Sunday, January 6, 2013

การสืบทอดราชบัลลังก์ของประเทศอังกฤษ (Succession to the British throne)


การสืบทอดราชบัลลังก์ของประเทศอังกฤษ (Succession to the British throne)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia, the free encyclopedia

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, governance, ระบอบกษัตริย์, monarchy, สหราชอาณาจักร, United Kingdom, UK, การสืบราชบัลลังก์, succession,

ในปัจจุบันมีระบบกษัตริย์ยังคงอยู่ใน 44 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมพื้นที่ประเทศประมาณ 26 ล้านตารางกิโลเมตร มีประชาชนภายใต้ระบบนี้อยู่ 544 ล้านคน แต่ใน 44 ประเทศนี้ 16 แห่งอยู่ภายใต้ระบบเครือจักรภพของอังกฤษ (British Commonwealth)

ระบบกษัตริย์ในโลก มีทั้งที่เป็นระบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute monarchy) ระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย (Constitutional monarchy) และมีบางประเทศที่มีระบบกษัตริย์อันมาจากการเลือกตั้ง โดยผ่านการออกคะแนนเสียง (System of voting)

ระบอบกษัตริย์ในยุโรปทั้งหมดเป็นภายใต้รัฐธรรมนูญ ยกเว้นที่สำนักวาติกัน (Vatican City) ในประเทศขนาดเล็ก กษัตริย์มักจะมีอิทธิพลทางการเมืองมากกว่าประเทศขนาดใหญ่ กษัตริย์ในประเทศกัมพูชา (Cambodia), ญี่ปุ่น (Japan), จอร์แดน (Jordan), มาเลเซีย (Malaysia) และโมรอคโค (Morocco) ได้ครองราชย์แต่ไม่ได้ปกครอง (Reign, but do not rule) อำนาจกษัตริย์ของแต่ละประเทศมีไม่เท่ากัน แม้จะปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่กษัตริย์ของประเทศบรูไน (Brunei), โอมาน (Oman), กาตาร์ (Qatar), ซาอุดิอาราเบีย (Saudi Arabia) และสวาซีแลนด์ (Swaziland) มีอำนาจมากกว่าภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือโดยประเพณีทั่วไป

ระบบกษัตริย์หลายประเทศเคยมีอำนาจของกษัตริย์อย่างยิ่งใหญ่ แต่ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้จนถึงศตวรรษที่ 21 ดังเช่น ราชวงศ์ของฝรั่งเศส รัสเซีย และแม้แต่ประเทศเนปาล

แต่ระบอบกษัตริย์ในประเทศสหราชอาณาจักร และรวมถึงเครือจักรภพ นับเป็นระบอบที่คงอยู่มานาน และมีประเพณีที่จะสืบประเพณีการปกครองของกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญต่อไปอย่างมั่นคง ซึ่งจะมีประโยชน์ที่ประเทศไทยเราควรจะได้เรียนรู้ความเป็นมาของเขา

ประเทศอังกฤษ (England, Great Britain) หรือในปัจจุบันคือสหราชอาณาจักร (United Kingdom – UK) มีประวัติของการปกครองในระบอบกษัตริย์มากว่าพันปี เขาสืบทอดราชบัลลังก์กันอย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงราชวงศ์กันอย่างไร ที่ยังทำให้เขาเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งอยู่ได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน สิ่งเหล่านี้ คนไทยควรได้เรียนรู้จากประเทศอื่นๆ ที่เขามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในลักษณะเดียวกับเรา

ในการนำเสนอนี้ ผู้ศึกษาอยากทิ้งศัพท์ภาษาอังกฤษหลายๆคำ ที่อาจมีการแปลความผิดพลาดได้ คำเหล่านี้อาจมีการแปลที่ไม่เหมือนกัน จึงทิ้งความหมายนี้ไว้ให้ผู้ร่วมศึกษาได้ช่วยกันทำความเข้าใจ สื่อสาร และปรับปรุงกันต่อไป

