Friday, January 25, 2013

การตรึงติด (Embeddedness) การใช้ชีวิตอย่างไม่อิสระ


การตรึงติด (Embeddedness)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การบริหาร, การจัดการ, ชีววิทยา, Biology, ระบบมีชีวิต, living system, การตรึงติด, Embeddedness, เหาฉลาม
Embeddedness - การที่ระบบหนึ่งติดตรึงอยู่กับอีกระบบหนึ่ง

Embeddedness หรือ การตรึงติด สถานะที่ระบบหนึ่งไปผูกติดกับอีกสิ่งหนึ่ง เพื่อการดำรงอยู่
: A state in which one system is nested in another system


ภาพ หอยแมลงภู่ (Mussels) ตามธรรมชาติ


ภาพ หอยแมลงภู่ที่เลี้ยงเป็นฟาร์มในทะเล โดยให้เกาะติดกับหลักที่ฝั่งไว้กับพื้นทะเลที่มีน้ำขึ้นและน้ำลง


หอยแมลงภู่ (Mussels) เป็นสัตว์น้ำที่อาศัยการเกาะติดกับหินหรือสิ่งที่ไม่เคลื่อนไหว ดังเช่นเสาที่ตอกติดกับพื้นทราย หอยแมลงภู่อาศัยการเคลื่อนไหวของกระแสน้ำที่ผ่านในบริเวณนั้น ที่นำอาหารที่มากับความอุดมสมบูรณ์ของน้ำ ในสภาพน้ำขึ้นน้ำลงของทะเลที่ไม่เปลี่ยนแปลง หอยแมลงภู่ก็จะดำรงชีวิตได้เป็นปกติ แต่หากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง น้ำทะเลมีสารพิษ น้ำขาดความอุดมสมบูรณ์ หอยแมลงภู่นั้นก็ไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองไปหาแหล่งอื่นๆได้ เพราะมันติดกับหลักหรือสถานที่นั้นๆ ก็ต้องตายไปพร้อมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป


ภาพ ปลาเหาฉลาม ปลาตัวที่เล็กกว่า อาศัยการเกาะติดกับปลาตัวใหญ่ เพื่อการเคลื่อนไหว และการหาแหล่งอาหารจากปลาตัวใหญ่กว่า

ตัวอย่างเปรียบกับสภาพที่เป็นไปในโลกอื่นๆ เช่น

ครั้งหนึ่ง ค่าเงินบาทเคยผูกติดกับค่าเงินเหรียญสหรัฐ เพื่ออาศัยความมีเสถียรภาพของค่าเงินเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (US Dollar) แต่เมื่อสภาพเศรษฐกิจที่เป็นจริง ค่าเงินบาทของไทยได้อ่อนตัวลง แต่เมื่อเราไปยึดติดกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็ทำให้เราไม่สามารถขายสินค้าส่งออกนอกประเทศได้ แต่ในขณะเดียวกัน คนไทยเห็นค่าเงินสหรัฐหรือเงินในตลาดโลกถูก ก็ไปซื้อสินค้าจากต่างประเทศเข้ามามากมาย กลายเป็นความฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายมากกว่าความสามารถในการหารายได้ จนในที่สุด ก็เกิดวิกฤติการเงินและเศรษฐกิจของประเทศขึ้น

ปัจจุบัน ค่าเงินบาทเป็นแบบลอยตัว เป็นไปตามหลักอุปสงค์-อุปทานของเงินบาทในตลาดโลก


ภาพ กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) ที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์สร้างขึ้นเพื่อป้องกันคนหลบหนีสู่ตะวันตก แต่ในที่สุด ปี ค.ศ. 1989 เมื่อระบบสหภาพโซเวียตที่อ่อนตัวลง คนขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่มีแรงจูงใจในการผลิต สังคมโซเวียตก็เสื่อมลง จนล่มสลายไปในที่สุด

ครั้งหนึ่ง ประเทศในค่ายยุโรปตะวันออก ติดตรึงกับระบบคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียต (USSR) จนขาดความสามารถในการดิ้นรนแข่งขัน การวิจัยหยุดนิ่ง คนติดยึดกับสวัสดิการรัฐ แต่ไม่ขวนขวายในการทำมาหากิน ท้ายสุดก็นำมาซึ่งความเสื่อมของระบบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก และเป็นความล่มสลายของสหภาพโซเวียต

ข้อดีและข้อเสีย


ภาพ จิงโจ้ (Kangaroos) ลูกจิงโจ้ที่อาศัยอยู่ในกระเป๋าหน้าของแม่

การผูกติด หรือเกาะติด มีทั้งข้อดีและข้อเสีย มีทั้งที่เป็นประโยชน์ และเป็นโทษ ในธรรมชาติ สัตว์อย่างจิงโจ้ (Kangaroo) ในทวีปออสเตรเลีย ลูกน้อยยังอ่อนแอช่วยตัวเองไม่ได้ จะดำรงชีวิตติดไปกับแม่ โดยอาศัยอยู่ในกระเป๋าที่หน้าท้องของแม่ มันจะอยู่ในลักษณะนั้น จนโตพอที่จะเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง หากินได้เอง ก็จะออกจากกระเป๋ามากขึ้น จนเป็นอิสระจากพ่อแม่ในที่สุด คือเติบโตจากพึ่งพา (Dependence) ไปสู่ความเป็นอิสระ (Independence) และพึ่งตนเองได้ในที่สุด

มนุษย์กับการดูแลลูกก็เช่นกัน จะเริ่มตั้งแต่ต้องให้นมลูกเมื่อยังเป็นทารก ดูแลให้การศึกษาเพื่อเด็กเติบโตขึ้น สอนและหรือให้โอกาสเขาฝึกงาน ทำงาน จนกระทั่งเขามีความสามารถในการดูแลตนเองและครอบครัวของเขาต่อไปในที่สุด เป็นการเติบโตจากเกาะติด พึ่งพา (Dependence) ไปสู่ความเป็นอิสระ (Independence) และพึ่งตนเองได้ในที่สุด

No comments:

Post a Comment