Wednesday, June 27, 2012

กีฬาสู้วัวกระทิง (Bullfighting) ในประเทศสเปน


กีฬาสู้วัวกระทิง (Bullfighting) ในประเทศสเปน

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: info@sb4af.org

Keywords: การกีฬา, Bullfighting, Matador, Spain, Portuguese, 

กีฬาชนวัวของไทย คือเอาวัวตัวผู้สองตัวที่ฟิตจนแข็งแกร่ง มาชนกันจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะชนะ อีกฝ่ายถอยหรือหนีไป

กีฬาสู้วัวกระทิง (Bullfighting) เป็นวัฒนธรรมกีฬาของสเปนและปอร์ตุเกส ซึ่งในสเปนเรียกว่า corrida de toros ในภาษาปอร์ตุเกสเรียกว่า tourada เป็นที่รู้จักกันในชื่อ tauromachia หรือ tauromachy เป็นกีฬาสำหรับคนดูในประเทศสเปน ปอร์ตุเกส และทางใต้ของฝรั่งเศส และในประเทศที่พูดภาษาสเปนในอเมริกาใต้ เช่น Mexico, Colombia, Ecuador, Venezuela และPeru
ภาพ วัวตัวผู้ (Bull) ที่คัดเลือกมาเพื่อการสู้วัว ต้องเป็นวัวแข็งแรงเปรียว ดุดัน แต่ไม่ใช่ตัวที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งอาจจะอืดอาดช้า

ในกีฬานี้จะมีการปล่อยวัว 1 ตัวหรือหลายตัวเข้ามาในสนามสู้วัว โดยมีนักสู้วัว (Matador) หลอกล่อวัวให้ชน (Baited) ผิดครั้งแล้วครั้งเล่า โดยนักสู้วัวจะหลอกล่อและหลบหลีกสร้างความหวาดเสียวให้กับคนดู ยิ่งเฉียดฉิวเท่าใดยิ่งสร้างความพอใจให้กับคนดูมากเท่านั้น แล้วในช่วงท้ายเมื่อวัวอ่อนแรงแล้ว ก็จะใช้ดาบปักทิ้งที่กลางหลังอย่างลึกจนวัวเสียชีวิตด้วยเพียงดาบเดียว หรืออาจใช้หลายดาบจนวัวทนบาดเจ็บไม่ไหวเสียชีวิตในเวทีสู้วัวนั้น มีบางครั้งเหมือนกันที่นักสู้วัวพลาด และถูกวัวขวิดจนได้รับบาดเจ็บ พิการ หรือแม้แต่เสียชีวิต ในประเทศปอร์ตุเกส การฆ่าวัวในสนามต่อสู้ถือว่าผิดกฎหมาย แต่วัวที่ผ่านการต่อสู้ในเวทีมาแล้วจะถูกนำไปเชือด เพราะเขาจะใช้วัวเข้าสู้ในสนามได้เพียงครั้งเดียว ในปอร์ตุเกสยกสุดท้ายของการต่อสู้คือนักสู้วัวสามารถจับเขาทั้งสองของวัวในขณะที่วัวพุ่งเข้าชน

กีฬานี้ยังเป็นที่ได้รับความนิยมแม้มีผู้เห็นว่าเป็นกีฬาที่โหดร้ายต่อสัตว์ ทั้งวัวและม้าที่ใช้ในสนาม
ภาพ การหลอกล่อวัวอย่างหนึ่งคือใช้ผ้าสีแสงล่อวัวให้พุ่งชน ส่วนตัวนักสู้วัวก็จะเบี่ยงตัวหลบไปทางด้านข้าง

ในด้านความนิยมกีฬาสู้วัวในสเปนและกลุ่มลาตินทั้งหลายนั้น ดูได้จากขนาดของสนาม ดังที่เวที Plaza México ในตอนกลางของเมืองเมกซิโกซิตี้ (Central Mexico City) ประเทศเมกซิโก ซึ่งจุดคนดูได้ถึง 48,000 คน ส่วนสนามสู้วัวที่เก่าแก่ที่สุดคือ La Maestranza ที่เมือง Seville ในประเทศสเปน ซึ่งได้มีการกีฬาสู้วัวเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1765

Tuesday, June 26, 2012

ทางเดินกระดานไม้ริมทะเล (Boardwalk)


ทางเดินกระดานไม้ริมทะเล (Boardwalk)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: info@sb4af.org

Keywords: การคมนาคม, city planning, urban planning, boardwalk, esplanade, promenade,

ทางเดินกระดานไม้ริมทะเล หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Boardwalk, Board walk, หรือ Boarded path สร้างเพื่อเป็นทางเดินเท้าไปตามชายหาด หรือทางเดินเข้าไปในป่าเปียกชื้น (Wetlands) หรือในที่ๆระบบสภาวะแวดล้อมมีความเปราะบาง และเขาไม่ต้องการให้การเดินของมนุษย์ไปกระทบกับสิ่งแวดล้อมในป่านั้น ดังเช่น ป่าไม้โกงกาง ป่าชายเลน ป่าพรุ เขตทางเดินผ่านของเพนควิน (Penguin Paths) ที่สร้างเป็นทางเดินไม้ไว้ข้างบน โดยนกเพนควินยังเดินขึ้นและลงทะเลได้ตามปกติ เป็นต้น
ทางเดินกระดานไม้ (Boardwalks) มีให้เห็นตามเขตที่มีน้ำขึ้นน้ำลง (intertidal zones) ซึ่งรู้จักกันในออสเตรเลียว่า Foreshoreways ทางเดินกระดานไม้บริเวณริมแม่น้ำ อาจมีการเรียกว่า Riverwalk และหากเป็นการใช้ริมทะเลกว้างหรือมหาสมุทรก็มักจะมีชื่อเรียกว่า Oceanway

ทางเดินกระดานไม้มีไว้เพื่อเป็นทางเดินเท้า มิได้เจตนาเพื่อให้ยานพาหนะหนักใช้ขับผ่าน ทางเดินเท้าเหล่านี้จึงส่งเสริมเขตการค้าริมทะเลสำหรับนักท่องเที่ยว ทำให้มีร้านค้าต่างๆเปิดบริการด้านข้าง Boardwalk อาจมีให้พบเห็นทั่วโลก แต่ที่มีพบมากที่สุดคือบริเวณชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกาในทวีปอเมริกาเหนือ

Boardwalk ดั้งเดิมหลายแห่งได้พัฒนาประสบความสำเร็จ เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยลักษณะทางเดินไม้เรียบง่าย แต่ต่อมาบางแห่งเปลี่ยนเป็นทางเดินคอนกรีตที่เรียกว่า Esplanades อาจมีผิวหน้าเป็นอิฐ หรือมีไม้เป็นส่วนประดับ

ภาพ ทางเดินกระดานไม้ริมทะเล (Boardwalk) ของเมืองแอทแลนติกซีตี้ (Atlantic City Boardwalk) ภาพถ่ายเมื่อปี ค.ศ. 1951

ภาพ ทางเดินกระดานไม้ริมทะเล (Boardwalk) ของเมือง Atlantic City ที่เห็นได้ในปัจจุบัน ยังคงประวัติศาสตร์ที่เป็น Boardwalk ตั้งแต่ก่อนใครอื่น

ภาพ ทางเดินกระดานไม้ริมทะเล (Boardwalk) Coney Island ของสถานตากอากาศในเมืองนิวยอร์ค นั่งรถไฟฟ้าใต้ดิน MTA คล้ายๆกับ BTS หรือ MRT ไปถึงได้เลย นับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนนิวยอร์คได้อย่างดี โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศไม่หนาวเย็นจนเกินไป

ภาพ เมืองและสวนสนุกที่อยู่ในบริเวณ Coney Island แต่ที่นี่เขากำลังคิดกันว่าเมื่อต้องปรับปรุงซ่อมแซม สถานที่ท่องเที่ยวนี้ จะใช้ทางเดินที่เป็นคอนกรีตในบางส่วน เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่จะต้องบำรุงรักษา กระดานไม้อย่างหนา ที่ต้องไปประมูลป่าไม้เนื้อแข็งมาจากบราซิลหรืออเมริกาใต้ ซึ่งต้อไปจะหาได้ลำบาก และมีค่าใช้จ่ายสูง 

ในปัจจุบันหลายส่วนในอเมริกา คำว่า Boardwalk ได้เปลี่ยนความหมายเป็นทางเดินริมน้ำ (Waterfront, pedestrian) ทางเดินเท้า ทางเดินริมแม่น้ำ ทางเดินริมคลอง เป็นเขตบันเทิงที่มีประวัติเดิมมาจากทางเดินไม้ (Wooden path) ทางเดินเหล่านี้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือที่รัฐนิวเจอร์ซี (New Jersey) ซึ่งเปิดใช้งานเป็นครั้งแรกในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1870 ที่เมืองแอตแลนติก (Atlantic City)

จี๊บนีย์ (Jeepney) รถโดยสารรับจ้างสัญลักษณ์ของฟิลิปปินส์


จี๊บนีย์ (Jeepney) รถโดยสารรับจ้างสัญลักษณ์ของฟิลิปปินส์

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: info@sb4af.org

Keywords: การคมนาคม, Transportation, ยานพาหนะ, vehicles, รถยนต์, car,

จี๊บนี้ย์เป็นยานพาหนะที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศฟิลิปปินส์ เป็นผลิตผลจากเดิมที่กองทัพสหรัฐได้ทิ้งรถจี๊บ (Jeeps) ที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่สอง (World War II) เอาไว้ แล้วชาวฟิลิปปินส์ได้นำมาดัดแปลงเพื่อทำเป็นรถโดยสาร ที่ใช้บรรทุกผู้โดยสารได้มากขึ้น โดยการต่อตัวถังให้ยาวขึ้น และเมื่อเครื่องรุ่นเดิมหมดอายุและไม่มีประสิทธิภาพพอ ก็ใช้เครื่องยนต์เก่าจากญี่ปุ่นมาดัดแปลงใส่ สำหรับตัวถังที่เป็นสีทึมแบบทหาร ก็ดัดแปลงด้วยศิลปะลวดลายต่างๆที่ให้สีฉูดฉาดตามแบบชาวบ้านในฟิลิปปินส์
ส่วนใหญ่รถจี๊บนีย์เป็นรถยนต์ที่ใช้เป็นรถโดยสารสาธารณะ มากกว่าเป็นรถส่วนตัว สำหรับเครื่องยนต์ที่ใช้ในจี๊บนีย์มากที่สุดจะเป็นเครื่องยนต์ Isuzu ดีเซล ก็มีตั้งแต่เริ่มต้นที่ 4 สูบความจุกระบอกสูบที่ 2.0 ลิตร ไปจนถึงขนาด 3.6 และ 4.3 ลิตร มีขนาดตัวถึงที่ต่อออกไปมีที่นั่งแบบ 2 แถว รับผู้โดยสารได้ถึงแถวละ 8 คนรวม 2 แถวคือจุถึง 16 คน