Succession = การสืบทอดมรดก, การสืบทอดอำนาจ, ในการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อเป็นผู้บริหารองค์การเอกชนขนาดใหญ่ ก็มีความสำคัญในลักษณะเดียวกัน แต่บริษัทเหล่านั้นในปัจจุบัน เขาไม่ได้จำกัดการเลือกผู้บริหารสูงสุดเพียงบุคคลในครอบครัว จึงไม่ได้ใช้คำว่า Succession

Throne = ราชบัลลังก์, ตำแหน่งกษัตริย์, ผู้ครองบัลลังก์ในสมัยก่อน คือผู้ครองอำนาจสูงสุดของแผ่นดิน

Common law = ระเบียบสังคม, มีหลายอย่างในแต่ละสังคม ที่แม้ไม่มีการเขียนกันอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นที่รับรู้สืบทอดกันโดยประเพณีปฏิบัติ

Statute = พระราชบัญญัติ, สิ่งที่ต้องตราออกมาเป็นกฎหมาย

Primogeniture = การเป็นบุตรคนหัวปี, บุตรในที่นี้มีความเอนเอียงทางเพศ คือบุตรชาย, ระบบกษัตริย์ในอดีตเกือบทั้งหมด ยึดสิทธิและอำนาจเป็นของผู้ชายเป็นหลัก มีเพียงบางช่วงในประวัติศาสตร์ที่การปกครองนี้อยู่ในมือของสตรี

การสืบทอดราชบัลลังก์ของประเทศอังกฤษ เป็นไปตามระเบียบสังคม (Common law) และสิ่งที่ได้ตราเป็นกฎหมาย (Statute) ตามระเบียบสังคมที่ยึดถือปฏิบัติ มงกุฎและราชบัลลังก์ของกษัตริย์อังกฤษจะสืบทอดไปยังโอรส (Son, บุตรชาย) คนแรกของกษัตริย์ที่ยังครองราชย์อยู่

Preference = บุริมสิทธิ์, ความเอนเอียง, การชอบมากกว่า, การโอนเอียงไปในทาง
การสืบราชบัลลังก์ เริ่มจากบุตรชายคนแรกของกษัตริย์ที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป ในกรณีที่มีการสืบราชบัลลังก์แก่พระโอรสที่ยังเยาว์วัย ก็จะมีการมอบหมายให้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือผู้สำเร็จราชการแผ่นดินทำหน้าที่แทน จนกว่ากษัตริย์จะเติบโตขึ้นมารับหน้าที่ได้เต็มที่

กษัตริย์ "เอเธลสแตน" Æthelstan (Æþelstan) ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นกษัตริย์ของอังกฤษ ในปี ค.ศ. 927939 และนับเป็นพระองค์แรกของประเทศอังกฤษ และต้นกำเนิดของราชวงศ์เวสเซกซ์ (Wessex) ผู้มีเชื้อสายแองโกล-แซกซันส์

ประเทศอังกฤษและต่อมาจนถึงยุคการเป็นสหราชอาณาจักร (United Kingdom – UK) ได้มีการสืบทอดอำนาจกษัตริย์อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 1,086 ปี 


ภาพ พระเจ้าชาร์สส์ที่หนึ่ง (King Charles I) ถูกประหารชีวิต หลังแพ้สงครามกลางเมืองกับฝ่ายโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell)

มีเพียงช่วงสงครามกลางเมือง สมัยของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell) ผู้เข้าครองอำนาจ เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคนแรกของเครือจักรภพอังกฤษ สก๊อตแลนด์ และไอร์แลนด์ (1st Lord Protector of the Commonwealth of England, Scotland and Ireland) ในปี ค.ศ. 1653 และสืบทอดอำนาจโดยบุตรชาย คือ Richard Cromwell จนถึงปี ค.ศ. 1959 โดยทั้งสองบุคคลอยู่ในอำนาจรวมเพียง 6 ปี นอกนั้น ช่วงเวลากว่าพันปีที่อังกฤษมีการปกครองในระบอบกษัตริย์


