณฑิตสกลนคร ในจังหวัดสกลนคร ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2536 และปิดตัวเองลงเมื่อปี พ.ศ. 2540 ด้วยเหตุไม่สามารถจัดการศึกษาให้มีมาตรฐานได้
5.    วิทยาลัยรามาอโยธยา ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2535 และปิดตัวเองลงในปี พ.ศ. 2540
6.    มหาวิทยาลัยโยนก ก่อตั้งขึ้นที่จังหวัดลำปาง ในปี ค.ศ. 2531 และในปี พ.ศ. 2553 ได้ขายใบอนุญาตประกอบกิจการสถานศึกษาให้แก่มหาวิทยาลัยเนชั่น และเปลี่ยนเป็น มหาวิทยาลัยเนชั่น วิทยาเขตโยนก ในจังหวัดลำปาง

การจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่การก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมาอย่างไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างแข็งแกร่งทั้งในระยะสั้น และระยะยาวแล้ว ก็อาจกลายเป็นความสูญเปล่าอย่างน่าเสียดาย มีบุคคลและองค์การที่มีความหวังดีที่เข้ามาดำเนินการพัฒนาสถานศึกษาในประเทศไทย แต่แล้วก็ต้องประสบปัญหา ไม่สามารถดำเนินการให้ดำรงอยู่ได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐานอย่างที่ต้องการ และในที่สุด ผู้เรียนลดลง ไม่มีรายได้เพียงพอเพื่อสนับสนุนสถาบัน ในที่สุดก็ต้องปิดตัวเองลงไป

ในทรรศนะของผม ปัจจุบันนี้เรามีสถาบันอุดมศึกษากระจายอยู่ทั่วประเทศมากเพียงพอแล้ว เพียงแต่จะทำอย่างไรจะใช้พื้นที่ อาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ และอื่นๆเพื่อจัดการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างที่ต้องการได้อย่างมีคุณภาพ บรรยากาศการอุดมศึกษาของไทยเรา มีการแข่งขันกันเชิงปริมาณมากจนเกินเหตุ แต่ไม่ได้มุ่งที่การพัฒนาคุณภาพการศึกษามากพอ ในที่สุด ดิ้นรนมากที่สุดแล้ว และก็ยังดำรงอยู่ไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องปิดตัวเองลง

จึงอยากฝากหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลระบบอุดมศึกษา ต้องคิดอย่างมองไปข้างหน้า (Pro-active) กำกับให้สถาบันอุดมศึกษาของทั้งประเทศ อยู่ในสถานะที่ไม่ต้องแข่งขันกันมากจนเกินเหตุ แต่ให้สามารถร่วมมือกันใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำหน้าที่ในการผลิตบัณฑิต วิจัย และบริการชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการที่จะมีการต้องปิดตัวเองลงไปบ้าง ปรับตัวยุบรวม เพื่อทำให้เป็นระบบที่ใหญ่ขึ้น แข็งแกร่งขึ้นนั้น ก็สามารถกระทำได้ เพราะในระบบใดๆก็ตาม ไม่มีอะไรที่จะคงอยู่ได้อย่างไม่มีการพัฒนาตัวเอง

No comments:

Post a Comment