ภาพ รถ Jeepney ที่มีลำตัวยาวด้วยการขยายตัวถังออกมา เสริมให้มีความแข็งแรง ส่วนเครื่องยนต์ก็มีการปรับเปลี่ยนใช้ขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 2.0-3.0 ลิตร เป็นเครื่องยนต์ดีเซลเป็นส่วนใหญ่

แต่รถจี๊บนีย์เป็นรถที่ไม่สามารถปรับปรุงด้านการออกแบบได้มากนัก เมื่อในระยะหลังมีรถโดยสารในแบบอื่นๆที่ออกแบบและพัฒนามาจากโรงงานที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ขับเคลื่อนได้รวดเร็วกว่า นั่งสบายกว่า รถจี๊บนีย์ก็มีแนวโน้มจะถูกทดแทนไปเรื่อยๆ มีการศึกษาว่า รถจี๊บนีย์บรรทุกคนได้เต็มที่ 16 คนนี้ ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเท่าๆกับรถโดยสารขนาดจุได้ 54 คน ซึ่งจุผู้โดยสารได้มากเป็น 3.5 เท่าของจี๊บนีย์ และด้วยในเมืองใหญ่ที่ถนนแออัดคับคั่งไปด้วยจำนวนรถ จึงมีความพยายามจะลดหรือขจัดรถจี๊บนีย์นี้ แล้วใช้ระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

ภาพ รถ Jeepney วิ่งรับผู้โดยสารในลักษณะคล้ายรถสองแถว อาจมีคนเก็บเงิน หรือไม่ก็ต้องเดินไปจ่ายค่าโดยสารที่คนขับ ทำให้มีการชะลอ ทำการจราจรติดขัด คล้้ายกับรถสองแถวในประเทศไทย ที่จะมีเหลือวิ่งในบางตรอกซอย แต่ในถนนใหญ่ไม่ได้อนุญาตให้วิ่งแล้ว

โฟล์คสวาเกน (VW) จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2013

โฟล์คสวาเกน (VW) จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2013

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: info@sb4af.org

Keywords: การคมนาคม, Transportation, ยานพาหนะ, vehicles, รถยนต์, car, รถยนต์ไฟฟ้า, Electric car, EV, hybrid electric car, PHEV

เก็บความและเรียบเรียงส่วนหนึ่งจาก “VW Announces Electric Car for 2013, Warns Against "Electro-Hype" โดย Michael Graham Richard,

บริษัทรถยนต์โฟล์คสวาเกนเริ่มออกรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกปี 2013

Dr. Martin Winterkorn ประธานกรรมการของบริษัท Volkswagen AG กล่าวว่าบริษัท VW จะออกรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกในปี ค.ศ. 2013 โดยใช้โครงสร้างรถยนต์ครอบครัวขนาดเล็กที่ได้ออกมาในปี ค.ศ. 2007 บริษัท VW ไม่อยากให้คนคาดหวังในอนาคตของรถยนต์ไฟฟ้ามากนัก ซึ่งเขาเตือนให้ระวัง electroc-hype หรืออาการหวือหวาไปกับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเขาคาดว่าจริงๆแล้วในปี ค.ศ. 2020 หรือในอีก 8 ปี ส่วนแบ่งของรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นเพียงร้อยละ 1.0 ถึง 1.5


ภาพ รถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบของ Volkswagen โดยอาศัยโครงสร้างรถยนต์ครอบครัวขนาดเล็กของ VW คาดจะออกสู่ตลาดในปี ค.ศ. 2013

ภาพ โครงสร้างของรถยนต์ไฟฟ้าโดยบริษัท Volkswagen โดยใช้เริ่มต้นในรถยนต์ครอบครัวขนาดเล็ก เก็บแบตเตอรี่ไว้ในส่วนหลัง

ไดมูอิด โอคอนเนล (Diarmuid O'Connell) รองประธานกรรมการผู้ดูแลด้านการพัฒนาของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ได้ทำนายว่าภายในปี ค.ศ. 2020 ร้อยละ 30 ของรถยนต์ที่วิ่งในถนนทั้งหลายจะเป็นระยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ไฟฟ้าลูกประสมแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) Tesla นอกจากจะพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรก คือ Tesla Roadster แล้ว ยังพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าสำหรับครอบครัว คือ Tesla Model S และ Tesla Model X อันเป็นรถอเนกประสงค์แบบ SUV และในอนาคต Tesla ก็มีนโยบายที่พร้อมจะร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อื่นๆ โดยจุดหลักของ Tesla คือ การผลิตระบบส่งพลังขับเคลื่อน (Drivetrain) สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

คาร์ลอส กอสน์ (Carlos Ghosn) กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทนิสสันทำนายว่าภายในปี ค.ศ. 2020 รถยนต์ 1 ใน 10 คันที่วิ่งอยู่บนถนน จะเป็นรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่เป็นพลังงานหลักอย่างเดียว และโดยรวม รถยนต์ที่ใช้พลังจากแบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้าลูกประสม และรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอื่นๆจะมีประมาณ 1 ใน 3 ของการขายรถยนต์ในปี ค.ศ. 2020

จะเห็นได้ว่าบริษัท VW ของเยอรมันอันเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมันมองตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไว้อย่างอนุรักษ์ เมื่อเทียบกับบริษัทยักษ์ใหญ่เหมือนกันอย่าง Nissan-Renault ซึ่งเป็นความร่วมมือของญี่ปุ่นและฝรั่งเศส ที่ไม่พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าลูกประสม แต่ทุ่มเทให้กับรถยนต์ไฟฟ้าทั้งคัน (Electric Car) อย่าง Nissan Leaf และขณะนี้บริษัท Nissan-Renault ก็ต้องถือว่าได้ยืนในแถวหน้าสุดของกระบวนการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า

บริษัทรถยนต์ Toyota ผู้พัฒนารถยนต์ Toyota Prius ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในแบบเป็นรถยนต์ไฟฟ้าลูกประสม (Hybrid cars) และจะยังเดินในสายนี้เป็นหลัก โดยพัฒนา Prius ขนาดครอบครัว ใหญ่ขึ้นนั่งสบายขึ้น และรถ Prius C ซึ่งเป็นรถยนต์ขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังปรับเปลี่ยนรถยนต์ของ Toyota ให้ใช้เทคโนโลยี Hybrid ที่ประสบความสำเร็จเหนือคนอื่นๆ แต่ก็กล่าวได้ว่า Toyota เองไม่ได้ทุ่มเทไปในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า (Electric cars, EV) มากนัก นอกจากร่วมมือในโครงการพัฒนา รถยนต์ไฟฟ้า RAV4 EV โดยอาศัยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าจาก Tesla Motors ของอเมริกา

ในอีกด้านหนึ่ง บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ต่างไม่มั่นใจในปริมาณแร่ Lithium ว่าเมื่อมีความต้องการรถไฟฟ้าจำนวนมากๆ ก็ต้องใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้าแบบใหม่ ที่ต้องอาศัยแร่ Lithium แล้วจะมีแหล่งแร่นี้ป้อนให้กับตลาดที่มีความต้องการได้อย่างเพียงพอหรือไม่ ในด้านนี้ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ข้อสังเกตว่า แร่สำคัญที่ใช้ในแบตเตอรี่ใหม่ คือแร่ Lithium นั้น จะมีปริมาณสำรองอย่างเพียงพอจากแหล่งต่างๆทั่วโลก ทั้งในจีน ประเทศทางอเมริกาใต้ และที่อื่นๆ แต่คำตอบของบรรดารถยนต์ไฟฟ้าทั้งหลายน่าจะขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีแบตเตอรี่รุ่นใหม่ ที่จุไฟได้มากขึ้น ชาร์จไฟได้เร็วขึ้น น้ำหนักเบาลง และราคาถูกลง

ในอีกด้านหนึ่งคือราคาน้ำมันในตลาดโลก หากราคาน้ำมันจากปิโตรเลียมสูงขึ้นมากและอย่างรวดเร็ว รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นทางออกที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่หากราคาน้ำมันยังขึ้นไปอย่างช้าๆ การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ก็คงเป็นไปอย่างไม่เร็วนักเช่นกัน

ภาพ Tesla ของอเมริกาออกรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นที่ 3 คือ Tesla Model X เป็นรถแบบสปอร์ตอเนกประสงค์ (SUV) 

ภาพ รถยนต์ไฟฟ้าของ Toyota รุ่น RAV4 EV เป็นรถยนต์ไฟฟ้าในโครงสร้างของ RAV4 ซึ่่งเป็นรถสปอร์ตอเนกประสงค์ที่มีมาแต่เดิม แต่ปรับเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งระบบ

Sunday, June 24, 2012

สหรัฐมองมาที่ฐานทัพต่างๆในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้


สหรัฐมองมาที่ฐานทัพต่างๆในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
U.S. eyes return to some Southeast Asia military bases

ผมได้แปลบทความนี้อย่างพยายามรักษาเนื้อความอย่างตรงไปตรงมาที่สุด แต่หากต้องการอ่านรายละเอียด ก็ต้องติดตามอ่านจาก Washington Post สื่อที่ติดตามนโยบายของรัฐบาลกลางสหรัฐอย่างตามติดมากที่สุด

ประกอบ คุปรัตน์, Pracob Cooparat, E-mail: pracob@sb4af.org


ภาพ Jim Watson/AP -  U.S. Defense Secretary Leon Panetta, left, receives a photo album of his visit to Vietnam from Gen. Vu Chien Thang upon his departure at Noi Bai International Airport in Hanoi, Vietnam Tuesday, June 5, 2012.

