Thursday, May 3, 2012

โปรดเมตตาต่อผู้ใช้จักรยาน – Be Kind to Bikes.


โปรดเมตตาต่อผู้ใช้จักรยาน – Be Kind to Bikes.


ภาพ ป้ายบอกความเป็นทางวิ่งสำหรับรถจักรยาน

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Life diary, บันทึกชีวิต, environment, สิ่งแวดล้อม, air pollution, bike, bicycle

เมื่อผมอยู่ชั้นมัธยมปีที่สอง ผมได้รับรางวัลเป็นรถจักรยานสองล้อจากพ่อแม่ เมื่อสอบได้ที่หนึ่งของชั้นเรียนทั้งปี และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่เรียนได้ดีขนาดนั้น รางวัลนั้นเป็นจักรยานสีแดงที่เป็นของนำเข้าจากประเทศอังกฤษ ขนาดเหมาะสำหรับเด็กวัยสัก 12-14 ปี ขนาดกลางๆ เล็กไปสำหรับผู้ใหญ่ ในสมัยนั้นประเทศไทยยังผลิตจักรยานเองดีๆไม่ได้ พ่อแม่ซื้อมาได้สักวันเดียวก็ขี่เป็นแล้ว และผมก็ชอบขี่จักรยานตั้งแต่นั้นมา น้องผู้ชายอีกสองคนก็พลอดขี่จักรยานเป็นไปด้วย

เมื่อผมไปศึกษาในระดับปริญญาขั้นสูงในประเทศสหรัฐอเมริกา และอยู่ในเมืองนักศึกษา มีคนไม่มากนัก เขาไม่มีรถประจำทาง รถสองแถว หรือรถแท๊กซี่วิ่งรับส่งผู้โดยสารในเมือง จึงต้องมีรถยนต์ไว้เดินทางไกล และมีรถจักรยานไว้ขี่ไปเรียนหนังสือในแต่ละวัน ผมขี่จักรยานทุกวัน จะไม่ขี่ก็เพียงบางวันในช่วงฤดูหนาว ที่ถนนกลายเป็นน้ำแข็งและลื่น ไม่เหมาะแก่การขี่จักรยาน

ในปัจจุบันเมื่อเดินทางไปทำงานต่างจังหวัด ดังที่จังหวัดสุรินทร์เป็นครั้งคราว ผมจะมีจักรยานไว้ขี่ออกกำลังกาย เที่ยวรอบเมือง มันเป็นความรู้สึกที่ผ่อนคลาย ได้ออกกำลังกายแล้วรถเคลื่อนไปในอัตราที่เร็วกว่าเดินปะทะกับลมพัดเย็นๆ แต่ก็ยังปลอดภัยที่จะขี่ร่วมไปในถนนที่มีรถที่ใหญ่กว่าอื่นๆร่วมด้วย ในต่างจังหวัด เขาเคยมีวัฒนธรรมการใช้รถจักรยานมานาน ผู้คนยังมีเมตตาต่อรถจักรยานอยู่บ้าง แม้ในปัจจุบันได้มีรถจักรยานยนต์เข้ามาแทนที่รถจักรยานคนถีบมากแล้ว

ในทุกเช้าปัจจุบันนี้ ผมจะต้องขับหรือนั่งรถไปออกกำลังกายที่สถานออกกำลังกาย (Fitness center) ใกล้บ้าน แล้วหนึ่งในกิจกรรม คือขี่จักรยานออกกำลังกายแบบอยู่กับที่ครั้งละ 30-35 นาที แล้วมองผ่านกระจกไปดูรถยนต์ในกรุงเทพฯ วิ่งผ่านไปมาเป็นสายๆยามเช้า มันรู้สึกแปลกที่จะขี่จักรยานแบบไม่มีล้อกันแล้ว จึงจะปลอดภัย

ในบริเวณบ้านที่พักอาศัยย่านซอยอารีย์สัมพันธ์ ใกล้กระทรวงการคลังและกรมประชาสัมพันธ์ เราแทบจะไม่มีโอกาสใช้รถจักรยานกันแล้ว เพราะไม่ว่าถนนจะขนาดเล็กหรือแคบเพียงใด จะมีรถยนต์วิ่งอย่างคับคั่ง แทบไม่เหลือที่ให้ขี่รถจักรยานได้อย่างปลอดภัยเลย แถมยังมีรถจักรยานยนต์ประเภทขับช้าไม่เป็น ที่จะสอยจักรยานร่วงได้อีก