พระเจ้าเฮนรี่ที่แปด (Henry VIII) ประสูตรเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1491 และสวรรคตวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 1547 ผู้เป็นกังวลกับการไม่มีโอรสสืบทอดอำนาจ แต่ท้ายสุด มีทายาทถึง 3 พระองค์ที่ได้ครองราชย์ หนึ่งในนั้น คือพระราชินีอลิซาเบธที่หนึ่ง (Elizabeth I of England) แต่ก็เป็นองค์สุดท้ายของราชวงศ์ เพราะไม่ได้สมรสและมีทายาทที่จะครองราชย์ต่อ

อังกฤษมีการสืบทอดราชบัลลังก์กันตามประเพณี ตามกฎหมาย และตามสภาพความมีบารมีและอำนาจของบุคคลผู้นำในยุคนั้นๆ และในช่วงเวลายาวนานในประวัติศาสตร์ มีสงครามกลางเมือง การทำศึกสายเลือดแย่งชิงอำนาจการปกครอง และการเปลี่ยนยุคเปลี่ยนราชวงศ์ แต่อังกฤษก็ยังมีการปกครองในระบอบกษัตริย์อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอังกฤษมีสภาพเป็นเกาะ มีทะเลเป็นส่วนปกป้องประเทศจากการรุกรานของอำนาจภายนอกได้ส่วนหนึ่ง

ในประเพณีการปกครอง ราชบัลลังก์ของอังกฤษจะเป็นของราชโอรสตามลำดับการเกิด (Order of birth) และเมื่อหากไม่มีบุตรชายที่เหมาะสม ราชบัลลังก์นั้นก็จะมาสู่ราชธิดาโดยเรียงลำดับการเกิด และในราชวงศ์หนึ่งไม่มีผู้สามารถสืบราชบัลลังก์ได้ ก็จะเวียนไปยังเจ้าในสกุลอื่นๆ ที่ใกล้เคียงที่สุด และเมื่อมีความเห็นต่างกัน ตกลงกันไม่ได้ นั่นแหละก็จะเกิดเป็นสงครามกลางเมือง หรือเกิดรัฐประหารขึ้นจัดการเรื่องต่างๆให้จบลงได้โดยเร็ว ไม่ยืดเยื้อ

การนับถือศาสนามีความสำคัญต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศอังกฤษ อังกฤษเคยมีความขัดแย้งรุนแรงกับศาสนจักรโรมันแคธอลิก จนต้องมีการแยกออกมาจัดตั้งคริสตศาสนานิกาย Church Of England ขึ้นมา

ตามกฎหมายนี้ได้กำหนดให้ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ต้องเป็นผู้สืบสกุลตามกฎหมายของ Sophia, Electress of Hanover และเป็นการห้ามบุคคลที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันแคธอลิก (Roman Catholic) หรือบุคคลผู้แต่งงานกับผู้นับถือนิกายแคธอลิกมีสิทธิในการครองราชบัลลังก์ เรื่องนี้ต้องไปศึกษาประวัติศาสตร์อังกฤษ ตอนเกิดนิกายอังกฤษ หรือ Church of England ซึ่งได้มีการแยกตัวออกจากคริสต์ศาสนากระแสหลักของยุค คือ คริสตจักรโรมันแคธอลิก ในสมัยของพระเจ้าเฮนรี่ที่แปดของอังกฤษ (Henry VIII of England)

การเกิดพระราชบัญญัติการรวมประเทศ ค.ศ. 1800 (The Acts of Union 1800) อันเป็นผลทำให้ประเทศอังกฤษและประเทศไอร์แลนด์ได้รวมกันเป็นประเทศเดียว โดยเรียกว่า the United Kingdom of Great Britain and Ireland ซึ่งหมายความว่า การจะได้พระมหากษัตริย์ ต้องเป็นที่ยอมรับของทั้งสองประเทศ หรือต้องแสดงให้เห็นว่าต้องปกครองทั้งสองประเทศได้