Washington Post - ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้เร่งเจรจากับไทยเพื่อสร้างฐานการติดตามศึกษาภัยธรรมชาติ โดยเน้นการใช้ฐานทัพอากาศที่อเมริกาได้สร้างขึ้นที่อู่ตะเภา ซึ่งสนามบินแห่งนี้ สามารถรองรับการขึ้นลงของเครื่องบินทิ้งระเบิดยักษ์ B-52 bombers ในช่วงทศวรรษ 1960s และ 1970s เจ้าหน้าที่สหรัฐกล่าวว่าเขาจะเยี่ยมท่าเรือในไทยและร่วมการบินตรวจตราติดตามเส้นทางการค้าและการเคลื่อนไหวทางทหาร

ในประเทศถัดไปในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ คือเวียดนาม รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ Leon E. Panetta เป็นเจ้าหน้าที่สหรัฐระดับสูงสุดที่ได้ไปเยี่ยมฐานทัพเรือที่ Cam Ranh Bay ในช่วงหลังสงครามเวียดนามยุติ เขากล่าวว่า "ที่นี่มีศักยภาพมากทีเดียว" Panetta กระตือรือล้นที่จะเห็นอเมริกันส่งเรือรบเข้ามาเยี่ยมท่าเรือน้ำลึกแถบนี้บ่อยขึ้น

กระทรวงกลาโหมได้แสวงหาความร่วมมือจากฟิลิปปินส์ด้วย โดยมองไปที่อ่าว Subic Bay ที่สหรัฐเคยมีฐานทัพอากาศที่ Clark Air Base ซึ่งเคยใช้เป็นฐานทัพในเอเซียเพื่อการซ่อมบำรุงในระหว่างสงครามเวียดนาม

การทหารสหรัฐได้เคยสละหรือถูกขับออกจากฐานทัพในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และในช่วงที่จีนแสดงแสนยานุภาพทางการทหารที่เติบโตขึ้น มีการอ้างสิทธิในดินแดนที่ยังเป็นความขัดแย้ง แต่กระนั้น ทั้งไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ต่างให้การต้อนรับสหรัฐอย่างระมัดระวังตัวเอง


ข้อมูลพื้นฐาน - สนามบินอูตะเภา (U-tapao) เป็นสนามบินที่ใช้ประโยชน์สาธารณะและเพื่อการทหาร ดำเนินการโดยรัฐบาลไทยเป็นเขตบริการให้กับจังหวัดระยองและชลบุรี มีระดับสูงกว่าน้ำทะเล 13 เมตร มีทางบินลาดยาง Asphalt ยาว 3,505 เมตร สร้างไว้อย่างแข็งแรงรองรับเครื่องบินที่เรียกว่าป้อมบินยัก B 52


ภาพ เครื่องบินยักษ์ B 52 ที่ถูกใช้เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ใช้ฐานที่สนามบินอู่ตะเภาในช่วงสงครามเวียดนาม


ภาพ เครื่องบินยักษ์ B 52

เครื่องบิน B 52 เริ่มสร้างเมื่อปี 1952-1955 มีใช้ในกองทัพอากาศสหรัฐและองค์การ NASA มีผลิตออกมาทั้งสิ้น 744 ลำ ปัจจุบันเหลือใช้งานอยู่ 85 ลำ

Saturday, June 23, 2012

ตำนานรถยนต์โฟล์คสวาเกน หรือรถโฟล์คเต่า


ตำนานรถยนต์โฟล์คสวาเกน หรือรถโฟล์คเต่า

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: info@sb4af.org

Keywords: ยานยนต์, vehicle, automobile, VW, Volkswagen, Design, การออกแบบ, Volkswagen Type 1
ภาพ รถ VW รุ่นปี ค.ศ. 1949 หลังใช้เวลาพัฒนาต้นแบบ และใช้ทดสอบในสนามจริงในช่วงสงคราม รถในรุ่นหลังๆ มีรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไปบ้าง แต่โดยโครงสร้างยังเป็นในแนวเหมือนตัวเต่า หรือแมลงเต่าทอง

รถยนต์โฟล์คสวาเกน ผลิตโดยบริษัทโฟล์คสวาเกน (Volkswagen) ของเยอรมัน หรือมีชื่อเรียกอย่างอื่น เช่น Beetle, Super Beetle, หรือ Käfer หรือมีชื่อเล่นว่า "เต่า" หรือ "เต่าทอง" (Bug) เริ่มผลิตด้วยระบบสายพานตั้งแต่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง 1938–2003 รวมผลิตได้รวม 21,529,464 คน จำนวน 15,444,858 คัน ผลิตในเยอรมัน อีก 3,350,000 คันผลิตในบราซิล นับเป็นรถยนต์ที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านการออกแบบ และความยอมรับในตลาด ด้วยราคาที่ประหยัด ด้วยแรงงานของเยอรมันในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ทั้งมีคุณภาพ ประณีต ทำให้รถมีราคาไม่สูง สามารถส่งไปขายได้ทั่วโลก ในระดับที่ต้องเรียกว่ารถมหาชน

มีฐานการผลิตกระจายไปใน Wolfsburg, Hanover, Emden, Ingolstadt, Osnabrück ประเทศเยอรมนี (Germany)และที่ Melbourne ในประเทศออสเตรเลีย (Australia) Brussels ประเทศเบลเยี่ยม (Belgium) São Bernardo do Campo ในประเทศบราซิล (Brazil) ที่ Jakarta ประเทศอินโดนีเซีย (Indonesia), Dublin ประเทศไอร์แลนด์ (Ireland), Puebla, ประเทศเมกซิโก (Mexico), Auckland ประเทศนิวซีแลนด์ (New Zealand), Lagos ประเทศนิวซีแลนด์ (Nigeria), Manila ประเทศฟิลิปปินส์ (Philippines), Uitenhage ประเทศอัฟริกาใต้ (South Africa), Sarajevo ประเทศบอสเนีย และเฮอร์เซโกวีน่า (Bosnia and Herzegovina), ประเทศยูโกซลาเวีย (Yugoslavia), และ Valencia ประเทศเวเนซูเอลา (Venezuela)
ในช่วงเริ่มต้น รถ VW นี้ใช้เครื่องขนาด 1.1 L แล้วในช่วงเวลาที่ถนนหนทางหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้พัฒนาให้ดียิ่งขึ้น จึงใช้เครื่องขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้มีพลังมากขึ้น ตามระยะเวลา จนถึงขนาด 1.6 L โดยใช้เครื่องแบบ 4 สูบ ใช้เกียร์ 4 ระดับ วางเครื่องส่วนหลัง ใช้ระบบระบายความร้อนด้วยลมแทนที่จะเป็นแบบระบายความร้อนด้วยน้ำเหมือนรถอื่นๆ ตัวถังในแบบแมลงเต่าทอง มีลักษณะลู่ลม น้ำหนักตัวรถเบา ไม่มีระบบหม้อน้ำระบายความร้อน ไม่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะเมื่อใช้ในเขตหนาว ไม่มีปัญหาน้ำแข็งตัวในหม้อน้ำและเครื่องยนต์

รถโฟล์คเต่านี้ จึงเป็นรถที่มีการผลิตอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุด ถึง 65 ปี

Thursday, June 21, 2012

มีเพื่อนใหม่ แต่อย่าทิ้งเพื่อนเก่า


มีเพื่อนใหม่ แต่อย่าทิ้งเพื่อนเก่า

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: info@sb4af.org

Keywords: การเมือง, การปกครอง, การต่างประเทศ, international relations, USA, United States, China, สหรัฐ, จีน

ภาพ ธงชาติสหรัฐที่เรียกว่า Stars and Stripes และนกอินทรีย์ที่เป็นสัตว์สัญญลักษณ์ของสหรัฐอเมริกา

มีเพลงหนึ่ง เขาสอนให้เด็กๆร้อง เพื่อสอนเรื่องความสัมพันธ์ และการสร้างมิตรภาพ

Make new friends,
But keep the old.

One is silver,
And the other, gold.

A circle's round
It has no end
That's how long 
I'm gonna be your friend.

มีเพื่อนใหม่ แต่รักษาเพื่อนเก่า
คนหนึ่งเป็นเงิน และคนอื่นๆก็เป็นทอง
อันวงกลมนั้นไม่มีจุดจบ มันยาว
และนั่นคือมิตรภาพของเรา

ประเทศจีนนั้น อยู่เป็นเพื่อนบ้านกับไทยมาแสนยาวนาน คนครึ่งประเทศไทยมีเชื้อสายจีนอยู่อย่างแยกออกลำบาก มีบางครั้งที่ทั้งสองมีแนวคิดอุดมการณ์การเมืองแตกต่างกัน แต่รวมแล้ว สัมพันธภาพไทย-จีนเป็นสิ่งที่ต้องยืนยาวและแนบแน่นตลอดไป

หากนับประวัติศาสตร์อันยาวนาน สหรัฐอเมริกาเพิ่งมาเป็นเพื่อนใหม่จริงจังมากๆ ก็ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อเมริกันนั้นด้วยนโยบายการเมืองที่แปรเปลี่ยน อเมริกันจึงมีลักษณะเข้าๆออกๆในภูมิภาคเอเซีย ห่างไกลทั้งจีนและอินเดียที่มีประชากรรวมกันเกือบครึ่งโลก แต่กระนั้นเมื่ออเมริกาจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเอเซียรวมถึงในไทย ก็ต้องนับว่าเป็นสิ่งดี และอเมริกันก็เป็นเพื่อนใหม่ที่สำคัญ


อเมริกาหันมาให้ความสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกลเป็นสิ่งที่ดี และไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สำหรับไทยแล้ว เราเป็นประเทศอิสระ เรามีสันติภาพที่ยืนยาวได้ ด้วยมีนโยบายเป็นมิตรกับทุกประเทศ เราคงต้องรักษามิตรภาพกับมหาอำนาจ ทั้งจีน-อินเดีย สหรัฐ ยุโรปตะวันตกและตะวันออก อย่างมีดุลยภาพ ด้วยหลัก “มีเพื่อนใหม่ แต่อย่าทิ้งเพื่อนเก่า”

