Friday, January 11, 2013

มาลาล่า ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai) ผู้จุดประกายไฟการศึกษาของสตรี

มาลาล่า ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai) ผู้จุดประกายไฟการศึกษาของสตรี

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia และอื่นๆ


ภาพ มาลาล่า ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai)

Keywords: การเมือง, politics, การศึกษา, education, ผู้นำ, leader, leadership, สิทธิของสตรี, women rights, ปากีสถาน, Pakistan, มาลาล่า, Malala Yousafzai

มาลาล่า ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai (Pashto: ملاله یوسفزۍ Malālah Yūsafzay) เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 เป็นเด็กนักเรียนหญิงในปากีสถาน และเป็นนักรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อการศึกษาในเมืองมิงโกร่า (Mingora) ในเขตสวาท (Swat District) ในจังหวัดไคเบอร์ ปักทุนควา (Khyber Pakhtunkhwa province) ของประเทศปากีสถาน ซึ่งในเขตนี้พวกทาลีลัน (Taliban) อันเป็นพวกอิสลามหัวรุนแรงได้ห้ามเด็กหญิงเข้ารับการศึกษาในโรงเรียน ในต้นปี ค.ศ. 2009 เมื่อเธออายุได้ประมาณ 11-12 ปี ยูซาฟไซได้เขียนเรื่องลงใน Blog ในอินเตอร์เน็ตโดยใช้ชื่อปลอม ที่ส่งไปยังสำนักข่าว BBC ของประเทศสหราชอาณาจักร โดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตของเธอภายใต้การปกครองของทาลีบัน โดยเธอมีทัศนะต้องการส่งเสริมให้เด็กหญิงได้รับการศึกษา และไม่เห็นด้วยในการกีดกันสิทธิของเด็กหญิงในปากีสถานนี้ ในช่วงฤดูร้อนต่อมา นิตยสารนิวยอร์คไทม์ (New York Times) ได้นำเรื่องของเธอเสนอเป็นสารคดี โดยมีการถ่ายทำกันจริงในปากีสถาน โดยมีฝ่ายทหารของปากีสถานได้เข้าไปทำการสู้รบในสงครามที่เรียกว่าสงครามครั้งที่สองแห่งสวาท (Second Battle of Swat)

ยูซาฟไซได้เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกัน เธอให้สัมภาษณ์ที่ทำให้เกิดเป็นข้อเขียนและการนำไปออกรายการโทรทัศน์ และเธอได้ทำหน้าที่เป็นประธานของสภาเด็กแห่งเขตสวาท (District Child Assembly Swat) เพราะความกล้าหาญของเธอ ทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับรางวัลเด็กเพื่อสันติภาพนานาชาติ (International Children's Peace Prize) โดยบาทหลวงเดสมอนด์ ตูตู (Desmond Tutu) และเธอได้รับรางวัลเยาวชนเพื่อสันติภาพแห่งปากีสถาน (National Youth Peace Prize) ที่ได้จัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังมีผู้มีชื่อเสียงหลายคน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีแห่งแคนาดา ได้สนับสนุนและเสนอเธอให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (Nobel Peace Prize)

ในวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 2012 ยูซาฟไซถูกยิงเข้าที่ศีรษะและลำคอจากฝ่ายมือปืนของตาลีบัน ที่ต้องการลอบสังหาร ในขณะที่เธออาศัยรถโดยสารนักเรียนเดินทางกลับบ้าน ในวันต่อๆมาหลังจากถูกโจมตี เธอยังคงไม่ได้สติและมีอาการน่าวิตก แต่ในระยะต่อมา อาการของเธอเริ่มดีขึ้นและดีเพียงพอที่จะย้ายไปรับการรักษาพยาบาลในประเทศสหราชอาณาจักร รวมถึงการได้รับการฟื้นฟูและกายภาพบำบัดหลังผ่าตัด

ในวันที่ 12 ตุลาคม กลุ่มผู้นำศาสนา 50 คนในปากีสถานได้ออกแถลงการณ์ฟัตวา (fatwā) แสดงความไม่เห็นด้วยกับคนที่พยายามลอบสังหารเธอ แต่ฝ่ายทาลีบันได้ตอบกลับว่าเขาตั้งใจจะสังหารยูซาฟไซและบิดาของเธอ ไซอุดดิน (Ziauddin) จริงๆ

อดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรและปัจจุบันเป็นทูตพิเศษสหประชาชาติเพื่อส่งเสริมการศึกษาของโลก นายกอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังสหประชาชาติ โดยทำในนามของยูซาฟไซ ด้วยคำขวัญที่ว่า “ฉันคือมาลาล่า” เรียกร้องเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กในโลกทุกคน เพื่อให้ทั้งหมดได้รับการศึกษาภายในปีค.ศ. 2015 บราวน์กล่าวว่า เขาจะยื่นหนังสือไปยังประธานาธิบดีของปากีสถาน นายอาซิฟ อาลี ซาดารี (Asif Ali Zardari) ในเดือนพฤศจิกายน เลขาธิการบังคีมุน (Ban Ki-Moon) ได้กล่าวว่า วันที่ 10 พฤศจิกายน จะเป็นวันฉลองมาลาล่า (Malala Day)

มาลาล่า เด็กหญิงผู้นี้ได้รับเลือกเป็นบุคคลแห่งปี ค.ศ. 2012 โดยนิตยาสาร TIME เป็นอันดับสอง ตามหลังเพียงประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ปัจจุบัน เธอกำลังฟื้นตัวหลังการผ่าตัดและกายภาพบำบัด แม้ขณะได้รับการรักษาพยาบาลในสหราชอาณาจักร เธอก็ยังต้องได้รับการคุ้มครองอย่างแน่นหนา สำหรับบิดาของเธอที่ได้รับการข่มขู่ตลอดเวลาจากฝ่ายลอบสังหาร ก็ได้รับงานใหม่ทำที่สถานทูตในสหราชอาณาจักร และยังไม่สามารถเดินทางกลับไปยังปากีสถานได้ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

No comments:

Post a Comment