การจะเป็นกษัตริย์ของอังกฤษไม่ใช่ว่าจะทำอะไรได้ตามใจ เพราะการเป็นผู้นำของประเทศมหาอำนาจแห่งนี้ ต้องมีความคาดหวังทั้งจากประชาชน ระบบการเมือง รัฐสภา ฯลฯ ดังในสมัยของกษัตริย์ Edward VIII ซึ่งเกิดความขัดแย้งในการอภิเษกสมรสของกษัตริย์ ที่ฝ่ายการเมืองไม่ยอมรับการทำตามความต้องการของกษัตริย์ได้

ในปี ค.ศ. 1936 ได้มีประกาศราชสำนักเรียกว่า His Majesty's Declaration of Abdication Act 1936 โดยรัฐสภาอังกฤษได้ยอมรับว่า กษัตริย์ Edward VIII ผู้ได้สละราชบัลลังก์ และสืบทอดอำนาจต่อไปยังน้องชาย เจ้าชาย Albert, Duke of York (ผู้ต่อมาได้ครองราชย์ เป็นกษัตริย์ George VI) กษัตริย์ Edward VIII ได้ทรงเลือกสมรสกับคนรัก คือนาง Wallis Simpson สตรีชาวอเมริกัน หม้ายผู้หย่าร้างมา 2 ครั้ง หลังจากได้รับการต่อต้านจากรัฐสภาอังกฤษอย่างหนัก และเป็นผลทำให้ ผู้สืบสายเลือดของ Edward VIII ซึ่งเปลี่ยนสถานะเป็น Duke of Windsor จะไม่มีสิทธิใดๆในการสืบราชบัลลังก์ของอังกฤษและเครือจักรภพ

ในปัจจุบัน พระราชินีอลิซาเบธที่สอง (Elizabeth II) จะมีผู้สืบราชวงศ์ตามลำดับ คือ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (Charles, Prince of Wales) ต่อไปคือเจ้าชายวิลเลียม (Prince William, Duke of Cambridge) พระโอรสองค์แรกของเจ้าชายชาร์ลส์ (Prince of Wales's eldest son)

ในการจะขึ้นครองราชย์ของสหราชอาณาจักรปัจจุบัน 4 บุคคลแรกที่อยู่ในสายสืบทอดราชบัลลังก์ คือผู้ที่ต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไป เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล อาจได้รับการแต่งตั้งเข้าเป็น คณะที่ปรึกษาแห่งรัฐ (Counsellors of State) เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของกษัตริย์

คณะที่ปรึกษาแห่งรัฐ (Counsellors of State) หมายถึงเชื้อพระวงศ์อาวุโสของราชวงศ์อังกฤษ ผู้ซึ่งกษัตริย์ได้มอบอำนาจบางอย่างให้ทำหน้าที่ราชพิธีและมีอำนาจดุจดังพระองค์เองได้ เช่น การทำหน้าที่แทนพระองค์ในขอบเขตของเครือจักรภพ หรือเมื่อกษัตริย์เสด็จต่างประเทศ หรือเหตุผลอื่นใดที่ทำให้ในช่วงเวลาสั้นๆนั้นไม่สามารถทำหน้าที่ได้ 2 คนจากคณะที่ปรึกษาแห่งรัฐ สามารถเข้าร่วมประชุมกับคณะองคมนตรี (Privy Council) ลงนามแทนในเอกสาร รับเอกสารตราตั้งจากอัครราชฑูตใหม่มายังสหราชอาณาจักรได้

ตามข้อตกลงร่วมกันในชาติเครือจักรภพ เนื่องด้วยกษัตริย์ของสหราชอาณาจักร หมายถึงกษัตริย์ของอีกทั้ง 15 ชาติ การจะมีกษัตริย์พระองค์ใหม่ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากชาติอื่นๆ ทั้ง 15 ชาติภายใต้เครือจักรภพด้วย ตามกฎหมาย Statute of Westminster 1931 และตามข้อตกลงในการประชุมเครือจักรภาพ ปี ค.ศ. 2011 (Commonwealth Heads of Government Meeting 2011) ได้มีประกาศร่วมกันของผู้นำของทั้ง 16 ประเทศ การสืบราชบัลลังก์จะเปลี่ยนแปลง โดยราชโอรส (Sons) ของกษัตริย์ผู้ครองราชย์ ในอนาคตจะไม่มีสิทธิเหนือราชธิดา (Daughters) ในอีกด้านหนึ่ง การห้ามกษัตริย์ทรงสมรสกับบุคคลนิกายโรมันแคธอลิกก็ตกไป เงื่อนไขด้านการนับถือศาสนาของคู่ครอง จะไม่เป็นเงื่อนไขการสมรสของผู้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ แต่ในฐานะบุคคล กษัตริย์ก็ยังต้องเป็นผู้นับถือคริสต์ศาสนานิกายอังกฤษ (Church of England) อันเป็นนิกายหลักของชาติอังกฤษอยู่