Monday, June 18, 2012

สุภาษิตเยอรมัน - อย่ามองเห็นต้นไม้ โดยไม่เห็นป่า


สุภาษิตเยอรมัน - อย่ามองเห็นต้นไม้ โดยไม่เห็นป่า

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: info@sb4af.org

Keywords: การเมือง, การปกครอง, Holistic view, vision, วิสัยทัศน์, health, medicine, สุขภาพ, การแพทย์

มีสุภาษิตเยอรมันบทหนึ่งกล่าวว่า “Den Wald vor lauter Bäumen nicht sehen.” ซึ่งใกล้เคียงกับสุภาษิตในภาษาอังกฤษว่า “To not see the forest for the trees.” แปลเป็นไทยได้ความว่า “อย่ามองเห็นต้นไม้ โดยไม่เห็นป่า

ในภาษาไทยในวงการบริหาร จะมีคำคมหนึ่งว่า “จงเป็นนก อย่าเป็นหนอน” กล่าวคือ คนบางคนเป็นคนละเอียดในการพินิจพิเคราะห์ แต่เป็นประเภทสนใจในรายละเอียด แต่กลับมองไม่เห็นส่วนที่เป็นหลักการใหญ่ หรือสาระสำคัญ ทำให้เป็นคนที่

ยกตัวอย่าง ในวงการแพทย์ แพทย์แต่ละคนจะเป็นพวกที่รักษาคนเจ็บป่วยปลายทาง และรักษาเป็นคนๆไป แต่มีบางโรคที่รักษาเท่าไร ก็กลับมีคนไข้มาหามากยิ่งขึ้น เพราะเป็นการรักษาตามอาการ และรักษาที่ปลายเหตุ ดังคนเป็นโรคอ้วน รักษาแบบตามอาการ ก็ใช้ยาไปลดความอ้วน หายานานาประการที่ทำให้คนลดการบริโภคอาหาร เพิ่มการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย คนอ้วนนั้นก็จะลดน้ำหนักได้จริงสัก 5-10 กิโลกรัม แต่แล้วก็จะกลับยิ่งหิว แล้วเมื่อเลิกใช้ยาก็กลับมาบริโภคใหม่ หนักยิ่งกว่าเดิม ส่วนยาลดความอ้วนนั้น หลายตัวเป็นพวกไปควบคุมกดระบบประสาท บางชนิดมีลักษณะกระตุ้นการใช้พลังงาน เหมือนเป็นพวกยาบ้า กินแล้วรู้สึกระปี้กระเปร่าเป็นช่วงหนึ่ง แล้วก็ทำให้เป็นโรคติดยา เกิดอาการประสาทหลอน เป็นปัญหาหนักหนาไปยิ่งกว่าเดิม

ความจริงโรคอ้วน (Obesity) เป็นโรคที่หากมองภาพใหญ่ มีผลมาจากสภาพสังคมและวัฒนธรรมของชีวิตผู้คนที่เปลี่ยนไป คนใช้ชีวิตในแบบดั่งเดิม เช่นชาวนา กรรมการแบกหาม จะไม่มีคนเป็นโรคอ้วนมากนัก

ในสังคมยุคใหม่ ดังในอเมริกาและยุโรปหลายประเทศ คนรุ่นใหม่กินอาหารที่สมบูรณ์มากขึ้น กินผักและอาหารเยื่อใยน้อยลง ออกกำลังกายน้อยลง งานที่เคยใช้คนทำ กลายเป็นมีหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ในระบบโรงงาน งานโรงงานและการเกษตรลดลง กลายเป็นงานบริการ (Service Sector) นั่งทำงานในสำนักงาน ในแต่ละโรงเรียน ครูอาจารย์ใส่ใจต่อเรื่องของสุขภาพน้อยลง ไม่ได้จริงจังในวิชาพลศึกษา ลูกเสือ เนตรนารี โภชนศึกษา กิจกรรมค่ายพักแรม ขาดความใส่ใจในมาตรการควบคุมดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องน้ำหนักตัวของเด็กๆ

และเมื่อมองภาพใหญ่ (Holistic view) หากเราเห็นต้นเหตุของปัญหาในระดับสังคมใหญ่ เรื่องโภชนาการ เราก็ไปส่งเสริมาตรการผลิตและประกอบอาหารสุขภาพ หากมีปัญหาการออกกำลังกาย เราก็ไปส่งเสริมมาตรการที่ทำให้คนได้ออกกำลังกายโดยไม่รู้ตัว คนทำงานสำนักงาน ก็ให้ได้เดินวันไปทำงานและระหว่างทำงานบ้าง สักวันละ 2-3 กิโลเมตร ซึ่งทำได้ โดยการออกแบบเมืองใหม่ สร้างทางเดินในเมือง (Promenade) เสริมทางรถจักรยาน (Bike Routes) สวนสาธารณะ (Parks) ในโรงเรียนก็จริงจังในกิจกรรมพลศึกษาที่ออกกำลังกาย การมีมาตรฐานความสามารถด้านร่างกาย ใครมีปัญหาบกพร่อง ก็มีการพลศึกษาแบบปรับแก้ (Remedial Education)

ในด้านสุขภาพ หากเราเน้นที่มาตรการรักษา (Curative Measure) โดยไม่เน้นมาตรการป้องกัน (Preventive Measure) และส่งเสริมสุขภาพ เราจะต้องใช้เงินทองมากมายที่ไม่เป็นประโยชน์ สหรัฐอเมริกามีประชากรในกลุ่มอ้วนเกินถึงร้อยละ 30 ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน มีความเสี่ยงต่อโรคอื่นๆที่ตามมา เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต ฯลฯ โรคเหล่านี้ล้วนมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ทำให้คนเข้าๆออกๆโรงพยาบาล นำความยากลำบากมาสู่ชีวิตและครอบครัว โดยไม่จำเป็น

สุขภาพอนามัยของประชากรเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง แต่ในสังคมโลกเรา มีหลายอย่างที่มีลักษณะของการมองป่าแล้วเห็นเพียงต้นไม่เป็นต้นๆ โดยไม่สามารถเชื่อมโยงสู่สภาพความเป็นจริงในสังคมนั้นๆได้ การแก้ปัญหา หรือการแสวงหาโอกาสใหม่ๆจึงไม่เกิด เพราะการมองไม่เห็นภาพรวม ไม่มีวิสัยทัศน์ (Vision)

โอบาม่าใช้ยุทธศาสตร์ "ใครทำหม้อไหแตก ต้องชดใช้”


โอบาม่าใช้ยุทธศาสตร์ "ใครทำหม้อไหแตก ต้องชดใช้”

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: info@sb4af.org

Keywords: Politics, การเมือง, การปกครอง, Pottery Barn Rule,

ศึกษาและเรียบเรียงจาก "The President says George W. Bush is still to blame for the economy. And guess what? Most Americans agree." โดย JON MEACHAM | @jmeacham | June 18, 2012


มีกฎข้อหนึ่งในกิจการโรงหม้อไห (Pottery Barn Rule) เขาบอกว่า “You break it, you own it.” ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า "เมื่อคุณทำหม้อไหแตก คุณคือเจ้าของมัน" นั่นหมายความว่า คุณต้องชดใช้หม้อไหที่แตกไปนั้น แม้คุณจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมัน

นายพลคอลิน พาวเวล (Colin Powell) ไม่เคยเรียกปัญหาสงครามอิรัคว่า “Pottery Barn rule”  ถึงแม้นายพลคอลินจะไม่ได้กล่าวโทษประธานาธิบดีบุช แต่นายพลคอลินซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศก็ยอมรับว่าการจะฟื้นฟูอิรัคหลังยุคซัดดัม ฮุสเซน (post–Saddam Hussein Iraq) นั้นเป็นงานใหญ่หนักหนา ทำให้สหรัฐได้เข้าไปเกี่ยวข้องและยากที่จะถอนออกอย่างไม่รับผิดชอบ

ในปัญหาเศรษฐกิจของอเมริกาที่เกิดขึ้นนี้ ทั้งหมดเป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากการที่อเมริกันในยุคจอร์จ ดับเบิลยู บุช ส่งทหารเข้าไปรบในอิรัค โดยอ้างเหตุว่าอิรัคในยุคซัดดัม ฮุสเซนมีอาวุธทำลายร้ายแรง มีขีดความสามารถในการพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์ (Weapon Of Mass Destruction - WMD) และเมื่อเข้าไปรับแล้ว ก็ทำให้ต้องเข้าไปใช้เงินเพื่อการสงครามอย่างต่อเนื่องจนยากที่จะถอนตัวออก และนำมาซึ่งปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในอเมริกาอย่างต่อเนื่อง ตราบจนในปัจจุบันก็ยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่


ต่อสภาพปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำต่อเนื่องมาจนถึงในปัจจุบัน จากการสำรวจความคิดเห็นคนอเมริกัน ร้อยละ 68 โทษอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ร้อยละ 52 โทษประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า (Barack Obama) ส่วนพวกที่เป็นอิสระ ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด โทษบุชมากถึงร้อยละ 67 และโทษโอบาม่าร้อยละ 51

เมื่อเป็นเช่นนี้ จะไม่แปลกใจว่าทีมงานการเมืองของโอบาม่าจะใช้ยุทธการนี้ คืออ้างถึงความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เกิดมาแต่รัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช แล้วฝ่ายรีพับลิกันก็จะต้องตกเป็นจำเลยที่หนักหนากว่า

Sunday, June 17, 2012

สุภาษิตเยอรมัน – ระวังปีศาจในรายละเอียดนั้น


สุภาษิตเยอรมัน – ระวังปีศาจในรายละเอียดนั้น

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: info@sb4af.org

Keywords: Germany proverb, สุภาษิตเยอรมัน, การบริหาร, laws, กฎหมาย, contract, สัญญา, MOU, ข้อตกลงร่วมกัน

