Monday, June 4, 2012

5 มิถุนายน ค.ศ. 1933 อเมริกันได้เลิกใช้ค่าทองเป็นมาตรฐานเงิน


5 มิถุนายน ค.ศ. 1933 อเมริกันได้เลิกใช้ค่าทองเป็นมาตรฐานเงิน

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: ประวัติศาสตร์, สหรัฐอเมริกา, economy, เศรษฐกิจ,

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “Jun 5, 1933: FDR takes United States off gold standard.” ใน History.com

ในวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1933 ในยุคของประธานาธิบดีแฟรงคลิน เดลาโน รูสเวลท์ (Franklin Delano Roosevelt – FDR) สหรัฐอเมริกาได้เลิกใช้ทองเป็นมาตรฐานในระบบการเงิน ซึ่งก่อนหน้านี้ ทองถูกใช้เป็นระบบสนับสนุนมูลค่าเงิน ในวันนี้ รัฐสภาได้ร่วมกันออกกฏหมายที่ยกเลิกสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะใช้ทองเป็นการจ่ายหนี้สิน


ภาพ คนมาชุมนุมในบริเวณตลาดหลักทรัพย์ในเมืองนิวยอร์ค ในช่วงวันศุกร์ ของเดือนตุลาคม ค.ศ. 1929 เมื่อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำ จนคนหมดความมั่นใจ


ภาพ ในสภาพที่เศรษฐกิจตกต่ำทั้งๆที่ การเกษตรยังผลิตได้ดี แต่ขายไม่ได้ แม้มีคนต้องกินต้องอยู่ ระบบอุตสาหกรรมยังผลิตได้ แต่ไม่มีใครมีเงินที่จะไปซื้อ คนงานต้องตกงาน และขาดความสามารถในการจ่าย

สหรัฐอเมริกาได้เริ่มใช้ทองเป็นมาตรฐานค่าเงินตั้งแต่ปี ค.ศ. 1879 ยกเว้นในช่วงการห้ามนำเข้าและส่งออกทองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่เพราะความล้มเหลวของธนาคารในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในช่วงทศวรรษที่ 1930s ทำให้เกิดความตื่นตระหนก และทำให้เกิดการกักตุนทองแทนค่าเงินซึ่งไม่สามารถเชื่อถือได้

ในช่วงไม่นานหลังจากที่ FDR ได้เข้ารับตำแหน่งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1933 อันเป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เขาได้ประกาศพักชำระหนี้ (Moratorium) เพื่อป้องกันการตื่นตระหนกถอนเงิน ด้วยการหมดความเชื่อถือในธนาคารและระบบเศรษฐกิจของประเทศ

รูสเวลท์ห้ามธนาคารจ่ายทองหรือซื้อทองเข้าธนาคาร ตามทฤษฎีเศรษฐกิจของ Keynesian คือการปล่อยให้มีปริมาณเงินมากพอ แม้จะทำให้มีสภาพเงินเฟ้อบ้าง การเพิ่มปริมาณทองสะสมของธนาคารกลางของสหรัฐ (Federal Reserve) จะช่วยทำให้เกิดปริมาณเงินเหลือพอสำหรับใช้ในประเทศ ในประเทศอังกฤษก็ได้ใช้มาตรการอย่างเดียวกัน โดยเลิกใช้ทองเป็นมาตรฐานในการชำระหนี้สินในปีค.ศ. 1931

ในวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1933 ประธานาธิบดีรูสเวลท์ได้สั่งเรียกคืนเหรียญทองทั้งหมด และใบรับรองทองที่มีมูลค่ากว่า $100 กลับแล้วเปลี่ยนเป็นค่าเงินอย่างอื่น ซึ่งทำให้ใครก็ตามที่สะสมเหรียญทองทั้งหมด รวมถึงทองแท่ง และใบรับรองค่าทอง (Gold certificates) ต้องส่งคืนธนาคารกลางภายในวันที่ 1 พฤษภาคม เพื่อแลกเงินไปในอัตรา $20.67 ต่อออนซ์

ในวันที่ 10 พฤษภาคม รัฐบาลได้รวบรวมเหรียญทองได้เป็นมูลค่า $300 ล้าน และ $470 ล้านในรูปใบรับรองค่าทอง อีกสองเดือนต่อมา ได้มีคำประกาศจากรัฐสภาได้มีประกาศยกเลิกค่าเงินที่จะใช้ชำระหนี้ทั้งในภาครัฐและเอกชน ซึ่งในยุคก่อนหน้านั้นได้มีธรรมเนียมการค้าขายที่ให้ใช้ทองเป็นมูลค่าในการชำระหนี้สินต่อกันได้ ในปี ค.ศ. 1934 รัฐบาลได้เพิ่มมูลค่าทองเป็น $35 ต่อออนซ์ ซึ่งทำให้ค่าทองที่จัดเก็บโดยธนาคารกลางได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 69 ทำให้รัฐบาลกลางโดยธนาคารกลางได้มีอุปทาน (Supply) เงินเพิ่มขึ้น

รัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาได้ใช้ค่า $35 ต่อออนซ์ จนกระทั้งวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1971 ซึ่งประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ประกาศว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่มีการกำหนดเปรียบค่าเงินเหรียญสหรัฐเป็นค่าเงินตายตัวกับทอง จึงเท่ากับเป็นการเลิกใช้ทองเป็นค่าเงินมาตรฐาน ในปี ค.ศ. 1974 ประธานาธิบดีเจอรัล ฟอร์ด (Gerald Ford) ได้ลงนามในกฎหมายอีกครั้ง อนุญาตให้คนอเมริกันสามารถเป็นเจ้าของทองแท่งได้

No comments:

Post a Comment