เมื่อสักสิบปีมานี้ ในบริเวณซอกและซอย เรายังขี่จักรยานไปซื้อของเล็กๆน้อยที่ร้านปากซอยได้ ในบริเวณปากซอย ยังมีที่ให้จอดรถจักรยานได้บ้าง ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ คิดดูง่ายๆ หากเราใช้จักรยานขี่ไปทำธุระได้วันละ 2-3 กิโลเมตร แทนการใช้รถยนต์ เราจะประหยัดพลังงานน้ำมัน ลดมลพิษทางอากาศ ไม่ต้องปวดหัวกับการหาที่จอดรถ และประหยัดเงินอีกกิโลเมตรละ 4 บาท หากใช้จักรยานแทนจักรยานยนต์ ก็ประหยัดได้กิโลเมตรละ 1 บาท หากขี่เพื่อเดินทางวันละ 5 กม. ทั้งปี 1,800 กม. ทดแทนการใช้รถยนต์ ก็จะประหยัดค่าน้ำมันไปได้เป็นเงิน 7,200 บาท หรือใช้จักรยานทดแทนการนั่งรถตุ๊กตุ๊กแต่ละวันๆละ 2 เที่ยวไปและกลับเป็นเงิน 60 บาท ปีหนึ่งใช้บริการ 260 วัน คิดเป็นเงิน 15,600 บาท มันไม่น้อยเลยทีเดียว

ผมเป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิด จากสมัยเด็กๆที่กรุงเทพฯเป็นเมืองที่ไม่ใหญ่โตอะไรนัก ปัจจุบันมีพลเมือง 6.5 ล้านคน นับปริมณฑลด้วยกว่า 10 ล้านคน ปัจจุบันนี้เมืองที่เจริญขึ้นในทางวัตถุ แต่ในด้านคุณภาพชีวิต คุณภาพอากาศกลับยิ่งแย่ลง ชีวิตเรากำลังตายผ่อนส่งกันทุกวัน ไม่ว่าผู้มั่งมี หรือยากจน ล้วนต้องสูดหายใจอากาศของเมืองใหญ่นี้กันทุกคน

ผมคิดว่าคนกรุงเทพฯต้องกำหนดแนวต่อสู้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมทางอากาศ และวางรูปแบบการใช้ชีวิตที่ทำให้เราไม่ต้องไปเพิ่มปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ขอให้เราได้ใช้ชีวิตที่ต้องมีการเคลื่อนไหว เดินทาง ให้ได้ยังใช้จักรยานอยู่บ้าง โดยกำหนดให้ชุมชนขนาดไม่ใหญ่ได้มีสิทธิใช้จักรยาน (Bikes, Bicycles) ในชีวิตประจำวันปกติของเรา เช่น ขี่จักรยานมาปากซอย เพื่อขึ้นรถประจำทางไปทำงาน และขากลับก็กลับมาแล้วขี่จักรยานกลับบ้าน หากจะต้องไปหาอาหารกินหรือจับจ่าย คนในซอยก็ขี่จักรยานไปร้านอาหาร ซื้อของ หรือทำกิจกรรมอื่นๆได้ โดยไม่ต้องขับรถ แล้วไปเบียดเสียดหาที่จอดรถ

สุดท้ายนี้ ขอวิงวอนทุกฝ่าย ขอให้จักรยานได้เป็นส่วนหนึ่งที่รับใช้ชีวิตของเรา ขอให้เราได้มีจิตใจรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้เราได้อยู่อาศัยอย่างใกล้ธรรมชาติมากขึ้น ขอให้เรามีวัฒนธรรมมีเมตตาต่อผู้ขับขี่จักรยานกันเถิด

Be kind to bikes, be kind to us, and be kind to all.


ภาพ ทางวิ่งสำหรับรถจักรยาน (Bike Lane) ด้านหนึ่งเป็นสวนสาธารณะ


ภาพ การขี่จักรยานอาจเป็นทั้งเพื่อการเดินทาง และเพื่อสันทนาการ

ภาพ รถจักรยานสามล้อแบบใช้ไปส่วนบุคคล เหมาะสำหรับผูู้สูงอายุ สามารถติดตั้งระบบพลังงานจากแบตเตอรี่ เพื่อช่วยทุ่นแรงในการขับขี่ระยะไกล

No comments:

Post a Comment