ภาพ ของบางอย่าง มีคนอยากให้เราบริโภค โดยไม่ได้บอกรายละเอียดว่ามีอันตรายหรือข้อเสียอย่างไร แต่ด้วยคนที่หวังดีต่อเรานั้น ต้องช่วยกันมองทั้งข้อดีข้อเสีย ให้ตระหนักเสียก่อนที่จะตกลงทำอะไรไปบางอย่าง

มีสุภาษิตเยอรมันบทหนึ่งกล่าวว่า “Der Teufel steckt im Detail.”  ซึ่งใกล้เคียงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “The devil is in the details.” แปลเป็นไทยว่า “ปีศาจอยู่ในรายละเอียดนั้น”

คำสุภาษิตนี้เพื่อเตือนใจในผู้คน จะทำอะไร มีสัญญาอะไรเป็นรายลักษณ์อักษร ให้ต้องมีการไตร่ตรองระมัดระวังก่อนที่จะลงนามในเอกสารสัญญานั้นๆ ต้องถือเป็นข้อปฏิบัติว่า ให้ได้อ่านและทำความเข้าใจในรายละเอียดทุกแง่มุมก่อน ในการทำธุรกิจการค้ากับใครก็ตาม มักจะต้องมีสัญญา เช่นการซื้อขายที่ดิน การว่าจ้างรับเหมาก่อสร้าง การจ้างคน จ้างที่ปรึกษา สัญญาจะซื้อจะจ้าง เหล่านี้ล้วนต้องมีสัญญากำกับข้อตกลงที่ได้พูดคุยกันมาก่อน การจะมีสัญญาที่เป็นข้อตกลงรวมกัน ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Contract ในความหมายที่หลวมลงมาหน่อย แต่เจตนาที่จะใช้ครอบคลุมความร่วมมือที่กว้างขวาง ในภาษาไทยเราเรียกว่า ข้อตกลงความร่วมมือ” หรือ Memorandum of Understanding (MOU)

สัญญาเหล่านี้ ฝ่ายใดที่เป็นคนริเริ่มทำ ก็จะเป็นฝ่ายได้กำหนดรายละเอียดอย่างที่ตนต้องการมาก่อน แต่บางที่ทำงานกับองค์การขนาดใหญ่ เช่นธนาคาร หน่วยราชการขนาดใหญ่ เขามีแบบฟอร์มสัญญาจ้าง หรือความร่วมมือของเขาอยู่แล้ว แต่เมื่อมีสัญญาหรือข้อตกลงความร่วมมือออกมา ทางฝ่ายเราก็ควรมีคนรู้กฎหมาย ซึ่งบางที่เป็นคนที่มีความรู้ด้านกฎหมายจากในหน่วยงาน เรียกว่า “นิติกร” แต่บางทีจำเป็นต้องจ้างคนมีความสามารถด้านการเงินและกฎหมายจากภายนอกมาช่วยดู ก็ต้องทำ เพราะเราจะไม่รู้กฎหมายดีพอ ยิ่งเป็นการทำความร่วมมือกับองค์กรข้ามประเทศ ก็ต้องยิ่งละเอียดดูในหลายๆแง่มุม

สัญญาที่ประชาชนทั่วไปมักเสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา เช่น สัญญาประกันภัย ประกันสุขภาพ มีรายละเอียดหลายๆหน้า และเป็นแบบตัวอักษรเล็กๆที่บางที่เราจะไม่ได้มีเวลาอ่านก่อนลงนาม เรื่องนี้ก็ต้องให้ระวัง ต้องขอเวลาศึกษาให้ละเอียดเสียก่อน ขอเวลาเขาสักระยะหนึ่ง แล้วกลับไปอ่านในรายละเอียด อ่านไม่เข้าใจ ก็ต้องถามจากผู้รู้ เพราะสัญญาใดๆ สิ่งที่เราได้ลงนามไปแล้ว โอกาสที่เราจะปฏิเสธไม่รับรู้ในสัญญานั้นๆ จะฟังไม่ขึ้น เมื่อต้องเป็นความขึ้นโรงขึ้นศาล

Saturday, June 16, 2012

สุภาษิตเยอรมัน – อย่าซื้อแมวที่ใส่มาในถุง


สุภาษิตเยอรมัน – อย่าซื้อแมวที่ใส่มาในถุง

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: info@sb4af.org

Keywords: German, proverb, constitution, สุภาษิตเยอรมัน การเมือง การปกครอง ประชาธิปไตย, รัฐธรรมนูญ

มีสุภาษิตในภาษาเยอรมันบทหนึ่งกล่าวว่า “Die Katze im Sack kaufen.” ซึ่งตรงกับในภาษาอังกฤษว่า “Buying the cat in the bag.” แปลเปรียบเป็นภาษาไทยได้ว่า “การซื้อแมวที่ใส่มาในถุง” taking or buying something without checking it first. – เปรียบเทียบได้กับ Buying a pig in a poke.

Poke = โผล่ หรือผลุดขึ้นมาโดยไม่รู้เหนือรู้ใต้ poke, peep, pop, obtrude, start

อย่าซื้อแมวที่ใส่ถุงมา ก่อนจะรับอะไร ซื้ออะไร ต้องให้ตรวจสิ่งของเหล่านั้นเสียก่อน คำเปรียบที่ใกล้เคียงกัน คือ “Buying a pig in a poke.” เปรียบเป็นคำสุภาษิตที่สอนว่า อย่าซื้อหมูสักตัวทั้งๆที่ไม่รู้ที่มาที่ไป หากจะซื้อมาเป็นสายพันธุ์ ก็ต้องตรวจสอบสายพันธุ์ ประวัติพ่อแม่พันธุ์มีลักษณะและคุณสมบัติอย่างไร หากจะซื้อมาบริโภค ก็ต้องรู้ว่าหมูตัวที่จะซื้อนั้นมีโรคติดต่อใดมาหรือไม่ หรือเป็นหมู่ที่ขโมยมา เรารู้จักคนขาย คอกเล้าที่เราจะซื้อมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ หรือเป็นหมูที่คนจูงมาเร่ขายโดยไม่รู้ที่มาที่ไปของทั้งหมูและคนขาย

ในทางการเมือง การที่พรรครัฐบาลเพื่อไทย (Pheu Thai Party) ที่จะขอปรับแก้รัฐธรรมนูญ ดังที่ปรากฏว่ามีพระราชบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีอายุการใช้งานมา 10 ปีนั้น ได้ใช้หลักว่าเมื่อพรรคเพื่อไทย ได้รับเลือกตั้งมาด้วยเสียงข้างมาก ย่อมมีความชอบธรรมที่จะเสนอปรับแก้รัฐธรรมนูญ โดยปรับแก้อย่างเหมาเข่ง โดยจะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วไปยกร่างกันใหม่ทั้งฉบับอีกนั้น เป็นเรื่องที่ผิดหลักจากที่ควรจะเป็น

ประชาชนผู้จะซื้อของใหม่ ความคิดใหม่ ต้องรู้ให้แน่ชัดว่า เขาต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดิมในประเด็นใด แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญเดิมมีสิ่งที่ดีๆอยู่แล้ว และอาจจะมีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ดี ไม่เป็นประชาธิปไตยพอในเรื่องอะไร มีปัญหาที่หนักหนารุนแรงที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่ หากจำเป็นที่จะต้องปรับแก้ ก็ต้องให้ชัดว่าเป็นประเด็นใดบ้าง คงจะไม่ใช่ไม่ดีไปเสียทั้งฉบับ

หากจะทำเหมือน ขายแบบเหมารวม คือ ให้เลิกของเก่า แล้วเอาของใหม่ใส่ถุงมาเหมือน “ขายแมวแบบใส่ถุง” โดยให้เชื่อมั่นในประชาธิปไตยว่า คนที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นเป็นไปแบบประชาธิปไตย ดังนี้เป็นเรื่องอยากที่จะรับได้ แล้วจะให้ประชาชนผู้ต้องได้รับผลดีและผลเสียจากรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศนั้นแบบคลุมถุง ซื้อทั้งหมดทั้งถุง ไม่ว่าคนร่างจะแอบสอดใส่อะไรมาในถุงบ้างนั้น ก็จะเป็นการขอที่เกินเลยไป ไม่พึงกระทำในการซื้อขาย ไม่พึงกระทำในทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ที่ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม

Friday, June 15, 2012

เมื่อจะเดินทางไกลคราใด ก็กลับมาใช้รองเท้าคู่เก่า


เมื่อจะเดินทางไกลคราใด ก็กลับมาใช้รองเท้าคู่เก่า

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: เศรษฐกิจพอเพียง, sufficiency economy, conservatism, อนุรักษ์นิยม, รองเท้า, shoes, sneakers, street shoes

เมื่อผมจะเดินทางมาทำงานสอนหนังสือที่จังหวัดสุรินทร์คราวใด สิ่งที่ผมต้องคิดมากกว่าสิ่งอื่นใด คือการเลือกรองเท้า (Shoes) เพียงหนึ่งคู่ ที่สามารถใส่ไปทำงานเป็น Street shoes มีสไตล์สุภาพเรียบๆพอ แต่เมื่อเดินมากๆ ใช้ขี่จักรยาน บุกลุยได้ ไปเที่ยวด้วยการเดินได้ยาวๆ วันละหลายชั่วโมงได้ โดยไม่เมื่อยขาหรือเท้า ใส่ได้สบายๆ เหมือนกับใส่รองเท้ากีฬา (Sneakers) แข็งแรงและทนทานเชื่อใจได้ว่า จะไม่ขาดหรือพื้นเปิดพังไปก่อนกลับบ้าน เลือกเพียงหนึ่งคู่ เพราะเมื่อเดินทางโดยรถโดยสาร หรือเครื่องบิน กระเป๋าจะไม่มีพื้นที่เก็บรองเท้าใส่คู่ใหญ่ได้


ผมจึงเลือกใส่รองเท้าคู่ที่ท่านเห็นในภาพ ยี่ห้อ Sketcher ซื้อมาจากร้านในต่างประเทศ เพราะมันเป็นเบอร์ 11 ½ เทียบเป็นเบอร์แบบบ้านเราคือ 44-45 หาซื้อใส่ได้ยากในบ้านเรา โดยเฉพาะในแบบอย่างที่ต้องการ ผมใส่ประจำมาที่สุรินทร์ ใช้หลายปีมากๆ จนลูกศิษย์จำรองเท้าได้มากกว่าหน้าของผมเอง

