ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (Constitution
Amendment)
Keywords: Politics, constitution,
amendment, การเมือง, รัฐธรรมนูญ, การแก้ไข,
ในขณะนี้ เรากำลังมีวิกฤติเกี่ยวกับ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ”
ฝ่ายหนึ่งต้องการรื้อหรือแม้แต่เลิกรัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2550
แล้วเขียนใหม่ อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า “ให้แก้ไขได้” โดยแก้ไขบางส่วนบางประเด็น แต่ไม่ใช่ไปรื้อทิ้งรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.
2550
ผู้เขียนไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายหรือกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยมากนัก
ได้แต่ฟังการตีความของนักนิติศาสตร์ ซึ่งก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป
คนระดับชาวบ้านอย่างเรา ก็คงจะได้แต่เพียงฟังอย่างใช้วิจารณญาณที่สุด
และจะให้ดีคือฟังอย่างเปิดใจ
การแก้ไข (Amendment, modification) ย่อมมีความแตกต่างจาก “การผลิตใหม่” การเขียนขึ้นมาใหม่ เหมือนดังการนำรถยนต์เก่าที่หมดสภาพแล้ว
เรียกว่า Junk ขายเป็นเศษเหล็ก แล้วเจ้าของก็นำเงินที่ได้เพียงน้อยนิดนั้น
ไปรวมกับเงินก้อนใหม่ เพื่อไปซื้อหรือผ่อนรถคันใหม่
แต่หากรถคันเก่ายังมีสภาพดีอยู่
เราก็คงจะใช้วิธีการซ่อม (Repair) รถคันเก่า
เพื่อให้กลับมาใช้ได้อย่างดีตามปกติ ซึ่งจะเป็นการประหยัดกว่า
การแก้ไข = modification,
correction, amendment, interpolation, altering, solving
การซ่อมรถ (To repair vs. to buy a new
car) กับการซื้อรถคันใหม่ย่อมมีความแตกต่างกัน
เหมือนรถยนต์ หากเรานำรถไปอู่เพื่อซ่อม
หรือปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น เช่นเราต้องการให้รถมีระบบกันกระเทือนที่นุ่มขึ้น
ช่างเขาจะปรับเปลี่ยนเฉพาะส่วนที่เป็นระบบกันกระเทือน เช่น Shock absorbers
หรือหากรถมีปัญหาวิ่งไม่ได้อย่างปลอดภัย ระบบเบรกชำรุด ช่างเขาจะดูแลซ่อมในส่วนที่เสียหาย
หรือตรวจสอบแล้ว มีชิ้นส่วนรถถึงกำหนดที่จะต้องเปลี่ยนอะไหล่ และช่างที่มีคุณธรรมซื่อสัตย์ต่อลูกค้า
เขาจะซ่อมให้ในส่วนที่จำเป็น
แล้วเขาจะบอกว่ามีอะไรที่ถึงอายุควรจะต้องเปลี่ยนได้แล้ว
แต่เจ้าของเป็นคนตัดสินใจเองว่า จะเปลี่ยนหรือยังคงใช้ต่อไป
ต่างจากการนำรถไปร้านรับซื้อรถ
เพื่อเปลี่ยนรถคันเก่า ยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้ได้รถคันใหม่
รัฐธรรมนูญเหมือนกับปราสาท หรือพระราชวังโบราณ
ความเก่าแก่ที่ใช้กันมานาน มีประวัติศาสตร์ ก็ย่อมมีคุณค่าประมาณมิได้ ที่ต้องรักษาเอาไว้
ยิ่งเก่ามาก ก็ยิ่งมีคุณค่ามาก การจะปรับปรุงซ่อมแซม ก็ทำเฉพาะส่วนที่จำเป็น คงไม่มีใครคิดจะทุบปราสาทเก่าอายุหลายร้อยปี
เพื่อที่จะสร้างใหม่
ดูตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาได้ชื่อว่ามีความเก่าแก่ที่สุดในประชาธิปไตยยุคใหม่
เกิดขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1787 หรือประมาณ 11 ปีหลังประกาศอิสรภาพ นับจนถึงปัจจุบันมีอายุได้ 225 ปี
มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว 27 ครั้ง บางการแก้ไขเกิดเพราะมีความขัดแย้งรุนแรง
ต้องมีการใช้กำลังเข้าต่อสู้กันจนถึงระดับเป็นสงครามกลางเมือง (American
Civil War) ดังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 13 ในช่วงปี ค.ศ. 1864-1865 หลังสงคราม เมื่อรัฐบาลอันเป็นฝ่ายเหนือ
ได้ชนะสงครามกลางเมืองต่อฝ่ายใต้ รัฐสภาจึงกำหนดให้การค้าทาสเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ในทัศนะของผม การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 2550
เป็นสิ่งที่กระทำได้ และดีที่สุดคือเปลี่ยนเฉพาะส่วนที่จำเป็นจริงๆ
อะไรที่ดีอยู่แล้วก็อย่าไปแตะต้อง อะไรที่ชัดเจนว่าไม่เหมาะสม ก็เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ต้องมีหลักการสำคัญว่าจะเปลี่ยนแปลงเพราะอะไร มีอะไรที่ไม่เหมาะสม
ไม่ใช่ตีความว่ามันเป็นผลิตผลของเผด็จการ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ที่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยว่าดีเยี่ยมนั้น ก็มีผลมาจากการปฏิว้ติรัฐประหารเช่นกัน
No comments:
Post a Comment