รายพระนามบุคคลผู้มีสิทธิสืบราชบัลลังก์ของประเทศสหราชอาณาจักร 20 พระองค์แรก



ภาพ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (Charles, Prince of Wales)
ผู้ได้ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมาร ตั้แต่ปี ค.ศ. 1952

1.    Charles, Prince of Wales (b 1948), พระโอรสองค์แรกของพระราชินีอลิซาเบธที่สอง (Eldest son of Queen Elizabeth II)
2.    Prince William, Duke of Cambridge (b 1982), พระโอรสพระองค์แรกของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (Elder son of Charles, Prince of Wales)
3.    Prince Harry of Wales (b 1984), พระโอรสของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์องค์ที่สอง  หรือพระองค์เล็ก (younger son of Charles, Prince of Wales)
4.    Prince Andrew, Duke of York (b 1960), พระโอรสองค์ที่สองของพระราชินีอลิซาเบธที่สอง (second son of Queen Elizabeth II)
5.    Princess Beatrice of York (b 1988), พระธิดาของเจ้าชายแอนดรู (elder daughter of Prince Andrew, Duke of York)
6.    Princess Eugenie of York (b 1990), พระธิดาของเจ้าชายแอนดรู (younger daughter of Prince Andrew, Duke of York)
7.    James, Viscount Severn (b 2007), บุตรชายของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด (son of Prince Edward, Earl of Wessex)
8.    Lady Louise Windsor (b 2003), ธิดาของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด (daughter of Prince Edward, Earl of Wessex)
9.    Anne, Princess Royal (b 1950), พระธิดาของพระราชนินีอลิซาเบธที่สอง (daughter of Queen Elizabeth II)
10. Peter Phillips (b 1977), บุตรชายของเจ้าหญิงแอน (son of Anne, Princess Royal)
11. Savannah Phillips (b 2010), ธิดาของปีเตอร์ ฟิลลิปส์ (daughter of Peter Phillips, son of Anne, Princess Royal)
12. Isla Phillips (b 2012), ธิดาของปีเตอร์ ฟิลลิปส์ (daughter of Peter Phillips, son of Anne, Princess Royal)
13. Zara Phillips (b 1981), ธิดาของเจ้าหญิงแอน (daughter of Anne, Princess Royal)
14. David Armstrong-Jones, Viscount Linley (b 1961), บุตรชายของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต (son of Princess Margaret, the late younger sister of Queen Elizabeth II)
15. The Honourable Charles Armstrong-Jones (b 1999), son of David Armstrong-Jones, Viscount Linley
16. The Honourable Margarita Armstrong-Jones (b 2002), daughter of David Armstrong-Jones, Viscount Linley
17. Lady Sarah Chatto (b 1964), daughter of Princess Margaret the late younger sister of Queen Elizabeth II
18. Samuel Chatto (b 1996), elder son of Lady Sarah Chatto, daughter of Princess Margaret
19. Arthur Chatto (b 1999), younger son of Lady Sarah Chatto, daughter of Princess Margaret






จากลำดับการสืบราชบัลลังก์ จะแสดงว่าสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษจะมีประเพณีสืบทอดราชบัลลังก์ได้ต่อไป ไม่ว่าจะเกิดปัญหาหรืออุปสรรคใดๆเกิดขึ้น

No comments:

Post a Comment