ชีวิตคนเราก็เหมือนกัน ผมไม่ใช่คนคิดอนุรักษ์ เป็นคนชอบคิดใหม่ ทำใหม่ คิดอย่างต้องการเปลี่ยนแปลง ชอบที่จะเป็น Dreamer มากกว่าที่จะเป็น Doer แต่มีหลายๆอย่างในชีวิตที่เราคิดอย่างอนุรักษ์ไปโดยธรรมชาติ มีอะไรในชีวิตที่ใช้ได้ดีอยู่แล้ว วางใจได้ เราก็จะเลือกอย่างสบายๆที่จะคงติดยึดกับสิ่งเก่าๆ ไม่ใช่เพราะเป็นคนประหยัด ขี้ตืดจนดูน่ารังเกียจ แต่ชีวิตที่สบายๆมันก็มีเพียงเท่านี้ ชีวิตที่พอเพียง (Sufficiency economy) นั้น เราจะเลือกอะไรก็ตามที่เราใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสบายๆ มากกว่าจะไปติดยึดกับหน้าตาของเรา

Thursday, June 14, 2012

รถยนต์ไฟฟ้า Renault Zoe วิ่งได้กว่า 1,000 ไมล์ภายในเวลา 24 ชั่วโมง

รถยนต์ไฟฟ้า Renault Zoe วิ่งได้กว่า 1,000 ไมล์ภายในเวลา 24 ชั่วโมง


ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: transportation, electric car, EV, charging station, การคมนาคม, รถยนต์ไฟฟ้า, Renault Zoe, Nissan Leaf, Tesla Roadster, Model S, Model X, 
รถยนต์ไฟฟ้า Renault Zoe แบบ 5 ประตู Hatchback

รถยนต์ไฟฟ้า Renault Zoe สามารถทำสถิติวิ่งได้กว่า 1,000 ไมล์ หรือ 1,600 กิโลเมตรภายในเวลา 24 ชั่วโมง ที่ทำสถิตินี้ได้ ก็ด้วยระบบชาร์ตไฟกับแบตเตอรี่รถยนต์ ด้วยระบบแบตเตอรี่ของ Renault Zoe นั้นจริงๆแล้วสามารถวิ่งได้ 130 ไมล์จากการชาร์ตไฟหนึ่งครั้ง

ที่กระทำได้นี้ ก็ด้วยการชาร์ตไฟด้วยระบบไฟสามสาย (uber-fast Level 3 charger) ซึ่งสามารถชาร์ตไฟได้ 80% ในเวลา 30 นาที ในการวิ่งทั้งหมด 24 ชั่วโมง ชาร์ตไฟ 18 ครั้ง จากการใช้รถ 2 คัน คันหนึ่งวิ่งได้ 935 ไมล์ ส่วนอีกคันหนึ่งวิ่งได้ 1,005 ไมล์ แต่ทั้งสองทำสถิติชนะเดิมที่ทำไว้ที่ 795 ไมล์ในเวลา 24 ชั่วโมง

สถิตินี้ดูไม่น่าตื่นเต้นอะไร เพราะมีรถที่วิ่งได้ 300 ไมล์ด้วยการชาร์ตไฟครั้งเดียวมาแล้ว ดัวรถ Tesla Roadster แต่สถิติของ Renault Zoe นั้นเป็นด้วยรถไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ไม่ใหญ่พิเศษ เป็นรถระดับเดียวกับ Nissan Leaf ซึ่งราคาไม่สูง แต่เป็นการพิสูจน์การใช้ระบบชาร์ตไฟแบบใหม่ที่ใช้เวลาเพียง 30 นาทีก็ได้ไฟฟ้าเต็มแบตเตอรี่ถึง 80%


Wednesday, June 13, 2012

เมือง Los Angeles ในแคลิฟอร์เนียพยายามเปลี่ยนเป็นศูนย์กลางรถยนต์ไฟฟ้า


เมือง Los Angeles ในแคลิฟอร์เนียพยายามเปลี่ยนเป็นศูนย์กลางรถยนต์ไฟฟ้า

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: USA, Los Angeles, transportation, ถรยนต์ไฟฟ้า, vehicle, EV, electric car, สหรัฐอเมริกา, การคมนาคม, ยานพาหนะ, รถยนต์ไฟฟ้า, เมืองลอสแองเจลิส, พลังงาน, energy,สิ่งแวดล้อม, environment, มลพิษทางอากาศ, air pollution, 

ศึกษาและเรียบเรียง จากบทความ “Los Angeles Tries a Car Conversion” โดย GARY ANDREW POOLE – time.com, Friday, Apr. 22, 2011

ในสหรัฐอเมริกา รถยนต์ไฟฟ้าจะยังมีราคาแพงอยู่ แม้จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางคันละ US$7,500 ดังเช่นรถยนต์ Chevy Volt ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าลูกประสมราคาคันละ $43,000 หลังได้รับส่วนลดจากเงินสนับสนุนโดยรัฐบาลกลางแล้ว ก็จะยังมีราคา $35,500 ซึ่งยังแพงเกินไป รถ Chevrolet Cruze ซึ่งเป็นรถยนต์แบบ SUV ราคาคันละ $16,525 เป็นรถยนต์ใช้น้ำมันที่ 40 ไมล์ต่อแกลลอน ความแตกต่างกันคือ ราคาตัวรถยนต์ไฟฟ้าที่ต่างจากรถยนต์ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่าเท่าตัว รถยนต์ไฟฟ้าจึงอาจต้องใช้เวลาอีกประมาณ 8-10 ปีกว่าที่จะเป็นที่ยอมรับในตลาด


ภาพ การจราจรของเมือง Los Angeles ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่่งคนส่วนใหญ่อาศัยการเดินทางไปทำงานในแต่ละวันด้วยรถยนต์ส่วนตัว จึงทำให้มีปัญหาด้านมลพิษทางอากาศจากควันไอเสียรถยนต์

แต่กระนั้น เมือง Los Angeles (LA) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นพิษทางอากาศ เพราะมีรถจำนวนมหาศาลที่วิ่งบนถนนที่แออัด ก็ไม่รอช้าที่จะผลักดันนโยบายให้เมืองเป็นเมืองรถยนต์ไฟฟ้า ทางเมือง LA จึงพยายามทำให้เมืองนี้กลายเป็น “เมืองหลวงของรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศ” (EV capital of the country) โดยจะเน้นไปที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยมุ่งให้ในปี ค.ศ. 2013 เมือง LA จะเป็นเมืองที่มีสถานีชาร์ตไฟรถไฟฟ้าสาธารณะ ที่เป็นเครือข่ายครอบคลุมกว้างขวางที่สุดมากกว่าเมืองใดๆในประเทศสหรัฐอเมริกา

เมือง LA จะเริ่มให้ส่วนลดแก่บ้านที่ติดตั้งที่ชาร์ตไฟรถไฟฟ้า (Charging stations) หลังละ $2,000 และให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านใช้รถยนต์ไฟฟ้า จนทำให้ค่าชาร์ตไฟฟ้ารถอย่าง Chevy Volt เป็นเพียง $0.95 ต่อครั้ง ในขณะที่เมืองอื่นๆในประเทศจะมีราคาเฉลี่ยครั้งละ $1.50 ที่ทำเช่นนี้ เพื่อเป็นการจูงใจคนให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งแม้ขณะนี้จะยังมีค่าตัวรถ หรือค่าแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาสูงอยู่ แต่เพราะความที่มีเครือข่ายสถานีชาร์ตไฟที่กว้างขวาง ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าไม่ต้องมีขนาดแบตเตอรี่ที่ใหญ่เกินและมีต้นทุนที่สูงเกิน และค่าชาร์ตไฟรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน โดยทั่วไป ก็จะยังทำให้มีราคาถูกเป็นพิเศษ

เมือง LA มีประชากรเมือง 3,792,621 คน จัดเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของสหรัฐอเมริกา หากนับประชากรเมืองและปริมณฑล (Metropolitan Area) จะมีประชากร 12,828,837 คน และหากนับรวมเมืองบริวารขนาดเล็ก (Micropolitan) ซึ่งมีเศรษฐกิจและวิถีชีวิตร่วมกับเมืองก็จะเท่ากับ 17,786,419 คน ประชาชนของเมืองใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางไปทำงานในแต่ละวันเป็นส่วนใหญ่ จากสถิติปี ค.ศ. 2005 มีประชากรเพียงร้อยละ 10 ที่ใช้การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะอย่างใดอย่างหนึ่ง

Tuesday, June 12, 2012

ปรัชญา หมียักษ์ กับหมาป่า (Grizzly Bear and Wolves)

ปรัชญา หมียักษ์ กับหมาป่า (Grizzly Bear and Wolves)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การเมือง, ความขัดแย้ง, การต่อสู้, การผูกขาด, monopoly, เครือข่าย, Pheu Thai Party,พรรคเพื่อไทย, Pam Am, TWA, ฝรั่งเศส, France, เยอรมนี, เยอรมัน, Germany, พรรคประชาธิปัตย์, Democrat Party, หมียักษ์,หมีกรีซลี่, grizzly bear, หมาป่า, wolves, wolf 


ภาพ หมีใหญ่ Grizzly bear ตัวใหญ่สีน้ำตาลดำ

หมียักษ์กรีซลี (Grizzly bear) ตัวใหญ่เต็มที่หนักถึง 680 กิโลกรัม เป็นสัตว์ที่ทั้งตัวใหญ่ มีพลัง และมีความเร็วอย่างที่ศัตรูคาดไม่ถึง โดยทั่วไปจะหากินแถวแม่น้ำลำธารที่มีปลาชุกชุม หมีกรีซลีมีชีวิตในซีกโลกเหนือทั้งอเมริกาและยุโรป

ส่วนหมาป่า (Wolves) ตัวไม่ใหญ่ แต่หากินเป็นฝูง ยามหิว หมาป่าจะล่าได้ทั้งกวาง กวางใหญ่ (Moose) ควายป่า (Bison) ตัวใหญ่ และในบางครั้งก็ล่าหมียักษ์ที่อันตรายนี้ได้ด้วย โดยการสู้เป็นทีม มีบางตัวหลอกล่อให้หมีไล่ตะครุบจนเหนืออ่อนแรง แล้วจะถูกจัดการในที่สุด

ในทางการเมือง พรรคการเมืองที่ใหญ่โตอย่างพรรคเพื่อไทย (Pheu Thai Party)ต้องระวัง พวกที่ชอบใช้กำลังทะลุทะลวง เหมือนจะมีอำนาจต่างๆอยู่ในมือ ทำอย่างอุกอาจไม่ฟังเสียง ไม่ได้คิดอย่างรอบคอบพึงระวัง จะถูกหลอกล่อ แล้วท้ายสุดจะต้องเหนื่อยอ่อนจนยืนให้หมาป่ารุมทึ้งกินในที่สุด
ในทางธุรกิจ มีบริษัทบางบริษัทที่คิดจะทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ตามลำพัง ใช้วิธีการผูกขาด หาทางหักเขาด้วยพละกำลัง และเมื่อชนะแล้วก็ใช้วิธีการผูกขาด หากินจากความได้เปรียบที่ผูกขาดได้ แต่วิธีการนี้ในประวัติศาสตร์มักพบว่า ไม่มีบริษัทใดสามารถยืนอยู่ได้อย่างยาวนาน เพราะในที่สุดก็มีคนมาล้มเกมส์ผูกขาด ดูตัวอย่างจากสายการบินใหญ่ในโลก


Pan Am เคยเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกของอเมริกา


TWA เคยเป็นสายการบินที่เป็นคู่แข่ง ที่ใหญ่ที่สุดในยุคหนึ่ง เช่นเดียวกับ Pan Am

แต่ในยุคต่อมา สังคมต้องการระบบการบินที่ไม่ใช่ผูกขาด ผู้บริโภคต้องการบริการสายการบินที่ให้บริการได้ดีที่สุด กิจการที่เคยอยู่ในสภาพผูกขาดโดยสายการบินขนาดใหญ่ ในที่สุดก็ต้องเปิดทางให้กับการแข่งขันใหญ่ทั่วโลก และสายการบินอย่าง Pan Am และ TWA ก็ต้องล้มละลาย สูญหายตายจากไป

ข้อคิดนี้ชี้แนะว่า ไม่ว่าใครจะใหญ่โตเพียงใด แต่ก็ต้องระวังที่ไม่ไปมีศัตรูในลักษณะที่กว้างขวางมากมาย เหมือนกับมีฝูงหมาป่ารายรอบ เพราะมันจะยากกว่าสู้กับสัตว์ใหญ่ด้วยกันแบบตัวต่อตัว


ภาพ หมาป่าที่หากินร่วมกันเป็นฝูง (Wolf pack)

ย้อนกลับมาที่องค์การ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง บริษัทข้ามชาติ หรือบริษัทใหญ่ที่ผูกขาดในแต่ละประเทศ แต่ทั้งหมดก็ต้องระวังว่าจะเป็นเหมือนหมีใหญ่ Grizzly bear ที่หากินได้แบบเดี่ยวๆ แต่จะไม่สามารถทนอยู่ในสภาพที่เขาอยู่รอดกันเป็นฝูง ทำงานแบบแบ่งกันกินเป็นฝูง เหมือนกับหมาป่า (Wolf pack) ที่มันทำงานกันเป็นทีม แบ่งกันหากิน ร่วมมือกันที่จะชนะศัตรูที่อาจแข็งแกร่งกว่า แต่คล่องตัวน้อยกว่า และต้องอยู่ในสถานะหากินตามลำพัง

ในทางการเมือง พรรคการเมืองใด ใหญ่เพียงใด แต่ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว หรือ

สังคมประเทศ ประเทศใดใหญ่โตเพียงใด แต่ต้องดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว เหมือนฝรั่งเศส (France) ในยุคนโปเลียนที่เคยยิ่งใหญ่ทางการทหาร หรือเยอรมัน (Germany) ในยุคนาซี ในสงครามโลกครั้งที่สอง


ภาพ กษัตริย์นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) ผู้ยิ่งใหญ่แห่งฝรั่่งเศส มีความสามารถทางการรบอย่างเยี่ยมยอด แต่ในท้ายที่สุด ก็ต้องพบจุดจบแพ้สงครามแก่ประเทศรอบข้าง


ภาพ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) นำเยอรมนีสู่สงครามโลกครั้งที่สอง แต่เมื่อเต็มไปด้วยศัตรูรอบด้าน ท้ายที่สุด ก็นำเยอรมนีสู่ความหายนะ แพ้สงครามโลกครั้งที่สองอย่างบอบช้ำในที่สุด

แต่ท้ายสุด ถูกล้อมรอบด้วยประเทศที่เล็กกว่า แต่เขาร่วมมือกันที่จะต่อสู้เพื่อความอยู่รอด คนที่ใหญ่กว่า แข็งแรงกว่า แต่ถูกโดดเดี่ยว ท้ายสุดก็จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ได้ในที่สุด

Monday, June 11, 2012

ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (Constitution Amendment)


ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (Constitution Amendment)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Politics, constitution, amendment, การเมือง, รัฐธรรมนูญ, การแก้ไข,

ในขณะนี้ เรากำลังมีวิกฤติเกี่ยวกับ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ฝ่ายหนึ่งต้องการรื้อหรือแม้แต่เลิกรัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2550 แล้วเขียนใหม่ อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า “ให้แก้ไขได้” โดยแก้ไขบางส่วนบางประเด็น แต่ไม่ใช่ไปรื้อทิ้งรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550

ผู้เขียนไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายหรือกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยมากนัก ได้แต่ฟังการตีความของนักนิติศาสตร์ ซึ่งก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป คนระดับชาวบ้านอย่างเรา ก็คงจะได้แต่เพียงฟังอย่างใช้วิจารณญาณที่สุด และจะให้ดีคือฟังอย่างเปิดใจ

การแก้ไข (Amendment, modification) ย่อมมีความแตกต่างจาก “การผลิตใหม่” การเขียนขึ้นมาใหม่ เหมือนดังการนำรถยนต์เก่าที่หมดสภาพแล้ว เรียกว่า Junk ขายเป็นเศษเหล็ก แล้วเจ้าของก็นำเงินที่ได้เพียงน้อยนิดนั้น ไปรวมกับเงินก้อนใหม่ เพื่อไปซื้อหรือผ่อนรถคันใหม่
แต่หากรถคันเก่ายังมีสภาพดีอยู่ เราก็คงจะใช้วิธีการซ่อม (Repair) รถคันเก่า เพื่อให้กลับมาใช้ได้อย่างดีตามปกติ ซึ่งจะเป็นการประหยัดกว่า

การแก้ไข = modification, correction, amendment, interpolation, altering, solving

การซ่อมรถ (To repair vs. to buy a new car) กับการซื้อรถคันใหม่ย่อมมีความแตกต่างกัน

เหมือนรถยนต์ หากเรานำรถไปอู่เพื่อซ่อม หรือปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น เช่นเราต้องการให้รถมีระบบกันกระเทือนที่นุ่มขึ้น ช่างเขาจะปรับเปลี่ยนเฉพาะส่วนที่เป็นระบบกันกระเทือน เช่น Shock absorbers หรือหากรถมีปัญหาวิ่งไม่ได้อย่างปลอดภัย ระบบเบรกชำรุด ช่างเขาจะดูแลซ่อมในส่วนที่เสียหาย หรือตรวจสอบแล้ว มีชิ้นส่วนรถถึงกำหนดที่จะต้องเปลี่ยนอะไหล่ และช่างที่มีคุณธรรมซื่อสัตย์ต่อลูกค้า เขาจะซ่อมให้ในส่วนที่จำเป็น แล้วเขาจะบอกว่ามีอะไรที่ถึงอายุควรจะต้องเปลี่ยนได้แล้ว แต่เจ้าของเป็นคนตัดสินใจเองว่า จะเปลี่ยนหรือยังคงใช้ต่อไป

ต่างจากการนำรถไปร้านรับซื้อรถ เพื่อเปลี่ยนรถคันเก่า ยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้ได้รถคันใหม่
รัฐธรรมนูญเหมือนกับปราสาท หรือพระราชวังโบราณ ความเก่าแก่ที่ใช้กันมานาน มีประวัติศาสตร์ ก็ย่อมมีคุณค่าประมาณมิได้ ที่ต้องรักษาเอาไว้ ยิ่งเก่ามาก ก็ยิ่งมีคุณค่ามาก การจะปรับปรุงซ่อมแซม ก็ทำเฉพาะส่วนที่จำเป็น คงไม่มีใครคิดจะทุบปราสาทเก่าอายุหลายร้อยปี เพื่อที่จะสร้างใหม่

ดูตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาได้ชื่อว่ามีความเก่าแก่ที่สุดในประชาธิปไตยยุคใหม่ เกิดขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1787 หรือประมาณ 11 ปีหลังประกาศอิสรภาพ นับจนถึงปัจจุบันมีอายุได้ 225 ปี มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว 27 ครั้ง บางการแก้ไขเกิดเพราะมีความขัดแย้งรุนแรง ต้องมีการใช้กำลังเข้าต่อสู้กันจนถึงระดับเป็นสงครามกลางเมือง (American Civil War) ดังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 13 ในช่วงปี ค.ศ. 1864-1865 หลังสงคราม  เมื่อรัฐบาลอันเป็นฝ่ายเหนือ ได้ชนะสงครามกลางเมืองต่อฝ่ายใต้ รัฐสภาจึงกำหนดให้การค้าทาสเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ในทัศนะของผม การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 2550 เป็นสิ่งที่กระทำได้ และดีที่สุดคือเปลี่ยนเฉพาะส่วนที่จำเป็นจริงๆ อะไรที่ดีอยู่แล้วก็อย่าไปแตะต้อง อะไรที่ชัดเจนว่าไม่เหมาะสม ก็เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ต้องมีหลักการสำคัญว่าจะเปลี่ยนแปลงเพราะอะไร มีอะไรที่ไม่เหมาะสม ไม่ใช่ตีความว่ามันเป็นผลิตผลของเผด็จการ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ที่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยว่าดีเยี่ยมนั้น ก็มีผลมาจากการปฏิว้ติรัฐประหารเช่นกัน

Saturday, June 9, 2012

สุภาษิตอาหรับ - ระวังจมูกอูฐที่ยื่นเข้ามาในเต็นท์


สุภาษิตอาหรับ - ระวังจมูกอูฐที่ยื่นเข้ามาในเต็นท์
The Camel's Head in the Tent

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org


Keywords: การเมือง, การต่างประเทศ, สหรัฐอเมริกา, USA, United States, China, ประเทศจีน, เวียดนาม, ASEAN, การรบ, Drone, war, สนามบิน, อู่ตะเภา,  


ภาพ เครื่องบินไร้คนขับที่สามารถยิงจรวดนำวิถีได้ (Predator drone firing missile)


ภาพ เครื่องบินไร้คนขับ (Boeing X-45 killer drone) ที่สามารถใช้ในการทิ้งระเบิดนำวิถีได้ แต่ก็ยังต้องอยู่ในวิสัยการบินจำกัด

มีสุภาษิตชาวอาหรับบทหนึ่งบอกว่า “ให้ระวังจมูกอูฐที่ยื่นเข้ามาในเต็นท์” หรือบางที่จะมีเขียนว่า “หัวอูฐในเต็นท์”

ทั้งนี้ด้วยประสบการณ์ที่ว่า เมื่อจมูกอันเป็นส่วนเล็กๆของอูฐที่ยื่นเข้ามาในเต็นท์ แล้วเจ้าของไม่ว่าอะไร อูฐก็จะเริ่มเอาหัวเข้ามา แล้วในท้ายสุด ก็จะเอาทั้งตัวเข้ามาอยู่ในเต็นท์ คำสุภาษิตนี้เพื่อเตือนว่า อะไรที่เป็นสิ่งไม่ควร แต่หากเราไม่ดูแล ปล่อยให้มันเกิดขึ้นด้วยความไม่ใส่ใจ ไม่บังคับใช้อย่างจริงจัง ในที่สุดสิ่งที่ไม่อยากให้เกิด ก็จะเกิดขึ้น และขยายวงจนยากเกินกว่าที่จะย้อนกลับไปแก้ไข

ยกตัวอย่าง ครั้งหนึ่งอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจหลักของโลกเสรี ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลังปี ค.ศ. 1946 เป็นต้นมา หลายประเทศในยุโรปต้องทยอยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคอมมิวนิสต์โซเวียตรัสเซีย และในเอเซียประเทศจีนที่มีประชากรมหาศาลที่สุดในโลกได้กลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของเหมา เจอตุง อเมริกาจึงหวาดหวั่นต่อการรุกคืบของคอมมิวนิสต์ที่จะมีไปทั่วโลก ทั้งตะวันตกและตะวันออก

ครั้นเมื่อเกิดสงครามในเวียดนาม ครั้งแรกที่ดูประเทศจะเพรี่ยงพร้ำให้กับคอมมิวนิสต์เวียดนามภายใต้การนำของโฮจิมิน อเมริกาได้ตัดสินใจส่งที่ปรึกษาด้านการทหารมายังเวียดนาม มาฝึกอาวุธ แต่ยังไม่ใช่เป็นหน่วยรบที่เข้ามาปะทะโดยตรง แต่ปรากฏว่าสถานการณ์กลับเลวร้ายยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ อเมริกาจึงต้องส่งกองทหารเข้าสู่สมรภูมิรบกับเวียดกงฝ่ายคอมมิวนิสต์โดยตรง และส่งกำลังทหารเพิ่มมากขึ้นจนถึงระดับสูงสุด 300,000 นาย ปัญหาที่ตามมาคือ การส่งทหารมาแล้ว และสถานการณ์ไม่ดีขึ้น จะถอนทหารออกไป ก็เสียความรับผิดชอบ และไม่ต่างอะไรจากการแพ้สงคราม แต่ครั้นจะขยายแนวรบออกไปอีก ก็จะมีปัญหาด้านการยอมรับจากคนในประเทศและประชาคมโลก และที่สำคัญก็คือทำให้เศรษฐกิจประเทศที่ต้องใช้ทรัพยากรไปกับสงครามที่ไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์เกิดขึ้น มีแต่สูญเสีย ทำให้อยู่ในสภาพกลืนไม่เข้า คายไม่ออก

ย้อนกลับมาในประเทศไทยปัจจุบัน หลังอเมริกาได้ถอนออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไม่ใยดีเป็นเวลายาวนาน เขาเริ่มกลับมาคิดใหม่ว่า อเมริกาไม่ควรเสียโอกาสทางเศรษฐกิจในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

จุดแรกที่อเมริกาต้องการ คือการมีฐานทัพ หรือไม่ก็ระดับฐานปฏิบัติการพลเรือน ในประเทศไทยก็มีสนามบินอู่ตะเภา และที่ประเทศฟิลิปปินส์ ก็มีฐานทัพอากาศ Clark เมื่อเริ่มต้นก็บอกว่าจะเป็นการใช้เพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ การศึกษาและพัฒนาระบบการป้องกันสาธารณภัย และเป็นไปเพื่อสันติ แต่ต่อไป ใครจะรู้ว่ามันจะกลายเป็นรื้อฟื้นความเป็นฐานทัพอากาศของอเมริกันใหม่หรือไม่ และไทยจะได้หรือเสียอะไรบ้าง โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับประเทศจีน

ทางที่ดี ไทยควรมีความร่วมมือกับสหรัฐแบบเฉพาะกิจและเป็นครั้งคราว เมื่อเห็นควรในโครงการใดก็ให้คำอนุญาต และอนุญาตแบบมีระยะเวลา เมื่อหมดภารกิจในช่วงสั้นๆแล้ว ก็ให้ถอนกิจกรรมออกไป ที่สำคัญฝ่ายไทยเองต้องระวังโอกาสที่จะใช้ฐานปฏิบัติการเพื่อการสืบราชการลับ และการมีฐานปฏิบัติการในแบบที่สามารถใช้ประโยชน์ในการทำสงครามด้วยยานบินที่ไร้คนขับ หรือ Drone War นั้น เพียงได้ยินว่าอเมริกันมามีฐานปฏิบัติการในไทย ประเทศอย่างจีน และอินเดีย ก็สะดุ้งแล้ว แล้วไทยเราจะยืนอยู่ตรงไหน แล้วไทยจะต้องยอมตัวเองให้เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของมิตรประเทศเพื่อนบ้านไปเพื่ออะไร?

ก่อนที่จะพูด … ขอให้มีหลักคิด THINK


ก่อนที่จะพูด ขอให้มีหลักคิด THINK

Before you speak … THINK

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

ขออนุญาตนำความคิดที่ Post ไว้ใน Wall Photos ใน Facebook ที่ส่งต่อๆหันมา มาขยายความครับ

ก่อนที่จะพูด เขียน หรือนำเสนอใดๆ ขอให้มีหลักคิด คือ THINK ..


T – is it true? สิ่งนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่? และความจริงนั้นเป็นความจริงอย่างครบถ้วน หรือเป็นความจริงเพียงบางส่วน แต่เมื่อมีการนำมาพูดกันนั้น มันทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปเป็นคนละเรื่อง ความจริงนั้น จึงต้องให้แน่ใจว่าเป็นความจริงแท้ หรือ The whole truth เป็นความจริงทั้งหมดอย่างครบถ้วน

H – is it helpful? สิ่งนั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้คนหรือไม่?  มีหลายๆครั้ง ที่เรานำเรื่องมาเล่าหรือนำเสนอ แต่มันไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้คน เรื่องที่เรานำมาเมาท์ (Mouth หรือ Chat) เพียงแต่ว่ามันน่าสนใจ มันปาก มันเกี่ยวกับคนที่คนสนใจ เป็นคนสำคัญหรือ Celebrity บางทีมันเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ ไม่นำเสนอ ก็ไม่ทำให้ใครเสียหายอะไร หรือเสียประโยชน์อะไร

I – is it inspiring? สิ่งนั้นจะเป็นแรงจูงใจให้กับผู้คนหรือไม่? การพูดบางอย่าง พูดเพื่อให้คนที่หมดแรงใจแล้ว ได้หันกลับมาสู้ต่อในเฮือกสุดท้ายที่อาจเป็นเฮือกที่สำคัญ พูดแล้วทำให้คนที่ขาดแรงจูงใจหรือหลงผิด ให้ได้คิด และมีพลังที่จะก้าวไปข้างหน้าต่อไป บางครั้งไม่จำเป็นที่เราจะต้องเป็นคนพูดเก่ง แต่เราพูดจากใจ พูดเพราะเรารักและห่วงใยเขา พูดพร้อมด้วยการกระทำจริง

N – is it necessary? สิ่งนั้นเป็นความจำเป็นหรือไม่? มีบางสิ่งบางอย่างที่จำเป็นต้องพูด (Must) ถ้าไม่พูดแล้วจะเกิดความเสียหาย ของบางอย่างควรพูด (Should) แต่ก็ต้องให้รู้จักเลือกพูดหรือนำเสนอในเวลาอันเหมาะสม และพูดในจังหวะที่เขาพร้อมจะฟังเรา มีหลายสิ่งที่มากมาย ที่อาจพูดก็ได้ ไม่พูดก็ไม่มีใครเสียหาย (May Be) ดังนี้ ก็ไม่ต้องพูดเสียจะดีกว่า

K – is it kind? สิ่งนั้นมีจุดมุ่งหมายด้วยความมีเมตตาต่อผู้คนหรือไม่? บางครั้งการพูดหรือการเขียนของเรา มีพลังมากในการทำลายคน พูดเพื่อฆ่าเขานั้นเป็นบาป หากเราเปลี่ยนเป็นพูดในสิ่งที่สร้างสรรค์ หากจะต้องพูดบางอย่างที่ทำร้ายบางคน ก็ต้องให้น้อยที่สุด และเพื่อรักษาประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และเป็นการพูดอย่างไม่ใช่อาฆาตมาดร้ายเป็นการส่วนตัว ดังนี้ก็พูดไป